โรงสีไฟ : ทาสของเงินที่ถูกสาปไว้ให้ทำในสิ่งเหลือเชื่อ


วิจารณ์วรรณกรรมเรื่องสั้น

โรงสีไฟ : ทาสของเงินที่ถูกสาปไว้ให้ทำในสิ่งเหลือเชื่อ


           โรงสีไฟหนึ่งในเรื่องสั้นภาค ๒ ในหนังสือ “ อาถรรพ์ภาพวาดเสือดำ และเรื่องราวอื่น ๆ”เป็นหนังสือรวมเรื่องสั้นเล่มแรกของ กำพล นิรวรรณ นักเขียนผู้ออกเดินทางค้นหาบทเรียนชีวิตใหม่ ๆ ไปแทบทั่วโลก ด้วยประสบการณ์เหล่านี้ทำให้งานเขียนของเขารวมทั้งเรื่องสั้นเรื่องโรงสีไฟประกอบไปด้วยเรื่องลี้ลับ สนุกสนาน แปลกประหลาดและมหัศจรรย์

           โรงสีไฟเป็นเรื่องราวของ “ผู้พิชิตบ้านผีสิง”โดยแลกกับเงินเดิมพันเพื่อประทังชีวิต ผู้เขียนเล่าเรื่องราวผ่านตัวละครข้าพเจ้าผู้ที่ยอมทำทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นรับจ้างเดินโพยให้เจ้ามือหวยเถื่อน หาลำไพ่พิเศษ ท้าพิสูจน์ภูตผีปีศาจคือรับจ้างนอนตามบ้านผีสิงนั้นเอง ข้าพเจ้าได้รับเดิมพันจากไอ้เครา ผีพนันในหมู่บ้านให้ไปนอนที่โรงสีไฟ เป็นโรงสีไฟร้างที่มีอายุมานานนับร้อยปีแล้ว เมื่อถึงวันเดิมพันข้าพเจ้าจึงออกไปนอนที่โรงสีไฟตามคำสัญญา ในระหว่างที่นอนอยู่นั้นได้พบกับหญิงสาวปริศนาซึ่งเป็นคนรักเก่าของตนที่ข้ามชาติมาตั้งแต่อดีต มาเล่าเรื่องราวของเขาและเธอในอดีตให้ฟัง ในที่สุดเขาทั้งสองก็ร่วมรักกันใต้ต้นไทร เมื่อฟ้าสางร่างของหญิงสาวได้หายเข้าไปในต้นไทร ในขณะนั้นไอ้เคราที่เดิมพันไว้กับข้าพเจ้าก็เข้ามาเห็นข้าพเจ้าในสภาพตัวเปลือยเปล่า พร้อมทั้งทำหน้าเหมือนโดนผีหลอกและรีบยื่นเงินเดิมพันให้ข้าพเจ้าในทันที แต่สำหรับข้าพเจ้าแล้วเงินไม่สำคัญกับเขาอีกต่อไป

  “และแล้วคืนแห่งความเป็นความตายก็มาถึง คืนพระจันทร์เต็มดวง คืนที่ข้าพเจ้าจะต้องเข้าไปนอนในอาณาจักรของราชินีแห่งโรงสีไฟ” (หน้า ๑๖๓) ผู้เขียนเปิดเรื่องโดยใช้คำบอกเล่าของตัวละครซึ่งเป็นตอนสำคัญของเรื่อง เป็นการสร้างความสนใจและความสงสัยแก่ผู้อ่านว่าทำไมตัวละครข้าพเจ้าจึงต้องไปนอนในโรงสีไฟ ทำให้ผู้อ่านเกิดการตั้งคำถามในใจว่าราชินีโรงสีไฟที่ว่านี้คืออะไร อาจจะเป็นโรงสีธรรมดาเหมือนในยุคปัจจุบัน หรืออาจเป็นโรงสีที่มีไฟออกมาจากปล่องไฟในขณะที่เครื่องจักรกำลังทำงาน

  เรื่องโรงสีไฟดำเนินเรื่องไปอย่างต่อเนื่อง ผู้เขียนใช้กลวิธีการเล่าเรื่องสลับไปมาระหว่างอดีตกับปัจจุบัน โดยใช้ตัวละครข้าพเจ้าเป็นผู้เล่าเรื่อง ทำให้เห็นสภาพการเปลี่ยนแปลงของโรงสีไฟที่มีความรุ่งเรืองในอดีต ซึ่งเคยเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของคนไทยรวมไปถึงประเทศเพื่อนบ้าน เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่สองขึ้น ทำให้โรงสีไฟแห่งนี้ต้องปิดตัวลง กลายเป็นโรงสีร้าง มีผีดุ ไม่มีใครกล้าเข้าใกล้ จึงเกิดเหตุการณ์ท้าเดิมพันจากผีพนันคือไอ้เครา ท้าให้ข้าพเจ้าเข้าไปให้พิสูจน์ความจริง นำมาสู่ปมความขัดแย้งภายในมนุษย์คือข้าพเจ้าที่ต้องเลือกว่าจะปฏิเสธหรือจะรับคำท้า เพราะเรื่องราวโรงสีไฟที่หลาย ๆ คนเล่ามาทำให้ความกลัวบดบังความกล้าของข้าพเจ้าจนหายสิ้น แต่ด้วยความยากจน ไม่มีข้าวกินมาหลายวันประจวบกับเงินเดิมพันจำนวนมาก ทำให้ข้าพเจ้ารับคำท้าไปด้วยความจำใจ จากข้างต้นแสดงให้เห็นว่าเมื่อยามเข้าตาจนทุกคนจะดิ้นลนยอมทำทุกอย่างเพื่อความอยู่รอด และบางครั้งความอยู่รอดก็บังคับให้คนเหล่านั้นทำในสิ่งที่เหลือเชื่อ เช่นเดียวกับข้าพเจ้า ที่ยอมเข้าไปนอนในบ้านผีสิงเพื่อแลกกับเงินเพียงจำนวนหนึ่งเท่านั้น โดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยของตัวเองที่ต้องเผชิญกับเหตุการณ์ต่าง ๆ ในแต่ละคืน ในส่วนของการหน่วงเรื่องผู้เขียนจะเล่าย้อนไปถึงอดีต แสดงให้เห็นเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่สอง ตอนที่โรงสีไฟยังเจริญรุ่งเรืองจนถึงขีดสูงสุด เคยส่งข้าวให้กับทหารญี่ปุ่น จนถูกฝ่ายสัมพันธมิตรทิ้งระเบิดใส่เรือขนข้าว จนโรงสีไฟต้องปิดตัวลงเป็นโรงสีร้าง และผู้เขียนเล่าถึงประวัติของโรงสีไฟร้าง เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ชาวบ้านไปพบเจอจนทำให้ไม่มีใครกล้าเข้าไปใกล้โรงสีแห่งนี้ ทำให้ผู้อ่านได้เข้าใจลักษณะของโรงสีไฟมากขึ้นว่ามีลักษณะเป็นอย่างไร เข้าใจฉากบรรยากาศและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น         

           เรื่องได้ดำเนินมาถึงจุดสุดยอดของเรื่องคือตอนที่ข้าพเจ้าเข้าไปนอนในโรงสีไฟและมีหญิงสาวปริศนาได้ปรากฏตัวขึ้น “เจ้าของดวงหน้างามนั้นคือมะลิ ยอดรักของข้าพเจ้าในห้วงหนึ่งของชีวิตในปางอดีตอันไกลโพ้น”(หน้า ๑๗๙) จากประโยคนี้ทำให้ผู้อ่านได้รู้ว่าหญิงสาวปริศนาคนนี้คือคนรักในอดีตของข้าพเจ้า เธอได้พาข้าพเจ้าย้อนไปในห้วงเวลาของอดีตและเล่าเรื่องราวความเป็นมาของตัวละครข้าพเจ้าให้ฟัง ทำให้ผู้อ่านเข้าใจภูมิหลังของตัวละครข้าพเจ้ามากขึ้นว่าแท้จริงแล้ว ข้าพเจ้าเคยเป็นคนงานในโรงสีไฟมาก่อนและได้จากคนรักไปเพราะเรือล่ม เกิดใหม่มาเป็นข้าพเจ้าในปัจจุบัน เมื่อทั้งสองได้พูดคุยกันและได้ร่วมรักกันใต้ต้นไทร เมื่อฟ้าสางหญิงสาวปริศนาคนนี้ก็หายเข้าไปในต้นไทร และปิดเรื่องโดยการที่ไอ้เคราคนที่ท้าเดิมพันกับข้าพเจ้า มาพบข้าพเจ้าในสภาพที่นอนเปลือยเปล่าอยู่ใต้ต้นไทร มองไปยังข้าพเจ้าสลับกับเรือนไม้ที่กำลังถูกไฟไหม้ ไอ้เคราทำท่าเหมือนถูกผีหลอกจึงรีบยื่นเงินเดิมพันให้ข้าพเจ้า แต่ในห้วงเวลานั้น“เงินตราไม่มีความหมายใด ๆ สำหรับข้าพเจ้าอีกต่อไป”ใจของข้าพเจ้าได้วิ่งตามมะลิเข้าไปในม่านไทร (หน้า ๑๘๕ ) เป็นการปิดเรื่องโดยการทิ้งท้ายให้ผู้อ่านได้ขบคิดตาม เป็นกลวิธีการเล่าเรื่องของผู้เขียนเพื่อให้ผู้อ่านเกิดความสงสัยและคิดต่อว่าโรงสีไฟอาจเป็นภาพแทนของความเจริญรุ่งเรืองและความตกอับเหมือนกับชีวิตของข้าพเจ้า ที่มีจุดเริ่มต้นและจุดจบที่โรงสีไฟ เพราะในอดีตข้าพเจ้าเคยเป็นทาสของเถ้าแก่โรงสีไฟ ทั้งที่ไม่เห็นด้วยกับการส่งข้าวให้กับทหารญี่ปุ่นแต่ต้องจำใจทำตามคำสั่งเจ้านายเพื่อแลกกับความอยู่รอด และในปัจจุบันข้าพเจ้าก็ยังเป็นทาสของคนในปัจจุบันที่ต้องรับจ้างนอนตามบ้านผีสิงทั้งที่ตนไม่อยากทำแต่ต้องทำเพื่อให้ได้เงินมาประทังชีวิต เช่นคำพูดของข้าพเจ้าคุยกับมะลิในตอนที่ย้อนไปในอดีตว่า “ข้าพเจ้าเพียงคนเดียวที่ถูกสาปให้กลับมาเป็นทาสของปัจจุบันและอนาคตในเวลาเดียวกัน”(หน้า ๑๘๒)

            จากโครงเรื่องข้างต้นจะเห็นว่า โครงเรื่องมีความสัมพันธ์กับชื่อเรื่อง ผู้เขียนใช้กลวิธีการเล่าเรื่องที่เป็นแบบสัจนิยมมหัศจรรย์ มีทั้งเรื่องที่แต่งขึ้นเพื่อให้เกิดความสนุกสนานและเรื่องที่เกิดขึ้นจริงคือ สงครามโลกครั้งที่สองซึ่งในสมัยนั้นโรงสีไฟมีความเจริญรุ่งเรืองเป็นอย่างมาก ผู้เขียนได้แต่งเรื่องสั้นโรงสีไฟมาจากเรื่องเล่าของมารดา และนำมาปรับแต่งให้เป็นวรรณกรรมเรื่องสั้นที่มีความแปลกใหม่และมีความมหัศจรรย์ สามารถสร้างความตื่นตาตื่นใจ ความสนุกสนานแก่หมู่นักอ่านเป็นอย่างยิ่ง

          แก่นเรื่องโรงสีไฟผู้เขียนต้องการแสดงให้เห็นว่า เงินไม่ใช่ทุกสิ่งทุกอย่างของชีวิต คนส่วนใหญ่มักให้ความสำคัญกับเงินมากเกินไปจนลืมนึกถึงคุณค่าที่แท้จริงหรือความสำคัญด้านอื่น ๆ ของชีวิต ซึ่งคนบางคนที่ตกเป็นทาสของเงินย่อมยอมทำทุกสิ่งทุกอย่าง โดยไม่สนใจว่าวิธีเหล่านั้นจะถูกหรือผิด เพื่อแลกกับเงินเพียงจำนวนหนึ่งเท่านั้น เช่นเดียวกับข้าพเจ้าผู้เป็น “ทาสของเงินที่ถูกสาปไว้ให้ทำในสิ่งเหลือเชื่อ”  ไม่ว่าจะเป็นรับจ้างเดินโพยให้เจ้ามือหวยเถื่อน ท้าพิสูจน์ภูตผีปีศาจ รับจ้างนอนตามบ้านผีสิง เพื่อแลกกับเงินเพียงจำนวนหนึ่งเท่านั้น แต่สุดท้ายเหตุการณ์ต่าง ๆ ทำให้ข้าพเจ้ารู้ว่าเงินไม่สำคัญกับเขาอีกต่อไป

          ผู้เขียนถ่ายทอดเรื่องราวโรงสีไฟ โดยใช้ตัวละครบุรุษที่ ๑ คือ ข้าพเจ้า เป็นผู้ดำเนินเรื่องตั้งแต่ต้นจนจบ ข้าพเจ้าจัดเป็นตัวละครหลายมิติ เพราะมีความคิด บุคลิกเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุการณ์และสภาพแวดล้อมที่พบเจอ จะเห็นว่าตัวละครข้าพเจ้าตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันจะมีความดิ้นลนพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อความอยู่รอดของตน ไม่ว่าจะเป็นการหนีภัยเผด็จการเข้าป่าไปขอเป็นฝ่ายพรรคคอมมิวนิสต์ร่วมโจมตีโรงพัก เมื่อป่าแตก ตัวข้าพเจ้าเองก็ออกมารับจ้างเดินโพยให้เจ้ามือหวยเถื่อน อีกทั้งรับจ้างนอนตามบ้านผีสิง ตัวละครข้าพเจ้ามีความฉลาดแกมโกงอยู่ในตัวคือจะกินยานอนหลับแล้วจึงเข้าไปนอนในบ้านผีสิง ทำให้ตนเป็นผู้พิชิตบ้านผีสิงได้หลายหลังและมีเงินใช้จนสุขสบายจากการเดิมพันแต่ละครั้ง แต่ตัวละครข้าพเจ้าเองเป็นคนที่รักชาติ สังเกตได้จากตัวละครมะลิเล่าถึงข้าพเจ้าในห้วงเวลาของอดีต ซึ่งเขาไม่เคยเห็นด้วยกับฝ่ายรัฐบาลที่ยอมจำนนส่งข้าวให้กับทหารญี่ปุ่น แต่เพื่อความอยู่รอดตัวข้าพเจ้าเองทำได้เพียงบ่นและคิดจะวางแผนเทยาสั่งใส่กระสอบข้าวเท่านั้น ดังนั้นตัวละครข้าพเจ้าจึงจัดได้ว่าเป็นตัวละครที่สมจริง มีลักษณะนิสัยเหมือนกับมนุษย์ทั่วไปในชีวิตจริง โดยผู้เขียนได้ใช้น้ำเสียงของความประชดประชัน ตรงไปตรงมาสื่อผ่านตัวอักษรคำบอกเล่าของข้าพเจ้า ทำให้ผู้อ่านได้สัมผัสของความรู้สึกที่ผู้แต่งต้องการจะสื่ออย่างแท้จริงและเข้าใจง่าย ในส่วนของตัวละครมะลิเป็นตัวละครที่ช่วยเสริมทำให้ผู้อ่านเข้าใจภูมิหลังของตัวละครหลัก และแสดงให้เห็นลักษณะนิสัย บุคลิกของตัวละครข้าพเจ้าในหลาย ๆ ด้านมากขึ้น

          ฉากที่สำคัญในเรื่องคือ โรงสีไฟ ผู้เขียนได้นำฉากมาตั้งเป็นชื่อเรื่อง เพราะชื่อเรื่องมีความสอดคล้องและเหมาะสมกับโครงเรื่องอย่างกลมกลืน ฉากโรงสีไฟเป็นฉากสำคัญที่ทำให้ผู้อ่านเข้าใจภูมิหลังของตัวละครข้าพเจ้า เป็นฉากที่ทำให้ข้าพเจ้าเข้าใจความรู้สึกของตนเองมากขึ้นว่าเงินไม่ใช่ทุกอย่างของชีวิตของเขา ซึ่งฉากในเรื่องโรงสีไฟ มีความสมจริงเพราะผู้แต่งเขียนมาจากสถานที่จริง มีอยู่จริงในจังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นจังหวัดบ้านเกิดของ กำพล นิรวรรณ โดยผู้แต่งได้แต่งเรื่องราวมาจากการฟังคำบอกเล่าจากมารดาในสมัยนั้น จากที่ได้ไปศึกษาข้อมูลมานั้น โรงสีไฟปัจจุบันเป็นโรงสีข้าวร้างที่มีอายุมานานนับร้อยปี ตั้งอยู่ที่อำเภอปากพนัง เดิมชื่อว่าโรงสีแม่ครู อดีตเคยมีความรุ่งเรืองเป็นอย่างมากแต่ต้องมาปิดตัวลงเพราะเกิดจากการทำสงครามโลกครั้งที่ ๒ ในส่วนบรรยากาศในเรื่องมีความสมจริง การที่ผู้เขียนใช้บรรยากาศในเวลากลางคืนและมีผีสาวปริศนาโผล่มาในโรงสีร้าง ทำให้ผู้อ่านเกิดความตื่นเต้นและลุ้นไปตาม ๆ กันว่าจะเกิดอะไรขึ้น เป็นการสร้างบรรยากาศที่กลมกลืนกับฉากเป็นอย่างยิ่ง        

          เมื่อพิจารณาองค์ประกอบทั้งหมดของเรื่องไม่ว่าจะเป็น โครงเรื่อง ตัวละคร ฉาก จะเห็นว่ามีความสมจริงและสอดคล้องกลมกลืนกัน ผู้เขียนใช้กลวิธีการเล่าเรื่องแบบสลับไปมาระหว่างอดีตกับปัจจุบันทำให้ผู้อ่านเข้าใจปมปัญหาของเรื่องและแก่นเรื่องได้ชัดเจน การดำเนินเรื่องจะเป็นแนวสัจนิยมมหัศจรรย์ มีทั้งเรื่องที่เกิดขึ้นจริงและแต่งเพื่อความบันเทิง ภาษาที่ใช้อ่านแล้วเข้าใจง่าย สั้นกระชับ ไม่มีความซับซ้อน โรงสีไฟจึงเป็นวรรณกรรมเรื่องสั้นอีกหนึ่งเรื่องที่น่าสนใจ ผู้อ่านจะได้สัมผัสกับสิ่งแปลกประหลาด ความมหัศจรรย์ ชวนให้อ่านแบบไม่สามารถละสายตาได้ตั้งแต่หน้าแรก

หมายเลขบันทึก: 688264เขียนเมื่อ 11 มกราคม 2021 16:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มกราคม 2021 16:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท