เรื่องเล่า ดร.ผึ้ง ตอนที่ 22 งานดูแลผู้สูงอายุ รพ.สมเด็จพระยุพราชฉวาง


ได้ไปเยี่ยมชมงานการดูแลผู้สูงอายุที่พลัดตกหกล้ม รพ.สมเด็จพระยุพราชฉวาง จ.นครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2563 ที่ผ่านมา

ทางทีมงานของ รพ.ให้ข้อมูลว่า มีผู้สูงอายุพลัดตกหกล้มเพิ่มมากขึ้น โดยเมื่อ จนท. ลงพื้นที่ในชุมชน พบว่า ผู้ป่วยที่ติดบ้านติดเตียงนั้น มีสาเหตุจากการหกล้มเป็นสาเหตุหลัก

เมื่อสอบถามผู้สูงอายุว่าหากให้นึกถึงสาเหตุที่ทำให้ผู้สูงอายุมารพ. นั้น มีสาเหตุใดบ้าง ผู้สูงอายุจะนึกถึงโรคเรื้อรัง อาทิ เบาหวาน ความดัน โรคหัวใจ โดยไม่นึกถึงการพลัดตกหกล้ม ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าผู้สูงอายุส่วนใหญ่ยังขาดความตระหนักถึงปัญหาการพลัดตกหกล้ม

ทาง รพ.ฉวาง มีการทำงานเป็นระบบ ทั้งการเฝ้าระวัง คัดกรอง มีทั้งเชิงรุกและเชิงรับ

ในงานเชิงรุกนั้น ได้ปฏิบัติการ ผ่านชมรมผู้สูงอายุ โดยมีแม่ข่าย 1 ชมรม และชมรมลูกข่ายอีก 16 ชมรม ซึ่งชมรมแม่ข่าย มีแกนนำจากทุกชมรม มาที่ชมรมแม่ข่าย ทุกวันพุธที่สองของเดือน แล้วทางชมรมแม่ข่ายจะมีนักวิชาการ หรือบุคลากรสาธารณสุข ไปให้ความองค์ความรู้ด้านการป้องกันการพลัดตกหกล้ม แล้วแกนนำจากทุกชมรมลูกข่าย จะไปถ่ายทอดองค์ความรู้อีกต่อหนึ่ง

ส่วนงานเชิงรับ นั้นเป็นหน้าที่ OPD โดยใช้คลินิกโรคไม่ติดต่อ ตรวจสุขภาพประจำปี ซึ่ง ทีมงานรายงานว่า ช่วงแรก การคัดกรองภาวะหกล้มนั้นทำได้น้อย เพราะต้องคัดกรองทีละคน เสียเวลามาก ต่อมาภายหลัง ได้ริเริ่มการคัดกรองขณะที่ตรวจคัดกรองโรคไม่ติดต่อ (NCD) โดยให้ผู้สูงอายุ ยืนเรียงแถวกัน ครั้งละสิบคน แล้วยืนต่อเท้า หากผู้สูงอายุคนใดเซ หรือการทรงตัวบกพร่อง ก็แยกออกมา ตรวจคัดกรองการล้มต่อไป วิธีนี้ช่วยประหยัดเวลาได้ดี ไม่ต้องทำครั้งละ 1 คน

กรณีที่มีผู้ป่วยต้องนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาล จะมีการประเมินความเสี่ยงต่อการพลัดตกหกล้ม หากมีความเสี่ยง จะมีการติดป้ายหรือสัญลักษณ์ไว้หน้าแฟ้มผู้ป่วยและหัวเตียงผู้ป่วยเพื่อเป็นการสื่อสารให้บุคลากรท่านอื่นทราบด้วย

นอกจากนี้ยังมีการทำงานเชิงระบบ ทั้งรับผู้ป่วย ส่งต่อผู้ป่วย ส่งต่อข้อมูลให้ รพ.สต. ไปประเมินสภาพแวดล้อมที่บ้าน ที่อยู่อาศัย มีศูนย์ COC home health care ซึ่งสังกัดกลุ่มการพยาบาล

ต่อมาทาง รพ.ฉวางได้พัฒนาระบบ IT เข้ามาช่วย โดย จนท. ด้านระบบ IT ได้เขียน code computer เพิ่มเติมเข้าไปในระบบ HosXP เพื่อเป็นเครื่องมือระหว่าง รพ. กับ รพ.สต. ทำให้การดึงข้อมูลมาใช้สะดวกมากขึ้น ลดภาระงานเอกสารที่เดิมเคยคัดกรองการพลัดตกหกล้มในแบบฟอร์มแล้วต้องกลับมาค้นข้อมูลภายหลัง

นอกจากนี้ได้ไปเยี่ยมชม ศูนย์ฟื้นฟูสุขภาพผู้สูงอายุ ตำบลฉวาง พบผู้สูงอายุมาทำกิจกรรมกัน มีโต๊ะกรอกประวัติ ตรวจคัดกรองการหกล้ม (Thai FRAT) ห้าข้อ ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่นำไปกรอกลงระบบอีกครั้งหนึ่ง ภายในศูนย์มีมุมนวด มีมุมแช่เท้าด้วยสมุนไพร มีมุมฟื้นฟูด้วยอุปกรณ์ (คล้ายกายภาพบำบัด) ผู้ดูแลกระตือรือร้น อธิบายและแนะนำอุปกรณ์ด้วยความภาคภูมิใจ พาผู้เขียนไปลองอุปกรณ์ อาทิ ลูกแก้วนวดฝ่าเท้า บอกว่าใช้สะดวกกว่าแบบแท่นไม้ เพราะแท่นไม้มีความแหลมคม นวดไม่สะดวก

ต่อมาได้ไปเยี่ยมบ้านผู้สูงอายุ ซึ่งได้รับงบประมาณในการปรับปรุงบ้าน ปรับสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม ในบ้านผู้สูงอายุอยู่กันสามท่าน มีติดเตียงหนึ่งท่าน (คุณยายนอนที่พื้น) และอีกสองท่านต้องใช้ไม้เท้าช่วยในการเดิน เนื่องจากเคยหกล้มมาก่อนหน้านี้  บ้านหลังนี้มี อสม. มาดูแลเป็นประจำ

ผู้เขียนรู้สึกว่า ทีมงานทำงานประสานกันเป็นทีมดี ทั้ง จนท. บุคลากร รพ.สต. อสม. นอกจากนี้มีการปรับปรุงพัฒนาการตรวจคัดกรองการหกล้มให้เหมาะสม การใช้ระบบ IT เข้ามาช่วยในการบันทึกและส่งต่อข้อมูล มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน และชุมชนเข้มแข็ง โดยเฉพาะชมรมผู้สูงอายุซึ่งเข้มแข็งมาก

ภัทรพร คงบุญ

3 มีนาคม 2563

1 ศูนย์ฟื้นฟูสุขภาพผู้สูงอายุเทศบาลตำบลฉวาง

2 มุมนวด ภายในศูนย์

3 ผู้สูงอายุแช่สมุนไพร ภายในศูนย์

4 อุปกรณ์บริหารร่างกาย

5 อุปกรณ์บริหารร่างกายที่ผู้สูงอายุช่วยกันทำขึ้นมาเอง 

6 ถาดลูกแก้วทีใช้นวดฝ่าเท้า

7 แบบฟอร์มคัดกรองการพลัดตกหกล้มที่ภายในศูนย์ทำการคัดกรองผู้สูงอายุ

8 เยี่ยมบ้านผู้สูงอายุ

9 ป้ายติดหน้าบ้านผู้สูงอายุ

10 ห้องน้ำในบ้านที่ได้รับการปรับปรุงเพื่อให้เหมาะแก่ผู้สูงอายุ

11 ป้ายสัญลักษณ์ที่เตียงผู้ป่วย

หมายเลขบันทึก: 675914เขียนเมื่อ 4 มีนาคม 2020 15:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มีนาคม 2020 17:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท