ไดอะรีนักเขียน


ไดอะรีนักเขียน

คนชวนคุย : นารา บุตรพลอย

 

         จากประสบการณ์ของคนที่ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงให้กับทีมวิจัยเพื่อท้องถิ่น ประเด็นภาษาและวัฒนธรรมในภาวะวิกฤต พบว่าปัญหาใหญ่ปัญหาหนึ่งของทีมวิจัย คือ เรื่องของการเขียน ไม่ว่าจะเป็นการเขียนบันทึกการประชุม หรือการเขียนเรื่องเพื่อทำหนังสือ และในวันนี้เราจะมาร่วมแลกเปลี่ยนเฉพาะในเรื่องของการเขียนเรื่องเพื่อทำหนังสือ

       ทีมวิจัยหลายคนบอกว่าเรื่องของการเขียนเป็นเรื่องยาก ให้ผมพูดจะง่ายกว่า อันนี้สังเกตว่าถ้าเป็นการพูดคุยหรือซักถามกัน ทุกคนจะพูดได้ตอบได้ แต่เวลาบอกให้เขียนสิ่งที่พูดออกมาเป็นตัวหนังสือ ก็จะหายเงียบไปเลย ซึ่งจริงๆ แล้วก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร เพราะประเทศเราเป็นเมืองร้อน คนไม่ค่อยได้อยู่บ้าน จะออกนอกบ้านตลอด ทำให้ไม่ได้เขียนไม่ได้อ่านหนังสือ เพราะฉะนั้นเราจึงไม่มีวัฒนธรรมการอ่านการเขียน แต่จะเป็นวัฒนธรรมการพูดเสียมากกว่า แต่เมื่อสังคมซับซ้อนขึ้น เมื่อไม่อ่านไม่เขียนหนังสือ ก็จะไม่เข้าใจเรื่องที่ซับซ้อน ดังนั้นเรื่องของการเขียนจึงเป็นสิ่งที่เราจำเป็นต้องสร้างขึ้นมา

แต่การเขียนหนังสือเป็นการแสดงศิลปะวิธีการถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิดออกมา เป็นตัวอักษรอย่างลงตัว ...มีคนบอกไว้ว่าศิลปะการเขียนสอนกันไม่ได้ แต่ก็สามารถเรียนรู้ได้ และเราจะลองมาฟังกันว่าคนที่มีอาชีพเป็นนักเขียน เค้าพูดถึงเรื่องของการเขียนหนังสือนี้ไว้ว่าอย่างไร

        ชอบความคิดของใคร วิธีการเขียนแบบไหน ก็ลองนำไปใช้ แล้วลองปรับลองให้เข้ากับตัวเอง แล้วจะรู้ว่าการเป็นนักเขียนไม่อยากอย่างที่คิด...

ไม่รู้ว่าจะเขียนเรื่องอะไร

จิรภัทร อังศุมาลี นักเขียน

ข้อมูลการเขียนส่วนใหญ่ได้มาจากการอ่าน การเดินทาง สิ่งแวดล้อมรอบตัว และประสบการณ์ชีวิต นอกจากการเป็นคนชอบอ่านแล้ว คนที่คิดจะเขียนหนังสือต้องรู้จริงในสิ่งที่ตัวเองจะเขียน ข้อมูลต้องแน่น การเขียนสิ่งที่ตัวเองรู้ดีที่สุด ใกล้ตัวที่สุด เป็นวิธีง่ายที่สุด เพราะถ้าคุณจะเขียนเรื่องเต้าหู้ คุณก็ต้องรู้ว่าเต้าหู้เป็นยังไง

ภาณุ ตรัยเวช นักเขียน

จะเป็นนักเขียนต้องรักการอ่าน เพราะนอกจากจะช่วยให้เราได้เห็นตัวอย่างผลงานดีๆ แล้ว ยังฝึกตัวเองให้เป็นนักวิจารณ์ สามารถตีค่า ประเมินผลงานตัวเองได้ ซึ่งเป็นทักษะที่มีประโยชน์อย่างมากในการเขียนหนังสือ

ไม่รู้จะเริ่มต้นยังไง

ภาณุมาศ ภูมิถาวร นักเขียน

รักจะเป็นนักเขียนก็ต้องชอบเขียน ลงมือซะ อย่าเป็นแค่นักอยากเขียน มีความขยัน และทำอย่างต่อเนื่อง

ไม่มีอารมณ์ในการเขียน / เขียนไม่ออก

ศักดิ์ชัย ลัคนาวิเชียร นักเขียน

แง่มุมความคิดส่วนใหญ่ได้มาจากเวลาอยู่เงียบๆ ในที่สงบ ทำให้เราได้ใช้ความคิด เวลาเดินทางไปตามที่ต่างๆ ได้พบเจอบางอย่างที่หยิบจับมาเขียนได้ เวลาอยู่กับเพื่อนๆ นั่งจิบชาหรือร่ำสุราสนทนาพูดคุย ซึ่งอาจจะมีคำพูดดีๆ เกิดขึ้น เราก็จดไว้แล้วนำมาดีไซน์ความคิดเรื่องราว

ปริทรรศ หุตางกูร นักเขียน

ถ้าเขียนไม่ออก จะแก้ปัญหาด้วยการเบรนสตอร์ม” (Brainstorm) เรียกเพื่อนๆ มากินเหล้าแล้วคุยกัน ถามความคิดเห็นของเพื่อนๆ เกี่ยวกับเรื่องนั้นๆ ซึ่งทำให้เราเกิดมุมมองใหม่ๆ ขึ้นมาได้

เขียนไม่จบสักที

ประชาคม ลุนาชัย นักเขียน

อยากเป็นนักเขียนต้องมีใจรักจริง ชอบเรียนรู้ มีความพยายาม แรกๆ อาจล้มเหลว แต่ช่างไม้ก็ไม่ได้เป็นกันภายในชั่วโมงสองชั่วโมงนะครับ

ศิริวร แก้วกาญจน์ นักเขียน

ผมรู้ว่าตัวเองไม่ใช่อัจฉริยะ ผมเป็นคนโง่ๆที่พยายามศึกษาหาความรู้เท่านั้นเอง พอเขียนงานจึงต้องเกลาหลายรอบ บางทียิ่งเกลายิ่งไม่เข้าท่า แต่เราต้องขัดเกลา

เหล่านี้เป็นประสบการณ์ของนักเขียนในปัจจุบัน ซึ่งจะช่วยตอบปัญหาที่เกิดขึ้นกับหลายคนที่ว่าไม่รู้จะเขียนเรื่องอะไรดี ไม่รู้จะเริ่มต้นเขียนยังไง ไม่มีอารมณ์เขียน เขียนแล้วไม่จบสักที สำหรับตนเองอยากจะขอสรุปสั้นๆ ว่าการเป็นนักเขียนที่ดีต้อง

1.       รักการอ่าน เรื่องนี้สำคัญมาก เพราะการอ่านจะเป็นข้อมูลที่ดีสำหรับการเขียน

2.       ต้องเป็นนักเขียน ไม่ใช่แค่นักอยากเขียน อยากกลัวจนไม่กล้าลงมือเขียน

3.       เมื่อเขียนแล้ว ก็อย่ากลัวว่างานของเราจะออกมาไม่ดี เพราะงานที่ดีไม่ได้ทำสำเร็จเพียงแค่ชั่วคืน

          ตอนนี้เรามาคุยกันต่อเรื่องของการเขียนสำหรับเด็ก กระบวนการการผลิตหนังสือเด็กทั้งหมด ได้แก่ เขียน วาดภาพ บรรณาธิการ จัดพิมพ์ จัดจำหน่าย และนำหนังสือสู่เด็ก เราอย่าคิดว่าเรื่องการเขียนหนังสือสำหรับเด็กเป็นเรื่องจิ๊บจ๊อย มันต้องมีสิ่งที่เด็กชอบ มันต้องไม่มีสิ่งที่เด็กไม่ชอบ แล้วมันต้องให้อะไรบ้างสิ่งบางอย่างกับเด็ก จะตามใจเด็กอย่างเดียวไม่ได้ จะตลกหรือสนุกอย่างไร แต่มันต้องสอดแทรกคุณธรรมการทำหนังสือเด็กต้องให้มีคุณภาพ มีความละเอียดมาก ๆ เพราะสิ่งที่เราไม่รู้หรือผิดพลาดเด็กอาจจะรู้ ทุกอย่างต้องระมัดระวัง ทั้งเนื้อหา รูปเล่ม เพราะมันคือคุณภาพของเด็กในอนาคต

          แต่ก่อนที่เราจะเขียนเรื่องที่ดีสำหรับเด็ก เราก็ควรจะต้องรู้ก่อนว่าเรื่องที่ดีเป็นอย่างไร

          เป็นเรื่องยากที่จะบอกว่าเรื่องใดเป็นเรื่องที่ดีหรือเรื่องที่ไม่ดี จะหานิยามมาบอกเพียงนิยามเดียวเป็นเรื่องลำบากเช่นเดียวกัน และถ้าจะบอกว่าเรื่องที่ดีคือเรื่องที่คนอ่านชอบและสนใจ แต่ความชอบและความสนใจก็เป็นเรื่องรสนิยมของแต่ละคน อย่างเรื่องที่ดีได้รับการยอมรับโดยทั่วไป เช่น วรรณคดี เป็นเรื่องที่ดีเพราะภาษาดี เนื้อหาดี เรื่องราวในเรื่องก็ดี มีการสอดแทรกคุณธรรม แล้วเบสต์เซลเลอร์ อย่างหนังสือของโน้ส อุดม เรื่องหักหลังผู้ชาย หรือแฉเรื่องส่วนตัวของดารา ขายดีมากๆ นี่เป็นหนังสือที่ดีหรือเปล่า หรือเรื่องเขียนรางวัลซีไรท์ ได้รับรางวัล แต่ยอดขายยอดผู้อ่านไม่มาก นี่เป็นหนังสือที่ดีหรือไม่

           ดังนั้นหนังสือดีควรจะต้องบอกว่าดีสำหรับใคร สำหรับคนในวัฒนธรรมไหน ซึ่งจริงๆ แล้วก็คือ กลุ่มเป้าหมายหรือผู้อ่านนั่นเอง ดังนั้นเรื่องที่ดีที่เราจะบอกต่อไปนี้จะหมายถึงเรื่องที่ดีสำหรับเด็ก แล้วเรื่องที่ดีสำหรับเด็กของแต่ละกลุ่มแต่ละวัฒนธรรมล่ะเป็นอย่างไร

เรื่องที่ดีสำหรับเด็กเป็นอย่างไร

          ก่อนอื่นต้องรู้ก่อนว่าเรื่องที่ดีสำหรับเด็ก เยาวชน และผู้ใหญ่ เหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร เรื่องสำหรับเด็กและเยาชนจะใกล้ๆ กัน คือ เป็นเรื่องจินตนาการ เพียงแต่เรื่องของเยาวชนจะยาวขึ้นและตัวละครจะซับซ้อนขึ้น แต่ยังไม่ถึงกับเรื่องของผู้ใหญ่ ที่จริงเรื่องของผู้ใหญ่ก็คือเรื่องของจินตนาการนั่นแหละ แต่ความซับซ้อนจะต่างกัน ของเด็กไม่ซับซ้อนเลย มีตัวละครไม่กี่ตัว เหตุการณ์ไม่กี่เหตุการณ์ เดินเรื่องแบบง่ายๆ พอโตขึ้นมา ก็มากขึ้นตามลำดับ เรื่องของเด็ก 1 ขวบ กับเด็กอายุ 12-13 ปี ก็ต้องมีเนื้อหาต่างกัน จากอายุไล่ไปว่า 1 ขวบส่วนมากต้องเป็นหนังสือภาพ ในช่วงระดับประถมต้นลงมากระทั่งถึงของผู้ใหญ่ก็จะอาจจะไม่ต้องมีภาพเลย ส่วนของเด็กเล็กต้องดำเนินเรื่องด้วยภาพด้วย ไม่งั้นเขาจะไม่เข้าใจ เพราะว่าเขายังอ่านตัวอักษรไม่ออก

เรื่องและคำในหนังสือสำหรับเด็ก

           ควรเป็นเรื่องราวสั้น ๆ ง่าย ๆ เป็นเรื่องใกล้ตัวเด็ก เช่น ครอบครัว พ่อ แม่ ลูก ของเล่น ของใช้สำหรับเด็ก สัตว์เลี้ยง ลูกสัตว์ต่าง ๆ ใช้ถ้อยคำง่าย ๆ สั้นๆ มีคำน้อย เพราะเด็กเขาจะชอบคำที่สั้น ง่าย จะจำได้ง่าย ในขณะที่พอโตขึ้นมาหน่อย อาจเป็นพวกจังหวะ เป็นพวกกลอน หรืออาจเป็นคำซ้ำ หรือคำที่มีเสียงแปลกๆ ต้องดูความชอบของเด็กด้วยว่าเด็กชอบหรือเปล่า เด็กชอบใช่ไหม ถามว่าทำไม คำตอบก็คือเด็กชอบ เพราะมันสนุก สาเหตุที่เด็กชอบออกเสียงแปลก ๆ ชอบเล่นกับเสียง กับคำแปลกๆ เป็นเพราะเขากำลังเรียนรู้ภาษา เด็กๆ จะไม่ชอบคำวิชาการ ผู้ใหญ่ยังไม่ชอบคำวิชาการเลย

สูตรง่ายๆ เบื้องต้นสำหรับการเขียนหนังสือสำหรับเด็ก คือ

เป็นเรื่องที่ สั้น และ ง่าย

  • เป็นเรื่องที่พอเดาเนื้อเรื่องได้

  •  เป็นเรื่องที่มี ชื่อ และ สถานที่ ที่ผู้อ่านรู้จัก

ทำไมต้องให้ สั้น และ ง่าย?

          การอ่านหนังสือเป็นเรื่องยากสำหรับผู้เริ่มเรียน เรา(ผู้เขียน)ต้องการให้พวกเขาอ่านได้ตั้งแต่ต้นจนจบและรู้เรื่อง เพื่อที่ว่าพวกเขา(ผู้อ่าน)จะได้มีกำลังใจอ่านเรื่องใหม่ๆ ต่อไป และค่อยๆ อ่านเรื่องที่ยากและยาวขึ้นได้ในอนาคต

ทำไมต้อง พอเดาเนื้อเรื่องได้?

            เรื่องที่น่าสนใจและพอเดาเนื้อเรื่องได้ ซึ่งเป็นใกล้ตัวของผู้อ่านจะทำให้ผู้อ่านรู้สึกมีส่วนร่วม และทำให้พวกเขาประสบความสำเร็จในการอ่าน แม้ว่าจะเพิ่งเริ่มหัดอ่าน ต่อไปพวกเขาจะมีกำลังใจที่จะหัดอ่านต่อไป

ทำไมต้องมี ชื่อ และ สถานที่ ที่ผู้อ่านรู้จัก ?

            ต้องจำไว้เสมอว่าเราจะเรียนได้ดีที่สุดเมื่อเริ่มต้นจากสิ่งที่เรารู้จัก เรื่องที่เหมาะสำหรับผู้เริ่มเรียนจึงควรเกี่ยวกับคนหรือ กิจกรรม (การกระทำ) ที่พวกเขารู้จักมักคุ้น ต่อๆ ไปเมื่อผู้อ่านอ่านเก่งขึ้น พวกเขาถึงจะพร้อมที่จะอ่านเรื่องราวใหม่ๆ ที่ไกลตัวออกไป

เขียนเรื่องเด็กอย่างไรให้สนุก เรื่องที่นำมาเขียน อาจมาเป็นจากเรื่องราวใกล้ๆ ตัวเด็ก เช่น

        - ประสบการณ์ส่วนตัว (ของผู้เขียน) ที่ผู้อ่านพอจะคุ้นเคย  

        - ตำนานหรือนิทานที่รู้จักกันในท้องถิ่น 

             - เพลงพื้นบ้านหรือบทกลอน 

        - คำคม คำพังเพย และสุภาษิต 

             -  เรื่องที่ (ผู้เขียน) แต่งขึ้นเอง เกี่ยวกับสิ่งที่ผู้อ่านรู้จักมักคุ้น

          ซึ่งเราอาจเพิ่มเติมเทคนิคการเขียนให้น่าสนใจน่าตื่นเต้นได้อีกโดย

              - ใส่เทคนิคอภินิหารหรือจินตนาการเหนือจริง เด็กๆ จะชอบเรื่องราวเหล่านี้ เพราะจะรู้สึกตื่นเต้น อยากติดตามเรื่องต่อ

              - เปลี่ยนตัวละครจากบุคคลเป็นสัตว์ นิทานหลายเรื่องเรียกว่าเป็นนิทานสัตว์ อย่างนิทานที่สัตว์พูดได้ โต้ตอบได้ของอีสป ซึ่งถ้าดูจริง ๆ ก็คือวิถีชีวิตคนธรรมดานี่เองเพียงแต่เปลี่ยนตัวละครเป็นสัตว์ เพราะถ้าตัวละครเป็นคนมันจะไม่สนุก ถ้าไม่อย่างนั้นก็ต้องเปลี่ยนให้เป็นนางฟ้าหรือแม่มด ให้กลายเป็นเรื่องเหนือธรรมชาติ อันนี้คือหลักง่าย ๆ เลยของการทำนิทาน 

             นี่เป็นเพียงตัวอย่างเท่านั้น แต่ใครจะเดินเรื่องได้น่าสนใจก็อยู่ที่กลวิธีเฉพาะบุคคล ซึ่งแต่ละคนจะต้องค้นหาวิธีเขียนที่เป็นของตนเองให้เจอ

หลักการเขียนหนังสือเล่มเล็ก

              ด้วยรูปแบบหนึ่งของหนังสือสำหรับเด็ก คือ หนัสือเล่มเล็กที่มีความยาวเพียง 8 หน้า ดังนั้นความยากของเราจะอยู่ที่เราจะทำอย่างไรให้เรื่องที่เราเขียนขึ้นมา ซึ่งอาจเป็นเรื่องยาวๆ แล้วนำมาตัดทอนจนเหลือประมาณ 8 บรรทัดได้ (8 บรรทัดนี่ อาจจะไม่ได้หมายถึง 8 ประโยค one picture one sentense แต่เป็น 8 ความหมาย – one picture one meaning) ที่สำคัญ เมื่อถูกตัดทอนแล้วเรื่องยังต้องมีความน่าสนใจอยู่

             หลายคนพบปัญหาว่าตนเองเขียนเรื่องยาวๆ ได้ดี แต่พอให้มาเขียนเรื่องสั้นๆ แล้วเขียนไม่ได้ เขียนแล้วจบไม่ลง ไม่รู้จะตัดจะทอนอะไร เพราะตัดทอนแล้ว เรื่องจะไม่เป็นเรื่อง หรือไม่รู้เรื่องไปเลย สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องของการฝึกฝน ต้องอาศัยประสบการณ์ แต่อาจจะแนะนำคร่าวๆ ได้ว่าการเขียนเรื่องสั้นๆ นั้นควรเป็นอย่างไร

               ในการเขียนจะเริ่มเล่าถึงเหตุการณ์หรือลำดับการกระทำตามท้องเรื่อง จากนั้น ขมวดปมให้ชวนติดตามและอยากรู้ตอนต่อไป แล้วค่อยคลี่คลายปมสำคัญของเรื่อง และจบเรื่อง

ตัวอย่างเรื่องเล่าที่น่าเบื่อ

ตอนเช้า แม่ให้ฉันไปเอาของที่บ้านพี่ ฉันจึงเดินไปบ้านพี่ พอไปถึงบ้านพี่ ก็เจอพี่ ฉันเอาของที่แม่สั่งแล้วกลับบ้าน

ตัวอย่างเรื่องเล่าที่น่าสนใจ

ตอนเช้า ฉันรีบวิ่งเร็วจี๋ไปเที่ยวบ้านพี่ แต่เจอกระต่ายตามทาง ฉันเดินตามกระต่ายเข้าไปในป่า เจอกับลูกหมาในรัง สวยจริงๆ แม่หมากลับมา เห่าเสียงดัง ไล่กัด ฉันรีบวิ่งกลับบ้าน อดไปบ้านพี่

ทุกอย่างยากแค่เริ่มต้น ถึงตอนนี้คงได้เวลาที่ทุกคนต้องลงมือเขียนแล้วค่ะ หวังว่าสิ่งที่เราร่วมกันแลกเปลี่ยนไปจะเป็นแนวทางในการที่จะทำให้ทุกคนมีเรื่องที่ดีสำหรับเขียนให้กับเด็กและเยาวชนของเรา

สุดท้ายเก็บมาฝากให้คิดค่ะ

 จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติที่ทำการสำรวจสถิติการอ่านของคนไทย ในปี พ.ศ.2544 ด้าน "การใช้เวลาในการอ่านหนังสือ" มีตัวเลขที่น่าตกใจคือ

  • คนไทยอายุตั้งแต่ 10 ปี ขึ้นไปใช้เวลาอ่านหนังสือ 2.99 นาที/วัน

  •  คนไทยวัย 10-14 ปี อ่านน้อยที่สุดคือ 1.28-4.43 นาที/วัน

  •  คนไทยไม่ว่าจะอยู่ในเมือง นอกเมือง แยกตามวัย หรือแยกตามเพศ ใช้เวลาในการอ่านไม่แตกต่างกันมากนัก คือ 1.28-4.43 นาที/วัน

      วันนี้คุณอ่านหนังสือหรือยังค่ะ 

คำสำคัญ (Tags): #การเขียน
หมายเลขบันทึก: 68751เขียนเมื่อ 22 ธันวาคม 2006 11:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 พฤษภาคม 2012 11:33 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท