ปิดฉาก ออกชุมชนแบบพักค้างที่วัดในชุมชน? บทสะท้อนคิดของ ศ. ดร. นพ. สุรศักดิ์ บูรณะตรีเวทย์



ผมได้รับ อีเมล์จาก  ศ. ดร. นพ. สุรศักดิ์ บูรณะตรีเวทย์ ดังต่อไปนี้

เป็นเวลากว่า 30 ปีของคณะแพทย์ ธรรมศาสตร์ที่มีการให้นักศึกษาปี 2 และปี 3 ออกชุมชนต่างจังหวัดและพักค้างที่วัดในชุมชนเป็นเวลาปีละ 10-12 วัน มาปีนี้เริ่มให้นักศึกษาปี 2 ออกชุมชนในจังหวัดปทุมธานีแบบไปเช้าเย็นกลับ และครั้งนี้เป้นครั้งสุดท้ายที่นักศึกษาปี 3 ออกชุมชนและพักค้างที่วัดในชุมชน

กระบวนการจัดการเรียนรู้ก็เหมือนเดิมให้นักศึกษาร่วมกับผู้นำชุมชน อสม. ค้นหาปัญหาและทำโครงการสร้างเสริมสุขภาพร่วมกันในชุมชนที่นักศึกษาเคยเข้ามาแล้วเมื่อตอนปี 2

สำหรับผม ครั้งนี้ก็เหมือนทุกๆ ครั้งที่ผ่านมา ยกเว้นครั้งนี้ผมตัดสินใจกลับบ้านน้อยครั้งลงกว่าทุกครั้ง กลับบ้านระหว่างออกชุมชนเพียงแค่ครั้งเดียว เพื่อให้ได้ดื่มด่ำกับบรรยากาศพักค้างในชุมชนครั้งสุดท้าย ครั้งนี้อาจารย์ชาย 8 คนกับคนขับรถ 6 คนพักที่ห้อง กศน. ซึ่งมีห้องน้ำเพียงห้องเดียว ผมจึงต้องตื่นตั้งแต่ตี 4 อาบน้ำ เพื่อหลีกเลี่ยงความแออัดในช่วงเช้า อาบเสร็จผมก็นอนต่อและตื่นมาตอนกินข้าวเช้า 7 โมง ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ผมท้องผูกตอนออกชุมชนและเป็นครั้งแรกที่ท้องผูกในชีวิตในช่วงที่สบายดี   

ครั้งนี้วันที่ผมกลับมาบ้านและวันรุ่งขึ้นต้องเดินทางกลับเข้าชุมชน ภรรยาตื่นมาตอนเช้ามีอาการวิงเวียนศีรษะ บ้านหมุน และยาแก้เวียนศีรษะที่มีอยู่ที่บ้านผมก็นำติดตัวไปออกชุมชนหมดเลย จึงต้องไปซื้อยาแก้เวียนศีรษะให้ภรรยาจากร้านขายยา และขับรถกลับไปด้วยความเป็นห่วงภรรยา ดีที่ลูกสาวลูกชายช่วยดูแลแม่ได้เป็นอย่างดี

อาหารเช้าและอาหารเย็นจ้างแม่ครัวชุดเดิมเหมือนปีก่อนทำ ซึ่งอร่อยเหมือนเดิม กลับมานำหนักเพิ่มขึ้น 1 โล อาหารกลางวันหากินเองในชุมชน ซึ่งก็มีร้านข้าวในชุมชนอยู่เหมือนเดิม

ชุมชนที่เข้าไปครั้งนี้แตกต่างจากครั้งที่แล้วคือ ปัญหาน้ำแล้งรุนแรงมาก ต้องมีการลงขันกันไปซื้อเครื่องสูบน้ำ ท่อสูบน้ำ และออกค่าไฟเพื่อสูบน้ำมาจากคลองที่อยู่ห่างไกลออกไป เมื่อได้น้ำแล้วก็ใช้ได้กับไร่เผือกเท่านั้น เนื่องจาก ไม่เพียงพอให้นาข้าว และราคาเผือกขึ้นสูงจากโลละ 10 กว่าบาทเป็น 40 บาทจากผลผลิตที่ขาดแคลน เจ้าของไร่เผือกต้องจ่ายค่าน้ำไร่ละ 100 บาท ผู้ใหญ่บ้านวิ่งวุ่นในการหาน้ำเข้าไร่เผือก ชาวบ้านที่รับจ้างในไร่เผือกก็มีงานทำแค่ครึ่งวัน ดูฝืดเคืองกันไปหมด

แต่ถึงกระนั้นชาวบ้านและ อสม. ก็ยังใส่ใจช่วยเหลือนักศึกษาจนกระทั่งทำโครงการออกมาได้สำเร็จ ถึงแม้เป็นช่วงเวลาสั้นๆ แต่นักศึกษาได้เรียนรู้และฝึกทำโครงการสร้างเสริมสุขภาพแบบมีส่วนร่วมได้อย่างดี การเรียนรู้ไม่ได้ขึ้นกับผลลัพธ์อย่างเดียวแต่ขึ้นกับกระบวนการที่ได้เรียนรู้ด้วย

วันนี้ (22 ม.ค. 63) เป็นวันที่เดินทางกลับจากชุมชน คิดย้อนไปถึงตอนที่ตัดสินใจร่วมกันว่าจะออกชุมชนในจังหวัดปทุมธานีแบบเช้าไปเย็นกลับ ด้วยเหตุผล 2 อย่าง อย่างแรกคือต้องการพัฒนาชุมชนที่คณะตั้งอยู่ และอย่างที่สองคือต้องการช่วยคณะประหยัดงบประมาณในการออกชุมชนแบบพักค้าง (ทางผู้บริหารคณะไม่ได้ขอร้องอะไรมา ทางภาควิชาตัดสินใจกันเอง) ที่มีคาใช้จ่ายประมาณ 700,000 กว่าบาทต่อครั้ง โดยเป็นค่าที่พักที่บริจาคให้วัดประมาณ 188,000 บาท ค่าเบี้ยเลี้ยงนักศึกษา 360,000 บาท ค่าเช่ารถและน้ำมันรถ 170,000 บาท (ข้อมูลของการเบิกจ่ายออกชุมชนครั้งนี้)

สำหรับผมที่ตัดสินใจเลือกแบบไม่พักค้าง เพราะ มีผลประโยชน์ส่วนตัวในการที่ผมจะได้ไม่ต้องคิดถึงภรรยาและลูกๆ (ปัจจุบันภรรยาและลูกๆ ไม่ต้องให้ผมคอยดูแลห่วงใยอีกแล้ว มีแต่ผมที่ต้องกลับบ้านเพื่อเติมพลังใจ) และต้องขับรถไปกลับระหว่างออกชุมชน

อาจจะเป็นการออกชุมชนอย่างพักค้างเป็นครั้งสุดท้ายในรอบนี้ สิ่งต่างๆ ไม่จีรังมีการเปลี่ยนแปลง อาจมีการเปลี่ยนกลับไปออกชุมชนแบบัพค้างอีกครั้งในอนาคตก็ไม่มีใครรู้ได้.   

  

หมายเลขบันทึก: 675861เขียนเมื่อ 1 มีนาคม 2020 17:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 มีนาคม 2020 17:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท