อาถรรพ์ภาพวาดเสือดำ : ถ้ำ


ถ้ำ : ความจริงที่ไม่ปรากฏ

                                                                                                                                                             มัลลิกา ปรินสารัมย์

      “อาถรรพ์ภาพวาดเสือดำ” ของ กำพล นิรวรรณ เป็นวรรณกรรมรวมเรื่องสั้นทั้งหมด 12 เรื่อง ได้แก่ คนธรรพ์แห่งภูบรรทัด ถ้ำ บนเส้นทางไปโรงพยาบาล วีรชน แนวซุ่มของเรา บางโก้งโค้ง โรงสีไฟ อาถรรพ์ภาพวาดเสือดำ คูการ์เจ้าภูผา ล่ามผู้ไร้จรรณยาบรรณ สวนสวรรค์ และความลับแห่งหุบเขาเซียน็อก หนังสือรวมเรื่องสั้นเล่มนี้ได้รับการพิจารณาจากกรรมการรอบคัดเลือกรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียนให้เข้ารอบ Short List รางวัลซีไรต์ ประจำปี พ.ศ. 2563 ซึ่งเรื่องราวทั้งหมดในหนังสือเต็มไปด้วยความลึกลับซับซ้อน ซ่อนเงื่อนงำ อันเป็นเหตุให้ไม่สามารถละสายตาจากการอ่านได้

          กำพล นิรวรรณ นักเขียนผู้มากประสบการณ์ในด้านการใช้ชีวิต เริ่มจากการเป็นนักแปลของกองบรรณาธิการสำนักพิมพ์ ปุถุชน เมื่อ พ.ศ. 2518 ต่อมาหลังจากเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ด้วยอุดมการณ์อันแรงกล้าทำให้เขาต้องเข้าไปอยู่ในป่าเพื่อร่วมเคลื่อนไหวในหน่วยวัฒนธรรมของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย กระทั่งระยะเวลาล่วงเลยไป 3 ปี กำพล นิรวรรณ จึงกลับเข้าสู่เมืองและได้ทำงานเป็นนักแปลทั้งงานบทความวิชาการ งานเรื่องสั้น รวมทั้ง ‘เขียนไว้เมื่อเป็นไม้ใกล้ฝั่ง’ สุนทรพจน์ของ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ หลังจากที่ทำงานเป็นนักแปลก็ได้ผันตัวมาเป็นนักข่าวกับบีบีซีนิวส์ ในปี พ.ศ. 2541 จากประสบการณ์ต่าง ๆ ที่ กำพล นิรวรรณ ได้ผ่านพบมาจึงได้กลั่นกรองกลายเป็นหนังสือรวมเรื่องสั้น อาถรรพ์ภาพวาดเสือดำ

          “ถ้ำ” เรื่องสั้นจาก กำพล นิรวรรณ เรื่องราวของ ‘ครูพัน’ อาจารย์ในวิทยาลัยครูเล็ก ๆ แห่งหนึ่ง ผู้เป็นสุภาพบุรุษที่แท้จริงในสายตาของนักศึกษาหญิง วันหนึ่งนักศึกษาหญิงได้เขียนจดหมายชวนครูพันไปเที่ยวที่ถ้ำ ครูพันดูแลกลุ่มนักศึกษาหญิงที่มาด้วยเป็นอย่างดีตลอดการเดินทาง กระทั่งถึงจุดหมายนักศึกษาหญิงชวนเขาไปเล่นน้ำซึ่งใสสะอาดมองเห็นทุกสิ่งรวมถึงเรือนร่างของนักศึกษาหญิง ซึ่งเขาปฏิเสธแต่ในขณะที่กลุ่มนักศึกษาหญิงกำลังเพลิดเพลินกับการเล่นน้ำ กลับทำให้เขาเกิดความใคร่และสุดท้ายต้องพ่ายแพ้ต่อความปรารถนาของตน

          ชื่อเรื่อง ‘ถ้ำ’ เมื่อพิจารณาแล้วสามารถตีความหมายได้สองแง่ ประการแรก คือ ถ้ำมอง หมายถึง ภาวะของคนที่ได้รับความสุขทางเพศจากการแอบดูร่างกายเปลือยตามสถานที่ต่าง ๆ พบได้ทั้งชายและหญิง (“ถ้ำมอง คืออะไร,” ย่อหน้าที่ 1) ซึ่งผู้เขียนอาจต้องการสื่อถึง ครูพัน ตัวละครเอกที่มีพฤติกรรมแอบดูลูกศิษย์ของตน สอดคล้องกับคำว่า ถ้ำมอง และประการที่สองผู้เขียนใช้คำว่า ถ้ำ เป็นชื่อเรื่องเพื่อเป็นสัญลักษณ์แทนภาพอวัยวะเพศหญิง ซึ่งได้กล่าวถึงลักษณะของถ้ำในเรื่อง “เหมือนรูปพนมมือ” (กำพล นิรวรรณ, 2562, หน้า55)

          เรื่องสั้น “ถ้ำ” มีการใช้เหตุการณ์ที่เกี่ยวกับรัฐบาลมาพรรณนาเพื่อเปิดเรื่อง “สิ้นเสียงนกแสก เสียงกระสุนปืนใหญ่จากฝ่ายรัฐบาลเริ่มคำรามเขย่าเทือกเขา สะเทือนเข้าไปในอกของครูพัน” (กำพล นิรวรรณ, 2562, หน้า43) ซึ่งเป็นการสอดแทรกเหตุการณ์ทางการเมืองทำให้มีความน่าสนใจ และพรรณนาถึงการกระทำของตัวละครเอก คือ ครูพัน ขณะหยิบจดหมายจากกลุ่มนักศึกษาหญิงขึ้นมาอ่าน เป็นจดหมายที่นักศึกษาหญิงเขียนชวนครูพันไปเที่ยวถ้ำเนื่องจากพึ่งมีการค้นพบพวกเธอจึงอยากไปท่องเที่ยวสำรวจ วันต่อมาครูพันและนักศึกษาหญิงเดินทางไปที่ถ้ำ ระหว่างการเดินทางพวกเขามีการสนทนากันอย่างสนิทสนม และพวกเธอไว้ใจครูพันเป็นอย่างมากเพราะเขาไม่เคยแสดงท่าทีที่ไม่เหมาะสมเหมือนอาจารย์หนุ่มคนอื่น ๆ แม้แต่ครั้งเดียว

          เหตุการณ์ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งลัดดานักศึกษาหญิงคนหนึ่งในกลุ่มถูกทากกัด ครูพันเห็นเข้าจึงอาสาช่วยนำทากออกจากเท้าของเธอ ในขณะที่ครูพันกำลังจะช่วยปิดปากแผลเขาก็ได้สัมผัสกับมือของลัดดา “ผิวคล้ำเนียนนุ่มมือของเธอทำเอาเขารู้สึกวาบหวิวขึ้นมาอย่างไม่รู้เนื้อรู้ตัว” (กำพล นิรวรรณ, 2562, หน้า52) นำไปสู่ความขัดแย้งภายในจิตใจ กล่าวคือ ครูพันมีความรู้สึกบางอย่างที่ไม่เหมาะสมกับนักศึกษาหญิง แต่ในขณะเดียวกันเขาก็ยังมีสามัญสำนึกของความเป็นสุภาพบุรุษ จะเห็นได้จากนักศึกษาหญิงถามถึงสาเหตุว่าทำไมไม่ชอบน้ำในถ้ำ ครูพันจึงตอบว่า “คงจะเป็นเพราะมันใสเกินไป ดำลงไปแล้วเห็นตัวเองหมดจด เห็นเข้าไปถึงมุมมืดทุกซอกทุกมุม” (กำพล นิรวรรณ, 2562, หน้า53) เหตุผลดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าเขาอาจจะไม่ชอบหรือไม่อยากพบเจอกับภาพที่ไม่เหมาะสม นอกจากนี้ผู้เขียนยังได้บรรยายอีกว่า “ในใจเขาเกิดอาการปั่นป่วนขึ้นมาโดยไม่มีปี่มีขลุ่ย คงหนีไม่พ้นเทพกับมารอีกตามเคย เขาคิด มันมักจะลงไปเปิดศึกกันในก้นบึ้งแห่งห้วงจิตสำนึกของเขา” (กำพล นิรวรรณ, 2562, หน้า54) อาจกล่าวได้ว่าเขามักจะเกิดความขัดแย้งภายในจิตใจระหว่างฝ่ายธรรมะกับฝ่ายอธรรม

          เมื่อครูพันและลูกศิษย์เดินทางไปถึงปากถ้ำ นักศึกษาหญิงจึงชวนครูพันดำน้ำซึ่งเขาปฏิเสธและคิดหนักเพราะไม่ไว้ใจตัวเอง แต่สุดท้ายก็ต้องยอมใจอ่อนให้กับคำชวนของลูกศิษย์ ขณะว่ายอยู่ในน้ำทำให้ครูพันต้องพบกับภาพของนักศึกษาหญิงที่เกาะกลุ่มกันพลิ้วตัวแหวกว่ายไปข้างหน้า  เรือนร่างของพวกเธอถูกเสื้อผ้ารัดจนเห็นโค้งเว้าสัดส่วนอย่างชัดเจน จะเห็นได้ว่าผู้แต่งทวีความเข้มข้นขึ้นเรื่อย ๆ โดยหน่วงเรื่องให้ครูพันต่อสู้กับความรู้สึกนึกคิดของตนเอง ซึ่งบรรยายถึงความรู้สึกขณะเห็นภาพนักศึกษาหญิงดำน้ำ “มันก็คงจะเป็นตะคริวแห่งความเสียวซ่านที่แผ่ความหฤหรรษ์ไปทั้งสรรพางค์กาย และถ้าเขาจะต้องจมน้ำตายในยามนี้เขาก็ยินดี” (กำพล นิรวรรณ, 2562, หน้า58) หลังจากที่ครูพันและลูกศิษย์ขึ้นมาจากน้ำ กลุ่มนักศึกษาสาวยังคงชื่นชมกับความงามของธรรมชาติ ในขณะเดียวกันครูพันก็ปล่อยให้ตนชื่นชมกับความงามของลูกศิษย์ แต่ทว่าเทพกับมารหรือความรู้สึกนึกคิดผิดชอบชั่วดีไม่ยอมปล่อยให้เขาได้ดื่มด่ำกับความสุขง่าย ๆ ความรู้สึกยังคงสู้รบกันในตัวของเขาซึ่งเป็นจุดสุดยอดของเรื่อง และในที่สุดครูพันก็ต้องยอมพ่ายแพ้ต่อความปรารถนาของตนโดยผู้เขียนใช้ผีเสื้อเป็นสัญลักษณ์แทนสายตา ความคิดของเขาให้ไปบินโลมไล้ร่างกายของนักศึกษาหญิงจนไม่สามารถหยุดยั้งได้ อาจกล่าวได้ว่าผู้เขียนคลี่คลายปมโดยให้ครูพันได้สนองกิเลสตัณหาของตนเอง “โลกของเขาดับสนิทแล้วโดยสิ้นเชิง” (กำพล นิรวรรณ, 2562, หน้า61)

          มีการปิดเรื่องโดยทิ้งท้ายไว้ให้ผู้อ่านได้คิดต่อไป อาจเพื่อให้ผู้อ่านได้พินิจพิจารณาต่อไปเกี่ยวกับมุมมองความคิดในเรื่องเพศของแต่ละบุคคลที่แสดงออกมาไม่เหมือนกัน หรือบางคนที่มีคิดอย่างหนึ่งแต่แสดงออกมาอีกอย่างหนึ่งเพื่อแสดงให้เห็นถึงความน่าเชื่อถือ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องเพศ นอกจากนี้ผู้เขียนอาจจะต้องการให้ผู้หญิงในสังคมมีการระมัดระวังตัวมากขึ้น และควรประพฤติปฏิบัติตนให้เหมาะสมเนื่องจากปัจจุบันผู้หญิงเป็นเพศที่ตกเป็นเครื่องมือทางเพศได้โดยง่าย

          จากการพิจารณากล่าวได้ว่าผู้เขียนถ่ายทอดแก่นของเรื่องโดยผ่านตัวละครเอก คือ ครูพัน เพื่อชี้ให้เห็นถึงธรรมชาติของมนุษย์ที่มีอารมณ์ความรู้สึกที่อยู่ภายในตัวตนซึ่งไม่สามารถแสดงหรือปรากฏออกมาให้ผู้อื่นเห็นได้ และยังทำให้เห็นถึงมุมมองของมนุษย์ระหว่างสิ่งที่แสดงออกมากับสิ่งที่เราได้เห็นไม่จำเป็นต้องเหมือนกันเสมอไป เช่น ครูพัน เป็นผู้ที่เคยบวชเรียนมาหลายปีและเป็นที่เคารพศรัทธาของนักศึกษาถึงขั้นกล่าวได้ว่าเป็นสุภาพบุรุษอย่างแท้จริง แต่ในขณะเดียวกันเขาก็มีกิเลสตัณหาเกี่ยวกับทางเพศมากพอสมควร จะเห็นได้จากผู้หญิงที่ผ่านเข้ามาในชีวิตเขาห้าคนไม่สามารถทนอยู่กับเขาได้ เนื่องจากเขามักจะนำท่าทีจากคัมภีร์กามสูตรของวาตสยายนมาปรนเปรอความสุขแก่ผู้หญิงของเขา เป็นต้น นอกจากนี้ เรื่องสั้น ถ้ำ ยังเป็นภาพแทนของสังคมในปัจจุบันที่ผู้คนมักคิดว่าเรื่องเพศเป็นเรื่องไกลตัว และเป็นเรื่องที่ควรปิดบังไม่น่ากล่าวถึง ส่งผลให้ผู้หญิงมักมองข้ามและหลีกหนีเรื่องเหล่านี้จนกลายเป็นปัญหาในสังคมของการถูกคุกคามทางเพศทั้งโดยตรงและโดยอ้อม

          ตัวละครเอกของเรื่อง คือ ‘ครูพัน’ เป็นตัวละครที่มีบทบาทสำคัญในการดำเนินเรื่อง และจัดเป็นตัวละครหลายลักษณะ เนื่องจากมีลักษณะนิสัยทั้งด้านดีและไม่ดี กล่าวคือ ครูพันเป็นอาจารย์ของวิทยาลัยครูแห่งหนึ่งที่มีนักศึกษาเคารพศรัทธาเป็นอย่างมาก เพราะเขาเป็นผู้ที่ไม่เคยแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมต่อนักศึกษาหญิงสักครั้ง จนทำให้เขาได้รับการยกย่องให้เป็นสุภาพบุรุษโดยแท้ แต่ผู้หญิงที่เคยอาศัยอยู่ร่วมบ้านหลังเดียวกันกับเขาทุกคนกลับไม่สามารถทนการแสดงออกทางเพศของเขาได้ และเมื่อครูพันได้เดินทางไปท่องเที่ยวสำรวจถ้ำแห่งใหม่ที่พึ่งถูกค้นพบกับนักศึกษาหญิง เขาต้องพบเจอกับเหตุการณ์ที่ทำให้ต้องเกิดความขัดแย้งภายในจิตใจของตน ซึ่งจะเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของตัวละครได้อย่างชัดเจน คือ เมื่อครูพันต้องดำน้ำเพื่อไปยังกลางถ้ำ ทำให้เห็นภาพของนักศึกษาหญิงที่แหวกว่ายในน้ำโดยปรากฏเรือนร่างอย่างชัดเจน จากครูพันผู้เป็นสุภาพบุรุษจึงกลายเป็นครูพันที่คอยถ้ำมองลูกศิษย์อย่างหลงใหลและมัวเมาในกิเลสความใคร่ ซึ่งมีอารมณ์ความรู้สึกที่แสดงออกเหมือนคนทั่วไปและการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของตัวละครอย่างสมเหตุสมผล

          นอกจากนี้ยังมี ลัดดา เป็นตัวละครประกอบที่ส่งเสริมให้ตัวละครเอกอย่างครูพันมีบทบาทในการดำเนินเรื่องมากยิ่งขึ้น กล่าวคือ ลัดดาเป็นนักศึกษาสาวที่ร่วมเดินทางไปถ้ำกับครูพัน และถูกทากกัดจึงทำให้ทั้งสองมีการถูกเนื้อต้องตัวกัน จึงเกิดปมความขัดแย้งภายในจิตใจของครูพัน และลัดดายังเป็นตัวละครน้อยลักษณะเนื่องจากไม่มีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม จะเห็นได้จากลัดดายังคงมองครูพันเป็นสุภาพบุรุษ รวมทั้งเป็นผู้ที่มีลักษณะอุปนิสัยเช่นเดิม ซึ่งเป็นตัวละครที่ไม่มีอารมณ์ความรู้สึกเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพแวดล้อม

          เมื่อพิจารณาอย่างถี่ถ้วนกล่าวได้ว่า ทั้งการตั้งชื่อเรื่องมีความน่าสนใจและสอดคล้องกับเนื้อหา เป็นโครงเรื่องที่ไม่ซับซ้อนมีการเปิดเรื่องโดยการพรรณนาถึงฉากของเหตุการณ์ทางการเมือง ซึ่งทำให้มีกลิ่นอายของการสู้รบระหว่างประเทศสหรัฐอเมริกากับฝ่ายเผด็จการไทย รวมถึงมีความเป็นปัจจุบันโดยใช้เหตุการณ์ที่ทีมฟุตบอลหมูป่าไปติดอยู่ในถ้ำมาเป็นฉากสำคัญของเรื่อง เนื้อเรื่องมีการลำดับเรื่องราวอย่างเหมาะสม และปิดเรื่องแบบทิ้งท้ายไว้ให้ผู้อ่านได้คิดต่อไป และแก่นเรื่องแสดงให้เห็นถึง ‘ความจริงที่ไม่ปรากฏ’ ซึ่งเป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่มักมีตัวตนอีกตัวตนซึ่งไม่แสดงออกมา และตัวละครมีทั้งสมจริงและไม่สมจริง กล่าวคือ ตัวละครครูพันมีความสมจริงเนื่องจากเมื่ออ่านแล้วสามารถเข้าใจถึงลักษณะอุปนิสัยของตัวละครเอกได้อย่างชัดเจน และผู้เขียนยังสร้างให้ตัวละครเอกอย่างครูพันมีชีวิตจิตใจ อารมณ์ความรู้สึกเหมือนบุคคลทั่วไปในสังคม ส่งผลให้ผู้อ่านรู้สึกคล้อยตามได้เป็นอย่างดี ส่วนตัวละครลัดดาค่อนข้างที่จะไม่มีความสมจริง เนื่องจากเมื่อตนเองอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่ปลอดภัยจากการถูกครูพันคุกคามทางสายตากลับไม่มีการเปลี่ยนแปลงความรู้สึกและการกระทำ ซึ่งความเป็นจริงนักศึกษาควรรู้และประพฤติตนให้เหมาะสม เช่น ไม่ควรให้ผู้ชายเห็นตนเองในขณะเปียกเพราะจะทำให้สามารถมองเห็นสัดส่วนของร่างกายได้อย่างชัดเจน เป็นต้น

          จะเห็นได้ว่าทั้งโครงเรื่อง แก่นเรื่องและตัวละครมีความสอดคล้องกันอย่างเหมาะสม ซึ่งช่วยให้เนื้อเรื่องมีความน่าสนใจและน่าติดตาม องค์ประกอบทั้งหมดที่ได้พิจารณามีความสำคัญในการดำเนินเรื่องเป็นอย่างมาก เป็นเรื่องราวที่เหมาะสมกับวัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่เป็นอย่างดี สอดแทรกแนวคิดที่สามารถนำไปปรับใช้ในการดำรงชีวิตได้ นอกจากนี้ผู้เขียนยังมีลีลาและกลวิธีการเขียนเรื่องราวที่ทันสมัยสามารถดึงดูดความสนใจให้แก่ผู้อ่านได้อย่างแยบยล

­­­

________________________________________________________________________________

อ้างอิง

          กำพล นิรวรรณ. (2562). อาถรรพ์ภาพวาดเสือ. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ผจญภัย.

          ทีมงานทรูปลูกปัญญา. (2559). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก :http://www.trueplookpanya.com/new/asktrueplookpanya/questiondetail/15159. (วันที่ค้นข้อมูล 20 ธันวาคม 2563).


หมายเลขบันทึก: 688982เขียนเมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2021 15:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2021 15:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท