ชีวิตที่พอเพียง 3654a. รวมพลังสู้โควิด ๑๙ ระบาดขยายใกล้ระดับ ๓


คนไทยต้องร่วมมือกันเอง และร่วมมือกับรัฐบาลดูแลให้มีการดำเนินการตามคำแนะนำของผู้รับผิดชอบมาตรการทั้ง ๖ เพื่อร่วมกันฟันฝ่าวิกฤตินี้ และร่วมกันพลิกวิกฤติเป็นโอกาส

ชีวิตที่พอเพียง 3654a. รวมพลังสู้ โควิด ๑๙ ระบาดขยายใกล้ระดับ ๓

วันที่ ๑๓ มีนาคม ๒๕๖๓ผมไปร่วมประชุมกลุ่มสามพราน    ได้ฟัง นพ.วิชัย โชควิวัฒน เล่าที่มาของความเข้มแข็งของวงการสาธารณสุขในการรับมือโควิด๑๙    วันที่ ๑๔ ผมลงบันทีก ทำไมประเทศไทยจึงชะลอการระบาดของโควิด๑๙ ได้ดีที่ไวรัลกันในวงกว้าง

เย็นวันที่ ๑๗ มีนาคมกัลยาณมิตร โทรศัพท์มาบอกว่า   ได้รับแรงบันดาลใจจากบันทึก ทำไมประเทศไทยจึงชะลอการระบาดของโควิด๑๙ ได้ดี    จึงหาทางรวมพลังหลายฝ่ายเข้ามาร่วมกันเตรียมรับมือในอนาคตอย่างเป็นระบบ จึงโทรศัพท์ไปหาเพื่อนๆ ทั้งฝ่ายธุรกิจและฝ่ายวงการสุขภาพที่เกี่ยวข้อง   จึงได้ข้อมูลข้อจำกัดของฝ่ายระบบสุขภาพ ที่เป็นผู้รู้ด้านนี้โดนฝ่ายการเมืองตามตัวไปซักถามจนหมดแรง   นอกจากนั้นยังมีความขัดแย้งส่วนบุคคลภายในหน่วยงานทางวิชาการ    ที่มีคนเก่งแต่ล้นอัตตาเข้าไปยึดกุมอำนาจ    และความสับสนวุ่นวายไร้ระบบของฝ่ายการเมือง  

เช้าวันที่ ๑๘ได้ฟังวิทยุจุฬา ๑๐๑.๕ บอกว่ารัฐบาลออกมาตรการ ๖ ด้าน ในการรับมือโควิด ๑๙ ที่ตรงกับข่าวนี้    ผมก็ผ่อนคลาย ด้วยความหวังว่าฝ่ายรัฐบาลน่าจะเริ่มตั้งตัวติดแล้ว     

ช่วงเดียวกัน เว็บไซต์ BBC Future ลงบทความ Covid-19: How long does coronavirus last on surfaces    ให้ความรู้ที่มีหลักฐานแม่นยำ    จะเห็นว่ายังมีโจทย์วิจัยเกี่ยวกับไวรัส SARS CoV-2(ชื่อเชื้อไวรัสที่ก่อโรคโควิด ๑๙) อีกมากมาย    ที่มีความสำคัญต่อการปฏิบัติตัวและปฏิบัติการภาพรวมเพื่อลดการติดต่อของโควิด ๑๙  เรื่องเชื้อทนอยู่ได้นานแค่ไหนบนพื้นผิวประเภทต่างๆ มีความสำคัญมาก   และผมยังคิดว่าข้อมูลที่เขาบอกในบทความยังน่าจะต้องมีการวิจัยเพิ่มเติม    โดยเพิ่มเงื่อนไขสภาพแวดล้อมด้านอื่นเข้าไปเช่นอุณหภูมิ ความชื้น   ที่ควรวิจัยเร็วมากเพื่อนำผลเอามาใช้แนะนำวิธีปฏิบัติตัวของประชาชน  

ทำให้ผมสงสัยว่า มีการประสานงานกันในวงการจัดการงานวิจัย    เพื่อทบทวนความรู้นำไปสู่การตั้งโจทย์วิจัยด่วน   ที่จะได้ความรู้นำมาใช้ในการรับมือโควิด ๑๙   ผ่อนหนักเป็นเบาแค่ไหน    ซึ่งจะต้องทำอย่างเป็นระบบ    มีการจัดกลุ่มโจทย์วิจัย    และหาทางประสานแบ่งงานกันทำ     ไม่ใช่เน้นแข่งขันกันอย่างในสถานการณ์ปกติ   

วันที่ ๑๗มีข่าวเรื่องการพัฒนาหน้ากากนาโน (๑)    ที่จะผลิตออกจำหน่ายได้ภายใน ๒ เดือน   

สถานการณ์วิกฤติจะช่วยแยกแยะคนทำงานจริง กับคนทำงานเอาหน้า    ยิ่งในยุคที่สื่อมวลชนกระหายข่าว   เรายิ่งมองเห็นง่าย  

บ่ายวันที่ ๑๘ อ.หมอปรีดา มาลาสิทธิ์ ส่งรายงานวิจัยจากอังกฤษ เรื่อง Impact ofnon-pharmaceutical interventions (NPIs) to reduce Covid-19 mortality andhealthcare demand มาให้   เป็นงานวิจัยmodelling ที่ใช้ข้อมูลเท่าที่มีจากจีนและประเทศอื่นๆ จากการระบาดครั้งนี้    รวมทั้งใช้สมมติฐาน (เดา) บางประเด็น   เพื่อคำนวณจำนวนผู้เสียชีวิตจากการระบาดของโควิด ๑๙ ในสหราชอาณาจักรและในสหรัฐเมริกา   และความต้องการบริการเตียงใน ไอซียู   ในสถานการณ์สมมติ กรณีไม่ทำอะไรเลย เทียบกับกรณีหาทางยับยั้งการระบาด(suppression) ด้วยมาตรการหลายแบบ    กับกรณีหาทางลดความรุนแรงของการระบาด (mitigation) ด้วยมาตรการหลายแบบ

มาตรการที่ใช้ยับยั้งหรือลดความรุนแรงของการระบาดได้แก่ การแยกผู้ติดเชื้อไว้ที่บ้าน  สมาชิกในบ้านผู้ติดเชื้อแยกตัวเอง ๑๔ วัน   ผู้สูงอายุ ๗๐ปีขึ้นไปรักษาระยะห่างจากคนอื่นๆ (social distancing)    ทุกคนรักษาระยะห่างจากคนอื่น    ปิดโรงเรียนและมหาวิทยาลัย    ใช้หลายมาตรการผสมกัน    ซึ่งหมายความว่ายิ่งใช้หลายมาตรการก็ยิ่งหมดเปลือง และยุ่งยาก

สรุปได้ว่า มีทางเลือกเดียวที่เหมาะสมคือยับยั้งการระบาดแบบตัดไฟตั้งแต่ต้นลม อย่างที่ประเทศไทยเราทำนี่แหละ    แต่ต้องอึดไปนานอย่างน้อย ๑๘ เดือนรอให้วัคซีนมาช่วย    และผมยังหวังว่า จะมียาฆ่าหรือยับยั้งการขยายพันธุ์ของเชื้อไวรัสได้รับการพัฒนาขึ้น    แต่ข้อสรุปนี้ยังเป็นเพียงข้อสรุปเบื้องต้นเท่านั้น   โดยต้องไม่ลืมว่ามาตรการยับยั้งการระบาดแบบเต็มที่นี้ต้องใช้ทรัพยากรมหาศาล   

   หากไม่ทำอะไรปล่อยให้โรคมันระบาดจนคนติดเกือบถ้วนหน้าและเกิดภูมิคุ้มกันโรคที่เรียกว่า herd immunity    โรคมันจะสงบเอง    แต่จะมีคนตายในสหราชอาณาจักรราวๆครึ่งล้านคน    ในสหรัฐอเมริการาวๆ ๒.๒ล้านคน    และการระบาดจะสงบราวๆ เดือนกันยายนปีนี้    โดยมีตัวเลขเปรียบเทียบว่าในปี ค.ศ. 1918มีการระบาดของไข้หวัดใหญ่ทั่วโลก มีผู้เสียชีวิต ๕๐ ล้านคน      

แต่หากใช้มาตรการยับยั้งการระบาดจำนวนผู้เสียชีวิตจะลดลงเหลือเพียงร้อยละ ๕ – ๑๐ ของตัวเลขดังกล่าว   โดยหากเมื่อการระบาดซาลงเกือบหมดก็หยุดมาตรการ การระบาดจะกลับมาใหม่    ต้องเริ่มมาตรการรอบใหม่เล่นเอาเถิดกันอย่างนี้ไปหลายรอบ   เป็นวิกฤติที่คนทั่วโลกต้องร่วมกันเผชิญ    และช่วยกันลดการแพร่เชื้อ   รวมทั้งช่วยกันหามาตรการทำให้โรคสงบลงอย่างถาวร   

เป็นงานวิจัยที่ทำอย่างรวดเร็วสำหรับใช้เป็นหลักฐานประกอบการกำหนดนโยบายรับมือโควิด ๑๙  ของรัฐบาลสหราชอาณาจักร    และเป็นประโยชน์ต่อทั้งโลก  

บ่ายวันเดียวกันคนใกล้ชิด อีเมล์ มาบอกว่านักข่าวต้องการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์เรื่องการรับมือโควิด๑๙    บอกคำถามมา ๒ คำถาม    ผมตอบไปว่าให้บอกให้เขาสัมภาษณ์ผู้รู้จริงจะเป็นประโยชน์ต่อผู้เสพข่าวมากกว่า      

วันที่ ๑๘ผมประชุมอยู่ที่ศิริราชทั้งวัน   ได้เห็นสภาพการคัดกรองผู้เข้าไปในโรงพยาบาล   และควบคุมคนเข้าออกต้องเดินตามเส้นทางที่กำหนด    ผมถามอาจารย์แพทย์ที่ประชุมด้วยกันว่า แพทย์พยาบาล และบุคลากรของโรงพยาบาล รู้สึกว่าหมดแรงไหม    ได้คำตอบว่า รู้สึกเช่นนั้น    งานที่หนักไม่ใช่งานบำบัดผู้ป่วยโควิดเพราะมีเพียง ๑๑ คน และอาการไม่รุนแรง    ผู้ป่วยที่อาการรุนแรงอยู่ที่โรงพยาบาลในต่างจังหวัด    อาการรุนแรงคือปอดทำงานไม่ได้ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ   งานหนักในกรณีของโรงพยาบาลศิริราชคืองานคัดกรองผู้ติดเชื้อ   

จะเห็นว่าการรับมือโควิด ๑๙ ต้องทำเป็นระบบอย่างมาก   โดยต้องมองไปข้างหน้าเป็นปีหรือนานกว่า   เพราะประเทศไทยเราเลือกใช้วิธีรักษาชีวิตคนโดยการป้องกันการติดเชื้อระหว่างคนอย่างเต็มที่    รวมทั้งป้องกันความแตกตื่น  ป้องกันคนชั่วแสวงประโยชน์จากสถานการณ์    และป้องกันผู้ปฏิบัติงานรับมือตามมาตรการ ๖ด้านของรัฐบาลหมดแรง หรือขัดแย้งกันเองด้วย       

ผมตีความว่ามาตรการที่ประเทศไทยใช้อยู่นี้ เป็นการซื้อเวลา   เพื่อรอความรู้และเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้น   มาตรการที่ใช้จะพัฒนาขึ้นเรื่อยๆจากความรู้และเทคโนโลยีที่จะมีการพัฒนาอย่างเร่งด่วน   โดยที่ประเทศไทยควรมีมาตรการรวมพลังสร้างความรู้และพัฒนาเทคโนโลยีขึ้นใช้    ย้ำว่าต้องเน้นร่วมมือกันทำอย่างเป็นระบบอย่ามุ่งแข่งขันกัน  

คนไทยต้องร่วมมือกันเอง   และร่วมมือกับรัฐบาลดูแลให้มีการดำเนินการตามคำแนะนำของผู้รับผิดชอบมาตรการทั้ง๖    เพื่อร่วมกันฟันฝ่าวิกฤตินี้    และร่วมกันพลิกวิกฤติเป็นโอกาส    ดังที่เราคุยกันที่ศิริราชเมื่อวันที่ ๑๘ว่า    หลังจากการระบาดของโควิด ๑๙สงบ    การเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยจะไม่หวนกลับไปเหมือนเดิม     จะมีการพัฒนา online learningplatform เข้ามาช่วยให้การเรียนรู้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลเพิ่มขึ้นมาก        

เช้ามืดวันที่ ๑๙  สำนักข่าว Nikkei Asian Review ส่งข่าวมาบอกว่าญี่ปุ่นเริ่มใช้ยา favipiravir   ที่จำหน่ายในชื่อ Avigan รักษาโรคโควิด ๑๙ (๒)     รวมทั้งมีข่าวการระดมกำลังพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด๑๙ หลายทีม    และมีความสำเร็จบ้างแล้ว     

วิจารณ์ พานิช  

๑๙ มี.ค. ๖๓

   

 

 

หมายเลขบันทึก: 676169เขียนเมื่อ 19 มีนาคม 2020 14:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มีนาคม 2020 14:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

เป็นกำลังใจให้อาจารย์..และรักษาสุขภาพด้วยนะครับ…ด้วยความเคารพอย่างสูงครับ

หวังว่า คนไทยจะสามัคคีกัน ถึงจะผ่านโรคนี้ไปด้วยกันได้ ค่ะ

กราบขอบพระคุณอาจารย์มากครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท