เพราะเป็นวัยรุ่นจึงเจ็บปวด (2556)


เราต้องทำงานกับวัยรุ่น ไม่ว่าจะเป็นงานชุมชน งานวิชาการ งานสื่อ แต่เราไม่สามารถเอาหลักคิดแบบผู้ใหญ่ใส่ลงไปได้ทั้งหมด และที่เราเรียนรู้มาเกี่ยวกับวัยรุ่น วันนี้ก็อาจจะไม่ถูกต้องซะทีเดียว เราจึงต้องอัพเดทความรู้ความเข้าใจตรงนี้เสมอ การเข้าใจและได้ร่วมงานกับวัยรุ่นเป็นงานที่ช่วยให้เรามีอนาคตในการงานที่ยาวนานขึ้น เพราะพวกเขานี่แหละจะเป็นผู้นำสังคมและเขายังมีชีวิตอีกยาวนาน

เพราะเป็นวัยรุ่นจึงเจ็บปวด (2556)

แรงบันดาลใจที่สั่งหนังสือเล่มนี้มาอ่านเพราะ

1.ลูกชายอยู่ในวัยรุ่นตอนต้น และลูกสาวก็กำลังย่างเข้าวัยรุ่น เราเป็นพ่อถึงจะเคยอาบนำร้อนมาก่อน แต่น้ำร้อนสมัยพ่อ (ที่ต้องใช้กาต้ม) ก็ไม่ใช่ว่าจะเหมือนน้ำร้อนสมัยนี้ (ที่ใช้เครื่องทำน้ำอุ่นไฟฟ้า) และมีอีกหลายอย่างที่คนเป็นพ่ออย่างเราต้องเรียนรู้เท่าทันเพื่อเข้าใจลูกๆตามยุคสมัยของเขา

2.เราต้องทำงานกับวัยรุ่น ไม่ว่าจะเป็นงานชุมชน งานวิชาการ งานสื่อ แต่เราไม่สามารถเอาหลักคิดแบบผู้ใหญ่ใส่ลงไปได้ทั้งหมด และที่เราเรียนรู้มาเกี่ยวกับวัยรุ่น วันนี้ก็อาจจะไม่ถูกต้องซะทีเดียว เราจึงต้องอัพเดทความรู้ความเข้าใจตรงนี้เสมอ การเข้าใจและได้ร่วมงานกับวัยรุ่นเป็นงานที่ช่วยให้เรามีอนาคตในการงานที่ยาวนานขึ้น เพราะพวกเขานี่แหละจะเป็นผู้นำสังคมและเขายังมีชีวิตอีกยาวนาน (แม้ว่าผู้ใหญ่จำนวนไม่น้อย ยังพยายามกอดตำแหน่งเอาไว้อีกนาน แต่ท้ายที่สุด ก็จะต้านทานกระแสมรสุมการเปลี่ยนแปลงที่รุนแรงไม่ได้ อันนี้คือกฏธรรมชาติ)

“เพราะเป็นวัยรุ่นจึงเจ็บปวด” เป็นหนังสือมือสองที่สั่งซื้อมาได้เดือนสองเดือนกระมัง แต่อ่านจบเร็วเพราะเนื้อหาไม่ยาก เขียนสไตล์เรื่องเล่าแบบพ่อ แบบครูคุยกับลูกหรือลูกศิษย์ ความหนาพ็อคเกตบุคก็สองร้อยกว่าหน้า อ่านวันละบทๆไม่รีบร้อน สองเดือนก็จบ

ถึงอ่านจนจบก็ใช่จะเข้าใจวัยรุ่นและปฏิบัติต่อพวกเขาได้อย่างราบรื่นไปซะทีเดียวนะครับ เพราะทั้งหมดนี่ต้องสั่งสมจากการปฏิบัติ การมีประสบการณ์ตรง แล้ววิเคราะห์ ทบทวน ใคร่ครวญซ้ำๆ แล้วออกแบบ ปรับปรุงตัวเองเสมอ อย่างที่ผู้เขียนคือ “คิมรันโด” ย้ำไว้

ถึงจะเป็นหนังสือที่พูดถึงวัยรุ่น หรือคนหนุ่มคนสาวที่กำลังเรียนหรือเพิ่งเรียนจบมหาวิทยาลัย แต่มันก็ช่วยให้เรามองย้อนกลับไปที่ตัวเราในวันนี้ และตั้งคำถามกับเส้นทางวิถีชีวิตตัวเราเองได้ด้วย

หนังสือมีบทย่อยๆอยู่ 42 บท แต่ละบทสั้นๆครับ 3-5 หน้า อย่าเพิ่งตกใจว่าบททำไมมันเยอะ แต่ที่ผมชอบเป็นพิเศษมีอยู่ 3 บท คือ บท “อย่าเพิ่งบริหารเงินตอนนี้” บท “ ใครคนหนึ่งคือทะเลกว้างสำหรับคุณ ” และบท “ มหาวิทยาลัยคืออะไรสำหรับเรา ”

...........................................................................................

บท “อย่าเพิ่งบริหารเงินตอนนี้” แนะให้คนรุ่นใหม่อย่าเพิ่งรีบเก็บเงินเก็บทองเพื่อแข่งกันรวย แต่ให้ใจเย็นลงนิด เพื่อนำเงินที่หาได้ไปลงทุนในการเรียนรู้และพัฒนาตัวเองให้มากเป็นอย่างแรกก่อน

ลงทุนตัวเองเพื่อให้พบสิ่งที่ตัวเองทำได้ดีที่สุด และพัฒนาต่อยอดตรงจุดนั้น ไม่ใช่มุ่งหาเงินหางานไปตามกระแส ถึงจำต้องมีงานทำและเป็นงานที่อาจจะยังไม่ใช่ ก็ต้องกันเงินเอาไว้เพื่อลงทุนในตัวเองให้มาก แล้วต้องหมั่นทบทวนเป้าหมาย วิธีการทำงานต่างๆ ว่าเป็นไปตามเป้าที่เราวางไว้ไหม ถ้ายังไม่มีเป้าหมายก็ต้องสั่งสมประสบการณ์ทั้งจากการเรียนรู้ด้วยตนเอง เรียนจากตำรา เรียนจากคนอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรียนจากการทำงาน เป้าหมายจะค่อยๆแจ่มชัดขึ้น

เมื่อรู้เป้าหมาย ประกอบกับมีชีวิตที่ค้นพบตัวเอง จะรู้ทิศทางไปที่ถูกต้อง เมื่อพบที่ทางที่ใช่ ค้นพบตัวเองแล้วจึงค่อยไปเน้นที่การบริหารเงิน

...................................................................................

บท “ ใครคนหนึ่งคือทะเลกว้างสำหรับคุณ ” บทนี้พูดถึงความรักของวัยรุ่นหนุ่มสาวที่ให้ระวังการมีกิ๊ก หรือคบซ้อนหลายคน

ผู้เขียนไม่ได้บอกตามนัยะของศีลธรรม (ผมเข้าใจว่าพูดเรื่องบาปนั้น วัยรุ่นคงยากจะเข้าใจ) แต่ผู้เขียนชี้ว่า การมีกิ๊ก สะท้อนการภาพเสพติดความรัก หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ การโหยหาคนที่จะมายอมรับตัวเรา ซึ่งก็คือการไม่เห็นคุณค่าในตัวเอง นอกจากนี้การมีกิ๊กก็คือการไม่กล้าที่จะทุ่มเท ผูกพันกับใครจริงจัง ไม่กล้ารับผิดชอบในความทุ่มเทที่จะรักใครจนสุดหัวใจแม้จะยอมทุกข์ตกระกำลำบากก็ยอมร่วมกันประคองสู้ชีวิต ซึ่งสะท้อนคุณสมบัติว่าเป็นคนโลเล บริโภคนิยม ไม่มีความเสียสละและอดทน

ยิ่งมีกิ๊กจะยิ่งบ่มเพาะคุณสมบัติแย่ๆเหล่านี้ไว้ และจะส่งผลร้ายต่อทั้งต่อพัฒนาการในความรัก ชีวิตครอบครัว และต่อการการงานในทุกๆด้าน

ไม่ได้แยกส่วนกันเลย

นอกจากนี้ ชื่อของบทก็กิ๊บเก๋ดี บอกให้เราสนใจคุณภาพเชิงลึกของคนที่เราตัดสินใจจะรัก และเรียนรู้ว่าสำหรับความรักแล้ว

คุณภาพสำคัญกว่าปริมาณ

.........................................................................................

บท “ มหาวิทยาลัยคืออะไรสำหรับเรา ”

บทนี้เป็นอีกบทที่ผมคิดว่ามันสร้างแรงบันดาลใจให้ผมมาก เพราะลึกๆผมก็คิดเช่นเดียวกับผู้เขียนแต่นานๆทีจะพูดออกไปเพราะเกรงว่าพูดแล้วจะมีคนว่าบ้าบอ ใครๆเขาจะคิดอย่างนี้กันอีก แต่พอมาอ่านหนังสือ Best Seller พิมพ์ครั้งที่ 16 เล่มนี้ ทำให้ผมยิ้มกว้างในใจขึ้น

มหาวิทยาลัยไม่ใช่แหล่งที่สอนวิชาไปทำงานแบบช่างเทคนิค แต่เป็นแหล่งบ่มเพาะให้เรามีกระบวนการทางปัญญา คือ คิดเป็น ตั้งคำถามเป็น แยกแยะ เชื่อมโยง สร้างการเรียนรู้ที่ลึกซึ้งกว่าการจบไปเพื่อมีเงิน มีงาน

จริงๆการมีเงิน มีงานนั่นเป็นผลทางอ้อมในการเรียนระดับมหาวิทยาลัย เพราะเอาเข้าจริง ถ้าอยากรวยก็ไม่ต้องเข้ามหาวิทยาลัยก็ได้ แต่มหาวิทยาลัยมีประวัติศาสตร์ มีจิตวิญญาณ มีกระบวนการต่อสู้เพื่อให้เกิดเป็นถาบันการศึกษาซึ่งมีหน้าที่ทางสังคมกำหนดมาเฉพาะ

ตรงนี้ต้องไปศึกษาปรัชญาการก่อตั้งมหาวิทยาลัยนั้นๆ เราถึงจะรู้จะเข้าใจ

เมื่อเรารู้และเข้าใจหลักและประวัติศาสตร์ที่มาของสถานศึกษาตลอดจนวิชานั้นๆ เราจึงศึกษาได้ลุ่มลึก ได้อย่างมีพลัง

มหาวิทยาลัยจะเป็นแค่ฉลากติดเพื่อเพิ่มมูลค่าตัวเรา หรือเป็นแหล่งบ่มเพาะความรู้อันยิ่งใหญ่ ความรับผิดชอบอันยิ่งใหญ่ และความฝันอันยิ่งใหญ่ ขึ้นอยู่กับเราจะให้ความหมายมัน

และความหมายนั้นจะส่งผลต่อวิถีชีวิตทุกด้านของเรา

.........................................................................................................

ผมใช้เวลาเช้านี้ ชั่วโมงเศษๆในการทบทวนการเรียนรู้ จากการอ่าน และใคร่ครวญกับตัวเอง ซึ่งผมคิดว่าจำเป็นต่อการยกระดับชีวิตการงาน ให้ช้าลง เบาลง แต่มีประสิทธิภาพมากขึ้น

จริงๆมีอีกหลายบทที่ผมชอบนะครับ อย่างบท “เสียงสัมผัสของชีวิตคืออะไร” ที่ยกตัวอย่างเพลงแร็พ ซึ่งจริงๆเนื้อหาถ้อยคำเต็มไปด้วยคำด่า คำแสลง แต่การเอาสัมผัสที่ดีมาสร้างเป็นจัหวะดนตรี ก็กลับทำให้ร้ายกลายเป็นดี เป็นเพลงที่คนนิยมทั่วโลกได้ นี่ก็สอนให้เรารู้จักสร้างและค้นหาเสียงสัมผัสของชีวิตที่ทำให้เกิดเป็นความงาม เป็นจุดคลิ๊กที่ทำให้เรามองเห็นว่า อย่ากลัวความผิดหวัง อย่ากลัวการแตกต่าง

หากเรามีศิลปะในการจัดวางให้เกิดสัมผัส มันจะเกิดเป็นคุณค่าใหม่ได้

คล้ายกับวิชาไอคิโด (Aikido) ที่เปลี่ยนแรงปะทะจากผู้จู่โจมมาเป็นแรงหักข้อทุ่มที่สะท้อนกลับไป


การมีเวลานิ่งๆพอที่จะเขียนสิ่งที่เรียนรู้อย่างมีสมาธิอย่างเช้านี้ จะมีความหมายต่อชีวิตผมทั้งในวันนี้และวันหน้า แต่การเก็บสิ่งเหล่านี้ไว้กับตัวคนเดียวคงน่าเสียดาย ผมเลยอยากบันทึกเรื่องนี้ไว้ใน Facebook และ Gotoknow เผื่อเป็นประโยชน์ต่อกับใครๆ

อ้อ ผมจะเล่าเรื่องหนังสือเล่มนี้ต่อใน Podcast ชื่อ The Inside-Out ปัญญาปฏิบัติ ใครสนใจตามไปฟังใน Spotify และ anchor ได้นะครับ น่าจะได้อรรถรสจากการฟังไปอีกแบบ

ขอบคุณและเชื่อว่าทุกท่านที่อ่านมาถึงบรรทัดนี้ จะได้อะไรดีๆเหมือนที่ผมได้รับจากหนังสือเล่มนี้เช่นกัน

หมายเลขบันทึก: 688984เขียนเมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2021 16:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2021 16:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท