คนธรรพ์สัญญะแห่งความสมบูรณ์


คนธรรพ์สัญญะแห่งความสมบูรณ์

            “คนธรรพ์แห่งภูบรรทัด” ผลงานของ  กำพล นิรวรรณ ได้รับรางวัลเรื่องสั้นยอดเยี่ยม รางวัล ‘กนกพงศ์ สงสมพันธุ์’ ครั้งที่ 6 ประจำปี 2562 ซึ่งได้นำเสนอเรื่องราวของบุคคลที่มีความเป็นปัจเจก  มีอุดมการณ์และเขายังได้นำเสนอความสวยงามของธรรมชาติและความโหดร้ายของมนุษย์ที่มีต่อธรรมชาติ เรื่องสั้นเรื่องนี้ถูกตีพิมพ์ในหนังสือรวมเรื่องสั้น ‘อาถรรพ์ภาพวาดเสือดำ’

            “คนธรรพ์แห่งภูบรรทัด”เป็นการดึงเอาความทรงจำของกำพลที่มีต่ออดีตของตน มาเขียนใหม่ มีทั้งน้ำเสียงของการเสียดสี น้ำเสียงของความพยายามจะเล่าเรื่องให้สนุก และน้ำเสียงของความเข้าอกเข้าใจว่าไปอยู่ในป่ากันทำไม (อดีต ปัจจุบัน และการจัดการความทรงจำ : อาทิตย์   ศรีจันทร์)

            ‘คนธรรพ์แห่งภูบรรทัด’เป็นการเล่าเรื่องผ่านมุมมองของตัวละคร “ข้าพเจ้า” อดีตมือพิณแห่งวงภูบรรทัดปฏิวัติ ที่ผันตัวมาเป็นสมาชิกของกองทัพปลดแอกประชาชน ระหว่างที่อยู่ในค่ายเขาเป็นพรานคอยหาอาหารเลี้ยงคนในค่าย เขาไม่ถนัดด้านการรบและไม่ชอบบรรยากาศในค่ายที่ตรึงเครียด การออกไปหาอาหารเป็นทางเดียวที่จะทำให้เขาเป็นอิสระ ข้าพเจ้าได้เจอกับคนธรรพ์และธรรมชาติที่สวยสดงดงามของภูบรรทัด  ที่หลายคนไม่เคยเห็น หลังจากค่ายปฏิวัติล่มสลาย ทุกคนต่างแยกย้ายกันไปใช้ชีวิต เวลาผ่านไปสี่สิบปีเขาได้กลับไปที่นั่นอีกครั้ง แต่ก็สิ้นภาพของธรรมชาติที่เคยงดงามเหลือเพียงภาพของป่าที่ถูกตัดทำลาย ต้นไม้ใหญ่ถูกแทนด้วยต้นยางพารา น้ำตกที่เคยสวยงามก็แห้งขอด เขารู้สึกหดหู่ใจกับภาพที่เห็นเบื้องหน้าและหวังว่าจะได้พบคนธรรพ์อีกสักครั้งที่นี่

คนธรรพ์สัญญะแห่งความสมบูรณ์

          เมื่ออ่านเรื่องตั้งแต่บรรทัดแรกจวบจนบรรทัดสุดท้าย หากมองอย่างผิวเผิน ‘คนธรรรพ์’ เป็นเพียงเทวดาที่คอยรักษาผืนป่า มีความชำนาญในการขับร้องและเล่นดนตรี  แต่หากมองให้ลึกลงไปผู้แต่งต้องการที่จะสื่อว่า ‘คนธรรพ์เป็นสัญญะแห่งความอุดมสมบูรณ์’ เพราะหากผืนป่ายังคงความอุดมสมบูรณ์  ตัวข้าพเจ้าจึงได้พบกับคนธรรพ์แต่เมื่อธรรมชาติถูกทำลายข้าพเจ้าก็จะไม่ได้พบกับคนธรรพ์อีก เมื่อไม่มีป่าก็ย่อมไม่มีคนธรรพ์

           ผู้เขียนเปิดเรื่องด้วยข้อความ “ฝันหวานที่แวบเข้ามาเติมเต็มเสี้ยวหัวใจที่หายไปอาจทรมานเราได้นานวัน  ฝันร้ายในชีวิตจริงบางฝันอาจตามหลอกหลอนเราได้นานปี  แต่ความจริงที่งดงามดั่งความฝันอาจพันธนาการเราได้ชั่วนิรันดร์”(หน้า13) ซึ่งเป็นข้อความที่น่าสนใจและชวนให้ผู้อ่านสงสัยว่าฝันหวาน ฝันร้ายที่กล่าวมานั้นคืออะไรกันแน่ ทำไมถึงมีอิทธิพลกับการใช้ชีวิต และด้วยประโยคนี้เองที่ทำให้เรื่องน่าติดตามว่าจะดำเนินไปในทิศทางใด การเปิดเรื่องเช่นนี้จึงดึงดูดความสนใจของผู้อ่านได้เป็นอย่างดี

           การดำเนินเรื่องผู้แต่งดำเนินเรื่องตามลำดับเหตุการณ์ ไม่ซับซ้อนเกินไป กระชับ ไม่ยืดเยื้อ มีการพรรณนาและบรรยายความมหัศจรรย์ของธรรมชาติที่สวยงามด้วยภาษาที่สละสลวย ความเหนือธรรมชาติปรากฏอยู่ตลอดทั้งเรื่องจนบางครั้งอาจทำให้เรื่องดูเกินจริงเกิน ในส่วนของโครงเรื่องผู้แต่งใช้การสร้างโครงเรื่องแบบใหม่ คือดำเนินเหตุการณ์ไปเรื่อย ๆ ไม่มีการผูกปมขัดแย้ง และการคลายปมเหมือนการเขียนแบบเก่า เน้นแสดงให้ผู้อ่านเห็นถึงความรู้สึกนึกคิดของตัวละคร แต่ถึงอย่างไรก็ไม่ได้ทำให้อรรถรสในการอ่านเรื่องสั้นเรื่องนี้ลดน้อยลง เพราะภาษาที่ผู้แต่งใช้นั้นสละสลวย และ ชวนให้ผู้อ่านติดตาม

           จุดสุดยอดของเรื่อง คือตอนที่ข้าพเจ้าได้ร่วมเฉลิมฉลองวันสิ้นอายุขัยของเหล่าคนธรรพ์ และคนธรรพ์ก็บอกเป็นนัยกับข้าพเจ้าแล้วว่า หมดเวลาของเขาบนโลกนี้แล้ว พวกเขาจะไปเกิดใหม่เป็นต้นไม้ “เราจะเติบโตไปพร้อม ๆ กับมัน” (หน้า 31) นั้นก็คือคนธรรพ์มักจะมาพร้อม ๆ กับความอุดมสมบูรณ์

           ผู้แต่งปิดเรื่องด้วยการที่ข้าพเจ้ากลับมายังภูบรรทัดอีกครั้งเพื่อที่จะมาชื่นชมธรรมชาติที่สวยงาม แต่เขาก็พบว่าความสวยงามของธรรมชาติได้หายไปแล้วและในวันนั้นเองเขาได้รู้ซึ้งถึงความหมายของบทเพลงที่เขาเคยฟังจากบรรดาคนธรรพ์   “ค่ำแล้ว ค่ำแล้ว เจ้าอยู่หนใดใยไม่กลับมา”(หน้า 40) “โปรดกลับมาหาข้าเถอะนะคนดี โปรดกลับมา” (หน้า 41) จากความหมายของบทเพลงอาจตีความได้ว่าคนธรรพ์ยังรอคอยการกลับมาของมนุษย์ กลับมาอนุรักษ์และทำให้ธรรมชาติสดงามและงดงามดังเดิม แต่ถึงอย่างไรความงามที่ข้าพเจ้าเคยได้สัมผัสจะยังคงตราตรึงอยู่ภายในหัวใจของเขาตลอดไป

ความสมบูรณ์แห่งภูบรรทัด

           ผู้เขียนได้นำเสนอความอุดมสมบูรณ์ของภูเขาบรรทัดผ่านบรรดาสัตว์และต้นไม้ที่แฝงอยู่ในเนื้อเรื่อง เช่น ผีเสื้อเหยี่ยว ปลาหวด หมูป่า หิ่งห้อย นกกาฮัง  อย่างที่รู้กันดีว่าหิ่งห้อยนั้นเป็นแมลงที่เป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ การที่จะพบเจอหิ่งห้อยได้จำนวนมากนั้นแสดงว่าพื้นที่แห่งนั้นก็ย่อมมีความอุดมสมบูรณ์มาก ปลาหวด เป็นสิ่งที่ผู้เขียนนำมาเป็นแทนความอุดมสมบูรณ์ของภูบรรทัด ปลาหวดถือเป็นปลาที่หายากต้องรอเวลานานเป็นปีถึงจะสามารถจับปลาดังกล่าวได้ ซึ่งหนึ่งปีจะมีแค่ครั้งเดียวที่มันจะว่ายตามกระแสน้ำจากเทือกเขาบรรทัดลงมาในคลองสายต่าง ๆ เมื่อปลาหวดและหิ่งห้อยหายไปก็เป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่าความสมบูรณ์ของธรรมชาติเริ่มหดหาย

           นอกจากนี้ผู้แต่งยังได้พรรณนาถึงความงามของธรรมชาติได้อย่างลึกซึ้ง  “เธอคงเป็นน้ำตกที่บริสุทธิ์ผุดผ่องที่สุกแห่งหนึ่งในโลก คงไม่เคยแปดเปื้อนมลทินจากมือของคนเมือง แต่ข้าพเจ้ารู้ดีว่าสักวัน ไม่ช้าก็เร็ว ด้วยความโลภโมโหสันอย่างหาที่สุดมิได้ของสัตว์มนุษย์ เธอจะต้องสูญเสียพลังลี้ลับและความบริสุทธิ์ให้กับพวกมันจนได้”(หน้า 22) แต่การที่ผู้แต่งใช้ภาพพจน์  บุคลวัตมากจนทำให้เรื่องดูเกินจริงไปบ้าง      “แต่ข้าพเจ้าเองเรียกมันว่าหุบสวรรค์ เพราะไม่ว่าจะเป็นความอลังการของตัวน้ำตกเอง ไม่ว่าจะเป็นผาหินสีเทาสองผาที่ดารดาษด้วยรังผึ้งดูประหนึ่งภาพเขียนโบราณตลอดจนสีสันของฝูงรุ้งที่เริงระบำกันในม่านละอองน้ำเหนือวัง สีมรกต ทุกอย่างช่างสวยสดจึงชวนให้นึกถึงแดนสวรรค์อย่างไรอย่างนั้น” (หน้า 23) แต่อย่างไรก็ไม่ได้ทำให้เสียอรรถรสในการอ่าน

            แนวคิดหรือแก่นเรื่อง คือสิ่งที่ผู้แต่งต้องการจะนำเสนอแก่ผู้อ่าน แก่นเรื่องของคนธรรพ์แห่งภูบรรทัดคือการนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับธรรมชาติที่สวยงามแต่กลับถูกทำลายด้วยน้ำมือของมนุษย์  พื้นที่ป่าที่อุดมสมบูรณ์ที่ถูกปกคลุมไปด้วยต้นไม้ใหญ่นานาพันธุ์ถูกแทนที่ด้วยพืชเศรษฐกิจที่บรรดานายทุนนำไปปลูก วังมรกตที่เคยสวยงามกลับแห้งขอดเหลือให้เห็นเพียงสายน้ำเล็ก ๆ ไหลริน ต้นไม้บนภูเขาถูกตัดให้เหลือแค่ตอ การทำลายวัฏจักรของธรรมชาติหรือที่เรียกว่าป่าต้นน้ำก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบนิเวศ ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาต่าง ๆ มากมายตามมา “แม้เธอจะหวงตัวสักเพียงใด เธอก็ไม่เคยถือสาเมื่อชาวป่าซาไกปีนป่ายขึ้นไปเก็บรังผึ้งบนหน้าผา เพื่อรีดน้ำหวานให้ลูกเต้าดื่มกินในยามที่พวกเขาไปปักทับพักค้างที่นั่น”(หน้า23) นอกจากนี้ธรรมชาติยังเป็นแห่งอาหารอันอุดมสมบูรณ์ให้มนุษย์ที่ผ่านไปมา ธรรมชาติไม่เคยทำลายมนุษย์ มีแต่มนุษย์เท่านั้นที่คอยทำลายธรรมชาติ  การที่ผู้แต่งนำเสนอภาพการถูกทำลายของธรรมชาติในตอนปิดเรื่องเพื่อให้ผู้อ่านได้ตระหนักถึงการอนุรักษ์ธรรมชาติให้อุดมสมบูรณ์ หากมนุษย์ไม่รักษาความสมบูรณ์ของธรรมชาติให้คงอยู่ คนรุ่นหลังก็จะไม่ได้สัมผัสกับคำว่าสวยงามของธรรมชาติอย่างแท้จริง

         เนื้อเรื่องของเรื่องนี้ เป็นการแสดงทรรศนะของผู้แต่งที่มีต่อสังคมด้วยเนื้อหาที่สะท้อนความโหดร้ายของมนุษย์ที่มีต่อธรรมชาติ โดยใช้ฉากเป็นภูบรรทัด เพื่อแสดงให้เห็นว่าพื้นที่ที่อยู่ห่างไกลไม่ได้รับการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่แต่กลับถูกลุกล้ำโดยนายทุน

          การตั้งชื่อเรื่องคนธรรพ์แห่งภูบรรทัด เป็นการตั้งชื่อเรื่องที่มีความสอดคล้องกับฉากของเรื่องนั้นก็คือภูบรรทัด เมื่อป่าอุดมสมบูรณ์ตามความเชื่อของคนไทยก็จะต้องมีผู้ที่คอยดูแลรักษา ซึ่งในเรื่องก็คือคนธรรพ์ นั้นเองและชื่อเรื่องก็มีความสอดคล้องกับแก่นเรื่องที่มีกล่าวถึงธรรมชาติ การตั้งชื่อเรื่องแบบนี้ก็ทำให้ผู้อ่านเกิดการคาดเดาได้อย่างแน่นอนว่าเนื้อเรื่องจะเกี่ยวกับคนธรรพ์และภูบรรทัด

อุดมการณ์ และเสียงดนตรี

           กลวิธีที่ผู้แต่งใช้ในการสร้างตัวละครทำให้ผู้อ่านเข้าใจอุปนิสัยของ “ข้าพเจ้า” ได้อย่างชัดเจน เช่น ข้าพเจ้าเป็นคนที่มีนิสัยรักในเสียงดนตรี เวลาว่างเขามักจะหยิบพิณมาเล่นและจากประโยคที่คนธรรพ์ได้บอกกับข้าพเจ้าถึงเหตุผลที่พวกเขามาพบกันในคืนวันเลี้ยงฉลองวันสิ้นอายุว่า “ก็เพราะเราต่างมีดนตรีในหัวใจปะไรล่ะพ่อหนุ่ม” (หน้า 32) ก็บ่งบอกถึงหัวใจที่รักในเสียงดนตรีของข้าพเจ้า การที่ข้าพเจ้าออกไปหาอาหารมาเลี้ยงคนในค่ายถึงจะมีความเสี่ยงแต่เขาก็เลือกที่จะไปเพราะข้าพเจ้าเป็นคนรักความอิสระการออกไปล่าสัตว์จะทำให้เขาไม่ต้องคอยทำตามคำสั่งใคร เพียงแค่หาอาหารให้ได้ก็เพียงพอแล้ว ต่างจากการอยู่ค่ายที่ต้องคอยทำตามคำสั่งแม่ทัพและบรรยากาศภายในค่ายทำให้เขารู้สึกทรมานใจเป็นอย่างมาก ตัวละครข้าพเจ้าถือเป็นตัวแทนของคนที่รักธรรมชาติแต่เกลียดระบบทุนนิยมซึ่งผู้แต่งได้แฝงสัญญะทางการเมืองไว้ในตัวข้าพเจ้าคือเป็นคนที่มีอุดมการณ์อันแรงกล้า สาเหตุที่เขาปลีกวิเวกไปอยู่ในป่าคนเดียวก็เพื่อที่จะรักษาอุดมการณ์ในใจไม่ให้ถูกสังคมในค่ายกลืนกิน ต่อให้จะมองเห็นอุดมการณ์เพียงริบหรี่แต่ด้วยความหวังที่เต็มเปี่ยม อุดมการณ์ก็จะยังสืบต่อไปในใจของเขา ในการสร้างตัวละครผู้เขียนได้สอดแทรกทรรศนะของผู้แต่งได้อย่างกลมกลืน เช่นตอนที่ผู้แต่งได้เสียดสีระบบทุนนิยมที่บรรดานายทุนได้ลุกล้ำพื้นที่ป่าเพื่อที่จะนำไปปลูกพืชเศรษฐกิจอย่างยางพาราและเหตุการณ์การนีเข้าป่าเป็นประสบการณ์โดยตรงของผู้แต่งเอง ดังนั้นผู้อ่านจึงจำเป็นที่จะต้องศึกษาภูมิหลังของผู้แต่งด้วยเพื่อที่จะไม่ให้ถูกทรรศนะของผู้แต่งที่สอดแทรกลงไปในตัวงานชักจูงหรือครอบงำได้

           การที่ผู้แต่งสร้างตัวละครโดยการใช้สรรพนามบุรุษที่ 1 (ข้าพเจ้า) ก็เพื่อที่ผู้แต่งจะได้ขยายความคิดของตัวละครได้ดียิ่งขึ้นและสอดแทรกความคิดของผู้แต่งได้อย่างแนบเนียน  นอกจากนี้ยังสร้างให้ตัวละครถกเถียงกับตัวเองอยู่บ่อยครั้ง เช่นตอนที่ข้าพเจ้าสนทนากับสหายนำว่าเขาจะสู้จนตัวตาย จะไม่ยอมให้ฝ่ายศัตรูจับได้โดดเด็ดขาด “เจ้าความเงียบตัวดีรีบตะโกนใส่หน้าข้าพเจ้าเสียงดังฟังชัด ‘โกหก’ ”(หน้า 17)และในตอนที่ข้าพเจ้ากลับมาที่ภูบรรทัดอีกครั้ง เขาไม่กล้าที่จะขึ้นไปดูวังมรกตเพราะกลัวพวกมันตกอยู่ในชะตากรรมเดียวกันกับป่าที่ถูกทำลาย“ใจเสาะอีกแล้ว ทำอะไรไม่เคยเอาจริง นี่ปะไรนายถึงได้เวียนว่ายอยู่ในวังวนของความล้นเหลว” (หน้า 39) ซึ้งคำที่ข้าพเจ้าได้พูดกับตัวเองนี้ทำให้ผู้อ่านได้เข้าใจนิสัยใจคอของตัวละครมากยิ่งขึ้น

           “ข้าพเจ้า” จัดเป็นตัวละครหลายลักษณะ (Round Charactor) มีการแสดงพฤติกรรมทั้งด้านดีและไม่ดี เช่น ตอนที่ข้าพเจ้าออกไปจับปลาหวดที่สระมรกต ระหว่างที่ปลาหวดว่ายวนอยู่ในน้ำ เขาก็ครุ่นคิดว่ามันคงจะรักชีวิตของมันเท่า ๆ กับที่ตัวข้าพเจ้ารักชีวิตตนเอง แต่เขาก็ต้องฆ่าพวกมันเพราะหน้าที่ ก่อนจะยิงปลาเขาก็ได้ตั้งจิตขอขมาเจ้าป่าเจ้าเขาก่อน ทั้งที่ตัวข้าพเจ้าเองเป็นคนไม่มีศาสนา ไม่ศรัทธราในสิ่งศักดิ์สิทธ์แต่ก็ทำไปด้วยด้วยสัญชาตญาณแห่งความเป็นมนุษย์คือรักตัวกลัวตาย หลังจากที่เขาได้ปลาหวดมาแล้วเขาก็ยังยกมือไหว้ขออโหสิกรรมกับปลาที่เขาได้คร่าชีวิตพวกมันอีก แสดงให้เห็นว่าตัวข้าพเจ้าเป็นคนที่รักตัวกลัวตายเหมือนกับมนุษย์ทั่วไป ถึงผู้แต่งจะบอกว่าเขาเป็นคนไม่นับถือศาสนา แต่ผู้แต่งก็ได้ยัดเยียดความเป็นพุทธศาสนิกชนให้เขาไปเรียบร้อยแล้วผ่านการกระทำของตัวละคร

           เมื่อพิจารณาองค์ประกอบในส่วนของโครงเรื่อง แก่นเรื่องและตัวละครของ “คนธรรพ์แห่งภูบรรทัด” ถึงผู้แต่งจะใช้การเขียนเรื่องแบบใหม่ที่แหวกแนวไปจากการเขียนแนวดั้งเดิมดังที่กล่าวไปข้างต้น แต่ก็ไม่ได้ทำให้อรรถรสของการอ่านเรื่องสั้นเรื่องนี้ลดน้อยลง เพราะผู้แต่งมีการเปิดเรื่องปิดเรื่องและดำเนินเรื่องได้อย่างน่าสนใจ มีแก่นเรื่องที่แสดงให้เห็นถึงธรรมชาติ การสร้างตัวละครข้าพเจ้าก็ถือว่ามีความสมจริง ผู้แต่งสามารถสร้างให้ตัวละครมีการแสดงพฤติกรรมความคิดความอ่านเหมือนคนในชีวิตจริง การกระทำของข้าพเจ้าถือเป็นตัวแทนของคนที่มีจิตสำนึกในการอนุรักษ์และหวงแหนธรรมชาติ  เรื่องสั้นเรื้องนี้ถือว่ามีคุณค่า ควรค่าแก่การอ่านและเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่คุณไม่ควรพลาด

รายการอ้างอิง

กำพล นิรวรณ.(2562).อาถรรพ์ภาพวาดเสือดำและเรื่องราวอื่น ๆ.กรุงเทพฯ : ผจญภัย

หมายเลขบันทึก: 688269เขียนเมื่อ 11 มกราคม 2021 16:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มกราคม 2021 16:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท