”คู่บุญ- คู่บวช” บทเพลงสะท้อนสังคมชนบทและวิถีชาวพุทธแบบไทยๆ


เพราะมากฟังแล้วอยากแทนคุณพ่อแม่
เพลงลูกทุ่งยอดฮิต ติดอันดับตามชาร์ทของคลื่นวิทยุต่างๆในปัจจุบัน มักเป็นบทเพลงในแนวรัก ห่วงหา อาทร ความคิดถึง หรือ แนวให้กำลังใจ

แต่ยังมีอีกเพลงหนึ่ง ที่แหวกกระแสดังกล่าว ขึ้นมาเป็นเพลงยอดฮิตได้ กับศิลปินที่ ไม่น่าจะได้รับความนิยมในกระแสเพลงปัจจุบันนี้ได้...

.. แต่ทุกสิ่งเกิดขึ้นได้เสมอ

นั่นคือ ผลงานเพลงชุด  คู่บวช-คู่บุญ ของพ่อไวพจน์ เพชรสุพรรณ กับ ลูกทศพล หิมพานต์
ผลงานเพลงจากค่าย โฟร์เอส...” อีกแล้วครับท่าน” นั่นแหละครับ....

ดูรายชื่อเพลงในอัลบั้ม
-21 มิถุนา
-นาคสั่งสีกา
-ให้ไปบวชเสียก่อน
-ตำนานบวชนาค
-เทอดทูนพระคุณแม่
-เหยียบโลกผิด
-จิ๊กโก๋ลาบวช
-บวชพระเสียก่อน
-กล่อมใจนาค
-เป็นชายต้องบวช
-ทิดใหม่ใจเศร้า
-ปลุกแม่ครัว



การจับคู่มาร้องเพลงของพ่อไวพจน์ ที่มีลีลาการร้องระดับบรมครู
คุณศักดิ์สิริ มีสมสืบ คอลัมนิสต์แห่ง นสพ.คมชัดลึก เขียนไว้ว่า


 ลีลา การร้องของพ่อไวพจน์นั้นเข้าขั้นบรมครูอยู่แล้ว น้ำเสียงทุ้มกังวาน หนักและเน้น ชัดถ้อยชัดคำไม่อ้อมแอ้มไม่คลุมเครือ ฟังกระจะกระจ่างหู ลูกคอลูกเอื้อนก็ลื่นไหลไม่มีติดขัด โดยเฉพาะตอนไล่เสียงลงต่ำ พ่อก็ทำได้ดำดิ่งดื่มด่ำลึกล้ำอย่างเหลือเกินเหลือกิน

 ส่วนทศพล หิมพานต์ นั้นเล่า เขาผ่านประสบการณ์การร้องการแหล่มาตั้งแต่เป็นสามเณร ลูกคอที่พลิ้วไหวสะบัดสะบิ้ง ประกอบกับลูกเล่นแบบ "เปลี่ยนกลองเสียง" ที่ฟังระรื่นหู เปรียบได้กับการพลิ้วไหวของกนกเปลวของลายไทยตู้พระธรรมเลยทีเดียว





แม้ไม่ได้เป็นเพลงโด่งดังฮิตติดอันดับต้นๆ แต่กับเป็นเพลงที่ได้ยินได้ฟังกันหลายๆที่
ติดอันดับเพลงยอดนิยมในชาร์ทต่างๆ ในอันดับกลางๆ   แต่ถือว่า ฮิต  โด่งดังครับ

เนื้อหาของเพลงที่สะท้อนภาพความจริงของสังคมชนบท ทำให้เราเห็นภาพการถือศาสนาของ "ชาวพุทธแบบไทยๆ" คือไม่ถือเคร่งเสียจนเครียด และก็ไม่ลงลึกทั้งปริยัติและปฏิบัติ พุทธศาสนิกชนคนไทยโดยทั่วไป ดูทีจะไม่เอาจริงเอาจังกับการมุ่งสู่ความหลุดพ้น แต่ก็ไม่ปล่อยปละละเลยจนเปิดช่องให้ผีร้ายหรือมารชั่วเข้าครอบงำได้โดยง่าย เราจึงได้ฟังเพลง "งานบวชงานบุญ" ที่ไม่เคร่งเครียด มีเพลง "นาคสั่งสีกา" ที่นาคหนุ่มออดอ้อนอาลัยอาวรณ์แฟนสาว


มี เพลงที่เจ้าภาพกระเซ้าเย้าแหย่แม่ครัว มีเพลงเตือนปรามแขกเหรื่อว่าอย่าเมามายกันมากนัก "ดื่มกันเพียงหอมคอ ใครอย่าก่อเหตุการณ์..." มีเพลงพ่อของนาคโอดครวญถึงความยากจน แต่ก็ยัง "หน้าใหญ่" จึงต้องไป "กู้เงินเขามาไม่อนาทร" เพื่อจะหามหรสพมาฉลองให้เทียมหน้าเทียมตาผู้อื่นเขา

 เนื้อเพลง "นาคสั่งสีกา" ประโยคแรกก็โดนใจเลย

 "โอ้นิ่มน้อง แม่ทองพันชั่ง พี่นาคขอสั่ง วันละกั๊กวันละแบนนะ วันละกั๊กวันละแบน" พ่อไวพจน์เล่นมุกนี้ทั้งเจ้าภาพและนาคฮาตรึม


งานบุญงานบวชนั้น อยู่คู่กับวิถีชีวิตของคนไทยมานานแล้ว เนื้อหาของเพลงชุดนี้ จึงโดนใจคนไทยชนบทอย่างจัง โดยไม่ต้องทุ่มงบโฆษณาเหมือนเพลงอื่นๆทั่วไป


เพราะฟังแล้ว เข้าใจง่าย คุ้นเคยกับเรื่องราวของบทเพลงต่างๆอยู่แล้ว

เพลงชุด คู่บวช-คู่บุญ ย่อมกลายเป็นเพลงประจำงานบุญงานบวชที่ออกมาแทนชุดเก่าๆ ที่จะกระหึ่มก้องทั่วชนบท
ยิ่งเป็นที่รู้จักมากขึ้น ยอดขายคงทำให้ศิลปินและนายทุนยิ้มกว้างพอสมควร


เนื้อหาของบทเพลงนี้  สื่อให้เห็นว่า คนชนบท ไม่ได้เป็นอย่าง โฆษณา “จน เครียด กินเหล้า” ไปทั้งหมดนะครับ


อาจจะจน กินเหล้าบ้าง แต่ไม่ได้เครียดกันทั้งหมด
คนชนบทต่างมีอารมณ์ ขัน สนุกสนานอยู่เสมอ แม้จะจน แต่ทุกคนก็ยังม่วนซื่นโฮแซวได้เสมอ





หมายเลขบันทึก: 68805เขียนเมื่อ 22 ธันวาคม 2006 14:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 17:41 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

หวัดดีคับ คือมีเรื่องรบกวนคับ อยากได้เนื้อเพลง กล่อมใจนาคคับ ผมจะไปร้องในงานทำขวัญนาคคับ ช่วยบอกหน่อยได้ไหม โทรมานะคับ 086 560 1689 ขอบคุณคับผม

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท