"ถ้าอยากให้งานมีชีวิต ต้องใช้คำพูดที่มีชีวา"



ในงานมีสังคมอยู่ข้างใน การจะผลักดันให้ทีมก้าวไปข้างหน้าอย่างมีความสุขและประสบความสำเร็จร่วมกันได้นั้น จำเป็นมากๆครับที่ต้องอาศัยคำพูดที่เข้าถึงสังคม ตัวตน จิตวิญญาณของแต่ละคน เหล่านี้จะเรียกว่าศิลปะในการทำงานก็ได้นะ

ผมมักจะบอกกับทีมงานเสมอว่า "เราไม่ได้ทำโครงการแต่เรามาทำชีวิตและสิ่งแวดล้อมที่จะเกื้อกูลกันยาวไปจนคนรุ่นลูกรุ่นหลาน ทั้งทุกสิ่งที่เราทำ เราคิด เราพูดกันในแต่ละวันนี้ ฟ้าดินสิงศักดิ์สิทธิ์เป็นพยานรับรู้ บรรพชนบนฟ้าของเราท่านก็รับรู้ เจ้าที่เจ้าทางเทพยดาที่ปกปักรักษาสถานที่แห่งนี้ก็รับรู้"

อันนี้คำพูด ต้องเปล่งออกจากใจด้วยนะ สีหน้า แววตาเราจะบอกถึงความศรัทธาความตั้งใจที่ส่งออกไป

เราต้อง “มีชีวิต” ก่อนถึงจะชุบชีวิตใครได้

......................................................................................................................................

ชุมชนชาวบ้านจำนวนไม่น้อยอาจจะเริ่มรู้สึกเนือยๆหงอยๆกับคำว่า “กลไก” “ขับเคลื่อน” “ภาคี” “ตัวชี้วัด”

หลายที่น่าจะเริ่มเอียน อะไรๆก็กลไก ขับเคลื่อน จนหัวเคลื่อนหัวเวียนไปตามๆกัน

ผมเองก็พยายามหลีกเลี่ยงการใช้คำเหล่านี้กับชาวบ้านและชุมชน

ถ้าเรารักชาวบ้านเหมือนเช่นญาติพี่น้องเหมือนที่เราบอกในงาน

เราจะไม่ใช้คำว่า “กลไก” หรือ “ภาคี” กับเขา

เหมือนที่เราจะไม่ใช้คำว่า “กลไก” กับผัว-เมีย-ลูกๆของเรา

เราจะไม่ใช้คำว่า “ภาคีหุ้นส่วน” กับลุงป้าน้าอาของเรา

หรือใครเรียกพ่อแม่ว่าเป็นกลไกของตัวฉันบ้าง?

เรียกอย่างนั้น คงประหลาดคน

............................................................................................................................................

คำว่า “กลไก” “ขับเคลื่อน” “ภาคี” หรืออะไรทำนองนี้ เป็นภาษาแบบ mechanic เป็นภาษาที่สะท้อนและตอกย้ำวิธีคิดแบบฟันเฟืองเครื่องจักร

เป็นภาพของการคิดแบบแยกส่วน ที่พัฒนามาจากฐานคิดทุนนิยมอุตสาหกรรมที่มีพื้นฐานอยู่บนการแข่งขันเอาชนะ

แน่นอนว่ามันก็มีจุดแข็งของมัน โดยเฉพาะในการทำงานกับสิ่งไม่มีชีวิต

แต่หากเราจะใช้กับมนุษย์ซึ่งมีเลือดเนื้อ มีชีวิตจิตใจ ภายใต้โลกทัศน์แห่งยุคสมัยใหม่ที่เน้นการอยู่ร่วมกันฉันท์พี่น้อง การสมานฉันท์ การเห็นความเชื่อมโยงเป็นเหตุเป็นผลและแก้ปัญหาร่วมกันอย่างเมตตาและปัญญาเกื้อกูล เป็นนิเวศสังคมและจิตวิญญาณที่ไหลเวียนแทรกซึมและส่งผ่านถึงกันและกันเป็นองค์รวมอย่างไม่รู้จบ

เราต้องตัดรากถอนโคนเมล็ดพันธุ์ของการแยกส่วนและการมองคนเป็นเครื่องจักรที่แฝงไว้ในถ้อยคำเหล่านี้ด้วย

..........................................................................................................................................................

แน่นอนว่า ในระดับนโยบายคงหลีกเลี่ยงได้ยาก เพราะองคาพยพของฝ่ายที่ดูแลงานนโยบายเขาฝังหัวฝังรากมาอย่างนั้น ไม่เป็นไร เราก็ค่อยๆปรับกันไป แต่อย่างน้อยที่สุดในระดับปฏิบัติการ หรืออย่างน้อยสุดระดับตำบล และโครงการที่ไม่ได้ใหญ่มาก เราน่าจะปฏิรูประบบถ้อยคำอย่างนี้ออกไปได้แล้วหันมาใช้คำใหม่ๆที่จรรโลงใจและมีจินตนาการร่วมกันได้ง่ายและงามกว่า

เปลี่ยนคำว่า “กลไก” เป็น “กลุ่ม”หรือ “ชุมชน” ก็ได้

เปลี่ยนคำว่า “ขับเคลื่อน” เป็น “เดินหน้า” หรือจะ “โบยบิน” ก็ไม่เลว

เปลี่ยนคำว่า “ภาคีหุ้นส่วน” เป็น “กัลยาณมิตร” อันนี้ไพเราะและครอบคลุมมิติอื่นๆกว่ามาก

ใครจะบอกว่า ถ้อยคำไม่มีผลต่อจิตใจและพฤติกรรม

งั้นเย็นนี้ ไปเรียกคนที่บ้านว่า “ไงจ๊ะ..สุดที่รัก” หรือจะเรียกว่า สวัสดี “กลไก”

ผลลัพธ์ต่างกันแค่ไหน ไปพิสูจน์กันเอง

..........................................................................................................................................................

การสื่อสาร บางทีก็ไม่ใช่มุ่งแต่การไปทำสื่อ ทำคลิป ทำป้ายรณรงค์มากมาย

เบสิคพื้นฐานง่ายๆนี่ไม่ค่อยเสียตังค์ แต่ต้องอาศัยการเปิดใจและความกล้าหาญนี่แหละสำคัญสุด

เราใช้ถ้อยคำอย่างไร สุดท้ายมันก็ Outside-in กลับมาข้างใน

อันนี้แหละที่ลึกไปอีกขั้น

หมายเลขบันทึก: 678583เขียนเมื่อ 12 กรกฎาคม 2020 16:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กรกฎาคม 2020 16:53 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท