ห้อง W-5 "คุณกิจ" กับการออกแบบกระบวนการเรียนรู้ (ตอนที่ ๓)


หมดปัญหาในการรู้จักตนเอง เพราะเขาเป็นผู้กำหนดการพัฒนาตนเองมาตลอดทางแล้ว

จะเห็นว่าความสำเร็จของนักเรียนต้องเกิดขึ้นทุกวัน   อยู่ที่การลงมือทำงาน  ไม่จำเป็นว่าจะต้องมีจุดสำเร็จเป็นจุดเดียว เหมือนมีดอกไม้อยู่ดอกเดียวที่ปลายทางเท่านั้น  แต่เขาสามารถเก็บดอกไม้มาชื่นชมได้ตลอดทาง  ช่วงนี้ขอจบเท่านี้ก่อนค่ะ

ครูใหม่…ขอเชิญครูเหล่นค่ะ

ครูจันทร์ทิพย์  ปิยะวรธรรม - ครูเหล่น…ในโรงเรียนเพลินพัฒนา  มีการจัดการความรู้อย่างเพลินๆ  มีปรัชญาความเชื่อ คือ การเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ผ่านกระบวนการทางวัฒนธรรม  คือ ความรู้จะไม่หยุดอยู่ที่คนๆ เดียว  แต่จะมีการถ่ายทอดสู่คนอื่นๆ ผ่านเอกสาร สื่อต่างๆ และวิถีชีวิต  สำหรับจุดเริ่มต้นของกระบวนการเรียนรู้ของแต่ละสาขาวิชา เราจะเริ่มจากการนำลักสูตรมาตรฐานแห่งชาติ มาผสานกับหลักคิด ความเชื่อ มุมมองต่างๆ ของแต่ละวิชา  จนมาเป็นหลักสูตรสถานศึกษา    กว่าจะถึงขั้นตอนที่ครูของเราจะมาทำความเข้าใจ จนไปเขียนแผนการสอนได้นั้นต้องผ่านกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้   ซึ่งโรงเรียนเพลินพัฒนาให้ความสำคัญกับการร่วมกันแสดงความคิดเห็นมาก  เราจะมีการประชุมบุคลากรแบบทุกคนมีส่วนร่วมในการกำหนดคุณลักษณะของเด็กที่เราอยากเห็น  องค์กรที่เราอยากให้เป็น  ร่วมกันแบ่งปันความฝัน ความมุ่งมั่นตั้งใจ  โดยยึดหลักว่าทุกความคิดมีความหมาย  ทุกความคิดที่แสดงออกมาจะถูกบันทึก   ก็เหมือนเป็นการปักธงว่าเราจะไปที่ไหน  และอย่างไร  คณะผู้บริหารก็จะนำไปวางยุทธศาสตร์ให้ประสบความสำเร็จให้ได้ 

ในการจัดการเรียนการสอนให้ได้ผลนั้น   Key Person ที่สำคัญคือครู  ที่จะปรับกระบวนทัศน์เข้ากับปรัชญาของโรงเรียน  ให้เข้ากับวิธีการเรียนการสอน นั่นคือการทำ Active Learning    ทำไมจึงต้อง Active Learning  การที่จะทำให้เด็กสร้างความรู้ได้เองนั้นทำอย่างไร  สอดคล้องกับปรัชญาของเราอย่างไร  เราจึงต้องมีการพัฒนาครูโดยจัด Work Shop ซึ่งจะมีทั้งวิทยากรรับเชิญจากภายนอก แต่บุคลากรหลักคือ ครูของเราเอง คือ ผู้อำนวยการ และรองผู้อำนวยการ 

นอกจากนั้นก็ต้องให้ครูได้มีองค์ความรู้  ได้เรียนรู้แนวคิดต่างๆ  เช่น การไปอบรมการเรียนคณิตศาสตร์ในแนววอลดอลฟ์   และทุกๆ ครั้งที่ครูไปอบรมมาก็จะต้องมาจัดกระบวนการถ่ายทอดให้เพื่อนที่ไม่ได้ไปให้เข้าใจ  จนทีมงานสามารถนำมาปรับใช้กับการวางแผนการจัดกิจกรรม การเรียนรู้ในวิชาของตนเองได้

เมื่อครูเข้าถึงหลักการของวิชาที่สอนอย่างแม่นยำแล้ว  ก็จะกลั่นกรอง และหาวิธี สร้างกิจกรรมเพื่อจะถ่ายทอดให้ผู้อื่นเข้าใจ  เป็นการทำความเข้าใจร่วมกัน  ซึ่งครูจะต้องทำให้กับผู้ปกครอง  ให้เข้าใจว่าลูกเรียนอะไร อย่างไร

การบวนการจากผู้เรียนสู่ผู้รู้  จากที่ครูก็เคยเป็นผู้เรียน  กลายมาเป็น จัดกิจกรรม กระตุ้น และท้าทายให้นักเรียนเป็นผู้เรียนเป็นผู้รู้   ครูจะช่วยกันทำงานเป็นทีม  จะมีการประชุมทีมซึ่งจะให้ความสำคัญไม่น้อยไปก่วาการจัดการเรียนการสอน  ตัวอย่างที่เอามาให้ดูนี้คือการบันทึกการประชุมของวิชามานุษกับโลก (เป็นวิชาที่เกิดจากการบูรณาการวิชาวิทยาศาสตร์กับสังคมศึกษา ของช่วงชั้นที่ 1)  มีการทำ Mind Map เพื่อ Construct เนื้อหาที่จะเรียนกันทั้งสี่เทอม  (โรงเรียนเพลินพัฒนาแบ่งเป็น ๔ ภาคดังได้กล่าวถึงแล้วข้างต้น-ผู้เขียน) 

เมื่อทีมครูได้โครงสร้างใหญ่แล้ว  ก็จะนำโครงสร้างเล็กที่เป็นหัวข้อของแต่ละเทอมมาวางแผนการทำงานที่เรียกว่า  แผนปฏิบัติการหนึ่งหน้ากระดาษ  ซึ่งจะทำให้เห็นความเชื่อมโยง ต่อเนื่อง ของประเด็นหลัก พร้อมกับวัตถุประสงค์ และการประเมิน ในหน้ากระดาษเดียว 

เมื่อได้แผนการทำงานแล้ว  ก็มาถึงการสร้างแบบฝึก และใบงาน  ที่ครูจะต้องมีจินตนาการ เช่น ถ้ามีช่องว่างให้เด็กเติมแล้ว  เด็กจะต้องมีการเรียนรู้อะไรบ้างจึงจะเติมลงไปได้  ส่วนสุดท้ายที่สำคัญก็คือการเตรียมสื่อการสอน  ที่ใช้วิธีการทำงานเดียวกัน

เราจะมีการประชุมกันทั้งในสายวิชาของช่วงชั้น และครู​ในระดับชั้น  ทั้งสองแกนในทุกสัปดาห์   เพื่อจะมาวางเป้าหมาย  จุดร่วม และวิธีการประเมินร่วมกัน  สำหรับการดูการเป็นอยู่  และพฤติกรรมของเด็กๆ ก็จะมาคุยกันว่าเด็กๆ เป็นอย่างไรกันในแต่ละสัปดาห์

เป็นการมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้โดยเฉพาะครูประจำชั้นเป็นครูผู้สอนในแต่ละวิชาด้วย ก็จะมีข้อมูลของเด็กๆ ในหลายๆ บรรยากาศมาแลกเปลี่ยนกัน 

ตัวอย่างกิจกรรมที่นำมาให้ดูนี้ คือ การเรียนการสอนวิชามานุษกับโลก ของชั้น 3 เนื่องจากโรงเรียนของเรายังมีการก่อสร้าง  ครูจึงมีจังหวะที่จะบันทึกการก่อสร้าง มาสร้างเป็นสื่อวิดีทัศน์ประกอบกับประวัติความเป็นมาของโรงเรียน เป็นสารคดีสั้นๆ มาให้เด็กได้เรียน พร้อมกับได้เห็นความคืบหน้าของการก่อสร้างจริง  และได้เรียนรู้ส่วนประกอบของอาคาร เช่น เสา คาน ขื่อ แป ฯ กับผู้คุมงานก่อสร้างตัวจริง  เด็กจะสามารถกลับมามองอาคารของเขา รู้ว่าอะไรเรียกว่าอะไร  เข้าใจคุณสมบัติของส่วนประกอบต่างๆ  จนนำมาสร้าง Model  อาคารเรียนของตัวเองขึ้นมาได้เอง (ดังแสดงในรูป)   เด็กยังได้ทำการทดลองการรับและกระจายน้ำหนัก  ความสัมพันธ์ระหว่างเสากับคาน ฯ ในเชิงวิทยาศาสตร์  และทำความเข้าใจคุณสมบัติของวัสดุต่างๆ ด้วย

ต่อจากนั้นครูก็จะชวนให้เด็กมาเปรียบเทียบกับโครงสร้างแบบอื่นๆ  และเราจะมุ่งเน้น คือ บ้านเรือนไทย   ที่มีเอกลักษณ์เป็นพิเศษ   ต่อจากนั้นก็จะได้ทำโครงการของตัวเอง  คือให้เขาลองออกแบบบ้านของตัวเอง  และเลือกใช้วัสดุมาทำแบบจำลองเท่าที่จะหาได้ง่ายๆ  พร้อมอธิบายแนวคิดของการออกแบบได้  เราก็จะเห็นความคิด และจินตนาการที่หลากหลายของเด็ก  เป็นการจบโครงงานด้านวิทยาศาสตร์  ซึ่งจะมาเชื่อมโยงกับวิชาสังคมที่จะเรียนรู้เรื่องของชุมชนต่อไปได้

เนื่องจาก “แหล่งชุมชน” เป็นพื้นที่จริงที่เป็นพื้นที่กว้าง  ทั้งยังเป็นนามธรรม สำหรับเด็ก  ครูจึงได้สร้างเงื่อนไขต่างๆ ของพื้นที่จำลอง   ให้เด็กต้องเลือกว่าจะสร้างที่ไหน  มีวัสดุอะไรให้เลือกใช้  จะเลือกว่าใครเป็นเพื่อนบ้านบ้าง  เขาก็จะไปสำรวจกันว่าใครอยู่ตรงไหน  เพราะอะไร  และเมื่อเขาสร้างแบบจำลองบ้านของตัวเองแล้ว  แล้วก็จะพาเขาขยายกลับมาที่ความจริงบ้านของตัวเอง  ว่าอยู่เขตไหน  

และท้ายสุดก็จะทำเป็นสมุดประมวลความรู้  บนเงื่อนไขใหม่  จะไม่จำกัดในวิชาหนึ่งๆ  จะให้นำวิชาอื่นๆ มาเกี่ยวข้องด้วย   เช่น  เอาผังกลบทในวิชาภาษาไทย  มาวางเป็นรูปปราสาท  ออกแบบโจทย์คณิตศาสตร์ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นในปราสาทนี้บ้าง  และสุดท้ายเด็กจะต้องประเมินสรุปตัวเองว่าพอใจ และยังต้องการปรับปรุงอะไรตรงไหนอีกบ้าง  

กลับมาที่การประชุมครูในวิชาสายดิ่งคือของช่วงชั้น  และประชุมครูในระดับชั้นแล้ว  เรายังมีการประชุมเล็ก คือ ครูในวิชาในระดับชั้น  เพื่อมาแลกเปลี่ยน  วางแผน  ปรับปรุง กันในทีมเล็ก  เกี่ยวกับการจัดกิจกรรมในรายละเอียด  บอกเล่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับเด็กๆ  เด็กได้เรียนอะไร  มีพฤติกรรมอย่างไร  มีการแลกเปลี่ยนเทคนิคการทำกิจกรรมกัน 

นอกจากการทำสมุดประมวลแล้ว  เด็กต้องนำเสนอ  และบุคคลที่เด็กอยากให้มาดูที่สุดก็คือ ผู้ปกครอง  เด็กจะมาทำความตกลงร่วมกัน  ครูจะเป็นผู้บันทึกการประชุมของเด็กๆ ด้วย

โดยการทำแผนผังสรุปความรู้ด้วยกัน  เด็กจะออกมาเขียนสิ่งที่รู้  ออกมาเป็นผังความรู้ของกลุ่ม  ครูก็จะให้เด็กเลือกประเด็น  เพื่อไปค้นรายละเอียดเพิ่ม  และแบ่งงานกันไปทำ  จนเป็นกลายการนำเสนอ  ตามความถนัดของแต่ละคนในที่สุด  เด็กจะมีความรับผิดชอบมากขึ้น  เพราะเป็นงานของห้องไม่ใช่เพียงงานของตัวเองเท่านั้น 

ก่อนถึงวันนำเสนอ  เราจะชวนกันมาชื่นชมผลงานสมุดประมวลของกันและกัน  เป็นการมาชื่นชมความสำเร็จด้วยกัน ก่อนที่จะถึงวันนำเสนอต่อผู้ปกครองด้วย  เมื่อจบการนำเสนอแล้ว  ผู้ปกครองก็จะมีการเขียนแสดงความคิดเห็นในลักษณะของการชื่นชมด้วย  เป็นความชื่นใจทั้งตัวผู้เรียน ผู้สอน และผู้ปกครอง  ซึ่งก็คือบรรยากาศในการเรียนรู้ที่เราสร้างให้เกิดขึ้น  เป็นการเรียนรู้ผ่านกระบวนการทางวัฒนธรรม รูปแบบหนึ่งที่ขอนำมาเป็นตัวอย่างในวันนี้

(สรุป)

ครูใหม่…หลักการก็คือเมื่อเด็กได้รับวัสดุความรู้แล้วก็ต้องสร้างโอกาสให้เขาได้ประมวลเป็นกลุ่มเป็นก้อน  และถ่ายทอดออกมา  นำมาทำให้เกิดประโยชน์  ซึ่งประโยชน์จะเกิดขึ้นได้  ผู้เรียนก็ต้องมีความสัมพันธ์เกี่ยวโยงด้วย  ฉะนั้นการที่เขาคิดโจทย์เอง  เขาจะนำความรู้เดิม มาสานต่อกับความรู้ใหม่  ทั้งหมดนี้เป็นพัฒนาตนเองไปในงาน เป็นหลายวงรอบในหลายระดับ  ครูเองก็ได้ทบทวนการเรียนการสอน  ไปพร้อมกับได้เห็นมิติของมนุษย์  เห็นการเติบโตของเด็ก  ซึ่งหัวใจคือเอาวิชาไปพัฒนามนุษย์   ส่วนเด็กเมื่อได้รับตัววิชาไปแล้ว  ก็จะมาเป็นโจทย์ เพื่อพัฒนาคนเอง ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรม เช่น การทำกระบวนการกลุ่ม  จะก่อวินัย  รู้ว่าเมื่อไรต้องทำอะไร เรียนรู้ศักยภาพของเพื่อน  สังเกตและเข้าใจศักยภาพของตนเอง ว่าจะเข้าไปทำงานกับเพื่อนอย่างไร เรียนรู้ทักษะในการสร้างความร่วมมือ เป็นต้น  และการนำเสนอความรู้ของตนเองต่อสาธารณะ  เป็นอีกขั้นของความรู้ที่ไม่ใช่นำเข้า  แต่เป็นการนำออกความรู้  ซึ่งจะต้องผ่านการเรียบเรียง  และการประมวลความรู้ที่มีอยู่ภายในออกมา   จึงจะทำได้  ยิ่งได้เห็นความรู้ที่ออกมาจากเพื่อนๆ   ก็จะนำเอาความรู้ที่เห็นเพิ่มเติมนั้นเข้ามา   การได้เห็นความสามารถอื่นๆ ของเพื่อนจะเป็นตัวกระตุ้นให้เขาต้องพัฒนาตนเองให้ได้ตามมาตรฐานที่ควรเป็น  เป็นการอยากพัฒนาตนเองโดยไม่มีใครบังคับ  เหมือนที่ครูอิ่มได้จัดให้บรรยากาศในห้องเรียน ICT ให้ทุกคนเห็นการทำงานกัน   เห็นว่าว่าใครทำอะไรได้ดี   รู้ว่าใครจะสอนอะไรได้บ้าง  การได้เห็นงานที่ดีของเพื่อนแล้วเกิดเป็นแรงขับออกมาเองที่จะพัฒนางานของตัวเองให้ดีขึ้น  โดยไม่มีใครบังคับจะทำให้ผู้เรียน  เรียนอย่างมีความสุข  มีความภาคภูมิใจ  มีศักดิ์ศรีในการเป็นผู้ให้  จากการที่แต่ละคนมีทักษะแตกต่างกัน  และนี่คือข้อดีของการพัฒนาผู้เรียนที่ผู้เรียนมีส่วนร่วม  เขาจะโตไปในทิศทางของตนเอง  ไปถึงเป้าที่เขาอยากจะไปได้  จะหมดปัญหาในการรู้จักตนเอง  เพราะเขาเป็นผู้กำหนดการพัฒนาตนเองมาตลอดทางแล้ว

ถอดเทปช่วงเช้า  ตอนที่    1   2   3   4   5      สรุปช่วงบ่าย

หมายเลขบันทึก: 67651เขียนเมื่อ 16 ธันวาคม 2006 16:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:45 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท