KM3 : ห้อง W-5 "คุณกิจ" กับการออกแบบกระบวนการเรียนรู้ (ตอนที่ ๒)


ต้องมีบรรยากาศการเรียนรู้ที่ดี คือ มีทางเลือกที่หลากหลาย ได้เลือกเครื่องมือ เลือกวิธีการ ไม่ใช่มีเส้นทางเดียวที่ทุกคนต้องเดินตาม

หลังจากที่ได้รู้จักกับบริบทของโรงเรียนทั้งสองโรงเรียนนี้แล้ว  ต่อไป  จะเริ่มนำ เข้าสู่กระบวนการเรียนรู้ที่ทั้งสองโรงเรียนได้สร้างขึ้น  ขอเชิญครูอิ่มค่ะ

ครูอิ่ม…เมื่อสักครู่นี้เราได้คุยถึงเส้นทางการพัฒนา  ที่เราเริ่มต้นทำด้วยความเชื่อที่เหมือนกันว่า เด็กสามารถเรียนรู้และมีความสุขจากความรู้ที่เขาสร้างขึ้นมาได้เอง  เพราะฉะนั้น เมื่อมีความเชื่อแบบนี้ เราจึงตอบสนองให้นักเรียนได้มีความสุขจากการเรียนรู้ที่เขาได้ทำจริง ได้สร้างเอง โดยใช้โครงงานที่ไม่ใช่แบบ Big Project  แต่ผ่านโครงงานเล็กๆ ตามศักยภาพของแต่ละคน เหมาะกับวัย เป็นสิ่งที่เขาอยากค้นพบคำตอบด้วยตัวเอง  โดยการเตรียมวัสดุการเรียนรู้ที่ดี ได้สำรวจ ทดลอง ทำเองไม่จำเป็นต้องแพง  และต้องมีบรรยากาศการเรียนรู้ที่ดี คือ มีทางเลือกที่หลากหลาย ได้เลือกเครื่องมือ  เลือกวิธีการ  ไม่ใช่มีเส้นทางเดียวที่ทุกคนต้องเดินตาม 

Active Learning  จะเกิดขึ้นได้เมื่อเขากระหายอยากรู้ อยากเป็น  และต้องไม่ยาก ไม่ง่ายเกินไป  นี่เป็นโจทย์ที่ครูต้องคิด  โรงเรียนของเราเป็นโรงเรียน  ICT เราจะใช้ ICT เป็นเครื่องมือกระตุ้นให้นักเรียนคิด  ใช้ในการเรียนรู้  และฉายภาพความคิดออกมา   ครูจะบทบาทช่วยเหลือนักเรียนอย่างใกล้ชิด  มีปฏิสัมพันธ์ โต้ตอบกัน  ครูใช้ ICT เป็นเครื่องมือช่วย  นอกจากการกระตุ้นด้วยคำถามอย่างเดียว  ซึ่งมีความหลากหลายที่เดี๋ยวเราจะมาดูกัน  มีทั้งรูปแบบให้เรา click ตาม และ สร้าง control เอง   เมื่อครูเป็นผู้วางแผนการจัดการเตรียมเครื่องมือเหล่านี้ไว้แล้วนักเรียนทำอะไร  นักเรียนก็จะสร้าง ในสิ่งที่เขาอยากจะทำ  โดยมาเรียนรู้ร่วมกัน ใช้ ICT เรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ อย่างมีปฏิสัมพันธ์  ทั้งกับเครื่องมือ ครู เพื่อน และสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัวเขา  รูปแบบเป็น Collaberative Learning  เรียนรู้ร่วมกันไม่ได้หมายความว่ามานั่งด้วยกันเท่านั้น  แต่ต้องมาช่วยกันคิด ช่วยกันทำ  รูปแบบการทำงาน การเรียน และชิ้นงานของนักเรียนคือ Project Base Learning  และ Problem Base Learning คือเกิดขึ้นเมื่อเขาอยากค้นหาสิ่งที่เขาอยากรู้  เมื่อเขา “เอ๊ะ”  เขาก็ต้องอยากค้นหาจนกระทั่งเขา “อ๋อ”  ถ้าเขาไม่ “เอ๊ะ” แต่ต้องมานั่งฟังครูจนจบ แล้วออกไป  ต้องทำตามที่ครูบอก  เป็นการ “เลียน” ไม่ใช่ “เรียน”  บรรยากาศในห้องก็จะมีแต่ทุกข์

ที่ว่าใช้ ICT ไม่ได้หมายถึงต้องมีทุนมาก มีคอมพิวเตอร์หนึ่งเครื่องต่อหนึ่งคน  ICT หมายถึงอย่างอื่นได้อีก เช่น กล้อง Digital ตัวเดียวก็สามารถสร้างการเรียนรู้ได้ตั้งมากมาย  สามารถเข้าไปช่วยทำโครงงานได้ เช่น แค่ถือกล้อง Digital เพียงตัวเดียวก็สามารถถ่ายรูป แล้วเขียนเรื่องว่ามีอะไรเกิดขึ้นเป็นนักข่าวในโรงเรียนได้ หรือมาทำหนังสือ Electronic ก็ได้    ICT ช่วยหาข้อมูลสารสนเทศที่ตอนนี้เราต่างจมอยู่ในวังวนข้อมูล  นักเรียนของเราจะต้องสามารถใช้ ICT เลือกสรร สร้างสรรค์ มีปฏิสัมพันธ์ และนำมาเสนอความคิดได้

ดังที่กล่าวไว้ข้างต้นว่า ICT เป็นเครื่องมือช่วยกระตุ้นความคิด  และฉายภาพความคิดออกมา  นักเรียนบางคนอาจไม่กล้าเล่าอะไร  ไม่กล้าบอก  แต่เมื่อครูเดินไปมองภาพจากงานที่เขากำลังทำ  ก็พอจะคาดเดาได้ว่านักเรียนคิดอะไรอยู่  ที่ผ่านมามีนักเรียนอยู่คนหนึ่ง  ซึ่งเขามีจุดในใจที่เราสามารถค้นพบปัญหาของเขาได้จากจอคอมพิวเตอร์  ครูสังเกตว่าในการทำงานทุกๆ ครั้งของเขามักใช้โทนสีร้อนแรง การเลือกภาพ  เลือก Topic   การเลือก Clip Art ก็มักเป็นภาพรุนแรง  เช่น เป็นเรื่องของมวยปล้ำ การต่อสู้  สื่อให้เห็นถึงความรุนแรง  ครูจึงไปค้นหาคำตอบ  ขณะที่นักเรียนทำโครงงาน ครูก็ทำวิจัยจนพบว่านักเรียนมีปัญหาความรุนแรงในครอบครัว  เราเคยสงสัย แต่ผู้ปกครองก็ไม่ได้บอกอะไร  แต่มาทราบจากการสะท้อนภาพความคิดของนักเรียน  ทำให้ครูเข้าไปช่วยเหลือได้ถูกจุด  (และท้ายสุดผู้ปกครองก็ยอมรับและให้ความร่วมมือ)

การจัดวางก็ต้องสอดคล้องกับการมีปฏิสัมพันธ์  เรามีคอมพิวเตอร์ปกติ  ไม่ได้มี spec สูงมากมาย  นำมาไว้ในห้องเรียน 1-2 เครื่องในห้องเรียน  หลังจากการทำงานไป 3 ปี เราสามารถสรุปเป็นรูปแบบได้ดังนี้  เกิดจากครูของเรา “ท้าทาย​” ให้นักเรียนใช้ ICT คือมากกว่าการ “ส่งเสริม”  เพราะเด็กมักใช้เป็นอยู่แล้ว  แต่ต้องท้าทายให้ใช้อย่างเต็มประสิทธิภาพ  และใช้ในการเรียนรู้  ครูจะท้าให้คิด ต่างๆ ไปในแต่ละวัน  นักเรียนจะไม่ได้มองไปเฉพาะทรงผมคนข้างหน้า  หรือถ้าหันหลังก็จะไม่เจอแต่ช่องเสียบ USB ต่างๆ  ที่อยู่หลัง  case เท่านั้น  แต่ไม่ว่าเขาจะหันไปทางซ้าย หรือทางขวา เขาก็จะได้เห็นจอภาพ และงานของเพื่อนๆ ตลอดเวลา  การท้าทายจะสร้างความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ  และเมื่อเกิดความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ ที่เป็นไปตามศักยภาพ และความต้องการในการเรียนรู้ ก็จะเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้  เราจะส่งเสริมให้เขาไปดูเพื่อนๆ   หรือถ้าของใครน่าสนใจก็จะแนะให้เขาไปแนะนำเพื่อนๆ ได้  เราไม่จำเป็นต้องสอนอย่างเดียวกันกับทุกคน หรือพร้อมกัน  เพราะนักเรียนไม่ได้อยากเรียนรู้อย่างเดียวกันในเวลาเดียวกัน  ดูจากภาพ ครูจะเดินไปดูเด็กทีละคนได้  สอนในสิ่งที่แตกต่างกัน  ครูไม่จำเป็นต้องอยู่หน้าห้อง  แต่ห้องก็ไม่ได้วุ่นวาย   แต่ละคนก็เพลิดเพลินกับการสร้างงานของตัวเอง  นักเรียนก็แบ่งปันกันได้ตลอดเวลา  เขาจะรู้ได้ว่าใครเก่งอะไร อยู่ตรงไหน  ใครสนใจในเรื่องเดียวกัน 

เราจัดงานวัน Open House เราให้ครูและนักเรียน มาทำกิจกรรมด้วยกัน  ให้ผู้ปกครองรู้ว่าลูกทำอะไร  เรียนรู้อะไร  นอกจากนั้นยังจัดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเครือข่ายโรงเรียนในจังหวัดนนทบุรีด้วย

พระเอกของเราเป็นเครื่องมือ  หน้าตาคล้ายเกม  อย่างที่เห็นในภาพเป็นโปรเจคของนักเรียนชื่อ ร้านแฮมเบอร์เกอร์  ที่นักเรียนใช้ Software ตัวหนึ่งเป็นตัวช่วย ที่จะพูดถึงใน section  ต่อไป

และเครื่องมืออีกตัวที่ใช้มานานแล้ว คือ โปรแกรม Micro Worlds ที่เราใช้กันตั้งแต่ระดับอนุบาลถึงผู้บริหาร  เป็นโปรแกรมที่มีเครื่องมือหลายชนิด  ที่เอื้อต่อการมีปฏิสัมพันธ์  และการเรียนรู้  นำไปใช้ได้ทุกวิชา  ไม่ใช่สำคัญที่ภาพกราฟฟิค  แต่อยู่ที่ด้านขวามือที่เป็นคำสั่งต่างๆ ที่อยู่เบื้องหลังภาพกราฟฟิคนั้น  ที่เป็นโจทย์ ให้นักเรียนคิด ค้นหา และเป็นสิ่งที่ทำให้นักเรียนเกิดความภาคภูมิใจในความสำเร็จในผลงาน  แต่ละคนมีวิธีคิด และถ่ายทอดออกมาต่างกัน  (น่าประหลาดใจว่า ที่บูธของปูนซิเมนต์ไทยที่อยู่เยื้องไปจากห้องบรรยายนี้  มีการแสดงแฟ้มการอบรมของพนักงาน  ในนั้นปรากฏการจัดค่ายอบรมการใช้ โปรแกรม Micro Worlds ด้วย - ผู้เขียน) จะเห็นว่านักเรียนสามารถเรียนรู้ได้อย่างมีความสุขจากเครื่องมือที่เขาใช้  ซึ่งคงจะแนะนำในช่วงต่อไป  นี่เป็นภาพที่แสดงว่านักเรียนเรียนรู้ต่างกัน  นักเรียนในภาพสามคน คนหนึ่ง “อ๋อ” ไปแล้ว  อีกคนกำลังตามมา  แต่อีกคนยังฉงนอยู่   เป็นภาพที่อาจารย์จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์บันทึกไว้ได้ขณะมาเยียมห้องเรียน  เขาทำในสิ่งเดียวกัน  แต่เรียนรู้ได้ไม่เท่ากัน  แต่เขาก็จะเข้าใจมากขึ้น  เรียนรู้ไปด้วยกันได้ 

จะเห็นว่าความสำเร็จของนักเรียนต้องเกิดขึ้นทุกวัน   อยู่ที่การลงมือทำงาน  ไม่จำเป็นว่าจะต้องมีจุดสำเร็จเป็นจุดเดียว เหมือนมีดอกไม้อยู่ดอกเดียวที่ปลายทางเท่านั้น  แต่เขาสามารถเก็บดอกไม้มาชื่นชมได้ตลอดทาง  ช่วงนี้ขอจบเท่านี้ก่อนค่ะ

ถอดเทปช่วงเช้า  ตอนที่    1   2   3   4   5      สรุปช่วงบ่าย

หมายเลขบันทึก: 67648เขียนเมื่อ 16 ธันวาคม 2006 16:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:45 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท