ชีวิตที่พอเพียง 3702. มนุษย์นักเล่าเรื่อง


หนังสือ The Storytelling Animal : How Stories Make Us Human (2013) เขียนโดย Jonathan Gottschall บอกว่า    เรื่องราว (story) เป็นธรรมชาติของมนุษย์    ชีวิตมนุษย์ขาดเรื่องราวไม่ได้  

เรื่องราวที่เป็นส่วนหนึ่งและมีคุณค่ายิ่งต่อชีวิตคือฝันกลางคืน กับฝันกลางวัน    ฝันกลางวันแปลว่าใจลอย    ซึ่งก็คือจิตใจไม่อยู่กับปัจจุบัน หันไปอยู่กับอดีตและอนาคต    ฝันกลางคืนเป็นการเอาเรื่องราวในสมองมาจัดระเบียบใหม่    ทั้งหมดนั้นเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตมนุษย์   ทำให้มนุษย์เป็นมนุษย์    และเป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่ได้มาจากวิวัฒนาการ   

ตกลงมนุษย์เราเป็นทั้งนักฟัง และนักรับรู้เรื่องราว    เป็นนักเล่าเรื่องให้ตนเองและให้คนอื่นฟัง    ใจลอยแปลว่าสมองกำลังเล่าเรื่องให้ตนเองฟังนะครับ    ฝันก็น่าจะมองว่าเป็นการเล่าเรื่องให้ตนเองขณะหลับ แม้ขณะหลับคนเรายัง “ดูหนัง” อยู่นะครับ    หากความคิดข้างต้นเป็นจริง ผมก็เป็นนักดูหนังที่ไม่เอาไหน ทั้งขณะตื่นและขณะหลับ

การอ่านหนังสือนวนิยาย และดูหนัง    ก็เป็นทั้งรับรู้เรื่องที่เขาบอก และทั้งที่จินตนาการเองผสมเข้าไป    นี่คือคุณสมบัติพิเศษของมนุษย์ ... จินตนาการ (imagination)    ซึ่งหมายถึงรับรู้เรื่องราวที่ไม่มีจริงได้     เพราะมนุษย์เราจินตนาการเก่งนี่แหละครับ เราจึงมีความสร้างสรรค์ (creativity)    เราสามารถสร้างสิ่งที่เราไม่เคยเห็นไม่เคยพบได้ 

นั่นคือ มนุษย์มีธรรมชาติเสพติดเรื่องราว    และใช้เรื่องราวในการพัฒนาตนเอง และพัฒนามนุษยชาติ    มนุษย์เป็นสัตว์ชนิดเดียวที่เล่านิทานให้ลูกฟัง    และใช้กล่อมลูกให้หลับ    นิทาน นิยาย มีบทบาทช่วยให้มนุษย์ได้ผ่อนคลาย    ลดความเครียดจากชีวิตจริง    ช่วยให้สุขภาพจิตดี  

จริงๆ แล้วชีวิตคนเราทุกคนอยู่ ในสองโลกนะครับ  คือโลกจริง กับโลกสมมติ    คือโลกที่เกิดขึ้นจริง กับโลกที่เราสร้างขึ้นในใจ    มีสารพัดกิจกรรมและเครื่องมือ ที่ช่วยให้มนุษย์ได้เสพสิ่งที่ตนเองสร้างขึ้นในใจ เพื่อความเพลิดเพลิน    เพื่อความผ่อนคลาย และเพื่อการพัฒนาตนเอง    โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การพัฒนาสมอง   

ทำให้ผมระลึกถึงการประชุมคณะกรรมการมูลนิธิโรงเรียนรุ่งอรุณเมื่อต้นปี ๒๕๖๓    มีการนำเสนอผลงานของสำนักพิมพ์สานแสงอรุณ คุณเกื้อกมล นิยม ผู้จัดการสำนักพิมพ์บอกว่า หนังสือภาพนิทานสำหรับเด็กสมัยนี้    ต่างจากหนังสือสมัยก่อน   คือสมัยนี้มีแต่ภาพ ไม่มีตัวหนังสือ    สำหรับให้เด็กดูรูปแล้วเล่าเรื่องราวเอง    เด็กชอบมาก แต่ผู้ใหญ่งง    เพราะหลงคิดว่าหนังสือนิทานสำหรับเด็กใช้สำหรับให้พ่อแม่อ่านให้เด็กฟัง    กลับกลายเป็นว่า เด็กชอบเป็นผู้เล่าเรื่องมากกว่า    นี่คือธรรมชาติของมนุษย์นะครับ

หนังสือการ์ตูนไร้ตัวหนังสือจะช่วยให้เด็กได้ฝึกจินตนาการ    พัฒนาความริเริ่มสร้างสรรค์

ชีวิตของมนุษย์จึงอยู่กับเรื่องราวที่สร้างขึ้น โดยไม่ได้เกิดขึ้นจริง    และหนังสือบอกว่า เรื่องปัญหาหรือความยากลำบากเป็นเรื่องยอดนิยม    มิน่า สื่อมวลชนจึงจับจุดเอาเรื่องความขัดแย้งมาตีไข่ใส่สีขาย    เขารู้วิธีจับเส้นมนุษย์นะครับ    รวมทั้งการแสดงก็ต้องมีพระเอกผู้ร้าย นางเอกนางร้าย    เรื่องราวความวุ่นวาย ความขัดแย้ง เป็นเรื่องน่าสนใจ สำหรับมนุษย์  

จากเรื่องสมมติ มนุษย์จึงได้เรียนรู้เอาไปใช้ในชีวิตจริง    ซึ่งหมายความว่า เรื่องสมมติ หรือสร้างขึ้นหลอกๆ นั้น ก็มีที่มาจากชีวิตจริงนั่นเอง    คือมนุษย์เราเรียนรู้จากเรื่องหลอกๆ หรือสถานการณ์สมมติ

การฝึกเผชิญสถานการณ์ที่เล้วร้าย หรือวิกฤติ มักใช้การจำลองสถานการณ์ ที่เรียกว่า simulation   ตัวอย่างเช่นสถานการณ์ฉุกเฉินของเครื่องบิน   หรือสถานการณ์ช่วยชีวิตคนหัวใจหยุดเต้น    การฝึกซ้อมที่ดี ผู้เข้าซ้อมจะรู้สึกเหมือนเผชิญสถานการณ์จริง    โดยมีกรวัดการเต้นของหัวใจและคลื่นสมองของผู้เข้าซ้อม พบการเปลี่ยนแปลงเหมือนเผชิญสถานการณ์จริง    เรารู้ว่าซ้อม แต่สมองคิดว่าจริง  

สมองทำหน้าที่บูรณาการสารสนเทศขึ้นเป็นเรื่องราวที่มีความหมาย    โดยที่ในชีวิตจริงมนุษย์แต่ละตนได้รับสารสนเทศเข้ามามากมาย ซับซ้อน และมีหลายมิติ    การตีความสู่ความหมายจึงทำได้สารพัดแบบ    คนหนึ่งก็ตีความอย่างหนึ่ง    และอาจมีบางคนตีความสู่ความหมายที่ตรงกันข้ามกับความเป็นจริงไปเลยก็ได้    ไม่เป็นเรื่องแปลก    และนั่นคือการโกหก และการตอแหล    และที่สำคัญคือ การตีความสารสนเทศชุดเดียวกัน โดยต่างคน    อาจมีความลุ่มลึกแตกต่างกันได้มากมาย             

เรื่องราวมีอิทธิพลต่อความเชื่อและพฤติกรรมของคนจำนวนมาก    ดังนวนิยายเรื่อง Uncle Tom’s Cabin มีส่วนนำไปสู่สงครามกลางเมืองของสหรัฐอเมริกา    จากการชี้ให้เห็นอธรรมหรืออยุติธรรมในสังคมที่มีทาส   

สิ่งที่ต้องเข้าใจคือ เป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่จะเล่าเรื่อง    และต้องเข้าใจว่า เรื่องที่เล่าไม่เป็นเรื่องจริงเสมอไป    มนุษย์มีธรรมชาติสร้างเรื่องไม่จริงแบบหน้าตาย โดยที่ตัวเองก็ไม่รู้ตัว    หรือที่ผมตีความว่า มี คนที่โกหกตัวเองได้หน้าตาเฉย    และในโลกยุคไอที    การเล่าเรื่องก็ซับซ้อนขึ้นไปอีก    คือมีนวนิยายประเภทที่เรียกว่า MMORG (massively multiplayer online role-playing game)    ที่ผู้เสพร่วมเป็นผู้แสดงด้วย    ร่วมกับผู้เสพอีกหลายคน    หนังสือบอกว่าโลกแห่งนิยายจะซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ    จนในที่สุดจะมีคนหลุดเข้าไปอยู่ในนิยาย จนกลับออกมาสู่ชีวิตจริงไม่ได้      

วิจารณ์ พานิช

๒๘ เม.ย. ๖๓                                                                                                                                                                                     

     

หมายเลขบันทึก: 677622เขียนเมื่อ 25 พฤษภาคม 2020 19:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 พฤษภาคม 2020 19:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท