ประแป้งไหมคะ : ความเท่าเทียมที่ไม่มีความเท่าเทียม


บทวิจารณ์เรื่องสั้น

ประแป้งไหมคะ : ความเท่าเทียมที่ไม่มีความเท่าเทียม


ประแป้งไหมคะหนึ่งในผลงานเรื่องสั้นรางวัลยอดเยี่ยม ของ จเด็จ กำจรเดชได้รับการตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือรวมเรื่องสั้นรวมเล่ม “คืนปีเสือ และเรื่องเล่าของสัตว์อื่น ๆ” เป็นผลงานรวมเรื่องสั้น ซึ่งได้รับรางวัลซีไรต์ ประจำปี 2563 โดย จเด็จ กำจรเดช ก็สามารถคว้ารางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน หรือ ซีไรต์ ประจำปี 2563 เป็นดับเบิลซีไรต์คนที่ 5 ของเมืองไทย ต่อจาก อังคาร จันทาทิพย์ด้วย


จากเรื่องกล่าวได้ว่าโครงเรื่อง ประแป้งไหมคะ แสดงให้เห็นความไม่เท่าเทียมกันของคนในสังคม เนื้อเรื่องกล่าวถึงชีวิตของปาลที่ต้องดิ้นรนต่อสู้เพื่อให้มีชีวิตรอด เธอไม่ได้รับการดูแลเหมือนอย่างคนทั่วไป กระทั่งเธอได้พบกับแอช หนุ่มหล่อที่ทำให้เธอเชื่อใจและเดินทางไปกับเขา ขณะที่เดินทางทั้งสองได้ข้ามสะพานไปยังอีกฝั่ง แอชกำลังพาปาลไปให้มนุษย์ในตำนาน โดยเขาไม่รู้เลยว่าแผนของมนุษย์ในตำนานคือ การสร้างมนุษย์ เมื่อแอชรู้ความจริงจึงตัดสินใจฆ่าปาล เพราะไม่อยากให้มนุษย์เกิดมามีชีวิตเดิมๆ ชีวิตที่ไม่มีความเท่าเทียมกันอีก


หากพิจารณาอย่างถี่ถ้วนจะเห็นว่าเรื่องสั้นเรื่องนี้มีการผูกเรื่องที่เป็นการสร้างเรื่องราวเพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินเรื่อง โดยกำหนดเหตุการณ์ความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นตลอดเวลาและให้มีความเกี่ยวเนื่องกัน โครงเรื่องของเรื่องสั้นเรื่องนี้เน้นการลำดับเหตุการณ์และสถานการณ์ในเรื่อง ซึ่งเปิดเรื่องด้วยประโยคหนึ่งที่กล่าวถึงความรู้สึกของตัวละครว่า “ปาลรักช่วงเวลาแบบนี้ ขณะนี้ ภาวะแบบนี้ ตอนที่เครื่องหมายไวไฟไม่ขึ้นเลยสักขีด” (หน้า 141) เป็นการกล่าวเป็นเรื่องที่แสดงให้เห็นความรู้สึกของตัวละครที่ประชดประชันกับชีวิตอันเป็นใบเบิกทางที่ผู้แต่งอาจต้องการกล่าวเพื่อทำให้ผู้อ่านได้ฉุกคิดและสนใจที่จะอ่านต่อจนจบ 


การใช้กลวิธีการเปิดเรื่องของผู้แต่งแสดงให้เห็นความปมปัญหาที่เกิดขึ้นกับตัวละคร สภาวะที่ต้องพบเจอ สิ่งที่ตัวละครรู้สึกความรู้สึกที่แท้จริงแต่เป็นการประชดประชันชีวิตที่เป็นอยู่ ทั้งยังเป็นการเปิดเรื่องด้วยการแนะนำตัวละครซึ่งเป็นสถานการณ์ปัญหา และการเผชิญหน้าของตัวละครกับเหตุการณ์ต่างๆ เริ่มเรื่องแบบดำเนินตามลำดับเวลาเรื่องราวดำเนินสืบต่อการเปิดเรื่อง ผู้แต่งค่อยๆสร้างปมปัญหาที่เกิดขึ้นภายในตัวละครที่ชื่อปาล โดยกล่าวเป็นนัยสำคัญอันนำไปสู่แนวคิดสำคัญของเรื่องเป็นการกล่าวถึงความแล้งน้ำใจของคนที่มีฐานะหรือมีโอกาสมากกว่า ดังตัวอย่าง “คนสมัยนี้ก็ใจดำเสียแล้ว ไวไฟตั้งรหัสสามชั้น ไม่ปล่อยให้ใครใช้ฟรีๆ อีกแล้วนับจากปีนั้น” (หน้า 142) แสดงทัศนะที่แฝงน้ำเสียงเสียดสีการทำงานของนักการเมืองที่ทำเพื่อผลประโยชน์ พอได้ในสิ่งที่ต้องการก็ละเลย เช่นเดียวกับสำนวนไทยที่ว่า หว่านพืชหวังผล ดังตัวอย่าง “ไวไฟที่ได้จากนโยบายก่อนเลือกตั้งก็แค่สัญญาณหมุนๆ จากลมปากเน่าๆของนักการเมือง” (หน้า 142) 


ตอนจบของเรื่องเป็นการจบด้วยโศกนาฏกรรมที่เกิดจากปมขัดแย้งภายในใจของตัวละคร กล่าวคือ ผู้แต่งเปิดเรื่องด้วยการเล่าถึงปมที่มีในตัวละครและดำเนินเรื่องมาตลอดจนจบเรื่องที่ตัวละครแอชตัดสินใจฆ่าปาลเพื่อไม่ให้มนุษย์เกิดมาด้วยวิธีเดิมๆ คือ เกิดมาไม่มีความเท่าเทียมกันอย่างที่เคยเป็นมาหลายช่วงสมัย ตัวละครจึงตัดสินใจจบปัญหาดังกล่าวด้วยตนเอง และทิ้งท้ายด้วยปมที่ยังค้างคาอยู่ในใจของแอช ดังตัวอย่าง “เปลี่ยนเสียงพูดตัวเองเป็นเสียงคำราม กระโจนออกไปหน้าวิหาร กู่ร้องโหยหวนกึกก้อง เสียงป่าคำรามตอบรับ กลืนกลบเสียงเพลงประแป้งที่แว่วมาจากสะพาน” (หน้า 165 - 166) ซึ่งแสดงให้เห็นการได้รับความยอมรับในฐานะคนๆหนึ่งที่มีปมปัญหา ไม่ได้รับความเท่าเทียมมาโดยตลอด จนสุดท้ายเขาก็ได้รับการยอมรับ


เหตุการณ์ทั้งหมดทำให้สามารถประมวลแนวคิดสำคัญได้หลายแง่มุม หากพิจารณาไปที่ถ้อยความสำคัญจะพบว่าผู้เขียนนำเสนอแนวคิดไว้หลากหลายดังนี้


มนุษย์ทุกคนเกิดมาเป็นสัตว์สังคม ต้องการเป็นที่ยอมรับมีพรรคพวกที่คอยสนับสนุนและช่วยเหลือในยามตกทุกได้ยาก  รวมไปถึงการดิ้นรนเพื่อให้มีชีวิตรอดและอยู่เหนือห่วงโซ่อาหารทั้งปวง ซึ่งในเรื่องนี้ผู้เขียนได้แสดงให้เห็นธรรมชาติของมนุษย์ที่ต้องทำทุกวิถีทางเพื่อมีชีวิตรอดในห่วงโซ่อาหารนี้ ดังตัวอย่าง “พี่สาวของเขาไปขายตัวทั่วโลก เธอไปมาหมดก่อนที่จะอัพเกรดตัวเองจนไม่เหลือความเป็นมนุษย์” (หน้า 165) สะท้อนให้เห็นการดิ้นรนเพื่อชีวิตรอดของกลุ่มคนที่ต้องแลกบางสิ่งบางอย่างเพื่อให้ได้ในสิ่งที่ต้องการเพื่ออัพเกรดคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นแม้วิธีที่เลือกจะถูกหรือผิดศีลธรรมก็ตาม หากสิ่งนั้นจะสามารถทำให้เขามีชีวิตที่ดีขึ้นจากที่เป็นอยู่ก็จะทำทุกวิถีทางให้ได้ เมื่อคนเราเจอทางตันถึงคราวจนตรอก ความสนใจเรื่องถูกผิดก็จะหมดความสำคัญไปทันที


จากแนวคิดสำคัญที่กล่าวข้างต้นผู้วิจารณ์มองว่าสิ่งที่ผู้เขียนต้องการจะสื่อแก่ผู้อ่านคือการสะท้อนให้เห็นสาเหตุของปัญหาเหล่านี้ที่ล้วนมีสาเหตุมาจากความไม่เท่าเทียมกันในสังคมซึ่งเป็นแก่นสำคัญของเรื่องนี้ สะท้อนถึงความจริงในสังคมที่คนเรามักมองข้าม ซึ่งอาจหมายถึง “คนรวยกับคนจน คนมีกับคนไม่มี หรือคนได้โอกาสกับคนไม่มีโอกาส คือการที่คนบางกลุ่มในสังคมไม่มีโอกาสเข้าถึงโอกาสเหมือนคนอีกกลุ่มหนึ่ง สาเหตุของความไม่เท่าเทียมนี้อาจจะมาจากกฎหมาย หรือนโยบายของรัฐ หรือการกระจายรายได้และโอกาสที่กระจุกอยู่กับคนเพียงกลุ่มเดียว คนกลุ่มนี้กลายเป็นกลุ่มที่มีอำนาจ พอมีอำนาจและบารมีมากกว่าคนส่วนอื่นๆ ของสังคม คนกลุ่มนี้ก็กลายเป็นศูนย์กลางแห่งอำนาจเพราะสามารถกำหนดความเป็นไปของสังคมได้เพราะมีเครื่องมือและสถานภาพตามกฎหมายหรือในสังคมนั้นๆ ในอันที่จะสั่งการให้อะไรเกิดหรือไม่เกิดก็ได้ แม้ว่าปัญหาเหล่านี้จะได้รับการแก้ไขโดยรัฐบาลแต่คำว่า “เท่าเทียม” ก็กลายเป็นคำที่ถูกใช้เพื่อจุดประสงค์ของผู้มีอำนาจที่ต้องการอ้างว่าได้แก้ไขปัญหาความไม่เท่าเทียมด้วยการแจกจ่ายความช่วยเหลือเท่าๆ กันแล้ว แต่ในความเป็นจริงความไม่เท่าเทียมเดิม แม้จะมีเครื่องมือใหม่มา แต่เป็นเครื่องมือที่ใส่ในมือของคนกลุ่มต่างๆ (ที่ไม่เท่าเทียมเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว) ก็ย่อมเกิดผลที่ “ไม่เท่าเทียม” อยู่ดี ดังนั้นการส่งความช่วยเหลือออกไปในชนบทแบบ “เหวี่ยงแห” โดยไม่เข้าใจช่องว่างที่ต้องถมก่อนที่จะวางนโยบายเชิงปฏิบัตินั้นในที่สุดก็ไม่ได้แก้ปัญหาอะไร เพียงแค่ย้ายความไม่เท่าเทียมจากจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่งเท่านั้นเอง (สุทธิชัย หยุ่น)


ท้ายที่สุดแล้วความไม่เท่าเทียมกันในสังคมก็กลายเป็นปัญหารุนแรงในสังคม เพราะไม่ว่าจะพยายามหาความเท่าเทียมให้กับคนในสังคมก็จะพบกับความล้มเหลวและสาเหตุที่เป็นเช่นนั้น ผู้วิจารณ์เล็งเห็นว่าประการแรกเกิดจากต้นทุนเดิมของมนุษย์แต่ละคนที่เกิดมาก็พบกับความไม่เท่าเทียมตั้งแต่แรก บางคนเกิดมาเป็นผู้ชาย บางคนเกิดมาเป็นผู้หญิง บางคนเกิดมาในครอบครัวที่มีฐานะดี มีหน้าตาทางสังคม แต่สำหรับบางคนแค่ข้าวสักมื้อก็ยังต้องขอกินและประการที่สอง คือ การที่ไม่ยอมให้มีความเท่าเทียมกันของกลุ่มคนบางกลุ่มที่ต้องการรวมอำนาจทั้งหมดไว้ที่ตนเองเพื่อให้สามารถทำอะไรก็ได้กลับคนกลุ่มอื่นๆ เป็นนิสัยถาวรของมนุษย์ที่อยากได้อยากมี จนถูกความโลภครอบงำ ทั้งหมดนี้จึงเป็นไปได้ว่าสิ่งที่เรียกว่าความเท่าเทียม อาจไม่เท่าเทียม หรือไม่มีจริงก็เป็นได้ เพราะธรรมชาติไม่ได้สร้างมนุษย์ให้เกิดมาเท่าเทียมกันตั้งแต่แรกจึงทำให้เป็นปัญหามาจนถึงปัจจุบัน


สิ่งที่จะไม่กล่าวถึงไม่ได้เลยคือ ตัวละครที่สำคัญในเรื่อง ได้แก่ ปาลและแอช ปาลเป็นตัวละครที่มีความสำคัญในการดำเนินเรื่อง ผู้เขียนสร้างตัวละครปาลขึ้นมาเพื่อเป็นตัวแทนของหุ่นยนต์ที่ใกล้จะหมดอายุการใช้งาน เพราะขาดน้ำมันหล่อลื่นที่เป็นสิ่งที่ช่วยต่ออายุได้ ก็เปรียบเหมือนคนที่ต้องดิ้นรน ต่อสู้เพื่อความอยู่รอด ในฐานะคนๆหนึ่งที่ควรได้รับการดูแลที่ดี ต้องการปัจจัยสี่ที่เพียงพอและเยียวยา พัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดียิ่งขึ้น ปาลเปรียบเสมือนหุ่นยนต์ที่กำลังจะหมดประโยชน์และเป็นตัวแทนของคนที่ถูกมองข้ามความสำคัญ แสดงให้เห็นว่าแม้แต่การสร้างตัวละครผู้เขียนยังคงให้ความสำคัญกับการใช้สัญลักษณ์เปรียบเทียบให้เห็นระหว่างความเป็นมนุษย์กับหุ่นยนต์ที่มีความสัมพันธ์กัน


แอช เป็นอีกตัวละครที่มีความสำคัญต่อเรื่อง เป็นตัวละครที่ผู้เขียนสร้างให้มีปมปัญหาภายในใจ ที่ชีวิตเขาไม่เคยได้รับการปฏิบัติและความช่วยเหลือจากภาครัฐเลย เขาถูกมองข้ามความสำคัญ ทั้งที่ยังเป็นคนไทยเหมือนกัน เป็นภาพแทนของคนชนชั้นล่างทางสังคมที่ไม่ได้รับความเท่าเทียม จนเกิดความขัดแย้งภายในใจทำให้ตัดสินใจขจัดปมปัญหา คือหยุดการกำเนิดมนุษย์ เพื่อไม่ต้องมีใครเกิดมามีชีวิตที่น่าเศร้าเช่นกับตนเอง ผู้เขียนนำเสนอตัวละครโดยสร้างตัวละครได้อย่างสมจริง กล่าวคือมีความสมเหตุสมผล ตัวละครแต่ละตัวมีที่มาของการแสดงพฤติกรรมหรือการแสดงออกทางการกระทำ ล้วนมีความสัมพันธ์กับเนื้อเรื่องและนำเสนอด้วยกลวิธีที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง


นอกจากนี้ฉากยังมีผลต่อการสร้างบรรยากาศหลายอย่างในท้องเรื่องโดยผู้เขียนได้ใช้ฉากสะพานที่เป็นสัญลักษณ์ซึ่งแสดงให้เห็นความสำคัญของฉากที่มีต่อเรื่องและแก่นสำคัญของเรื่อง เมื่อพิจารณาฉากสะพานพบว่า ประการแรก ผู้เขียนอาจต้องการใช้ฉากเป็นสัญลักษณ์สื่อถึงช่องว่างระหว่างคนในสังคม ระหว่างคนรวยกับคนจน ซึ่งในเรื่อง นักท่องเที่ยว เป็นภาพแทนของคนรวยส่วนเด็กๆที่คอยประแป้งบนสะพานคือ ภาพแทนของคนจน จะเห็นได้ว่านักท่องเที่ยวมีสิทธิ์ที่จะใช้สิ่งที่มีเพื่อหาความสุขให้กับตนเอง แต่ในขณะเดียวกันที่เด็กๆชาวดอยต้องทำมาหากินเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนเองให้ดีขึ้น ประการที่สอง สะพานแสดงให้เห็นสิ่งที่เป็นสื่อกลางของความหวัง ดังตัวอย่าง “แอชบอกว่าข้ามสะพานไปเธอจะได้สิ่งที่หวัง” (หน้า 154) แสดงให้เห็นความหวังที่ต้องการที่จะมีชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งก็ไม่มีทางรู้เลยว่าการที่จะข้ามไปสู่อีกฝั่งหนึ่งจะสามารถทำให้ชีวิตดีขึ้น เท่าเดิม หรือเลวร้ายกว่าเดิม ทั้งนี้ฉากยังมีผลต่อการสร้างบรรยากาศในเรื่องโดยการบรรยายฉากที่เกิดขึ้นในเรื่องให้ผู้อ่านคล้อยตามและยังมีอิทธิพลต่อตัวละครในด้านสถานภาพของตัวละคร ภูมิหลังของตัวละครอย่างเช่น แอชที่เคยมีความเกี่ยวข้องกับฉากดังกล่าว คือ แอชเคยทำงานที่สะพานแห่งนี้เช่นเดียวกับเด็กๆในเรื่อง ผู้เขียนนำเสนอฉากได้สมจริง มีความน่าเชื่อถือ เพราะใช้สถานที่จริงสอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงในสังคมในการเล่าเรื่อง ซึ่งตรงกับสะพานมอญ ใกล้บ้านแม่น้ำ สังขละบุรี เป็นสถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังในจังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งผู้เขียนก็ได้อ้างอิงไว้ตอนท้ายของเนื้อเรื่องด้วย จึงทำให้ฉากมีความสอดคล้องกับเนื้อเรื่องได้อย่างสมบูรณ์


ผู้เขียนมีกลวิธีการนำเสนอเรื่องโดยการเล่าผ่านมุมมองพระเจ้า คือใช้สรรพนามบุรุษที่ 3 หรือเอ่ยชื่อตัวละครตรงๆ ผู้เขียนจะเอาตัวเองเข้าไปอยู่ในตัวละคร เลือกที่จะเห็นผู้เล่าเรื่องและอาจเปิดเผยให้ผู้อ่านได้เห็นในสิ่งที่เขาเห็น รวมไปถึงความรู้สึกนึกคิดของตัวละครด้วย ซึ่งการเลือกใช้มุมมองดังกล่าวมีจุดเด่นคือ ผู้เขียนจะรู้เรื่องทั้งหมด แต่จะเล่าเรื่องราวต่างๆรวมทั้งความรู้สึกนึกคิดได้โดยผ่านตัวละครที่เป็นตัวเอกของเรื่อง ทำให้ผู้อ่านได้รับรู้เหตุการณ์และความรู้สึกนึกคิดของตัวละครได้หลายตัว แต่อาจมีจุดด้อยที่การเปลี่ยนมุมมองการเล่าจากตัวละครหนึ่งไปสู่ตัวละครใหม่ อาจทำให้ผู้อ่านเกิดความสับสนว่าเป็นการกระทำหรือความรู้สึกนึกคิดของตัวละครตัวใด ดังตัวอย่าง “ปาลรู้เดี๋ยวนั้นว่าทำไมเขาจึงส่งสายตาเย้ยหยันแบบนั้น ปาลจับมือพลิก เขายินยอมเต็มใจหงายฝ่ามือ ปาลแทบเก็บความรู้สึกไม่ได้ เธอมองเส้นลายมือของเขาอย่างน่าหลงใหล” (หน้า 148) จะเห็นได้ว่าจากถ้อยความข้างต้นทำให้เราได้เห็นความรู้สึกนึกคิดของตัวละคร สังเกตได้ว่าลักษณะนี้เป็นเสียงของผู้เขียนที่ต้องการให้ผู้อ่านล่วงรู้ความในใจเพื่อจะได้ดำเนินเรื่องต่อไปได้โดยไม่ยืดเยื้อ


นอกจากนี้ผู้เขียนยังใช้กลวิธีทางภาษาที่หลากหลาย ใช้พรรณนาโวหารและอุปมาโวหารเป็นส่วนใหญ่ ดังตัวอย่าง “เธอนั่งพักข้างถังขยะ พิงกำแพงแสดงงานศิลปะกราฟฟิตี้ มองควันอ้อยอิ่ง สูดกลิ่นอากาศซึ่งผสมฝุ่นกำมะถันและสนิม” (หน้า 142) “ถนนร้างคน ทั้งสองเดินผ่านบ้านเรือนทรุดโทรม บ้านไม้ผุพังปล่อยให้ต้นไม้และเถาวัลย์เลื้อยคลุมทางเดินซึ่งแบ่งเป็นซอยกลืนกลบลบหาย เศษเหล็กกองสุมสนิมเขลอะ” (หน้า 159) แสดงให้เห็นภาพบรรยากาศของสถานที่และพฤติกรรมของตัวละครได้ชัดเจนมากขึ้น ทำให้ผู้อ่านเกิดจินตภาพในการอ่าน และมีการใช้อุปมาโวหารหรือใช้ความเปรียบ ดังตัวอย่าง “โลกที่เธอโตผ่าตัดดัดแปลงเธอตลอดเวลา” (หน้า 144) คำว่า “ผ่าตัด”ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงวิธีการทางการแพทย์ แต่หมายถึงการที่ตัวละครได้รับการเปลี่ยนแปลงชีวิต ซึ่งมีอิทธิพลมาจาก “โลก” ที่หมายถึง สังคมที่เธอเติบโตมา สังคมที่เธออยู่มีอิทธิพลต่อคุณภาพชีวิตหรือความเป็นอยู่ของเธอ มีหลายปัจจัยเช่น กฎระเบียบ คนในสังคม การบริหารงานของผู้นำ สิ่งแวดล้อมต่างๆในสังคม ทั้งที่ส่งผลดีและไม่ดีต่อชีวิตของเธอ เมื่อสังคมที่เธออยู่เกิดการเปลี่ยนแปลง เธอก็ต้องอัพเกรดตัวเองให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคม


ทั้งนี้ผู้วิจารณ์ยังพบว่า ผู้เขียนมีการใช้คำกล่าวซ้ำในประโยค ดังตัวอย่าง “ปาลรักช่วงเวลาแบบนี้ ขณะนี้” (หน้า 141) “ปาลนึกรักช่วงเวลาแบบนี้” (หน้า 142) “ปาลรักช่วงเวลาแบบนี้จริงๆ” (หน้า 152) จะเห็นได้ว่าผู้เขียนใช้คำซ้ำในประโยค คือคำว่า “ช่วงเวลาแบบนี้” อาจต้องการเน้นย้ำว่าแท้จริงแล้วตัวละครมีความรู้สึกอย่างไร ซึ่งในที่นี้ผู้เขียนใช้น้ำเสียงประชดประชันต่อชีวิตของตัวละครเอง ไม่มีใครอยากมีชีวิตแบบที่ต้องดิ้นรน ต่อสู้ ปาลเองก็เช่นกัน แสดงให้เห็นอารมณ์ความรู้สึกของตัวละครได้ชัดเจน และทำให้ผู้อ่านเกิดความสนใจที่จะติดตามเรื่องราวจนจบ สิ่งที่น่าสนใจในเรื่องนี้คือ ผู้เขียนใช้ภาษาที่อ่านง่ายแต่เต็มไปด้วยสัญลักษณ์ นำเสนอเป็นประโยคสั้นๆตลอดทั้งเรื่อง มีการใช้บทสนทนา ช่วยให้เข้าใจแก่นเรื่อง ใช้คำแฝงและใช้ศัพท์ทางวิทยาศาสตร์และคำต่างประเทศ เช่น อัพเกรด น้ำเหลือง กระดูก สูบฉีด อะไหล่ ฯลฯ


การเลือกใช้สัญลักษณ์ในเรื่องถือเป็นกลวิธีที่ทำให้เห็นความสามารถของผู้เขียนในการ เลือกใช้ได้อย่างเหมาะสม มีความสัมพันธ์กัน โดยภาพรวมเป็นการเปรียบสิ่งต่างๆระหว่างมนุษย์กับหุ่นยนต์ ดังตัวอย่าง “หัวใจเธอน่าจะอยู่ได้อีกไม่นาน มันเรียกร้องการอัพเกรดแต่เธอผัดผ่อนมันหลายครั้ง เธอตั้งใจเปลี่ยนน้ำมันหล่อลื่นมากกว่า” (หน้า 142) น้ำมันหล่อลื่นเป็นสิ่งที่ช่วยเพิ่มอายุการใช้งาน ทำให้หุ่นยนต์มีความคงทนใช้งานได้นาน ในเรื่องผู้เขียนอาจสื่อให้เห็นว่า น้ำมันหล่อลื่นก็เปรียบเสมือนสิ่งที่หล่อเลี้ยงชีวิต อาจเป็นปัจจัยสี่เช่น เงิน อาหาร เพื่อเลี้ยงชีวิตของมนุษย์ให้อยู่ต่อไปได้ นอกจากนี้ผู้เขียนยังใช้สัญลักษณ์เพื่อแสดงน้ำเสียงเสียดสี ประชดประชัน แทนการกล่าวอย่างตรงไปตรงมา ซึ่งทำให้เห็นกลวิธีการใช้ภาษาที่สร้างสรรค์และเป็นสัญลักษณ์ที่คนทั่วไปต่างเข้าใจร่วมกัน ดังตัวอย่าง “สัตว์เลี้ยงที่มีราคาแพงที่สุดอยู่ในวัง” (หน้า 147)


คำว่า สัตว์เลี้ยงในที่นี้ไม่ได้หมายถึง สุนัข หรือแมว แต่หมายถึงคนที่เชื่อฟังตามคำสั่งของเจ้าของ ให้ทำอะไรก็ทำเช่นเดียวกับสุนัขที่เชื่อฟังเจ้าของแล้วได้อาหารเป็นการตอบแทน คำว่า เครดิต ในที่นี้ หมายถึง คนที่มีฐานะทางสังคม ได้รับการยอมรับ หรือพูดเป็นภาษาปากได้ว่า “มีเส้นสาย” คนกลุ่มนี้จะมีสิทธิพิเศษมากกว่าคนทั่วไป ดังตัวอย่าง “ไม่ใช่ทุกคนจะทำงานหาเงินได้ ต่อให้มีเลือดเนื้อสมบูรณ์ ถ้าไม่มีเครดิตก็ไร้ความหมาย” (หน้า 158) เป็นต้น


อีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญคือ การตั้งชื่อเรื่อง ประแป้งไหมคะ ซึ่งเป็นคำถามเชิงวาทะศิลป์ผู้เขียนได้แสดงให้เห็นความสำคัญของชื่อเรื่องว่ามีความเกี่ยวข้องกับเนื้อเรื่องอย่างไร โดยผู้เขียนก็ได้กล่าวถึงในเนื้อเรื่องที่แสดงให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างชื่อเรื่องกับเนื้อหาเป็นอย่างดี กล่าวคือ ประแป้งไหมคะ เป็นชื่อเพลงที่นักดนตรีใช้ร้องเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเที่ยวที่ แล้วก็มีเด็ก ๆ (เด็กดอย) มาคอยถามนักท่องเที่ยวว่า ประแป้งไหมคะ เมื่อนักท่องเที่ยวเห็นก็จะตอบรับและให้เงินเป็นการตอบแทน ซึ่งวัฒนธรรมการประแป้งดังกล่าวในเรื่องเป็นวัฒนธรรมของชาวมอญ ชาวดอยที่อาศัยอยู่ที่ห่างไกล สื่อสัญลักษณ์ว่าเป็นพวกเดียวกัน และนัยสำคัญในการตั้งชื่อเรื่องของผู้เขียนอาจต้องการแสดงให้เห็นความเป็นอยู่ของชาวดอยหรือชนเผ่าอื่นที่อพยพมาอยู่เมืองไทย และด้วยความที่พวกเขามีความแตกต่างจึงไม่ได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐเท่าที่ควร ในบางครั้งก็ถือเป็นการเลือกปฏิบัติ ผู้เขียนจึงต้องการสื่อให้เห็นถึงความดิ้นรน สู้ชีวิตของชนกลุ่มน้อย ที่ต้องการให้คนอื่นยอมรับ ยอมรับว่าเป็นพวกเดียวกัน เป็นคนไทยด้วยกันและเป็นเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน จึงอยากได้รับความเสมอภาค ความดูแลเอาใจใส่เหมือนกัน


เมื่อพิจารณาถึงองค์ประกอบที่กล่าวมาข้างต้น ตั้งแต่แก่นเรื่องตลอดจนถึงตัวละคร ที่มีบทบาทสำคัญในการดำเนินเรื่องคือ ปาลและแอชนั้นมีความสมจริง เต็มไปใช้สัญลักษณ์อย่างมีนัยยะ ทำให้เนื้อเรื่องมีความน่าสนใจ ทั้งนี้ยังทำให้ผู้อ่านไดฝึกการตีความจากสัญลักษณ์ได้อย่างกว้างขวางและมีอิสระทางความคิด นับว่าผู้เขียนมีความคิดความอ่านที่ดีในการใช้กลวิธีดังกล่าว ท้ายที่สุดแล้ว ตัวละครทุกตัวที่ปรากฏภายในเรื่อง “ประแป้งไหมคะ” ต่างแสดงให้เห็นความเป็นจริงที่มนุษย์ทุกคนควรได้รับและสะท้อนให้ผู้อ่านเข้าใจว่า ภายใต้ความเท่าเทียมก็ยังมีความไม่เท่าเทียมอยู่



บรรณานุกรม

จเด็จ กำจรเดช.  (2563).  คืนปีเสือ.  กรุงเทพฯ : ผจญภัย  

    สำนักพิมพ์.

ภาพปกหน้าหนังสือ คืนปีเสือ.  ค้นเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2564.   

    จาก https://www.se-ed.com

สุทธิชัย หยุ่น.  ว่าด้วย “ความไม่เท่าเทียม” “ความเท่า

    เทียม” และ “ความเที่ยงธรรม”.  ค้นเมื่อ 1 กุมภาพันธ์2564.  

        จากhttps://www.matichonweekly.com

บทเกริ่นนำ.  ค้นเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2564.

        จาก https://www.sarakadeelite.com


หมายเลขบันทึก: 688993เขียนเมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2021 20:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 มีนาคม 2021 11:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท