การสร้างปัญญาชนและปราชญ์จากนักวิชาการ



ท่านรัฐมนตรี อว.  ศ. (พิเศษ) เอนก เหล่าธรรมทัศน์ เชิญคน ๑๖ คน ไปประชุมหารือเรื่อง การสร้างปัญญาชนและปราชญ์จากนักวิชาการ    ผมเป็นคนหนึ่งที่ได้รับเชิญ    ทำให้ได้รับฟังความเห็นจากผู้ใหญ่ที่มีความหลากหลายมาก     ประเทืองปัญญายิ่ง

ก่อนเข้าประชุม ผมลองค้นดูว่า มีการนิยามคำว่า ปัญญาชนไว้อย่างไร    ไปพบใน วิกิพีเดีย (๑)    จึงรู้ว่าปัญญาชนที่เรียกว่า intelligentsia เกิดจากความคับแค้นจากการถูกกดขี่    และบทความในวิกิพีเดียให้นิยามไว้ดังนี้ พฤติกรรมซึ่งบ่งบอกถึงปัญญาชนจาก หนังสือ 'วัฒนธรรมและปัญญาชน' โดย Dr. Vitaly Tepikin มีดังนี้[5]

  • มีการมีความคิดทางศีลธรรมที่ก้าวไกล มีความเข้าใจต่อสิ่งมีชีวิต และเข้าร่วมการชุมนุมอย่างสม่ำเสมอ
  • ศึกษาด้วยตัวเองอยู่ตลอด
  • มีความรักชาติ ซึ่งอยู่บนฐานของความเชื่อในคนของตนเองและรักแผ่นดินบ้านเกิดอย่างเต็มหัวใจ
  • มีกิจกรรมที่สร้างสรรค์เป็นส่วนหนึ่งในวิธีการใช้ชีวิตของปัญญาชน
  • มีความเป็นอิสระ ความทะเยอทะยานสู่เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและหาตัวเองในนั้น

ผมจึงได้นิยาม (ผมตั้งเอง) ของคำว่า  ปัญญาชน ว่า ผู้ก่อการทางปัญญา    คือเป็นกลุ่มคนที่ต้องการพัฒนาหรือเปลี่ยนแปลงสังคม    และร่วมกันลงมือดำเนินการ    คนมีปัญญาที่ไม่ลงมือกระทำการ ไม่ถือเป็นปัญญาชน   

ผมจึงมีคำถามว่า ราชบัณฑิต น่าจะถือเป็นปัญญาชนของชาติ    ค้นพบในวิกิพีเดียจึงพบว่า ราชบัณฑิตแปลว่า นักปราชญ์หลวง (๒)    และเวลานี้มีเพียง ๘๓ คน    ท่านเหล่านี้จึงน่าจะถือได้ว่าเป็นยอดของปัญญาชน ตามที่ได้รับยกย่องโดยกลไกของราชการ   และมีหลายสาขา    ดำเนินการโดยราชบัณฑิตยสภา 

เมื่อกว่า ๒๐ ปีมาแล้ว ผมมีส่วนร่วมก่อตั้ง บัณฑิตยสภาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (บวท. – TAST) มีฐานะเป็นมูลนิธิ (๓)    มีสมาชิก ๓ แบบ คือสมาชิกกิตติมศักดิ์  สมาชิกสามัญ  และภาคีสมาชิก    เป็นการแต่งตั้งยกย่องกันเอง ให้ได้เข้ามาร่วมกันทำงานเพื่อบ้านเมือง    โดยไม่ได้รับค่าตอบแทนใดๆ    ท่านเหล่านี้ก็น่าจะถือเป็นปัญญาชนของบ้านเมืองได้ด้วย    โดยเชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี   

บวท. มีที่มาจาก ศ. นพ. อารี วัลยะเสวี ได้รับเลือกเป็น member ของ National Academy of Science (NAS) ของสหรัฐอเมริกา (๔)    เป็นคนไทยคนแรกและคนเดียวที่ได้รับเกียรตินี้    ท่านจึงอยากให้ประเทศไทยมีกลไกใช้ปราชญ์ทำประโยชน์แก่บ้านเมืองในลักษณะนั้นบ้าง

เมื่อเข้าไปดูเว็บไซต์ ของ NAS (๔) จะพบว่า เขาประกาศตัวเป็น private, non-profit organization    ซึ่งที่จริงเขาตั้งขึ้นโดยรัฐบาลออกกฎหมายสมัย ปธน. ลินคอล์น    ให้เป็นอิสระจากรัฐบาลและจากการเมือง    แต่ระบุให้รัฐบาลกลางตั้งงบประมาณสนับสนุน    รวมทั้งมีการร้องขอจากรัฐให้ช่วยให้ความเห็นเชิงนโยบายในเรื่องสำคัญๆ โดยที่มีเงินสนับสนุนให้ทำงานนั้น   NAS มีผลงานมากมาย ดูได้จากเว็บไซต์    น่าจะถือเป็นกลไกที่รัฐใช้ประโยชน์จากปราชญ์แบบที่สนับสนุนให้ปราชญ์ได้ทำงานอย่างอิสระ (และรับผิดชอบ)   

ลองค้นดูว่า ปราชญ์หมายความว่าอย่างไร    พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานให้ความหมายว่า “ผู้มีปัญญารอบรู้”    น่าจะเน้นที่ “รอบรู้” คือรู้กว้าง

ค้นพบเว็บไซต์ ปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน(๕) ดำเนินการโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เริ่มตั้งแต่ปี ๒๕๕๒     ยกย่องปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน ๔ สาขา คือ

  1. 1. ปราชญ์เกษตรผู้ทรงภูมิปัญญาและมีคุณูปการต่อภาคการเกษตรไทย
  2. 2. ปราชญ์เกษตรเศรษฐกิจพอเพียง
  3. 3. ปราชญ์เกษตรดีเด่น
  4. 4. ปราชญ์เกษตรผู้นำชุมชนและเครือข่าย

อีกกิจกรรมหนึ่งของประเทศที่ยกย่องและใช้ประโยชน์คนดีคนเก่ง คือ โครงการศิลปินแห่งชาติ (๖) ที่ดำเนินการมาตั้งแต่ปี ๒๕๒๗ ริเริ่มโดยสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ    เวลานี้ดูแลโดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม  กระทรวงวัฒนธรรม  

ปราชญ์ชาวบ้านเป็นอีกคำหนึ่งที่เราใช้กันบ่อย    มีเว็บไซต์ (๖) นิยามว่า บุคคลผู้เป็นเจ้าของภูมิปัญญาชาวบ้าน และนำภูมิปัญญามาใช้ประโยชน์ในการดำรงชีวิตจนประสบผลสำเร็จสามารถถ่ายทอดเชื่อมโยงคุณค่าของอดีตกับปัจจุบันได้อย่างเหมาะสม    และจัดหมวดหมู่เป็น ๖ สาขา พร้อมทั้งให้ชื่อของปราชญ์แต่ละสาขา    ซึ่งผมคิดว่า น่าจะมีปราชญ์ชาวบ้านสาขาอื่นๆ อีกมาก   

ข้างบนนั้น เป็นเรื่องการยกย่องและใช้ประโยชน์ปัญญาชนและปราชญ์    แต่ประเด็นที่หารือกันในวันที่ ๑๖ ธันวาคม ๒๕๖๓ คือการสร้าง    ซึ่งเป็นเรื่องที่ซับซ้อนมาก   มองภาพกว้างที่สุด ต้องปฏิรูประบบการศึกษาในภาพใหญ่     เราก็จะได้ประชากรเพิ่มขึ้นมากมาย ที่จะค่อยๆ พัฒนาตนเองสู่ความเป็นปัญญาชนและปราชญ์     โดยที่เวลานี้คุณภาพของระบบการศึกษาไทยทำให้คุณภาพพลเมืองไทยต่ำอย่างน่าเสียดาย   

คำถามสำคัญคือ การสร้างที่ตัวคน กับการสร้างสภาพแวดล้อมให้เอื้อ    ยุทธศาสตร์ไหนจะได้ผลมากกว่ากัน     ผมคิดว่าคงต้องทำทั้งสองทาง   

อีกคำถามหนึ่งคือ  การสร้างกลไกใหม่    กับการเปลี่ยนแปลงระบบที่มีอยู่แล้วที่เป็นตัวปิดกั้น    ยุทธศาสตร์ไหนจะได้ผลมากกว่ากัน    ซึ่งผมก็คิดว่าต้องทำทั้งสองทาง     แต่อดคิดไม่ได้ว่า ระบบที่มีอยู่แล้วมันใช้เงินมาก โดยที่การใช้เงินนั้นมันก่อผลร้ายต่อสังคมเหลือคณา   

คำถามของท่าน รมต. เอนก คือ การสร้างปัญญาชนและปราชญ์จากนักวิชาการ    เป็นคำถามที่เน้นวิธีการที่ปลายทาง     คือเมื่อเข้าไปเป็นนักวิชาการแล้ว     โดยที่ผมมีความเห็นว่า หากเน้นที่การสร้าง ecosystems ให้เอื้อ    การเปลี่ยนโฉมระบบการศึกษาก็มีความสำคัญยิ่ง    และเวลานี้ ฝ่ายการเมืองก็ยังเข้าไปตักตวงผลประโยชน์เข้าสู่ตนเองจากระบบการศึกษาอย่างที่ WDR 2018 ว่าไว้   

หากคิดที่ปลายทางตามโจทย์    และคิดในบริบทที่กระทรวง อว. มีอำนาจหน้าที่    กลไกสำคัญที่สุดคือ การส่งเสริมวิชาการข้ามศาสตร์ (transdisciplinary)    มีการสร้าง academic platform ที่เป็นสหศาสตร์ (multidisciplinary)    สำหรับนักวิชาการที่ประสบความสำเร็จในศาสตร์ของตนแล้ว เข้าไปดำเนินการ   

ย้ำว่า ต้องเป็น platform สำหรับนักวิชาการที่ประสบความสำเร็จสูงหรือสูงสุดในศาสตร์ของตนแล้วเป็นหลัก    อย่าให้เป็น platform ที่เปิดโล่งให้แก่นักวิชาการขั้นเริ่มต้น    เพราะจะมีความเสี่ยงต่อวิชาการแบบผิวหรือตื้น   

ผมมีความเชื่อว่า ฐานวิชาการที่มีอยู่ในปัจจุบันเน้นที่ความลึก ซึ่งเป็นสิ่งที่ถูกต้อง    และในช่วงต้นของชีวิตนักวิชาการควรเน้นไต่ลงลึก    เพื่อให้เมื่อประสบความสำเร็จในชีวิตนักวิชาการเฉพาะสาขาแล้ว สามารถใช้ความลึกนั้นเอง มีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนนักวิชาการที่ประสบความสำเร็จในสาขาอื่น    แล้วขยายแนวกว้างให้แก่ตนเอง     และแก่แวดงวงวิชาการ    ซึ่งจะช่วยพัฒนายกระดับนักวิชาการ ที่เชี่ยวชาญเชิงเทคนิค    ให้มีความกว้างและเชื่อมโยง    เกิดการผสมผสานระหว่างศาสตร์ เกิดปัญญาชนและปราชญ์จากนักวิชาการ     

การมี issue-based, inter-disciplinary platform ตามดำริของท่านรัฐมนตรีเอนกเรื่อง วิทยสถานด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย    เน้นงาน ๕ ด้านคือ ช่างศิลป์ท้องถิ่น  พิพิธภัณฑ์ศิลปกรรมแห่งชาติ  ศูนย์วิเทศศาสตร์  ศูนย์เศรษฐกิจพอเพียง  ศูนย์สุวรรณภูมิศึกษา     จึงเป็นกลไกที่ดีต่อการสร้างปัญญาชนและปราชญ์จากนักวิชาการ   

โปรดสังเกตว่า ปัญญาชนต้องผูกพันอยู่กับสภาพความเป็นไป และปัญหาของสังคม    ที่ในยุคปัจจุบันมีความ VUCA มาก    และภาคส่วนในสังคมที่ไวต่อสภาพ VUCA คือภาคทำมาหากิน    ที่เรียกว่า real sector   ดังนั้น กลไกสร้างปัญญาชนและปราชญ์จากนักวิชาการจึงต้องฟังเสียงของฝ่ายผู้ประกอบการทุกรูปแบบ    ต้องไม่ใช่ฝ่ายวิชาการคิดเองเออเองอย่างในอดีต    การมีพื้นที่แลกเปลี่ยนความเห็นและเรียนรู้ระหว่างกันโดยทุกภาคส่วนจึงมีความจำเป็นยิ่ง   

เนื่องจากโจทย์ของท่านรัฐมนตรี ต้องการใช้นักวิชาการในมหาวิทยาลัยเป็นตัวเริ่มต้น    จึงต้องคิดย้อนกลับไปว่า platform การทำงานของนักวิชาการมหาวิทยาลัยที่เอื้อคืออะไร    ผมเสนอว่า คือการทำงานวิชาการแบบ holistic 4 = 1    คือทำภารกิจหลัก ๔ ด้านของมหาวิทยาลัยในกิจกรรมเดียว    ที่จะช่วยให้นักวิชาการในมหาวิทยาลัยได้ตระหนักในคุณค่าที่หลากหลายของวิชาการ

ซึ่งหมายความว่า ต้องรื้อกฎเกณฑ์กติกาว่าด้วยการคิดเวลาทำงานของอาจารย์    โครงสร้างหลักสูตร   การบริหารหลักสูตรให้มีคุณภาพ    และเกณฑ์ความก้าวหน้าของอาจารย์ใหม่หมด   ให้มหาวิทยาลัยมีอิสระในการกำหนดเกณฑ์ความเป็นเลิศของตน    สกอ. กำกับที่ปลายทาง คือผลลัพธ์และผลกระทบ    ซึ่งหมายความว่า สกอ. ต้องมีระบบข้อมูลเพื่อประเมิน outcome  และ impact ของแต่ละมหาวิทยาลัยได้    และจัดสรรทรัพยากรสนับสนุนตาม performance   

ประเทศไทยต้องการ performance-based governance ต่อระบบอุดมศึกษา    ไม่ใช่ connection-based อย่างในอดีตมาจนปัจจุบัน     ซึ่งมีผลทำให้อุดมศึกษาของประเทศอ่อนแออย่างที่เห็น  

ทั้งหมดนั้นเป็นการทำการบ้านของผมเพื่อเตรียมตัวไปร่วมประชุม    ซึ่งก็เป็นบันทึกที่ยาวเกินไปแล้ว    ข้อเสนอแนะของเหล่านักปราชญ์ที่ท่านรัฐมนตรีเชิญมา    ประเทืองปัญญายิ่งต่อผม    จะอยู่ในอีกบันทึกหนึ่ง

วิจารณ์ พานิช

๒ ม.ค. ๖๓


 

หมายเลขบันทึก: 688271เขียนเมื่อ 11 มกราคม 2021 18:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มกราคม 2021 18:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท