นึกย้อนกลับไปตอนวัยเด็ก ชีวิตที่สนุกสนานที่สุดคือการได้ไปยิงนกตกปลา ล่าสัตว์กับเพื่อนๆ ซึ่งตอนนั้นเราไม่รู้สึกอะไรเลยว่าเราทำผิดศีล เป็นบาป เพราะเห็นว่าใครๆเขาก็ทำกัน
เมื่อเติบโตและมีโอกาสได้เรียนรู้ธรรมะมากขึ้น พอนึกถึงภาพการทำร้ายสัตว์ต่างๆในอดีตครั้งใด ก็รู้สึกหดหู่ใจในความผิดอย่างมหันต์ นึกถึงภาพนกที่ถูกยิงด้วยหนังสติ๊ก แล้วร่อนถลาตกลงมาดิ้นกระแด่วๆ นึกถึงภาพที่เอาเบ็ดเกี่ยวหลัง เกี่ยวคางเขียด เห็นมันดิ้นรนขอชีวิตเราก็ไม่ปรานีมัน นึกถึงภาพปลาติดเบ็ดดิ้นตูมตามพันกอข้าว รอให้เราไปจับ นึกถึงภาพการต่อยก้นหอยมาแกงกินกัน และภาพการล่าสัตว์อื่นๆที่เราทำปานาติบาตแล้วอีกมากมาย ...ใจผมไม่เป็นสุขเลย บ่อยครั้งภาพเหล่านั้นย้อนเข้ามาในจิตใต้สำนึกปรากฏเป็นฝันร้าย เวลาเจ็บไข้ได้ป่วย เจ็บปวดในอวัยวะต่างๆ ก็อดไม่ได้ที่จิตจะเชื่อมโยงไปถึงบาปกรรมที่ตนทำมาตอนเด็ก
เมื่อเติบใหญ่ ได้มีโอกาสซึมซับหลักคำสอนในพระพุทธศาสนามากขึ้น หลังบำเพ็ญทาน และปฏิบัติภาวนาครั้งใด ผมได้อุทิศส่วนกุศลขออโหสิกรรมแก่เจ้ากรรมนายเวรและสรรพสัตว์ทั้งหลายที่ได้เคยล่วงเกินไปแล้วทุกครั้ง ทั้งที่ไม่รู้ว่าเขาจะได้รับส่วนบุญกุศลและจะอโหสิกรรมให้แก่เราหรือไม่ก็ตาม เพราะบรรพบุรุษของสรรพสัตว์ที่เราไปทำร้ายผ่านมาแล้วหลายช่วงอายุขัย เขาจะรับรู้หรือไม่ก็ไม่ทราบ แต่พอทำแล้วสบายใจไปเปลาะหนึ่ง ก็จึงยังคงทำต่อไป เพราะอย่างน้อยก็ทำให้จิตใจเราอ่อนโยน มีความเมตตากรุณาต่อสรรพสัตว์ทั้งหลายมากขึ้น ส่วนกรรมใดที่เราเคยก่อไว้ในอดีตโดยตั้งใจก็ดี ด้วยความโง่เขลาเบาปัญญาไปก็ดี ก็ต้องยอมรับชดใช้กรรมกันต่อไป และเตือนตนเองว่าต่อไปนี้จะไม่ทำผิดศีลสร้างกรรมใหม่ให้พอกพูนกรรมเก่าเพิ่มมากขึ้นอีก
ที่จริงการรักษาศีลแค่ 5 ข้อเท่านั้น ไม่ใช่เรื่องยากเย็นอะไรเลย เพราะนี่คือปกติวิสัยของผู้ที่เป็นมนุษย์ทุกคนพึงกระทำ แม้ผมจะผิดพลาด บกพร่องในศีลข้อ 1 มาในวัยเด็ก แต่ก็ได้สำนึกและหลีกเลี่ยงไม่ทำอีก ส่วนศีลข้ออื่นๆนั้น ผมค่อนข้างมั่นใจว่าสามารถรักษาได้มั่นคง เสมอต้นเสมอปลาย ในวิถีชีวิตปกติอยู่แล้ว
ครั้งหนึ่งหลวงพ่อรูปหนึ่งที่ผมเคารพนับถือ ได้สอนถึงการรักษาศีลให้เข้าใจอย่างง่ายๆว่า
"เส้นทางแห่งการพ้นทุกข์นั้น ขั้นแรกที่สำคัญที่สุดคือ เราต้องรักษาศีล 5 ข้อ ให้มั่นคงเสียก่อน ถ้ามีศีล 5 ใจเราจะสงบง่าย คนที่ไม่มีศีล ใจจะฟุ้งซ่าน อย่างคนคิดจะฆ่าเขา คิดจะตีเขา ใจฟุ้งซ่าน คนที่มีเมตตาต่อคนอื่น จิตใจมีความสุขความสงบ คนที่คิดลักขโมยเขา ฉ้อโกงเขา จิตใจไม่สงบ คนที่ไม่เอาของใคร ไม่โกงใคร สบายใจกว่า คนที่เป็นชู้กับเขา ไปหลอกให้คนเขารัก จิตใจจะวุ่นวาย คนที่ซื่อสัตย์อยู่กับคู่ของตัวเองไม่วุ่นวาย จิตจะเป็นอุเบกขา จิตอุเบกขา คือจิตสบาย ส่วนคนโกหกจิตจะฟุ้งซ่าน ต้องคอยจำโกหกคนนี้ไว้อย่างนี้ๆ โกหกสองคนไม่เหมือนกันลำบากมากเลย เวลาสองคนนี้มาเจอกัน ต้องหาทางโกหกทางเลือกที่สามให้ไอ้สองคนนี้เชื่อ ถ้ามันมีสี่คนต้องหาทางเลือกที่ห้าลำบากมากเลย คนที่พูดความจริงจะสบายใจ แต่ต้องรู้จักกาลเทศะนะ คนพูดความจริงตายมาเยอะแล้ว เพราะฉะนั้นเวลาพูดความจริงไม่ใช่บอกว่าถือศีล ต้องพูดความจริงทุกอย่าง เห็นภรรยาของเราหน้าตาดูไม่ได้ ก็ไม่ต้องพูดความจริง ของไม่ควรพูดก็อย่าพูดสิ
คำว่าไม่มุสา ไม่ใช่แปลว่าไม่โกหกอย่างเดียว ต้องพูดด้วยความมีเมตตา พูดอ่อนหวาน พูดเหมาะ
กาละเทศะ พูดเมื่อสมควรจะพูด พูดความจริงนั้นองค์ประกอบมีเยอะ ไม่ใช่พูดความจริงแล้วบอกมีศีลข้อสี่ ไม่ใช่ พูดความจริงอาจไม่เหมาะสมเลยก็ได้ ถือว่าด่างพร้อย พูดความจริงในเวลาที่ไม่สมควรพูด มีไหม พูดตลอดเวลา เจอใครก็จะพูดแต่ความจริง อย่างหลวงพ่อเป็นพระ เจอใครหลวงพ่อจะเทศน์ลูกเดียวเลย อยากฟังไม่อยากฟังไม่รู้ จะเทศน์ล่ะ อย่างนี้มุสานะ พูดเพ้อเจ้อ พูดตอนที่ไม่สมควรจะพูด ทั้งๆ ที่เป็นความจริง แต่เข้าข่ายเพ้อเจื้อ ก็เป็นมุสาวาทนะ
ระวังนะ บางคนเรียนกรรมฐานสักหน่อย แล้วใจอยากสอนธรรมะ เคยเป็นไหม อยากพูดธรรมะไม่มีใครฟัง พูดให้ต้นไม้ฟัง พูดไปเรื่อย ถามว่าทำไมไปพูดให้ต้นไม้ฟัง เผื่อรุกขเทวดาได้ยินแน่ะ มองโลกแง่ดีชะมัดเลย ยิ่งศีลข้อ 5 ห้ามดื่มเครื่องดองของเมา สำคัญที่สุด เพราะถ้าคนขาดสติ ทำอะไรก็ได้ จะนำพาให้ศีลทุกข้อล่มสลายไปด้วย
งั้นต่อไปนี้รักษาศีล 5 ไว้ ใจจะสบาย รักษาศีล 5 แล้ว ต่อไปก็คอยฝึกให้จิตใจอยู่กับเนื้อกับตัว ใจลอยไป รู้ทันๆ ใจจะอยู่กับเนื้อกับตัว พอจิตใจอยู่กับเนื้อกับตัวแล้ว ก็ดูกายทำงาน ดูใจทำงาน เหมือนเห็นคนอื่นทำงาน"
ไม่มีความเห็น