ชีวิตที่พอเพียง 3683. อยากลืมกลับจำ : สารคดีชีวประวัติลูกสาวจอมพล ป. จีรวัสส์ ปันยารชุน พิบูลสงคราม



หนังสือ อยากลืมกลับจำ :  สารคดีชีวประวัติลูกสาวจอมพล ป.  ชีวิต ความผันผวน และความทรงจำของ จีรวัสส์ ปันยารชุน พิบูลสงคราม (๒๕๖๑) เขียนโดยภูริ ฟูวงศ์เจริญ, ศรัญญู เทพสงเคราะห์ และณัฐพล ใจจริง     โดยมี นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ เป็นบรรณาธิการ    เขียนแบบนักวิชาการ เพื่อเสนอประวัติศาสตร์การเมืองสมัยใหม่    จากมุมมองของผู้อยู่ในเหตุการณ์ คือคุณป้าจีรวัสส์ ปันยารชุน

เป็นหนังสืออ่านสนุก มีชีวิตชีวา    สะท้อนความเป็นคนมองโลกแง่บวก และปรับตัวเก่ง ของผู้เล่า     น่าจะเป็นปัจจัยหนึ่งของความมีอายุยืนของท่าน    คืออายุถึง ๙๖ ปี   

คนที่ชอบประวัติศาสตร์อย่างผมอ่านหนังสือเล่มนี้สนุกเป็นพิเศษ     เป็นประวัติศาสตร์การเมือง    ที่เล่าผ่านชีวิตของคนคนหนึ่งที่อยู่ใกล้ชิดตัวละครเอก    แต่ในมุมการเมืองคุณป้าจีรวัสส์ถือเป็นคนนอกวง     ไม่รู้และไม่สนใจสายสนกลใน    รู้แต่เหตุการณ์ในบ้านและที่เกี่ยวข้องกับตนเอง    รวมทั้งความเห็นที่ย่อมมีฉันทาคติต่อบิดามารดาของตนเอง   

เรื่องที่ใหม่สำหรับผมคือเรื่องนักเรียนนายร้อยหญิง    และแผนขยายจุดยุทธศาสตร์ของประเทศไปยัง สระบุรี  ลพบุรี  และเพชรบูรณ์   ที่หากกระบวนทัศน์แบบนี้ยังอยู่และครอบคลุมมายังแผนพัฒนาประเทศด้านสังคมและเศรษฐกิจในช่วง ๖๐ ปีที่ผ่านมา     ประเทศไทยอาจแข็งแรงกว่านี้อย่างมากมายก็ได้    โดยที่ความเจริญกระจายออกไป ไม่กระจุกอย่างในปัจจุบัน   

เราได้เรียนรู้พฤติกรรมของมนุษย์ที่เป็นเพื่อนสนิทกัน     เมื่อเวลาผ่านไป เหตุการณ์ผ่านไป     มิตรภาพผันแปรได้ แม้คุณป้าเล่าอย่างระมัดระวัง เราก็พอจะจับความได้   

เราได้เห็นว่า อุดมการณ์ของ “คณะ ๒๔ มิถุนา”  หรือคณะเปลี่ยนแปลงการปกครอง ไม่ยั่งยืน    ผ่านไปเพียง ๑๕ ปี ก็จางไปมาก    พอ ๒๕ ปี ก็ถือได้ว่าสิ้นสุด    ตอนนี้ไม่ทราบว่าเราอยู่ภายใต้อุดมการณ์อะไร  

เราได้เรียนรู้ว่า    แม้ว่าจอมพล ป. จะถูกปฏิวัติ และต้องลี้ภัยไปอยู่นอกประเทศ    แต่ท่านก็เพียงหมดอำนาจ แต่ยังมีบารมีสูงมาก ในหลายประเทศที่เป็นมิตรประเทศของไทย    ได้รับความช่วยเหลือให้ดำรงชีพอยู่ในต่างแดนได้อย่างสุขสบาย   

มองในแง่ชีวิตผู้คน   เราได้อ่านประวัติชีวิตที่สุดจะโลดโผนของคนถึง ๓ คน  คือตัวผู้เล่า   จอมพล ป. ผู้พ่อ   และท่านผู้หญิงละเอียดผู้แม่    มีข้อสังเกตว่า ท่านผู้หญิงละเอียดแต่งงานกับ รต. แปลก ขีตตะสังคะ เมื่ออายุ ๑๓ ปีเท่านั้น    และ รต. แปลก อายุ ๑๙ 

ผมได้สัมผัสความสัมพันธ์ระหว่างพ่อกับลูกในสมัยก่อน    ที่ไม่แสดงความรักสนิทสนมกอดรัดกันอย่างในปัจจุบัน    ยิ่งจอมพล ป. เป็นคนเงียบขรึม ไม่ค่อยแสดงความรู้สึก    ความสัมพันธ์ใกล้ชิดลูกสมัยลูกยังเล็กจึงมีน้อยมาก    น่าจะเป็นวัฒนธรรมไทยโบราณ    ที่ผมก็ได้รับการเลี้ยงดูมาแบบนั้น    แต่ผมก็พัฒนา attachment ต่อพ่อ    และยึดพ่อเป็น role model โดยไม่รู้สึกตัว              

โยงเข้าสู่ชีวิตและการรับรู้ของผม    ผมรู้จักจอมพล ป. สมัยเป็นนักเรียนมัธยม    อายุน่าจะราวๆ ๑๒ - ๑๓ ขวบ     จำได้ว่าท่านเดินทางไปเปิดสโมสรวัฒนธรรมหญิงประจำจังหวัดชุมพร    และผมต้องแต่งชุดลูกเสือไปเข้าแถวต้อนรับด้วย     ที่จำได้แม่นยำกว่านั้น คือเรื่องล้อเลียนรัฐบาลในหนังสือพิมพ์สยามรัฐรายวัน ที่พ่อบอกรับ    เขาล้อเลียนเรื่องเมียนายก   เรียกจอมพล ป. ว่า จอมพลคนหัวปี    และเรื่องตำราเรียนแบบเบสิก ที่มีตัวเอกคือ ดช. ปัญญา  ดญ. เรณู    รัฐมนตรีศึกษาคือพลเอกมังกร พรหมโยธีเป็นเป้าล้อเลียนเป้าใหญ่    ทำให้ได้เข้าใจเป้าหมายในการทำหนังสือพิมพ์ ของ มรว. คึกฤทธิ์ ปราโมช     

ผมขอแนะนำหนังสือเล่มนี้ ต่อท่านที่ชอบเรื่องประวัติศาสตร์  และชีวิตความเป็นอยู่ของคนสมัยก่อน      

วิจารณ์ พานิช  

๕ เม.ย. ๖๓


   

หมายเลขบันทึก: 677222เขียนเมื่อ 28 เมษายน 2020 18:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 เมษายน 2020 18:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท