การประยุกต์ใช้ระบบบัยตุลมาลในชุมชนมุสลิม : กรณีศึกษามัสยิดตะลุบัน อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี


การประยุกต์ใช้ระบบบัยตุลมาลในชุมชนมุสลิม : กรณีศึกษามัสยิดตะลุบัน

อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี


บทนำ

การบริหารมัสยิดของแต่ละชุมชนมีความแตกต่างกัน ชุมชนจะเจริญรุ่งเรืองหรือเสื่อมถอยขึ้นอยู่กับคณะกรรมการบริหารมัสยิดและการมีส่วนร่วมของชุมชน อีกทั้งในการยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชนจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้บริหารมัสยิดต้องมีจิตบริการสูงและต้องเก่งงาน เก่งบริหาร และเก่งการเงิน และต้องมีสภาพคล่องในทุกด้าน หากจะไปหวังให้ทางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นยกระดับคุณภาพชีวิตในชุมชนนั้นๆ ก็จะติดอยู่ที่ระเบียบและมีงบประมาณที่จำกัด บางมัสยิดก็มิอาจก้าวไกลไปสู่การยกระดับสู่การพัฒนาที่ดีเลิศได้ เพราะเพียงการเตรียมตู้รับบริจาคหรือมีการรณรงค์ให้สัปปุรุษมัสยิดมีการบริจาคใส่กล่องหลังละหมาดวันศุกร์สัปดาห์ละครั้งนั้น เงินบริจาคที่ได้มามีจำนวนไม่มากนัก เพียงพอต่อการจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟและใช้จ่ายเบ็ดเตล็ดเท่านั้น ยกเว้นบางมัสยิดที่มีการบริหารการเงินด้วยระบบบัยตุลมาลที่มีรายรับมาจากหลากหลายประเภท โดยเฉพาะการจ่ายซะกาตของประชาชนในชุมชน และการบริจาคทั่วไป

ในยุคแรกของการสถาปนารัฐอิสลามภายใต้การนำของท่านศาสดามุฮัมหมัด (ศ็อล) คำว่า “บัยตุลมาล” ยังไม่เป็นที่รู้จักมากนักเนื่องจากเป็นยุคของการเผยแพร่ศาสนา (ดะวะห์) “บัยตุลมาล” เป็นสถานที่ที่จัดเตรียมไว้เพื่อเก็บรวบรวมทรัพย์สิน ในสมัยอิสลามยุคแรกๆจะถูกเรียกว่า “บัยตุมาลิลมุสลิมีน” หรือเรียกว่า “บัยตุมาลิลลาฮฺ” ครั้นกาลเวลาเปลี่ยนไปยุคหนึ่งสู่ยุคหนึ่งทำให้ชื่อสถานที่ดังกล่าว ถูกทอนให้สั้นลงจนกลายเป็นที่รู้จักกันในชื่อว่า “บัยตุลมาล” หมายถึง สถานที่เก็บรักษาทรัพย์สินเพื่อประโยชน์แก่ประชาชนทั่วไปในประเทศอิสลาม ซึ่งทรัพย์สินที่รวบรวมไว้นั้นได้มาจากการจัดเก็บภาษี การยึดเงินประกันในสนธิสัญญาสงบศึกกรณีคู่พิพาทละเมิดในสัญญา และการยึดทรัพย์เชลยศึกหลังสิ้นสุดสงคราม  (มัสยิดยามิมูซาอิดอัดดูบี เมืองใหม่ยะลา, 2558: ออนไลน์) บัยตุลมาล (กองคลังสาธารณะ) ในสมัยของท่านศาสดามุฮัมหมัด (ศ็อล) ในรูปของกองทุนเพื่อสาธารณะประโยชน์ ในระหว่างสมัยของเคาะลีฟะฮ์อบูบักรได้มีการซื้อบ้านไว้หลังหนึ่งเพื่อวัตถุประสงค์นี้ ในระหว่างสมัยของเคาะลีฟะฮ์อุมัรุ บัยตุลมาลมีทรัพย์สินเพิ่มมากขึ้น เคาะลีฟะฮ์อุมัรุจัดระบบกองคลังโดยอาศัยความยุติธรรมและความมั่นคงเป็นพื้นฐาน เจ้าหน้าที่บัยตุลมาลจะถูกเรียกว่า (ซอฮิบุล บัยตุลมาล) และในแต่หัวเมืองจะมีเจ้าหน้าที่บัยตุลมาลประจำอยู่ ในมะดีนะฮุมีกองคลังกลางเป็นผู้ดูแลรักษาบัญชีรายได้ ซึ่งรายได้ของรัฐอิสลามมาจาก ญิซยะฮุ (ภาษีที่เรียกเก็บจากผู้ที่มิใช่มุสลิม) ซะกาต (ภาษีที่มุสลิมถูกกำหนดให้จ่าย) เคาะรอจญ์ (ภาษีที่ดิน) อุชร์ (ภาษีพืชผลจากที่ดิน) ทรัพย์สินที่ได้จากสงครามหรือการยึดครองที่ดิน ภาษีจากพ่อค้าที่มิใช่มุสลิมซึ่งเดินทางเข้ามาค้าขายในรัฐอิสลาม

      การบริหาร บัยตุลมาล ที่เป็นระบบ มีการกระจายรายได้สู่คนยากจนและอนาถา ทำให้ในพื้นที่ความรับผิดชอบของเคาะลีฟะฮ์ดังกล่าวไม่ปรากฏเจอผู้ยากจนอีกต่อไป เห็นได้จาก ท่านอุมัร อิบนุ อับดิลอะซีซ เป็นเคาะลีฟะฮ์ที่มีคุณสมบัติดีที่สุดของราชวงศ์อะมะวียะฮฺ และเป็นเคาะลีฟะฮ์ผู้ทรงธรรมหลังจากเคาะลีฟะฮ์ทั้ง 4 ภารกิจสำคัญของท่านอุมัร อิบนุ อับดิลอะซีซ คือ การปฏิรูประบบการบริหาร และระบบการคลัง (บัยตุลมาล) ให้มีประสิทธิภาพตามหลักการของอิสลาม ท่านได้ให้ความสำคัญอย่างมากต่อเรื่อง การจัดเก็บซะกาต และการแจกจ่ายซะกาตยังผู้ที่มีสิทธิตามครรลองที่ถูกต้อง (อับดุลเลาะ หนุ่มสุข, 2553) ปัจจุบัน บัยตุลมาล ไม่ค่อยมีการพูดถึงโดยเฉพาะในประเทศไทย เนื่องจากบางคนไม่เคยได้ยินแม้กระทั่งชื่อองค์กรหรือสถาบันฯ ไม่ทราบว่าบทบาทหรือจุดเด่นของสถาบันการเงินดังกล่าวมีเพื่ออะไร ซึ่งผิดกับประเทศมุสลิมอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นประเทศแถวตะวันออกกลาง เช่น ซาอุดีอารเบีย อิรัก ปาเลสไตน์ ปากีสถาน ตุรกี และประเทศมุสลิมในกลุ่มประชาคมอาเซียน เช่น อินโดนีเซีย บรูไน และมาเลเซีย ซึ่งได้ให้ความสำคัญรวมทั้งพัฒนาองค์กรดังกล่าวให้เจริญและมีบทบาทมากขึ้น ในการบริหารจัดการ บัยตุลมาล ของแต่ละประเทศย่อมมีความแตกต่างกัน

ส่วน บัยตุลมาลในประเทศไทยโดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้จะอยู่ภายใต้การดูแลของอิหม่ามประจำมัสยิด แต่ยังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก มีเพียงไม่กี่มัสยิดที่มีการรณรงค์และบูรณาการให้มีบัยตุลมาลในชุมชน ด้วยเหตุผลเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและแก้ปัญหาความยากจนในชุมชน ถือได้ว่ายังเป็นนวัตกรรมใหม่อีกทางหนึ่งด้วย ปกติทางมัสยิดจะมีแค่กล่องรับบริจาคทั่วไป ซึ่งรายรับที่ได้ก็จะใช้จ่ายในการจ่ายค่าน้ำค่าไฟของมัสยิด หากมีคนยากจนในชุมชนที่ต้องมีการช่วยเหลือ ทางมัสยิดมิอาจเอื้อมมือไปช่วยเหลือได้เนื่องจากมีรายรับที่จำกัด แต่สำหรับมัสยิดที่มี บัยตุลมาล สามารถยกระดับความเป็นอยู่ของสัปปุรุษมัสยิดอีกทั้งยังสามารถแก้ปัญหาความยากจนในชุมชนได้อีกด้วย ในการยกระดับคุณภาพชีวินในชุมชนโดยเฉพาะการแก้ปัญหาความยากจน ทางชุมชนหรือมัสยิดต้องแสดงอีกบทบาทหนึ่งที่ต้องดูแล หางบประมาณเพื่อช่วยเหลือแก้ปัญหาความยากจนในชุมชนให้ลดลงหรือหมดไป บัยตุลมาล ถือเป็นแหล่งการเงินอีกระบบหนึ่งในอิสลามที่อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของมัสยิด ซึ่งตอนนี้ทางบัยตุลมาลมัสยิดตะลุบันมีเงินหรือทรัพย์สินอยู่ในหลักล้าน จากความสำคัญข้างต้นจึงสนใจทำการศึกษาการบริหารการเงินของมัสยิดด้วยทุนของชุมชน ในหัวข้อเรื่อง “การประยุกต์ใช้ระบบบัยตุลมาลในชุมชนมุสลิม : กรณีศึกษามัสยิดตะลุบัน อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี” ศึกษาการประยุกต์อย่างไรทั้งการส่งเสริมให้สัปปุรุษมัสยิดมีส่วนร่วมในการรวบรวมและบริหารกองทุนเพื่อสามารถแก้ปัญหาในชุมชนต่อไป

วัตถุประสงค์ของการศึกษา

1. เพื่อศึกษาการประยุกต์ใช้ระบบบัยตุลมาลในชุมชนมุสลิม มัสยิดตะลุบัน อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี

2. เพื่อศึกษาปัญหาในการบริหารและการประยุกต์ใช้ระบบบัยตุลมาลในชุมชนมุสลิม มัสยิดตะลุบัน อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี

วิธีการศึกษา

         การวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพที่มุ่งเน้นศึกษากาประยุกต์ใช้ระบบบัยตุลมาลในชุมชนมุสลิม : กรณีศึกษามัสยิดตะลุบัน อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี รูปแบบการได้มาของข้อมูลจะใช้วิธีการสัมภาษณ์ สัมภาษณ์เชิงลึก การสนทนาพูดคุยแบบไม่เป็นทางการ และการสังเกตการณ์แบบไม่มีส่วนร่วม เพื่อให้ได้ข้อมูลอันเป็นประโยชน์จากผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรง เช่น อิหม่ามและคณะกรรมการประจำมัสยิด ผู้นำชุมชน สัปปุรุษประจำมัสยิด และประชาชนทั่วไป รวม 20 คน โดยดำเนินการเริ่มต้นด้วยการติดต่อ นัดหมาย ขอความร่วมมือและขอสัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่าง การสัมภาษณ์ผู้ศึกษาจะค่อยๆ พูดสร้างความสนิทสนมคุ้นเคย แนะนำตัวกับกลุ่มตัวอย่างโดยเป็นกันเองและสร้างความเชื่อใจ เพื่อที่จะให้ได้ข้อมูลที่ครบถ้วนและไม่ทำให้กลุ่มตัวอย่างอึดอัดจนเกินไป มีการจดบันทึกและทำการบันทึกเสียงการสัมภาษณ์ สำหรับการเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างที่เป็นมุสลีมะห์ (ผู้หญิง) ทางทีมวิจัยจะให้ทีมผู้ช่วยเก็บข้อมูลที่เป็นนักศึกษาหญิง ซึ่งเป็นนักศึกษาที่ได้เรียนในรายวิชา การบริหารงานคลังและบัยตุลมาล ของหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยฟาฏอนี

ผลการศึกษา

         การประยุกต์ใช้ระบบบัยตุลมาลในชุมชนมุสลิม มัสยิดตะลุบัน อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี

         บัยตุลมาลในสมัยท่านรอซูลุลลอฮ และเศาะหาบะห์ (สหาย) มีรายได้หลักมาจากการเก็บซะกาตและรายได้จากภาษี ต่อมาในยุคของท่านอุมัร อิบนุ อับดิลอะซีซ เป็นเคาะลีฟะฮฺที่มีคุณสมบัติดีที่สุดของราชวงศ์อะมะวียะฮฺ และเป็นเคาะลีฟะฮฺผู้ทรงธรรมหลังจากเคาะลีฟะฮ์ทั้ง 4 ภารกิจสำคัญของท่านอุมัร อิบนุ อับดิลอะซีซ คือการปฏิรูประบบการบริหาร และระบบการคลัง (บัยตุลมาล) ให้มีประสิทธิภาพตามหลักการของอิสลาม ท่านได้ให้ความสำคัญอย่างมากต่อเรื่อง การจัดเก็บซะกาต และการแจกจ่ายซะกาตยังผู้ที่มีสิทธิ์ตามครรลองที่ถูกต้อง แนวทางของท่านที่สำคัญมี ดังนี้ :

         1) การยกเลิกภาษีต่างๆ ที่ถูกกำหนดขึ้นโดยขัดกับกฎหมายอิสลาม คงเหลือแต่ซะกาตและภาษีที่สอดคล้องกับกฎหมายอิสลามเท่านั้น ท่านกล่าวว่า มุสลิมจะต้องรับผิดชอบต่อการจ่ายซะกาตทรัพย์สินของเขา เมื่อใดก็ตามที่เขาจ่ายซะกาตแก่กองคลัง (บัยตุลมาล) เขาก็ไม่ต้องจ่ายทรัพย์ใดๆอีกในปีนั้น การยกเลิกภาษีหลายประเภทและการเอาจริงเอาจังในเรื่องซะกาตทำให้ประชาชนผ่อนคลายไม่ต้องแบกรับภาระการจ่ายที่หนักเกินไป และสามารถยืนบนขาของตัวเองได้ ผลที่เกิดขึ้นก็คือ พวกเขาสามารถยกระดับมาตรฐานชีวิตจากสภาพที่ยากจนได้สำเร็จ

         2) การจัดระบบในการแจกจ่ายซะกาตที่ดีเยี่ยมและมีความเป็นธรรมของท่านอุมัร เป็นผลทำให้ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุดจากซะกาต นับเป็นครั้งแรกที่อาณาจักรอิสลามไม่มีคนยากจนมารับซะกาต และนับเป็นครั้งแรกที่อาณาจักรอิสลามมีผู้มีสิทธิรับซะกาตเหลือน้อย จนกลายเป็นปัญหาของคนรวยในการสืบหาคนจนเพื่อมอบซะกาตให้

         3) การกำหนดมาตรฐานที่ชัดเจนของบุคคลในการดำรงชีพ โดยที่ท่านอุมัร อิบนฺ อับดิลอะซีซ ได้วางหลักประกันในการดำรงชีพขั้นพื้นฐานของประชาชนทุกคนจากกองคลัง (บัยตุลมาล) และซะกาต ท่านได้กำหนดมาตรฐานของความพอเพียงไว้ว่า “ชายมุสลิมคนหนึ่งนั้นจะต้องมีที่อยู่สำหรับอาศัย มีคนรับใช้สำหรับแบ่งเบาภาระ มีม้าสำหรับทำญิฮาด และมีเครื่องใช้ไม้สอยที่จำเป็นภายในบ้าน” ผู้ที่ขาดแคลนสิ่งเหล่านี้มีสิทธิ์ได้รับการอุดหนุนสงเคราะห์จากซะกาตและบัยตุลมาล

         4) การใช้หลักธรรมาภิบาลของท่านอุมัร อิบนุ อับดิลอะซีซ ในการบริหารกิจการที่เกี่ยวกับซะกาตทำให้ประชาชนเกิดการศรัทธาเชื่อมั่นต่อผู้นำและเชื่อมั่นต่อรัฐ และยินดีที่จะสนองนโยบายของรัฐ  การจัดเก็บซะกาตในสมัยท่านอุมัรจึงเป็นไปด้วยความสะดวก เนื่องจากได้รับความร่วมมืออย่างดีจากประชาชน หลักธรรมาภิบาลของท่านอุมัรที่สำคัญก็คือ การเป็นแบบอย่างของความสมถะ ความเรียบง่าย ความเคร่งครัดในวิถีปฏิบัติทางศาสนา และการมีคุณธรรมอันสูงส่งในการใช้จ่ายทรัพย์สินของรัฐ ท่านได้กำหนดให้สิ่งเหล่านี้เป็นนโยบายที่ข้ารัฐการทุกคนต้องปฏิบัติ ตัวอย่างเช่น ท่านจะไม่อนุญาตให้ข้ารัฐการหรือเจ้าหน้าที่ของท่านประกอบธุรกิจการค้า และไม่อนุญาตให้รับของกำนัล (ฮะดียะฮฺ) จากประชาชน ท่านถือว่าสิ่งเหล่านี้คือการฉ้อราษฎร์  แนวทางของท่านอุมัร อิบนุ อับดิลอะซีซ นำความเจริญรุ่งเรือง และความผาสุกร่มเย็นมาสู่ประชาคมมุสลิมอย่างแท้จริง ท่านได้ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งเคาะลีฟะฮฺโดยยึดแบบอย่างจากท่านนบี ท่านอบูบักร และท่านอุมัร อิบนุลคอฎฎ็อบ วิถีปฏิบัติของท่านได้รับความชื่นชอบจากประชาชนทั่วทั้งอาณาจักร ทั้งคนมุสลิมและไม่ใช่มุสลิม จนท่านถูกขนานนามว่าเป็นเคาะลีฟะฮฺ ผู้ทรงธรรมคนที่ 5 ในประวัติศาสตร์ของอิสลาม

         การประยุกต์ใช้ระบบบัยตุลมาลในชุมชนมุสลิมมัสยิดตะลุบันนั้น รายได้หลักของบัยตุลมาลมัสยิดได้มาจากการจ่ายซะกาตติญาเราะห์และซะกาตฟิตเราะฮฺของสัปปุรุษมัสยิด ซึ่งหลักการในการจ่ายซะกาตนั้นต้องเกี่ยวข้องกับพื้นที่ตั้ง ดังนั้นทางมัสยิดตะลุบันจะรับเฉพาะซะกาตจากประชาชนที่อาศัยหรือมีภูมิลำเนารอบๆ บริเวณมัสยิดเท่านั้น นอกจากรายได้จากการบริจาคทั่วไปแล้ว ยังได้รับจากการบริจาครายสัปดาห์ในวันศุกร์ ค่าเช่าบ้าน (ของมัสยิด) รายได้จากการเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตร (สวนมะพร้าวที่ได้จากการบริจาค) ซึ่งจะมีความแตกต่างกับรายรับของบัยตุลมาลสมัยของท่านนบี (ศ็อล) และเศาะหาบะห์ คือ จะไม่มีการเก็บ เคาะรอจญ์ (ภาษีที่ดิน) ฆอนีมะห์ (ทรัพย์สินที่ยึดได้จากเชลยในสงครามที่มีการต่อสู้) ฟัยน์ (ทรัพย์สินที่ยึดได้จากเชลยโดยไม่มีการต่อสู้) ญิชยะห์ (เงินภาษีที่เก็บจากผู้อยู่ในอารักขาที่มิใช่เป็นมุสลิม) เนื่องจากปัจจุบัน เราไม่มีประเทศหรือไม่ใช่ประเทศที่ปกครองโดยผู้นำประเทศที่เป็นมุสลิม จึงมีการบูรณาการหรือประยุกต์ใช้บัยตุลมาลมัสยิด ซึ่งรายรับที่ได้มาส่วนหนึ่งทางมัสยิดนำไปใช้ในการลงทุน และใช้จ่ายหรือมอบให้กับคนยากจน อนาถา หรือกลุ่มที่มีสิทธิ์รับซะกาตทั้ง 8 ประเภท แต่จะเพิ่มการช่วยเหลือให้เด็กกำพร้า โดยเฉพาะการช่วยเหลือด้านการศึกษา และยังเปิดโอกาสให้ประชาชนหรือครอบครัวที่ยากจนมากู้ยืมเงินฉุกเฉินเพื่อไปใช้ในการลงทุนได้ ในการรณรงค์ให้ประชาชนหรือสัปปุรุษมัสยิดมาจ่ายซะกาตผ่านมัสยิดนั้น ทางอิหม่ามได้ใช้เวทีการบรรยายธรรม รวมทั้งผ่านมิมบัรคุฏบะห์วันศุกร์ ส่วนฝ่ายมุสลีมะห์ (ผู้หญิง) นั้นจะมีการเรียนการสอนผ่านชมรมมุสลีมะห์ของมัสยิดเช่นเดียวกัน มีการติด/ปิดประชาสัมพันธ์ข้อความ หลักฐานทางศาสนาที่เกี่ยวข้อง ส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันทำความดี เพื่อนำชีวิตและครอบครัวสู่ความสำเร็จในวันข้างหน้า (วันอาคีเราะห์) เห็นได้จากฝาผนังของมัสยิดจะมีการติด/ปิดข้อความต่างๆ เช่น “ท่านบริจาคเถิดครับ ก่อนที่จะไม่มีเวลาบริจาค” ถือเป็นสิ่งหนึ่งที่จะติดตัวเราไปในสุสาน (วันอาคีเราะห์)

         จะเห็นได้ว่า ในการบริหารจัดการหรือกระตุ้นให้เกิดการปฏิบัติจริงด้านการบริจาคนั้น ทางมัสยิดได้จัดเตรียมตู้รับบริจาคทั้งตู้บริจาคทั่วไป และมีตู้เฉพาะกิจการ ซึ่งตู้เฉพาะกิจการในเวลานี้ทางมัสยิดมีความจำเป็นใน 2 เรื่อง คือ กล่องบริจาคเพื่อสมทบทุนสร้างอาคารเรียน 4 ชั้น ราคาประมาณ 14,000,000 บาท (ซึ่งเป็นของสหกรณ์อิบนูอัฟฟาน) ทางมัสยิดต้องหาเงินเพื่อมาจ่ายให้กับสหกรณ์ ถือว่าเป็นจุดแข็งของมัสยิดตะลุบันที่มีโรงเรียนเป็นของมัสยิด บริหารโดยทีมหรือคณะกรรมการมัสยิด และอีกโครงการหนึ่งคือ เพื่อนำเงินบริจาคในการซื้อวังพิพิธภักดี ด้วยวงเงินทั้งสิ้น 10,500,000 บาท ซึ่งรับผิดชอบโดยชมรมมุสลีมะห์ มัสยิดตะลุบัน ภายใต้การบริหารของมัสยิดเช่นเดียวกัน นอกจากเงินบริจาคที่ได้รับจากกล่องบริจาคแล้ว ทางมัสยิดตะลุบันมีเงินที่ได้รับเงินจากการจ่าย  ซะกาตของประชาชนในชุมชน เนื่องจาก “ซะกาต” นั้นต้องเก็บในพื้นที่นั้นๆ และกระจายให้กับผู้มีสิทธิ์ในพื้นที่นั้นๆ เช่นกัน จากการบรรยายศาสนาให้ความรู้เรื่อง ความสำคัญและโทษของการไม่จ่ายซะกาต ทำให้สัปปุรุษมัสยิดตะลุบันหรือประชาชนรอบข้างมาจ่ายซะกาตติญาเราะห์เป็นจำนวนมาก ซึ่งรายชื่อผู้จ่ายซะกาตและจำนวนซะกาตที่เก็บได้ก็จะมีการติดประกาศที่ผนังมัสยิด ทำให้เกิดความโปร่งใส ตรวจสอบได้ อีกทั้งทำให้มีผู้สนใจที่จะจ่ายซะกาตจำนวนเพิ่มขึ้น

         สัปปุรุษมัสยิดตะลุบันเริ่มให้ความสำคัญกับหลักคำสอนของศาสนาอิสลาม โดยเฉพาะในเรื่องการจ่ายซะกาตในระดับดีเยี่ยม ทุกปีจะมีสัปปุรุษมาจ่ายซะกาตติญาเราะห์เกือบ 100 ท่าน (ไม่รวม  ซะกาตฟิตเราะฮฺ) โดยมีข้อมูลผู้มาจ่ายซะกาตจำแนกตามรายปี ดังตารางข้างล่างนี้

ตารางที่ 1 ข้อมูลการรับบริจาคซะกาตติญาเราะห์

ประจำปี

จำนวนผู้บริจาค

จำนวนเงินที่ได้รับ

พ.ศ. 2554/ ฮ.ศ. 1432

80 คน

3,258,033 บาท

พ.ศ. 2555/ ฮ.ศ. 1433

80 คน

3,035,757 บาท

พ.ศ. 2556/ ฮ.ศ. 1434

94 คน

3,544,875 บาท

พ.ศ. 2557/ ฮ.ศ. 1435

89 คน

2,697,031 บาท

พ.ศ. 2558/ ฮ.ศ. 1436

85 คน

3,252,147 บาท

การเริ่มรับซะกาตติญาเราะห์ใหม่นั้น จะเริ่มในเดือนมุฮัรรอม ซึ่งถือว่าเป็นเดือนแรกในอิสลาม เมื่อครบรอบหนึ่งปีก็จะมีการสรุปและปิดประกาศเพื่อให้สัปปุรุษทุกคนทราบ เงินซะกาตที่บริจาคตั้งแต่ยอดเงิน 1,000 บาท จนถึงมากที่สุด 480,000 บาทต่อคน ในการบริหารด้านการเงินมัสยิดตะลุบัน จะมีการสรุปบัญชีและมีการติดประกาศ ซึ่งมีนายสันติ  วาโดร์ ตำแหน่งการเงินมัสยิดจะทำการสรุปทุกเดือน นอกจากนั้นจะมีการติดประกาศบัญชีเงินรายได้เข้ามัสยิดประจำเดือน รายละเอียดเงินบริจาคเพื่อสร้างอาคารเรียน 4 ชั้น และมีการสรุปผลการรับและจ่ายซะกาตรวมถึงรายนามผู้มาจ่ายหรือสรุปเป็นชุมชนที่มาจ่ายซะกาตฟิตเราะฮฺผ่านมัสยิด จากการจ่ายซะกาตฟิตเราะฮฺของสัปปุรุษมัสยิดทั้ง 7 ชุมชน ประกอบด้วยชุมชนมัสยิด ชุมชนตลาดสด ชุมชนวังเก่า ชุมชนบ้านใต้ ชุมชนบ้านค้อ ชุมชนกาหยี และชุมชนบลูกา การจัดเก็บหรือรับซะกาตครั้งแรกตั้งแต่หลังซุบฮี ถึงเที่ยงคืนของวันที่ 4 กรกฎาคม 2559 ซึ่งมีจำนวนผู้มาจ่ายซะกาตฟิตเราะฮฺทั้งสิ้นจำนวน 1,589 คน จำนวนเงินซะกาตที่ได้รับ 81,395 บาท เงินบริจาคอีก 1,865 บาท และซะกาตในรูปข้าวสารอีกจำนวน 36 ทะนาน

ซึ่งซะกาตที่ได้มีการแบ่งส่วนออกเป็น 8 อัสนัฟหรือส่วน จะได้ส่วนละ 10,196.62 บาท และมีการรับเพิ่มครั้งที่ 2 ตั้งแต่เช้าก่อนถึงละหมาดรายออีกเป็นเงิน 2,670 บาท และข้าวสารอีก 9 ทะนาน  มีการแบ่งส่วนออกเป็น 8 อัสนัฟหรือส่วน จะได้ส่วนละ 333.75 บาท จะเห็นได้ว่า เงินซะกาตที่ได้ครั้งแรกและครั้งที่สองรวมกันเท่ากับ 10,530.37 บาท โดยมีการแบ่งในสัดส่วนที่เท่ากันทั้ง 8 ประเภทหรือกลุ่มดังนี้

1. กลุ่มฟากีร (ยากจน) เป็นเงินจำนวน 10,530.37 บาท

2. กลุ่มมิสกีน (ขัดสน) เป็นเงินจำนวน 10,530.37 บาท

3. กลุ่มอามีล (ผู้ที่ได้รับแต่งตั้งให้ทำหน้าที่รวบรวมซะกาต) เป็นเงินจำนวน 10,530.37 บาท

4. กลุ่มอัรริก็อบ (เชลยหรือทาสที่รอไถ่ตัว) เป็นเงินจำนวน 10,530.37 บาท

5. กลุ่มมุอัลลัฟ (ผู้ที่มีใจโน้มเอียงมาสู่อิสลาม) เป็นเงินจำนวน 10,530.37 บาท

6. กลุ่มฆอรีมีน (ลูกหนี้ที่มีหนี้สินล้นพ้นตัว) เป็นเงินจำนวน 10,530.37 บาท

7. กลุ่มฟีซาบีลิลลาฮ (ใช้ไปในทางของพระผู้เป็นเจ้า) เป็นเงินจำนวน 10,530.37 บาท

8. กลุ่มอิบนีซาบีล (ผู้เดินทางหรือผู้ผลัดถิ่น) เป็นเงินจำนวน 10,530.37 บาท

         ในการกระจายเงินซะกาตให้กับกลุ่มคนยากจนและขัดสนนั้น ทางมัสยิดจะมีรูปแบบการมอบเงินซะกาตที่แตกต่างกัน แต่ละครอบครัวก็จะได้เงินซะกาตที่ต่างกันด้วย โดยทางมัสยิดจะประเมินความจำเป็นที่ต้องใช้เงิน เช่น หากครอบครัวที่มีลูกๆ เรียนหนังสือทางมัสยิดจะมีการมอบซะกาตเป็นรายเดือนซึ่งจะให้ทางผู้ปกครองมาเบิก ในเทอมแรกก็จะให้ทางครอบครัวไปสั่งเสื้อชุดนักเรียนแล้วนำบิลหรือใบเสร็จรับเงินมาให้กับผู้รับผิดชอบบัยตุลมาลมัสยิดเพื่อดำเนินการนำเงินไปจ่ายให้กับร้าน สำหรับครอบครัวที่ยากจนก็จะได้เงินซะกาตจำนวนหนึ่งซึ่งทางบัยตุลมาลจะเป็นผู้จ่ายค่าเทอมให้ และสำหรับนักศึกษาที่ต้องการยืมเงินทุนเพื่อการศึกษาก็สามารถมาทำเรื่องกู้ยืม และจะมีการจ่ายคืนเมื่อเรียนจบหรือมีงานทำ ปกตินักศึกษาจะให้เบิกค่ำใช้จ่ายรายเดือนๆ ละ 2,000 บาท และสำหรับกลุ่มผู้เดินทางหรือผลัดถิ่น ทางบัยตุลมาลมีการเตรียมเงินในส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อจ่ายตามความจำเป็น เช่น ในอดีตที่ผ่านทางมัสยิดเคยมอบเงินจำนวนหนึ่งให้กับคนต่างชาติ (จากประเทศปากีสถานและอินโดนีเซีย) เพื่อใช้จ่ายในการซื้อตั๋วเดินทางกลับประเทศ สำหรับกลุ่มอามีลหรือมูอาลีมีน คณะกรรมการบัยตุลมาลทุกคนจะได้ในจำนวนที่เท่ากัน จะเห็นได้ว่า การบริหารกองทุนบัยตุลมาลมัสยิด ตะลุบัน มีความโปร่งใส ได้รับการยอมรับจากประชาชนหรือสัปปุรุษมัสยิดด้วยดี เริ่มต้นบริหารบัยตุลมาล จากเงินเพียงสามหมื่นบาท ปัจจุบันบัยตุลมาลมีเงินร่วมลงทุนประมาณสามล้านกว่าบาท ทางมัสยิดมีการสร้างบ้านเช่า สร้างโรงเรียนอนุบาลถึงชั้นมัธยมศึกษา มีสหกรณ์ของมัสยิดซึ่งเป็นสหกรณ์ของชุมชน บัยตุลมาลมัสยิดตะลุบันสามารถแก้ปัญหาในชุมชน ยกระดับและช่วยเหลือคนยากจน อนาถาเด็กกำพร้า แม่หม้าย รวมทั้งมอบทุนการศึกษาแก่นักเรียนในชุมชน และยังเปิดโอกาสให้นักเรียนหรือนักศึกษาที่ได้ทำเรื่องกู้เงินจากกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ของรัฐบาล สำหรับเดือนใดที่เงินค่ครองชีพออกช้าก็สามารถมากู้ยืมเงินจากบัยตุลมาลมัสยิดไปใช้ก่อน และสามารถจ่ายคืนเมื่อเงินกู้ กยศ. ออก ส่วนคณะกรรมการบริหารบัยตุลมาลมัสยิดจะเป็นชุดเดียวกับคณะกรรมการมัสยิดตะลุบัน

         ปัญหาในการบริหารและการประยุกต์ใช้ระบบบัยตุลมาลในชุมชนมุสลิม มัสยิดตะลุบัน อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี

         การดำเนินงานเป็นไปด้วยความราบรื่น โปร่งใส เนื่องจากมีการบันทึก รายรับ-รายจ่าย พร้อมมีการปิดประกาศรายชื่อผู้บริจาคพร้อมจำนวนเงินตามผนังหรือป้ายประชาสัมพันธ์มัสยิด การเงินหรือบัยตุลมาลของมัสยิดจะมอบหมายให้เจ้าหน้าที่หรือกรรมการฝ่ายการเงินของมัสยิดเป็นผู้ควบคุมและจดบันทึก ส่วนเงินบริจาคทั่วไปและเงินซะกาตนั้น จะมีการเปิดบัญชีธนาคารที่แยกออกจากกัน เนื่องจากเงินซะกาตจะต้องแบ่งให้เฉพาะ 8 จำพวกกลุ่มที่มีสิทธิ์ที่ได้ระบุไว้ในอัลกุรอานเท่านั้น จะไปใช้จ่ายในเรื่องทั่วไปไม่ได้ เห็นได้จากการติดประกาศสรุปยอดรายรับ-รายจ่ายของแต่ละประเภทรายรับที่ได้มา เช่น บัญชีเงินรายได้เข้ามัสยิดประจำเดือน ซึ่งในเดือนๆหนึ่งจะมีการบันทึกรายการที่เกิดขึ้น เช่น รายการแรก เป็นเงินบริจาคยารียะห์ 1,000 บาท รายการที่สอง เงินบริจาควันศุกร์ 14,892 บาท และรายการที่สาม เงินค่าเช่าบ้านมัสยิด 7,500 บาท และเงินบริจาคเพื่อสร้างอาคารเรียน 4 ชั้น ก็จะมีการบันทึกรายละเอียดครบถ้วน เช่น ในวันที่ 1 ของเดือนได้รับบริจาคจำนวนเท่าใด วันที่ 3 หรือวันที่ 5 ถ้ำมียอดบริจาคอีกก็จะสรุปติดประกาศไว้ที่ผนังมัสยิด จะเห็นได้จากการลงพื้นที่สัมภาษณ์และพูดคุยกับอิหม่ามและสัปปุรุษมัสยิด ไม่เจอปัญหาเนื่องจากสัปปุรุษมัสยิดส่วนใหญ่มีความเข้าใจว่า หากถือครองทรัพย์สินหรือเงินทองที่ครบพิกัดและครบรอบ ก็จะต้องนำทรัพย์สินดังกล่าวไปจ่ายซะกาตทันที จะรอให้ล่าช้าไม่ได้ แต่ในทางกลับกัน หลายคนมีความสนใจที่จะจ่ายซะกาตให้กับมัสยิดตะลุบัน เนื่องจากเห็นว่า การบริหารจัดการเรื่องซะกาตและบัยตุลมาลมัสยิดมีความชัดเจน สามารถแก้ปัญหาของชุมชน ยกระดับการศึกษาของเยาวชนได้ ถึงแม้เป็นครอบครัวที่ยากจนแต่สามารถส่งลูกเรียนหนังสือได้ บางครั้งทำให้มีผู้ที่จะจ่ายซะกาตที่ไม่ใช่คนในพื้นที่ เช่น เคยมีคนสุไหงโก-ลก จะมาจ่ายซะกาตให้ผ่านมัสยิดตะลุบัน ทางอิหม่ามหรือคณะกรรมการไม่สามารถที่จะรับได้เนื่องจาก หลักการซะกาตต้องจ่ายให้กับคนในพื้นที่เดียวกัน แต่บางครั้งทางมัสยิดตะลุบันเคยรับ    ซะกาตจากคนนอกพื้นที่ แต่ทางมัสยิดจะดำเนินการนำสัดส่วนซะกาตดังกล่าวเพื่อมอบให้มัสยิดที่ผู้จ่ายซะกาตนั้นอาศัยอยู่เพื่อไปกระจายให้กับผู้มีสิทธิ์รับซะกาตในชุมชนนั้นๆอีกครั้ง

         จากการบริหารบัยตุลมาลมัสยิดที่มีสัปปุรุษมาจ่ายซะกาตจำนวนมากและมีรายได้อื่นๆ อีกมากมาย ทำให้มัสยิดตะลุบันเป็นมัสยิดหนึ่งที่ชุมชนอื่นมาศึกษาดูงาน อีกทั้งอิหม่ามยังได้รับการเชิญให้เป็นวิทยากรบรรยายเรื่องการบริหารจัดการซะกาตหรือบัยตุลมาลมัสยิดที่ประสบผลสำเร็จอีกทางหนึ่งด้วย นอกจากนั้นมัสยิดหรือชุมชนตะลุบันเป็นพื้นที่หนึ่งที่นักศึกษาทำการลงพื้นที่สัมภาษณ์งานที่เกี่ยวข้องในการบริหารจัดการมัสยิดเข้มแข็ง รวมทั้งข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาในรายวิชาการบริหารงานคลังและบัยตุลมาล ซึ่งเป็นวิชาเดียวที่เปิดสอนในระดับมหาวิทยาลัยในประเทศไทยที่มีการบูรณาการรายวิชากับบริบทพื้นที่หรือหลักการอิสลาม นักศึกษาทุกรุ่นจะมีการแบ่งกลุ่มลงเก็บข้อมูลในชุมชนรวมถึงชุมชนมัสยิดตะลุบันด้วย

อภิปรายผลการวิจัย

         กรประยุกต์ใช้ระบบบัยตุลมาลในชุมชนมุสลิม มัสยิดตะลุบัน อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี

         การประยุกต์ใช้ระบบบัยตุลมาลในชุมชนมุสลิมมัสยิดตะลุบันนั้น รายได้บัยตุลมาลมัสยิดมาจากซะกาตติญาเราะห์ (การค้า) และซะกาตฟิตเราะฮฺ การบริจาคทั่วไป การบริจาครายสัปดาห์ในวันศุกร์ เก็บค่าเช่าบ้าน (ของมัสยิด) รายได้จากการเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตร (สวนมะพร้าว) รายรับที่ได้มาส่วนหนึ่ง ทางมัสยิดนำไปใช้ในการลงทุน และใช้จ่ายหรือมอบให้กับคนยากจน อนาถาโดยจะแบ่งหรือกระจายให้ผู้ที่มีสิทธิ์รับซะกาตทั้ง 8 ประเภท แต่จะเพิ่มการช่วยเหลือให้เด็กกำพร้า (ช่วยเหลือด้านการศึกษา) และยังเปิดโอกาสให้ประชาชน (ครอบครัวที่ยากจน) มากู้ยืมเงินฉุกเฉินหรือไปใช้ในการลงทุนได้ ในการประยุกต์ใช้ระบบบัยตุลมาลมัสยิดตะลุบัน ส่วนหนึ่งเป็นการบริหารเพื่อแก้ปัญหาความยากจนในชุมชน ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยของ อาคม ทองเจิม (2550) ได้ศึกษาเรื่อง การบริหารจัดการกองทุนหมู่บ้านในการแก้ไขปัญหาความยากจน: กรณีศึกษา ตำบลบางเหรียง อำเภอทับปุด จังหวัดพังงา ผลการวิจัยพบว่า การบริหารกองทุนหมู่บ้าน ทั้ง 8 ด้าน พบว่า ด้านคุณสมบัติคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้าน มีการปฏิบัติถึงมากที่สุด ร้อยละ 87.78 เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อ พบว่าคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้าน จะต้องมีคุณธรรมและรับฟังความคิดเห็นของสมาชิก และกรรมการของกองทุนหมู่บ้านจะต้องเป็นบุคคลที่มีความสามารถและจิตสำนึกถึงส่วนรวมและชุมชน และยังสอดคล้องกับงานวิจัยของ วิสุทธ์ บิลล่าเต๊ะ (2553) ได้ศึกษาเรื่อง กระบวนการดำรงอัตลักษณ์มุสลิมกับการสร้างชุมชนเข้มแข็ง : กรณีศึกษาชุมชนมัสยิดบ้านเหนือ ตำบลคูเต่า อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ผลการวิจัยพบว่า การละหมาดมีศักยภาพสูงในการผลิตซ้ำจักรวาลทัศน์อิสลาม ขัดเกลาจิตใจและก่อให้เกิดการรวมตัวอย่างยั่งยืนในชุมชน ที่ชุมชนมัสยิดบ้านเหนือมีผู้ละหมาดร่วมกันในแต่ละครั้งจำนวนมาก จึงช่วยให้ชุมชนมีระบบสังคมของตัวเอง ขณะที่ซะกาตช่วยสร้างระบบเศรษฐกิจที่มีลักษณะทั้งการแสวงหากำไรและเอื้อเฟื้อแบ่งปันกันขึ้น ทำให้ชุมชนมีหลักประกันทางสังคมแก่ผู้ด้อยโอกาส เป็นการสร้างจุดแข็งในชุมชน สามารถช่วยเหลือครอบครัวที่มีฐานะยากจนโดยเฉพาะ ครอบครัวที่สมาชิกครอบครัวตั้งใจจะให้ลูกๆ ได้เรียนหนังสือสูงๆ

         และยังสอดคล้องกับงานวิจัยของ มะดาโอะ  ปูเตะ และคณะ (2554) ได้ศึกษาเรื่อง กองทุนซะกาตมัสยิดอัตตะอาวุนกับการเสริมสร้างชุมชนเข้มแข็ง : กรณีศึกษาชุมชนบางปู อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี ผลการศึกษา พบว่า รูปแบบการจัดตั้งกองทุนซะกาตของอิหม่ามมัสยิดอัตตะอาวุนเริ่มมีเมื่อ 30 ปีที่แล้ว เริ่มจากการรวมกลุ่มของสัปปุรุษมัสยิด ทำการศึกษาเรื่องศาสนาผ่านการเรียนรู้แบบผู้ใหญ่ด้วยกระบวนการเรียนกีต๊าบ (หนังสือศาสนา) ประจำสัปดาห์ และคุฎบะห์วันศุกร์ หลังจากนั้นนำสู่การปฏิบัติจริงโดยส่งเสริมให้สัปปุรุษมัสยิดที่มีทรัพย์สินครบพิกัดและครบรอบ 1 ปี มีการจ่ายซะกาตผ่านองค์กรมัสยิดในชุมชนอย่างเป็นระบบ มีการจัดตั้งกล่องรับบริจาคที่ร้านน้ำชาในชุมชน จัดตั้งกองทุนช่วยเหลือเด็กกำพร้า กิจกรรมเลี้ยงน้ำชาประจำเดือนเพื่อรับเงินบริจาคเข้า “กองทุนบัยตุลมาลมัสยิด” เพื่อทางมัสยิดจะนำเงินส่วนหนึ่งไปช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสในชุมชนต่อไป จะเห็นได้ว่า ทางคณะกรรมการมัสยิดหรือคณะกรรมการบัยตุลมาลมัสยิดตะลุบัน มีความจริงจังและจริงใจในการช่วยเหลือ ดูแลชุมชน จะเห็นได้ว่าในการบริหารหรือการช่วยเหลือชุมชนนั้น ทางบัยตุลมาลมัสยิดตะลุบันได้มอบเงินซะกาตให้กับผู้มีสิทธิ์ทั้ง 8 ประเภทในอัตราหรือยอดเงินที่เท่ากัน ทางบัยตุลมาลมัสยิดยังเตรียมเงินอีกจำนวนหนึ่งเพื่อให้กู้ยืมแก่สัปปุรุษหรือครอบครัวที่ยากจน โดยเฉพาะนักศึกษาที่มีฐานะยากจน ในเมื่อเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ของรัฐบาลยังไม่ออก ก็สามารถมากู้ยืมเงินจากบัยตุลมาลมัสยิดไปใช้ก่อน และนำมาส่งเมื่อเงินกู้ กยศ. ออก หรือเรียนจบและได้งานทำเรียบร้อยแล้ว อีกทั้งยังสอดคล้องกับงานวิจัยของ สะสือรี  วาลี และคณะ (2555) ได้ศึกษาเรื่อง บทบาทคณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิดในการดูแลเยาวชนตามวิถีแห่งศาสนาอิสลามเพื่อเสริมสร้างสันติสุข: กรณีศึกษามัสยิดตะอาวุน ตำบลบางปู อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี ผลการศึกษา พบว่า คณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิดได้มีบทบาทในการดูแลเยาวชนตามวิถีแห่งศาสนาอิสลามเพื่อเสริมสร้างสันติสุข ด้วยกระบวนการต่าง ๆ คือ 1) การเสริมสร้างมัสยิดให้มีความสะอาดและสวยงามเป็นแหล่งดึงดูดความสนใจ 2) การเปิดสอนศูนย์จริยธรรมอิสลามประจำมัสยิด (ตาดีกา) และการสอนกีรออาตี 3) จัดสรรสวัสดิการเพื่อการช่วยเหลือและทำนุบำรุงเด็กกำพร้า คนฟากิรฺ และมิสกีน นอกจากนั้น ยังสอดคล้องในข้อที่ 6) สนับสนุนนักเรียนเรียนดีแต่ขาดทุนทรัพย์ และ 10) บริหารจัดการเรื่องกองทุนต่างๆ เช่น กองทุนซะกาต ซะกาตฟิตเราะฮฺ กองทุนสัจจะวันละบาท (กระปุกออมสิน) กองทุนการศึกษา กองทุนเด็กกำพร้า และกองทุนสร้างมัสยิดหรือต่อเติมมัสยิด

         จากการสังเกตการณ์มัสยิดหรือชุมชนที่ให้ความสำคัญกับการจ่ายซะกาต หรือผลักดันให้เป็นมัสยิดที่สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตสัปปุรุษ เนื่องจากมัสยิดตะลุบัน หรือมัสยิดอื่นๆ เช่น มัสยิดอัตตะอาวุน บางปู อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี และมัสยิดอัลอัจญ์ริดดาอิม บ้านลูโบะตะแซ ตำบล ยี่งอ อำเภอยี่งอ จังหวัดนราธิวาส เป็นมัสยิดที่มีสายซุนนะฮหรือสาลัฟในตัว ซึ่งอิหม่ามหรือคณะกรรมการมัสยิดมีความเข้าใจตรงกัน การจัดการรวบรวมและกระจายซะกาตถือเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการมัสยิด การแก้ปัญหาในชุมชน ปัญหาความยากจน ปัญหาการขาดรายได้กรณีเสาหลักของครอบครัวได้เสียชีวิตไปแล้ว ทำให้ฝ่ายสตรีหรือคุณแม่ต้องมาทำหน้าที่เป็นทั้งพ่อและแม่ในเวลาเดียวกัน ทางมัสยิดยังเปิดโอกาสหาเงินที่นอกเหนือจากเงินซะกาตเพื่อมารองรับความต้องการของครอบครัวแม่หม้าย ยากจน แม้กระทั่งครอบครัวที่ขยันทำงานแต่ขาดทุนทรัพย์ เรียนดีแต่เป็นลูกยาตีม (กำพร้า) สามารถเรียนสูงๆ เป็นที่ยอมรับของชุมชนและสังคม ถือว่าบทบาทของบัยตุลมาลมัสยิด   ตะลุบันได้สานต่อภารกิจหลักของศาสนาที่สืบทอดกันมา และอาจมีการบูรณาการให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงและบริบทพื้นที่ปัจจุบัน

         ปัญหาในการบริหารและการประยุกต์ใช้ระบบบัยตุลมาลในชุมชนมุสลิม มัสยิดตะลุบัน อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี

         กองทุนบัยตุลมาลมัสยิดได้รับการยอมรับจากประชาชนด้วยดี เริ่มต้นบริหารบัยตุลมาลจากเงินเพียงสามหมื่นบาท แต่ปัจจุบันมีเงินร่วมลงทุนประมาณสามล้านกว่าบาท ทางมัสยิดมีการสร้างบ้านเช่า สร้างโรงเรียนอนุบาลถึงชั้นมัธยมศึกษา มีสหกรณ์ของมัสยิดซึ่งเป็นสหกรณ์ของชุมชน บัยตุลมาลมัสยิดตะลุบันสามารถแก้ปัญหาในชุมชน ยกระดับและช่วยเหลือคนยากจน อนาถา เด็กกำพร้า แม่หม้าย รวมทั้งได้มอบทุนการศึกษาแก่นักเรียนในชุมชน และยังเปิดโอกาสให้นักเรียนหรือนักศึกษาที่ได้ทำเรื่องกู้เงินจากกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ของรัฐบาล เดือนใดที่เงินค่าครองชีพออกช้าก็สามารถมากู้ยืมเงินจากบัยตุลมาลมัสยิดไปใช้ก่อน และจ่ายคืนเมื่อเงินกู้ กยศ. ออก ส่วนคณะกรรมการบริหารบัยตุลมาลมัสยิดจะเป็นชุดเดียวกับคณะกรรมการมัสยิด การดำเนินงานเป็นไปด้วยความราบรื่น โปร่งใส เนื่องจากมีการบันทึก รายรับ-รายจ่าย พร้อมมีการปิดประกาศรายชื่อผู้บริจาคพร้อมจำนวนเงินตามป้ายประชาสัมพันธ์มัสยิด ในการบริหารบัยตุลมาลมัสยิดตะลุบันนี้มีความแตกต่างกับงานวิจัยของ ตายูดิน อุสมาน และคณะ (2546) จากการศึกษาการจัดการซะกาตของชุมชนมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งผลการศึกษา พบว่า ข้อที่ 1) การจัดการซะกาตของชุมชนมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้านการจัดเก็บ และด้านการพิจารณาผู้มีสิทธิรับซะกาตอยู่ในระดับปานกลาง ส่วนด้านรูปแบบของการจัดสรรซะกาต และด้านองค์กรที่ดำเนินการจัดสรรซะกาตอยู่ในระดับน้อย และ ข้อ 4) แนวทางการจัดสรรซะกาตที่สนับสนุนการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนของชุมชนมุสลิมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยภาพรวมอยู่ในระดับน้อย แต่การบริหารบัยตุลมาลมัสยิดตะลุบัน โดยเฉพาะรายรับจากการจัดเก็บและกระจายซะกาตมีความชัดเจนและเป็นระบบมาก มีการแบ่งสัดส่วนของซะกาตออกเป็น 8 ส่วนที่เท่าๆกันให้กับผู้มีสิทธิ์ทั้ง 8 ประเภทตามที่พระองค์ได้บัญญัติไว้ในอัลกุรอาน ประชาชนหรือสัปปุรุษมัสยิดมีการยอมรับเนื่องจากทุกรายการจะมีกรรปิดประกาศหรือรายงานให้ประชาชนทราบอย่างเป็นทางการ และรายชื่อดังกล่าวจะปิดประกาศจนเข้าปีที่ต้องจ่ายซะกาตในปีถัดไป ส่วนข้อที่ 7) ปัญหาการจัดการซะกาตของชุมชนมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ พบว่าปัญหาด้านการจัดเก็บ และปัญหาด้านอื่นๆ ประสบมากที่สุด และข้อเสนอแนะในการจัดการซะกาต ของชุมชนมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ กลุ่มตัวอย่างเสนอแนะด้านการพิจารณาผู้มีสิทธิรับซะกาต มากที่สุด สำหรับชุมชนมัสยิดตะลุบันไม่ถือว่าเป็นปัญหาเนื่องจากการบริหารหรือส่งเสริมให้สัปปุรุษจ่ายซะกาตนั้น ทางมัสยิดได้ขับเคลื่อนผ่านเวทีวิชาการหรือการสอนกีต๊าบ การคุฏบะห์วันศุกร์ มีการกำหนดผู้จ่ายซะกาตและผู้มีสิทธิ์รับซะกาตนั้น ต้องเป็นคนในชุมชนหรือสัปปุรุษมุสยิดตะลุบันหรือรอบข้างเท่านั้น มีการพิจารณาผู้มีสิทธิ์ในซะกาตพร้อมๆกัน มีการแบ่งปันประสบการณ์การบริหารจัดการซะกาตหรือบัยตุลมาลยังมัสยิดอื่นๆ อีกทั้งพร้อมให้มัสยิดอื่นมาแลกเปลี่ยนศึกษาดูงาน อิหม่ามมีการบริการวิชาการ เป็นวิทยากรบรรยายให้กับมัสยิดอื่นๆ ในพื้นที่

         ปัญหาที่พบบ่อยในชุมชนอื่นๆ เริ่มตั้งแต่การบริหารด้านการจัดเก็บรวมถึงการคัดเลือกผู้มีสิทธิ์รับซะกาต บางชุมชนยังไม่เข้าใจเรื่องบัยตุลมาลจนนำไปสู่การบริหารการเงินมัสยิดที่ยุ่งยาก จริงๆแล้ว แหล่งรายรับของมัสยิดต้องชัดเจน หากเงินรายรับส่วนที่เป็นซะกาตต้องมีการแจกจ่ายทันทีให้กับผู้มีสิทธิ์รับซะกาต ทั้ง 8 ประเภท แต่ถ้ำเป็นรายรับอื่นๆ ทางมัสยิดสามารถนำเงินส่วนนั้นมาบริหารจัดการในรูปของการให้เปล่าหรือการลงทุน การสร้างหรือต่อเติมอาคารมัสยิด โรงเรียน พิพิธภัณฑ์ ตาดีกาให้แล้วเสร็จก็ได้  ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยของ มะดาโอะ  ปูเตะ และคณะ (2554) ได้ศึกษาเรื่อง กองทุนซะกาตมัสยิดอัตตะอาวุนกับการเสริมสร้างชุมชนเข้มแข็ง : กรณีศึกษาชุมชนบางปู อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี ผลการศึกษาพบว่า รูปแบบการจัดตั้งกองทุนซะกาตของอิหม่ามมัสยิดอัตตะอาวุนเริ่มมีเมื่อ 30 ปีที่แล้ว เริ่มจากการรวมกลุ่มของสัปปุรุษมัสยิด ทำการศึกษาเรื่องศาสนาผ่านการเรียนรู้แบบผู้ใหญ่ด้วยกระบวนการเรียนกีต๊าบประจำสัปดาห์ และคุฎบะห์วันศุกร์ หลังจากนั้นนำสู่การปฏิบัติจริงโดยส่งเสริมให้สัปปุรุษมัสยิดที่มีทรัพย์สินครบพิกัดและครบรอบ 1 ปี มีการจ่ายซะกาตผ่านองค์กรมัสยิดในชุมชนอย่างเป็นระบบ มีการจัดตั้งกล่องรับบริจาคที่ร้านน้ำชาในชุมชน จัดตั้งกองทุนช่วยเหลือเด็กกำพร้า กิจกรรมเลี้ยงน้ำชาประจำเดือนเพื่อรับเงินบริจาคเข้า “กองทุนบัยตุลมาลมัสยิด” เพื่อทางมัสยิดจะนำเงินส่วนหนึ่งไปช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสในชุมชนต่อไป ในเมื่อการบริหารหากมีความโปร่งใสโดยเฉพาะในเรื่องของการเงินหรือตัวเลขยอดบริจาค หรือยอดการจ่ายซะกาตที่มีการปิดประกาศรายชื่อและจำนวนเงินอย่างชัดเจนนั้นก็มิอาจเกิดปัญหา อีกทั้งคณะกรรมการมัสยิดต้องหมั่นประชุมกับคณะกรรมการรวมทั้งประกาศหรือแลกเปลี่ยนในประเด็นที่เห็นว่าควรชี้แจงเป็นพิเศษ หรืออาจใช้เวทีบรรยายหรือคุฏบะห์วันศุกร์หรือวันรายอ ในการให้ความกระจ่างในเรื่องที่เห็นควร มัสยิดตะลุบันสามารถขายจุดแข็งในการบริหารบัยตุลมาล เนื่องจากเงินบัยตุลมาลนอกจากยกระดับคุณภาพชีวิตคนยากจนในชุมชนแล้ว ยังสามารถช่วยเหลือให้เยาวชนที่ยากจนเรียนสูงๆ มีโรงเรียนที่อยู่ภายใต้การบริหารของมัสยิด มีสหกรณ์ชุมชนในบริเวณมัสยิด และโครงการล่าสุดทางมัสยิดได้ซื้อวังเก่าเมืองสายบุรีไว้เป็นพิพิธภัณฑ์ที่ชุมชนรุ่นหลังสามารถมาศึกษาและสัมผัสได้

ข้อเสนอแนะ

         1. มัสยิดตะลุบันควรมีการประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการบริหารบัยตุลมาลมัสยิดยังมัสยิดข้างๆ รวมถึงมัสยิดในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้

         2. มัสยิดตะลุบันควรมีการประชาสัมพันธ์หรือถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่องการบริหารบัยตุลมาลมัสยิดยังสถาบันอุดมศึกษาในพื้นที่ โดยเฉพาะในมหาวิทยาลัยในพื้นที่หรือสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด เพื่อดำเนินการหรือจำลองการบริหารการเงินตามสุนนะห์นบี

         3. มัสยิดตะลุบันควรกำหนดเป้าหมายว่าจะช่วยเหลือครอบครัวยากจน แม่หม้าย หรือเด็กกำพร้ำในแต่ละปีจำนวนเท่าใด

         4. มัสยิดตะลุบันควรจัดงานวิชาการ โดยเฉพาะในประเด็นการบริหารบัยตุลมาลมัสยิดเพื่อถ่ายทอดประสบการณ์ในงานที่ตรงกับการจัดพิพิธภัณฑ์วังเก่าสายบุรี โดยเชิญตัวแทนจากชุมชน มัสยิด ตาดีกา สถาบันการศึกษา หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด และอื่นๆ พร้อมออกสื่อโทรทัศน์หรืออินเตอร์เน็ต

         5. บันทึกเป็นสื่อเพื่อให้ชุนชนอื่นหรือสถาบันอื่นสามารถมาศึกษาดูงานในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

บรรณานุกรม

ตายูดิน อุสมาน และคณะ (2546). “การจัดการซะกาตของชุมชนมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้”. วิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี.

มะดาโอะ  ปูเตะ และคณะ (2554). “กองทุนซะกาตมัสยิดอัตตะอาวุนกับการเสริมสร้างชุมชนเข้มแข็ง : กรณีศึกษาชุมชนบางปู อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี”. เครือข่ายการวิจัยภาคใต้ตอนล่าง โครงการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชนฐานราก.

มัสยิดยามิมูซาอิดอัดดูบี เมืองใหม่ยะลา. (2558). สืบค้นจาก https://www.facebook.com /JamiMusaidAddhobi /posts/344060269114027

วิสุทธ์ บิลล่าเต๊ะ. (2553). “กระบวนการดำรงอัตลักษณ์มุสลิมกับการสร้างชุมชนเข้มแข็ง: กรณีศึกษาชุมชนมัสยิดบ้านเหนือ ตำบลคูเต่า อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา”. ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต มหาวิทยาลัยทักษิณ.

สะสือรี  วาลี และคณะ. (2555). “บทบาทคณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิดในการดูแลเยาวชนตามวิถีแห่งศาสนาอิสลามเพื่อเสริมสร้างสันติสุข: กรณีศึกษามัสยิดตะอาวุน ตำบลบางปู อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี”. กรุงเทพฯ : สถาบันพระปกเกล้า.

อับดุลเลาะ หนุ่มสุข. (2553). บทบาทของมัสยิดในการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน. สืบค้นจาก http://www.oknation. net/blog/print. php?id=668023.

อาคม ทองเจิม. (2550). “การบริหารจัดการกองทุนหมู่บ้านในการแก้ไขปัญหาความยากจน: กรณีศึกษา ตำบลบางเหรียง อำเภอทับปุด จังหวัดพังงา”. วิทยานิพนธ์รัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น.

หมายเลขบันทึก: 676163เขียนเมื่อ 19 มีนาคม 2020 10:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มีนาคม 2020 10:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท