เสียงจากคนค่าย : จากใจสวัสดิการทรงโจร (ธนาพงศธร พวงสมบัติ)


ผมได้สัมผัสถึงความเข้มแข็งของชุมชนที่รวมกันเป็นหนึ่งเดียว ผู้นำทั้งสี่หมู่บ้านมาช่วยกันสร้างลานอเนกประสงค์อย่างพร้อมเพรียงตั้งแต่วันแรกจนถึงวันสุดท้าย หลายสิ่งหลายอย่างผมได้เรียนรู้จากชาวบ้านแบบสดๆ จาก “หน้างาน” ยกตัวอย่างเช่น “การใช้ค้อนกับจอบตัดเหล็ก” โดยไม่ต้องใช้คีมมาตัดเหมือนที่ผมเข้าใจ

ผมเข้ามาเป็นสมาชิกของศูนย์ประสานงานเครือข่ายนิสิตจิตอาสาเพื่อสังคม (ทำดีเพื่อพ่อ ทำดีเพื่อแผ่นดิน)  เมื่อปีการศึกษา 2562 ไม่ได้เป็นแค่สมาชิกเฉยๆ  แต่พี่ๆ แต่งตั้งให้เป็นอนุกรรมการของศูนย์ฯ 

กิจกรรมต่างๆ ที่เข้าร่วม ส่วนใหญ่จึงอยู่ในฐานะของ “ผู้เข้าร่วม” คอยเป็น “ลูกมือ” เสียมากกว่า

กระทั่งค่ายล่าสุดคือค่าย “ต้านลมหนาวสานปัญญา : จิตอาสาเรียนรู้คู่บริการ” ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 13-15 มีนาคม 2563 ณ โรงเรียนบ้านหนอง ตำบลบ้านม่วง อำเภอสังคม จังหวัดหนองคาย  

ผมได้รับมอบหมายให้เป็น “ประธานฝ่ายสวัสดิการ” จึงได้หาคนมาร่วมเป็นทีม  จากนั้นจึงส่งชื่อไปให้กองกิจกรนิสิตแต่งตั้ง  ทันทีที่เห็นคำสั่งออกมา  แรกๆ ยอมรับว่าตกใจมากเลย  เพราะมีพ่วงมาอีกหน้าที่คือการต้อนรับขับสู้ หรือที่เรียกว่า “ปฏิคมและสวัสดิการ”

เหตุที่ตกใจก็ไม่มีอะไรมากหรอกนะครับ  ผมแค่รู้สึกว่าหน้าตาอย่างผมจะเหมาะต่อการไปต้อนรับใครได้  

แต่เอาละมอบหมายมาแล้วก็ต้องทำให้เต็มที่  ให้รู้กันไปว่ารูปหน้ามหาโหดอย่างเราก็ทำงานด้านนี้ได้  ผมจึงเรียกสายงานของผมเล่นๆ ปนขำๆ ว่า “สวัสดิการทรงโจร”

แต่พอจะถึงวันออกค่าย ผมก็มาเจอปัญหาใหม่  เพราะเพื่อนอีกคนที่มอบหมายให้เป็นแกนนำในเรื่อง “ปฏิคม” ก็มาป่วยไข้เอาดื้อๆ ทำให้เหลือคนทำงานเพียงไม่กี่คน หนึ่งในนั้นก็คือ “ปาล์ม”  

ผมวิเคราะห์ว่างานค่ายครั้งนี้ไม่ได้มีอะไรซับซ้อนมาก  การทำงานภายใต้แกนนำเพียงคนสองคนก็น่าจะทำได้  เพียงเอาอุปกรณ์ที่เตรียมไว้มาจัดการให้เข้าที่เข้าทาง และพร้อมใช้งานได้ตลอดเวลาก็น่าจะเพียงพอแล้วสำหรับสายงานนี้ 

ดังนั้นผมกับปาล์มจึงแบ่งความรับผิดชอบกันแบบง่ายๆ ตรงๆ  เช่น  รับผิดชอบกระติกน้ำคนละใบไปเลย  เน้นดูแลให้ครอบคลุมทั้งนิสิตและชาวบ้านที่ทำงานในแต่ละสายงานอย่างทั่วถึง  เวลาที่เหลือก็ไปทำงานในสายงานอื่น  เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ใหม่ๆ และหลากหลาย เช่น  ผมไปทำงานสายสร้างลานอเนกประสงค์  ส่วนปาล์มไปทำสายงานด้านลาน BBL

จะว่าไปแล้ว หลายคนอาจมองว่าสายงานที่ผมรับผิดชอบนั้นเป็นงานง่ายๆ  

แต่สำหรับผมแล้ว มันไม่ได้ง่ายเลย  เพราะเป็นงานที่ผมยังไม่เคยทำมาก่อน  แถมที่ผ่านมายังเคยเป็นแต่ลูกค่าย  เน้นทำงานตามคำสั่ง 

แต่ครั้งนี้มันตรงกันข้าม ต้องคิดรูปแบบเอง ต้องตัดสินใจในเรื่องต่างๆ เอง  ต้องเข้าหาคนอื่นด้วยตนเอง 

ด้วยความที่ไม่มีประสบการณ์มาก่อน  จึงมีข้อผิดพลาดเป็นระยะๆ บ้าง เช่น มีคนแซวว่า “น้ำหวานที่ไม่หวาน” หรือ "น้ำแดงไม่หวาน" เพราะผมไม่รู้จะผสมยังไงให้ออกรสหวานๆ 

นั่นคืออีกหนึ่งประสบการณ์ตรงที่ผมเรียนรู้จากค่ายในสายงานนี้

ย้อนกลับไปในค่ำคืนของวันที่ 13 มีนาคม 2563 อันเป็นคืนแรกของการมาค่าย  ก่อนเข้านอน ผมและแกนนำค่ายได้สรุปงานประจำวันร่วมกับที่ปรึกษาค่าย (พี่พนัส ปรีวาสนา)  รวมๆ แล้วพี่พนัส ฝากประเด็นให้ทำงานให้ชัดเจนในหลายๆ เรื่อง เช่น ความพร้อมของอุปกรณ์น้ำดื่ม ทั้งกระติกน้ำ น้ำแข็ง จุดบริการ การลดแก้วน้ำพลาสติก การเน้นให้นิสิตใช้แก้วน้ำตนเอง  รวมถึงการต้อนรับขับสู้คนที่มาค่าย ไม่ว่าจะเป็นชาวบ้าน หรือนิสิตที่มาเพิ่มเติม

ประเด็นต่างๆ ข้างต้น  เป็นการฝากให้คิด ชวนให้คิดให้ออกแบบและบริหารจัดการด้วยตนเอง  และผมก็เข้าใจดีว่า กำลังถูกสอนให้เตรียมความพร้อมในฝ่ายที่ตนเองรับผิดชอบ  มีการวางแผนเพื่อให้สามารถทำงานได้ราบรื่น  หรือการสร้างระบบและแบบแผนที่ชัดเจนในการทำงาน -

ค่ายครั้งนี้  ผมไม่ได้ทำงานแต่เฉพาะด้านสวัสดิการเท่านั้น  ด้วยเหตุที่คนมาค่ายไม่ค่อยเยอะ  ผมจึงถูกมอบหมายให้ไปเป็นแกนหลักในเรื่องการสร้างลานอเนกประสงค์ร่วมกับชุมชน  ซึ่งสายงานนี้ ผมไม่เคยทำมาก่อน สารภาพว่า “มือใหม่ขนานแท้” 

มิหนำซ้ำยังเป็นงานที่ต้องทำกลางที่โล่งแจ้งที่ร้อนแสนร้อน  หรือร้อนมากๆ  ร้อนจนตัวทั้งตัวจะละลายหายไปกับแสงแดด


ขอสารภาพจากใจจริงว่า "ผมชอบกิจกรรมสร้างลานอเนกประสงค์ไม่แพ้งานด้านสวัสดิการ"

ชอบเพราะได้เห็นความร่วมมือร่วมใจของชาวบ้านที่หาดูได้ยากจากในหมู่บ้านอื่นๆ  

ทุกคนสนุกสนานกันตลอดเวลา ไม่เครียดกับการทำงาน  ถึงจะเหนื่อยล้าจากแดดที่แรงแค่ไหน  แต่กลับยังสู้งานยิ้มแย้มแจ่มใสตลอดเวลา มีการพูดคุยหยอกล้อกันเป็นช่วงๆ มีการแกล้งกันแรงๆ แต่ก็ไม่เห็นว่าจะมีใครโกรธ หรืองอนกันเลยสักคน 

การพูดคุยของชาวบ้านหากมองผิวเผิน  เหมือนการพูดหยอกล้อของเด็กหยอกล้อกัน  ยิ้มแย้มพูดคุยหัวเราะได้ทั้งวัน ยิ่งดูผมยิ่งประทับใจและมีความสุขไปด้วย

บรรยากาศจากการทำงานข้างต้นทำให้ผมได้สัมผัสถึงความเข้มแข็งของชุมชนที่รวมกันเป็นหนึ่งเดียว  ผู้นำทั้งสี่หมู่บ้านมาช่วยกันสร้างลานอเนกประสงค์อย่างพร้อมเพรียงตั้งแต่วันแรกจนถึงวันสุดท้าย  หลายสิ่งหลายอย่างผมได้เรียนรู้จากชาวบ้านแบบสดๆ จาก “หน้างาน” ยกตัวอย่างเช่น “การใช้ค้อนกับจอบตัดเหล็ก”  โดยไม่ต้องใช้คีมมาตัดเหมือนที่ผมเข้าใจ 

นั่นก็เป็นประสบการณ์ใหม่ที่ผมได้สัมผัสถึงภูมิปัญญาชาวบ้านจากชาวบ้านโดยตรง

แต่ก็มีเรื่องที่น่าเสียดายที่ค่ายนี้เจอมรสุมของ “โควิด-19” ทำให้เราทำค่ายได้ไม่เต็มรูปแบบ  -

เราไม่ได้จัดกิจกรรมเชื่อมความสัมพันธ์กับชุมชน  เราหลีกเลี่ยงกิจกรรมสันทนาการระหว่างชาวค่าย  เน้นทำงานกลางแจ้ง  ไม่เน้นการทำงานในที่อันแออัด หรือแคบๆ  

ซึ่งทั้งปวงนั้น  ผมก็เข้าใจดีว่า "นี่คือกระบวนการการทำงานภายใต้สถานการณ์ที่ต้องระวัดระวังทั้งต่อตัวนิสิตและชุมชน"



ผมอยากจะขอบคุณค่ายๆ นี้มากๆ  เพราะสอนอะไรๆ ให้กับผมหลายเรื่อง  จากเคยเป็น “ผู้ตาม” มาโดยตลอดก็ได้รับโอกาสให้ก้าวขึ้นมาเป็น “ผู้นำ” มากขึ้น  

ค่ายๆ นี้สอนให้ผมเข้าใจ "กระบวนการเรียนรู้คู่บริการ" สู่การเป็น "จิตอาสา"  -

ค่ายๆ นี้สอนให้ผมได้ตัดสินใจในการทำงานเองมากขึ้น  ได้ฝึกความกล้าที่จะเดินนำหน้าคนอื่น  กล้าตัดสินใจในการทำงานและกล้าทำงานร่วมกับคนอื่นมากขึ้น 

เช่นเดียวกับประสบการณ์ที่สอนให้เรารู้ว่าเมื่อไม่มีประสบการณ์ย่อมมีข้อผิดพลาดเป็นธรรมดา  ดังที่ชาวค่ายได้แซวว่า “น้ำแดงปลอม” เพราะส่วนผสมที่ไม่ลงตัวของน้ำเปล่า น้ำแข็งและน้ำหวานนั่นเอง  ซึ่งผมจะนำไปปรับใช้ในการทำงานในครั้งหน้า

ท้ายที่สุดนี้  ถึงแม้น้ำแดงจะไม่หวานดังที่ทุกคนอยากให้หวาน  แต่ก็อยากจะบอกว่าทีม “สวัสดิการทรงโจร” ได้ทุ่มเทอย่างสุดใจแล้ว ไว้เจอกันค่ายหน้า สัญญาว่าจะให้หวานๆ กว่านี้นะครับ 

– ให้หวานๆ แบบไม่เกรงใจ "เบาหวาน" นะครับ


เสียงจากคนค่าย : นายธนาพงศธร พวงสมบัติ
ศูนย์ประสานงานเครือข่ายนิสิตจิตอาสาเพื่อสังคม
มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

ภาพ : พนัส ปรีวาสนา

หมายเลขบันทึก: 676167เขียนเมื่อ 19 มีนาคม 2020 13:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 มีนาคม 2020 21:59 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท