ครูเพื่อศิษย์ สอนสู่รู้เชื่อมโยง ๔. เรียนรู้ระดับผิว (ตอนที่ ๑)


  บันทึกชุด ครูเพื่อศิษย์ สอนสู่รู้เชื่อมโยง ตีความ (ไม่ใช่แปล) จากหนังสือ Visible Learning for Literacy, Grades K-12 : Implementing the Practices That Work Best to Accelerate Student Learning (2016)    เขียนโดย Douglas Fisher, Nancy Frey, และ John Hattie    ซึ่งเป็นหนังสือที่นำเอาหลักการ Visible Learning ที่พัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่องโดย John Hattie ในช่วงเวลาเกือบ ๔๐ ปี สู่ภาคปฏิบัติ   

บันทึกชุดนี้ต้องการสื่อความและสื่อวิธีการเรียนรู้ที่ประจักษ์ชัดในสองมุม    คือมุมนักเรียนที่เรียนอย่างชัดเจนในเป้าหมาย  ในความก้าวหน้าของตน ทั้งในการเรียนวิชาและวิธีเรียน    และมุมของครู ที่สอนอย่างประจักษ์ในผลที่เกิดขึ้นต่อนักเรียน  และโดยใช้การกระตุ้นสายตาของนักเรียนด้วยเป้าหมายการเรียน    เพื่อช่วยให้นักเรียนเรียนรู้อย่างมีเป้าหมายอยู่ตลอดเวลา   

บันทึกที่ ๔ เรียนรู้ระดับผิวนี้ ตีความจากบทที่ 2  Surface Literacy Learning  ในหนังสือ หน้า ๓๕ – ๔๙    

ธรรมชาติของการเรียนรู้ดำเนินอย่างเป็นขั้นตอน คือ เรียนระดับผิวก่อน สั่งสมความรู้ระดับผิวเพื่อฝึกเชื่อมโยง ขยายความ สู่การคิดและเรียนรู้อย่างลึก    การเรียนรู้ในช่วงแรกจึงเน้นวางพื้นฐานความรู้และความคิดระดับผิวก่อน    และพร้อมๆ กันก็เตรียมสู่ความรู้และความคิดระดับลึกด้วย โดยดำเนินการอย่างเป็นขั้นตอน    และการวัด ES ก็ต้องวัดตามระดับความลึกที่เป็นเป้าหมาย  

ผมตีความว่า หัวใจสำคัญอยู่ที่ครู ต้องมีความเข้าใจ และมีทักษะการจัดการเรียนรู้ ๓ ระดับ เพื่อไม่หลงจัดย่ำอยู่กับการเรียนรู้ระดับตื้น    ไม่ก้าวหน้าสู่ระดับลึก และระดับเชื่อมโยง    ซึ่งหมายความว่า ครูต้องมีทักษะการประเมินผลการเรียนรู้ ๓ ระดับนี้ด้วย     

นักเรียนก็ต้องเข้าใจ    และฝึกทักษะการเรียนรู้ ๓ ระดับ    รวมทั้งฝึกทักษะการประเมินตนเอง    สู่การเป็นคนที่คิดลึกและคิดเชื่อมโยง  

กล่าวได้ว่า ทุกกิจกรรม ทุกบทเรียน นำไปสู่การเรียนรู้ทั้ง ๓ ระดับได้ทั้งสิ้น (แต่อาจจะดีมากดีน้อยแตกต่างกัน)     ผู้ที่ทำให้การเรียนรู้เหมาะสม และเกิดผลตามเป้าหมายระดับการเรียนรู้คือครู    โดยที่ในระดับผิวมีกิจกรรม ๒ อย่างคือ รับรู้ (acquire)  กับ หลอมรวม (consolidate) เข้ากับความรู้เดิม             

ทำไมการเรียนรู้ระดับผิวจึงมีความสำคัญ

การเรียนรู้ระดับผิวมีความจำเป็น เพราะเป็นพื้นฐานเริ่มต้นสำหรับการเรียนรู้ระดับต่อไปคือ ระดับลึก และระดับเชื่อมโยง    หากการเรียนรู้ระดับผิวไม่มั่นคง การต่อยอดสู่ระดับลึกและเชื่อมโยงก็ทำไม่ได้ดี      

ปัจจัยสำคัญคือครูต้องมีทักษะในการใช้วิธีการที่มีผลกระทบต่อการเรียนรู้สูง ในช่วงที่ต้องการเรียนระดับผิว     คือการฝึกรับรู้ (acquire) และหลอมรวมความรู้ใหม่เข้ากับความรู้เดิม (consolidate)   

กาละ เป็นเรื่องสำคัญ    ครูต้องรู้ว่า เมื่อไรจะต้องใช้วิธีการอะไร เพื่อส่งเสริมการรับรู้ และการหลอมรวมความรู้ใหม่เข้ากับความรู้เดิม   การนำเอาวิธีการเพื่อการเรียนรู้ระดับลึกและระดับเชื่อมโยง (เช่น PBL – Problem-Based Learning) เข้ามาตั้งแต่ต้น ในช่วงที่นักเรียนควรเรียนพื้นความรู้ระดับตื้นก่อน    จะทำให้การเรียนรู้ไม่ได้ผลดี    และการประเมินความรู้ระดับลึกและเชื่อมโยง เช่น ตั้งคำถามเชิงประยุกต์ ก็ไม่ถูกกาละในช่วงนี้    ดังนั้น คำพูดที่ว่า คำถามความคิด (inferential question) ดีกว่าคำถามความจำ (recall question) จึงไม่ใช้คำพูดที่ถูกต้องเสมอไป    ในขั้นเรียนรู้ระดับผิว คำถามความจำ เป็นสิ่งที่ถูกต้อง       

หลักการของการสอน จึงต้องคำนึงถึงบริบทของนักเรียน ว่าอยู่ที่การเรียนรู้ระดับไหน   และกำลังพัฒนาไปสู่ระดับใด ใน ๓ ระดับของการเรียนรู้

รับและหลอมรวม (Acquisition and Consolidation)

การเรียนรู้ระดับผิว (และระดับลึก) ประกอบด้วย ๒ ขั้นตอนคือ การรับรู้ และการหลอมรวม    ในขั้นตอนรับรู้ วิธีจัดการเรียนรู้ทำโดยให้นักเรียนสรุป (summarize) และบอกโครงเรื่อง (outline) ของการเรียน    ส่วนขั้นตอนหลอมรวม  เรียนรู้ได้โดยให้นักเรียนทำข้อทดสอบ หรือปฏิบัติ  และได้รับคำแนะนำป้อนกลับ   

เขาเปรียบเทียบการเรียนช่วงนี้กับการเริ่มหัดขับรถ    ซึ่งต้องเริ่มที่การเรียนรู้ระดับผิวก่อน    ได้แก่ทำความรู้จักกฎจราจร และป้ายจราจร   แล้วจึงทำความรู้จักรถยนต์    ได้แก่พวงมาลัย  เกียร์ คันเร่ง  เบรค กระจกมองหลัง ฯลฯ    แล้วฝึกวิธีหมุนพวงมาลัย  เปลี่ยนเกียร์  เหยียบ-ถอนคันเร่ง   เหยียบ-ถอนเบรก    ขยับกระจกมองหลัง    นี่คือความรู้ระดับผิว ที่มักเรียกกันว่า เบสิก ในขั้นตอนแรก คือการรับรู้    ในขั้นนี้ การสอนเทคนิคการขับรถบนท้องถนน เป็นการสอนที่สูญเปล่า ไร้ประโยชน์ ยังไม่ถึงเวลา         

ขั้นตอนที่สอง คือการทำความเข้าใจในเรื่องการหัดขับรถก็คือ การฝึกขับรถ    ให้รถเคลื่อนที่อย่างราบเรียบไม่กระตุก    เลี้ยวโค้งได้อย่างราบรื่นไม่ปีนขอบถนน    ขับเดินหน้าถอยหลังได้    ถอยหลังเข้าจอดชิดขอบทางได้  ฯลฯ     ในขั้นตอนนี้ ต้องการครูฝึกคอยให้คำแนะนำและคำแนะนำป้อนกลับมากมาย    ขั้นตอนนี้เรียกว่า ขั้นหลอมรวม (consolidation)       

หัวใจของผู้ทำหน้าที่ครูคือต้องสังเกตให้เห็นความก้าวหน้า (หรือไม่ก้าวหน้า) ของการเรียนรู้ของศิษย์เป็นรายคน    ให้คำแนะนำป้อนกลับ    และสังเกตผลกระทบของสิ่งที่ครูปฏิบัติ ต่อการเรียนรู้ของศิษย์     นี่คือหลักการของการเรียนรู้อย่างเห็นผลประจักษ์ชัด  

 

รับความรู้อย่างเห็นชัด

หนังสือเล่มนี้เน้นเฉพาะการเรียนเพื่อ อ่านออกเขียนได้ (literacy) ดังกล่าวแล้วในตอนที่ ๑    คือเน้นที่การอ่าน เขียน ฟัง  พูด  คิด  ซึ่งแค่นี้ก็เป็นการสอนที่ซับซ้อนมาก    เพราะนักเรียนจะต้องใช้ทักษะเหล่านี้เพื่อหาความรู้เพิ่ม   เพื่อวิเคราะห์แนวความคิด   เพื่อการแสดงออก   และเพื่อสร้างความรู้ใหม่ที่อาจนำไปใช้โดยผู้อื่น    

โปรดอย่าเข้าใจผิดว่า การรับความรู้เป็นทักษะการเข้ารหัส และแปลรหัส เป็นตัวๆ ไป   

เด็กอนุบาลมีความสามารถรับความรู้ และพัฒนาทักษะเป็นด้านๆ และพัฒนาสู่การคิดซับซ้อน    หากมีเวลาและได้รับการสอนที่ดี ในด้านวิธีการรับความรู้  วิเคราะห์ความคิด  ฯลฯ    โดยการเรียนรู้เหล่านี้เริ่มจากการเรียนรู้วิธีรับความรู้ที่ดี    โดยมีปัจจัยสำคัญ ๔ ประการคือ 

  • การยกระดับความรู้เดิม
  • การสอนวิธีออกเสียง และสอนโดยตรง
  • การสอนคำ
  • การอ่านเอาเรื่อง

มีข้อเตือนใจ ๒ ประการสำหรับครู สำหรับการจัดการเรียนรู้เพื่ออ่านออกเขียนได้

  1. 1. ครูส่งสัญญาณเป้าหมายการเรียนรู้ และเกณฑ์ความสำเร็จ อย่างชัดเจน    เพื่อให้เด็กรู้ว่า ตนกำลังเรียนอะไร  ทำไมต้องเรียน และนักเรียนจะรู้ได้อย่างไรว่าตนเรียนบรรลุเป้าหมาย    รวมทั้งเพื่อให้นักเรียนมีบทบาทในการเรียนรู้มากที่สุด
  2. 2. ครูไม่ยึดมั่นวิธีการจัดการเรียนการสอนรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง   แต่มุ่งมั่นที่การเรียนรู้ของศิษย์    โดยครูจ้องประเมินผลของการกระทำของตน ต่อการเรียนรู้ของศิษย์อยู่ตลอดเวลา     หากพบว่าไม่เกิดการเรียนรู้ ครูต้องเปลี่ยนวิธีการ   

ยกระดับความรู้เดิม

ความสำเร็จในการเรียนขึ้นอยู่กับความรู้เดิม     การเรียนรู้เป็นกระบวนการต่อยอดความรู้เดิม   หากครูสอนความรู้ใหม่ที่นักเรียนไม่มีความรู้เดิมไว้รองรับ    การเรียนรู้ก็ไม่เกิด    ดังนั้นครูจึงต้อง  (๑) ตรวจสอบว่านักเรียนมีความรู้เดิมแค่ไหน  และ (๒) จัดกระบวนการเรียนรู้เพื่อต่อยอดหรือยกระดับจากความรู้เดิม   

ความรู้เดิมของนักเรียนในเรื่องใดเรื่องหนึ่งอาจเป็นเสี่ยงๆ  เลือนราง  ไม่ครบ  และยุ่งเหยิง    และที่ร้ายที่สุดคือ รู้มาผิดๆ     ครูจึงต้องมีเครื่องมือประเมินความรู้เดิมของนักเรียน และดำเนินการประเมิน    เครื่องมือที่เขาแนะนำคือ anticipation guide   หลักการคือ  ครูเตรียมกระดาษหนึ่งหน้า     แบ่งเป็น ๓ ช่อง    ช่องกลางเป็นช่องหลัก  เขียนข้อความที่เป็นความรู้เดิม    ช่องซ้ายเป็นช่องก่อนเรียน  ช่องขวาเป็นช่องหลังเรียน    ให้นักเรียนเขียนแค่ A (agree)   หรือ D (disagree)    การตอบอาจให้นักเรียนทำคนเดียว  หรือร่วมกันทำสองสามคนก็ได้    โดยอาจมีช่องเพิ่มให้บอกเหตุผลว่าทำไมเห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วย   

จะเห็นว่า anticipation guide จะช่วยทั้งครูและนักเรียน    ช่วยให้ครูรู้ว่านักเรียนแต่ละคนมีความรู้เดิมแค่ไหน ในลักษณะใด    ช่วยให้นักเรียนได้ฟื้นความรู้เดิม และทำให้มั่นคงแข็งแรงขึ้น    เตรียมพร้อมรับความรู้ใหม่  

ผมตีความว่า anticipation guide เป็นทั้งตัวกระตุ้นความรู้เดิม  และเป็นทั้งตัวไกด์เป้าหมายการเรียนรู้    เป็นเครื่องมือง่ายๆ ใช้เวลาไม่กี่นาที    แต่มีพลังช่วยการเรียนรู้ได้มาก     

อีกเครื่องมือหนึ่งคือ Cloze Procedure    ซึ่งก็คือคำถามแบบให้เติมคำลงในช่องว่างของข้อความ    ซึ่งมีประโยชน์หลายอย่าง    และมีรายละเอียดวิธีสร้างข้อความเพื่อเป็นโจทย์ที่เหมาะสมตาม ลิ้งค์ ที่ให้ไว้   

ความสำเร็จในการเรียนช่วงก่อน (prior achievement)  มีผลต่อความสำเร็จของการเรียนรู้ในอนาคต (future achievement)  EF = 0.65  

เป้าหมายของการเรียนรู้ในระดับนี้คือ นักเรียนบอกได้ว่าประเด็นหลักของเรื่องที่เรียนคืออะไร  

สอนวิธีออกเสียง และ Direct Instruction  

การฝึกทักษะการอ่านขั้นรับรู้  ขั้นหลอมรวม  และขั้นลึก ต้องการการสอนอย่างมีหลักการและวิธีการ ตลอดช่วงชั้นอุบาลถึง ม. ๖   เป็นเรื่องที่ต้องเรียนรู้    ไม่สามารถเรียนได้ด้วยตนเองตามธรรมชาติเหมือนอย่างการพูด     เพราะการพูดเป็นสัญชาตญาณตามธรรมชาติของมนุษย์ที่วิวัฒนาการมากับความเป็นมนุษย์ เมื่อเวลาระหว่าง ๑.๗๕ ล้านปี ถึง ๕ หมื่นปีมาแล้ว    แต่ตัวหนังสือและการอ่าน เป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นเมื่อประมาณ ๖ พันปีมานี้เอง    โดยที่มนุษย์ต้องใช้โครงสร้างการพูดในชีวิตประจำวันช่วยฝึกการอ่าน    การฝึกให้สมองคุ้นเคยกับการอ่าน ต้องการการดำเนินการที่จำเพาะ ที่เรียกว่า “การสอนอ่านที่ได้ผลดี” (effective reading instruction)       

ทักษะการอ่านประกอบด้วย ๖ ทักษะย่อย    ที่ในที่สุดจะรวมกันเข้าเป็นหนึ่งเดียว ได้แก่

  • การรับรู้เสียง
  • การรับรู้สัญลักษณ์
  • การเชื่อมโยงเสียงกับสัญลักษณ์
  • ทำได้อย่างเป็นอัตโนมัติ
  • รู้ความหมายของคำและพยางค์
  • อ่านรู้ความหมาย

๔ ทักษะแรกเมื่อฝึกดีแล้วก็เป็นอันจบ ไม่ต้องฝึกต่อ  ครูต้องเอาใจใส่ ๓ ทักษะแรกจริงจังเพียงแค่ถึง ป. ๓ เท่านั้น    และเอาใจใส่สอนทักษะที่ ๔ ไปถึงประมาณ ม. ๒     สี่ทักษะนี้รวมเรียกว่า constrained skills คือมีขอบเขตแน่นอนตายตัว เช่นภาษาไทยมีพยัญชนะ ๔๔ ตัว  สระ ๒๑ รูป  วรรณยุกต์ ๕ ตัว    แต่ ๒ ทักษะหลังจะมีการเรียนรู้และพัฒนาไปตลอดชีวิต    และครูต้องเอาใจใส่พัฒนาให้ศิษย์ไปจนจบ ม. ๖   สองทักษะหลังรวมเรียกว่า unconstrained skills

ผมขอเสนอว่า น่าจะมีทักษะย่อยที่ ๗ ของการอ่านคือ

  • อ่านรู้ความงาม    ได้อารมณ์และสุนทรียภาพ  ซึ่งเข้าใจว่าครูไทยเอาใจใส่อยู่แล้ว     และในกรณีนี้ สัญลักษณ์ของการอ่านขยายไปสู่สัญลักษณ์ที่ไม่ตายตัวด้วย  คือ ทัศนศิลป์    อ่านรู้ความงามน่าจะรวมอยู่ใน unconstrained skills

ครูมีหน้าที่ต้องสอนทั้ง constrained skills และ unconstrained skills    โดยเฉพาะอย่างยิ่งครูชั้นประถมศึกษา     พื้นฐานสำคัญคือ การฝึกออกเสียง สัมพันธ์กับตัวอักษร     เชื่อมโยงไปสู่การตีความตัวหนังสือที่ตามกันมาเป็นทิวแถว     ทั้งหมดนั้น ก็เพื่อฝึกสมองให้คล่องแคล่ว ทำได้อย่างเป็นอัตโนมัติ     ซึ่งหมายความว่า โครงสร้างของสมองได้เปลี่ยนแปลงไป ให้รับรู้และเข้าใจความหมายของภาษาเขียนได้โดยอัตโนมัติ และบรรจุทักษะนี้ไว้ในความจำระยะยาว (longterm memory)   โดยครูต้องเข้าใจว่าศิษย์แต่ละคนกำลังเรียนได้ถึงขั้นไหน    ต้องการความช่วยเหลือตรงจุดไหน   

ภาษาพูด เรียนรู้อย่างเป็นธรรมชาติ    ภาษาเขียน เรียนรู้อย่างมีวิชาการ ต้องมีครู    และหากมีการสอนผิดๆ อาจก่อผลร้ายต่อชีวิตของเด็กไปตลอดชีวิต     เพราะนี่คือพื้นฐานไปสู่การเรียนรู้ขั้นสูงต่อไปในชีวิต   

Direct Instruction  

เป็นการให้ผู้เรียนฝึกปฏิบัติ หรือทำเอง  ครูคอยให้คำแนะนำป้อนกลับ แก้ไขการออกเสียง บอกคำอ่านที่ถูกต้อง    บอกเป้าหมายและคุณค่าของการเรียนรู้ในขั้นนี้ว่ามีความหมายต่อชีวิตภายหน้าอย่างไร    EF ของ Direct Instruction เท่ากับ 0.59  

หลักการของ Direct Instruction มีดังต่อไปนี้

  • มีป้าหมายการเรียนชัด  และทำให้เด็กสนุกกับการเรียน
  • ครูสอน และตรวจสอบผลการเรียนรู้ของนักเรียน
  • ให้ทำแบบฝึกหัด  ครูคอยแนะนำ และให้ feedback
  • ครูมีเกณฑ์ความสำเร็จในการเรียน สำหรับใช้ประเมินผล
  • สรุปเพื่อจบบทเรียน    ให้นักเรียนทบทวนเป้าหมายการเรียน  เกณฑ์วัดความสำเร็จ  และประเด็นเรียนรู้ที่สำคัญ
  • ให้นักเรียนมีโอกาสฝึกฝนด้วยตนเอง  

ครูต้องมีทักษะในการ “มองเห็น” ความคิดในหัว (สมอง) ของนักเรียน     และสนุกกับการมีปฏิสัมพันธ์เชิงบวกกับกิจกรรมที่ศิษย์กำลังทำ เพื่อสนับสนุนการเรียนรู้อย่างมีเป้าหมายของศิษย์    นี่คือทักษะจำเป็นของครู ที่คณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ต้องฝึกให้แก่นักศึกษาครู    และเป็นประเด็นของ PLC ของครูในโรงเรียน

(มีต่อในบันทึกที่ ๕)

วิจารณ์ พานิช

๑ ม.ค. ๖๓

หมายเลขบันทึก: 675795เขียนเมื่อ 26 กุมภาพันธ์ 2020 15:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 กุมภาพันธ์ 2020 15:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท