ชีวิตที่พอเพียง 3650a. ทำไมประเทศไทยจึงชะลอการระบาดของโควิด ๑๙ ได้ดี


เราจะร่วมกันฟันฝ่าวิกฤตการณ์นี้ได้โดยทุกคนร่วมมือกัน อย่างเป็นระบบ ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ อย่างไม่เป็นระบบไม่ร่วมมือกัน ไม่ใช่คอยแต่ตำหนิคนอื่น

ชีวิตที่พอเพียง  3650a. ทำไมประเทศไทยจึงชะลอการระบาดของโควิด ๑๙ ได้ดี

 ผมได้คำตอบนี้ จากการอภิปรายของ นพ. วิชัยโชควิวัฒน์ ในเวทีสวนสามพราน เมื่อวันที่ ๑๓ มีนาคม ๒๕๖๓    หลังจาก นพ. ก้องเกียรติ เกษเพ็ชร์ เสนอมาตรการภาคประชาชนของตน    โดยใช้หลักการ ระยะห่างทางสังคม (social distancing) (๑)     และระดมอาสาสมัครไอทีภาคประชาชน(๒)

คุณหมอก้องเกียรติเล่าเรื่องปัจจุบันและอนาคต   ส่วนคุณหมอวิชัยเล่าเรื่องอดีต   มาบรรจบกันพอดี   ว่าประเทศไทยเราโชคดีอย่างไรในเรื่อง โควิด ๑๙   ที่สถานการณ์ไม่ระบาดรวดเร็วรุนแรงอย่างในหลายประเทศ ทั้งๆที่ในช่วงต้นมีนักท่องเที่ยวจากจีนเดินทางมาประเทศไทยมากมาย     ทั้งหมดนั้น ไม่ใช่ความบังเอิญ    แต่มีที่มาที่ไป    สมควรที่เราจะได้เรียนรู้และเตรียมอนาคต    ที่โรคระบาดร้ายแรงยิ่งกว่านี้จะมีมาอีกแน่นอน   

ผมสรุปคำบอกเล่าของนพ. วิชัยโชควิวัฒน์ ว่า    ประเทศไทยรับมือโควิด ๑๙ ได้ดี เพราะเรามีระบบงานด้านระบาดวิทยาดีมาก    ดีทั้งด้านการจัดระบบการเฝ้าระวังโรคระบาด    และดีด้านการเตรียมพัฒนากำลังคน คือ นักระบาดวิทยาภาคสนาม(fieldepidemiologist)    โดยเอาระบบมาจากUS CDC 

การรับมือโควิด๑๙ ของกระทรวงสาธารณสุขไทย จึงทำอย่างเป็นระบบ   ใช้ความรู้ และวิธีการที่ถูกต้อง    ผลจึงออกมาอย่างที่เราเห็น    

สถานการณ์การทำงานของรัฐบาลไทยที่ไม่ค่อยเป็นระบบไม่เป็นทีมที่แน่นแฟ้น บอกเราว่า การรับมือโรคระบาดใหญ่ต้องการมาตรการที่ซับซ้อนมาก    เลยไปจากระบบสาธารณสุข   และมาตรการนั้นต้องทำอย่างเป็นระบบ   มีความเข้าใจภาพใหญ่   และยึดกุมสถานการณ์ให้ได้เร็ว     การดำเนินการระดับประเทศของจีนได้ผลดีมากเป็นตัวอย่างได้    คุณหมอวิชัยเล่าว่าเวลานี้จีนส่งทีมใหญ่ออกไปช่วยประเทศอิหร่าน (๓)    แต่ด้วยข้อจำกัดด้านระบบการสื่อสารสาธารณะของไทย เรื่องดีๆ เช่นนี้จึงไม่เป็นข่าว       

โปรดอ่านข่าวจากสำนักข่าวซินหัว(๓) จะเห็นว่า จีนมองการรับมือ โควิด ๑๙ของโลก  จากกระบวนทัศน์ของความร่วมมือข้ามประเทศ    โปรดสังเกตว่าต่างอย่างตรงกันข้ามกับกระบวนทัศน์ American first ของปธน. โดแนลด์ ทรัมป์ ที่แสดงออกผ่านสื่อ    คุณหมอวิชัยบอกว่า ประเทศไทยตรวจพบเชื้อได้อย่างรวดเร็วก็เพราะได้รับความร่วมมือจากจีน        

จำได้ว่าราวๆ ปี พ.ศ. ๒๕๓๒    นพ. ปฐมสวรรค์ปัญญาเลิศ ซึ่งตอนนั้นยังหนุ่มๆ ทำงานที่กองระบาดวิทยา กระทรวงสาธารณสุข (ต่อมาเป็นรองปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ     เวลานี้เป็นรองปลัดกระทรวง อว.)     นัดไปสัมภาษณ์ผมที่ภาควิชาพยาธิวิทยาคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ว่านักระบาดวิทยาหมดอนาคตแล้วหรือไม่    เพราะตอนนั้นคิดกันว่าวงการสุขภาพก้าวหน้ามากด้านการควบคุมโรคระบาด    และยึดกุมสถานการณ์ได้เกือบหมด

ในตอนนั้นผมอายุยังไม่ถึง๕๐   ตอบไปตามสามัญสำนึก (โดยไม่มีหลักการหรือหลักคิดใดๆ ด้านการเกิดโรคอุบัติใหม่)    ว่านักระบาดวิทยาไม่ต้องกลัวตกงานหรอก   เพราะอนาคตมันจะไม่ราบรื่น จะมีโรคใหม่ๆ เกิดขึ้น    เป็นปัญหาใหม่ขึ้น   โชคดีที่ผมตอบเช่นนั้น   เพราะต่อมาไม่กี่ปีก็เกิดโรคระบาดใหญ่ที่ท้าทายมนุษยชาติ ๒ กลุ่ม    คือกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCD –Non-Communicable Diseases)    กับกลุ่มโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ (Emerging Infectious Diseases)

โควิด๑๙ เป็นโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ตระกูล โคโรนา ไวรัส อันดับที่ ๗    โดยอันดับที่ ๑ - ๔ เป็นโรคไข้หวัดธรรมดา    อันดับที่ ๕ คือ SARS ซึ่งเริ่มจากจีนในปี ๒๕๔๕ (๔)   และ อันดับที่ ๖ คือ MERS เริ่มจากตะวันออกกลางในปี ๒๕๕๕ (๕)                     

 คุณหมอวิชัยเล่าว่าจีนพบผู้ป่วยที่มีอาการปอดบวมในวันที่ ๒ ธันวาคม ๒๕๖๒    วันที่ ๘ก็บอกได้ว่าเกิดจากโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ จากการทำ sequencing เชื้อไวรัส    และประกาศให้โลกรู้วันที่ ๓๑ ธันวาคม   

ประเทศไทยเราตั้งรับอย่างรวดเร็ว  วันที่ ๑ - ๒ มกราคม ๒๕๖๓ ก็เริ่มตรวจคัดกรองที่สนามบิน    และพบผู้ติดเชื้อรายแรกวันที่ ๘    และประกาศว่าพบผู้ติดเชื้อรายแรกวันที่๑๓    ต่อมาวันที่ ๒ กุมภาพันธ์จึงพบผู้ติดเชื้อที่ติดภายในประเทศ     เวลานี้เข้าสู่สภาพที่ติดเชื้อเพิ่มเป็นกลุ่มๆวันละราวๆ ๑๐ คน  เป้าหมายของมาตรการควบคุมโรคโควิด ๑๙ คือ    ให้มีการเพิ่มจำนวนผู้ติดเชื้อช้าๆ    สามารถดูแลผู้มีอาการได้ และกักบริเวณผู้ติดเชื้อได้ทั้งหมด     และจัดการให้ผู้ที่ตรวจพบว่าติดเชื้อไม่แพร่เชื้อต่อได้ 

ที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่าการจัดการโรค  คือการจัดการความตื่นตระหนก (panic)ของสาธารณชน     ซึ่งไทยเราก็ทำได้ดีพอสมควร    

ผมตีความว่ามีเป้าหมายยึดกุมสถานการณ์การระบาด    ไม่ใช่ยุติการระบาด ซึ่งทำไม่ได้    และจะประสบความสำเร็จตามแนวทางนี้ต้องสื่อสารให้คนไทยรวมตัวกันต่อสู้   ไม่ใช่กล่าวโทษกันไปกันมา โดยตนเองไม่ทำอะไรที่เป็นมาตรการด้านบวก          

 กระทรวงสาธารณสุขไทยตั้งกองระบาดวิทยาขึ้นในปีพ.ศ. ๒๕๑๗    จัดระบบงานออกเป็น ๑๐งานย่อย    โดยเอาระบบมาจาก CDC ของสหรัฐอเมริกา    รวมทั้งจัดตั้งหลักสูตรฝึกอบรมนักระบาดวิทยาภาคสนาม(FETP – Field Epidemiology Training Program) (๖)    ที่มีทั้งการเรียนทฤษฎี และการฝึกภาคสนามโดยปฏิบัติงานจริง     ใช้เวลาเรียน ๓ ปี    และอาจเรียนปริญญาโทต่อ   

มีการจัดทำ รายงานการเฝ้าระวังโรคประจำสัปดาห์  ที่บรรจุ case study ไว้เป็นการฝึกเจ้าหน้าที่ให้ตื่นตัวและฝึกฝนตนเองต่อเนื่อง    ผมได้รับเอกสารนี้ต่อเนื่องมากว่า๒๐ ปี    เพิ่งมาหยุดไปไม่นาน    แต่ก็มีสรุปผลงานรายปีต่อเนื่องเรื่อยมา   

ความเข้มแข็งของระบบงานด้านระบาดวิทยาของประเทศไทยก่อผลชัดเจนอยู่ในขณะนี้   โดยเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องต้องทำงานหนักมาก    ประชาชนไทยควรได้แสดงความขอบคุณเจ้าหน้าที่ที่ทำงานปิดทองหลังพระอยู่ในขณะนี้    และประชาชนไทยควรรวมตัวกันช่วยสนับสนุนระบบเฝ้าระวังและป้องกันของประเทศในทำนองเดียวกันกับที่คุณหมอก้องเกียรติ กำลังทำอยู่     เราจะร่วมกันฟันฝ่าวิกฤตการณ์นี้ได้โดยทุกคนร่วมมือกันอย่างเป็นระบบ    ไม่ใช่ต่างคนต่างทำอย่างไม่เป็นระบบไม่ร่วมมือกัน   ไม่ใช่คอยแต่ตำหนิคนอื่น     

เว็บไซต์ติดตามสถานการณ์โรคโควิด ๑๙ ที่แม่นยำของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ดูได้ที่ (๗)    ในสังคมไทยยุคปัจจุบันในขณะนี้    อันตรายจากการระบาดของเชื้อโควิด ๑๙   มาจากข่าวลือและข่าวลวงสร้างความตระหนก  มากกว่าอันตรายจากเชื้อไวรัส           

วิจารณ์ พานิช  

๑๔ มี.ค. ๖๓

 

   

 

 

หมายเลขบันทึก: 676074เขียนเมื่อ 14 มีนาคม 2020 10:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มีนาคม 2020 10:04 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ตอนนี้เป็นแบบนี้เลยค่ะ อันตรายจากการระบาดของเชื้อโควิด ๑๙ มาจากข่าวลือและข่าวลวงสร้างความตระหนก มากกว่าอันตรายจากเชื้อไวรัส

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท