ตามแผนการศึกษา พ.ศ. 2445 จัดแบ่งการศึกษาออกเป็น 2 ลำดับคือ สามัญศึกษา และวิสามัญศึกษา
สามัญศึกษา (General Education) ได้แก่ การศึกษาต่างๆ ในวิชาความรู้และการฝึกหัดอย่างใดๆ ที่เป็นสิ่งสามัญ ที่บุคคลทุกคนควรมีควรรู้ สำหรับเป็นหนทางที่จะประกอบการหาเลี้ยงชีพ และดำรงตนเป็นพลเมืองดีต่อไป และเพื่อเป็นทุนในการที่จะศึกษาเล่าเรียนวิชาความรู้แขนงอื่นต่อไปอีก ได้แก่ การรู้หนังสือ รู้เลข รู้ภาษาพูดกันให้เข้าใจดี ให้มีศีลธรรม และวัฒนธรรมอันดี เป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของกรมศึกษาธิการ
การศึกษาสายสามัญศึกษาแบ่งออกเป็น 3 ตอนคือ การศึกษาชั้นต้น เรียกว่าประถมศึกษา การศึกษาชั้นกลาง เรียกว่ามัธยมศึกษา และการศึกษาชั้นสูง เรียกว่าอุดมศึกษา ในชั้นประถมศึกษานั้น จะสอนวิชาความรู้สามัญ ได้แก่ ผู้ที่ยังไม่มีความรู้เลย ให้มีความรู้พอสมควรแก่การที่จะทำให้ผู้นั้นเป็นพลเมืองดี ซึ่งทั้งนี้ย่อมแล้วแต่รัฐจะต้องการว่าจะให้มีความรู้ขั้นต่ำสุดในระดับใดเป็นเกณฑ์ ผู้ที่จบความรู้ชั้นประถมศึกษาแล้วจะได้รับประกาศนียบัตรประโยค1 เป็นสำคัญ มีทางเลือกสำหรับดำเนินชีวิตของตนเอง 3 ทางคือ ทางที่ 1 ออกไปประกอบอาชีพตามความสมัครใจของตนตามภูมิลำเนา เช่นทำสวน ทำนา ค้าขาย ทางที่ 2 เรียนต่อในสายสามัญในชั้นมัธยมศึกษา เพื่อให้มีความรู้ทางสามัญสูงขึ้นไปอีก และทางที่ 3 เรียนทางด้านวิสามัญศึกษาเข้าโรงเรียนชั้นประถมศึกษาพิเศษ เรียนวิชาเฉพาะ หรือที่เรียกว่าวิชาชีพที่มีเปิดสอน
ในชั้นมัธยมศึกษานั้นสอนวิชาสามัญต่อจากชั้นประถมศึกษาขึ้นไปจนมีความรู้ทางสามัญศึกษาพอสามารถที่จะประกอบทำการงานได้ ด้วยความรู้ที่เป็นกลางๆ ที่ต้องการใช้ในวงการต่างๆ เช่น รู้วิชาหนังสือ และเลข พอแก่การเป็นเสมียนได้หรือทำการค้าขายได้ หรือเป็นทุนสำหรับที่จะไปเล่าเรียนวิชาความรู้อื่นๆได้ โดยไม่ต้องไปเล่าเรียนวิชานั้นๆอยู่อีก ใครสำเร็จชั้นมัธยมศึกษาจะได้รับประกาศนียบัตรประโยค 2 ผู้ที่สำเร็จชั้นมัธยมศึกษาแล้ว ก็มีทางที่จะเลือกดำเนินชีวิตได้ 3 ทางเช่นเดียวกับผู้สำเร็จการศึกษาชั้นประถมศึกษา คือออกไปประกอบอาชีพหรือไปเข้าเรียนชั้นมัธยมศึกษาพิเศษทางวิชาวิสามัญหรือเรียนต่อในชั้นอุดมศึกษา
ในชั้นอุดมศึกษา สอนวิชาชั้นสูงต่อจากชั้นมัธยมศึกษาขึ้นไปให้มีความรู้สูงขึ้น และสามารถที่จะทำงานได้ด้วยภาษาไทยและภาษาต่างประเทศบางภาษา(คือต้องรู้ภาษาอื่นอีกภาษาหนึ่งเป็นอย่างน้อย) เพื่อเป็นทุนสำหรับที่จะทำการงานได้กว้างขวางออกไป หรือถ้าจะไปศึกษาวิชาพิเศษในประเทศอื่น ก็จะไม่ต้องเสียเวลาไปศึกษาภาษาของประเทศนั้นอยู่อีกนาน ผู้สำเร็จชั้นอุดมศึกษาจะได้รับประกาศนียบัตรประโยค 3 เป็นอันจบการ ศึกษาฝ่ายสามัญถึงชั้นอุดม จะออกรับราชการก็ได้ จะเรียนต่อในชั้นอุดมศึกษาพิเศษในประเทศไทยหรือในต่างประเทศก็ได้ ตามความสมัครใจ
วิสามัญศึกษา (Special or Technical Education) ได้แก่ การศึกษาวิชาความรู้หรือศิลปะการฝึกหัดอย่างใดๆ ซึ่งบุคคลทุกคนไม่จำเป็นต้องมีความรู้ เว้นแต่ผู้ใดมีนิสัย มีความสามารถ ปรารถนาจะเรียนรู้ในวิชาเฉพาะสิ่ง เฉพาะอย่าง เพื่อเป็นทุนเป็นเครื่องมือไปประกอบอาชีพ การงานอย่างนั้นๆ เช่นเรียนเป็นช่าง เป็นแพทย์ เป็นครู เป็นข้าราชการ ทหาร และพลเรือน เป็นต้น บางอย่างกำหนดให้เป็นหน้าที่ของกรมศึกษาธิการ บางอย่างให้กรมหรือกระทรวงอื่นจัดตั้งขึ้นตามความจำเป็นแก่ทางราชการ มีแบ่งออกเป็น 3 ตอนเหมือนสามัญศึกษา คือวิสามัญศึกษาชั้นต้น เรียกว่าประถมศึกษาพิเศษ วิสามัญศึกชั้นกลาง เรียกว่ามัธยมศึกษาพิเศษ วิสามัญศึกษาชั้นสูง เรียกว่าอุดมศึกษาพิเศษ
ฟชั้นประถมศึกษาพิเศษ ได้แก่การศึกษาวิชาพิเศษสำหรับไปประกอบอาชีพประเทศที่ไม่ต้องใช้ความรู้ทางสามัญศึกษามากนัก ได้แก่ การช่าง การเพาะปลูก การพิมพ์หนังสือ เป็นต้น รับนักเรียนที่สำเร็จชั้นประถมศึกษามาเข้าศึกษาเล่าเรียน สำเร็จแล้วให้ประกาศนียบัตรประถมศึกษาพิเศษ แต่ถ้ามีผู้ที่ไม่สำเร็จชั้นประถมศึกษาสมัครเรียน ก็รับให้เรียนเหมือนกัน เว้นแต่ไม่ให้ประกาศนียบัตรเมื่อจบแล้ว ส่วนชั้นมัธยมศึกษาพิเศษ รับพวกสำเร็จชั้นมัธยมศึกษาไปศึกษาวิชาที่ต้องใช้ความรู้สามัญเป็นพื้นฐานที่สูงพอสมควร เช่นไปเข้าโรงเรียนฝึกหัดอาจารย์ โรงเรียนกฎหมาย โรงเรียนแพทย์ โรงเรียนมหาดเล็ก โรงเรียนนายร้อยทหารบก โรงเรียนก่อสร้าง โรงเรียนแผนที่ และโรงเรียนพาณิชย์ เป็นต้น สำหรับชั้นอุดมศึกษาพิเศษ ในสมัยนั้นยังไม่ได้จัดในเมืองไทยมีอยู่ทางเดียวคือต้องส่งไปศึกษา ณ ต่างประเทศ
จากแผนการศึกษาพ.ศ. 2445 จะเห็นได้ว่าผู้ที่สำเร็จชั้นมัธยมศึกษา ย่อมจะไปเข้าเป็นนักเรียนนายร้อย นักเรียนกฎหมาย นักเรียนแพทย์ ฯลฯ ได้ เรื่องนี้เป็นมาจนกระทั่งสิ้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเก้าเจ้าอยู่หัว จึงได้ขยับมาตรฐานให้สูงขึ้น คือต้องจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่แปด(หรือม.ศ.5) จึงจะเข้าศึกษาต่อในโรงเรียนดังกล่าวเหล่านี้ได้
ไม่มีความเห็น