วิกฤตหลังปีใหม่ : การระบาดโควิดรอบที่สอง


วิกฤตหลังปีใหม่ : การระบาดโควิดรอบที่สอง

8 มกราคม 2564

: ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น) [1]

วิกฤตชาติหลายอย่างที่ปนเป

(1) ทั้งวิกฤตเศรษฐกิจ วิกฤติการเมือง วิกฤติโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาโควิด-19 (Covid 2019) ที่ยังมีวิกฤตรองที่นับได้อีกเช่น วิกฤติในความเชื่อมั่นของรัฐ ทั้งการเลือกตั้งท้องถิ่นหลังการเลือกตั้ง อบจ. ที่กำลังจะตามมาอีกหลายระดับในเทศบาล อบต. เมืองพัทยา และ กทม. หรือ วิกฤตการบริหารจัดการภาครัฐในการจัดการแรงงานต่างด้าว การทุจริตคอร์รัปชัน การปราบส่วยสินบนฯ รวมถึงการสนใจกลุ่มคนเปราะบาง (vulnerable persons) [2] ด้อยโอกาสทุกกลุ่ม รวมทั้งคนต่างด้าว หรือ “คนข้ามชาติ” [3] ในฐานะที่เป็นมนุษย์ในสังคมโลกคนหนึ่งให้มากขึ้นด้วย ฯลฯ เป็นต้น เพราะเหล่านี้คือจุดสนใจของชาวบ้านคนทั่วไปในรอบปีใหม่นี้

(2) ด้วยความเชื่อของโซเซียลว่า โรคติดเชื้อโควิดครอบที่สองครั้งนี้เกิดจาก (1) การแพร่ระบาดจาก แรงงานข้ามชาติ (ต่างด้าว) ที่ผิดกฎหมายเข้าประเทศ [4] (2) การแพร่ระบาดเกิดจากบ่อนการพนัน ซึ่งการระบาดติดเชื้อครั้งแรกก็ตั้งต้นมาจากการปล่อยปละละเลยของเจ้าหน้าที่รัฐใน “การป้องกัน-ควบคุม” [5]โดยเฉพาะแหล่งการพนันทั้งที่เป็นบ่อนถูกกฎหมายหรือผิดกฎหมายก็ตามในธุรกิจสีเทาสีดำต่างๆ คือ สนามมวย บ่อนการพนัน ชนไก่ ชนโค ที่ยังไม่นับการจัดงานเลี้ยงงานแต่งของชาวบ้าน งานเวทีคอนเสิร์ต การชุมนุมเรียกร้องสิทธิประชาธิปไตยต่างๆ ตลาดสด รถโดยสารสาธารณะ ฯลฯ เพราะเหล่านี้เป็นแหล่งที่ชุมนุมของคนหลากหลายจำนวนมาก ที่รัฐต้องมีมาตรการแก้ไข แต่ที่ผ่านมารัฐกลับใช้มาตรการ “ควบคุม” (control) มากกว่ามาตรการ “ป้องกัน” (protect, prevention) ซึ่งมีต้นทุนการบริหารจัดการที่แพงกว่า ยุ่งยากกว่า ส่งผลให้การแก้ไขปัญหาต้องรับภาระที่หนักขึ้น ทั้งนี้ มาตรการควบคุมต้องนำมาตรการการป้องกันมาใช้ควบคู่กันไปด้วย เพราะตอนนี้เป็นวิกฤตที่ต้องระดมสรรพกำลังให้ผ่านพ้น การนำเสนอข่าวที่ตรงไปตรงมา ไม่ปิดบัง เป็นสิ่งสำคัญ

เจ้าหน้าที่รัฐการ์ดตกไม่ใช่ประชาชนการ์ดตก

(1) จากข้อสรุปที่ตรงกันข้างต้นต้นตอโควิดระลอกสองได้มาลงที่เจ้าหน้าที่ของรัฐว่า “การ์ดตก” โดยเฉพาะฝ่ายอำนาจรัฐผู้รับผิดชอบ ทั้ง ฝ่ายตำรวจ ฝ่ายปกครอง และ ฝ่ายทหาร คือ (1) การลักลอบนำแรงงานข้ามชาติผิดกฎหมายเข้าประเทศ ใครต้องรู้รับผิดชอบ กองกำลังทหาร ด่านตรวจคนเข้าเมืองตามชายแดน และตามจุดตรวจมีทุกพื้นที่ ควบคุมทุกด้านตามชายแดนไทย แล้วแรงงานเถื่อนลักลอบ เข้ามาได้อย่างไร (2) บ่อนพนัน ใครต้องรู้ใครต้องรับผิดชอบ [6] บทสรุปหนีไม่พ้นมาลงที่คำว่า “มีส่วย” หรือ “สินบนเงินใต้โต๊ะ” (Bribery) ในคนที่เห็นแก่ตัวบางคน และเจ้าหน้าที่ของรัฐบางคน บางกลุ่มที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน อย่าได้โทษประชาชนชาวบ้านว่าการ์ดตก ถึงเวลาหรือยังที่ต้องดึงธุรกิจสีเทาเหล่านี้ขึ้นมาให้ถูกต้องตามกฎหมาย หรือให้มี “คุณธรรมและความโปร่งใส" (Integrity & Transparency) [7] ที่มากขึ้นในสายตาของชาวโลก เพราะมันคือต้นตอของ “การทุจริตคอร์รัปชัน” (Corruption) นั่นเอง

(2) จากสถิติข้อมูลการติดเชื้อและผู้ป่วยผู้เสียชีวิตที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงต้นปีนี้ เป็นจำนวนยอดถึงหลักร้อยหลักพัน ที่มีข่าวการระบาดในหลายสายพันธุ์ใหม่ๆ ทั้งสายพันธุ์อินเดีย สายพันธุ์อังกฤษ กล่าวคือ มีเชื้อกลายพันธุ์ที่รุนแรงกว่าเดิม ข้อมูล ณ ปัจจุบันแพร่เชื้อระบาดไปแล้ว 56 จังหวัด (73.68%) [8] โดยเฉพาะจาก “จังหวัดสมุทรสาคร” ที่มีจำนวนแรงงานข้ามชาติสูงมาก [9] มีการพบจำนวนผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนมากถึง 900 คนในโรงงานอาหารกระป๋องทะเลแห่งหนึ่ง [10] และจังหวัดที่มีจำนวนแรงงานข้ามชาติเป็นจำนวนมาก ทำให้รัฐต้องประกาศ “จังหวัดควบคุมสูงสุดใน 5 จังหวัด” [11] ในการแยกพื้นที่ควบคุมตามลำดับ 4 โซนคือ สีแดง สีส้ม สีเหลือง สีเขียว [12] ตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม - 1 กุมภาพันธ์ 2564 เช่น การปิดสถานศึกษาในสังกัด อปท. หรือมีการใช้มาตรการเข้มข้นต่างๆ แต่ไม่ใช่การ Lock down [13] ที่หมายถึงการปิดเมืองห้ามประชาชนและทุกภาคส่วนทำกิจกรรมต่างๆ แต่ก็เป็นเพียงวาทกรรมของภาครัฐเท่านั้น เนื้อแท้ก็คือการ “Lock down” โดยรัฐใช้ พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉินฯ 2548 และ พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 เป็นกฎหมายหลักเพื่อควบคุมสถานการณ์ฯ นั่นเอง ที่ส่งผลให้การดำเนินการทางธุรกิจและชีวิตประจำวันของประชาชนทั่วไปได้รับผลกระทบโดยทั่วกัน ซ้ำเติมระบบเศรษฐกิจให้ทรุดลงไปอีก

รัฐต้องสร้างความเชื่อมั่นแก่ประชาชน

(1) เจ้าหน้าที่ท้องถิ่น อปท. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ฯ ที่เจ้าพนักงานควบคุมโรคตามกฎหมายยังปฏิบัติหน้าที่ตามกรอบกฎหมายต่อไป เชื่อว่า ตามวัฏจักรระบาดวิทยา (Epidemiology) ของโรคระบาด นั้น หากประชาชนมีภูมิคุ้มกันมีจำนวนมากพอ (Herd Immunity or Community Immunity) [14] โรคระบาดก็จะกลายเป็นโรคประจำถิ่นไป [15] จะหยุดการแพร่ระบาดลงเท่านั้น การหยุดล็อกดาวน์ปิดเมืองจึงไม่มีประโยชน์ที่จะไปซ้ำเติมชาวบ้านในภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ เพราะการระบาดรอบที่สอง (Second Wave) นี้เชื้อโควิดก็ยังไม่ได้หายไปไหนมันจะอยู่กับเราไปอีกนานเราหลายเดือน วัคซีนก็ยังไม่มีมา ท่ามกลางสงครามข่าวสารไอโอ (Information Operation) ที่เข้มข้น ทั้งฝ่ายเขาฝ่ายเรา แม้จะมีคนมองว่าภายใต้ภาวะวิกฤตกดดันเช่นนี้ ไอโอของคนรุ่นใหม่หัวก้าวหน้าฝ่ายประชาธิปไตยอาจชั้นเชิงเหนือกว่า ลึกซึ้งกว่าฝ่ายรัฐสักเล็กน้อยก็ตาม แต่ฝ่ายรัฐก็ต้องออกแรงทำคะแนนไว้ให้มากขึ้น โดยเฉพาะ “ความเชื่อมั่นเป็นที่น่าเชื่อถือต่อภาครัฐ” (Credit) ฉะนั้น รัฐและประชาชนจึงต้องพร้อมใจกัน เรียนเอาข้อเรียนรู้นั้น มาทำให้โลกน่าอยู่ขึ้น สามารถอยู่กับเชื้อโควิดให้ได้ ทำให้ชีวิตประจำวันของผู้คนทั่วโลกไม่เหมือนเดิม ถือเป็นวิถีชีวิตใหม่ “New normal” ที่แปรผันเปลี่ยนแปลง disruptive ไปตามโลกที่รวดเร็วมากให้ได้

(2) เรื่องวัคซีนป้องกันปราบโควิดก็เป็นสิ่งสำคัญ เพราะวัคซีนเป็นทางออกของวิกฤตทำให้วันสิ้นสุดของการระบาดใหญ่มาถึงเร็วขึ้น ในขณะที่ต่างประเทศต่างชิงกันจัดสรรหาวัคซีนมาให้ประชาชนของตนเองในการป้องกัน เป็นที่น่ายินดีว่ารัฐบาลไทยได้ประกาศเจตนารมณ์จัดสรรการเข้าถึงวัคซีนอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม ให้มีปริมาณวัคซีนเพียงพอต่อความต้องการ มีคุณภาพ ปลอดภัย เพื่อการมีสุขภาพที่ดีของประชาชน ทั้งในสถานการณ์ปกติและในสถานการณ์ฉุกเฉิน ตาม มาตรา 3 [16] แห่ง พ.ร.บ. ความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ พ.ศ. 2561 ที่รัฐบาลได้สั่งจองวัคซีนกับบริษัทแอสตราเซเนกา (AstraZeneca) ไว้แล้วเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2563 [17] โดยเฉพาะในประชากรกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ บุคคลากรทางการแพทย์ อสม. ผู้สูงอายุราว 13 ล้านคนที่ต้องได้รับวัคซีนก่อนกลุ่มอื่นได้ภายในก่อนกลางปี 2564 [18] นี้ควบคู่ไปกับการช่วยเหลือแบบจ่ายเงินให้เปล่าแก่ประชาชนทุกคนในการดำรงชีพช่วงขาดงานขาดอาชีพขาดรายได้ ด้วยต้นทุนค่าใช้จ่ายจากเงินกู้ที่รัฐบาลได้เตรียมไว้แล้วในจำนวนที่สูงมากพอแล้วถึงจำนวนราว 1.5 ล้านล้านบาท และปัจจุบันคงมียอดเงินคงเหลืออยู่ถึงราว 6.55 แสนล้านบาท [19] ซึ่งสามารถนำมาใช้เยียวยาประชาชนและ SMEs [20] ได้

แรงงานข้ามชาติยังมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจไทย

(1) จังหวัดสมุทรสาคร เป็นจังหวัดที่มีความต้องการในการใช้แรงงานข้ามชาติสูงในธุรกิจอาหารทะเล และการประมง เพราะเป็นการใช้แรงงานที่คนไทยไม่สมัครใจทำงานประเภทนี้กัน โดยเฉพาะงานเสี่ยง “3 D” คือ งานลำบาก (Difficult) งานสกปรก (Dirty) และงานอันตราย (Danger) [21] ปัญหาแรงงานข้ามชาติเถื่อนที่ลักลอบเข้ามาอย่างผิดกฎหมายแท้จริงแล้วมิใช่ปัญหาใหม่แต่อย่างใด แต่สังคมเพิ่งเริ่มให้ความสนใจเนื่องจากเป็นต้นตอของปัญหาการระบาดโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ จากข้อมูลพบว่า การประกาศล็อกดาวน์ในครั้งก่อนสร้างความเสียหายให้แก่เศรษฐกิจไทยอย่างไม่อาจประเมินค่าได้ ผู้ประกอบการหลายคนยังไม่สามารถฟื้นตัวจากการล็อกดาวน์ในครั้งก่อนได้ ขณะนี้เชื้อโควิด-19 ได้แพร่กระจายอย่างรวดเร็ว และกำลังเข้าสู่การล็อกดาวน์ครั้งใหม่ระลอกสอง ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า ภาคเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมไทยอาจได้รับความสูญเสียจากการระบาดรอบใหม่คิดเป็นมูลค่าราว 4.5 หมื่นล้านบาทในกรอบเวลา 1 เดือน [22] แน่นอนว่า ภาวะเศรษฐกิจถดถอยจะทำให้คนตกงานมาก การทำมาหากินยากลำบาก กำลังซื้อของประชาชนลดลง หนี้สินและหนี้เสียส่วนบุคคลเพิ่มสูงขึ้น เหมือนสภาพวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540 สถานการณ์เช่นนี้ย่อมส่งผลกระทบต่อ “ปัญหาปากท้อง” ของชาวบ้านเกิดปัญหาสังคมตามมาโดยเฉพาะปัญหาอาชญากรรมที่สูงขึ้น

(2) การระบาดระลอกใหม่นี้ทำให้ประชาชนจำนวนมากออกมาเรียกร้องถึงความรับผิดชอบของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมแรงงานข้ามชาติเหล่านี้ ซึ่งหากติดตามข่าวที่เกี่ยวกับวงการสีกากีจะมีข่าว ผู้ที่เกี่ยวข้องกับวงจรแรงงานข้ามชาติเถื่อนเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ [23] ซึ่งแท้จริงแล้วหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมแรงงานข้ามชาติไม่ได้มีเพียงแค่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และตำรวจตรวจคนเข้าเมืองเท่านั้น แต่ยังมีกระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน กรมการจัดหางาน สำนักงานจัดหางานจังหวัด ศูนย์บริการจดทะเบียนแบบเบ็ดเสร็จ กระทรวงสาธารณสุข กรมพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รวมถึงหน่วยทหารด้วย ซึ่งจะเห็นได้ว่ามีหลายหน่วยงานร่วมกันรับผิดชอบเรื่องแรงงานข้ามชาติ แต่ปัญหาเหล่านี้กลับไม่สามารถแก้ไขได้และนับวันยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกที ก็เพราะการยังคงมีระบบ “ส่วย” อยู่จึงทำให้ไม่สามารถจับกุมหรือแก้ไขปัญหาแรงงานเถื่อนได้นั่นเอง

(3) อีกสิ่งหนึ่งที่ประชาชนตั้งคำถามเกี่ยวกับการหลั่งไหลเข้าประเทศของแรงงานข้ามชาติเถื่อน (Migrant workers/ Labor) [24] ก็คือ ปัญหาการคอร์รัปชั่นของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดปัญหาขึ้นใช่หรือไม่ ความแตกต่างในระดับค่าครองชีพของรัฐต่อรัฐ ที่ทำให้มีความต้องการแรงงานจากต่างชาติ โดยเฉพาะชาติใกล้เคียงที่หลั่งไหลเข้ามางานงานทำ โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านไทย เช่น ประเทศเมียนมา ลาว และกัมพูชา ที่ผ่านมาต้องยอมรับว่า ปัญหาที่แก้ไม่ตกในประเทศไทยล้วนแล้วแต่เกี่ยวเนื่องกับคอร์รัปชั่นทั้งสิ้น เป็นวงจรอุบาทว์ที่ไม่สามารถแก้ปัญหาให้หมดสิ้นไปจากประเทศไทยมานานหลายทศวรรษแล้ว

สินบน ส่วย เงินใต้โต๊ะเป็นตัวถ่วง

(1) การให้เงินสินบนแก่เจ้าหน้าที่ หรือที่รู้จักกันในชื่อ “ส่วย” หรือ “เงินใต้โต๊ะ” ยังพบข่าวตามสื่อมวลชนและหน้าหนังสือพิมพ์อย่างต่อเนื่อง เป็นกระบวนการโดยมีผู้มีอิทธิพลอยู่เบื้องหลัง ปัญหาเหล่านี้นำไปสู่ปัญหาการฟอกเงิน (Money Laundering) [25] ด้วยธุรกิจนอกระบบที่มีทั้งถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย เช่น การใช้บัญชีธนาคารในต่างประเทศที่มีกฎหมายคุ้มครองความลับลูกค้า การเปิดรีสอร์ท ที่พักบังหน้าเพื่อใช้เป็นสถานที่ฟอกเงิน การนำเงินไปทำหมู่บ้านจัดสรร การซื้อขายที่ดิน ทองคำ รถยนต์หรู ก่อนจะขายทอดตลาดในราคาขาดทุน [26] และนำเงินนอกระบบให้กลับเข้าสู่ในระบบ

(2) มีแนวคิดมากมายเกี่ยวกับการแก้ปัญหาการรับส่วยของเจ้าหน้าที่รัฐ โดยเฉพาะแนวคิดที่ว่า การเพิ่มเงินเดือนให้เจ้าหน้าที่รัฐจะสามารถแก้ปัญหาการรับสินบนของเจ้าหน้าที่ได้ เมื่อเจ้าหน้าที่มีเงินเพียงพอจะใช้จ่ายย่อมไม่กระทำการทุจริต แต่หากมองอีกด้านหนึ่งของสังคมจะเห็นว่า แม้เป็นข้าราชการที่มีเงินเดือนระดับสูงก็ยังมีการทุจริตและรับสินบน ในขณะเดียวกันเงินเดือนที่สูงขึ้นอาจเป็นตัวเพิ่มเงินสินบนให้สูงขึ้นตามไปด้วย ปัญหาเหล่านี้คงแก้ไขได้ยากยิ่ง ตราบใดที่ข้าราชการน้ำดียังเป็นชนกลุ่มน้อยในวงการราชการ และถูกกดดันด้วยอิทธิพลหรือคุกคามทางชีวิตจากผู้มีอิทธิพล หน่วยงานรัฐยังขาดมาตรการคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแสอย่างมีประสิทธิภาพ และยังพบว่าเจ้าหน้าที่ผู้แจ้งเบาะแสถูกกลั่นแกล้งดำเนินการทางวินัย อีกทั้งไม่บ่อยนัก ที่คนทุจริตจะถูกเปิดโปงและถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย

รัฐต้องมีมาตรการแรงงานเรื่องการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติ (Transnational Labor or Migrant Workers) ที่เหมาะสมทันสมัย โดยคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชน (Human Rights) ด้วย ทั้งนี้ เพื่อป้องกันการระบาดโรคโควิด-19 อย่างมีประสิทธิภาพและได้ผล โดยเฉพาะในส่วนของแรงงานข้ามชาตินั้น รัฐต้องมีแผนการแก้ไขทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เพราะต้องยอมรับว่าระบบเศรษฐกิจของไทยยังต้องอาศัยแรงงานต่างด้าวจำนวนมากกลุ่มนี้ไปอีกนาน ระบบในการดูแลแรงงานต่างด้าวที่ไม่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจหรือแม้แต่ไม่เอื้อสำหรับครัวเรือนไทยนี้ รัฐต้องมีแผนการปรับปรุงเสียใหม่อย่างจริงจัง เรื่องนี้ต้องการมุมมองที่แตกต่างจากที่เป็นอยู่อย่างมากและต้องเริ่มคิดกันอย่างจริงจังตั้งแต่บัดนี้แล้ว ยังไม่สายเกิน

[1]Phachern Thammasarangkoon & Ong-art Saibutra & Watcharin Unarine & Watcharapron Maneenuch, ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น), สยามรัฐออนไลน์, 8 มกราคม 2564, https://siamrath.co.th/n/210324      

[2]ความเปราะบาง (Vulnerability)คือ ระดับที่กลุ่มคนหรือบุคคลไม่สามารถที่จะคาดการณ์ จัดการป้องกัน หรือฟื้นตัวจากผลกระทบของภัยพิบัติ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการปรับตัวให้กลับเข้าสู่สภาพปกติ โดยปัจจัยเหล่านั้นจะทำให้เกิดภาวะวิกฤติของกลุ่มประชากรและกลุ่มประชากรสามารถที่จะเผชิญหน้าและฟื้นฟูตัวเองจากความเสียหายที่เกิดขึ้นในภาวะฉุกเฉินได้ โดยแนวคิดเกี่ยวกับความเปราะบาง WHO ใช้ในการวิเคราะห์กลุ่มประชากรที่มีความเสี่ยงว่าจะได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ฉุกเฉินทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการวิเคราะห์กลุ่มคนที่ได้รับความเดือดร้อนที่ส่งผลระยะยาวในชีวิตและไม่สามารถกลับมาสู่การใช้ชีวิตในสภาพปกติได้ : WHO (Piers Blaikie et al, 2003; Ben Wisner et al, 2002).

& ความเปราะบาง เป็นความโน้มเอียงจากการได้รับความเดือดร้อนอย่างรุนแรงด้านสวัสดิการ และการนำครอบครัวไปสู่การใช้ชีวิตที่ต่ำกว่าที่มาตรฐานสังคมกำหนดไว้ : World Bank (Jonathan Haughton และคณะ, 2009).

& Vulnerable Groups คือ กลุ่มคนหรือครัวเรือนที่ตกอยู่ในภาวะความยากจน หรือ คนที่กำลังเผชิญหน้าสถานการณ์ในชีวิตที่กำลังจะเพิ่มความรุนแรงของความยากจนขึ้น นอกจากนี้ OECD ยังระบุว่า กลุ่มคนที่กำลังกล่าวถึงนี้จะเผชิญกับความเสี่ยงหลายรูปแบบ และมีความต้องการการสนับสนุนหลายอย่าง ตั้งแต่อาหาร การดูแลสภาพร่างกายและจิตใจอีก : OECD, 2015.

สรุป บุคคลเปราะบาง (vulnerable persons) คือ (1) บุคคลที่ขาดความสามารถในการปกป้องสิทธิและประโยชน์ของตนเนื่องจากขาดอำนาจ การศึกษา ทรัพยากร ความเข้มเข็ง และอื่นๆ (CIOMS : The Council for International Organizations of Medical Sciences สภาองค์การสากลด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์) (2) บุคคลที่ถูกชักจูงโดยง่ายโดยหวังประโยชน์จากการเข้าร่วมวิจัย ไม่ว่าจะสมเหตุสมผลหรือไม่ก็ตาม หรือเป็นผู้ตกลงเข้าร่วมการวิจัยเพราะเกรงกลัวการถูกกลั่นแกล้ง จากผู้มีอำนาจเหนือกว่าหากปฏิเสธ (ICH GCP E6)

ดู Research among Vulnerable Population : Napakkawat Buathong, Ph.D., http://pcmc.swu.ac.th/document/Research/docs/ethical/7.pdf

[3]คนข้ามชาติ ใช้แทนคนต่างด้าวที่มีลักษณะเหยียดเชื้อชาติ

[4]“อรรถวิชช์” บี้ “สุชาติ” แรงงานต่างด้าวตกสำรวจ ต้นตอโควิดระลอกสอง, ประชาชาติธุรกิจ, 20 ธันวาคม 2563, https://www.prachachat.net/politics/news-577500.

[5]การป้องกันควบคุมโรค ประกอบด้วย 2 ส่วน คือ การป้องกันโรค (prevention) และการควบคุมโรค (control)โดยตามความหมายเดิมนั้น การป้องกันโรค หมายถึงมาตรการและกิจกรรมที่ดำเนินการก่อนที่จะเกิดโรคหรือภัย เพื่อไม่ได้เกิดโรคหรือภัยดังกล่าว ส่วนการควบคุมโรคนั้น หมายถึงมาตรการและกิจกรรมที่ดำเนินการหลังจากที่เกิดโรคหรือภัยขึ้นแล้ว โดยมีวัตถุประสงค์ที่ให้โรคหรือภัยนั้นสงบโดยเร็ว ก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและความเป็นอยู่ (เช่น ความเจ็บป่วย ความพิการ การตาย ความสูญเสียทางสังคม และ ความสูญเสียทางเศรษฐกิจ) น้อยที่สุด และไม่เกิดขึ้นอีก หรือหากเกิดขึ้นก็สามารถรับมือได้อย่างมีประสิทธิผล (effectively) และมีประสิทธิภาพ (efficiently) มากขึ้น

ดู ยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบป้องกันควบคุมโรคและภัยสุขภาพแห่งชาติ ภายใต้แผนพัฒนาสุขภาพแห่งชาติในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 พ.ศ. 2560-2564, กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข, 2559, http://ddccenter.ddc.moph.go.th/infoc/download/201903091552109986_BookletP12.pdf

& มาตรการป้องกันและควบคุมโรค สำหรับกิจการดูแลผู้สูงอายุและผู้มีภาวะพึ่งพิงในการป้องกันและควบคุมการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19), กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข, http://hsscovid.com/files/Covid19elderlyVer6.pdf

[6]อัจฉริยะ หอบหลักฐานเอาผิดผู้ว่าฯกาญจนบุรี ปมปล่อยปละ-ลอบนำเข้าต่างด้าว, ไทยรัฐออนไลน์, 4 มกราคม 2564, https://www.thairath.co.th/news/crime/2006204

& ให้จริงนายกฯสั่งตั้งคณะกรรมการกวาดล้างบ่อน-ขบวนการค้าแรงงานเถื่อน, ไทยโพสต์, 6 มกราคม 2564, https://www.thaipost.net/main/detail/88885  

& นายกฯสั่งตั้งทีมสาง'บ่อนพนัน' บูรณาการ'4หน่วย'สอบต้นตอแพร่โควิด ขยายผลเส้นทางการเงิน-นายทุน, กรุงเทพธุรกิจ,  6 มกราคม 2564, http://www.prbangkok.com/th/bmanews/view/MDY1cDBzNnM0NHIyb3Ezc3E2NnEyNDk0cDRyOTQzcjQ4OTExMg

[7]ประยุกต์แนวคิดของการประเมินคุณธรรมการดำเนินงาน (Integrity Assessment) ขององค์การต่างประเทศที่ประสบความสำเร็จ คือ องค์การต่อต้านการทุจริต (Anti-Corruption and Civil Rights Commission: ACRC) จากสาธารณรัฐเกาหลี บูรณาการเข้ากับดัชนีวัดความโปร่งใสของสำนักงาน ป.ป.ช. การประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (Integrity & Transparency Assessment)  แบ่งเป็น 5 ดัชนี คือ (1) ความโปร่งใส (Transparency)(2) ความพร้อมรับผิด (Accountability) (3) คุณธรรมการให้บริการของหน่วยงาน (Integrity in Service Delivery) (4) วัฒนธรรมคุณธรรมในองค์กร (Integrity Culture) (5) คุณธรรมการทำงานในหน่วยงาน (Work Integrity)

ดู แนวคิดการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (Integrity & Transparency Assessment : ITA), https://www.krisdika.go.th/data/planning/ITA.pdf

[8]โควิด-19 จาก “ตลาด บ่อน ผับ” สู่การกระจาย 56 จังหวัด, กรุงเทพธุรกิจ, 6 มกราคม 2564, https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/915731

& 18 วัน โควิดไทยระบาดแล้ว 56 จว., สยามรัฐออนไลน์, 5 มกราคม 2564, https://siamrath.co.th/n/209532

& ไทยพบโควิดกลายพันธุ์สายพันธุ์อังกฤษ, สยามรัฐออนไลน์, 4 มกราคม 2564, https://siamrath.co.th/n/209158

[9]ในที่นี้หมายรวมถึงแรงงานต่างด้าว (ข้ามชาติ) เถื่อนที่ผิดกฎหมาย หรือไม่ได้ลงทะเบียนจ้างงานด้วย ซึ่งเมื่อสัดส่วนประชากรและพื้นที่ถือได้ว่าจังหวัดสมุทรสาครมีจำนวนแรงงานต่างด้าวสูงสุด ตามทะเบียนราว 2.29-2.6 แสนคน กล่าวคือมีจำนวนถึงครึ่งหนึ่งของประชากรไทยที่มีทั้งจังหวัดจำนวน 5.6-5.8 แสนคน (ประชากรจังหวัดสมุทรสาคร ณ 31 ธันวาคม 2562 จำนวน 584,703 คน)

ข้อมูลกรมการจัดหางาน (กกจ.) เมษายน 2563 แรงงานต่างด้าวรับอนุญาต 2.8 ล้านคน อยู่ใน กทม. (7.2 แสนคน) ปริมณฑล (9.5 แสนคน) จังหวัดสูงสุด คือ 1.กรุงเทพมหานคร (7.22 แสนคน) 2.สมุทรสาคร (2.45 แสนคน) 3.นครปฐม (2.19 แสนคน) 4.ปทุมธานี (1.67 แสนคน) 5.นนทบุรี (1.66 แสนคน) 6.สมุทรปราการ (1.53 แสนคน)

ข้อมูล กกจ.ตุลาคม 2563แรงงานต่างด้าวรับอนุญาต 2.48 ล้าน (ลดลง 5 แสน) จังหวัดสูงสุด คือ 1.กทม. (4.98 แสนคน) 2.สมุทรสาคร (2.29 แสนคน) 3.สมุทรปราการ (1.50 แสนคน) 4.นครปฐม (0.89 แสนคน)

ข้อมูล กกจ.ธันวาคม 2563แรงงานต่างด้าวรับอนุญาต 2.5 ล้าน จังหวัดสูงสุด คือ 1.กทม. (5.85 แสนคน) 2.สมุทรสาคร (2.33 แสนคน) 3.สมุทรปราการ (1.57 แสนคน)

ข้อมูล กกจ. ธันวาคม 2562 มีแรงงานต่างด้าว 3,017,416 คน

โดยมีข้อสังเกตว่า ข้อมูลตัวเลขแรงงานต่างด้าวของแต่ละหน่วยงานไม่ตรงกัน ส่วนหนึ่งเนื่องจากการนำเข้าแรงงานต่างด้าว มีหลายรูปแบบการอนุญาต และการทำความตกลง

ดู เปิดตัวเลขแรงงานต่างด้าว 2.5 ล้าน อยู่ที่ไหน ทำอะไร โฟกัส กทม. - สมุทรปราการ พื้นที่ไข่แดงติด 'สมุทรสาคร', PPTV Online, 21 ธันวาคม 2563, https://www.pptvhd36.com/news/เศรษฐกิจ/138715   

& ประเทศไทยมี แรงงานต่างด้าว เข้ามาทำงานมากเท่าไร, Marketeer Online, 21 ธันวาคม 2563, https://marketeeronline.co/archives/202730

& เปิด 10 จังหวัดมี “แรงงานต่างด้าว” อยู่ทำงานมากที่สุด, ผู้จัดการออนไลน์, 28 เมษายน 2563, https://mgronline.com/qol/detail/9630000044490

& ต่างด้าว 3 ล้านคนกู่ไม่กลับ! ตีทะเบียนแค่ 7.7แสน หวั่นธุรกิจป่วน-เปิดปมแรงงานไม่ขึ้นทะเบียน, ข่าวประชาชาติ, 10 สิงหาคม 2560, https://www.prachachat.net/economy/news-19829

[10]สธ.สมุทรสาคร แจงตัวเลขผู้ติดโควิดจากโรงงานอาหารทะเลกระป๋องกว่า 900 ราย ว่อนโซเชียล เป็นตัวเลขเมื่อ 2 วันก่อนที่รายงานไปแล้ว, สยามรัฐออนไลน์, 6 มกราคม 2564, https://siamrath.co.th/n/209777

[11]“ศบค.” ไฟเขียวต่ออายุพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 45 วัน สวนประกาศกทม.ขยายเวลานั่งกินในร้านถึง 3 ทุ่ม หลังผู้ประกอบการโวย, สยามรัฐออนไลน์, 4 มกราคม 2564, https://siamrath.co.th/n/209374

& ประกาศ พรก.ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 เริ่มใช้เวลา 6.00 น. วันที่ 4 มกราคม 2564 ใช้กับจังหวัดที่เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด 28 จังหวัด ดู ราชกิจจาฯ เผยแพร่ข้อกำหนด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฉบับ 16 แจง 8 มาตรการคุมโควิด, สยามรัฐออนไลน์, 4 มกราคม 2564, https://siamrath.co.th/n/209205

& “ครม.” เห็นชอบขยายเวลา “พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ” ถึง 28 กุมภาพันธ์ นี้ เพื่อประสิทธิภาพในการสกัดโควิด-19 ระลอกใหม่, สยามรัฐออนไลน์, 5 มกราคม 2564, https://siamrath.co.th/n/209553

& “นายกฯ”ลงนามคำสั่งยกระดับ “ ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด สมุทรสาคร “ พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ฝ่าฝืนมีโทษหนัก, สยามรัฐออนไลน์, 6 มกราคม 2564, https://siamrath.co.th/n/209882

& 5 จังหวัด สมุทรสาคร จันทบุรี ระยอง ตราด ชลบุรี “พื้นที่ควบคุมสูงสุด และเข้มงวด” ดู ราชกิจจาฯ เผยแพร่ข้อกำหนด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฉบับ 17 ยก 5 จังหวัด พื้นที่ควบคุมสูงสุด-เข้มงวด, กรุงเทพธุรกิจ, 6 มกราคม 2564, https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/915891

& ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 17), ประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม 138 ตอนพิเศษ 4 ง วันที่ 6 มกราคม 2564 หน้า 1-3, http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2564/E/004/T_0001.PDF 

& บังคับใช้วันนี้ ยกระดับคุมเข้มสูงสุด 5 จังหวัด ฝ่าฝืนปรับ 4 หมื่น-จำคุก 2 ปี, สยามรัฐออนไลน์, 7 มกราคม 2563, https://siamrath.co.th/n/209982

[12]มีเรียกเพิ่มพื้นที่ “สีม่วง” เป็นโซนที่ 5 หมายถึง “พื้นที่ควบคุมสูงสุด และเข้มงวด” ใน 5 จังหวัด

ดู เช็คพื้นที่ 4 ระดับ แบ่งโซนจังหวัด ควบคุมโควิดระบาด ย้ำไม่ล็อกดาวน์ประเทศไทย, กรุงเทพธุรกิจ, 24 ธันวาคม 2563, https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/913942 

[13]คำว่า “ล็อกดาวน์” (Lock down) หรือ “ปิดเมือง” หรือ “การปิดประเทศ” เป็นคำฮิตในเกือบทุกประเทศ เป็นมาตรการสร้างความปลอดภัยให้กับส่วนรวม ในฐานะมาตรการสกัดการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) คำนี้เริ่มรู้จักกันทั่วโลกเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2563 เมื่อรัฐบาลจีนสั่งปิดเมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย์ ต้นตอการแพร่ระบาด แต่รัฐบาลหลายประเทศยังมีแนวทางล็อกดาวน์แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของสถานการณ์ สรุป ล็อกดาวน์ไม่มีนิยามแน่ชัดขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละประเทศ ดู 'ล็อกดาวน์' คืออะไร ทำไมทุกประเทศต้องใช้วิธีนี้สู้โควิด-19 ?, กรุงเทพธุรกิจ, 21 มีนาคม 2563, https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/871860

[14]Herd Immunityหรือ “ภูมิคุ้มกันหมู่”ตามนิยามของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติของสหรัฐฯ (Centers for Disease Control and Prevention: CDC) คำว่า Herd immunity หรือที่รู้จักกันอีกชื่อ คือ Community Immunity หมายถึง สถานการณ์ที่สัดส่วนของประชากรที่มีภูมิคุ้มกัน ไม่ว่าจะเป็นภูมิคุ้มกันที่ร่างกายผลิตขึ้นมาเองตามธรรมชาติ หรือได้รับวัคซีนป้องกันโรค แต่ก็มีจำนวนมากพอ จนเชื้อไวรัสไม่สามารถแพร่กระจาย หรือถูกส่งผ่านไปยังคนอื่นๆ ได้ พูดง่ายๆ ก็คือ เมื่อคนในพื้นที่นั้นๆ ได้รับวัคซีน หรือได้รับเชื้อแล้วร่างกายมีภูมิคุ้มกันจนไม่ป่วยอีก พอคนติดเชื้อได้น้อย เชื้อโรคก็แพร่ไปสู่คนอื่นได้ยากไปด้วย

ความรู้เรื่องวัคซีนของมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดระบุว่า ภูมิคุ้มกันหมู่คือภาวะที่ประชากรส่วนมากของสังคมมีภูมิคุ้มกันโรค โดยคิดเป็นสัดส่วนจำนวนคนที่สูงมากพอ จนช่วยป้องกันการแพร่ระบาดของโรคไม่ให้เกิดขึ้นอีกในอนาคตได้ ไม่ว่าภูมิคุ้มกันหมู่นั้นจะเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติเมื่อหายจากโรค หรือเกิดจากการรณรงค์ฉีดวัคซีนครั้งใหญ่ก็ตาม

ดู Herd Immunity คืออะไร ใช้ได้จริงไหม? ว่าด้วยวิทยาศาสตร์ของภูมิคุ้มกันและโรคระบาด, โดย Jiratchaya Chaichumkhun, The Matter, 18 มีนาคม 2563,  https://thematter.co/science-tech/health/herd-immunity/104664

& ดู ไวรัสโคโรนา : “ภูมิคุ้มกันหมู่” คืออะไร เหตุใดนักวิทยาศาสตร์พากันคัดค้าน ไม่ให้ใช้ต้านโควิด-19, BBC ไทย, 16 มีนาคม 2563, https://www.bbc.com/thai/51911994

[15]ในทาง “ระบาดวิทยา” (Epidemiology)การแพร่กระจายของโรคติดเชื้อมี 4 ระดับ คือ

(1) Endemic (โรคประจำถิ่น) อ่านว่า เอนเดมมิค คือ โรคที่เกิดขึ้นประจำในพื้นที่นั้น กล่าวคือมีอัตราป่วยคงที่และสามารถคาดการณ์ได้ โดยขอบเขตของพื้นที่อาจเป็นเมือง ประเทศ หรือใหญ่กว่านั้นอย่างกลุ่มประเทศ หรือทวีป เช่น ไข้เลือดออกในประเทศไทย โรคมาลาเรียในทวีปแอฟริกา

(2) Outbreak (การระบาด) อ่านว่า เอาท์เบรค คือ เหตุการณ์ที่มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นผิดปกติ ทั้งในกรณีโรคประจำถิ่น แต่มีจำนวนผู้ป่วยมากกว่าที่คาดการณ์ หรือในกรณีโรคอุบัติใหม่ ถึงแม้จะมีผู้ป่วยเพียงรายเดียว เช่น การระบาดของไข้เลือดออกในปี 2562 การระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ในเมืองอู่ฮั่น

(3) Epidemic (โรคระบาด) อ่านว่า เอพพิเดมมิค คือ การระบาดที่แพร่กระจายกว้างขึ้นในเชิงภูมิศาสตร์ เช่น โรคอีโบลาที่ระบาดในทวีปแอฟริกาตะวันตกในปีพ.ศ. 2557-2559, การระบาดของโควิด-19 ในประเทศจีน และระบาดต่อมายังประเทศอื่นในทวีปเอเชีย

(4) Pandemic (การระบาดใหญ่/ทั่วโลก) อ่านว่า แพนเดมมิค คือ โรคระบาดที่เกิดการระบาดทั่วโลก เช่น การระบาดของไข้หวัดใหญ่ที่ย้อนกลับไปตั้งแต่ปี พ.ศ. 2461 (Spanish flu), การระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 และล่าสุดการระบาดของโควิด-19 ในอย่างน้อย 122 ประเทศทั่วโลก

ส่วนการสิ้นสุดการระบาดใหญ่ของบางโรค เช่น ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ได้กลายเป็น “โรคประจำถิ่น” หรือไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลของทุกประเทศทั่วโลกจนถึงปัจจุบัน

ดู Pandemic Endemic Epidemic และ Outbreak ระบาดยังไง? ต่างกันยังไงนะ? ในนิตยสารวาไรตี้เพื่อสุขภาพ ฉบับที่ 38 เดือนตุลาคม 2563, คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล, https://www.rama.mahidol.ac.th/atrama/issue038/vocab-rama  

& Pandemic คืออะไร โดย ชนาธิป ไชยเหล็ก, The Standard, 12 มีนาคม 2563, https://thestandard.co/what-is-pandemic/

[16]มาตรา 3ในพระราชบัญญัตินี้ “วัคซีน” หมายความว่า ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากสิ่งมีชีวิตหรือที่ได้จากการสังเคราะห์หรือกระบวนการอื่นใด ที่นำมาใช้กระตุ้นหรือสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค เพื่อป้องกัน ควบคุม รักษา หรือลดความรุนแรงของโรค ทั้งในคนและสัตว์

[17]โควิด-19: สหราชอาณาจักรอนุมัติวัคซีนของอ็อกซ์ฟอร์ด-แอสตราเซเนกา ซึ่งเป็นตัวเดียวกับที่ไทยสั่งซื้อ, BBC ไทย, 30 ธันวาคม 2563, https://www.bbc.com/thai/international-55484001

& พร้อมแล้ว!วัคซีนโควิด-19 เปิดลงทะเบียนปลาย ม.ค.นี้, สยามรัฐออนไลน์, 8 มกราคม 2564, https://siamrath.co.th/n/210462

& นายกเล็กนครนนท์ พร้อมจัดงบ 260 ล้านบาทซื้อวัคซีนต้านโควิด-19 ฉีดให้ประชาชนในท้องถิ่น, THE STANDARD, 8 มกราคม 2564, https://thestandard.co/nonthaburi-mayor-ready-to-buy-coronavirus-vaccine-for-people/

[18]ศูนย์ปฏิบัติการนายกรัฐมนตรี (PMOC) แถลงเมื่อ 5 มกราคม 2564 การเตรียมพร้อมฉีดวัคซีนโควิด-19 ฟรีสำหรับคนไทยทุกคน สรุป (1) เดือนกุมภาพันธ์ 2564 จำนวน 2 แสนโดส สำหรับประชาชน 1 แสนคน (2) เดือนมีนาคม 2564 จำนวน 8 แสนโดส สำหรับประชาชน 4 แสนคน (3) เดือนเมษายน 2564 จำนวน 1 ล้านโดส สำหรับประชาชน 5 แสนคน (4) เดือนพฤษภาคม 2564 จำนวน 26 ล้านโดส สำหรับประชาชน 13 ล้านคน และจัดซื้อเพิ่ม จำนวน 35 ล้านโดส รวมเป้าหมายทั้งสิ้น 70 ล้านโดส ลำดับความเร่งด่วน ได้แก่ บุคลากรทางการแพทย์ อสม.และ กลุ่มเสี่ยง

ดู ศูนย์ข้อมูลโควิด-19 แจง 6 ข้อเท็จจริง ที่รัฐบาลต้องจัดสรรการเข้าถึงวัคซีนอย่างทั่วถึง, ข่าวมติชน, 6 มกราคม 2564, https://www.matichon.co.th/news-monitor/news_2515278

& “หมอยง” เทียบข้อดี-ข้อเสียวัคซีนโควิดโลกแต่ละชนิด, สยามรัฐออนไลน์, 6 มกราคม 2564, https://siamrath.co.th/n/209813

& “นายกฯ” โพสต์ย้ำรัฐบาลมีแผนฉีดวัคซีนโควิด-19 ฟรีในปี 64 ขอทุกคนใช้ชีวิตอย่าประมาทกับเชื้อโรค, สยามรัฐออนไลน์, 6 มกราคม 2564, https://siamrath.co.th/n/209847

[19]ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ กล่าว รัฐบาลมีวงเงินจาก 2 ส่วนรวม 6.11 แสนล้านบาท ได้แก่ (1) เงินกู้ตาม พ.ร.ก.วงเงิน 1 ล้านล้านบาท ขณะนี้เหลือวงเงิน 4.71 แสนล้านบาท (2) งบกลาง 2564 วงเงิน 1.4 แสนล้านบาท เพิ่งใช้ไป 1 พันล้านบาทเศษ

ดู 'รัฐบาล' ตุนเงิน 6 แสนล้านสู้โควิด สำนักงบฯ มั่นใจพอสู้ระบาดรอบใหม่, กรุงเทพธุรกิจ, 5 มกราคม 2564, https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/915512   

[20]เกษตรกรกว่า 7 ล้านคนมีเฮ เกษตรฯ เตรียมจ่ายเยียวยาจากผลกระทบโควิด-19, สยามรัฐออนไลน์, 6 มกราคม 2564, https://siamrath.co.th/n/209811

&คลังชง”เราไม่ทิ้งกัน”ล็อตใหม่, สยามรัฐออนไลน์, 7 มกราคม 2563, https://siamrath.co.th/n/209897     

[21]แรงงานข้ามชาติสามสัญชาติ (เมียนมา ลาว กัมพูชา) ที่ทั้งจดทะเบียน และไม่ผ่านการจดทะเบียน ประมาณว่ามีไม่น้อยกว่า 2 – 3 ล้านคนทั่วประเทศ (ข้อมูลปี 2555) ได้เข้ามาทำงานในภาคการผลิตที่คนไทยไม่ทำ ไม่ต้องใช้ฝีมือแรงงาน ทั้งยังเป็นงานที่เสี่ยงอันตราย ส่งผลต่อสุขภาพและความปลอดภัย ที่เรียกว่างานประเภท 3 D คือ งานยากลำบาก (Difficult) งานสกปรก (Dirty) งานอันตราย(Dangerous)  เช่น กิจการประมงและต่อเนื่อง ก่อสร้าง รับใช้ในบ้าน และกิจการทำงานภาคเกษตร เป็นต้น เป็นงานเสี่ยงที่คนไทยไม่นิยมทำกัน หรือ ในทางกลับกันหากเป็นประเทศเกาหลีใต้ ที่คนไทยไปขายแรงงาน ก็จะเป็นงานที่คนเกาหลีไม่ชอบทำกัน เป็นต้น

[22]ศูนย์วิจัยกสิกรประเมินโควิด-19 รอบใหม่ สู่การล็อกดาวน์สมุทรสาคร ส่อทำเศรษฐกิจเสียหาย 4.5 หมื่นล้าน, the standard, 23 ธันวาคม 2563,  https://thestandard.co/lock-down-samut-sakhon-implies-damage-the-economy/

[23]พ.ต.อ.อีกคน พันส่วยขนแรงงาน ผบก.กาญจนบุรี รอสอบ-จ่อฟัน, ข่าวไทยรัฐ, 27 ธันวาคม 2563, https://www.thairath.co.th/news/local/central/2002319. & รวบยกแก๊ง ตำรวจเก๊อ้างเป็นพ.ต.ท. รีดไถเงินแรงงานต่างด้าว แลกไม่ดำเนินคดี, ข่าวสด, 4 ธันวาคม 2563, https://www.khaosod.co.th/around-thailand/news_5461685

[24]แรงงานย้ายถิ่น (migrant workers)คือบุคคลที่ออกจากบ้านเพื่อหางานทำนอกบ้านเกิดหรือ นอกประเทศเกิดของตน บุคคลซึ่งย้ายถิ่นฐานเพื่อหางานทำภายในประเทศของตน ถือเป็นแรงงานย้ายถิ่น “ภายในประเทศ” (domestic) หรือ แรงงานย้ายถิ่น “ภายใน” (internal) บุคคลซึ่งย้ายถิ่นฐานเพื่อหางานทำในต่างประเทศมักถูกเรียกว่า “แรงงานต่างด้าว” หรือ “แรงงานข้ามชาติ” ณ ที่นี้ จะใช้คำว่า “แรงงานย้ายถิ่น” (migrant workers) เมื่อกล่าวถึงแรงงานที่เดินทางออกจากบ้านไปทำงานในถิ่นอื่น ไม่ว่าจะเป็นภายในหรือนอกประเทศ และ “แรงงานข้ามชาติ” (international migrant workers) เมื่อกล่าวถึง แรงงานย้ายถิ่นที่ไปทำงานในต่างประเทศ

ดู มาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิแรงงานข้ามชาติ : แนวทางสำหรับผู้กำหนดนโยบายและผู้ปฏิบัติในเอเชียและแปซิฟิก, สำนักงานแรงงานระหว่างประเทศประจำกลุ่มเอเซียตะวันออก, สำนักงานแรงงานระหว่างประเทศ

กรุงเทพฯ, องค์การแรงงานระหว่างประเทศ พ.ศ. 2551, http://www.ilo.org/wcmsp5/groups/public/@asia/@ro-bangkok/documents/publication/wcms_bk_pb_187_th.pdf

[25]“การฟอกเงิน” (Money Laundering) คือ การเปลี่ยนแปลงเงิน หรือทรัพย์สินที่ ได้มาจากากรกระทำความผิดมูลฐานให้กลายเป็นเงิน หรือทรัพย์สินที่ดูเสมือนหนึ่งว่าได้มาโดย ชอบด้วยกฎหมาย หรือพิสูจน์ไม่ได้ว่าได้มาโดยไม่ชอบ ซึ่งสามารถทำได้หลายวิธี เช่น การนำ เงินออกไปนอกประเทศ การฝากเงินกับสถาบันการเงิน การตั้งบริษัท หรือกิจการขึ้นบังหน้า การซื้อขายที่ดิน การแลกเปลี่ยนเงินตราสกุลอื่น การให้ผู้อื่นถือเงิน หรือทรัพย์สินไว้แทน เป็นที่มาของพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ที่สืบเนื่องจากอนุสัญญาเวียนนา ค.ศ. 1988 ได้กำหนดหลักเกณฑ์ให้ประเทศที่ประสงค์จะเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติ ว่าด้วยการต่อต้านการลักลอบค้ายาเสพติด และวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ค.ศ. 1988 ต้องมีมาตรการต่าง ๆ ทางกฎหมายภายในประเทศนั้นรองรับ

[26]ชำแหละ 8 วิธี “ฟอกเงินร้อน”, โพสต์ทูเดย์, 25 มกราคม 2558,  https://www.posttoday.com/politic/report/343269

หมายเลขบันทึก: 688212เขียนเมื่อ 8 มกราคม 2021 22:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2021 14:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท