บ้านสวนขวัญข้าว ๑๓ : จุดวิกฤตนี้ควรจะเป็นจุดวกกลับ


ขอเริ่มบันทึกด้วยภาพสถิติอัพเดทเมื่อนาทีที่ผ่านมา เกี่ยวกับจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตจากไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ (COVID-19)

มีผู้ติดเชื้อไปแล้ว ๙ หมื่นกว่าคน เสียชีวิตแล้วกว่า ๓ พัน ๒ ร้อยคน แม้ประเทศไทยจะได้รับการยกย่องว่ามีระบบการจัดการและป้องกันได้ดี และอยู่ในระดับการเฝ้าระวังป้องกัน แต่เศรษฐกิจไทยที่รายได้ส่วนใหญ่มาจากการท่องเที่ยว เสียหายไปแล้วกว่า ๒ แสนล้านบาท ... นี่เรียกได้ว่าเป็น "จุดวิกฤต" ได้ไหมครับ.....

ใครจำความรู้คณิตศาสตร์มัธยมที่เราสอนนักเรียนเรื่อง "จุดวิกฤต" และ "จุดวกกลับ" ได้ จะเข้าใจทันทีและประเมินความเห็นท่านได้ทันทีว่า ท่านเห็นด้วยหรือไม่ว่าจุดวิกฤตนี้ควรเป็นจุดวกกลับหรือไม่ ... และเห็นด้วยกับผมไหมถ้าเอาความรู้มหาวิทยาลัยมาบอกว่า จุดวิกฤตจะเป็นโอกาสของคนไทยให้ตื่นรู้ขึ้นมาจากโมหะจริต 

ผลของวิกฤตนี้ จะเป็นเหตุให้ลูกหลานเกษตรกรไทย จำเป็นต้องกลับบ้าน บ้านที่ผมเชื่อว่าส่วนใหญ่ยังมีดินมีน้ำให้เพาะปลูกอาหารให้มีชีวิตไปได้อย่างสบาย ๆ ... เว้นไว้แต่หนี้สินที่ติดพันมาจากเหตุแห่งวิกฤตของชีวิตในทุนนิยม  ถ้าผมเป็นนายกรัฐมนตรีขณะนี้ ผมจะประกาศโครงการพักชำระหนี้ทั้งหมดของเกษตรกร ๕ ปี โดยมีข้อแม้อย่างเดียวว่า เกษตรกรต้องหันมาศึกษาปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงภาคปฏิบัติอย่างจริงจัง.... นี่คือ "โอกาส" 

จากที่ได้ศึกษาปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงภาคปฏิบัติ (แบบพาร์ทไทม์หลังเลิกงาน) มาเกือบ ๒ ปี ยิ่งศึกษายิ่งรู้สึกว่า ที่ผ่านมาตนเองไม่เข้าใจปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงแบบที่จะช่วยให้ลูกหลานไทยอยู่รอดแบบยั่งยืน สิ่งที่เข้าใจแลเข้าถึง พึ่งจะมีอยู่ไม่กี่ประเด็น ...

  • หญ้าแฝกคือหญ้าวิเศษ 
  • ให้เริ่มจากการปลูกสิ่งที่เรากิน กินสิ่งที่เราปลูก 
  • ขาดทุนคือกำไร ... ยิ่งให้ยิ่งได้ 
  • กัตเต รมเต ... ผู้ทำเองย่อมรื่นรมย์

ขอเล่าแต่ละประเด็นด้วยภาพ  ต่อไปนี้ครับ 

แฝกป้องกันการดินพังทลายอย่างได้ผล ใบเป็นปุ๋ยอินทรีย์ และน่าจะมีประโยชน์อื่น ๆ อีก รอทดลองปฏิบัติ จะมาแลกเปลี่ยนต่อไป 

ผมปลูกผักกว่า ๓๐ ชนิด ในพื้นที่รอบ ๆ "ปั๊มน้ำใจ" (ดังรูป) เกือบ ๓ เดือนแล้ว ที่บ้านเราได้ซื้อผักน้อยมาก ซื้อเฉพาะสิ่งที่เราปลูกไม่ได้ สิ่งที่เราไม่ต้องซื้อแล้วได้แก่ พริก มะเขือเปาะ มะเขือขื่น ต้นหอม ขึ้นฉ่าย โหรพา แมงลัก กะเพราเขียว กะเพราดำ มะละกอ มะยม ลูกยอ หนานเฉาเหว่ย ผักโขม สะระแหน่ ผักกาดกวางตุ้ง ผักคะน้า ผักสลัดเร็ดโอ๊ค สลักกรีนโอ๊ค ผักกาดคอส วอลเตอร์เกต (ผักตีนเป็ด) ผักกาดดอก ผักชีลาว ตำลึง มะระ ยี่หร่า อัญชัน ผักไชยา ผักหูเสือ ผักแป้น ฟักทอง ดอกแค ผักแพว ใบหมาน้อย ...ฯลฯ  ส่วนตะไคร้ ใบมะกูด กระเจี๊ยบ ถั่วพู อื่น ๆ กระจายอยู่รอบ ๆ สวน  

กล้วยน้ำว้าจากสวนนี้ มีจุดเด่นดีกว่ากล้วยในตลาดตรงที่แก่จัด กล้วยแก่จัดจนสุกคาต้นเท่านั้นที่เราจะตัดมาแบ่งปันกันไปกิน ตั้งใจว่า ถ้าตราบใดที่ยังทำงานประจำอยู่ เป้าหมายเชิงผลผลิตของเราจะมุ่งไปเพื่อการศึกษาและพัฒนาองค์ความรู้ที่ชาวบ้านเข้าถึงได้ ... ทุกสิ่งอย่างจึงแจกจ่ายไปตามจังหวะโอกาสและเวลา  ... สิ่งที่ได้กลับมา ทำให้เข้าใจและเข้าถึง คำว่า "ขาดทุน คือกำไร" ที่ทรงสอนไว้ชัดเจนยิ่ง 

ผมใช้เวลาที่มีจำกัดมาก ๆ ในช่วงเลิกงาน แวะทางผ่านกลับบ้านวันละ ๒ ชั่วโมง เล่นกับลูกประมาณวันละ ๑ ชั่วโมง ต้องกราบขอบพระคุณตายายที่ดูแลหลานสาวน้อยทั้งสองของท่านอย่างดีเยี่ยม ... ผมพบประสบการณ์หลายอย่าง ที่น่าจะเป็นประโยชน์มาก ๆ  เพราะประหยัดมาก ๆ หากทำเอง ... ผมนึกถึงคำสอนของในหลวง ร.๙ ที่ทรงบอกว่า "กัตเต รมเต ผู้ทำเองย่อมรื่นรมย์" ... เช่น การปูแผ่นคอนกรีตทางเดิน นอกจากได้ออกกำลังกายอย่างดีแล้ว ยังได้ความรู้งานปูที่เราสามารถประหยัดจากการไปซื้อสำเร็จได้ถึงร้อยละ ๘๐ ทีเดียว ... ใครสนใจถามมาทางความเห็น จะมาเขียนแลกเปลี่ยนไว้ให้ทำได้ตามเลยครับ 

แม้วันนี้ ขวัญข้าว เด็กน้อย ๒ สาว จะยังไม่อยากมาสวน  แต่เราก็มีสถานที่แบ่งเวลามาเรียนรู้ทักษะชีวิตสัปดาห์ละ ๒ วัน ได้แล้ว จะพยายามต่อไป เป้าหมายนี้ ถูกขยายไปเป็นการสร้างโรงเรียนสอนทักษะชีวิตให้กับเด็ก ๆ ละแวกนี้ในอนาคต ... ต้องเพิ่มสมุนไพรให้ได้สัก ๑๐๐ ชนิด 

แต่สิ่งสำคัญคือ ที่นี่จะเป็นแหล่งปลูกฝังความรักใน "ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์" ไทย ... ขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนที่มีแนวคิดเดียวกันนี้ครับ 

หมายเลขบันทึก: 675920เขียนเมื่อ 4 มีนาคม 2020 20:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 มีนาคม 2020 09:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท