มีเป็ดบนหลังคา : ความจริงบนนั้น


บทวิจารณ์เรื่องสั้น

มีเป็ดบนหลังคา : ความจริงบนนั้

มีเป็ดบนหลังคา หนึ่งในผลงานเรื่องสั้นรางวัลยอดเยี่ยม ของ จเด็จ กำจรเดช ได้รับการตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือรวมเรื่องสั้นรวมเล่ม “คืนปีเสือแเรื่องเล่าของสัตว์อื่น ๆ” เป็นผลงานรวมเรื่องสั้น ซึ่งได้รับรางวัลซีไรต์ ประจำปี 2563 โดย จเด็จ กำจรเดช ก็สามารถคว้ารางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน หรือ ซีไรต์ ประจำปี 2563 เป็นดับเบิลซีไรต์คนที่ 5 ของเมืองไทย ต่อจาก อังคาร จันทาทิพย์ด้วย

เรื่องราวความรักของครอบครัวหนึ่ง ที่ต้องพบเจอกับความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่นั่นคือการสูญเสียสมาชิกในครอบครัวที่ผูกพันและเป็นความสุขให้กับคนในครอบครัวเสมอมา แต่เมื่อเขาจากไปคนเหล่านี้ไม่สามารถใช้ชีวิตให้มีความสุขได้ แต่พอได้เข้าใจก็ทำให้รู้ว่าชีวิตควรดำเนินต่อไป อย่าเอาความผิดพลาดที่ก่อให้เกิดความปวดร้าวในอดีตมาสร้างเป็นกำแพงชีวิต แต่จงใช้ความผิดพลาดให้เป็นบทเรียน เพื่อไม่ให้เหตุการณ์เหล่านั้นเกิดขึ้นอีก เรียนรู้อดีตเพื่อแก้ไขปัจจุบัน

ครอบครัวของ ‘ผม’ เป็นครอบครัวหนึ่งที่สมบูรณ์มีพ่อ แม่ น้อง และผม น้องของผมชอบเลี้ยงสัตว์มาก วันหนึ่งสุนัขที่เลี้ยงเกิดตาย น้องจึงรู้จักการจากลาตั้งแต่ตอนนั้น ในวันเกิดน้องพ่อซื้อลูกเป็ดให้เป็นของขวัญ ทุกคนในครอบครัวรักและเอ็นดูน้องมาก กระทั่งวันหนึ่งไข้เลือดออกก็ระบาดหนัก ทำให้น้องเสียชีวิต ครอบครัวได้พบกับความสูญเสียที่ไม่คาดฝัน ตั้งแต่วันนั้นมาทุกคนในครอบครัวก็เปลี่ยนไป เศร้าเสียใจ ไม่มีแรงจูงใจที่จะทำสิ่งต่างๆ นึกถึงแต่ภาพคุ้นเคยที่ทุกคนมีน้องอยู่ในความทรงจำทุกขณะ แต่ท้ายที่สุดทุกคนก็สามารถก้าวผ่านความปวดร้าวมาได้ เริ่มเข้าใจ ทำความเข้าใจได้ว่าชีวิตยังคงต้องดำเนินต่อไป ต้องเดินหน้าต่อไป

มีเป็ดบนหลังคา รวมเรื่องสั้นคืนปีเสือ ของ จเด็จ กำจรเดช ผู้วิจารณ์เห็นว่ามีแก่นเรื่องที่สำคัญคือ ความรักของพ่อแม่ที่มีต่อลูก ในฐานะของผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นพ่อแม่คน สิ่งที่สำคัญหรือมีค่าที่สุดในชีวิตก็คือลูก ดังคำกล่าวที่ว่า ลูกเปรียบเสมือนแก้วตาดวงใจของพ่อแม่ ผู้เขียนแสดงให้เห็นถึงความจริงของมนุษย์ที่ว่า สิ่งมีชีวิตทุกสิ่งบนโลกนี้ล้วนแล้วแต่มีอารมณ์ความรู้สึกทั้งสิ้น ไม่ว่าคนหรือสัตว์ เช่นเดียวกับเรื่องนี้ผู้เขียนได้นำความรักที่มีต่อลูกระหว่างคนกับสัตว์ในบทบาทความเป็นแม่ อันแสดงให้เห็นว่าความรักของแม่คือความรักที่ยิ่งใหญ่ เป็นความรักที่แท้จริงไม่ปรุงแต่ง ยามป่วยเฝ้าดูแล ยามเจ็บแม่เจ็บยิ่งกว่า วันที่แม่มีความสุขที่สุดคือวันที่ลูกเกิดจากคำกล่าวนี้ผู้เขียนได้แสดงให้เห็นแก่นสำคัญของเรื่อง โดยเลือกใช้เป็ดเป็นตัวแทนของสัตว์เพื่อที่จะแสดงให้เห็นแก่นสำคัญ เรื่อง ความรักของแม่ที่มีต่อลูกได้อย่างละเมียดละไมและเข้าใจง่าย ชัดเจนเป็นอย่างดี

นอกจากผู้เขียนจะนำเสนอแก่นสำคัญของเรื่องได้อย่างละเมียดละไมแล้ว ยังแสดงให้เห็นแนวคิดสำคัญของเรื่องไว้หลายประเด็น หนึ่งในนั้นผู้วิจารณ์เห็นว่า ผู้เขียนยังคงแฝงเรื่องการใช้ชีวิตและการรู้จักยอมรับความจริง “การกลับมาเป็นปกติ การกลับมาตั้งหลัก กลับมายืนให้มั่นคงก่อนจะยืนต่อเป็นเรื่องสำคัญ” (ชัชวาล ศิลปะกิจ) หมายความว่าก้าวแรกนั้น หากก้าวพลาด ก้าวต่อๆไปก็จะผิดพลาดไปตามกัน และในเรื่องจิตใจ ความสามารถในการพาใจกลับมาให้เป็นปกติ โดยไม่อ้างอิงอาศัยหลักการและเหตุผล หรือคำพูดใดๆมากนัก แต่เป็นการเรียนรู้อัตโนมัตินั้นถือว่าเป็นวิธีที่ช่วยให้ยอมรับความจริงได้ดีที่สุด เพราะได้เรียนรู้ ทำความเข้าใจด้วยตนเอง ดังเรื่องที่แม่สามารถยอมรับความจริงได้ว่าลูกจากไปแล้ว แม่ไม่สามารถแก้ไขอะไรได้ แต่สุดท้ายแล้วก็ได้เรียนรู้ว่าชีวิตต้องดำเนินต่อไป และเลือกที่จะดำเนินชีวิตต่อไป

จากแนวคิดสำคัญที่กล่าวมาข้างต้นแสดงให้เห็นว่าผู้เขียนให้อิสระทางความคิดแก่ผู้อ่านเป็นอย่างมาก ทำให้ผู้อ่านสามารถตีความจากเรื่องได้หลากหลายและเป็นต้นทุนในการนำไปใช้ในการดำเนินชีวิตได้แท้จริง หากผู้เสพวรรณกรรมหลายๆท่านได้อ่านเรื่องนี้และพิจารณาอย่างถี่ถ้วนจะพบว่าตัวละครภายในเรื่องนี้มีความน่าสนใจไม่น้อยกว่าองค์ประกอบอื่นๆ ที่แฝงข้อคิด สัญลักษณ์ต่างๆ ที่สำคัญในการดำเนินเรื่องหรือแก่นเรื่อง ซึ่งตัวละครที่ปรากฏในเรื่องนั้นประกอบไปด้วย ผม พ่อ แม่ น้อง เป็ดและเหล่าสัตว์เลี้ยงต่างๆของน้อง แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกตัวละครที่มีบทบาทในการดำเนินเรื่อง เนื่องด้วยตัวละครหลายตัว ผู้เขียนได้สร้างขึ้นเพื่อการกล่าวเท้าความถึง เพื่อสนับสนุนตัวละครอื่นๆ หรือแสดงให้เห็นพฤติกรรมของตัวละคร เพื่อความสมจริง ความลื่นไหลของเรื่องราวเพียงเท่านั้น

ส่วนตัวละครหลักที่มีความโดดเด่นและมีบทบาทสำคัญในการดำเนินเรื่องราวมากที่สุดในเรื่องก็คือ ผม ซึ่งผมถือว่าเป็นตัวละครน้อยลักษณะ เป็นเด็กที่แสดงถึงความเป็นเด็กได้อย่างสมจริง คือมีความสงสัย เกิดการตั้งคำถามตลอดเวลา และต้องการความรักจากพ่อแม่มากตามประสาเด็ก เห็นได้จากตอนที่น้องเสียชีวิต ทั้งพ่อและแม่ต่างโศกเศร้าเสียใจ จนลืมคิดไปว่ายังมี ผม เป็นลูกอีกคน การที่ผู้เขียนสร้างตัวละครหลักให้เป็นพี่ อาจต้องการแสดงให้เห็นลำดับความรักที่พ่อแม่มีให้ลูกที่สะท้อนความเป็นจริงในสังคมที่เชื่อว่าพ่อแม่มักให้ความรักแก่ลูกคนเล็กมากกว่า ทำให้เห็นว่าตัวละคร ผม ที่เป็นพี่จึงมีความน้อยใจอยู่แต่ไม่ได้แสดงออกที่ชัดเจน เห็นได้จากคำพูดในเรื่องว่า “พ่อคงลืมไปแล้วว่าผมยังอยู่ น้องไม่อยู่แล้วแต่ผมยังอยู่” (จเด็จ กำจรเดช, คืนปีเสือ  (2563) : 36) และนอกจากนี้ที่แสดงให้เห็นว่าตัวละคร ผม มีความสำคัญ คือการที่ผู้เขียนเลือกนำเสนอมุมมองของเรื่องผ่านตัวละคร ผม เล่าเรื่องราวความเป็นมาทั้งหมด ยิ่งทำให้เห็นว่าตัวละครนี้มีความสำคัญเพียงใด        

พ่อและแม่ เป็นตัวละครอีกตัวละครที่มีความสำคัญ ผู้เขียนสร้างตัวละครทั้งสองขึ้นมาเพื่อให้เรื่องมีความสมบูรณ์มากขึ้น กล่าวคือสื่อให้เห็นความรักของพ่อแม่ที่มีต่อลูกที่แตกต่างกันออกไประหว่างพ่อกับแม่ ซึ่งความรักที่ว่านี้ก็คือแก่นสำคัญของเรื่องที่ผู้เขียนต้องการจะนำเสนอนั่นเอง นัยสำคัญของการสร้างตัวละครทั้งสองขึ้นมาผู้วิจารณ์เห็นว่าผู้เขียนอาจต้องการแสดงให้เห็นความแตกต่างระหว่างเพศชายและหญิง ซึ่งมีคนส่วนใหญ่ต่างมีความเข้าใจว่าเพศหญิงเป็นเพศที่อ่อนแอกว่า ถึงแม้ว่าในปัจจุบันผู้หญิงจะแสดงให้เห็นว่าตนเข้มแข็งเพียงใด แต่สุดท้ายความเป็นผู้หญิงก็ย่อมแสดงออกมาให้ปรากฏอยู่เสมอ ดังเช่นตัวละคร พ่อ ในเรื่องคือตัวแทนของเพศชาย เป็นเพศที่แข็งแกร่งและเป็นเสาหลักของครอบครัว จึงไม่ค่อยแสดงอาการเสียใจที่เด่นชัด แต่ลึกๆภายในก็รู้สึกเสียใจไม่แพ้กัน เห็นได้จากตัวละครพ่อในเรื่อง ถึงแม้จะเสียใจกับการจากไปของลูกเพียงใดก็ต้องทำเป็นเข้มแข็ง เพื่อที่จะแสดงให้เห็นว่าสามารถเป็นที่พึ่งของคนในครอบครัวได้ หากเสาหลักของครอบครัวอ่อนแอก็ล้วนแต่จะทำให้คนที่อยู่อาศัยพลอยลำบากไปด้วย

ส่วนเพศหญิงผู้เขียนได้นำเสนอในบทบาทของความเป็นแม่อย่างชัดเจน เป็นเพศที่มีความอ่อนแอ อ่อนไหว ละเอียดลออในด้านความรู้สึกมาก ซึ่งผู้เขียนก็สร้างบทบาทของตัวละครได้อย่างสมจริงและสมเหตุสมผล ทั้งนี้เพราะเพศหญิงเป็นเพศที่ต้องใส่ใจรายละเอียดและยิ่งได้อยู่ในสถานะของคนเป็นแม่แล้ว คนเป็นแม่อย่างไรก็ตัดลูกไม่ขาด การแสดงพฤติกรรม ความรู้สึกอย่างตรงไปตรงมา จึงเป็นเรื่องปกติ เห็นได้จากในเรื่อง ทุกครั้งที่ผมพูดถึงน้องที่จากไปหรือสิ่งต่างๆที่เกี่ยวข้อง แม่มักแสดงอาการเสียใจหรือรู้สึกสะเทือนใจอยู่ตลอดเวลา นั่นทำให้เห็นว่าเพศหญิงเป็นเพศที่อ่อนไหวมากโดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับความรู้สึก ซึ่งผู้เขียนก็ทำให้เห็นว่าทั้งตัวละครพ่อและแม่ต่างก็มีความสำคัญต่อการดำเนินเรื่องอันนำไปสู่แก่นสำคัญของเรื่องได้อย่างละเมียดละไม

ตัวละครที่เป็นเหตุให้เกิดปมในเรื่องคือ น้อง เป็นตัวละครน้อยลักษณะโดยผู้เขียนได้สร้างตัวละครที่เป็นสัตว์ต่างๆ เช่น สุนัข แมว มาสนับสนุนตัวละครนี้ให้แสดงลักษณะนิสัยของตัวละครที่ชัดขึ้น น้องเป็นคนน่ารัก มีจิตใจดี รักสัตว์ และเป็นเด็กที่มีความสามารถ วาดภาพเก่งแต่งเรื่องจากภาพได้ แต่ต้องจากไปด้วยโรคไข้เลือดออก เหตุที่ทำให้เห็นว่าตัวละครนี้เป็นเหตุให้เกิดปมของเรื่องคือ เรื่องราวหลังจากที่น้องจากไป ทำให้คนในครอบครัวต่างเสียใจจนไม่เป็นอันทำการใดๆ เป็นเหตุให้ตัวละคร ผม เกิดปมภายในใจที่ว่าพ่อแม่รักน้องมากจนกระทั่งลืมไปว่ายังมีผมเป็นลูกอีกคน และนอกจากนี้ยังเป็นตัวละครที่มีความสัมพันธ์กับแนวคิดของเรื่องในแงที่ว่า เราควรอยู่กับปัจจุบันและก้าวต่อไปในอนาคต ซึ่งทำให้ตัวละครพ่อกับแม่รู้ว่าชีวิตยังคงต้องดำเนินต่อไป

ส่วน เป็ด ซึ่งถือได้ว่าเป็นตัวละครประกอบที่หาใช่มนุษย์ไม่ และผู้เขียนได้แฝงนัยยะไว้อย่างแนบเนียนทีเดียว ในส่วนของผู้วิจารณ์นั้นขอชื่นชมผู้เขียนในกลวิธีการใช้ภาษา สัญลักษณ์ ที่ปรากฏในเรื่องเป็นอย่างยิ่ง จเด็จ กำจรเดช ได้สร้างตัวละครอย่างเป็ด มามีส่วนในการดำเนินเรื่องตั้งแต่ต้นจนจบเช่นเดียวกับตัวละครอื่นๆ กล่าวคือ ผู้เขียนใช้ เป็ด เป็นสัญลักษณ์แทนน้องที่จากไปในเรื่อง ทุกครั้งที่กล่าวถึงเป็ดจะเกี่ยวข้องกับน้องเสมอ เช่นเดียวกับตอนที่ผม ถามว่าเป็ดไปไหน แม่จะแสดงอาการสะเทือนใจหรือเสียใจ นั่นแสดงให้เห็นว่าผู้เขียนใช้เป็ด เปรียบได้กับลูกที่จากไป นอกจากนี้ไม่ได้มีแค่เป็ดเท่านั้นที่แสดงให้ตัวละครอื่นๆนึกถึงน้อง ยังคงมีการ์ตูนที่น้องชอบดู โลโก้หุ่นยนต์ สัตว์เลี้ยง เป็นต้น

หากพิจารณาชื่อเรื่องจะพบว่า มีเป็ดบนหลังคา ผู้เขียนใช้ เป็ด เปรียบเป็นลูกที่จากไป เหตุที่ทำให้เป็นเช่นนี้ เพราะผู้เขียนได้วางโครงเรื่องมาอย่างสมเหตุสมผลตั้งแต่การใช้เป็ดเป็นของขวัญที่พ่อแม่ให้ในวันเกิดแล้วและเป็นสัตว์เลี้ยงตัวสุดท้ายที่อยู่กับลูกก่อนที่จะจากไป ทุกครั้งที่พูดถึงเป็ดทำให้ผู้อ่านนึกถึงลูกที่จากไปตลอดเวลาเพราะผู้เขียนได้แสดงเหตุและผลของเรื่องไว้อย่างแยบยลตั้งแต่แรก ส่วนคำว่า บนหลังคา ในเรื่องผู้เขียนอาจต้องการเปรียบเป็นบนสวรรค์ เพราะมีตอนหนึ่งที่ผมถามว่าน้องไปไหนแล้วแม่ตอบว่า น้องอยู่บนสวรรค์ และอีกตอนที่ถามว่าเป็ดไปไหน แล้วแม่ก็ตอบว่าอยู่บนสวรรค์ ดังตัวอย่างต่อไปนี้ “แม่บอกว่าเป็ดอยู่บนสวรรค์ น้องก็อยู่บนสวรรค์ ถ้าผมปีนขึ้นหลังคาได้ คงได้เจอน้อง” (จเด็จ กำจรเดช, คืนปีเสือ  (2563) : 24) 

จากข้อความที่กล่าวข้างต้นทำให้ผมคิดว่าน้องกับเป็ดอยู่บนสวรรค์ด้วยกัน แต่เหตุที่ทำให้ผมคิดว่าบนหลังคา คือสวรรค์ เพราะมีเหตุที่ทำให้ผมคิด เนื่องจากการได้ยินเสียงกุก กัก อยู่บนหลังคาและคิดว่านั่นคือเสียงของน้องแต่ความเป็นจริงแล้วคือเสียงเป็ดที่ขึ้นไปวางไข่ ด้วยความเป็นเด็กผมคิดว่าหลังคาอยู่สูงจึงคิดว่ามันคือบันไดที่จะนำไปบนสวรรค์ อีกทั้งในเรื่องยังมีตอนที่ตัวละครผมพูดถึงด้วยว่า ถ้าหากขึ้นไปบนหลังคาได้ก็อาจจะเจอน้อง ซึ่งทำให้เห็นว่าผู้เขียนสามารถแสดงเหตุและผลของสัญญะที่นำมาประกอบเป็นเรื่องราวได้อย่างสมเหตุสมผลและทุกๆเหตุการณ์ล้วนมีเหตุมารองรับเสมอ ทำให้ผู้อ่านคล้อยตามและเข้าใจอย่างลึกซึ้ง

ฉะนั้นเมื่อพิจารณาถึงองค์ประกอบที่กล่าวมาข้างต้น ตั้งแต่แก่นเรื่องตลอดจนถึงตัวละคร ที่มีบทบาทสำคัญในการดำเนินเรื่องคือ ผม พ่อ แม่ น้อง และเป็ดนั้นมีความสมจริง เรื่องนี้มีการใช้ตัวละครที่แฝงลักษณะนิสัยหรือพฤติกรรมผ่านสถานภาพอย่างมีนัยยะ ทำให้เนื้อเรื่องมีความน่าสนใจ อยากที่จะค้นหาความจริงในสิ่งที่ผู้เขียนต้องการจะสื่อถึง นับว่าตัวละครภายในเรื่องนี้มีความโดดเด่นมากทีเดียว เพราะเป็นเรื่องที่ใช้ตัวละครในการดำเนินเรื่องที่น้อยแต่สามารถถ่ายทอดเรื่องราวได้อย่างสมจริง สมเหตุสมผล 

ทั้งนี้ยังทำให้ผู้อ่านสามารถตีความตัวละครออกไปได้อย่างกว้างขวางและมีอิสระทางความคิด นับว่ากวีมีความคิดความอ่านที่ดีในการใช้กลวิธีดังกล่าว ท้ายที่สุดแล้ว ตัวละครทุกตัวที่ปรากฏภายในเรื่อง “มีเป็ดบนหลังคาต่างแสดงให้เห็นความเป็นจริงที่มนุษย์ทุกคนต้องพบเจอและสะท้อนให้ผู้อ่านเข้าใจว่าสิ่งมีชีวิตทุกสิ่งทุกอย่างบนโลกแห่งนี้ล้วนมีอารมณ์ความรู้สึกทั้งสิ้น





บรรณานุกรม

จเด็จ กำจรเดช.  (2563).  คืนปีเสือ.  กรุงเทพฯ : ผจญภัยสำนักพิมพ์.

ชัชวาล ศิลปะกิจ.  การยอมรับความจริง.  ค้นเมื่อ 20 ธันวาคม 2563. จาก https://thecuratorclub.co

ภาพปกหน้าหนังสือ คืนปีเสือ.  ค้นเมื่อ  20 ธันวาคม 2563. จาก https://www.se-ed.com

ภาพปกหลังหนังสือ คืนปีเสือ.  ค้นเมื่อ  20 ธันวาคม 2563. จาก https://www.naiin.com

หมายเลขบันทึก: 688985เขียนเมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2021 18:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 มีนาคม 2021 11:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท