การพัฒนาไปสู่มหาวิทยาลัยในกำกับรัฐบาล แนวคิดและประสบการณ์ของพระจอมเกล้าธนบุรี ๙


การศึกษาอุดมศึกษาให้ผลตอบแทนส่วนบุคคล (private returns) สูงกว่าผลตอบแทนสาธารณะ(public returns) แต่การศึกษาอุดมศึกษาก็ให้ประโยชน์แก่สาธารณะหรือสังคมในด้านการสร้างคนที่มีความรู้ทางวิชาการเป็นพลังของสังคม สร้างองค์ความรู้จากการวิจัย ตลอดจนเป็นกลไกชี้นำสังคม

อวิชชาที่ต้องปรับเพื่อให้เกิดวิชชา
รัฐปล่อยให้มหาวิทยาลัยในกำกับรัฐบาลเลี้ยงตัวเอง

          มักพูดกันเสมอว่ารัฐจะปล่อยให้มหาวิทยาลัยในกำกับเลี้ยงตัวเอง ทั้งนี้บางส่วนเข้าใจว่าการเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับเหมือนกับการเป็นมหาวิทยาลัยเอกชน พูดกันไปว่ามหาวิทยาลัยในกำกับจะบริหารเป็นธุรกิจ  นักศึกษาจะต้องเสียค่าเล่าเรียนเพิ่ม วิชาที่ไม่มีผู้เรียนจะต้องปิดลงและปลดอาจารย์ออก

          ในความจริง มหาวิทยาลัยในกำกับรัฐบาลยังเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐ(public university) การเปลี่ยนสภาพเป็นการลดความเป็นราชการลง(debureaucratisation) หรือเปลี่ยนให้เป็นองค์กรรัฐที่บริหารได้เบ็ดเสร็จภายใน (public incorporation) ไม่ใช่การเปลี่ยนสภาพเป็นของเอกชน (privatization)

          โดยนัยยะแห่งการเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐ มหาวิทยาลัยในกำกับรัฐบาลจึงยังได้รับการสนับสนุนงบประมาณแผ่นดิน (ควบคู่ไปกับการตอบสนองนโยบายของรัฐและการตรวจสอบโดยรัฐ) การที่มหาวิทยาลัยในกำกับจะได้รับการสนับสนุนจากรัฐมากน้อยเพียงใด ขึ้นกับความสามารถของรัฐในการสนับสนุนงบประมาณอุดมศึกษา (ซึ่งผูกกับสภาพเศรษฐกิจและพันธกิจสาธารณะอื่นๆ ของรัฐ) รวมทั้งขึ้นกับว่าสาธารณะ (public )เห็นว่ามหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐทำประโยชน์ให้กับเด็กไทยและให้กับสังคมได้มากน้อยเพียงใด


           การเปิดหรือการปิดหลักสูตร การรับหรือเลิกจ้างอาจารย์เจ้าหน้าที่  ถ้าจะเกิดขึ้นไม่ใช่เพราะเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับรัฐบาล หลักสูตรจะต้องปรับตัวตามความต้องการและจำเป็นของสังคม มหาวิทยาลัยอาจไม่เปิดหลักสูตรที่มีความต้องการของตลาดเสมอไป ทั้งนี้มีทั้งตลาดและความต้องการส่วนบุคคล (private market/demand) และความต้องการส่วนสาธารณะ (public demand) ความต้องการสาธารณะขึ้นกับมหาวิทยาลัยมองเห็นคุณค่า (value)ได้ต่างจากมูลค่า(price)หรือไม่ สังคมไทยสับสนเพราะแยกกันไม่ออกระหว่าง คุณค่าและมูลค่า มหาวิทยาลัยคงจะต้องถามและตอบตัวเองว่าคุณค่าที่มหาวิทยาลัยมีนั้นเป็นอย่างไร มหาวิทยาลัยเห็นความสำคัญของสุนทรียะ ของหลักปรัชญาและจริยธรรม ของวัฒนธรรมประเพณี ของรากเหง้าความเป็นไทย ของสันติภาพ ของความใฝ่รู้ ของนวัตกรรม มากน้อยเพียงใด สิ่งเหล่านี้อาจแปรออกมาเป็นมูลค่าเป็นตัวเงินไม่ได้

นักศึกษาต้องเสียค่าเล่าเรียนแพงในมหาวิทยาลัยในกำกับรัฐบาล

          ถ้าเราดูข้อเท็จจริงจะพบว่ามหาวิทยาลัยของรัฐได้รับเงินงบประมาณจากรัฐไม่เพียงพอ ในช่วงสิบปีที่ผ่านมามหาวิทยาลัยของรัฐเปิดหลักสูตรที่เรียกกันทั่วไปว่าหลักสูตรพิเศษซึ่งเก็บค่าบำรุงและค่าธรรมเนียมสูงกว่าหลักสูตรปกติหลายเท่า เพื่อนำรายได้มาสนับสนุนการดำเนินงานปรกติ  ดังนั้นแม้มหาวิทยาลัยของรัฐยังไม่ออกนอกระบบราชการ ก็ยังเก็บค่าบำรุงค่าธรรมเนียมที่แพงกว่าปกติในหลายหลักสูตร

          ในเบื้องต้นมหาวิทยาลัยของรัฐเปิดหลักสูตรพิเศษสำหรับผู้ที่มีงานทำแล้ว ให้เหตุผลว่าเก็บค่าเล่าเรียนสูงเพราะผู้เรียนมีงานทำ มีรายได้  แล้วเปิดในวันเสาร์อาทิตย์โดยให้เหตุผลว่าให้โอกาสแก่ผู้กำลังทำงานสามารถเรียนได้  เปิดหลักสูตรต่างจังหวัดห่างจากที่ตั้งของมหาวิทยาลัยแม่โดยให้เหตุผลว่าให้โอกาสในชนบทเพิ่มขึ้น จนถึงปัจจุบันมหาวิทยาลัยของรัฐเปิดหลักสูตรพิเศษทั้งกับนักเรียนที่จบมัธยมศึกษาและเปิดในเวลาปกติ 

          โดยนัยยะของพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติพ.ศ.2542 รัฐจะให้ความสำคัญแก่พลเมืองส่วนใหญ่มากขึ้น การศึกษาภาคบังคับ 9 ปีจะจัดให้เปล่า  การศึกษาพื้นฐาน 12 ปีแม้จะไม่บังคับก็จะจัดให้เปล่า หมายความว่ารัฐจะต้องใช้งบประมาณเพื่อการศึกษาระดับที่ต่ำกว่าอุดมศึกษาเพิ่มขึ้น นอกจากนั้น ในส่วนของการปฏิรูปการศึกษา รัฐจะต้องลงทุนโครงสร้างพื้นฐานการศึกษาเช่นระบบไอทีเพื่อการศึกษา รวมทั้งมีการเพิ่มเงินเดือนครูที่ผ่านการประเมินว่ามีคุณภาพ

          จากผลของรัฐธรรมนูญพ.ศ.2540 รัฐจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในการ เลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา(ซึ่งเดิมไม่มีการเลือกตั้ง) มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นสำหรับองค์อิสระ 7-8 องค์กรที่เกิดตามรัฐธรรมนูญ

          ผู้ที่มีเหตุผลจะตระหนักว่าจากภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นซึ่งเป็นผลของพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ การปฏิรูปการศึกษา และรัฐธรรมนูญ  รัฐจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นมากมาย ถ้าเศรษฐกิจของประเทศไม่ดีขึ้น รัฐจะเก็บภาษีอากรไม่ได้เพิ่มขึ้น งบประมาณแผ่นดินจะเพิ่มขึ้นไม่ได้  ในเมื่อไม่มีรายได้เพิ่มขึ้น มีค่าใช้จ่ายจากพันธกิจใหม่เพิ่มขึ้น ต้องชดใช้หนี้เงินกู้ต่างประเทศ งบประมาณเพื่อการศึกษาคงจะเพิ่มขึ้นได้ยาก งบประมาณอุดมศึกษาก็คงจะเพิ่มขึ้นได้ยากเช่นกัน สาธารณะและรัฐคงจะให้ความสำคัญแก่การศึกษาเพื่อคนส่วนใหญ่ มากกว่าอุดมศึกษาสำหรับคนจำนวนน้อยกว่า

          ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าอุดมศึกษาจะไม่ได้รับการสนับสนุนต่อไป  แต่งบประมาณส่วนดำเนินการของอุดมศึกษาคงจะเปลี่ยนไปจากการให้เปล่ามาเป็นการให้กู้ยืมเพิ่มขึ้น ทั้งนี้รัฐจะต้องจัดสรรงบประมาณเข้าสู่กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษาให้มากเพียงพอ คนไทยที่มีความสามารถและประสงค์จะเรียนอุดมศึกษา สามารถกู้ยืมจากกองทุนนี้ได้ รัฐคงจะอุดหนุนเฉพาะผู้ด้อยโอกาสและผู้ที่มีความสามารถสูง

          ในส่วนของการพัฒนา งบประมาณของรัฐมีแนวโน้มจะจัดสรรให้ ตามความสามารถทาง วิชาการ(merit) เช่น โครงการวิจัยและพัฒนาที่อาจารย์หรือนักวิชาการจะต้องมีข้อเสนอโครงการต่อหน่วยงานสนับสนุนการวิจัยต่าง ๆนอกจากนั้น มีแนวโน้มของรัฐที่จะจัดสรรงบประมาณลักษณะ mission-oriented เพิ่มขึ้น เช่น การกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก การสนับสนุน SMEs

          การศึกษาผลตอบแทนการศึกษาอุดมศึกษาจากทั่วโลก ได้ข้อสรุปตรงกันว่าการศึกษาอุดมศึกษาให้ผลตอบแทนส่วนบุคคล (private returns) สูงกว่าผลตอบแทนสาธารณะ(public returns) แต่การศึกษาอุดมศึกษาก็ให้ประโยชน์แก่สาธารณะหรือสังคมในด้านการสร้างคนที่มีความรู้ทางวิชาการเป็นพลังของสังคม สร้างองค์ความรู้จากการวิจัย ตลอดจนเป็นกลไกชี้นำสังคม ดังนั้น ทางเศรษฐศาสตร์และสังคมศาสตร์จึงพิจารณาว่าอุดมศึกษามีทั้งส่วนสินค้า/บริการสาธารณะ  และส่วนสินค้า/บริการบุคคล ค่าใช้จ่ายอุดมศึกษาจะต้องมาจากรัฐส่วนหนึ่งและผู้เรียนซึ่งเป็นผู้ได้รับประโยชน์ส่วนหนึ่ง สัดส่วนของการรับภาระจะเป็นเท่าใดขึ้นกับแต่ละสังคมและสภาพเศรษฐกิจของสังคมนั้น


          ถึงเวลาที่อุดมศึกษาไทยจะต้องรู้ความจริง เผชิญกับความจริงนี้

 

ติดตาม มหาวิทยาลัยในกำกับรัฐบาลจะมีการรังแกกันในการประเมิน   ตอนต่อไป....

หมายเลขบันทึก: 68814เขียนเมื่อ 22 ธันวาคม 2006 15:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:49 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท