เราต่างก็เป็น ห ม า ป่ า




เราต่างก็เป็น ห ม า ป่ า

            คืนปีเสือและเรื่องเล่าของสัตว์อื่น ๆ ผลงานของ จเด็จ กำจรเดช นักเขียนรางวัลซีไรต์ เขาได้หยิบยกเอาเรื่องราวของสัตว์และคนมาผูกโยงเข้าด้วยกัน ไม่ว่าจะในฐานะภาพแทนของความเป็นสัตว์ในตัวคนและคนในสัตว์แต่ล่ะตัว(Chaitawat:๒๕๖๓) ความน่าสนใจของหนังสือเรื่องนี้อีกหนึ่งอย่างคือการนำเรื่องราวที่เกิดขึ้นในปัจจุบันมาเขียนซึ่งถือเป็นการตีแผ่สังคมและชวนให้ผู้อ่านได้ตั้งคำถามเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

           ‘เป็นหมาป่า’ หนึ่งในเรื่องสั้นของคืนปีเสือและสัตว์อื่น ๆ ผู้เขียนได้นำเสนอความเป็นหมาป่าที่มีอยู่ในตัวของมนุษย์ผ่านตัวละครหลาย ๆ ตัว เป็นการฉีกกฎของการเขียนเรื่องสั้นที่ปกติจะมีตัวละครเพียงไม่กี่ตัวและเรื่องสั้นเรื่องนี้ยังมีขนาดยาวถึงห้าสิบหน้า ขั้นที่ว่าอ่านจบต้องพักสายตากันเลยทีเดียว

            ครั้งแรกที่ได้อ่านชื่อเรื่อง ก็ทำให้ผู้อ่านเกิดความฉงน ชวนให้ติดตามแล้วว่าทำไมผู้เขียนถึงใช้ชื่อเรื่องว่า “เป็นหมาป่า” เพราะเราต่างรู้กันดีอยู่แล้วว่า ‘หมาป่า’ เป็นสัญลักษณ์แห่งความเจ้าเล่ห์ ชอบเล่นทีเผลอฉลาดแกมโกง ไว้ใจไม่ได้ ไม่ซื่อสัตย์

            เรื่องสั้นเรื่องนี้เป็นเรื่องราวของนักเขียนที่ได้เขียนนิยายขึ้นมาหนึ่งเรื่อง เมื่อเขียนไปสักพักนักเขียนก็ได้อ่านทบทวนเพื่อดูความผิดพลาด นักเขียนรู้สึกไม่พอใจกับงานเขียนที่ออกมาจึงพักการเขียนนิยายไว้ก่อน สามปีต่อมาเจ้าของนิตยาสารขอให้นักเขียนเขียนเรื่องสั้นให้หนึ่งเรื่องและประกอบกับช่วงมีโรคระบาด COVID -19 ทำให้นักเขียนมีเวลาในการเขียนงานมากขึ้นและเขาได้หยิบนิยายที่แต่งยังไม่จบมาแก้ไขเป็นเรื่องสั้น ที่มือสังหารต้องไปฆ่านักร้องที่เขาชอบแล้วในขณะที่รอนักร้องขึ้นเวที มือสังหารก็อ่านนิยายฆ่าเวลา นิยายที่มือสังหารอีกคนตามล่าหมาป่า

            ผู้เขียนเปิดเรื่องด้วยการเล่าถึงมือปืน(มือสังหารในเรื่องสั้น)เกี่ยวกับภารกิจที่เขาได้รับมอบหมาย เป็นการเปิดเรื่องที่น่าสนใจทำให้ผู้อ่านได้ทราบความคิดของตัวละคร(มือปืน)

            โครงเรื่องของ “เป็นหมาป่า” เป็นการเขียนโครงเรื่องแบบใหม่ ไม่เน้นความสำคัญของการลำดับเหตุการณ์ แต่จะเน้นไปที่การแสดงออกและความรู้สึกของตัวละครเป็นสำคัญ แต่ถึงอย่างไรก็ไม่ได้ทำให้อรรถรสในการอ่านเรื่องสั้นเรื่องนี้ลดน้อยลง

             การสร้างปมปัญหาของเรื่องไม่ได้ชัดเจนมากนัก แต่จะชี้แนะให้ผู้อ่านได้ขบคิดและร่วมหาคำตอบ คือการนำพาตัวละครผู้เขียนเผชิญหน้ากับสภาวะที่ตีบตัน ต้องการหาทางออกให้กับงานเขียนของเขา ทำให้ผู้อ่านสนใจใคร่รู้ว่าสุดท้ายแล้วตัวนักเขียนจะเขียนตอนจบของเรื่องสั้นอย่างไร

            โครงเรื่องของเรื่องนี้เต็มเปี่ยมไปด้วยพลังที่ดึงดูดให้ผู้อ่านเกิดความกระหายใครรู้ เนื่องจากตัวผู้เขียนมีเอกลักษณ์การเขียนเฉพาะตัวโดยเฉพาะด้านการวางโครงเรื่องและการนำเสนอเรื่องราวใหม่ ๆ ที่ยังไม่ค่อยมีคนเขียนได้อย่างกลมกลืม การหน่วงเรื่อง การคลายปมปัญหาพร้อมด้วยการจบเรื่องด้วยประโยคที่ทิ้งไว้ให้ผู้อ่านได้ขบคิด โดยรวมแล้วถือว่ามีความเป็นเอกภาพและสัมพันธ์กับองค์ประกอบอื่น ๆ ของเรื่องจัดว่าเป็นการวางโครงเรื่องที่ดีเรื่องหนึ่ง

            ในเรื่องสั้น “เป็นหมาป่า” ซึ่งมีตัวละครเอกคือนักเขียน จเด็จไม่ได้เอ่ยชื่อว่านักเขียนชื่ออะไรแต่จะใช้คำว่า “นักเขียน” แทนทั้งเรื่อง ตัวละครนักเขียนเป็นคนถ่ายทอดเรื่องราวทั้งหมดให้แก่ผู้อ่าน โดยผู้อ่านสามารถรับรู้ได้จากการบรรยายผ่านการกระทำและคำพูดของตัวละคร พฤติกรรมของนักเขียนที่แสดงออกต่อเหตุการณ์ต่าง ๆ รวมไปถึงความรู้สึกนึกคิดของนักเขียน

            ผู้เขียนได้วางพื้นฐานนิสัยของตัวละครเอก ‘นักเขียน’ ไว้อย่างชัดเจน เพื่อเสริมให้ความขัดแย้งของปมปัญหาได้ชัดเจนมากขึ้น คือ ให้ตัวนักเขียนเป็นคนที่รอบครอบ มีความจริงจัง ด้วยเหตุที่ต้องการความสมจริงของบรรยากาศทะเลทรายในคองโก แน่นอนว่าหาไม่ได้ในประเทศไทย เขาจึงต้องแสวงหาวิธีที่จะทำให้ซึมซับบรรยากาศของทะเลทรายให้ได้มากที่สุด จนทำให้ไปพบกับตัวละครอีกตัวที่มีส่วนสำคัญในการช่วยให้นักเขียนหาตอนจบของเรื่องสั้นได้นั่นก็คือ ญาติของเพื่อนบ้านนักเขียน และจเด็จก็ได้เชื่อมโยงสถานการณ์ในปัจจุบันเข้าไปอย่างแนบเนียนคือการให้ญาติของเพื่อนบ้านไม่สามารถออกมาพบนักเขียนได้เพราะเขาอยู่ในช่วงกักตัว จากโรคระบาด COVID-19  นอกจากนี้จเด็จยังได้เสียดสีไปถึงการทำงานของรัฐบาลที่มีมาตรการดูแลประชาชนไม่ดี รัฐบาลปล่อยให้การแพร่ระบาดของเชื้อกระจายอย่างรวดเร็วเพราะกลัวสูญเสียรายได้จากนักท่องเที่ยว ปล่อยให้หมอและพยาบาลต่อสู้โดยลำพัง ไม่มีกาสนับสนุนอุปกรณ์หรือเครื่องมือใด ๆ และยังมีการนำประโยคที่คุณอนุทิน รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขที่ได้ให้สัมภาษณ์ไว้ในช่วงแรกที่มันระบาดว่า “โรคระบาดนั้นมันเป็นแค่ไข้หวัดธรรมดา” (หน้า ๔๓๔) เพื่อที่จะตีแผ่ปัญหาของสังคมในปัจจุบัน

            ผู้เขียนมีการนำเสนอตัวละครโดยให้ตัวนักเขียนเป็นผู้เล่าแบบรู้แจ้งเกี่ยวกับตัวละครทุกตัว ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมภายนอกที่แสดงออกหรือแม้กระทั่งความคิดความอ่านที่อยู่ภายในจิตใจของตัวละคร เมื่อพิจารณาน้ำเสียงของตัวละครแต่ละตัวแล้วพบว่า เพราะผู้เขียนมีจุดมุ่งหมายเพื่อเสริมแก่นหรือแนวคิดของเรื่องให้เด่นขึ้น เมื่อพิจารณาน้ำเสียงของตัวละครนักเขียนที่มีการเสียดสี ถากถางเกี่ยวกับมาตรการป้องกันโรคระบาดที่กล่าวไปข้างต้น   พบว่า จเด็จ มีจุดประสงค์เพื่อที่จะวิจารณ์การทำงานของรัฐบาลซึ่งเป็นสิ่งที่หลายคนมองข้าม ไม่เพียงเท่านั้นเขายังได้หยิบยกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในต่างประเทศมาพูดถึงไม่ว่าจะเป็นการลักลอบซื้อสัตว์ป่า การทำสงครามหรือแม้กระทั่งการใช้แรงงานเด็กในเหมืองแร่ และจเด็จ กำจรเดช ยังได้นำเสนอปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม อำนาจของเงินที่สามารถทำได้ทุกอย่างแม้กระทั่งการใช้มันในทางผิดกฎหมายและมีอีกประเด็นที่น่าสนใจคือในตอน ‘หมาป่า’เขาได้นำเสนอความโหดร้ายของมนุษย์ที่มีต่อสุนัขที่ช่วยหาคนในสงคราม เมื่อสงครามจบพวกมันก็ถูกทอดทิ้งเพียงเพราะหมดผลประโยชน์

            จเด็จ กำจรเดชมีกลวิธีในการนำเสนอแนวคิดผ่านทรรศนะของตัวละครเอก สะท้อนแนวคิดผ่านเรื่องสั้นที่นักเขียนเป็นผู้แต่ง โดยได้สะท้อนแนวคิดที่ว่า “เราต่างก็เป็นหมาป่า” ตามที่ผู้อ่านรู้กันดีอยู่ว่าหมาป่าเป็นสัญญะของความเจ้าเล่ห์ เห็นได้จากในนิทานหรือตำนานต่าง ๆ หมาป่าจะรับบทเป็นตัวร้ายอยู่เสมอ จเด็จได้นำความเจ้าเล่ห์ของมาป่ามาเปรียบเทียบกับนิสัยของมนุษย์ ความเป็นหมาป่านี้จะปรากฏให้เห็นตลอดทั้งเรื่องไม่ว่าจะเป็นในนิยาย เรื่องสั้น หรือแม้กระทั่งตัวของนักเขียนเอง

            กลวิธีการเล่าเรื่องมีความน่าสนใจ คือเรื่องมีความสดใหม่ มีการนำเหตุการณ์ปัจจุบันมาใส่ในเรื่อง ทำให้ผู้อ่านรู้สึกมีส่วนร่วมกับเรื่องที่ผู้เขียนจะสื่อ  การดำเนินเรื่องแบบตัดสลับทำให้รู้สึกเหมือนกับการดูหนังหนึ่งเรื่อง เพียงแค่เปลี่ยนบรรทัดใหม่ผู้เขียนก็สามารถตัดสลับเปลี่ยนเรื่องไปมาจนบางครั้งทำให้ผู้อ่านงงและต้องกลับไปซ้ำในบางจุด

           การเล่าถึงเรื่องสั้นสลับกับนิยาย เพื่อให้เห็นจุดร่วมของเรื่องทั้งสองนั้นก็คือความเป็นหมาป่าของมนุษย์ เช่นในตัวละครมือปืน(ในเรื่องสั้น)ในตอนแรกเขาเป็นหมาป่าแต่ด้วยความชื่นชอบนักร้องมากเขาจึงไปบอกกับนักร้องให้ระวังตัว มีคนสั่งฆ่าเขาและเขาเชื่อใจว่านักร้องจะขึ้นเล่นในคอนเสิร์ต แต่สุดท้ายนักร้องก็เป็นหมาป่าด้วยการตลบหลังมือปืน หลอกให้มือปืนยิงนักร้องก็อปปี้โชว์ ส่วนมือสังหาร(ในเรื่องนิยาย)ก็คิดว่าตัวเองเป็นหมาป่าเพราะมีทหารเด็กจ้างวานให้เขาไปฆ่าหัวหน้ากบฏ เขาคิดตลบหลังทหารเด็กด้วยการไปเจรจากับหัวหน้ากบฏเพื่อที่เขาจะเดินทางไปยังจุดหมายสะดวกขึ้น ท้ายที่สุดเขาเองต่างหากที่ตกเป็นลูกแกะและหัวหน้ากบฏกลายเป็นหมาป่า เขาต้องลงไปทำงานหนักในเหมืองแร่กับพวกทหารเด็ก เช่นเดียวกับตัวนักเขียนที่เขาจะเป็นหมาป่าเมื่ออยู่บนเตียงกับภรรยาของเขา แต่ในบางครั้งภรรยาของเขาก็เป็นหมาป่าบ้าง

           สิ่งที่ จเดช กำจรเดช ต้องการนำเสนอไม่ใช่คำสอนเชิงศีลธรรมแต่เป็นการนำเสนอสัจธรรมในการดำรงชีวิตของมนุษย์ มนุษย์มีทั้งด้านที่ดีและไม่ดี ในทุกสถานการณ์จะมีทั้งผู้ที่เอาเปรียบผู้อื่นและผู้ที่เสียเปรียบ ให้ตั้งตนอยู่ในความไม่ประมาท เพราะในชีวิตเราไม่มีใครที่เราจะไว้ใจได้จริง ๆ ทุกความสัมพันธ์ล้วนมีหมาป่า เราเป็นหมาป่า ฝ่ายตรงข้ามเราก็เป็นหมาป่า อยู่ที่ว่าใครมีไหวพริบที่จะชิงเป็นหมาป่าก่อนกัน

            จเด็จ กำจรเดช เขียนเรื่อง ‘เป็นหมาป่า’ โดยกำหนดให้ ‘นักเขียน’ ซึ่งเป็นตัวละครตัวหนึ่งเป็นผู้เล่าเรื่อง เล่าเรื่องราวของมือปืนในเรื่องสั้น ‘นักเขียน’ ในเรื่องจึงมิใช่ตัวของจเด็จ กำจรเดช เป็นการเล่าเรื่องแบบกระแสสำนึกเพราะบางครั้งเราจะเห็นตัวละครกำลังพูดหรือรำพึงกับตัวเอง ผู้อ่านจะรับรู้เหตุการณ์การกระทำของตัวละครอื่น ๆ โดยผ่านมุมมองของตัวละครเอกเท่านั้น ไม่ได้ล่วงรู้ความคิดของตัวละครทุกตัว การเล่าเรื่องแบบนี้จะทำให้ผู้อ่านรู้จักตัวละครได้อย่างหลากหลายและรอบด้าน

            เมื่อพิจารณาองค์ประกอบในส่วนของโครงเรื่อง แก่นของเรื่อง ตัวละคร มุมมองการเล่าตลอดจนวิธีการดำเนินเรื่องแล้ว “เป็นหมาป่า” ในรวมเรื่องสั้นคืนปีเสือ และเรื่องเล่าของสัตว์อื่น ๆ ของ จเด็จ  กำจรเดช พบว่า การจัดวางองค์ประกอบของเรื่องสั้นเรื่องนี้ ผู้เขียนทำได้อย่างเหมาะสมและกลมกลืน ทั้งการวางโครงเรื่องแบบใหม่ ตัวละครมีบทบาทเป็นศูนย์กลางของเรื่อง  นอกจากนี้ยังสามารถถ่ายทอดเรื่องราวออกมาสะกิดใจผู้อ่านได้เป็นอย่างดี อีกทั้งการเลือกให้ตัวละครเอกเป็นคนเล่าเรื่องทั้งหมด ช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจถึงแก่นของเรื่องได้เป็นอย่างดี

โดย...รัชฎาภรณ์  พุฒพันธ์

รายการอ้างอิง

จเด็จ กําจรเดช (นามแฝง). (๒๕๖๓). คืนปีเสือ และเรื่องเล่าของสัตว์อื่น ๆ. กรุงเทพฯ : ภาพพิมพ์.

ธัญญา สังขพันธานนท์. (๒๕๓๙). วรรณกรรมวิจารณ์. กรุงเทพฯ : นาคร.

หมายเลขบันทึก: 688262เขียนเมื่อ 11 มกราคม 2021 16:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มกราคม 2021 16:53 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท