ครูเพื่อศิษย์ สอนสู่รู้เชื่อมโยง ๖. เรียนรู้ระดับลึก



  บันทึกชุด ครูเพื่อศิษย์ สอนสู่รู้เชื่อมโยง ตีความ (ไม่ใช่แปล) จากหนังสือ Visible Learning for Literacy, Grades K-12 : Implementing the Practices That Work Best to Accelerate Student Learning (2016)    เขียนโดย Douglas Fisher, Nancy Frey, และ John Hattie    ซึ่งเป็นหนังสือที่นำเอาหลักการ Visible Learning ที่พัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่องโดย John Hattie ในช่วงเวลาเกือบ ๔๐ ปี สู่ภาคปฏิบัติ   

บันทึกชุดนี้ต้องการสื่อความและสื่อวิธีการเรียนรู้ที่ประจักษ์ชัดในสองมุม    คือมุมนักเรียนที่เรียนอย่างชัดเจนในเป้าหมาย  ในความก้าวหน้าของตน ทั้งในการเรียนวิชาและวิธีเรียน    และมุมของครู ที่สอนอย่างประจักษ์ในผลที่เกิดขึ้นต่อนักเรียน  และโดยใช้การกระตุ้นสายตาของนักเรียนด้วยเป้าหมายการเรียน    เพื่อช่วยให้นักเรียนเรียนรู้อย่างมีเป้าหมายอยู่ตลอดเวลา   

บันทึกที่ ๖ เรียนรู้ระดับลึกนี้ ตีความจากบทที่ 3  Deep Literacy Learning  ในหนังสือ หน้า ๗๑ – ๑๐๔  

สาระสำคัญของบันทึกนี้คือ ครูต้องมีทักษะในการหนุนให้การเรียนรู้ของเด็กเคลื่อนจากการเรียนระดับผิวไปสู่การเรียนระดับลึกในเวลาและโอกาสที่เหมาะสม    เพื่อสร้างนิสัยเป็นคนเรียนรู้ระดับลึก (และผมขอเพิ่มเติมว่า เป็นคนที่สนุกกับการเรียนระดับลึก)   บันทึกนี้แนะนำหลักการและเครื่องมือ สำหรับครูใช้ช่วยหนุนให้ศิษย์บรรลุเป้าหมายนี้    

ผมขอเสนอว่า ประเด็นสำคัญที่สุดในการบรรลุการเรียนรู้ในมิติที่ลึกคือ ความเข้าใจว่า คำตอบต่อปัญหาหรือโจทย์ในเรื่องต่างๆ ไม่ได้มีคำตอบดียว    และเมื่อคนเราเรียนรู้เพิ่มขึ้น คำตอบก็จะลึกซึ้งขึ้นและเชื่อมโยงกว้างขวางยิ่งขึ้น    มองอีกมุมหนึ่ง นี่คือการปลูกฝัง “กระบวนทัศน์พัฒนา” (Growth Mindset) นั่นเอง       


เคลื่อนจากการเรียนรู้ระดับผิว สู่การเรียนรู้ระดับลึก

คนที่เรียนรู้ระดับผิว เน้นเรียนโดยการท่องจำ    ในขณะที่คนเรียนรู้ระดับลึกเรียนโดยการคิด    โดยคิดเชื่อมโยงกับเนื้อหา (content) และแนวความคิด (ไอเดีย)  และดำเนินการเชื่อมโยงความรู้และหลักการ (concept) ทั่วทั้งเนื้อหานั้น    

กล่าวให้เข้าใจง่ายขึ้นว่า คนเรียนระดับผิวเชื่อสิ่งที่เรียน    ส่วนคนเรียนระดับลึกค้นหาความหมายของสิ่งที่เรียน

คนเรียนลึกจะมีความคิดเกี่ยวกับวิธีเรียนของตน  อภิปรายความคิด  ตัดสินใจ  และลงมือดำเนินการ    โดยมีความคิดเกี่ยวกับการทำผิดพลาด ว่าเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ของตน 

ครูสอนดี จะชักนำให้ศิษย์เป็นผู้เรียนรู้ระดับลึก (และเชื่อมโยง)    ครูที่ไม่เอาจริงเอาจังต่อภารกิจการเป็นครู มีแนวโน้มจะชักจูงให้ศิษย์เป็นผู้เรียนระดับผิว โดยไม่รู้ตัว    เพราะจะใช้วิธีสอนและสอบระดับผิว

ครูสอนลึกจะเน้นฝึกให้ศิษย์วางแผนการเรียน  ตรวจสอบผลการเรียน  และปรับปรุงวิธีเรียนของตน    จะยิ่งดี หากครูฝึกให้นักเรียนมียุทธศาสตร์ในการเรียน    รู้ว่าเมื่อไรจะเน้นเรียนแบบผิว เมื่อไรจะเน้นเรียนแบบลึก    

การสอนไม่ใช่การเอาความรู้ยัดใส่สมองเด็ก    แต่เป็นการจัดการให้เด็กได้เรียนรู้อย่างเป็นขั้นเป็นตอน    เริ่มจากเรียนระดับผิว ไปสู่ระดับลึก และระดับเชื่อมโยง    การเรียนรู้ที่ดีจะช้าตอนเริ่มต้น  แต่จะเร็วในภายหลัง    

Hattie & Yates (2014) เรียกการเรียนรู้ระดับลึกว่า System 2 learning   และเรียกการเรียนระดับตื้นว่า System 1 learning   ซึ่งตรงกับข้อเสนอของ Daniel Kahneman (2011) ผู้ได้รับรางวัลโนเบล    ว่า คนเรามีระบบ Thinking fast   กับ Thinking slow[VP1] (1)    การเรียนรู้อย่างผิวเผินใช้การคิดเร็ว    ส่วนการเรียนรู้อย่างลึกใช้การคิดช้า   

การสอนที่ดีจึงต้องให้เวลาเด็กย่อยสิ่งที่เรียน    โดยมีเครื่องช่วยย่อยและดูดซึมเข้าสมอง ที่จะกล่าวถึงในบันทึกนี้    


รับรู้และทำความเข้าใจระดับลึก

เป้าหมายของการเรียนรู้ระดับตื้นคือการให้เด็กได้รับและซึมซับความรู้    แต่การเรียนรู้ระดับลึกมีเป้าหมายฝึกให้เด็กมีการบังคับตัวเอง (self-regulation)  และคุยกับตัวเอง (self-talk) เป็น    ซึ่งนำไปสู่การตั้งคำถามกับตัวเอง (self-questioning)    และตระหนักต่อการเรียนรู้และวิธีเรียนรู้ของตน (metacognition)    ในการเรียนดังกล่าว นักเรียนต้องได้รับฟังความเห็นของคนอื่น   โดยเฉพาะอย่างยิ่งความคิดเห็นที่ไม่ตรงกับความคิดเห็นของตน     และนักเรียนต้องได้ฝึกสรุปความเข้าใจเชิงหลักการของตนออกเป็นข้อเขียน    การเขียนช่วยฝึกการเชื่อมโยงหลักการ คุณค่า ความเชื่อ และความคิด


รับรู้การอ่านออกเขียนได้ระดับลึก (Deep Acquisition)

เป้าหมายของการรับรู้การอ่านออกเขียนได้ระดับลึกคือ การหลอมรวม (assimilate) ความรู้ใหม่ เข้ากับความรู้เดิม ผ่านกระบวนการหรือตัวช่วยหลากหลายแบบ    โดยผมขอเพิ่มเติมว่า เป็นการเรียนที่ก่อความคิด

หน้าที่ของครูคือ ออกแบบกิจกรรมให้นักเรียนทำเพื่อให้นักเรียนได้ฝึกคิด   ฝึกแลกเปลี่ยนความคิดกับผู้อื่น   ฝึกอยู่กับความคิดที่ไม่ตรงกับความคิดของตน    ไม่ยึดมั่นถือมั่นกับความคิดของตน   และไม่ยึดมั่นถือมั่นอยู่กับการคิดถูก-ผิด    ฝึกตั้งคำถาม    ฝึกสนุกอยู่กับความไม่รู้    และฝึกแก้ปัญหา   

สิ่งที่นักเรียนต้องได้เรียนรู้ได้แก่

  • รู้จักฟังผู้อื่นที่รู้สิ่งที่ตนไม่รู้
  • รู้จักตั้งคำถาม  เพื่อให้กระจ่างในความหมาย และคุณค่าของแนวคิด
  • มีใจที่เปิดรับ และเคารพต่อความคิดแปลกใหม่ ว่าควรสนใจ
  • รู้จักตั้งคำถามต่อคำพูดที่ก่อความสับสน หรือซ่อนสมมติฐานบางอย่างไว้

มีงานวิจัยในสหรัฐอเมริกาในปี ค.ศ. 2015   เอาการบ้านหรืองานที่ครูมอบหมายให้นักเรียนชั้น ม. ต้นทำ    มาวิเคราะห์ พบว่าร้อยละ ๘๕ เป็นแบบฝึกหัดให้ฟื้นความจำเท่านั้น    และยังมีผลการวิเคราะห์อีกหลายข้อที่แสดงว่า การสอนส่วนใหญ่ยังอยู่ที่ระดับผิวเท่านั้น    เรื่องนี้น่าจะมีการทำวิจัยในประเทศไทยด้วย              

การเรียนเพื่อหลอมรวมความรู้ใหม่เข้ากับความรู้เดิม    และเกิดการคิด    ต้องใช้เครื่องมือจำพวก ผังมโนทัศน์   การอภิปราย  และการค้นคว้า

      

        ผังมโนทัศน์ (Concept Mapping)

ผังมโนทัศน์ เป็นการเชื่อมโยงหลักการหรือความคิดให้เห็นด้วยตา    เป็นเครื่องมือช่วยเสนอความคิดในระดับแปลกใหม่ (transformation)  ไม่ใช่ในระดับที่มีอยู่แล้ว (replication)    หัวใจของการใช้เครื่องมือนี้จึงเพื่อใช้ขยายความคิดสู่แนวที่แปลกใหม่    ที่เป็นความคิดของนักเรียนเอง  ไม่ลอกเลียนใคร   ในการเรียนการสอนใช้เป็นเครื่องมือช่วยการอภิปรายแนวความคิด    หรือขยายความคิดออกไป    หรือกล่าวใหม่ว่า ใช้เป็นเครื่องมือวางแผนการทำงาน    ข่วยกระตุ้นความรู้เดิมของนักเรียน  เชื่อมออกไปสู่ความคิด    และที่สำคัญที่สุดในมุมมองของผม ช่วยให้ครู “มองเห็น” ความคิดของศิษย์    เปิดโอกาสให้ครูกระตุ้นความคิดเชื่อมโยง  หรือแก้ไขความคิดผิดๆ ของเด็ก   

มองจากมุมของการทำหน้าที่ครู ผังมโนทัศน์ที่นักเรียนช่วยกันคิด    เป็นข้อมูลป้อนกลับแก่ครู ว่าการออกแบบบทเรียนของครู มีผลกระตุ้นการเรียนรู้ระดับลึกของนักเรียนเพียงใด   

ผมมีความเห็นว่า ทักษะของครูในการใช้ผังมโนทัศน์กระตุ้นความคิดและจินตนาการของศิษย์ พัฒนาได้อย่างไม่สิ้นสุด   และเป็นโจทย์วิจัยชั้นเรียนได้เป็นพันเป็นหมื่นโจทย์  

ผังมโนทัศน์มีผลต่อผลลัพธ์การเรียนรู้ในระดับ ES = 0.60         

การอภิปรายและตั้งคำถาม

ปฏิสัมพันธ์ในช่วงคาบเรียน ระหว่างนักเรียนกับนักเรียน  และระหว่างนักเรียนกับครู เป็นเครื่องมือสู่การเรียนรู้ระดับลึกที่ดีและง่ายที่สุด    ที่ครูจะต้องพัฒนาทักษะในการส่งเสริมปฏิสัมพันธ์ให้เป็นเชิงบวก  และก่อผลสูงต่อการเรียนรู้เชิงลึก  

ครูต้องชวนนักเรียน ให้ร่วมกันตั้งกติกาของการอภิปรายในชั้นเรียน    ทั้งที่เป็นกติกาทั่วไป และกติกาสำหรับคาบนั้น    เช่นกติกาทั่วไปคือ นักเรียนได้แสดงความคิดเห็นอย่างทั่วถึง     ไม่ใช่มีนักเรียนไม่กี่คนผูกขาดการพูด    ต้องไม่เถียงเอาชนะกัน    ให้เกียรติแก่ทุกข้อคิดเห็น    ให้ความเห็นที่แตกต่างกันได้โดยไม่แสดงท่าทีขัดแย้งกัน    ต้องไม่แสดงเจตนาที่จะทำให้คนอื่นเจ็บใจ      

ตัวอย่างกติกาสำหรับคาบนั้น อาจตกลงกันว่าในคาบนั้นนักเรียนแต่ละคนแสดงข้อคิดเห็นหรือตั้งคำถามได้ไม่เกิน ๔ ครั้ง    ซึ่งจะช่วยให้นักเรียนได้ฝึกจัดลำดับความสำคัญของความคิด

การอภิปรายและตั้งคำถามจะบรรลุเป้าหมายสูงสุดหากนักเรียนอภิปรายกันได้เองโดยครูไม่ต้องทำหน้าที่คอยชี้ให้พูด    โดยครูอาจเข้าไปร่วมวงได้เป็นครั้งคราว โดยตั้งคำถาม ที่นำไปสู่ประเด็นสำคัญที่นักเรียนยังไม่ได้เอ่ยถึง     หรือเอ่ยแบบเฉียดๆ ประเด็น   ยังไปไม่ถึงหัวใจของประเด็น

การอภิปรายจะนำไปสู่การเรียนรู้ที่ชัดเจนยิ่งขึ้น หากนักเรียนรู้จักตั้งคำถาม  หรือให้ข้อคิดเห็นที่ช่วยเพิ่มความกระจ่าง    ดังตัวอย่าง

  • เธอช่วยขยายความเรื่องนี้เพิ่มขึ้นได้ไหม
  • ขอทราบแหล่งที่มาของข้อมูลนี้ได้ไหม
  • ฉันเห็นด้วยกับ .................................................... เพราะ ....................................................
  • ประเด็นนี้สำคัญมาก
  • ฉันขอเพิ่มเติมประเด็นที่ ...................เพิ่งพูด


หนังสือเรียกข้อความแบบนี้ว่า conversation marker   หรือคำ/ประโยคเชื่อมโยงความคิด

นักเรียนควรได้ทำความเข้าใจคำถามปลายปิด กับคำถามปลายเปิด    คำถามปลายปิดนำไปสู่ข้อสรุป    ส่วนคำถามปลายเปิดนำไปสู่การเปิดประเด็นใหม่ๆ  หรือข้อคิดเห็นที่แตกต่างหลากหลาย    คำถามปลายปิดมักขึ้นต้นด้วย อะไร (what)    ในขณะที่คำถามปลายเปิดมักขึ้นต้นด้วย  อย่างไร (how)  และ ทำไม (why)   

เขาแนะนำวิธีตั้งคำถามเพื่อทราบความหมาย ๔ ระดับ ต่อข้อความในหนังสือ  ได้แก่

  • ข้อความบอกว่าอย่างไร (บอกอะไร)    เป็นคำถามระดับความหมายของตัวหนังสือ (literal)
  • ข้อความทำหน้าที่อะไร   เป็นคำถามเชิงโครงสร้าง (structural)
  • ข้อความมีความหมายอย่างไร    เป็นคำถามเชิงสรุปความ (inferential)
  • ข้อความสร้างแรงบันดาลใจให้เราทำอะไร    เป็นคำถามเชิงตีความ (interpretive)           

ผมมีความเห็นว่า ในระหว่างการอภิปราย  หากครูช่วยเขียนผังมโนทัศน์บนกระดานหน้าชั้น  ก็จะช่วยให้การอภิปรายคล่องและมีประเด็นเพิ่มขึ้น หรือลึกและเชื่อมโยงยิ่งขึ้น    สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมที่คุ้นเคยกับการเขียนผังมโนทัศน์ อาจให้นักเรียนหมุนเวียนกันทำหน้าที่เขียนผังมโนทัศน์ประกอบการอภิปรายและการตั้งคำถามก็ได้   

Effect Size ต่อผลลัพธ์การเรียนรู้ของ การอภิปรายในชั้นเรียน เท่ากับ 0.82    และของการตั้งคำถาม เท่ากับ 0.48  


อ่านอย่างพินิจพิเคราะห์ (Close Reading)

การอ่านอย่างพินิจพิเคราะห์ เป็นวิธีการสอนภาษาที่ใช้กันมานานนับร้อยปี    โดยครูให้นักเรียนอ่านประโยคหรือย่อหน้าในหนังสือ แล้วหยุดทำความเข้าใจความหมายของคำ  ความหมายของประโยค    โครงสร้างของประโยค  วิธีใช้คำ  ความงามของภาษา    การใช้ผิดๆ ที่พึงระวัง  

ในกระบวนการเรียนการสอนแบบนี้ นักเรียนจะได้ฝึก

  • การอ่านซ้ำแล้วซ้ำอีก  เพื่อให้อ่านคล่อง  และเข้าใจลึก
  • ฝึกทำเครื่องหมายในหนังสือ เพื่อช่วยความเข้าใจ
  • ฝึกอภิปรายแลกเปลี่ยนความเข้าใจและข้อคิดเห็น โดยครูช่วยตั้งคำถาม
  • ฝึกอภิปราย และวิเคราะห์ประเด็นอย่างกว้างขวาง ร่วมกับครู   

เป้าหมายของการเรียนแบบนี้คือการลงความเข้าใจรายละเอียดและความลึกซึ้ง    ไม่เน้นจำนวนหน้าหรือจำนวนเล่มของหนังสือที่อ่าน    บทบาทของครูแตกต่างไปตามระดับชั้นและพัฒนาการของนักเรียน    โดยผมขอเพิ่มเติมเป้าหมายการเรียนรู้เพื่อสัมผัสความงามหรือสุนทรียะ ของเรื่องนั้นๆ ด้วย    และที่สำคัญ นี่คือการเรียนรู้หรือฝึกทักษะการเรียนรู้ที่นำไปใช้ได้ตลอดชีวิต (lifelong learning skills)   


หลอมรวมสู่การรู้หนังสือระดับลึก (Deep Consolidation)

การหลอมรวม (consolidate) ความรู้จากหลายแหล่ง หลายมิติ สู่การเรียนรู้ระดับลึก ต้องการเวลา (time) และเครื่องมือ (tool)    ในการนี้ นักเรียนต้องค้นคว้าเพิ่ม และทำงานร่วมกับเพื่อน เพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว   

นอกจากได้เพิ่มความลึกของการเรียนรู้แล้ว    นักเรียนจะได้พัฒนาทักษะการคิดขั้นสูง ได้แก่  คิดเรื่องวิธีการเรียนรู้ (metacognitive thinking)  คิดเชิงใคร่ครวญสะท้อนคิด หรือคิดตกผลึก (reflective thinking)    และคิดเชิงนามธรรม (abstract thinking)   

ความสามารถในการคิดเกี่ยวกับวิธีเรียนของตนเอง (metacognition) เริ่มตั้งแต่อายุ ๓ ขวบ    และพัฒนาเรื่อยไปจนเป็นผู้ใหญ่    ช่วยเสริมความเข้มแข็งโดยการพัฒนานิสัยใคร่ครวญสะท้อนคิดต่อกิจการต่างๆ    และการได้รับคำแนะนำป้อนกลับว่าวิธีการใดใช้ได้ผลดี วิธีการใดไม่ได้ผล

เด็กพัฒนาความสามารถดังกล่าว จากปฏิสัมพันธ์กับผู้ใหญ่    โดยผู้ใหญ่ (โดยเฉพาะครู) สามารถฝึกฝนตนเอง ให้รู้จักวิธีคุยกับเด็กในลักษณะที่ช่วยส่งเสริมทักษะการคิดระดับลึกให้แก่เด็ก    ดังตัวอย่างคำถาม “กำลังเรียนรู้อะไรอยู่”         แทนที่จะถามว่า  “กำลังทำอะไรอยู่”    พึงตระหนักว่า คำถามและคำสนทนาของผู้ใหญ่ ได้ก่อความคิดเชิงค่านิยมขึ้นในตัวเด็กอย่างไม่รู้ตัว  

คำถามที่ครูควรใช้เป็นประจำคือ “บอกครูซิว่า หนูรู้อะไรบ้างเกี่ยวกับเรื่องนี้”    เป็นคำถามเชิงให้เกียรติเด็ก ว่ารู้เรื่องที่กำลังเรียนอยู่แล้วไม่ใช่น้อย         

ทำความเข้าใจการเรียนรู้ (Metacognitive strategies)

การทำความเข้าใจการเรียนรู้ของตนเองก็คือการทำความเข้าใจความคิดของตนเองนั่นเอง    มีผู้แบ่งทักษะความเข้าใจการเรียนรู้ออกเป็น ๓ ช่วงได้แก่

  • ตระหนักว่าตนเองกำลังเรียนรู้
  • มีความเข้าใจว่าต้องทำอะไรบ้างเพื่อการเรียนรู้
  • มีทักษะในการควบคุมตนเอง และตรวจสอบการเรียนรู้ของตนเอง 

เพื่อบรรลุทักษะเข้าใจการเรียนรู้และปรับปรุงวิธีการเรียนรู้ของตนเองเป็น    นักเรียนต้องการความช่วยเหลือจากครู  และจากเครื่องมือดังต่อไปนี้ 


ถามตัวเอง (Self-Questioning)  

เป็นธรรมชาติของมนุษย์ ที่เมื่ออ่านเรื่องราว หรือทำกิจกรรม   สมองจะทำความเข้าใจโดยอัตโนมัติ    แต่ธรรมชาตินี้ต้องการการฝึกฝนเพื่อให้ทำความเข้าใจได้ชัดเจนขึ้น ตรงประเด็นขึ้น   วิธีการหนึ่งคือ ถามตัวเอง    โดยครูสามารถช่วยเหลือได้ ๒ ประการ

  1. 1. มีกระดาษรายการคำถามให้ใช้ ในระหว่างอ่านหรือทำกิจกรรม
  2. 2. แนะนำให้นักเรียนพักการอ่านเป็นช่วงๆ เพื่อตั้งคำถาม  


ให้คำถาม

ในระหว่างการเรียน นักเรียนจะต้องค้นคว้ามาก    เพื่อนำมาใช้ทำความเข้าใจเรื่องราวที่เรียน หรือเพื่อทำงานที่ครูมอบหมาย    การค้นคว้าในปัจจุบันทำได้ง่ายจากอินเทอร์เน็ต    แต่มีประเด็นความน่าเชื่อถือของสาระที่ค้นได้    ครูต้องสร้างนิสัยตรวจสอบความน่าเชื่อถือของข้อมูลที่ค้นได้ ให้แก่ศิษย์ (ซึ่งจะมีคุณต่อตัวศิษย์ไปตลอดชีวิต  และถือเป็นส่วนหนึ่งของทักษะชีวิต ให้ไม่ถูกหลอกง่าย)    จึงควรมีคำถามที่ช่วยให้นักเรียนรู้จักประเมินความน่าเชื่อถือของข้อความจากอินเทอร์เน็ต  ดังตัวอย่าง

  • สาระของข้อความในเว็บไซต์นี้แม่นยำไหม
  • ระบุสถาบันที่เป็นเจ้าของเว็บไซต์หรือไม่
  • สาระนั้นมีการปรับปรุงครั้งสุดท้ายเมื่อไร
  • มิลิ้งค์ไปยังไซต์อื่นไหม   ไซต์ที่ลิ้งค์ไปมีคุณภาพใกล้เคียงกันหรือไม่   

...............................................................................................................................................................


ตารางที่ ๖.๑   เครื่องมือประเมินเว็บไซต์

URL : ……………………………………………………

  1. 1. ชื่อเว็บไซต์ ..............................................................................
  2. 2. เป้าหมายหลักของเว็บไซต์คือ ..........................................................................................

ขายสินค้าหรือเปล่า     ขายบริการหรือเปล่า      เป็นเว็บไซต์การศึกษาหรือไม่

  1. 3. ใครเป็นผู้สร้างเว็บไซต์นี้ .....................................................................................

                มีสถานที่ติดต่อหรือไม่    เป็นบริษัทหรือเปล่า    เป็นโรงเรียนหรือเปล่า     เป็นหน่วยงานรัฐหรือเปล่า    มี “About Us” section ไหม

  1. 4. เว็บไซต์นี้เป็นปัจจุบันแค่ไหน  ปรับปรุงข้อความครั้งหลังสุดเมื่อไร) ....................................................................................................................................................
  2. 5. มีลิ้งค์ไปยังไซต์อื่นไหม   (ลองเข้าบางลิ้งค์ที่ให้ไว้ ว่าเข้าได้ไหม) ....................................................................................................................................................
  3. 6. มีการอ้างอิง  หรือได้รับการอ้างอิงไหม   ถ้ามี คืออะไร ....................................................................................................................................................
  4. 7. ได้ข้อมูลใหม่อะไรบ้างจากเว็บไซต์นี้ ....................................................................................................................................................
  5. 8. มีสารสนเทศอะไรบ้างที่ไม่ได้รับ .................................................................................................................................................... ....................................................................................................................................................

   


            ฝึกนักเรียนให้ตั้งคำถาม

ครูต้องฝึกศิษย์ให้ตั้งคำถามในทุกกิจกรรมที่ทำเพื่อเรียนรู้    แล้วหาทางตอบคำถามนั้น    ในกรณีของการอ่านหนังสือที่ได้รับมอบหมาย    เขาแนะนำให้บอกเด็กให้แบ่งหนังสือออกเป็นตอนๆ   แล้วหยุดพัก  ถามตัวเองว่าเข้าใจว่าอย่างไร   ตรงไหนไม่เข้าใจ จดไว้    สำหรับไปค้นต่อ  หรืออ่านซ้ำเพื่อทำความเข้าใจ  หรือตรวจสอบรูปภาพหรือกราฟิกในเล่ม   หรืออาจถามเพื่อน  และหากทำอย่างไรก็ไม่เข้าใจให้ถามครู   

ผมขอเพิ่มเติมว่า เรื่องการตั้งคำถามนี้ เรียนรู้ได้ไม่รู้จบ    แม้คนแก่อย่างผมก็ยังหมั่นฝึกฝนตนเองอยู่ เพราะมีคุณต่อการเรียนรู้ของตนเองมาก  รวมทั้งให้รสชาติในชีวิตด้วย    หากการศึกษาได้สร้างนิสัยตั้งคำถามให้แก่นักเรียนทุกคน    คุณภาพของพลเมืองไทยในอนาคตจะเพิ่มขึ้นมาก        


ผลัดกันสอน (Reciprocal Teaching)

เป็นเทคนิคที่ใช้ได้ทั้งเพื่อการเรียนรู้ระดับผิว และการเรียนรู้ระดับลึก    เขายกตัวอย่างการเรียนวิชาวรรณกรรม    ครูแนะนำให้นักเรียนอ่านหนังสือทีละตอน    โดยเรียนเป็นทีม ๔ คน    เมื่ออ่านจบ คนหนึ่งทำหน้าที่ สรุป (Summarizing) ว่าสาระสำคัญคืออะไร    อีกคนหนึ่งทำหน้าที่ ตั้งคำถาม (Questioning) ทั้งด้านความหมายของคำ  ความหมายเชิงโครงสร้าง  และความหมายเชิงสรุปความ    คนที่สาม ทำหน้าที่ ทำความกระจ่าง (Clarifying) ต่อประเด็นคำถาม โดยกระตุ้นการอภิปรายแลกเปลี่ยนในกลุ่ม    คนที่สี่ ทำหน้าที่กระตุ้น การทำนาย (Predicting) ว่าข้อความตอนต่อไปจะเป็นอย่างไร

เมื่อนักเรียนคุ้นเคยกับเทคนิคนี้แล้ว    การทำหน้าที่ทั้งสี่ขั้นตอน และการอภิปรายจะดำเนินไปอย่างเป็นธรรมชาติ    ไม่ต้องกำหนดหน้าที่ให้สมาชิกแต่ละคนก็ได้   

ผมขอเพิ่มเติมว่า  ตามที่ระบุใน Learning Pyramid  การสอนผู้อื่นเป็นวิธีเรียนรู้ที่ให้ผลสูงสุด    และเทคนิคนี้อาจเรียกว่า collaborative learning ก็ได้


ให้คำแนะนำป้อนกลับ (feedback) แก่นักเรียน

ทักษะกำกับตนเอง และทักษะกำกับการเรียนรู้ของตนเองของนักเรียนเข้มแข็งขึ้นโดยพลังของคำแนะนำป้อนกลับของครู    เมื่อครูให้คำแนะนำป้อนกลับอย่างเหมาะแก่กาละ  มีความจำเพาะ  เข้าใจง่าย  และนำไปสู่การกระทำ     นักเรียนจะจดจำถ้อยคำของครูเข้าสู่ถ้อยคำที่พร่ำบอกตนเอง (self-talk)    คำของครู และวิธีบอก มีส่วนสร้างอัตลักษณ์  ความเป็นผู้กระทำ (sense of agency)  และความสำเร็จในชีวิต

 คำแนะนำป้อนกลับมี ๔ ระดับ ได้แก่

  • คำแนะนำป้อนกลับเกี่ยวกับชิ้นงาน (Feedback About the Task)   เป็นคำกล่าวย้ำเป้าหมายของงาน    บอกความก้าวหน้า  และส่วนที่ควรปรับปรุง 
  • คำแนะนำป้อนกลับเกี่ยวกับกระบวนการ (Feedback About the Process)    เป็นคำชวนทำความเข้าใจทางเลือกวิธีการหรือยุทธศาสตร์ในการบรรลุผลงานที่นักเรียนใช้  และครูแนะนำให้ลองค้นคว้าแนวทางอื่น  ว่าเหมาะสมกว่าหรือไม่       
  • คำแนะนำป้อนกลับเพื่อสร้างการกำกับตนเอง (Self-Regulatory Feedback)    เป็นคำแนะนำป้อนกลับเกี่ยวกับ soft skills   หรือการทำความเข้าใจตนเอง  เข้าใจคนอื่น  เข้าใจปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น    โดยครูบอกพฤติกรรมของตัวนักเรียนเป็นกระจกส่อง ให้นักเรียนได้ทำความเข้าใจ
  • คำแนะนำป้อนกลับเกี่ยวกับตัวตน (Feedback About Self)    นี่ก็เป็น soft skills เช่นเดียวกัน    และเป็นคำแนะนำป้อนกลับที่ครูทำผิดมากที่สุด    คือแทนที่จะพูดเชิงคำแนะนำป้อนกลับ    ครูกลับพูดเชิงชมหรือสรรเสริญ (Praise)    ซึ่งหากสรรเสริญความเก่งหรือผลงาน  อาจนำนักเรียนสู่การมี “กระบวนทัศน์หยุดนิ่ง” (Fixed Mindset) ซึ่งเป็นผลร้าย    หากจะสรรเสริญ ครูควรสรรเสริญความมานะพยายาม    หยิบเอาช่วงที่นักเรียนมีปัญหา หรือทำผิด แล้วแก้ไขได้    เอามาเป็นข้อสนทนาให้นักเรียนเล่าว่ารู้สึกอย่างไร  คิดอย่างไร    จะเป็นการสร้าง “กระบวนทัศน์พัฒนา” (Growth Mindset) ให้แก่ศิษย์    คำแนะนำป้อนกลับเกี่ยวกับการพัฒนาตัวตน จึงควรเน้นพัฒนา  “กระบวนทัศน์พัฒนา” เป็นหลัก   

คำแนะนำป้อนกลับขั้นที่ ๓  เพื่อการกำกับตนเอง มีความสำคัญที่สุดต่อการเรียนรู้ในขั้นเรียนรู้เพื่อการหลอมรวมความรู้ระดับลึก    เพื่อนำไปสู่การเป็นคนมีทักษะกำกับการเรียนรู้ของตนเอง    โดยครูต้องฝึกทักษะในการคุยแบบไม่เป็นทางการกับนักเรียน    ด้วยถ้อยคำและท่าทีเชิงบวก ที่ช่วยให้นักเรียนเข้าใจตนเอง เข้าใจพฤติกรรมของตนเอง เข้าใจคนอื่น และเข้าใจปฏิสัมพันธ์ของตนกับคนอื่น    ในเรื่องนี้มีหลักการที่เรียกว่า positive learning (2) (3) ที่ครูสามารถเข้าไปศึกษาและนำมาใช้ให้คำแนะนำป้อนกลับเชิงบวกแก่นักเรียนในชั้นเรียนได้

คำแนะนำป้อนกลับที่ดี มีผลดีต่อผลลัพธ์การเรียนรู้ EF = 0.75      



สรุป

เพื่อให้นักเรียนเรียนรู้ในระดับลึก การเรียนรู้ต้องเป็นสิ่งที่นักเรียน “เห็น” (visible) ได้    โดยเห็นว่าที่ทำมาแล้วดีไม่ดี เหมาะไม่เหมาะ เพียงไร    จะปรับปรุงตนเองอย่างไร   และรู้ว่าจะต้องอดทนฟันฝ่าเมื่อบทเรียนยาก    และเมื่อการเรียนเดินไปในทางที่ผิดพลาด ก็แก้ไขได้   ที่เรียกว่ามีความยืดหยุ่น (resiliency)  



วิจารณ์ พานิช

๑ ม.ค. ๖๓



หมายเลขบันทึก: 676022เขียนเมื่อ 11 มีนาคม 2020 19:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มีนาคม 2020 19:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท