แนวซุ่มของเรา : ความเป็น "เรา"


บทวิจารณ์เรื่องสั้น

แนวซุ่มของเรา : ความเป็น "เรา"

แนวซุ่มของเรา หนึ่งในผลงานเรื่องสั้นรางวัลยอดเยี่ยม ของ กำพล นิรวรรณ ได้รับการตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือรวมเรื่องสั้นรวมเล่ม “อาถรรพ์ภาพวาดเสือดำและเรื่องราวอื่นๆ”เป็นผลงานรวมเรื่องสั้นเล่มแรกของ “กำพล นิรวรรณ” ซึ่งประกอบไปด้วยเรื่องเล่าลี้ลับ สนุกสนาน แปลกประหลาดและมหัศจรรย์ และผลงานดังกล่าวได้รับพิจารณาจากคณะกรรมการรอบคัดเลือกรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียนให้เข้ารอบ Shot List รางวัลซีไรต์ ประจำปีพุทธศักราช 2563

จากเรื่องกล่าวได้ว่าโครงเรื่อง “แนวซุ่มของเรา” แสดงให้เห็นวิถีชีวิตของกลุ่มคนที่ได้ชื่อว่าเป็นรั้วของชาติ โดยมีข้าพเจ้า นักข่าวของหน่วยเป็นหนึ่งในเพื่อนร่วมเดินทางของการปฏิบัติภารกิจนี้ด้วย กลุ่มคนเหล่านี้ได้รับมอบหมายให้ไปปฏิบัติการยึดอาวุธของฝ่ายตรงข้าม พวกเขาเดินทางไปที่แนวซุ่มเพื่อรอซุ่มโจมตีฝ่ายศัตรู แต่ในระหว่างการรอคอยก็เกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้นเมื่อมียายเฒ่าคนหนึ่งปรากฏตัว คุณยายนั่งลงทำธุระส่วนตัว ซึ่งคือการปล่อยทุกข์ของคนที่ต้องการเข้าห้องน้ำมาก แต่ ณ ตรงนั้นถือได้ว่าเป็นห้องน้ำสำหรับชาวบ้านเพราะชาวบ้านหลายคนที่มีฐานะยากจนไม่มีห้องน้ำใช้และอีกอย่างที่ซุ่มของพวกเขาก็เป็นทางสำหรับคนสัญจรไปมาอยู่แล้ว ด้วยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจึงทำให้ความตึงเครียดในตอนนั้นกลับสร้างเสียงหัวเราะให้กับทุกคนได้ แต่ไม่นานเหตุการณ์ก็กลับมาอยู่ในสภาวะปกติอีกครั้งเมื่อมีคนของอีกฝ่ายมาจอดที่แนวซุ่มของพวกเขาแล้วก็ทำธุระที่ว่าอย่างเดียวกับยายเฒ่า แต่ครั้งนี้ไม่เป็นอย่างที่เคยฝ่ายศัตรูรู้ตัวว่าพวกเขาซุ่มอยู่ที่นี่ จึงรีบขับรถหนีไปได้ และในที่สุดภารกิจของพวกเขาก็ล้มเหลว  ขณะที่จะสั่งถอนกำลังก็มีเด็กชายคนหนึ่งเดินมา เรียกหาพ่อ ฝ่ายผู้เป็นพ่อยื่นปืนให้เพื่อนแล้ววิ่งเข้าไปกอดลูกด้วยความรักของพ่อที่มีต่อลูกอย่างอบอุ่นใจ

หากพิจารณาอย่างถี่ถ้วนจะเห็นว่าเรื่องสั้นเรื่องนี้มีการผูกเรื่องที่เป็นการสร้างเรื่องราวต่างๆ โดยสร้างให้เหตุการณ์มีความต่อเนื่องกัน โดยพิจารณาได้จากการนำเสนอเรื่องตามลำดับเวลาทำให้ผู้อ่านเข้าใจเรื่องราวได้ง่าย ดังจะเห็นจากในเรื่องที่ผู้เขียนเปิดเรื่องด้วยการยกเอาเหตุการณ์หรือการพรรณนาเหตุการณ์สงครามที่ดุเดือดมากล่าว ดังตัวอย่าง “ในอีกไม่กี่อึดใจชิองเขาข้างล่างนั่นก็จะกลายเป็นทุกสังหาร เลือดจะนอง เสียงร้องจะโหยหวนไปทั้งหุบ ข้าพเจ้าถือกล้องถ่ายรูปรอด้วยใจระทึก พลางนึกถึงเลือดเน่าๆ บนปืนเอ็ม 16 กว่ายี่สิบกระบอกที่พวกเราบนค่ายใหญ่ช่วยกันล้างในลำธารเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว”(กำพล นิรวรรณ, อาถรรพ์ภาพวาดเสือดำ (2562) : 79) แสดงให้เห็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนดำเนินต่อไป ผู้เขียนใช้ถ้อยคำคมคายที่ชวนให้ผู้อ่านได้คิดตามว่าใจความสำคัญของถ้อยความนี้คืออะไร ซึ่งแน่นอนต้องเกี่ยวโยงกับเรื่องราวต่อไปและการเลือกนำเสนอเรื่องด้วยกลวิธีนี้ชวนให้ผู้อ่านนำไปปะติดปะต่อเรื่องราวข้างหน้าได้

หลังจากการเปิดเรื่องผู้เขียนได้นำบทสนทนามาต่อท้ายถ้อยความที่ใช้เปิดเรื่อง ดังตัวอย่าง “หนอนมันเข้าไปอยู่ในนี้ได้ไงครับ” ข้าพเจ้าถามสหายที่นั่งล้างอีกกระบอกอยู่ข้างๆ(กำพล นิรวรรณ, อาถรรพ์ภาพวาดเสือดำ (2562) : 79) เป็นบทสนทนาที่ตัวละครเอกในเรื่องคือ “ข้าพเจ้า” สนทนากับสหายที่ร่วมเดินทางด้วยการตั้งคำถามที่เกี่ยวโยงกับเหตุการณ์ที่เกิดก่อนหน้า ผู้เขียนได้แสดงให้เห็นมุมมองของการเล่าเรื่องอันเล่าผ่านมุมมองของตัวละครเอกคือ ข้าพเจ้า นอกจากผู้เขียนได้นำเสนอตัวละครเอกแล้วยังแสดงให้ผู้อ่านทราบว่าเรื่องนี้เล่าผ่านมุมมองของผู้ใด ด้วยกลวิธีนี้ถือได้ว่าผู้เขียนมีความหลักแหลมที่จะนำเสนอเรื่องได้อย่างแยบยล จากนั้นจึงเริ่มดำเนินเรื่องตามลำดับเวลา เพื่อแสดงเหตุที่ทำให้ข้าพเจ้าต้องเข้าไปมีส่วนร่วมในการปฏิบัติภารกิจครั้งนี้

ตอนจบของเรื่องเป็นการจบแบบหักมุม กล่าวคือผู้เขียนเปิดเรื่องด้วยการยกเอาเหตุการณ์ในสงครามที่เกิดขึ้นมาพรรณนาให้เห็นภาพความดุเดือดและความรุนแรงที่เกิดขึ้น ชวนให้ผู้อ่านคิดต่อว่าต้องเป็นเรื่องเกี่ยวกับสงครามที่ดุเดือด สร้างความตึงเครียดตลอดทั้งเรื่องเป็นแน่ แต่ตรงกันข้ามผู้เขียนได้นำเสนอเรื่องราวได้น่าสนใจและสร้างความประทับใจให้แก่ผู้อ่านดังจะเห็นได้จากตอนจบของเรื่องที่นำเสนอความรักของพ่อที่มีต่อลูกสร้างความอบอุ่นใจและความฉงนแก่ผู้อ่านดังตัวอย่าง “ขอบคุณครับ” สหายทวนเอ่ยเบาๆ ยื่นปืนคาร์ไบน์เก่าๆ พร้อมเข็มขัดกระสุนให้สหายยุทธ์ ก่อนจะวิ่งอ้าแขนลงไปหาเด็กน้อย (กำพล นิรวรรณ, อาถรรพ์ภาพวาดเสือดำ (2562) : 89)

เหตุการณ์ทั้งหมดทำให้สามารถประมวลแนวคิดสำคัญได้หลายแง่มุม หากพิจารณาไปที่ถ้อยความสำคัญๆจะพบว่าผู้เขียนนำเสนอแนวคิดไว้หลากหลายดังนี้

ด้านความแตกต่าง เป็นความแตกต่างที่ผู้เขียนนำเสนอมีทั้งความแตกต่างภายในและภายนอก ความแตกต่างภายในได้แก่ ความคิด ทัศนคติ ดังตัวอย่าง “ข้าพเจ้าย่อมต้องยอมรับความจริงว่ามันจะเป็นข่าวก็ต่อเมื่อฝ่ายเราชนะ ถ้าเราแพ้ข่าวก็จะเงียบหายไปเหมือนสายลม”(กำพล นิรวรรณ, อาถรรพ์ภาพวาดเสือดำ (2562) : 83) จากถ้อยความข้างต้นแสดงให้เห็นความรักพวกพ้อง กล่าวคือคนเรามักให้ความสำคัญกับพวกพ้องก่อนคนอื่นๆ หากต้องการพิจารณาความถูกผิด คนส่วนใหญ่มักเอนเอียงไปที่พวกพ้อง คนที่เห็นพ้องกับตัวเองและหากมองในทางการเมืองจะทำให้ได้ประเด็นที่ว่า พวกเดียวกันในความหมายทางการเมืองนั้น หมายถึง คนที่เห็นพ้องกับตนเองไม่ใช่คนที่เห็นต่างทางการเมือง เรื่องความถูกผิดจะหมดความสำคัญไปทันทีเมื่อเป็นพวกเดียวกัน ผลประโยชน์เฉพาะกลุ่มเหนือผลประโยชน์ส่วนรวมเสมอ ด้วยเหตุนี้สะท้อนให้เห็นว่า ความรักพวกพ้องเป็นเรื่องที่ดีแต่ถ้าไม่คอยเตือนตัวเองอาจนำไปสู่การไม่รัก ไม่สนใจกับคนที่ไม่ใช่พรรคพวกของตัวเองอันนำมาซึ่งความขัดแย้งทางการเมืองนั่นเอง

ความแตกต่างภายนอกที่เห็นในเรื่อง ผู้เขียนอาจต้องการแสดงให้เห็นความเลื่อมล้ำทางสังคมที่ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ร้อยปีก็ยังมีอยู่ ดังตัวอย่าง “ใครไม่มีส้วมก็ขึ้นมาปล่อยกันบนนี้ แถวนี้มีแต่บ้านคนยากคนจน ไม่มีบ้านไหนมีส้วมกันหรอก หรือใครปวดหนักกลางทางก็ขึ้นมาปลดปล่อยบริเวณนี้ ” (กำพล นิรวรรณ, อาถรรพ์ภาพวาดเสือดำ (2562) : 86) สะท้อนให้เห็นวิถีชีวิตและชนชั้นทางสังคมเป็นความแตกต่างระหว่างคนรวยกับคนจน ซึ่งถ้อยความข้างต้นแสดงให้เห็นว่าคนรวยเท่านั้นที่จะมีห้องน้ำใช้ ส่วนคนจนก็ปล่อยไปตามธรรมชาติ ตามมีตามเกิด ทั้งนี้ผู้เขียนอาจต้องการนำเสนอว่าความไม่เท่าเทียมกันในสังคมยังมีอยู่ตั้งแต่อดีต ปัจจุบันและมีแนวโน้มว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย

ด้านความขัดแย้งทางการเมือง ผู้เขียนได้นำเอาเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในอดีตมีเล่าผ่านมุมมองของข้าพเจ้าซึ่งเป็นตัวละครเอกในเรื่อง ดังตัวอย่าง “หน่วยซุ่มตีของเราเกือบร้อยคนต่างตั้งตารอ หลายคนรอแก้แค้นแทนญาติพี่น้อง ที่ถูกถีบลงเขาเผาลงถังแดงเมื่อไม่กี่ปีก่อน” (กำพล นิรวรรณ, อาถรรพ์ภาพวาดเสือดำ (2562) : 80) เหตุการณ์ “ถีบลงเขาเผาลงถังแดง” เป็นเหตุการณ์สำคัญเกี่ยวกับปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงของรัฐ ที่ใช้วิธีที่รุนแรงนอกกระบวนการกฎหมายเพื่อลงโทษผู้ต้องสงสัยว่าเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการคอมมิวนิสต์ในเขตจังหวัดพัทลุงและพื้นที่ใกล้เคียง โดยวิธีการจับกุมผู้ต้องสงสัยมาใส่ในถังน้ำมันซึ่งมีน้ำมันในก้นถัง แล้วเผาผู้ต้องสงสัยเหล่านั้น

จากเหตุการณ์ดังกล่าวสะท้อนให้เห็นความรักพวกพ้องของฝ่ายรัฐที่ใช้ความรุนแรงกับประชาชนโดยไม่ได้สืบหาความจริงว่าประชาชนนั้นมีความผิดจริงหรือไม่และตรงกันข้ามฝ่ายรัฐที่ใช้ความรุนแรงนอกกฎหมายกับประชาชนกลับไม่ได้รับการลงโทษใดๆเลย เป็นแนวคิดสำคัญที่ทำให้ผู้อ่านเห็นว่า “พวกเดียวกันไม่ใช่คนที่เห็นต่างทางการเมือง เรื่องความถูกผิดจะหมดความสำคัญไปทันทีเมื่อเป็นพวกเดียวกัน” การที่ผู้เขียนเลือกนำเสนอแนวคิดสำคัญทางการเมืองนี้ อาจต้องการนำเสนอให้เรื่องราวมีความสอดคล้องกันตลอดทั้งเรื่องและเชื่อมโยงกับการเปิดเรื่องที่เกี่ยวโยงกับความขัดแย้งเช่นเดียวกัน ทั้งนี้เหตุที่ทำให้ผู้เขียนถ่ายทอดเรื่องราวได้ดี ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะผู้เขียนมีประสบการณ์มาก่อน กล่าวคือ กำพล เคยเข้าร่วมพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยนั่นเอง

ผู้วิจารณ์พิจารณาแล้วว่าการที่ผู้เขียนเปิดเรื่องด้วยเหตุการณ์ความขัดแย้งทางสังคม ดำเนินเรื่องตามลำดับเวลาที่มีทั้งสภาวะตึงเครียดและน่าขบขันเพื่อต้องการนำเสนอแก่นสำคัญของเรื่องที่สะท้อนให้เห็นวิถีชีวิตของนักรบ ซึ่งก็คือทหารฝ่ายคอมมิวนิสต์ การใช้ชีวิตในป่าที่ไม่ได้มีแค่สภาวะตึงเครียดเสมอไป เห็นได้จากการสร้างตัวละคร ยายเฒ่า มาประกอบเรื่องราวอย่างเป็นธรรมชาติ ทั้งนี้ยังสะท้อนให้เห็นว่า ไม่ว่าจะอยู่ฝ่ายเสรีประชาธิปไตยหรือคอมมิวนิสต์ก็มีหัวใจความเป็นมนุษย์เช่นเดียวกัน คนทั่วไปมักมองพวกคอมมิวนิสต์เป็นคนไม่ดีเพียงแค่มองลักษณะภายนอก ขณะที่ปฏิบัติหน้าที่ บางทีหลังจากงานแล้วเขาอาจมีอีกมุมที่คนทั่วไปมองไม่เห็นหรือไม่เปิดใจที่จะมอง ดังตัวอย่าง “ขอบคุณครับ” สหายทวนเอ่ยเบาๆ ยื่นปืนคาร์ไบน์เก่าๆ พร้อมเข็มขัดกระสุนให้สหายยุทธ์ ก่อนจะวิ่งอ้าแขนลงไปหาเด็กน้อย (กำพล นิรวรรณ, อาถรรพ์ภาพวาดเสือดำ (2562) : 89)

ผู้เขียนอาจต้องการให้เห็นอีกมุมของคนที่เป็นคอมมิวนิสต์ที่มีมุมอบอุ่นให้ได้เห็นเช่นเดียวกับสหายทวนที่แสดงถึงความรักของพ่อที่มีต่อลูก ชวนให้ผู้อ่านประทับใจและอบอุ่นใจไปตามกัน และในขณะที่อีกฝ่ายประกาศตนว่าเป็นฝ่ายเสรีประชาธิปไตยก็ยังมีอีกมุมที่แสดงให้เห็นว่า แม้จะอยู่ฝ่ายประชาธิปไตยแต่ในความเป็นจริงยังมีการแบ่งชนชั้นมีการใช้ความรุนแรงอยู่ จนทำให้เกิดคำถามว่า แล้วอะไรคือเสรีที่แท้จริง? จากตัวอย่างเหตุการณ์ต่างๆในสังคมที่ผู้เขียนยกมาเล่าล้วนสนับสนุนแก่นสำคัญของเรื่องได้เป็นอย่างดี ทำให้ได้แนวคิดสำคัญอีกประการคือ “ดาบมีสองคมก็เหมือนกับคนที่มีสองด้านเสมอ” นั่นเอง

สิ่งที่จะไม่กล่าวถึงไม่ได้เลยคือตัวละครที่สำคัญในเรื่องได้แก่ ข้าพเจ้า สหายยุทธ์ สหายทวนและเด็กผู้ชาย ข้าพเจ้าเป็นตัวละครเอกที่มีความสำคัญในการดำเนินเรื่องเป็นอย่างมาก เพราะผู้เขียนได้สร้างตัวละครข้าพเจ้าเป็นผู้เล่าเรื่อง ทั้งยังเป็นผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ทั้งหมด ผู้วิจารณ์จึงคิดว่าผู้เขียนสร้างตัวละครได้อย่างสมจริงเพราะตัวละครอยู่ในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตลอดทั้งเรื่อง สหายยุทธ์ เป็นตัวละครที่มีความตลก ผู้เขียนอาจสร้างตัวละครเพื่อให้ความสนุกสนาน ทำให้เรื่องไม่เครียดจนเกินไป และทำให้ผู้อ่านไม่เกิดความเบื่อหน่าย ตัวละครสหายทวน ที่ส่งเสริมแก่นสำคัญของเรื่องทำให้ผู้อ่านมองได้หลายมุม และเห็นด้านที่อบอุ่นของทหารคอมมิวนิสต์ ทั้งนี้ยังมีตัวละครเด็กผู้ชายเป็นจุดพลิกทำให้เรื่องจบแบบหักมุม แสดงให้เห็นความรักความอบอุ่นระหว่างพ่อลูกที่ทำให้ผู้อ่านมองเห็นอีกด้านของทหารคอมมิวนิสต์นั่นเอง

ผู้เขียนนำเสนอตัวละครโดยสร้างตัวละครได้อย่างสมจริงและสมเหตุสมผล นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญกับฉากในเรื่องเป็นอย่างมาก จากที่ผู้วิจารณ์ได้พิจารณาฉากและพบว่าผู้เขียนให้ความสำคัญกับฉาก โดยใช้ฉากเป็นชื่อเรื่อง คือ แนวซุ่มของเรา ใช้ฉากที่เป็นธรรมชาติ มีความสำคัญที่สุดต่อพฤติกรรมของตัวละครทั้งภายในและภายนอก ผู้เขียนใช้ฉากเดียวตลอดการดำเนินเรื่องอาจต้องการเน้นให้เห็นความสำคัญของฉากที่มีต่อการดำเนินเรื่องเพื่อให้มีความน่าเชื่อถือเพราะ แนวซุ่มของเรา เป็นสถานที่สำหรับปฏิบัติการของเหล่าทหาร

นอกจากนี้ฉากยังมีผลต่อการสร้างบรรยากาศหลายอย่างในท้องเรื่องโดยผู้เขียนได้พรรณนาให้เห็นภาพสถานที่ พฤติกรรมตัวละครทั้งภาพและเสียง ดังตัวอย่าง “จังหวะหนึ่งแกเอี้ยวคอบ้วนน้ำหมากปรี๊ดใหญ่คนอะไรแม่นเป็นจับวาง ทั้งปรี๊ดรดลงบนลำกล้องปืน เอชเค-33 ของสหายยุทธ์เต็มเปา ข้าพเจ้าเพ่งตาฝ่าความสลัวมองตาม แล้วก็ต้องขนลุก เพราะมันชวนให้นึกถึงเลือดเน่าๆของข้าศึกขึ้นมาอีก”(กำพล นิรวรรณ, อาถรรพ์ภาพวาดเสือดำ (2562) : 84 - 85)  “มีเสียงหัวเราะเอิ้กหนึ่งดังลอดผ้าขาวม้าออกมาจากเงามืดห่างไปทางซ้ายของข้าพเจ้าราวสามสี่วา” (กำพล นิรวรรณ, อาถรรพ์ภาพวาดเสือดำ (2562) : 85) ที่ชวนให้ผู้อ่านรู้สึกคล้อยตามได้

หากพิจารณาชื่อเรื่องแล้วถ้ามองในความสำคัญที่มีต่อแก่นเรื่อง แนวซุ่มของเรา หมายถึง เป็นที่ซ่อนเพื่อเตรียมรบกับศัตรู และสถานที่สำคัญที่มีอิทธิพลต่อการดำเนินเรื่องทั้งหมด แต่หากมองในแง่ทางการเมือง ผู้วิจารณ์มองว่าผู้เขียนอาจต้องการแฝงสาระที่เกี่ยวกับแนวคิดสำคัญในเรื่อง กล่าวคือ คำว่า “แนวซุ่ม” อาจหมายถึงสถานที่แห่งหนึ่ง คำว่า “ของเรา” อาจให้ความรู้สึกถึงการแบ่งแยก , ความเป็นเจ้าของ และหากนำมารวมกัน “แนวซุ่มของเรา” อาจหมายถึง ที่ของเราหรือที่สำหรับเรา ซึ่งแสดงให้เห็นความเชื่อมโยงกับแนวคิดสำคัญคือความรักพวกพ้อง กล่าวคือเป็นที่ของสำหรับพวกเรานั่นเอง

ทั้งนี้กลวิธีการนำเสนอเรื่องยังมีความโดดเด่นมาก เล่าเรื่องโดยผ่านมุมมองของข้าพเจ้าที่เป็นตัวละครเอกในเรื่อง โดยนำเสนอเรื่องความขัดแย้งต่างๆผ่านมุมมองใหม่ๆ ใช้น้ำเสียงสะเทือนใจ เสียดสี ตลก ตื่นเต้นและเศร้าใจ ปะปนกัน ทำให้อ่านง่ายไม่ตึงเครียด แต่เนื้อเรื่องยังคงแฝงสัญลักษณ์ที่สื่อถึงแก่นสำคัญของเรื่องได้ ผู้เขียนนำเอาเหตุการณ์ต่างๆทางสังคมหลายๆเหตุการณ์มารวมกันและนำเสนอในรูปแบบที่ปนตลกทำให้เนื้อเรื่องไม่เครียดจนเกินไป ผู้อ่านไม่เกิดความเบื่อหน่ายซึ่งเนื้อหามีความสัมพันธ์กัน คือความขัดแย้งระหว่างคอมมิวนิสต์กับเสรีประชาธิปไตย

หากพิจารณาโดยภาพรวมแล้วเรื่องสั้นเรื่อง แนวซุ่มของเรา มีองค์ประกอบที่สมจริง ตั้งแต่การผูกเรื่อง แก่นเรื่อง ตลอดจนถึงตัวละคร ที่มีบทบาทสำคัญในการดำเนินเรื่องคือ ข้าพเจ้า สหายยุทธ์ สหายทวน และเด็กผู้ชายนั้นมีความสมจริง เรื่องนี้มีการใช้ฉากเป็นชื่อเรื่องอย่างมีนัยสำคัญ ทำให้เนื้อเรื่องมีความน่าสนใจที่จะอ่านเรื่องราวจนจบรวมถึงเข้าใจในสิ่งที่ผู้เขียนต้องการจะสื่อด้วย นับว่าฉากในเรื่องนี้มีความโดดเด่นมากทีเดียว เพราะใช้เป็นชื่อเรื่องและสิ่งที่มีอิทธิพลต่อตัวละครตลอดการดำเนินเรื่องสามารถถ่ายทอดเรื่องราวได้อย่างสมจริง และสมเหตุสมผล

ทั้งนี้ยังทำให้ผู้อ่านสามารถตีความตัวละครออกไปได้อย่างกว้างขวางและมีอิสระทางความคิด นับว่าผู้เขียนมีความคิดความอ่านที่ดีในการใช้กลวิธีดังกล่าว ท้ายที่สุดแล้ว ตัวละครทุกตัวที่ปรากฏภายในเรื่อง “แนวซุ่มของเรา”  ต่างแสดงให้เห็นความเป็นจริงของมนุษย์และสะท้อนให้ผู้อ่านเข้าใจวิถีชีวิตของเหล่าทหารทั้งหลายมากขึ้นด้วย



รายการอ้างอิง

กำพล นิรวรรณ.  (2562).  อาถรรพ์ภาพวาดเสือดำ.  กรุงเทพฯ : ผจญภัยสำนักพิมพ์.

ภาพปกหน้าหนังสือ อาถรรพ์ภาพวาดเสือดำ.  ค้นเมื่อ  13 มกราคม 2564.          จาก https://m.seed.com/Product/ProductImage/9786164790094#1

หมายเลขบันทึก: 688987เขียนเมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2021 18:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2021 18:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท