๑,๑๙๔ พูดถึง...ดิน


"ผมจึงเริ่มเข้าใจ เมื่อใกล้ชิด..ดิน..มากขึ้น ศึกษาเรื่องดินอย่างต่อเนื่อง จนรู้สึกและสัมผัสได้ว่าติดดินจริงๆ จากนั้นก็พออยู่พอกินและเคยชินกับชีวิตแบบ..เกษตรอินทรีย์วิถีพอเพียง"

กาลเวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ในทุกสรรพสิ่ง อาจต้องอดทนในการรอคอย เฝ้ามอง ลงมือทำและเรียนรู้ สังเกตทดลองและวิจัยอย่างง่ายๆ

วันเวลา..จึงจะผ่านไปอย่างมีคุณค่า และสิ่งที่ได้มา คือความรู้สึกที่ประทับใจ อยู่ในความทรงจำและนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้

ผมจึงเริ่มเข้าใจ เมื่อใกล้ชิด..ดิน..มากขึ้น ศึกษาเรื่องดินอย่างต่อเนื่อง จนรู้สึกและสัมผัสได้ว่าติดดินจริงๆ จากนั้นก็พออยู่พอกินและเคยชินกับชีวิตแบบ..เกษตรอินทรีย์วิถีพอเพียง

ผมจะไม่เร่งร้อนและรีบลน หากจะต้องลงมือปลูกผักสักแปลง ไม่หว่านเมล็ดพันธุ์ลงไปแบบมั่วๆ แต่จะเตรียมดินให้ร่วนซุยและพร้อมก่อนเสมอ

เมื่อลงมือหว่านเมล็ดไปแล้ว ยังต้องบำรุงดินให้ชุ่มฉ่ำ เมื่อเมล็ดงอกเงย ผมจะแยกไปปลูกแปลงใหม่ที่อุดมไปด้วยปุ๋ยหมัก จัดระเบียบลูกผักให้เป็นแถวเป็นแนวน่ามอง

พริก มะเขือ ถั่วฝักยาวและบวบ ผมไม่เคยเพาะเมล็ดในแปลง เพราะคุณภาพและปริมาณการงอกไม่ดีเท่าที่ควร ผมใช้ถาดหลุมดำที่เป็นถาดเพาะเมล็ดพันธุ์โดยเฉพาะ

เท่าที่ผ่านมา..หลายสิบครั้ง จดและจำมาทุกครั้งว่า..ประสิทธิภาพการเพาะเมล็ดพืชผักสวนครัวเป็นอย่างไร?...วันนี้ได้คำตอบแล้ว ชัดเจนเหลือเกิน

ดินที่นำมาใช้ ถ้าเป็นดินในโรงเรียน คุณภาพอยู่ในระดับปานกลาง แย่ที่สุดก็คือดินที่ซื้อจากตลาด ซึ่งปัจจุบันขายถูกมาก ๘ – ๑๕ ถุง ราคา ๑๐๐ บาท ไม่แปลกใจเลยว่าทำไมขายถูกลง

ด้วยราคาและความต้องการเพิ่มยอดขาย ผู้ใช้ดินอย่างเราจึงพบส่วนผสมในถุงดินที่ไม่ค่อยจะละเอียดอ่อนเท่าที่ควร มองเหมือนมิใช่ดินหรือเป็นดินปนทราย หรือปนอะไรมามากมายก็ไม่รู้

ผมลองใช้หลายครั้ง แต่ก็ไม่ติดใจ มีแต่จะลด ละและเลิก เสียเงินไปอย่างเปล่าประโยชน์ คงไปโทษใครไม่ได้ ก็แค่การเรียนรู้ที่ควบคู่การลงมือทำเท่านั้นเอง

วันนี้..คิดใหม่ทำใหม่ ใช้ดินในสวนหลังบ้านสำหรับถาดหลุมดำเพาะเมล็ด และใช้เป็นส่วนผสมในแปลงผักทุกแปลง ดินที่มีสีดำ มีส่วนผสมของซากใบไม้ที่เน่าเปื่อย สะสมทับถมมานานนับสิบปี

จากการสังเกตพบว่า..คุณภาพและปริมาณการงอกของเมล็ดผัก ประสิทธิภาพการงอก ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ลำต้นและใบแข็งแรง..เติบโตเร็ว .

จึงใช้เวลาไม่นาน...ก่อนที่จะนำลงแปลงใหญ่ วงจรง่ายๆแบบนี้ ดินที่ดีเท่านั้น จึงเป็นพื้นฐานที่สำคัญในเบื้องต้นของการเพาะเมล็ด

ผมจึงนำดินในสวนหลังบ้านไปใช้ที่โรงเรียนเป็นประจำ ทำให้นึกถึงคำสอนของครูบาอาจารย์แต่เก่าก่อน ที่เคยสอนว่าอย่าได้นำข้าวของที่โรงเรียนและวัดกลับบ้าน

เท่าที่ผ่านมา...ตลอดระยะเวลาของการรับราชการครู ไม่ว่าจะเป็นผมหรือใครๆ ก็คงทำเหมือนกัน เรามักจะหยิบยกเอาของที่บ้าน ไปใช้ที่โรงเรียน...เพราะเรานึกถึงประโยชน์ของโรงเรียนและนักเรียนเป็นสำคัญ

ไม่เว้นแม้กระทั่งดิน...การตอบแทนคุณแผ่นดิน(โรงเรียน)ด้วยดิน..จึงเป็นเรื่องที่พึงกระทำ...

ชยันต์  เพชรศรีจันทร์

๑๖  กุมภาพันธ์  ๒๕๖๔


หมายเลขบันทึก: 688992เขียนเมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2021 20:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2021 20:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท