มหาวิทยาลัยแห่งอนาคต


ปาฐกถาเกียรติยศ ศาสตราจารย์ นายแพทย์กษาณ จาติกวนิช ครั้งที่ 10

งานครบรอบ 50 ปี วันพระราชทานนาม 131 ปี มหาวิทยาลัยมหิดล

วันที่ 1 มีนาคม 2562

เรื่อง “มหาวิทยาลัยแห่งอนาคต”

โดย ศาสตราจารย์ นายแพทย์วิจารณ์ พานิช

นมัสการพระคุณเจ้า กราบเรียนท่านผู้หญิงสุมาลี จาติกวนิช,  ศาสตราจารย์ นายแพทย์ไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์ นายกสภามหาวิทยาลัย,  ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดี, ท่านอาจารย์อาวุโสที่เคารพ, ผู้บริหาร, คณาจารย์, และนักศึกษา  

หัวข้อที่ผมจะพูดในเวลาประมาณครึ่งชั่วโมงนี้  ชื่อหัวข้อย่อ ๆ ว่า “มหาวิทยาลัยแห่งอนาคต”แต่ว่ามี Subtitle ว่า “เป็นอย่างไร”  “มีคุณค่าอะไร”สำหรับผมเป็นคำถามมากกว่าคำตอบ  แต่ก็จะลองมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันดูนะครับ ในอเมริกามีหนังสือแบบนี้ออกมามากกว่า 10 เล่ม  มองจากมุมของนักศึกษา ว่ามหาวิทยาลัยที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้  ไม่คุ้มที่จะเข้าเรียน ท่านที่สนใจรายละเอียดอ่านจาก Link https://www.gotoknow.org/posts/636373

เขาบอกว่ามีวิธีการเรียนที่ดีกว่า ถูกกว่ามาก และก็ได้ผลดีกว่าด้วย  นี่เป็นการมองจากมุมนักศึกษานะครับ

ผมมองว่าในฐานะมหาวิทยาลัย การเป็นมหาวิทยาลัยหรือสถาบันวิชาการชั้นสูง  ต้องมีหน้าที่หลัก 4 อย่าง ตามที่เรายึดถือ  แต่ว่าต้องตีความใหม่ ดังนี้  1) สร้างคน   2) สร้างความรู้  3) สร้างบ้านเมือง  4) สร้างความดีงาม  ซึ่งก็คือผลิตบัณฑิต วิจัย บริการวิชาการแก่สังคม และทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม แต่จะมองในมุมขยายความและตีความให้ชัดเจนยิ่งขึ้น  

ประเด็นก็คือว่า ถ้าตีความอย่างนั้นแล้วจะทำอย่างไรในยุคปัจจุบันและอนาคต และที่ว่า 4 อย่างนั้น  จริงหรือ   มีหน้าที่อย่างอื่นที่สำคัญเท่าเทียมกับ 4 อย่างนั้นหรือไม่  และหน้าที่เดิมที่เรายึดถือกันมา 4 อย่างนี้คือผลิตบัณฑิต วิจัย บริการวิชาการ และทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมนี้  มันต้องเปลี่ยนไปอย่างไร   อันนี้คือคำถามที่ผมคงไม่มีคำตอบสำเร็จรูปตายตัวนะครับ แต่ก็มีข้อคิดเห็นมาแลกเปลี่ยน

ผมมองว่าองค์กรวิชาการ หรืออุดมศึกษา หรือมหาวิทยาลัยในยุคใหม่  สามารถที่จะตีความใหม่ได้ในหลากหลายมุม  ที่ผมยกตัวอย่างมาให้ดู  ที่คิดมานี้คงไม่ครบนะครับ คงจะมีมากกว่านี้  

บทบาทที่ทำงานแบบ Inside-Out อย่างในปัจจุบัน คือเอามหาวิทยาลัยเป็นตัวตั้ง เป็น Inside-Out   และอีกแบบคือ Outside-In ก็คือเอาข้างนอกมหาวิทยาลัย หรือเอาสังคมเป็นตัวตั้ง และเอามาเป็น เครื่องมือหรือข้อมูลในการที่จะคิดวิธีทำงาน บทบาทใหม่ ๆ และวิธีทำงานใหม่ ๆ   หรือ Platform ใหม่ ๆ คือโครงสร้างใหม่ ๆ โครงสร้างการจัดการใหม่ ๆ อะไรแบบนี้    คือว่าเราจะคุ้นเคยอยู่กับการทำงานตามสาขาวิชา ซึ่งก็จะเป็นในแบบ Inside-Out นี่  เอาวิชาการเป็นตัวตั้ง   กับเอาเรื่องของ “การใช้ความรู้” เป็นตัวตั้ง ซึ่งจะต้องเป็นหลายสาขาวิชามาทำงานด้วยกัน ซึ่งก็พูดกันมานานนะครับ ผมเข้าใจว่าพูดตั้งแต่สมัยผมเริ่มเป็นอาจารย์ใหม่ ๆ เมื่อ 50 ปีที่แล้ว แต่เราก็ยังทำได้ไม่ดีเท่าไร

ผมจำได้เสมอในที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยมหิดลหรืออีกหลายสภามหาวิทยาลัย ที่ผมเป็นกรรมการร่วมกับอาจารย์หมอประเวศ วะสี  อยู่เป็น 10 ปี   เมื่อมีการนำเสนอผลงานอะไรทั้งหลายซึ่งดี ๆ   อ. ประเวศ จะถามเสมอว่า แล้ววิชาการนั้น ๆ โยงเข้าสู่การปรับปรุงระบบต่าง ๆ ของบ้านเมืองให้ดีขึ้นนั้นต้องทำอย่างไร   อันนี้ก็เป็นเรื่องใหญ่มากเลย  เรื่องวิชาการเชิงระบบนั้นประเทศไทยเราอ่อนแออย่างที่สุดในเกือบทุกเรื่อง  มีอยู่เฉพาะเรื่องที่มหาวิทยาลัยมหิดลเราเข้มแข็ง ก็คือทางด้าน Health  ที่วิชาการเชิงระบบของประเทศไทยค่อนข้างดี  และก็เป็นที่ยอมรับทั่วโลก ในประวัติของผมที่ท่านอธิการบดีอ่าน  ผมเป็นประธานมูลนิธิหลายแห่ง  มีอยู่ 2 มูลนิธิ ที่ทำงานวิชาการด้านระบบสุขภาพของประเทศไทย และของทั้งโลก  เป็นที่เคารพนับถือมากคือ มูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (International Health Policy Program – IHPP) ที่มีคุณหมอวิโรจน์ ตั้งเจริญเสถียร เป็นผู้นำ  กับมูลนิธิเพื่อการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (Health Intervention and Technology Assessment – HITAP)  ที่มีคุณหมอยศ ตีระวัฒนานนท์ เป็นผู้นำ  ทั้งสองหน่วยงานอยู่ในกระทรวงสาธารณสุข 

อีกประเด็นหนึ่งก็คือเรื่องการจัดองค์กรและบริหารงานแบบตั้งรับ กับแบบรุก จะเห็นชัดเจนเลยว่ามหาวิทยาลัยไทยถนัดตั้งรับ  รุกไม่ค่อยเก่ง  พูดอย่างนี้ก็อาจจะผิดนะครับ ในช่วงเวลาประมาณ 10 ปีที่ผ่านมานี้มีมหาวิทยาลัยไทยจำนวนหนึ่งรุกเก่งมาก ในการเปิดหลักสูตรหาเงินทั่วราชอาณาจักร ซึ่งดูเสมือนว่าเป็นผลประโยชน์ของมหาวิทยาลัยมากกว่าผลประโยชน์ของสังคม

อีกเรื่องหนึ่งคือการทำงาน ทำบทบาท  จะทำแบบเดิม ๆ  หรือทำด้วยวิธีการที่ต่าง   คำตอบคือ ต้องต่าง แต่ว่าต่างกันอย่างไร  และก็ทำได้จริงหรือเปล่าเท่านั้นเอง  

และอีกเรื่องที่สำคัญที่สุดก็คือ Change Management ทำอย่างไรที่จะทำได้ผลจริง ๆ มหาวิทยาลัยหรือสถาบันการศึกษาจริง ๆ แล้วต้องเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงแต่ความเป็นจริงก็คือ สถาบันอุดมศึกษาเป็นองค์กรที่ Very Conservative เปลี่ยนยากมาก  แล้วก็ส่วนที่ยากที่สุดคืออาจารย์ อันนี้เป็นที่รู้กัน   พูดอย่างนี้ก็อาจจะผิดนะครับ เพราะว่าจะมีอาจารย์จำนวนหนึ่งรุกไปข้างหน้าแล้ว   แต่เป็นจำนวนน้อยมาก   ส่วนใหญ่จะไม่เปลี่ยน

การมองที่คุณค่า (Values) ของมหาวิทยาลัยหรือองค์กรวิชาการ  คำถามก็คือว่าเราจะมองอย่างไร   หากมองที่บทบาทในการสร้างคน หรือพลเมืองยุคใหม่  ผลลัพธ์การเรียนรู้ต้องเปลี่ยน ตั้งแต่เด็กชั้นเด็กเล็ก ก่อนอนุบาล อนุบาล ประถม มัธยม มาจนถึงระดับอุดมศึกษา  ต้องการ Learning Outcome ใหม่หมด   กระบวนการเรียนรู้เพื่อบรรลุ Learning Outcome ใหม่นั้น ก็ต้องทำใหม่  คือไม่สอน แต่ให้เขาได้ปฏิบัติ    คำถามก็คือว่าบทบาทของมหาวิทยาลัยในเรื่องนี้ทำกับคนกลุ่มไหนบ้าง กลุ่มอายุไหน  สมัยก่อนก็คืออายุ 17-18 ไปถึง 24-25 ปี ขณะนี้เป็นที่พูดกันว่าต้องทุกกลุ่มอายุแบบนี้ เป็นต้น  แต่คำถามคือว่า ทำอย่างไร จะเปลี่ยนแปลงอย่างไร ถึงจะไปสู่ตรงนั้น

UNESCO จะบอกตลอด  โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับประเทศที่มีระบบคุณภาพของระบบการศึกษาพื้นฐานอ่อนแอ ซึ่งประเทศไทยอยู่ในกลุ่มนั้น  ว่ามหาวิทยาลัยต้องเข้าไป Engage กับโรงเรียนอย่างน้อยก็ชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย เพื่อจะดึงคุณภาพขึ้นมา  อันนี้เป็นหัวใจนะครับ คำถามก็คือมหาวิทยาลัยทำหรือไม่ ทำได้ดีแค่ไหน คำถามที่เจ็บปวดมากก็คือว่ามหาวิทยาลัยที่มีคณะศึกษาศาสตร์ ครุศาสตร์  ทำให้การศึกษาของประเทศพัฒนาขึ้น คุณภาพดีขึ้น หรือเป็นตัวต้นเหตุของความอ่อนแอเสียเอง  อันนี้ท้าทายมากนะครับ  

ข้อสุดท้ายเชื่อมโยงกับหนังสือเล่มที่เอามาให้ดู  Designing The New American University  เขียนโดย Michael Crow  ซึ่งเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัย Arizona State University ท่านกล่าวถึงวิธีที่ท่าน Transform มหาวิทยาลัย Arizona State  จาก No Name ไปเป็น Top Hundred ของมหาวิทยาลัยในโลก  วิธีการ อุดมการ ที่ท่านใช้อันหนึ่งก็คือ  “ไม่ได้เน้นเลือกคนเก่งมาเป็นนักศึกษา แต่เน้นสร้างนักศึกษาเหล่านั้นให้เป็นบัณฑิตที่เก่งและดี  ให้เป็นคนมีคุณภาพ” อันนี้เป็นหัวใจเลย จะอยู่ในรายละเอียดในหนังสือเล่มนี้   มีข้อมูลนิดหน่อยอยู่ใน Link ที่ให้ไว้ข้างล่าง  เรียกว่าเขาเปลี่ยน Arizona State University


ในลักษณะเป็น New Platform   ของการทำหน้าที่มหาวิทยาลัย ซึ่งจะมีรายละเอียดเยอะมาก น่าอ่านมาก

ผมมีความคิดว่าเราต้องสร้างNew Platform ของสถาบันอุดมศึกษาไทย   ต้องเป็น Platform ใหม่   ไม่ใช่ Platform เดิม  อันที่จริงเรื่องแบบนี้เราพูดกันมาเป็น 10 ปี แต่ว่าในทางปฏิบัติเกิดผลน้อยมาก  ในความเห็นของผม ตัวสำคัญที่สุดก็คือ Platform ของการเชื่อมโยงกับ Real Sector คือภาคทำมาหากินทั้งหลาย โดยที่ Platform นั้นมีส่วนหนึ่งอยู่ใน Campus อีกส่วนหนึ่งอยู่นอก Campus ไปอยู่ใน Real Sector พูดแบบนี้  แนวคิดแบบนี้  ไม่มีอะไรใหม่เลยครับ มีมาแล้วในโลกเป็น 100 ปี  แต่อยู่ที่เพียงบางประเทศ เช่น เยอรมัน ญี่ปุ่น  สหรัฐอเมริกาได้พยายามทำ  เมื่อญี่ปุ่นผงาดขึ้นมาในช่วงคริสตทศวรรษที่ 70-80   อเมริกันตกใจมาก  แล้วก็พยายามที่จะใช้มหาวิทยาลัยโยงเข้าไปเพื่อสร้าง  Collaborating Center, Industry University Collaborating Center  เยอะมากในอเมริกา ในออสเตรเลีย หรือที่อื่น ๆ ก็ทำกันทั้งสิ้น  แต่ว่าเยอรมันกับญี่ปุ่น มี Culture ว่า Professor ในมหาวิทยาลัย ต้องไปทำงาน ใน Real Sector เช่น อาจารย์ในคณะวิศวกรรมศาสตร์  กว่าครึ่งหนึ่งของเวลาทำงานอยู่ที่โรงงานอุตสาหกรรม อย่างนี้ เป็นต้น  

ถ้าหากว่าเราเชื่อว่าการ Link หรือ Engage กับ Real Sector เป็นหัวใจสำคัญของ Platform การทำงานของมหาวิทยาลัยยุคใหม่   ตัว Work Load  การให้คุณให้โทษทั้งหลาย มันจะ ต้องคิดคำนึงถึงการทำหน้าที่ในนั้นหมดเลย  ซึ่งขณะนี้เรายังไม่ได้มี platform นั้น ไม่มี Regulation เพื่อการนั้น  ฉะนั้นตัว Working Environment and Incentive จะต้องคิดกันใหม่

ในภาพใหญ่ผมมองว่าอย่างนี้  (อันนี้ผมคิดเองนะครับ เวลาผมบอกผมคิดเอง เพื่อจะบอกว่ามันอาจจะผิดโดยสิ้นเชิงก็ได้)  ผมมองว่าวิชาการแบบที่เรายึดถือและปฏิบัติ จริง ๆ ก็ทำคุณประโยชน์อย่างมากมายให้แก่บ้านเมือง  ที่จริงมหาวิทยาลัยในโลกก็ยึดถือหลักการนี้  ก็คือวิชาการที่ผมเรียกว่าแนว Diffusion คือ  ผลิตบัณฑิต ก็ผลิตตามหลักการของวิชาการ แล้วให้ออกไปทำงานรับใช้สังคม ทำงานบริษัท ทำงานส่วนตัวอะไรก็แล้วแต่  ได้ทำประโยชน์   การทำงานวิจัย ทำเสร็จก็ตีพิมพ์ เผยแพร่   มี Impact Factor คนอ่านเอาไปประยุกต์ใช้ได้อย่างนี้เป็นต้น ทั้ง 4 ภารกิจหลัก   เรียกว่าเป็นวิชาการแนว diffusion

การสร้างคน สร้างวิชาการ กับการประยุกต์ใช้อยู่แยกกัน สร้างและกระจาย (Diffuse) ออกไปยังฝ่ายผู้ใช้  วิธีการทำงานของอุดมศึกษาแบบนี้ทำมาเป็น 100-200 ปี ได้ประโยชน์มาก มีคุณค่ามาก แต่บัดนี้ดูท่าว่าไม่ทันกับเวลาของการเปลี่ยนแปลง  ไม่ทันกับ Speed of Change   จึงมีแนวคิดที่เรียกว่า Engagement   เป็น University -    Social Engagement  คือต้องไปทำงานวิชาการใน Real Sector เกี่ยวกับเรื่องนั้น ๆ เลย   การผลิตนักศึกษาก็ต้องมีเวลาส่วนหนึ่งซึ่งอาจจะเป็นเวลาส่วนใหญ่ด้วยซ้ำไป ใน Real Sector   ทำวิจัยโจทย์ของ Real Sector  และส่วนหนึ่งเป็นงานวิจัยที่ทำใน Real Sector   เพราะในยุคปัจจุบัน เครื่องมือที่ทันสมัยอยู่ใน Real Sector   เครื่องมือใน Lab ของมหาวิทยาลัยยากมากที่จะทันสมัย  เพราะซื้อมา 4-5 ปี ก็ล้าสมัยแล้ว   นี่คือแนวโน้มโลกของภาควิชาการ   คือ Shift วิชาการไปสู่ทางสีแดงทางขวามือ ให้ได้ผลมากขึ้น  คือเป็นการทำงานวิชาการใน Real Sector  เขาเรียกว่าแนว Engagement   ซึ่งจะต้องเปลี่ยน Mindset เปลี่ยน Culture และเปลี่ยน Platform ของการบริหารงาน นี่คือหัวใจนะครับ   พูดง่ายแต่ทำยากนะครับ   ผมเข้าใจว่ามันเป็นเรื่องของ Transformation ของมหาวิทยาลัยอย่างแรง    ผมเขียนเรื่อง transformation ของมหาวิทยาลัย ลงไปใน Blog Gotoknow  เยอะมาก มาตั้ง 12-13 ปี   พอไปทบทวนดู พบว่าเราเขียนไว้เยอะมาก แต่การเปลี่ยนแปลงเกิดไม่มาก   การทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างจริงจังเป็นเรื่องท้าทายครับ

เมื่อปีเศษ ๆ ผม ไปอังกฤษกับสถาบันคลังสมองแห่งชาติ เขาจัดประชุม Public Engagement   ของมหาวิทยาลัย   มีหน่วยงานดูแล หลังการดูงาน ผมได้เขียนหนังสือเล่มนี้ออกมา เขียนจากการที่ไปร่วมประชุม   สามารถดาวน์โหลดได้ที่ลิงค์  

https://www.gotoknow.org/posts/tags/เรียนรู้มหาวิทยาลัยหุ้นส่วนสังคมที่สหราชอาณาจักร   และ

      http://www.knit.or.th/web/wp-content/uploads/2018/03/PE-in-UK-book.pdf  เป็นเล่มก็ได้หรือว่าเป็น Blog ที่เขียนเป็นแต่ละตอนก็ได้นะครับ ประเด็นที่สำคัญคือว่าอังกฤษพยายามที่จะส่งเสริม  University Public Engagement   เขาใช้คำว่า Public Engagement แต่ของเราใช้ Social Engagement นะครับ   เพื่อใช้ พลังของ University Public Engagement ในระดับประเทศ เขาตั้งหน่วยงานขึ้นมาเพื่อขับเคลื่อนเรื่องนี้ โดยทำมาเป็นระยะเวลา 10 - 11 ปี   ก็ทำช้า ๆ ใจเย็น ๆ แต่วิธีการเขาน่าตื่นตาตื่นใจมาก คือมันเป็น Change Management ในภาพใหญ่อย่างแท้จริง   ประเทศไทยเราก็ไม่ได้น้อยหน้านะครับ เราตั้ง Engagement Thailand ขึ้นมาทำหน้าที่ขับเคลื่อนมหาวิทยาลัย ปัจจุบันนี้มีมหาวิทยาลัยเป็นสมาชิกไม่ต่ำกว่า  60 มหาวิทยาลัย  ในเกือบ 200 มหาวิทยาลัย หลักการของ  Social Engagement ของมหาวิทยาลัยที่ Engagement Thailand ระบุไว้ในเว็บไซต์แล้วครับ

หลักการ 4 ข้อนี้  เป็นเรื่องสำคัญมาก  คือเรื่อง partnership คือไม่ใช่ไปช่วยเขาแต่เป็น partner (หุ้นส่วน)   และเกิดประโยชน์ร่วมกัน  มีการใช้  และเกิดความรู้ใหม่ที่เป็นประโยชน์  เกิดผลกระทบต่อสังคมที่ประเมินได้ ตรงนี้สำคัญ  ผมคิดว่าหัวใจที่สำคัญที่สุดเลยคือข้อแรก “ร่วมคิดร่วมทำ แบบหุ้นส่วน”  ถ้าเมื่อไรก็ตามที่คนมหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัย  ยังมีจิตใจ และก็บริหารงานแบบ “ไปช่วยเขา” อันนี้ไม่ใช่  ที่ถูก ต้องไปเป็นหุ้นส่วน เป็น Partner สำคัญนะครับ    ปฏิสัมพันธ์ แบบ Engagement ต้องเป็น Partner   เป็น Two Way เป็นการพึ่งพาอาศัยช่วยเหลือกัน  ไม่ใช่ One Way ไม่ใช่คนเก่งไปช่วยคนไม่เก่ง  อันนี้คือหัวใจ แล้วก็ต้องมีการเปลี่ยน Mindset   การไปเป็นหุ้นส่วนวิชาการกับภาคชีวิตจริง อย่างที่กล่าวไปแล้ว  

การเปลี่ยนกระบวนทัศน์หัวใจสำคัญอยู่ตรงนี้   เราคุ้นเคยกับทางซ้ายมือ เอาความรู้เป็นหลัก ทำงานตามความถนัด    สิ่งที่จะต้องเปลี่ยนโดยสิ้นเชิง  และต้อง Shift ไปทางขวาให้ได้  ก็คือเอาความต้องการเป็นหลักความต้องการของประเทศ  เราโชคดีที่ในเวลา 2-3 ปี ที่ผ่านมามีการระบุความต้องการของประเทศใน 20 ปี ข้างหน้าชัดเจน  ผมคิดว่าเขียนไว้ได้ดีพอสมควรทีเดียว  มหาวิทยาลัยควรจะต้องเข้าไปตีความ  แล้วก็พยายามดึงเข้ามาเป็นแนวทางที่จะดำเนินการ Engagement   แล้วจะเห็นว่า นั่นคือแหล่งของทรัพยากรในการทำงานของมหาวิทยาลัยในยุคใหม่

สิ่งที่เป็นตัวทำให้เราอยู่กันทางซ้ายมือ  ไม่ค่อยจะเกิดพลังการดำเนินการที่จะ Shift ไปทางขวามือ  ก็เพราะว่า Platform ที่เราอยู่นี้มันเป็น Comfort Zone ของคณาจารย์ทั้งหลาย   เรื่องอะไรใครจะออก  มันเป็น Comfort Zone   เราพูดกัน  บอกว่าเฮ้ยไม่ได้ต้องไปอยู่ Creativity Zone แต่ Platform ที่มีอยู่มันเอื้อต่อการที่จะให้คนได้มี Comfort อยู่ใน Zone เดิม   นี่ไงครับ นี่คือปัญหา เรามักโทษว่าอาจารย์ไม่เปลี่ยน ก็อาจารย์เป็นคนฉลาด  เมื่อ Reward System ทั้งหลาย  เอื้อให้อยู่ใน Comfort Zone  ดีที่สุด แล้วเรื่องอะไรจะออกไปอยู่ Creativity Zone ซึ่งมันยากกว่าเยอะ และก็ทำไม่ค่อยเป็นด้วย  ถ้าผมยังมีอายุน้อย ๆ   ผมก็ต้องยอมรับผมเองก็ทำไม่เป็นนะครับ

นี่ล่ะครับคือปัญหา  อยู่ที่ Management ระดับประเทศ  และก็ระดับมหาวิทยาลัย ในการที่จะเปลี่ยน  Comfort Zone  ให้มี Challenges ว่าคุณอยู่อย่างนี้ไม่ได้นะ  อย่างในต่างประเทศเราเห็นนะครับ ผมถามใครต่อใครไปดูเถอะ ในต่างประเทศที่มหาวิทยาลัยเขาเรียกว่าแข็งแรง Base Salary คือ 1 ใน 3 ของ Real Income ของอาจารย์ครับ  เป็นระบบที่ทำให้อาจารย์ต้องดิ้นรนเพื่อจะให้ได้รายได้อีก 2 ใน 3  โดยเข้าไปใน Creativity Zone   แต่นั่นต้องทำในระดับประเทศนะครับ ไม่ใช่ระดับมหาวิทยาลัย

อย่างที่กล่าวแล้วว่าใน 2-3 ปี ที่ผ่านมา  สภาปฏิรูป  Identify ปัญหาของประเทศ (อันนี้ผมขอยืมมาจากท่านศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสะอ้าน   ท่านไปพูดที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อสัก 2 ปีที่ผ่านมา)  เห็นเลยว่าเราเห็นวิกฤตกันอยู่ นี่ล่ะครับคือโอกาสของมหาวิทยาลัยในการที่จะทำงานใน Platform ใหม่  และเข้าใจว่า ท่านศาสตราจารย์วิจิตรก็เอามาจากท่านเภสัชกร ดร. สุวิทย์ เมษินทรีย์  ท่านเป็นอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  ให้เห็นว่าการเรียนรู้ยุคใหม่ ต้องเป็นการเรียนรู้ 4 แบบ  เรียนอย่างมีเป้าหมาย เรียนอย่างสร้างสรรค์  Creative Learning  ที่จริงผมพอเห็นคำนี้  ผมในฐานะที่สนใจเรื่องกลไกการเรียนรู้  การเรียนรู้ที่แท้จริงเป็นการเรียนโดยสร้างความรู้ใส่ตัว เพราะฉะนั้นที่บอกว่าเรียนอย่างสร้างสรรค์ Generative Learning  จริง ๆ  แล้วกลไกการเรียนเป็นการ Generate Knowledge ใส่ตัว   แต่ในขณะเดียวกันความรู้ที่ Generate นั้นอาจจะก่อประโยชน์ให้แก่ Real Sector ด้วย   เห็นไหมครับ นักศึกษากลายเป็นผู้ Create Knowledge   แล้วก็เรียนจากการปฏิบัติ  ใช้คำว่า เพื่อการนำไปปฏิบัติ  อย่างนี้ถูกต้องนะครับ  ซึ่งที่จริง ๆ แล้ว การเรียนรู้ที่แท้จริงเกิดจากการปฏิบัติResult-Based Learning ตรงนี้สำคัญ ไม่ใช่จากการรับฟังอย่างที่ท่านกำลังฟังผมอยู่ขณะนี้ อันนี้เกิดการเรียนรู้น้อยนะครับ  แล้วก็เรียนรู้เพื่อส่วนรวม Mindful Learning  บ้านเมืองเราต้องการเยอะมาก ผมไม่แน่ใจว่าตอนนี้กระทรวงใหม่เกิดขึ้นหรือยัง เราฟังเรื่องราวของการเกิดกระทรวงใหม่นี้แล้ว สะท้อนใจนะครับ เพราะว่ามีคนที่ไม่ได้ทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวมระยะยาว แต่ต้องการประโยชน์ของส่วนองค์กร ส่วนบุคคล  มันเป็นเพราะว่าการเรียนรู้เพื่อส่วนรวมของเรามันอ่อนแอ

ผมกราบเรียนว่า Platform สำคัญของมหาวิทยาลัยต้องเป็นมหาวิทยาลัยหุ้นส่วนสังคม   ผมคิดเองนะครับ (ย้ำนะครับ คิดเองแปลว่าอาจจะผิดนะครับ) ว่าต้อง Shift จากซ้ายไปขวาให้ความสำคัญ ศาสตร์ ทฤษฎี : ศาสตร์ปฏิบัติ ในสัดส่วน  80:20  ซึ่งศาสตร์ปฏิบัตินี้เป็นพหุศาสตร์ แปลว่าต้องเป็น multidisciplinary   เห็นหรือไม่ว่าเราต้องเปลี่ยน platform อย่างนี้ทันทีเลย ในการทำงาน และก็อีกสารพัดเรื่องเลย ซึ่งในเวลา 30-40 นาที  เราไม่มีเวลาที่จะพูดกัน  แต่ที่สำคัญยิ่งกว่านั้นก็คือว่า ถ้าเราไม่ระวัง  เราจะคิดว่าคุณไปทำศาสตร์ปฏิบัติ  ทำให้ศาสตร์ทฤษฎีอ่อนแอ ไม่จริงครับ   เมืองจีนทำเป็นตัวอย่างให้ดูแล้ว  คือต้องเป็น Positive Feedback ระหว่างศาสตร์ 2 ด้านนี้จริง ๆ แล้วมันคืออันเดียวกัน มันเสริมซึ่งกันและกัน  โยต้องทำให้เป็นนะ  ผมพูดอย่างนี้ไม่ได้แปลว่าผมทำเป็นนะครับ  แต่ผมเอาขี้ปากคนอื่นมาเล่าให้ท่านฟัง

ผมก็คิดว่าเป็น New Platform of Higher Education   New Platform ภาษาไทยก็เอาชื่อโก้ ๆ “นวชาลา”  เราทำหน้าที่ 4 อย่าง ทางซ้ายมือนี้  4 ก้อนนี้  ในสายตาผม  4 ก้อน  เป็นก้อนเดียวกันครับ  ทำงานแล้วเกิด Output  Outcome  Impact  ผ่านกลไกที่เรียกว่าเป็น New Platform   5 ตัว  ก็คือ I  I  E  E C คือ E  E  C เติมด้วย I  I  บวกอยู่ข้างหน้า I 2 ตัว คือ Integration กับ Innovation   เราไม่มีเวลาที่จะอธิบายนะครับ  แต่ว่ารัฐบาลเขาพูดชัดว่าเขาต้องการ Integration ในการทำงานสารพัดด้าน  2 E คือ Engagement กับ Entrepreneur   Engagement พูดไปแล้ว  Entrepreneur  หมายความอย่างน้อย 2 อย่างนะครับ อันที่ 1 คือสร้าง Entrepreneur สร้าง Entrepreneurship   อันที่ 2 คือ มหาวิทยาลัยเองต้องเป็น Entrepreneur  ต้องทำงานเป็นที่ยอมรับ แล้วได้เงินหรือได้ทรัพยากรมาทำงาน  นี่คือ Entrepreneur   ไม่ใช่แบมือขอรัฐบาลครับ   อันสุดท้ายคือ Collaboration ต้องร่วมมือ   Collaboration นี่ก็มีหลายมิติ  เช่น Collaborate กับ Real Sector,  Collaborate ระหว่างสาขาวิชา,  Collaborate กับสถาบันอื่น  แทนที่จะแข่งขันกันภายในประเทศ  เราร่วมมือกัน จริง ๆ ต้องร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ  หรือองค์กรอื่นในต่างประเทศด้วย  เพราะฉะนั้นมองในแง่ Engagement อย่างที่ว่านี้   หน้าที่ 4 อย่าง  ซึ่งควรเป็นอย่างเดียวนี้  ปัจจุบันเราถนัดทำในรั้วมหาวิทยาลัย  เราจะต้องออกไปทำนอกรั้วมหาวิทยาลัยให้มากขึ้น  โดยทำกับ  Engagement partner ในพื้นที่นวัตกรรม  

พื้นที่นวัตกรรม  เรียกว่า Innovation Zone นั้น ร่วมมือกัน 3 ฝ่ายใหญ่ ๆ คือ ฝ่ายวิชาการ คือ (๑) พวกเรา มหาวิทยาลัย (๒) ภาครัฐ  ซึ่งขณะนี้รัฐบาลก็ชัดเจนว่าต้องการผลักดัน และ (๓) ภาคประกอบการ คือ Real Sector  3 อันนี้ ต้องทำงานร่วมกัน   โดยที่คำว่า Innovation แปลว่า เกิด Product  หรือ Service  ที่กินได้ขายได้   นี่คือหลัก เพราะฉะนั้นในคำว่า Innovation แปลว่า Product กินได้ขายได้ ไม่ใช่ใหม่เฉย ๆ เท่านั้น

เมื่อประมาณเกือบปีมานี้ผมมีโอกาสไปกับทางมหาวิทยาลัยเชียงใหม่  ในฐานะที่เป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัย   แล้วก็ได้ไปเห็นที่เมืองหางโจว (Hangzhou) มณฑลเจ้อเจียง (Zhejiang) ที่สาธารณรัฐประชาชนจีน  เขาทำพื้นที่นวัตกรรม  ทางซ้ายมือนี้ท่านดูนะครับ นี่คือสไลด์ที่ผมถ่ายจากบนจอตอนที่เราไปเยี่ยมครับ หัวหน้าคณะคือท่านองคมนตรีเกษม วัฒนชัย  เขาขึ้นจอ  Welcome to Liangzhu ครับ Mengqi  Town of Designers  นะ ถามว่าคืออะไร คำตอบก็คือเมืองแห่งผู้ออกแบบ   ออกแบบอะไร ออกแบบอุตสาหกรรมครับ Industrial Design นะครับ  Town เป็นเมือง หมายความว่าอย่างไร หมายความว่าสาธารณรัฐประชาชนจีน Renovate ชนบท ให้กลายเป็น Urbanization สร้างขึ้นมาเป็นเมือง  แล้วก็เรียกว่า Town of Designers เมืองแห่งนักออกแบบอุตสาหกรรม เชิญบริษัทอุตสาหกรรมที่ต้องการ สร้าง Innovation สร้าง Competitive Edge ของตัวเอง  มาตั้ง Development หรือ Design Lab อยู่ที่ Town of Designers นี้   สำหรับเป็นพื้นที่นวัตกรรม  ก็คือ Town of Designers ร่วมมือกัน 3 ฝ่าย  (1) Town of Designers  พื้นที่นวัตกรรม  (2) สาธารณรัฐประชาชนจีนส่งเสริมให้เกิดสมาคม  CIDA (Chinese Industrial Design Association) สมาคมนักออกแบบ  (3) รวบรวมมหาวิทยาลัย 8 แห่ง  มาร่วมมือกัน  ร่วมมือกันสร้าง Open University   คำว่า Open University ของเขาแปลว่าไม่มีตัวตน  มีแต่กิจกรรม   กิจกรรมก็คือผลิต Industrial Designers ปริญญาโท   ตอนเราไปกำลังจะรับรุ่นที่ 2  รุ่นแรก 300 คน รุ่นที่ 2 รับ 500 คน ใน 8 มหาวิทยาลัย แต่ที่ทำงานของเขาอยู่ที่  Town of Designers อยู่ในโรงงานอุตสาหกรรม  นี่คือวิธีออกแบบพื้นที่นวัตกรรม   แต่ท่านจะเห็นว่าเป็นกิจกรรมระดับประเทศ ไม่ใช่แค่มหาวิทยาลัย

ภาพนี้คือบรรยากาศของ Town of Designers   ป้าย Town of Designers อยู่นี่ครับ แต่มันเล็กมองไม่เห็นผมก็เลยเอามาติดตรงมุมซ้ายบนไว้ดูนะว่าเขาเขียนไว้ว่าอย่างไร  ใครอ่านหนังสือจีนออกจะได้เข้าใจ นะครับ และก็คนหันหลังนี่คือศาสตราจารย์ ดร. ปิยะวัติ บุญ-หลง และทีมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่    

เขาก็เอาผลิตภัณฑ์ของนักศึกษารุ่นแรก  ที่เพิ่งเรียนไปปีเศษ ๆ มาให้ดู แล้วก็ปีเศษ ๆ นั้น industry เอาไปใช้แล้ว เช่นอันนี้ drone เขาเอาผู้จัดการบริษัทมาคุยกับเราเลยครับ กินข้าวเย็นด้วยกัน  เขาไม่ได้ขาย drone นะ เขาขายกลไลบังคับ drone    กลไกการเอา drone ไปใช้ประโยชน์   เพราะ drone ทำง่าย   เขาสร้างนวัตกรรมระบบ IT สำหรับบังคับ drone ให้ทำงาน ที่ tailor made ตามความต้องการของลูกค้า  

อีกอันหนึ่งเป็น design มันคล้าย ๆ Segway scooter ที่ตามสนามบินใช้  แต่อันนี่มันไม่มีคันบังคับมือจับ  ใช้บังคับที่ขาเท่านั้น  นี่ก็เป็น Design ของนักศึกษาที่เขาบอกว่าอันนี้มี Conflict ด้าน IP กับบริษัทต่างประเทศ ฟ้องกันอยู่   แต่ว่านักศึกษาก็ได้เรียกว่าคิดออกแบบ

ที่เซี่ยงไฮ้  รัฐบาลตั้ง INNO – BELT 1 (แปลว่ามีแห่งที่ 2   ไม่ทราบว่ามีกี่อัน)   ทำเรื่อง 3D Printing  เป็นหลัก มี Museum เลยเห็นไหมครับ Cultural Museum 3D Printing ใหม่เอี่ยมเลย  ในบริเวณ INNO – BELT ก็เป็นแบบเดียวกับ Town of Designers นั่นแหละ เป็นที่สำหรับอุตสาหกรรมที่เรียกว่า Focus ที่ 3D Printing มาทำงานออกแบบกัน    คือเป็นการเชื่อมโยงระหว่าง เทคโนโลยีกับศิลปะ

จุดที่สำคัญที่อยากจะแชร์ไอเดียในที่ประชุมนี้คือที่มหาวิทยาลัย Zhejiang ที่เราไปเยี่ยมชม  เราไปดูผลงานของ professor ทางวิศวะคนหนึ่งเขาทำวิจัยด้านพลังงาน   นักศึกษาปริญญาเอกทำงานเสร็จ ผลงานเด่น ได้รับรางวัล  แล้วอุตสาหกรรมก็เอาผลงานไปใช้  เพราะว่าโจทย์มาจากอุตสาหกรรม   professor บอกว่าเขาต้องตีพิมพ์ด้วย ตกลงโจทย์เป็นโจทย์ Innovation มาจากอุตสาหกรรม ทำเสร็จอุตสาหกรรมเอาไปใช้   อาจารย์เอามาตีพิมพ์  แล้วเนื่องจากมหาวิทยาลัย Zhejiang เป็น Top 3 ของสาธารณรัฐประชาชนจีน  ฉะนั้นอธิการบดีบอกว่าขอImpact Factor 5    อาจารย์วิศวะจะรู้นะครับ Impact Factor ทางวิศวะ 5 ไม่ง่ายนะครับ   ลงท้ายสาธารณรัฐประชาชนจีนรู้วิธีทำงานวิจัยแนวอุตสาหกรรม  ได้ผล 2 ต่อ คือ (1) ได้ Product หรือ Process ใหม่ ที่เป็น Innovation  (2) ได้ผลงาน Basic Research เอาไปตีพิมพ์   ท่านเห็นไหมครับ ทำงาน Basic จาก Application ได้ มันเปลี่ยนวิธีคิดหมดเลยนะครับ   Basic Research กับ Applied Research ไม่ได้แยกกัน อยู่ด้วยกันได้    แล้ว Applied ไม่ใช่  Applied  ธรรมดา  Applied Innovation คือปลายทางสุด  ให้เห็นว่าเราต้องฝึกทำอันนี้ให้เป็น  จะทำอย่างนั้นได้ต้องสามารถทำ Integration และ Collaboration ระหว่างศาสตร์และระหว่างหลาย ๆ ฝ่ายที่เรียกว่า “วิชาการข้ามแดน” ให้ได้

ในการเรียนของเรา เป้าหมายผลลัพธ์การเรียนรู้นี้ ทางซ้ายมือมันเก่าไป  มันต้อง Shift ไปทางด้านขวามือให้มาก ๆ   ซึ่งเรียนแบบรับการสอนจากอาจารย์จะไม่ได้ทางขวามือ  ต้องเรียนโดยการปฏิบัติ แล้วทำ Reflection นี่คือการศึกษาสมัยใหม่ที่มาจาก Neuroscience และ Cognitive Psychology หรือ Learning Science   ซึ่งขณะนี้วงการศึกษาไทยก็ยัง Shift ไปได้ไม่ดีเท่าที่ควร

การเรียนรู้ทุกระดับของการศึกษา จะต้องขยับ  คือว่าต้องเรียนจากการปฏิบัติ แล้วก็การปฏิบัติจริงในสถานการณ์จริงเป็น เรียกว่าดีที่สุด แต่บางทีก็อาจจะไม่ได้  อาจจะต้องเป็น Virtual  บ้าง   แต่ว่าปฏิบัติเฉย ๆ ไม่พอนะครับ ต้องตามด้วย Reflection  อาจารย์ต้องตั้งคำถามเชิง Reflection เพื่อให้นักศึกษาได้คิด  แล้วก็โยงไปสู่ทฤษฎีเก่า และหลายครั้งอาจจะเกิดทฤษฎีเล็ก ๆ อันใหม่เกิดขึ้นโดยนักศึกษาเอง  ผมมีตัวอย่างโรงเรียน (ถ้าใครสนใจเอาไปดูได้นะครับ) เด็กชั้นประถมจะสามารถคิดอะไรใหม่ ๆ ได้เยอะ  ไปเห็น Mind Map ที่เด็ก ป. 5 พอดีผมกำลังเขียนหนังสือเล่มหนึ่ง   ก็เอาหนังสือไปให้ลอง Practice ในชั้น ป. 5 แล้วเอาผลกลับมาให้ดูหน่อย เห็นแล้วตกใจเลย  ไม่น่าเชื่อเด็ก  ป. 5 อายุ 11 ปี  เขียน Mind Map ได้ซับซ้อนถึงขนาดนั้น   

อีกอย่างหนึ่งการเรียนที่สำคัญทางด้าน Education คือ   การเรียนแบบพร้อมที่จะ Transfer ไปใช้ในบริบทอื่น  คือถ้าเรียนตามทฤษฎีนี่มัน Fix   แต่การเรียนโดยการปฏิบัติ แล้วตั้งคำถามให้ Reflect  หากทำเป็น ผู้เรียนจะสามารถเอาไปใช้ในหลากหลายบริบทได้ อันนี้สำคัญมาก

“มหาวิทยาลัยแห่งอนาคต”  ต้องสามารถที่จะทำงานในลักษณะที่เรียกว่า ทำน้อยได้มาก   ทำงานในที่นี้ไม่ใช่แค่เรื่องการเรียนการสอนนะครับ เมื่อไร Interact กับนักศึกษา แปลว่าได้ 4 อย่าง ก็คือ 1) ได้ผลิตบัณฑิต 2) ได้บริการวิชาการ3) ได้วิจัย และ 4) ได้ทำนุบำรุงความดีงาม อยู่ในตัว   นี่คือความท้าทายอย่างยิ่ง ที่จะต้องทำให้ได้ และผมคิดว่าทำได้ครับ

ตัวเป้าหมาย  การทำหน้าที่นี้ก็ต้องเปลี่ยน   เปลี่ยนตามที่เขียนนะครับ จากการสร้างผู้มีความรู้ เป็นสร้างผู้ประยุกต์ใช้ความรู้เป็น แปลว่ามี Skill   แล้วก็มี Skill ในการเรียนรู้ต่อเนื่องไม่หยุด   ซึ่งต้องเปลี่ยนวิธีเรียน จากการรับถ่ายทอด มาเป็นการเรียนโดยการปฏิบัติและคิด  คือ Reflect   เปลี่ยนจากสถานการณ์จำลองมาเป็นสถานการณ์จริงให้มากที่สุด  ซึ่งบางทีก็ทำไม่ได้  และจาก Research คือแค่ได้ผลงานวิจัยเอาไปตีพิมพ์ กลายเป็น Innovation  

บัณฑิตแห่งอนาคต ต้องฝึกปฏิบัติเป็นหลัก  โดยใช้ Social Engagement Platform เป็นตัวช่วย แล้วผมมองว่า Social Engagement Platform นั้น  เป็น Assets เพื่อเป้าหมาย การทำภารกิจหลักของมหาวิทยาลัย  

USE คือ University Social Engagement Platform  เป็น External Engagement  ช่วยกันเปลี่ยนตัวเป้าหมายสังคม  เป้าหมาย 20 ปี ของรัฐบาล  เป็นทุนเพื่อเอามาทำงาน  นี่คือหัวใจสำคัญที่สุด เป็น External Engagement แต่สำหรับท่านผู้บริหารและอธิการบดีครับ Internal Engagement ก็ต้องไม่ลืม Internal Engagement เป็นเรื่องสำคัญด้วยนะครับ

การที่มหาวิทยาลัยในอนาคต  จะต้อง Transform  ต้องเปลี่ยน Culture เปลี่ยน Structure เปลี่ยนวิธีคิด ผลงาน วิธีทำงาน  มาอยู่บนฐานของความร่วมมือ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวนักศึกษา ผู้เรียนต้องไม่ใช่เป็นผู้มาดูดซับความรู้  แต่เป็นผู้มาเป็นส่วนหนึ่งของการ Create ความรู้ร่วมกับอีก 2 ฝ่าย  ก็คือทางฝ่ายภาคการศึกษา และภาคทำมาหากิน  คือ Real Sector  นี่คือหัวใจสำคัญที่สุด

เมื่อนักศึกษาเรียนรู้จากการทำงานร่วมกันในพื้นที่สร้างสรรค์  และอาจารย์  Facilitate โดยเป็นผู้ตั้งคำถามให้ reflect   เป็นการฝึกจิตใจ  ตามที่ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ศาสตราจารย์คลินิก เกียรติคุณ นายแพทย์ ปิยะสกล สกลสัตยาทร  กล่าวไว้ว่า  For The Benefit of Mankind “ไม่ใช่เรียนเพียงแค่เพื่อให้ได้ความรู้ ความฉลาดเท่านั้น  แต่เพื่อทำประโยชน์แก่ผู้อื่น”  มันจะเกิดจริงจากการปฏิบัติแล้ว reflect  โดยอาจารย์ต้องตั้งคำถามเป็น ก็จะได้ผลนั้น

เพราะฉะนั้นในการเรียนแบบปฏิบัติ ตามด้วยการตั้งคำถาม เพื่อ reflect นี้   ก็จะได้แรงบันดาลใจ  เป็นตัวสำคัญที่สุด   ในความเชื่อของผม Inspiration เหนืออื่นใดทั้งหมดในเรื่องการศึกษา  มากกว่า Knowledge อย่างมากมาย   เพราะ Inspiration เป็นบ่อเกิดความขวนขวาย   ส่วน Knowledge ไปหาเอาได้   สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือแรงบันดาลใจที่จะทำประโยชน์ให้แก่ผู้อื่นและแก่ส่วนรวม  ที่เรียกว่า Transcendental Purpose  จะเป็นตัวที่ทำให้ลูกศิษย์ของเรา หรือรวมทั้งอาจารย์ของเรา บรรลุเป้าหมายในชีวิตที่ยิ่งใหญ่ได้  โดย transcendental purpose เป็นตัว drive    มีหนังสือทางด้านจิตวิทยาออกมามาก  ว่าวิธีที่จะ inspire เด็ก   ทดลองทำวิจัยเลย  ครูบอกซ้ำ ๆ เรื่องประโยชน์ที่จะเกิดแต่ตัวเองนะ บอกซ้ำ ๆ อยู่เรื่อย กับอีกกลุ่มหนึ่งบอกซ้ำ ๆ ว่า เรียนตรงนี้แล้วก็จะทำประโยชน์ให้แก่โลก แก่สังคมได้ดี  ทำประโยชน์ให้แก่ผู้อื่นได้ดี  ปรากฏว่ากลุ่มหลังนี้  GPA  สูงกว่า มีผลงานวิจัยให้เห็นถึงว่า Transcendental Purpose นี้เป็นตัว Drive มนุษย์   ยิ่งใหญ่กว่าการเห็นแก่ตัว    ข้อสรุปอันนี้เป็น วิทยาศาสตร์ มีหลักฐานให้ความน่าเชื่อถือ  เป็นแรงสนับสนุนสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนกที่ได้ทรงเขียนไว้   “จงถือประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง  ประโยชน์ส่วนตัวเป็นกิจที่สอง   ลาภ ทรัพย์ และเกียรติยศ จะตกแก่ท่านเอง ...”   

การสร้างนวัตกรรมและการวิจัยสามารถทำในชีวิตจริงได้ มหาวิทยาลัย (Zhejiang) เขาได้ทำให้การสร้างนวัตกรรมกับการสร้างความรู้ ตีพิมพ์  กับการสร้างบัณฑิตปริญญาเอก อยู่ด้วยกัน

เป็นเรื่องของประเทศไทย  เราให้เห็นว่าระบบวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ  เราจะต้องเปลี่ยนจากซ้ายไปขวา คือเปลี่ยนไปสู่การที่มี Direction มี Purpose เป้าหมายที่ชัดเจนแน่นอน

ไปดูงานที่ประเทศอังกฤษ เขาสร้าง Criteria เลยว่า Research Impact  ไม่ได้มีแค่ Impact Factor อย่างที่มักจะยึดกัน  เขาบอกว่ามี 3 Impact  1) Impact to peers นี่คือ Impact Factor  2) Impact to students และ 3) Impact to society  คือต่อสังคม  อันนี่เป็นวิธีคิดที่จะทำให้คิดใหญ่

มหาวิทยาลัยต้องร่วมพัฒนาบ้านเมืองโดยการทำงาน 4 ด้านนี้  โดยการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ในการทำภารกิจหลัก   มีระบบจัดการแบบใหม่  มีสำนักงานที่จะรับผิดชอบ เป็น Engagement Office  มีบางมหาวิทยาลัยตั้งแล้ว  ผมเข้าใจว่ามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีตั้งแล้ว  มี Engagement  Office  และมีรองอธิการบดีท่านหนึ่งดูแล  หลายมหาวิทยาลัย ยังเป็นสำนักส่งเสริมหรือการศึกษาต่อเนี่องอะไรแบบนี้  อันนี้เป็น Concept ของเมื่อร้อยปีมาแล้ว  เริ่มจากทางด้านการเกษตรที่อเมริกา ตอนนี้คงต้องเปลี่ยน  

ต้องออกจากระบบที่ตกยุค  ซึ่งอยู่ในศตวรรษ 2-3 ศตวรรษที่แล้วคือเป็น Linear & Fragmented Function  หรือ Isolated Function เปลี่ยนเป็นทำงาน Integrated  Function

สุดท้ายครับ มหาวิทยาลัยแห่งอนาคต  ซึ่งผมก็ไม่ทราบว่าต้องทำอย่างไร ผมหาวิทยาลัยมเพียงเอา Idea มา Share กัน   จะดำรงอยู่ได้ ต้องมีประโยชน์คุ้มค่า   ถ้ามหาวิทยาลัยไม่เปลี่ยนแปลง และให้ประโยชน์ไม่คุ้ม  หลายแห่งก็คงต้องปิด   นั่นหมายความว่า Management Platform  ต้องเปลี่ยน  เพื่อที่จะให้สนองความคาดหวังใหม่ของผู้เรียนและของสังคมนี้ได้   หัวใจสำคัญที่สุดคือ ต้องออกไปนอก Comfort Zone  และทำงานร่วมกับหุ้นส่วนครับ ขอบพระคุณมากครับ

หมายเลขบันทึก: 661810เขียนเมื่อ 25 พฤษภาคม 2019 20:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 พฤษภาคม 2019 20:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท