๒๐๓. ศิลปศึกษาและสุนทรียปัญญาศึกษาเชิงสังคม จากระบบวิธีคิดในเทศกาลสงกรานต์



บทบาทความสำคัญและหน้าที่หนึ่งของนวัตกรสุนทรียปัญญา (Aesthetic Wisdom Innovator) จิตรกร ศิลปิน นักพหุวิทยาการศิลปะ นักพหุปัญญาศาสตร์และศิลป์ในด้านที่ถือเอาจิตใจเป็นประธาน หรือผู้ทำงานสร้างสรรค์และจรรโลงวัฒนธรรมทางจิตใจ ควรจะต้องจรรโลงรักษาและสร้างใหม่ให้แก่สังคมก็คือ การศึกษาค้นคว้า พินิจใคร่ครวญ คัดสรร สร้างแนวคิด หลักทฤษฎี หลักปฏิบัติ เพื่อมีวิธีเข้าใจโลกกว้างร่วมกันและจัดความสัมพันธ์ตนเองกับสถานการณ์ต่างๆได้อย่างเหมาะสมอยู่เสมอ แล้วถ่ายทอดสู่การสร้างสรรค์งานศิลปะและวัฒนธรรมที่มีชีวิตทางสังคมด้วย 

ปัจจุบันและอนาคต จะต้องสามารถสร้างระบบและวงจรของมิติดังกล่าวนี้ ให้สามารถหวนกลับสู่วิถีชีวิตและเป็นองค์ประกอบหนึ่งในสุขภาวะองค์รวมของทุกคน หวนกลับไปสู่วิถีทำมาหากินและการดำรงชีวิต กลับสู่ปัจจัย ๔ กลับสู่ผืนดิน ถิ่นอาศัย สิ่งของเครื่องใช้ การสร้างเมืองสร้างบ้าน รวมไปจนถึงกลับสู่การดูแลรักษาและจรรโลงองค์รวมของสุขภาวะนิเวศ ธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ซึ่งการเชื่อมโยงให้ได้ถึงสิ่งพื้นฐานในชีวิต จะเป็นหนทางหนึ่งในการระบุและเข้าถึงระบบคุณค่า สิ่งที่มีความหมาย องค์ประกอบความสำคัญ ของสิ่งจำเป็นและสิ่งที่มีคุณค่าแท้สำหรับทุกคน ไม่ยกเว้นความแตกต่าง 

การอ่านภูมิปัญญาในอารยธรรมและการสั่งสมร่วมกันของมนุษย์ ขณะเดียวกัน ก็อ่านสถานการณ์ร่วมสมัยทางสังคม สิ่งแวดล้อม ปัจจัยฤดูกาลและบริบทของยุคสมัย เพื่อเห็นความหมายใหม่ในแต่ละช่วงเวลาทางพัฒนาการของสังคมมนุษยชาติ จากนั้น ก็นำมาสร้างระบบการอธิบายให้เหมาะสมใหม่ ด้วยภาษาภาพและภาษาที่สามารถก้าวข้ามหรือเสริมข้อจำกัดจากการสื่อสารด้วยภาษาพูดอธิบายและภาษาลายลักษณ์เพื่อสร้างวรรณกรรมพรรณาความ ก็จะทำให้มิติการถ่ายทอดวิทยาการ และการบูรณาการสร้างระบบปัญญา ระบบความรู้ จาก ๒ มิติและ ๒ ชุดกระบวนทัศน์ อันได้แก่ ระบบปัญญาการแสดง อวจนภาษา และไร้ลายลักษณ์ (Non-Text, Semiotics and Audio-Visual, Action and Image, Science-Arts Knowlegde and Intellectual Systems) ระบบปัญญามุขปาฐะ วจนภาษา และลายลักษณ์ (Semantics, Text and Verbal , Science-Arts Knowlegde and Intellectual Systems) มีจุดเชื่อมผสานไปด้วยกันและเสริมสร้างพลังปัญญาเป็นทวีคูณ อีกทั้งก่อเกิดพัฒนาการทางศิลปะ การสื่อสาร และการพัฒนากระบวนการสร้างสรรค์ทางปัญญาของสังคม ตลอดจนการพัฒนาทางด้านวิทยาการ เทคโนโลยี ความรู้ และการสะท้อนเชื่อมโยงสู่วิถีชีวิต ได้อย่างลงตัว เหมาะสม สอดคล้องกลมกลืน ลดการแยกส่วน ได้มากยิ่งๆขึ้น 

กระบวนการดังกล่าวนี้ จะยกระดับก้าวกระโดดได้ด้วยวิธีการความรู้แบบพหุวิทยาการ และด้วยชุมชนปัญญาปฏิบัติแบบพหุปัญญา พหุสาขา สิ่งเหล่านี้ เราจะสามารถศึกษา วิเคราะห์ ใช้เป็นแนวพินิจ ประมวลผลข้อมูลปัจจุบันของโลกกว้าง เพื่อสามารถเห็นได้จากสิ่งที่ปรากฏอยู่ในองค์ประกอบของการสร้างเทพีนางสงกรานต์และมิติต่างๆที่เกี่ยวข้อง ซึ่งในความเป็นจริงแล้วก็คือ การศึกษาปรากฏการณ์ของสังคม สิ่งแวดล้อม ของระบบสังคมมนุษย์กับระบบธรรมชาติ โดยมุ่งจรรโลงและสร้างสังคมสุขภาวะ ที่มนุษย์ต้องพึ่งตนเองในแก้ปัญหา แต่ยอมอยู่ภายใต้ความเป็นจริงของธรรมชาติ ยึดหลักเดียวกันคือการกำกับเวลาและจังหวะ ของธรรมชาติ เป็นวงจร ๗ วัน และ ๑ ปีระบบภูมินิเวศของเอกภพ หรือสุขภาวะสังคม สุขภาวะมูลฐาน และสุขภาวะนิเวศของระบบห้วงมหรรณพที่ใหญ่เกินสติปัญญาของมนุษย์ และมนุษยชาติต้องยอมให้แก่ธรรมชาตินั้น ออกแบบและสร้างองค์ประกอบบนพื้นฐานสิ่งใด มีสัดส่วนอย่างไร และมีมิติที่บอกนัยสำคัญจากความเป็นจริงพื้นฐานไว้อย่างไร ? 

เอกภพที่เทพีนางสงกรานต์ ๗ ตน กับกฏเหล็กของท้าวกบิลพรหม ได้ถ่ายทอดไว้ ให้เห็นนัยสำคัญของแง่มุมที่จะมีความหมายมากต่อสังคมสิ่งแวดล้อมร่วมสมัย ทั้งในปัจจุบันและต่อไปในอนาคต ที่น่าสนใจหลายประการ ดังนี้ 

(๑) การสร้างสุขภาวะกสิกรรมเป็นความมั่นคงยั่งยืนพื้นฐาน

นางสงกรานต์ หรือภาวะผู้นำแห่งเอกภพที่ใช้สติปัญญา กระบวนการเชิงสุนทรียปัญญา และพลังอำนาจแบบละเอียดอ่อนดังธรรมชาติของมารดาและสตรี ซึ่งมี ๗ ตน เป็นระบบปฏิบัติการ ๗ มิติ เพื่อสืบสานการจรรโลงระบบพื้นฐานของมวลมนุษยชาติ สรรพสัตว์ สรรพชีวิต และสรรพสิ่ง ๓ ระบบหลัก คือ ผืนดิน ทะเลและมหาสมุทร อากาศ มวลเมฆ และผืนฟ้ากว้าง กินอาหารที่เป็นผัก ผลไม้ และผลผลิตการกสิกรรมเป็นอาหาร ๕ ตน คือ ผลมะเดื่อ น้ำมัน นมเนย ถั่วงา และกล้วยน้ำว้า กินโลหิตและเนื้อทราย ๒ ตน การจรรโลงระบบและสร้างสุขภาวะกสิกรรม จึงเป็นภาพองค์รวมแห่งสุขภาวะและเป็นความมั่นคงยั่งยืนพื้นฐาน หรือเป็นกฏเหล็กของระบบธรรมชาติ ของท้าวกบิลพรหม ที่แนวโน้มการพัฒนารอบด้านของสังคมมนุษยชาติ ต้องมุ่งเน้นไปในทิศทางนี้ให้ได้อยู่เสมอ

(๒) ระบบเครื่องมือพื้นฐานเพื่อการสร้างสุขภาวะและจรรโลงความศานติสุข

เทพีสงกรานต์ ๗ ตน มีระบบและเครื่องมือพลังอำนาจบนปัจจัยสิ่งแวดล้อมและวงจรพัฒนาอย่างเป็นระบบในธรรมชาติอยู่ใน ๒ มือ แตกต่างกันไปตามวงรอบของวันใน ๗ วัน ประกอบด้วย ตรีศูล ธนู พระขรรค์ ง้าว จักร ปืน เข็ม ไม้เท้า พิณ หอยสังข์ ซึ่งในสถานการณ์ปัจจุบัน อาจจะพิจารณาให้เห็นถึงนัยสำคัญของ ระบบการปกครอง ระบบริหารภาคส่วนสาธารณะ ระบบการสื่อสาร การสร้างวาระปวงชนและการสร้างพลวัตรปัจจัยต่อสังคมวัฒนธรรมมวลชน การสร้างระบบสุนทรียปัญญา รวมไปจนถึงไม้เท้า หรือการสร้างระบบจรรโลงภาวะความเสื่อมถอย ให้เหมาะสมเพียงพอ

(๓) ระบบทวีคูณและขยายกำลังสังคม

เทพีสงกรานต์ ๗ ตน มีพาหนะเป็นจ้าวแห่งสัตว์ ๗ ชนิด เหนือมนุษย์และเหนือหมู่สัตว์ ๒ ชนิด คือ พญาครุฑ และพญาหงส์ กินหญ้า ๔ ชนิด คือ พญาช้าง พญาลา พญาควาย และพญาหมู กินเนื้อและเลือดชนิดเดียว คือพญาเสือ สัดส่วนและโครงสร้างที่สำคัญ ก็คือ เสือ หรือระบบการทำลายล้างจะเป็นส่วนน้อย ระบบการจรรโลงสิ่งที่อยู่เหนือทุกคน อันได้แห่พญาครุฑแบะพญาหงส์ ก็จะเป็นส่วนน้อย และในส่วนน้อยนั้น ก็เป็นภาวะผู้นำแบบแข็ง ของพญาครุฑ หรือแบบผู้ชายเป็นใหญ่ กับผู้นำด้วยความละเอียดอ่อนโยนของพญาหงส์ หรือแบบมารดาและสตรีเป็นใหญ่ ในสัดส่วนที่เท่าเทียมกัน

(๔) ระบบสุขภาวะมูลฐานระดับปัจเจกและชุมชน

อาภรณ์เครื่องแต่งกาย ปัจจัยเครื่องนุ่งห่ม เครื่องประกอบแสดงภาวะผู้นำและระบบฐานะทางสังคม ปัจจัยการสร้างความปลอดภัย สร้างความสบายกายสบายใจ ของเทพีสงกรานต์ ๗ ตน เป็นแบบเดียวกันและเหมือนกัน คือเครื่องแต่งกายและกำไลแขน ต่างกันเพียงสีสันและชนิดของอัญมณี กล่าวได้ว่า ชุดแนวคิดและสิ่งที่เป็นปัจจัยองค์ประกอบ ที่ทุกคนขาดไม่ได้และแม้แต่ในระบบสังคมที่ใหญ่เกินความสามารถของมนุษย์ก็ยังขาดไม่ได้ ก็คือ เครื่องนุ่งห่ม เครื่องแต่งกาย อาหาร ปัจจัยเพื่อการใช้ชีวิตและใช้ความรู้ความสามารถเพื่อแสดงบทบาทตนเองและจรรโลงสังคมการอยู่ร่วมกัน การขยายขีดความสามารถแบบองค์รวม เครื่องมือการติดต่อสื่อสาร การหล่อเลี้ยงและจรรโลงสร้างสุนทรียปัญญา การสานและถักทอ 

(๕) ระบบสุขภาวะนิเวศ ดอกไม้ ๗ อย่างของเทพีสงกรานต์ ๗ ตน

นอกจากพืชพรรณเพื่อการกินและอยู่อาศัยแล้ว เทพีสงกรานต์ ๗ ตน มีดอกไม้ประจำตนคนละอย่าง ๗ อย่าง ประกอบด้วย บัวหลวง ดอกทับทิม ดอกสามหาว หรือดอกผักตบชวา ดอกมณฑา หรือดอกมณฑารพ ดอกไม้สวรรค์ ดอกจงกลณี ดอกจำปา และดอกปีบ ทั้งหมดเป็นดอกไม้ที่ครอบคลุมการงอกงามแบ่งบานทั้งในโลกของมวลมนุษยชาติและบนสวรรค์ และสลับหมุนเวียนครอบคลุมไปทุกฤดูกาล

(๖) สีสัน แสงเงา พลังเอิบอาบไหลผ่าน ที่สร้างและผสานสรรพสิ่ง

สีสัน การเห็นแสงเงา และพลังศิลปะ ที่ไหลผ่านและเอิบอาบทะลุลวงในทุกมิติของสรรพสิ่งนั้น เป็นองค์ประกอบพื้นฐานของมวลมนุษยชาติและสรรพสิ่ง การเห็นสีสันและการรู้สึกต่อสรรพสิ่งได้เหมือนมีพลังไหลผ่านเอิบอาบไปในทุกมิติของสรรพสิ่งทั้งมองเห็นและมองไม่เห็นนี้ ทำให้เราสามารถเห็นและพัฒนาชีวิตจิตใจขึ้นมาได้ การเห็นสีสันทำให้เราสามารถจำแนกผลไม้สุกและดิบ สิ่งที่กินได้และไม่ได้ กลางวันและกลางคืน ผืนดิน ผืนฟ้า และทะเลมหาสมุนทร และระบุความเป็นจริงต่างๆจากระยะไกลได้ ทั้งหมดเป็นองค์ประกอบพื้นฐานในเทพีสงกรานต์ 

ระบบสีประจำวันของนางสงกรานต์ ๗ วัน จากวันอาทิตย์วนถึงวันเสาร์ ประกอบด้วย ๗ สี ได้แก่ สีแดง เหลือง ชมพู เขียว ส้ม ฟ้า และม่วง เป็นแม่สีหรือสีปฐมภูมิในวงจรสีวัตถุธาตุ ๒ สี คือ สีแดงกับสีเหลือง ซึ่งแม่สีทั้งคู่นี้จะอยู่กึ่งกลางโทนร้อนและเย็นของวงจรสี ส่วนที่เหลืออีก ๕ สี เป็นสีขั้นที่สองจากการผสมกันของแม่สีปฐมภูมิ มีน้ำหนักเป็น Half Tone เปลี่ยนแปลงความเข้มอ่อนแก่ได้ด้วยการเน้นหรือลดน้ำหนักแสงเงา มิติแสงเงาและพลังเอิบอาบไหลผ่านสรรพสิ่ง ในองค์ประกอบต่างๆของเทพีสงกรานต์มี ๓ ลักษณะ ประกอบด้วยสีสันที่ต่างกันจากอาภรณ์ สีสันจากการเปล่งประกายออกมาจากอัญมณี สีสันและพลังมหาปรมาณูจากเศียรของท้าวกบิลพรหม ซึ่งรักษาระยะห่างได้เหมาะสมก็จะเป็นแสงสว่างและพลังชีวิต ความอบอุ่น พลังความเจริญงอกงาม 

แต่หากเสียสมดุล ก็จะกลายเป็นพลังงานมหาปะลัย ทำลายระบบนิเวศและความสมดุลในสรรพสิ่ง บนผืนดิน ผืนฟ้า มห่าสมุทร.

หมายเลขบันทึก: 689944เขียนเมื่อ 8 เมษายน 2021 12:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 เมษายน 2021 12:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ระบบความคิดของท่านพี่ ยังเจ๋งเหมือนเดิมครับ ;)…

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท