บริการคืองานของเรา


มหาวิทยาลัยจะน่าอยู่น่าอาศัยหรือไม่นั้น คงไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าต้องมีผู้ให้บริการที่ดีแต่เพียงฝ่ายเดียว แต่ผู้ใช้บริการก็ต้องเป็นผู้ใช้บริการที่ดีด้วยเช่นกัน

โดยปกติวิสัยผมไม่ใช่คนที่มักจะเอ่ยอ้างถึงหลักธรรมต่าง ๆ บ่อยนัก แต่ล่าสุดมีนิสิตรุกคืบเข้ามาขอสัมภาษณ์ผมเกี่ยวกับหลักคิดในการให้บริการ  รวมถึงหลักธรรมที่เกี่ยวข้องและจำเป็นต่อการทำงาน  ทำเอาผมนิ่งอึ้งและขบคิดอยู่นานพอสมควร...

 (๑)    "บริการ คือ งานของเรา"  เป็นวาทกรรม (discourse)  ที่ผมนำมาบอกกล่าวต่อนิสิตว่าเป็น "หลักคิด"  ที่ผมยึดปฏิบัติสืบมาตั้งแต่เข้ามาเป็นบุคลากรของมหาวิทยาลัย  ซึ่งวาทกรรมนี้กองกิจการนิสิตก็เคย "ชู"  เป็น "สโลแกน"  ของการทำงานมาแล้วในยุคสมัยหนึ่ง  และจึงไม่แปลกที่นิสิตจำนวนไม่น้อยที่มักจะโทรศัพท์มาใช้บริการปรึกษาหารือเรื่องต่าง ๆ กับผมโดยไม่จำกัดเวลาว่าจะเป็นเช้า บ่าย  ค่ำ หรือแม้กระทั่งดึกดื่นเที่ยงคืนก็ไม่เคยว่างเว้น 

     และถึงแม้บุคลิกภายนอกของผมจะดูเป็นคนตรง  ห้าว กระด้างไปบ้าง แต่ทั้งปวงก็คือส่วนหนึ่งของการแสดงออกถึงความกระตือรือร้นที่มีต่อการให้บริการและมี "นิสิต" อยู่ในหัวใจของการให้บริการเป็นที่ตั้ง  จนบางคนขนานนามว่าผมมีวิถีการให้บริการในแบบ "ถึงลูกถึงคน"  และ "โหด มัน ฮา"  หรือแม้แต่  "ใจดีแต่โมโหร้าย"  ด้วยเช่นกัน

     กระนั้น  ผมก็ไม่เคยนิ่งดูดายในชะตากรรมของนิสิต  โดยเฉพาะในเรื่องของกิจกรรมนิสิตและสวัสดิการนิสิต  ผมจะไม่เคยเกี่ยงงอนเมื่อนิสิตร้องขอให้เป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหา  ถึงแม้บางครั้งเรื่องนั้นจะนำพาให้ชีวิตมีริ้วรอยบาดแผลอย่างมากมายทั้งที่เราเองก็ถูกต้องและชอบธรรม

 (๒)    ขณะที่ด้านของหลักธรรมที่ควรมีใน "หัวใจของผู้ให้บริการ"  นั้นผมได้หยิบหยกเอาหลักธรรม 3  ประการ  (ธรรมตรัยลักษณ์)  มาเป็นหัวข้อของการเสวนา  โดยละทิ้งประเด็นการสัมภาษณ์แต่หันเหชวนนิสิตเรียนรู้และแลกเปลี่ยนในเรื่องดังกล่าว

      กล่าวคือ  ผู้ให้บริการที่ดีควรยึดมั่นใน พรหมวิหาร 4  อิทธิบาท 4 และสังคหวัตถถุ 4  ซึ่งทั้งปวงนี้ก็มิใช่เรื่องแปลกใหม่  ไม่ใช่นวัตกรรมใหม่ทางความคิดในการให้บริการ หากแต่เป็นความ "ร่วมสมัย" ที่ยัง "ทันสมัย"  อยู่เสมอ ! 

      และอาจเรียกได้ว่าหลักธรรมดังกล่าวคือ สารัตถะอันสำคัญที่ควรมีและมีอยู่อย่างล้นเหลือในจิตวิญญาณแห่งการให้บริการ (Sense of  service)

       ก่อนยุติการสัมภาษณ์และเสวนา "เรียนรู้ แลกเปลี่ยน" กันในวันนั้น ผมยังไม่ลืมย้ำเตือนกับนิสิตว่า  นิสิตเองก็ต้องเข้าใจและเห็นใจในภาวะของการให้บริการของเจ้าหน้าที่ด้วยเช่นกัน มิใช่รั้นแต่จะเอาความปรารถนาของตนเองเป็นที่ตั้ง  ซึ่งต้องไม่ลืมว่าภาพลักษณ์ภายนอกที่ปรากฎถึงแม้จะเป็นสัมผัสแรกที่รับรู้ง่ายแต่ก็ไม่ควรให้ราคาค่างวดมากไปกว่าภาพลักษณ์ภายในที่ยังซ่อนอยู่ในตัวตนของผู้ให้บริการ

       เพราะมหาวิทยาลัยจะน่าอยู่น่าอาศัยหรือไม่นั้น  คงไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าต้องมีผู้ให้บริการที่ดีแต่เพียงฝ่ายเดียว  แต่ผู้ใช้บริการก็ต้องเป็นผู้ใช้บริการที่ดีด้วยเช่นกัน

      เหรียญมีสองด้าน  สังคมมีความหลากหลายทั้งกายภาพและชีวภาพ  แต่ความแตกต่างทางความคิด คือ ความงดงามของสัตว์สังคม (ใช่หรือไม่)

      นิสิตคนนั้น ตอบกับผมสั้น ๆ  ว่า "ใช่ค่ะ.."

 

 

หมายเลขบันทึก: 68281เขียนเมื่อ 20 ธันวาคม 2006 00:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 00:15 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • ขอชมนะครับ พี่พนัสเป็นคนหนึ่งที่เขียนบันทึกได้น่าอ่าน และคิดตามมากครับ มีประโยชน์ต่อการคงอยู่ของสิ่งดีๆ
  • เป็นบันทึกที่มาจากประสบการณ์โดยแท้
  • ถ้าชักชวนนิสิตมาร่วมบันทึก สร้างเป็นแพลนเน็ต "ว่าที่บันฑิตคืนถิ่น มมส." ก็จะเป็นการขยายประสบการณ์ได้ดีครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท