ห้อง W-5 "คุณกิจ" กับการออกแบบกระบวนการเรียนรู้ (ตอนที่ ๔)


เบี้องหลังในการสร้างหลักสูตรมานุษกับโลก คือ เราจะต้องเคารพในธรรมชาติที่เรามีในฐานะที่เราเป็นผู้อาศัย ไม่ใช่เจ้าของโลก

คำถาม  ประสบการณ์  ความคิดเห็น และ ข้อเสนอแนะจากผู้ฟัง

ผู้ฟัง….อยากเรียนถามอาจารย์ว่า  เนื่องจากที่กล่าวถึงว่าสังคมนี้เป็นสังคมวัตถุนิยม เป็นสังคมทุนนิยม  บทเรียนของอาจารย์มีความชัดเจนในเรื่องจริยธรรมกันอย่างไร  

ครูอิ่ม….ที่โรงเรียนสอน ICT เป็นสื่อ  หลายคนก็มองว่า ICT จะทำให้เด็กด้อยในเรื่องศีลธรรมไหม   อย่างที่เรียนแล้วว่า เราใช้ ICT  เป็นตัวฉายภาพความคิด  ทำให้เราได้รู้จักกับเด็กแต่ละคน  การที่เราสนับสนุนให้เด็กได้ดูกัน  ช่วยเหลือแนะนำกันในการใช้  ICT ในการเรียนรู้นั้น  เป็นการส่งเสริมให้เด็กมีคุณธรรม  มีน้ำใจช่วยเหลือกันและกันได้อย่างเป็นรูปธรรม   เราใช้ ICT ไปในการเรียนรู้ทุกวิชาโดยเป็นตัวช่วยให้นักเรียนได้สร้างความรู้โดยไม่ไปบั่นทอนลักษณะที่ดีงามของวิชาใดเลย 

ครูเหล่น….ในเรื่องของคุณธรรมและจริยธรรม   ขอยกตัวอย่างวิชามานุษกับโลก    ซึ่ง ทุกวิชาก็มีความคิดที่อยู่เบื้องหลังหลักสูตร  เบี้องหลังในการสร้างหลักสูตรมานุษกับโลก คือ เราจะต้องเคารพในธรรมชาติที่เรามีในฐานะที่เราเป็นผู้อาศัย  ไม่ใช่เจ้าของโลก  ความคิดนี้จะถูกสะท้อนออกมาในการจัดหลักสูตรตั้งแต่ ป.1 ถึง ป. 3   ซึ่ง ป. 1 คือการรู้จักตัวเอง  และสิ่งมีชีวิตอื่นๆ  ซึ่งแม้จะเห็นว่ามีความแตกต่างจากเรา  แต่ก็เป็นชีวิตเหมือนกัน  เราจึงใช้ชื่อหลักของการเรียนรู้วิชามานุษกับโลกใน ป. 1  ว่า “มหัศจรรย์เพื่อนร่วมโลก”   พอ ป.๒ ก็จะเรียนเรื่องพืช  พืชเป็นผู้ให้ในระบบนิเวศน์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุด จึงใช้ชื่อว่า “เพื่อนสีเขียว”   พอมา ป.๓ เด็กจะรู้จักการคิดวิเคาระห์ได้มากขึ้น  ก็จะเรียนรู้เทคโนโลยี  การนำเทคโนโลยีมาใช้ มาพัฒนา ซึ่งจะเรียนรู้ว่าทุกครั้งที่มีการปรับเปลี่ยนย่อมต้องกระทบวิถีชีวิตเดิม  เขาจะได้ทำโครงการว่า ถ้าเขาคิดเทคโนโลยี  เขาจะคิดอะไร  ส่งผลกระทบอย่างไร   กล่าวได้ว่าเราได้พยายามสร้างคุณธรรมและจริยธรรมด้วยการวางหลักคิดให้เขารักสิ่งรอบตัว และเคารพชีวิตอื่นๆ นั้นเอง

ครูใหม่…เราเอาความดี ความงานของแต่ละวิชาผ่านการเรียนรู้เข้าไปในจิตใจของเด็กด้วย  นอกจากนั้น  การเกาะเกี่ยวกันของ ครู นักเรียน ผู้บริหาร ผู้ปกครอง และยังมีชุมชนที่อยู่รายรอบ  ก็มีส่วนร่วมสร้างคุณธรรมด้วย  ล่าสุด  กรณีศึกษาที่เราสร้างกิจกรรมที่ส่งเสริม “การให้” โดยการเลือกออกภาคสนามที่แสดงให้เห็นว่าเราคำนึงถึงประเด็นเรื่องที่จะเรียนควบคู่ไปกับเรื่องอื่นๆ ด้วย  คือ ในชั้น ม.๓  เด็กเรียนระบบนิเวศน์เรื่องน้ำพอดี  เรารู้ว่าการออกภาคสนามทำให้เด็กเข้าใจเรื่องที่เรียนได้ชัดเจน  คุณครูเลือกพื้นที่น้ำท่วมที่ตำบลเจ้าเจ็ด  อำเภอเสนา จังหวัดอยุธยานั้น  เด็กจะเห็นปรากฏการณ์น้ำท่วม  รู้ว่าน้ำมาจากไหน  ที่ล้นเอ่อในระดับที่เกินปกตินั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร  เห็นความเดือดร้อนทุกข์ยากของคนอื่นที่รับน้ำท่วม  รับทุกข์  ไว้แทนชาวกรุงเทพฯ   ครูมาคิดว่าทำอย่างไรเมื่อเด็กเห็นความทุกข์ยากแล้วไม่ดูดาย  แต่มี Action  ในปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น  มีปฏิบัติการที่จะให้ตระหนักในหน้าที่และรู้ถึงคุณค่าของการให้  จึงได้ตั้งศูนย์ ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยขึ้นในโรงเรียน   วิธีการก็คือ การออกจดหมายถึงชุมชนในโรงเรียนก่อนเป็นอันดับแรก   ว่าเราต้องการความช่วยเหลือในเรื่องนี้  ใครมีทุนในเรื่องใดก็มาช่วยกัน  ทั้งสินค้าราคาทุน  ยานพาหนะที่จะขนของไป  จัดการจนกระทั่งเราระดมทุนได้หลายหมื่นบาท    ครูได้  ประสานงานกับเจ้าของพื้นที่จริงในการสำรวจความเดือดร้อนและความต้องการที่แท้จริงของผู้ประสบภัย  เด็กก็มาจัดบรรจุถุงยังชีพเหมือนเป็นอาสาสมัครกาชาดตัวจริง   และเป็นผู้นำไปให้ด้วยตนเอง 

นอกจากนั้นครูก็ยังวางโครงการช่วยเหลือต่อเนื่องหลังน้ำท่วม  เช่น ไปสร้างสาธารณะประโยชน์อะไร  เด็กจะได้เป็นส่วนหนึ่งในการคลี่คลายปัญหา   เป็นการทำให้เด็กเห็นการแก้ปัญหาครบวงจร   เป็นการรู้จักที่จะรักผู้อื่นและพัฒนาตัวเอง  เห็นความเดือดร้อนของสังคมเป็นของตัวเอง  และนี่คือสิ่งที่เราพยายามจะแทรกเข้าไปในการเรียนรู้เสมอ

ผู้ฟังเข้ามาไม่ทันในช่วงแรก  แต่ได้เห็นภาพของความสำเร็จ  จึงขอทราบว่ากว่าจะมาถึงตรงนี้ได้มีข้อจำกัดอะไรไหม  เด็กมีความพร้อมไหม   อันนี้เป็นข้อแรกของคำถามเกี่ยวกับการนำกระบวนการเรียนรู้แบบนี้เข้ามาในโรงเรียน  ส่วนอีกข้อหนึ่งก็คือ  หลังจากที่เด็กจบไปแล้ว  ไม่ทราบว่าโรงเรียนได้มีการติดตามผลหรือไม่  ว่าเด็กที่ออกจากโรงเรียนเราไปแล้ว ได้มีการนำเอากระบวนการเรียนรู้แบบนี้ไปใช้ในการศึกษาในระดับสูงกว่าหรือไม่  เป็นการติดตามดูการต่อเนื่องของการเรียนรู้ตลอดชีวิต  ว่าหากพ้นไปจากบริบทที่เอื้อต่อการใช้กระบวนการแบบนี้แล้ว  เขาจะยังใช้กระบวนการเรียนรู้เหล่านี้ได้อยู่หรือไม่

ครูใหม่…เนื่องจากโรงเรียนเพิ่งเปิดใหม่ ปีนี้เป็นปีที่สาม จึงยังไม่มีเด็กจบออกไป  ขณะนี้เด็กชั้นโตที่สุดอยู่ที่ชั้น ม. ๓  แต่จากการติดตามดูเราพบว่า  เขาเกิดอุปนิสัยในการเรียนรู้ขึ้นที่บ้านและที่อื่นๆ   มันไม่อยู่เฉพาะห้องเรียนที่ครูจัดให้เท่านั้น  เด็กในกลุ่มวัยอ่านออกเขียนได้  เวลาออกภาคสนามจะมีสมุดภาคสนาม  ถ้าเด็กได้ทำตามเงื่อนไขตามสมุดจนครบ  รับรองว่าเขาจะได้ชุดความรู้ติดตามมาแน่นอน  เมื่อเด็กได้ทำบ่อยๆ ก็จะเกิดเป็นอุปนิสัยติดตัว  ซึ่งก็ต้องการความร่วมมือและเห็นพ้องจากผู้ปกครองเป็นอย่างมากในการส่งเสริมและสนับสนุน

คือ  ผู้ปกครองก็เป็นได้ทั้งปัจจัยบวกและลบ  หากผู้ปกครองเห็นว่าการเรียนแบบนี้ยุ่งยาก  และควรอยู่ในเฉพาะในโรงเรียน  คือไม่อยาก “ยุ่ง” ก็จะทำให้เป็นข้อจำกัดในการพัฒนาเด็กในกระบวนการเรียนการสอนแบบนี้

ครูอิ่ม…อย่างที่เคยกล่าวไว้ว่าเด็กจะต้อง “เรียน” ไม่ใช่ “เลียน”  และการสอนกระบวนการเรียนรู้ก็เหมือนการสอนให้จับปลาแทนการให้ปลา

ครูใหม่…ข้อจำกัดอีกอย่างก็คือ การที่เราเป็นโรงเรียนเอกชน  ไม่ได้รับการสนับสนุนจากที่ไหน  ทำให้ไม่สามารถเก็บค่าเรียนต่ำไปกว่านี้ได้   และมีข้อจำกัดในการไปขออบรมอยู่บ่อยครั้ง  เรียกได้ว่า  เป็นร้อยละ ๘๐ ของการจัดอบรมโดยรัฐ   เนื่องจากเราไม่มีสังกัด  แต่การอบรมต่างๆ จัดให้เฉพาะโรงเรียนในสังกัดต่างๆ เท่านั้น  ทำให้การเข้าถึงความรู้และการพัฒนาครูเป็นไปช้า  เพราะเราก็ต้องเริ่มต้นกันเองที่โรงเรียน  ในขณะที่โรงเรียนของรัฐเปรียบเหมือนมีบันไดเลื่อน  อย่างเพลินพัฒนาเป็นภาคีกับโรงเรียนของครูอิ่ม  ก็เป็นภาคีนอกระบบ  ต่างกับครูอิ่มที่มีภาคีในระบบมากมาย  มีมหาวิทยาลัยพี่เลี้ยง   ฯลฯ

ครูอิ่ม…เห็นด้วยกับครูใหม่ว่าผู้ปกครองมีบทบาทสำคัญในการจัดกระบวนการเรียนการสอนแบบนี้  เพราะไม่เกิดเฉพาะในห้องเรียน  แต่ต้องเกิดขึ้นตลอดเวลา  แรกๆ ก็มีผู้ปกครองมาถามว่าทำไมเราสอนคอมพิวเตอรฺ์ไม่เหมือนคนอื่น  เราก็ต้องอธิบายว่าไม่มีใครเรียนรู้วิธีการใช้โทรทัศน์  คอมฯ สมัยนี้ก็เหมือนการใช้โทรทัศน์  เป็นอุปกรณ์ในยุคของเขา  เราจึงสอนให้เขาเป็นคนควบคุม  เป็นผู้ใช้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ  เราพยายามทำลายกำแพงห้องเรียน  ถ้าผู้ปกครองยังมีกำแพงก็จะเป็นอุปสรรคค่ะ 

ส่วนการได้รับการสนับสนุนมาก  แต่ก็เห็นว่าในระยะหลังมานี้มีโครงการให้ความช่วยเหลือร่วมกับเอกชนมากขึ้น  และการที่มีภาคีมากขึ้นก็จะได้โอกาสเรียนรู้มากขึ้น   แต่หลายหน่วยงานยังไม่สามารถเจาะเข้าไปสู่โรงเรียนเอกชนได้ 

ครูเหล่น…ในฐานะบุคลากร  การที่จะไปสู่จุดหมายด้วยกัน  แต่บุคลากรมีความแตกต่างกัน  สื่อสารไม่เข้าใจกัน  ทำให้ต้องใช้การประชุมกัน  และในการจัดการดูแลเด็กที่แต่ละคนมีความหลากหลาย  การที่เด็กมีความหลากหลายก็เพราะมาจากครอบครัวที่มีความหลากหลาย  ก็ต้องอาศัยความร่วมมือจากผู้ปกครองมาก

ครูส้ม…อันที่จริงวันนี้มาเป็นคณะทำงานของโรงเรียนเพลินพัฒนา  แต่ตอนนี้จะขอเวลา ๑ นาที เพื่อตอกหมุดความมั่นใจว่าเรามาถูกทาง  ในฐานะที่เป็นผู้ปกครองที่ลูกเรียนด้วยกระบวนการอย่างนี้  จนจบ  และในรุ่นของเขาก็สอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ทุกคน  เมื่อจบออกมาทำงาน  แม้ในสาขาที่ลูกเรียนไม่ได้สอนการบริหารจัดการ  แต่เขาก็สามารถนำทักษะที่เคยทำกระบวนการกลุ่ม  ทักษะการจัดการโครงงาน  โลกทัศน์จากการออกภาคสนาม  มาใช้ในการทำงานกับรุ่นพี่ๆ ได้จนได้รับความไว้วางใจให้รับผิดชอบงานเกินกว่าอายุได้  เลยขอมาให้ความมั่นใจค่ะ

ถอดเทปช่วงเช้า  ตอนที่    1   2   3   4   5      สรุปช่วงบ่าย

หมายเลขบันทึก: 67656เขียนเมื่อ 16 ธันวาคม 2006 17:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:45 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท