๗๘ เมษา..๖๓..รำลึก


“อย่าดีแต่พูดแต่จงลงมือทำ อย่าเอาแต่ฝันเลื่อยลอยต้องลงมือปฏิบัติด้วย ไม่มีใครช่วยเราได้ นอกจากเราที่จะต้องพึ่งพาตนเองก่อน และอย่ากลัวในการดำเนินชีวิต แต่ก็ต้องใช้ชีวิตแบบที่ไม่ประมาทขาดสติ"

         ผมขอบันทึกไว้ก่อน เผื่อย้อนมาดูในโอกาสหน้าจะได้มีเรื่องราวเล่าขานให้ลูกหลานฟัง ว่าเกิดอะไรขึ้นในปี ๒๕๖๓ ในยามที่เชื้อไวรัสโควิด ๑๙ เริงร่าคร่าชีวิตผู้คนไปมิใช่น้อยเลย

    โรคระบาดเริ่มต้นอย่างเป็นทางการในเดือนมีนาคม จากนั้นทั่วโลกก็ตรอมตรมมาตลอดเดือนเมษา ซึ่งเป็นช่วงที่การศึกษาปิดภาคเรียน แล้วก็ปิดประเทศไปในที่สุด

        ส่วนภัยแล้ง..รุนแรงมาตั้งแต่ต้นปี ไม่มีฝนฟ้าคะนองให้เห็นแม้แต่น้อย จากนั้นความรู้สึกก็เลื่อนลอยไป ไม่มีใครสนใจกับปัญหาภัยแล้ง เพราะไวรัสสาหัสกว่ากันเยอะ

        ถึงขนาดว่าต้องอยู่บ้านหยุดเชื้อเพื่อชาติ รัฐบาลประกาศ “เคอร์ฟิว” คณะแพทย์ทำงานหนัก คนป่วยเพิ่มมากขึ้นแต่น้อยกว่าประเทศอื่นๆทั้งเอเชียและยุโรป

        หน้ากากอนามัยขาดแคลน แต่คนไทยไม่แล้งน้ำใจ จะมีก็แต่ฝนเท่านั้นที่แล้งเหลือทน ตกแค่กรุงเทพและปริมณฑลเท่านั้น ไม่ยอมเยื้องกรายมาเลาขวัญบ้านเรา

        ก็ถือว่าเป็นโอกาสดีที่ช่วยให้ผมไปโรงเรียนทุกวัน..ไม่มีวันหยุด..เขาให้อยู่บ้านเพื่อช่วยกันหยุดเชื้อ..ผมก็ได้ทำตามแล้ว แต่ไปอยู่บ้านหลังที่สองที่กว้างขวางมากมาย

        จะว่าขยันก็ไม่เชิง..ห่วงแค่ต้นไม้ ที่ปลูกไว้หลากหลายกลัวว่าจะตายไปเสียก่อนที่จะเปิดภาคเรียน พากเพียรรดน้ำจนชุ่มฉ่ำสม่ำเสมอ ชื่นใจทั้งคนและต้นไม้

        ต้นไม้รอดปลอดภัย ที่ปลูกใหม่มีเพียงเฟื่องฟ้า ๑๘ ต้น ที่ต้องปลูกก็เพื่ออยากได้ไว้เป็นที่ระลึก..ในช่วงปิดเรียนเมษาหน้าร้อน พัฒนาไปพร้อมๆกับโควิด ๑๙

        เอาเป็นว่าเดือนหนึ่งมี ๓๑ วัน..ฝนตกลงมาเพียง ๒ ครั้ง ในครั้งแรกตกลงมาในวันที่ ๑๓ เมษายน วันสงกรานต์ ..ตกหนักอีกครั้งในวันแรงงาน ๑ พฤษภาคม ๒๕๖๓

        แสดงว่า ฝนแล้งจริงจังเหมือนเชื้อไวรัสที่ไม่ปรานีใคร และไม่มีใครอยากจะจริงใจด้วย แต่ก็ต้องช่วยกินร้อนช้อนตัวเอง ล้างมือบ่อยๆ ใส่หน้ากากและไม่ต้องอยู่ใกล้ชิดกัน

        ในท่ามกลางโควิดชีวิตผมเปลี่ยน เรียนรู้สู้งานในสวนหลังบ้าน แบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน เมื่อนึกย้อนไปตลอด ๒๐ ปีที่ผ่านมา อาจเป็นเพราะว่ามีเวลาว่างที่มากเกิน

        หรือไม่ก็อยากคิดใหม่ทำใหม่ ให้พื้นที่ ๑ ไร่ในสวนมีชีวิตชีวามากขึ้น ปล่อยรกร้างอ้างว่าไม่มีเวลามานมนานแล้ว จึงใช้ช่วงเมษาฮาวายใส่ใจในงานทั้งช่วงเช้าและเย็น

        เริ่มปรับปรุงพื้นที่มีใบไม้เป็นเครื่องมือให้ทำ “ปุ๋ยหมัก” จากนั้นก็ปลูกตะไคร้และไม้ยืนต้นเป็นจำนวนมาก ขณะที่ทำก็เห็นสภาพดินดำร่วนดี มีกำลังใจสู้งานไปเรื่อยๆ

        อยู่ในสวนที่มีต้นไม้ใหญ่ให้ร่มเงา ทั้งลำไยและมะขามเทศ ความรู้สึกเหมือนว่าต้นไม้มีชีวิต เขาส่งกระแสจิตให้ผมมีพลังในการสร้างสรรค์พื้นที่สีเขียว

        อย่ากระนั้นเลย..ผมรีบคว้าเมล็ดพันธุ์ที่เก็บสะสมไว้ มาใส่ถาดหลุมแล้วผสมดินเพาะเมล็ดให้เป็นต้นกล้าที่แข็งแรง โดยจัดชุดใหญ่ตั้งใจเพาะให้มากมายในคราวเดียวกัน

        มีทั้งมะเขือ พริก อัญชันและถั่วลิสง ส่วนผักที่ชอบรับประทานก็ต้องปลูกด้วย ก็มีบวบ ถั่วพู ถั่วฝักยาว และฟักทองของโปรด (ยอด)

        ผักล้มลุกที่ชอบเลื้อยขึ้นร้าน ผมก็ต้องทำค้างให้ผักได้คืบคลานกันอย่างสนุก จะใช้ไม้ปักแบบธรรมดา ๆ ก็จะไม่สมคุณค่าสู้อุตส่าห์ลงมือเอง ผมก็เลยทำแบบมั่นคงแข็งแรง

        เน้นประโยชน์ใช้สอยจากวัสดุเหลือใช้ แต่ก็ต้องเน้นความงามเก๋ไก๋ เอาใจผักทั้งหลายจะได้มีความสุขในการเจริญเติบโต ผมเองก็มีความสุขที่ได้ออกแบบงานในสวน

        ในระหว่างที่รอต้นกล้าในถาดหลุม..ผมได้หว่านเมล็ดผักกาดและกวางตุ้งลงแปลง ปลูกเสร็จก็สัมผัสกับน้ำฝนพอดิบพอดี มีทีท่าว่างานนี้จะไปได้อย่างสวยงาม

        เพียงแค่เดือนเดียว..เหลียวหลังแลหน้า ผ่านไปอย่างที่เรียกว่า..พัฒนาตนและพัฒนางาน..ถึงแม้ว่าจะไม่เบิกบานเพราะโควิด แต่ก็ได้ข้อคิดที่เป็นวิชาชีวิตมิใช่น้อย

        “อย่าดีแต่พูดแต่จงลงมือทำ อย่าเอาแต่ฝันเลื่อยลอยต้องลงมือปฏิบัติด้วย ไม่มีใครช่วยเราได้ นอกจากเราที่จะต้องพึ่งพาตนเองก่อน และอย่ากลัวในการดำเนินชีวิต แต่ก็ต้องใช้ชีวิตแบบที่ไม่ประมาทขาดสติ"

        พบกับบันทึกแบบนี้อีกครั้ง..พฤษภาคม ๒๕๖๓

ชยันต์  เพชรศรีจันทร์

๑  พฤษภาคม  ๒๕๖๓

หมายเลขบันทึก: 677269เขียนเมื่อ 2 พฤษภาคม 2020 06:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 พฤษภาคม 2020 06:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท