Self Talk เรียน รู้ ร่วม คิด e.p.6 การฝึกฝนตนเอง , ชุมชนเรียนรู้ , และ New Normal


เกริ่นนำ :

บันทึกนี้ เป็นบันทึกที่ผมเขียนเป็น Reflection ในแบบ "Self Talk" หลังจากดูคลิปวิดีโอ เรียนรู้ร่วมคิด e.p.6- การฝึกฝนตนเอง , ชุมชนเรียนรู้ , และ New Normal ที่อาจารย์ชัยวัฒน์ ถิระพันธุ์ ได้สนทนากับคุณอุ๊ กรรณจริยา สุขรุ่ง ใครสนใจดูคลิปนี้ได้ทาง Youtube นะครับ ที่ 

https://www.youtube.com/watch?v=vxPLDPaZlfw&feature=youtu.be&fbclid=IwAR2jLoaFgDD0MYlBYUydhcRYr3v6akspLgarP7W3yVHfJTGYKO1Pb_xs6sQ

-----------------------------------------------------------------------------------------------------------

25 พ.ค.63 เข็มนาฬิกากำลังชี้ที่ 16.20 น.

ห่างจากการเขียน Self Talk ไปได้แปดวัน ก็ถึงคราวที่จะต้องกลับมาเขียนอีกครั้ง

จะว่าไปก็เป็นความตั้งใจที่จะเว้นระยะห่างในการเขียนของเราเอง คือไม่เขียนติดๆกันมากไป กลัวงานไม่มีคุณภาพ 555 เพราะพักหลังนี่ก็เขียนอะไรๆลงในเฟสลงในบล็อกในทำนอง Self Talk หลายเรื่อง เอาเป็นว่าสำหรับการติดตามดูคลิป e.p. ต่างๆนี่ เราเขียนสัปดาห์ละครั้งน่าจะกำลังดี เอาไปลงในไลน์ Leaders by Heart จะได้ไม่เฝือด้วย ให้เวลาสมองกับความคิดอ่านมันตกตะกอนบ้าง

“มองเข้าไปในหัวใจตน” วันนี้หัวใจมันบอกตัวเองอย่างนี้

...............................................................................................................................

ดูคลิปใน e.p. 6 นี่ มีอะไรโดนใจอยู่สามเรื่อง

เรื่องแรก ประโยคของเกอเธ่ก็ดี ของพระพุทธเจ้าที่สอนพระสารีบุตรก็ดี ที่สอนให้เราปฏิบัติต่อผู้อื่นตามศักยภาพที่เขาสามารถจะเป็น ไม่ใช่ตามที่เขาเป็น

อันนี้ตรงกับที่เรามักจะบอกน้องๆในทีมงานเสมอว่า เราไม่ได้มาหนุนเสริมเขาเพราะเขาเป็นคนปางมะผ้า หรือเป็นแค่คนกะเหรี่ยง คนลีซู ลาหู่อำเภอปางมะผ้า แต่เรา treat เขา เพราะเราเห็นว่าเขาเป็นตัวแทนประเทศไทยที่มีโอกาสสร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ

เขาไม่ใช่กะเหรี่ยงบ้านนั้น ไม่ใช่แค่ลีซูบ้านนี้ แต่พวกเขาเป็นตัวแทนของกะเหรี่ยงอีกหลายประเทศในโลก เป็นตัวแทนลีซูอีกหลายๆประเทศที่ยังเข้าไม่ถึงโอกาส

เรามักจะบอกน้องๆในทีมว่า ทำเพื่อท้องถิ่นนั้นดี แต่ต้องมองให้กว้างด้วยว่า ท้องถิ่น อำเภอมันมาทีหลัง จริงๆรากเหง้ากำพืดสาแหรกของเราใหญ่กว่านั้นมาก

เราจะไปได้ไกลแค่ไหน ขึ้นอยู่กับขอบเขตของความคิด และความรู้สึกที่เราเชื่อมโยงกับสิ่งต่างๆรอบตัวเหล่านั้น

หน่วยงานต่างๆ อาจจะมองว่าพวกเขาเป็นทรัพยากรของท้องถิ่น นั่นก็ไม่ผิด ทุกคนมาช่วยอำเภอกัน แต่สำหรับผม ผมจะย้ำเรื่องนี้กับพวกเขาเสมอ

ตำบล อำเภอ จังหวัด มันเป็นสิ่งที่รัฐจัดตั้งขึ้น โอเค มันดีตรงที่ช่วยให้เราเห็นเขตการปกครองชัด ช่วยให้ราชการบริหารจัดการงานพัฒนาต่างๆง่าย แต่ในด้านลบก็มีหลายอย่าง อย่างน้อยที่สุดมันก็มาซ้อนทับและกดทับเขตความสัมพันธ์ในรูปแบบอื่นๆ โดยเฉพาะความสัมพันธ์ทางเครือญาติและชาติพันธุ์

ความเป็นคนกะเหรี่ยง คนลีซู คนลาหู่ จึงลึกซึ้งและกว้างขวาง มีพลังกว่าความเป็นของอำเภอนั่นนี่โน่น

เชื่อมความเป็นคนชาติพันธุ์ รากเหง้า บรรพบุรุษของตนที่กระจัดกระจายอยู่หลายที่ทั่วประเทศ หรือแม้แต่ต่างประเทศ ให้เราเห็นตัวเอง รู้สึกว่าตัวเองเชื่อมเป็นส่วนหนึ่งกับเครือข่ายพี่น้องเหล่านั้น แล้วเอาพลังมาใช้พัฒนาท้องถิ่น

อันนี้ คือศักยภาพของน้องๆกลุ่มชาติพันธุ์ในทีม ที่หน่วยงานในอำเภอ ในจังหวัด ไม่มีใครคิดถึง แต่เราพยายามพูดกระตุ้นตัวน้องๆในที่ประชุมตลอด

บางคนก็คงรู้สึก แต่ก็อาจจะพูดอะไรออกมายาก เพราะความเป็นอำเภอมันกดตัวตนเขาอยู่

อันนี้อยากบอกคนที่ชอบทำงานแบบ Area Based ให้ระวัง ตัวเองแบก “วาทกรรม Area” ไม่พอ ยังเอา Area ไปให้คนอื่นเขาแบกอีก

ถ้าเป็นเช่นนั้น พระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นคนอินเดีย คงพัฒนาเฉพาะอินเดียให้เป็นศูนย์กลางแห่งเดียวก็พอ ท่านคงไม่ส่งสาวกมาประกาศศาสนาในประเทศไทย หลวงพ่อชา ก็คงไม่สร้างลูกศิษย์ลูกหากระจายไปถึงฝรั่งมังค่า อาจารย์ชัยวัฒน์กับผมก็คงได้เรียนแต่มวยไทย ไม่รู้จักเซน เต๋า ไอคิโด ถ้าเรายึดมั่นถือมั่นในกรอบคิดเชิงพื้นที่ว่าสำคัญกว่าศักยภาพในเนื้อในตัวในจิตวิญญาณของปัจเจกชน

ขอบคุณ ที่อาจารย์กับอุ๊ ช่วยเน้นย้ำเรื่อง ศักยภาพของมนุษย์ในฐานะปัจเจกตรงนี้ให้เห็นชัดขึ้นนะครับ

-------------------------------------------------------------------------------------------------------------

พักสมองแป๊บ ไปเล่นเน็ตเพลินๆ เดี๋ยวกลับมาต่อ……………….

--------------------------------------------------------------------------------------------------------------

ประเด็นที่สอง ประโยคที่โดนใจ อันนี้มาจากอุ๊เลยนะ ที่ทวนว่า “ทำไมสิ่งที่เรียนมาจึงไม่ได้ผลดี”

โห ประโยคนี้เราเองก็เพิ่งโพสต์ในเฟสเมื่อวาน อะไรมันจะตรงกันอย่างนั้น สงสัย Implicated Order จะทำงาน

นี่บังเอิญหลายๆ อย่างในหนังสือ  Synchronicity (ใครยังไม่ได้อ่านนี่ โค-ตะ-ระ เสียดาย) ซึ่งอาจารย์ก็ตอบว่ามันมีเหตุมาจากหลายปัจจัย ทั้งตัวเรา ตัวเขา กาลเทศะ ประกอบกัน มันออกแบบเป๊ะๆไม่ได้ แต่อย่างน้อยถ้าตัวเรา ซึ่งถือว่าเป็น 1 ใน 3 องค์ประกอบมันได้นะ มันก็เพิ่มโอกาสเพิ่มความเป็นไปได้มากขึ้น

เพราะฉะนั้น อย่าไปคิดว่า กูเก่ง กูแน่ มีแผนรอบคอบสารพัด แล้วจะทำได้ (เห็นมาเยอะ) อันนั้นนอกจากจะไปไม่รอดแล้วยังน่าหมั่นไส้ แต่ไม่ดีครับ เมตตาๆๆ (ตัวหมั่นไส้ก็ให้รู้ว่าหมั่นไส้นะ แล้วค่อยๆชวนไปเป็นเพื่อนกับนางสาวเมตตา เดี๋ยวมันก็ร่วมหอลงโรงกันเอง เห็นแล้ววางๆ เบิกบานๆ)

ทวนอีกที “ทำไมสิ่งที่เรียนมาจึงไม่ได้ผลดี”

I know that I don’t know อันนี้ อุ๊ถามในสภาวะ Based on Knower ไม่ใช่ Learner

เราไม่ได้ดูผ่านๆนะ ไม่ได้ดูที่อุ๊ถาม ไม่ได้ดูคำถามแต่ดูการถาม หรือสภาวะที่อุ๊ถาม (ไม่ได้ตั้งใจดูด้วย แต่จิตมันไปของมันเอง) อันนี้ถ้าเชื่อมโยงการถามกับวงจรการเรียนรู้อันลึกซึ้งใน e.p ที่แล้วได้เราจะ get อันนี้ขอบอก...ชื่นชมๆ

------------------------------------------------------------------------------------------------

ไปๆมาๆ อุ๊ก็ได้คำตอบนั้นเอง จะโดยรู้หรือไม่รู้ตัวก็แล้วแต่ แต่อาจารย์ชัยวัฒน์เป็นครูที่ช่วยแนะกลวิธีให้คำตอบมันมาจากส่วนลึกของคนถามเอง อันนี้เริ่ด

คำตอบที่ได้กลายเป็นปัญญารวมหมู่ เพราะอีโก้ของ “ผู้รู้” หายไปแล้ว

ย้อนไปสู่คำถามที่อุ๊ผุดขึ้นมาว่า “ทำไมสิ่งที่เรียนมาจึงไม่ได้ผลดี” และในที่สุดมันก็ไปพ้นจากการแบ่งคู่ตรงข้ามแบบแยกขาดว่า “ดี-ไม่ดี” เพราะ ไปๆมาๆสรุปได้การเรียนรู้ของพวกเราเป็นแบบขั้นบันได มันเป็นกระบวนการที่เป็นแนวราบสลับกับแนวดิ่ง แนวราบบางขั้นอาจจะสั้นบางขั้นอาจจะยาว แต่มันก็ยังเป็นกระบวนการเดินทางไปข้างหน้า (หรืออาจจะถอยหลังลงก็ได้นะ----อันนี้เราคิดเติมเอง) แต่มันไม่เคยนิ่ง ถึงจะนิ่งก็นิ่งได้ไม่นาน เพราะยืนนานๆมันก็เมื่อย มันผิดธรรมชาติ

สิ่งที่เราเรียนมาจึงมีช้ามีเร็ว มีหยุดบ้าง แต่มันไม่เคยนิ่งสนิทเหมือนติดกาวตราช้าง จะว่าไปมันก็ได้ผลดีอยู่ทุกวันแหละ (อันนี้คิดเชิงบวกนะ) แต่ดีวันละนิดๆ ไม่ใช่กระโดดข้ามขั้นขึ้นบันได อันนั้นก็อาจจะทำได้ แต่ก็ไม่บ่อย ก็อาจจะมีบ้าง

อันนี้เหมือนกับที่หนังสือ Mastery ของ George Leonard ซึ่งเป็นอาจารย์ไอคิโดท่านหนึ่งเขียนไว้เลย ในหนังสือ Micro Mastery หรือ วิชาจิ๋ว ในภาษาไทย ของ Robert Twigger ก็เขียนทำนองเดียวกันนี้

ในขณะเดียวกัน สิ่งเราเรียนมามันก็อาจจะถอยหลังลงทีละนิดๆก็ได้นะ หนักเข้าก็ร่วงข้ามขั้นบันไดลงได้เช่นกัน ตรงนี้ ทำให้เราคิดต่อจากคำถามของอุ๊ว่า ก่อนที่จะถามคำถามนี้นั้น ต้องรู้ก่อนว่า เฮ้ย นี่เรากำลังขึ้นบันได หรือเรากำลังลงบันไดหว่า

“ทิศทางจึงสำคัญกว่าความเร็ว” และจะเห็นทิศทางได้ ต้องมีองค์ประกอบหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการเห็นภาพองค์รวม และมีสภาวะด้านในที่พร้อม

อันนี้ จะขึ้นบันไดหรือลงบันได ต้องรู้ชัดก่อน อย่ารีบเดินจนเกินไป

ภาพบันไดเลื่อนโผล่ขึ้นมาในหัว เอ่อ อันนี้จะเอาไง ก็คงใช้เท่าที่จำเป็นนะ เพราะต้นทุนมันสูงมาก และใช้นานๆคนใช้ก็ไขมันรับประทานเพราะไม่ได้ออกกำลังกาย ไม่ได้ใช้ศักยภาพร่างกาย ไม่ได้มีความภาคภูมิใจในแต่ละก้าวย่างของตน

และแต่ละก้าวมีจักรวาลอยู่ข้างใน ถ้าเราใช้บันไดเลื่อนที่มุ่งไปให้ไว เมื่อใจไปไกลกว่าเท้า ใครเล่าจะมองเห็น

การ Slow Down จึงเป็นสิ่งจำเป็น

เหมือนที่เรา (และท่าน) กำลังทำผ่านตัวหนังสือและจิตวิญญาณอยู่ ณ เวลานี้

-----------------------------------------------------------------------------------------------------

ชากุหลาบในแก้วเย็นลงนานแล้ว ต้องใส่น้ำร้อนอีกรอบ รอบที่สองนี่จะหอมกรุ่นละมุนลิ้นกว่ารอบแรก

จะชงชานี่ต้องรู้จักชา ซึ่งมีองค์ประกอบและรายละเอียดอีกเยอะแยะ

จะ “ชงคน” นี่ก็ต้องรู้จักคน และองค์ประกอบอีกมากมาย

ถ้าเราจับสังเกตดีๆ แม้ในขณะที่กำลังดูครูสอนผ่านคลิปออนไลน์ ครู “ใบชา”ออฟไลน์อยู่ใกล้ๆก็กำลังสอนเราในบทเรียนที่คล้ายคลึงกันโดยมิได้นัดหมาย

Rhythm of Life แว่วกังวานอยู่ภายใน ถ้าเรานิ่งพอ....เราจะได้ยิน

-------------------------------------------------------------------------------------------

ในชื่อ e.p.นี้ มีชื่อตอนอยู่ด้วยกันสามคำประกอบกัน หนึ่งคือการฝึกฝนตนเอง สองคือชุมชนเรียนรู้ และสามคือ New Normal

ตะกี้พูดเรื่องแรกไปแล้ว ทีนี้มาเรื่องที่สอง คือชุมชนเรียนรู้

เรื่องชุมชนเรียนรู้ หรือ Community of Practices นี่อาจารย์พูดมาหลายตอนแล้ว ถามว่า สิ่งที่เป็นความรู้ใหม่ใน e.p.นี้คืออะไร

เราคิดว่าเป็นเรื่องของความเข้าใจสถานการณ์ข้อจำกัดของชุมชนเรียนรู้ที่เราเป็นกันอยู่ อันนี้ อาจารย์ฉายภาพว่ามันมีข้อจำกัดเรื่องภาระของแต่คน ปัญหาปากท้อง แถมลักษณะปัญหาของชุมชนแต่ละแห่งก็หลากหลายมาก จะให้ไปแข็งแกร่งเป็นเอกภาพอย่างชุมชนแบบคณะสงฆ์หนองป่าพงหรือเยซูอิต มันก็เป็นไปไม่ได้ และแต่ละคนก็มีเวลาไม่พอที่จะมาคุยกัน

สำหรับเราตรงนี้ มีค้างคาใจนิดนึงว่า อืมม ถ้างั้นแล้ว “ชุมชนการเรียนรู้” แบบที่เราเป็นกันอยู่นี่ มันมีจุดแข็งยังไงบ้าง เห็นมีข้อจำกัด มีจุดอ่อนหลายอย่าง มันมีจุดแข็ง หรือจุดที่ควรเสริม จะว่าไปมันก็อาจจะคล้ายกับ OKR คือ อาจจะไม่ต้องไปเพ่งที่การกำจัดจุดอ่อนก็ได้นะ  เอาจุดแข็งที่มีของคนในชุมชนมารวมกันให้เกิดพลังใหม่ แล้วจุดอ่อนมันจะเบาลงไปเอง อันนี้ก็น่าจะเป็นวิธีการจัดการอีกแบบหนึ่ง

พอพูดให้เห็นสภาพการณ์ของชุมชนเรียนรู้ หรือ ชุมชนปฏิบัติ นั้นก็ดี ทำให้เรารู้สึก อ่อนโยน เริ่มมีเมตตา เข้าใจมนเงื่อนไขของคนอื่นๆที่ทำไม่ได้ แต่อีกด้าน พอไปพูดถึงแต่ข้อจำกัดแล้วมันแป๊กเลย รู้สึกว่าไปต่อไม่ได้

หัวข้อนี้ ยังไม่สุดน่ะ เหมือนกินข้าวเสร็จไม่ได้กินน้ำ มีโอกาสน่าจะคุยกันต่อนะ หรือไม่งั้นพวกเราก็น่าจะหาโอกาสคุยกันเอง

--------------------------------------------------------------------------------------

สวิสต์ไปหัวข้อสุดท้าย “New Normal” อาจารย์โชว์ภาพรูปลักษณ์ของ Old Normal กับ New Normal ว่าเป็นรูปถ้วยหงายสองอัน มีสังคมแกว่งไปแกว่งมาในถ้วย

โห อาจารย์นี่จินตนาการได้ไงนี่ ถ้าเป็นหมอกับนักสถิติไม่แน่ก็คงจะคิดจะเขียนได้เหมือนกัน แต่ช้ากว่าแน่ๆ

เราคิดต่อจากถ้วยของอาจารย์ชัยวัฒน์ว่า ถ้าอาจารย์วาดรูปถ้วย เราก็อยากวาดรูปสังคมในถ้วยของอาจารย์ เป็นลูกเต๋านะ ก็มัน VUCA WORLD แกว่งไปแกว่งมา แถมจะออกอะไรก็ไม่รู้

ที่คนชื่อยอด คิดถึงลูกเต๋าได้ อันนี้ไม่มีเชี่ยงชุนนะ ชากุหลาบล้วนๆ สติยังแจ่มแจ๋วครับ

หลายๆคนหลายๆข่ายมักคิดว่าคนที่มีความมั่นคงทางอาหารดี ความมั่นคงทางทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า จะปรับตัวได้ แต่คิดว่า ในยุคนี้ทรัพยากรที่สำคัญมากกว่า คือความรอบรู้ หรืออาจจะเรียกโก้ๆว่า “ทุนทางปัญญา”

คนเหล่านี้ อาจจะไม่มีที่ทาง แต่สามารถสร้างใช้ทุนทางปัญญาในการปรับตัวเอาชีวิตรอด  หลบเลี่ยงการฉ้อฉล และภัยคุกคามในรูปแบบใหม่ๆที่นับวันจะมากขึ้นเรื่อยๆ ทุนทางปัญญาหมายรวมถึงความรอบรู้ด้านสุขภาพแบบร่วมสมัยและสามารถวิเคราะห์ข้อมูลที่มาจากทุกทิศทางด้วย

เรากลับคิดว่า ระยะแรกๆของ After Shock จาก COVID-19 นี่ กลุ่มชาวไร่ชาวนาที่มีฐานอาหารจากป่า จากทะเล จากที่ทำกิน นั้นอาจจะโอเค ยันไว้ได้ในระดับหนึ่ง แต่หลังจากนั้นสองสามปี ถ้าพวกเขาไม่เสริมทุนทางปัญญาเข้าไป มัวแต่รอกินบุญเก่า หรือขับเคลื่อนบน Platform กลยุทธ์เดิมๆ กระบวนทัศน์และภาคีหน้าเดิมๆ พวกเขาจะกลายเป็นเบี้ยให้กลุ่มที่มีฐานอำนาจเศรษฐกิจ ข้อมูลข่าวสาร และอำนาจทางการเมืองมากกว่า

แม้ว่าเรากำลังเข้าสู่ยุคแห่ง “จิตวิญญาณแห่งกาลเวลา” ที่คนเริ่มแสวงหาการพัฒนาในกระบวนทัศน์ใหม่ที่ไม่ใช่การต่อสู้ทางชนชั้นหรือกลุ่มการเมืองแบบเดิม แต่มันก็ยังไม่ง่ายเสียทีเดียว COVID-19 ในปัจจุบันในบ้านเรา มันยังไม่ถึงขั้นมองเห็นความจำเป็นของการปรับรื้อหรือปฏิรูปโครงสร้างอำนาจเพื่อกระจายการมีส่วนร่วม เรื่องจิตสำนึกนั้นวัดยาก เราเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่คงมาแน่ แต่เราไม่อาจจะรู้ได้ชัดเจนว่าลูกเต๋าประเทศไทยบนถ้วยแห่ง New Normal มันจะออกมาเลขอะไร

แต่ถึงไม่รู้ตัวเลข ก็ยังดีที่เรารู้ทิศทาง

และนั่นคือสภาวะ I Know that I don’t know ที่เรา “รู้” ด้วยความนิ่งและนอบน้อม

ส่วนจะไปต่ออย่างไร คำตอบอยู่ใน e.p.ที่ 5

-----------------------------------------------------------------------------------------------

19.27 น.

Self Talk เพลินๆ รวมเวลาเดินเล่นก็สามชั่วโมงล่วงมา

เอวัง e.p.5 ก็จบลงด้วยประการนี้

หมายเลขบันทึก: 677624เขียนเมื่อ 25 พฤษภาคม 2020 19:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 มิถุนายน 2020 14:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท