ฟ้าสางที่กลางใจ : ความกตัญญู...แสงสว่างส่องทางชีวิต


ฟ้าสางที่กลางใจ : ความกตัญญู...แสงสว่างส่องทางชีวิต

“ฟ้าสางแล้วสำหรับฉัน ฟ้าสางที่กลางใจ และเมื่อฟ้าสางที่กลางใจ  ทุกสิ่งทุกอย่างก็สว่างไสวไปหมด    ไม่ใช่เรื่องใหญ่เลยที่ฉันจะต้องเสียสละนิเวศและก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่อีกที่ฉันได้เสียสละนพพร  ถ้าฉันเห็นแก่ตัว ใครจะอยู่พยาบาลแม่อย่างใกล้ชิด  สามคนที่มานั่งร้องห่มร้องไห้เอาตอนที่แม่จากไปแล้วนี่รึ? ถ้าฉันเห็นแก่ตัว วาระสุดท้ายของแม่คงจะกระวนกระวาย ทุกข์ทนกว่านี้มากนัก” (น.123)

โดยธรรมชาติของมนุษย์นั้น จะเห็นประโยชน์ส่วนตนมาก่อนที่จะคำนึงถึงคนอื่น ในสังคมปัจจุบันจะมีสักกี่คนที่จะเสียสละความสุขของตนเองในทุก ๆ เรื่อง เพื่อให้คนในครอบครัวมีความสุข ซึ่งนวนิยายเรื่องฟ้าสางที่กลางใจ ได้นำเสนอเรื่องราวของ“อรพรรณ” หญิงสาวที่เติบโตมากับการถูกแม่เป็นคนลิขิตทางเดินชีวิตให้  เธอยอมทำตามคำสั่งของแม่ทุกอย่าง  ยอมลาออกจากงานที่ตนรักเพื่อมาสืบทอดธุรกิจของครอบครัว ทำทุกอย่างเพื่อครอบครัวแม้รู้ว่าแม่รักน้อง ๆ มากกว่า  เธอก็ได้แต่หวังว่าสักวันหนึ่งแม่จะเห็นถึงความดีที่เธอมีและมอบความรักให้เธอเหมือนที่แม่มอบให้น้อง ๆ

ฟ้าสางที่กลางใจ เป็นบทประพันธ์ของเพ็ญศรี เคียงศิริ หรือที่รู้จักกันในนามปากกา "นราวดี" เริ่มเขียนเรื่องสั้นเมื่อ พ.ศ. 2504 และเขียนหนังสืออย่างสม่ำเสมอจนถึงปัจจุบัน นับเป็นเวลาเกือบ 6 ทศวรรษ มีผลงานประพันธ์ทั้งนวนิยาย เรื่องสั้น บทความ สารคดี บทกวี และงานแปล ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ จำนวนหลายร้อยชิ้น โดยเฉพาะนวนิยายมีกว่า 50 เรื่อง ฟ้าใกล้ทะเลกว้าง และฟ้าสางที่กลางใจ ได้รับรางวัลจากคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ นวนิยายหลายเรื่องถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์และละครโทรทัศน์ เช่น นางอาย และรักเกิดในตลาดสด

นอกจากสร้างสรรค์งานเขียนและงานแปลอย่างสม่ำเสมอแล้ว นางเพ็ญศรี เคียงศิริ ได้ทำงาน เพื่อประโยชน์ต่อวงวรรณกรรม โดยเฉพาะในช่วงที่ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย อีกทั้งยังทำงานให้องค์กรสาธารณกุศลและองค์กรวิชาชีพต่างๆ ได้รับรางวัลและเกียรติคุณจากภาครัฐและเอกชนหลายรางวัล นางเพ็ญศรี เคียงศิริ จึงได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พุทธศักราช 2560

“ฟ้าสางที่กลางใจ”เป็นเรื่องราวของ อรพรรณ เธออาศัยอยู่กับแม่และน้องทั้งสามคน คือ ธัญญะ   วิกานดาและมาลิน พ่อของเธอเสียตอนที่เธออายุเพียง 18 ปี เธอได้ให้สัญญากับพ่อไว้ว่าจะเป็นคนที่ดูแลครอบครัวแทนพ่อ เมื่อพ่อจากไปแล้ว อำนาจทุกอย่างตกอยู่ในมือแม่ ทุกสิ่งทุกอย่างในการดำเนินชีวิตของเธอจะมีผู้เป็นแม่คอยลิขิตเอาไว้ด้วยคำว่า“ลูกคนโต” อยู่เสมอ จึงทำให้ความรับผิดชอบทุกเรื่องตกมาเป็นภาระของเธอคนเดียวทุก ๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเป็น ครอบครัว การงาน แม้กระทั่งคู่ครองของเธอเอง เพราะเธอนั้นถูกแม่คอนกีดกันผู้ชายที่เข้ามาในชีวิตของเธอ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็ไม่มีใครที่จะรู้ถึงความเจ็บปวดในใจของเธอได้ เธอไม่ได้เรียนต่อมหาวิทยาลัยเพราะแม่ต้องการให้เธอดูแลโรงจำนำ  แต่ช่วงแรกเธอก็ดื้อกับแม่และหาทางรับราชการจนได้เข้าทำงานที่กรมการค้าต่างประเทศในตำแหน่งต่ำ ๆ ตามประสาคนจบเพียงมอหก  หลังจากนั้นผ่านไปไม่กี่ปีเธอก็ต้องออกจากงานมาช่วยแม่ทำแทนแม่ทุกอย่างเพราะแม่เธอเริ่มแก่ขึ้นมากแล้วและเลี้ยงดูน้อง ๆ ทั้งสามคนของเธอ

โครงเรื่องของ “ฟ้าสางที่กลางใจ” เป็นเรื่องราวที่สะท้อนให้เห็นชีวิตหญิงสาวที่ต้องแบกรับภาระหน้าที่อันหนักอึ้งด้วยเหตุผลเพียงว่าเธอเป็นลูกสาวคนโต ตามคำสั่งเสียของพ่อและคำที่แม่คอยย้ำกับเธอเสมอ เธอจึงต้องดูแลและเป็นเสาหลักให้น้องๆ ทั้งสามคน แต่คนในครอบครัวกลับไม่มีใครใส่ใจความรู้สึกของเธอเลย ทุกคนจะใส่ใจแค่เรื่องของตนเองเท่านั้น ชีวิตของเธอถูกผู้เป็นแม่คอยลิขิตทางเดินให้ ทั้งในเรื่องชีวิต การทำงาน แม้กระทั่งความรัก เธอต้องออกจากงานที่เธอรักเพื่อมาสืบทอดธุรกิจโรงรับจำนำของครอบครัวและเธอต้องสละคนรักทุกคนที่ผ่านเข้ามาในชีวิตเธอ เพื่อความสุขของคนในครอบครัว

การวางโครงเรื่องของ นราวดี ทำให้ผู้อ่านเห็นถึงความกตัญญูที่ลูกคนหนึ่งจะทำให้แม่ โดยไม่มีเงื่อนไข การเปิดเรื่องผู้เขียนโดยการเล่าถึงตัวละครเอก ซึ่งก็คือ “อรพรรณ”และการเล่าถึงพื้นฐานของรอบครัวตั้งแต่ตอนที่เริ่มก่อตั้งธุรกิจโรงรับจำนำของครอบครัว ซึ่งเป็นสถานที่สำคัญของเรื่อง การดำเนินเรื่องผู้เขียนลำดับเรื่องให้สอดคล้องกันตลอดทั้งเรื่อง ไม่ยืดเยื้อน่าเบื่อชวนให้น่าติดตาม

ในเรื่องนี้มีปมความขัดแย้งภายในจิตใจ คือความขัดแย้งภายในใจของอรพรรณที่เขาคิดมาตลอดว่าทำไมแม่ถึงไม่แสดงออกว่ารักหรือเป็นห่วงเธอเหมือนที่แม่กระทำต่อน้อง ๆ และแม่มักจะเข้มงวดกับเธอในทุก ๆ เรื่องต่างกับน้อง ๆที่แม่จะคอยตามใจและเอาใจ

เรื่อง“ฟ้าสางที่กลางใจ”นั้นผู้เขียนได้สร้างให้ตัวละครเอกเป็นผู้เล่าเรื่องของตนเอง เรื่องราวชีวิตของครอบครัวที่แม่เป็นคนที่เปี่ยมล้นไปด้วยอุดมการณ์และมีความคาดหวังให้ลูกสาวคนโตมาเป็นเสาหลักให้แก่ครอบครัว เธอเป็นคนที่ยอมลำบากเพื่อครอบครัว โดยไม่มีใครรู้เลยว่าเธอเหนื่อยยากหนักใจหรือหว่าเหว่ในใจแค่ไหน ต่างก็เห็นว่าเธอเป็นคนที่แข็งแรงและควรที่จะช่วยเหลือคนอื่นเสมอ  โดยไม่มีใครคำนึงถึงความรู้สึกของเธอเลย  อย่าว่าแต่จะได้รับความเอาใจใส่เป็นพิเศษ ถึงเธอจะทุ่มเทเพื่อครอบครัวแค่ไหน  แม้แต่คำชมสักคำเธอก็ไม่เคยได้รับจากแม่หรือน้อง ๆ ทั้งสาม

นวนิยายเรื่องนี้ยังสะท้อนให้เห็นความดีที่มีอยู่ในตัวของตัวละครเอก แม่ของเธอมักจะหยิบยื่นความรักให้กับน้อง ๆ จนเธอคิดเสมอว่าแม่รักน้องทุกคนแต่แม่ไม่รักเธอ เธอได้แต่เก็บความสงสัยนี้ไว้จนกลายเป็นเหมือนเมฆสีดำที่คอยบดบังหัวใจดวงน้อย ๆ ของเธอ แต่แล้วคุณความดีที่เธอได้กระทำต่อบุพการีในวันที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ก็ได้ส่องแสงประกายในใจของเธอ  ฟ้าสางที่กลางใจของอรพรรณเกิดขึ้นตอนที่แม่ของเธอกำลังจะตาย ก่อนแม่ตายแม่ได้บอกกับเธอว่า "แม่รักพรรณ" ประโยคนี้ถึงจะเป็นประโยคสั้น ๆ แต่เป็นประโยคที่เธอเฝ้ารอมาตลอดชีวิต มันมีความหมายสำหรับเธอมาก  สิ่งหนึ่งที่เธอโหยหารอคอยอยากได้จากแม่มาตลอดและแม่ก็มอบให้เธอในลมหายใจสุดท้ายของท่าน   ทำให้ชีวิตที่เคยมืดมนกลับสดใสเสมือนมีแสงสว่างที่กลางดวงใจของเธอแล้ว

เรื่องนี้เป็นอีกเรื่องที่เราอ่านแล้วรู้สึกสงสารและเห็นใจในโชคชะตาของอรพรรณ ในปัจจุบันจะมีลูกสักกี่คนที่ตอบพระคุณแม่ได้แบบไม่มีที่ติอย่างอรพรรณ ที่ต้องเสียสละความสุขของตัวเองไม่ว่าจะเป็นหน้าที่การงานที่ดีและผู้ชายที่รักเพื่อดูแลแม่แทนน้อง ๆ แต่ละคนที่อ้างว่าไม่มีเวลา แต่พอเวลาแม่เสีย พวกเขากลับมานั่งร้องไห้ฟูมฟายว่ายังไม่มีโอกาสได้ตอบแทนพระคุณและมีอีกหลายสิ่งที่ยังไม่ได้ทำให้แม่เลย ทำให้เรารู้ว่าควรจะใช้เวลาที่มีให้คุ้มค่าเพราะเราไม่รู้ว่าคนที่เรารักจะอยู่กับเราได้นานแค่ไหนและก่อนจะทำอะไรต้องวางแผนและคิดไตร่ตรองให้รอบครอบเพราะเราไม่สามารถย้อนเวลากลับมาแก้ไขสิ่งต่าง ๆ ได้

นวนิยายเรื่องฟ้าสางที่กลางใจ มีตัวละครสำคัญหลายตัว ผู้แต่งสร้างตัวละครที่มีความสมจริง   คือมีอารมณ์ผันแปรไปตามสิ่งต่าง ๆ อย่างเช่น ตัวละคร “แม่” แม่มีทั้งด้านดีและด้านร้ายในตอนที่อรพรรณพานิเวศน์เข้าบ้านแม่ของเธอไม่พอใจและพยายามกีดกันเขาทุกทางด้วยเหตุผลที่ว่านิเวศน์มีฐานะยากจน กลัวว่าลูกของตนจะลำบาก  “ธัญญะ” ลูกชายคนเดียวของบ้าน ที่ถูกเลี้ยงดูอย่างประคบประหงม เพียงแค่เขาเอ่ยปากว่าอยากได้อะไร แม่ก็จะเนรมิตสิ่งนั้นให้  “วิกานดา” เป็นคนที่เชื่อคนง่าย แม่มักจะดูแลและป้องกันอันตรายให้เธอทุกวิถีทางที่มีโอกาส “มาลิน” ลูกสาวคนเล็กของบ้าน เธอเป็นคนหัวสมัยใหม่ เธอเป็นคนที่เข้าใจอรพรรณมากที่สุดแต่เธอก็ชอบเที่ยวสนุกจนเกิดความผิดพลาดครั้งยิ่งใหญ่คือการที่เธอชอบเที่ยวเตร่และมีเพศสัมพันธ์กับชายมากหน้าหลายตาจนทำให้ตนเองท้องโดยไม่รู้ว่าใครเป็นพ่อของเด็กสร้างความอับอายให้แก่ครอบครัว

ฉากและบรรยากาศของในเรื่องนี้ ถือเป็นเสน่ห์ของเรื่อง ผู้แต่งพรรณนาฉากได้สมจริงทำให้ผู้อ่านเห็นภาพได้ชัดเจน เช่นฉากโรงรับจำนำ ผู้แต่งได้พรรณนาถึงบรรยากาศรอบ ๆ และความรู้สึกของคนที่เดือดร้อนต้องเอาสิ่งของมาจำนำเพื่อที่จะได้มีเงินไปใช้จ่าย

ลักษณะเด่นของนวนิยายเรื่องนี้ น่าจะเป็นกลวิธีในการใช้ภาษาผู้เขียนใช้ภาษาที่เรียบง่าย สละสลวย ใช้ถ้อยคำเหมาะสมและมีการใช้สำนวนโวหารในการเปรียบเทียบอยู่บ่อยครั้ง  เช่น ในตอนที่พรรณพานิเวศน์มาทำความรู้จักกับแม่และน้อง ๆ ของเธอ

“ปล่อยให้เขารักเรา หวังในตัวเราได้ไง ในเมื่อเขาจนกรอบเป็นข้าวเกรียบ ยิ่งพามาบ้าน เขาก็ยิ่งคิดว่าจะได้แต่งงานกับเรา” (น.4) กรอบเป็นข้าวเกรียบเป็นคำที่ใช้เปรียบเทียบคนที่จนมาก,ไม่มีเงินเลย

“แล้วแม่ก็ชักแม่น้ำทั้งห้าพูดกับฉัน” (น.4) ชักแม่น้ำทั้งห้า หมายถึง การยกเหตุผลมาหว่านล้อม ยกยอก่อน แล้วจึงหันเข้าหาจุดประสงค์

กลวิธีในการดำเนินเรื่องเป็นการเล่าย้อนเหตุการณ์ในอดีตให้ผู้อ่านเข้าใจและรู้จักตัวละครแต่ล่ะตัวดีขึ้นและผู้แต่งยังสร้างประเด็นให้ผู้อ่านได้คาดเดาเหตุการณ์ที่ผ่านมาว่าเกิดอะไรขึ้นกับตัวละครเอกทำไมถึงได้พูดเป็นนัย ๆ ว่า “ฉันเคยคร่ำครวญอะไรหนอ...ทำให้ชีวิตของฉันเดินทางมาพบทางตันอย่างนี้” (น.2)        บทสนทนาในเรื่องเป็นถือว่าสำคัญมากเพราะเป็นส่วนที่ช่วยคลี่คลายปมปัญหาและช่วยให้เราเข้าใจความรู้สึกนึกคิดของตัวละครได้เป็นอย่างดี เช่นตอนที่แม่เสียธัญญะได้ร้องไห้เสียใจในหลายสิ่งที่เขายังไม่ได้ทำให้แม่

“พี่พรรณ ผมตั้งใจจะชวนแม่ไปทานข้าวที่บ้าน แต่จนแล้วจนรอดก็ยังไม่ได้ชวน แม่เคยทวงเสียด้วยซ้ำ แม่ถามทีเล่นทีจริง โธ่...ผมเลว! เลวเหลือเกิน! ” (น.121)

แนวคิดของเรื่องนี้จะเน้นไปที่การทำความดีและการกตัญญูต่อบิดามารดาและสอดแทรกเรื่องราวความรักหลากหลายรูปแบบมีทั้งสมหวังและผิดหวัง ถือเป็นการผสมผสานได้อย่างลงตัว ชวนให้ผู้อ่านติดตามว่าเรื่องราวจะดำเนินการอย่างไรต่อไป

หลายท่านอาจจะเคยอ่านนวนิยายมาหลากหลายรูปแบบซึ่งแต่ล่ะเล่มก็จะมีจุดเด่นแตกต่างกันไปเพื่อดึงดูดความสนใจและชวนให้ติดตามค้นหา นวนิยายเรื่อง “ฟ้าสางที่กลางใจ” ก็เป็นอีกเรื่องที่ให้แง่คิดและมุมมองในการใช้ชีวิต สะท้อนความรักของคนในครอบครัวและแสดงให้เห็นถึงคุณธรรมที่สำคัญอีกข้อก็คือการกตัญญูต่อบุพการีในวันที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ ฉะนั้น ฟ้าสางที่กลางใจควรค่าแก่การอ่าน ท่านจะได้ท่องโลกกว้างขึ้นผ่านตัวอักษร จึงอยากแนะนำให้นักอ่านทั้งหลายได้มาลิ้มลอง

“ความดีงามที่แต่ล่ะคน แต่ล่ะชีวิตได้กระทำ...ย่อมงดงามแล้ว ณ กลางใจของตน

และสักวันคุณค่าเหล่านั้นก็จะปรากฏฉายชัดออกมาโดยมิต้องเอื้อนเอ่ยถึง”

รายการอ้างอิง
นราวดี(นามแฝง).(2561).ฟ้าสางที่กลางใจ.กรุงเทพฯ : แสงดาว

หมายเลขบันทึก: 688265เขียนเมื่อ 11 มกราคม 2021 16:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มกราคม 2021 16:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท