จีนเริ่มเป็นตัวของตัวเองด้านวิชาการ



บทความ (๑)  (๒)บอกเราว่า จีนเริ่มหาทางเอาชนะโลกตะวันตกในด้านวิชาการ    โดยไม่เดินตามรอยแนวทางวิชาการของโลกตะวันตกอีกต่อไป    

จีนไม่เดินตามโลกตะวันตกในเรื่องระบอบการเมืองการปกครอง    เป็นประชาธิปไตยแนวใหม่ ที่เมื่อเชื่อมโยงกับระบบเศรษฐกิจแนวสังคมนิยมแบบจีน ดูเสมือนว่า จะประสบความสำเร็จในการสร้างความอยู่ดีกินดีให้แก่ประชาชนได้ดีกว่า     โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมองจากมุมของความเสมอภาค ความเหลื่อมล้ำน้อย    ในขณะที่ประชาธิปไตยและเศรษฐกิจการตลาดเสรี นำไปสู่ความเหลื่อมล้ำที่ทวีขึ้นมากในช่วงครึ่งศตวรรษ

บัดนี้ จีนเริ่มหาแนวทางใหม่ในเรื่องการประเมินผลงานทางวิชาการ     เริ่มจากการสร้างระบบประเมินผลสัมฤทธิ์ทางวิชาการใหม่ (๑)    ที่มีการประกาศยกเลิก การให้น้ำหนักแก่การตีพิมพ์ในวารสารที่มี impact factor    หรือวารสารที่ได้รับรองโดยฐานข้อมูล Science Citation Index และ Social Science Citation Index     และยกเลิกการนับ impact factor     ทั้งในการประเมินผลงานอาจารย์ และในการประเมินผลงานวิทยานิพนธ์ของนักศึกษา    

ผมตีความว่า นี่คือการเคลื่อนออกจากการให้น้ำหนักวิชาการ academic mode    เข้าสู่วิชาการ engagement mode  อย่างเป็นทางการของประเทศจีน    ตรงตามปาฐกถา กษาน จาติกวนิช เรื่อง มหาวิทยาลัยแห่งอนาคต   

เรื่องนี้จีนต้องสร้างระบบประเมินของตนขึ้นมาเอง     เป็นระบบที่ส่งเสริมการทำหน้าที่ใช้วิชาการในการสร้างความเจริญก้าวหน้าให้แก่ประเทศ     ไม่ใช่แค่เพื่อการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการชั้นเลิศเท่านั้น     ซึ่งผมเชื่อว่าจีนจะทำได้ แม้จะยากลำบากและต้องใช้เวลาในการพัฒนาระบบ    แต่การมีความมุ่งมั่นเชิงนโยบายตามในข่าว     จะช่วยหนุนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใหญ่ได้จริง   

เมื่อสองปีที่แล้ว ผมไปเยือนมหาวิทยาลัยจีน ๓ แห่ง กับทีมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (๓)    จำได้แม่นยำว่าศาสตราจารย์ของคณะวิศวกรรมศาสตร์ บอกว่างานวิจัยของท่านนอกจากโจทย์มาจากภาคอุตสาหกรรม    ซึ่งหมายความว่า วารสารวิชาการนานาชาติที่มี impact factor ไม่ต่ำกว่า ๕ ด้วย     ทำให้ผมเชื่อว่า นักวิชาการจีนชั้นยอดมีความสามารถในการประเมินคุณภาพที่แท้จริงของผลงานวิชาการได้  

กระทรวง อว. น่าจะทำความร่วมมือกับจีน    ในการร่วมกันพัฒนาคุณภาพผลงาน ในระบบวิชาการแนวใหม่     ที่เน้นการทำงานวิชาการเพื่อสร้างความเจริญให้แก่บ้านเมืองอย่างแท้จริง

ขอขอบคุณ ศ. ดร. นักสิทธ์ คูวัฒนาชัย ที่กรุณาส่งบทความทั้งสองมาให้

วิจารณ์ พานิช

                               

หมายเลขบันทึก: 678585เขียนเมื่อ 12 กรกฎาคม 2020 19:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กรกฎาคม 2020 19:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท