จากแปลงผักสู่การเรียนรู้แบบบูรณาการ (ในความคิด)


วานก่อน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อนุชา  โสมาบุตร โพสต์เฟซบุ๊ครูปแปลงผักและดอกไม้ คำถามเชิงเชิญชวนให้ร่วมแสดงความคิดเห็น “นอกจากวิชา #ชีววิทยา ท่านเห็นเนื้อหาวิชาอะไรอีกบ้างจากภาพเหล่านี้ครับ”

คำตอบผมผุดขึ้นมาในหัวทันทีว่า ศิลปะ เกษตร การงานอาชีพ คณิตศาสตร์ คอมพิวเตอร์  ดร.อนุชา จึงคุยต่อไปว่า “วอนพี่ยอดขยายความด้วยครับ นี่จะเอาไปออกแบบการสอนจริง ๆ”    เมื่อคำถามนำทางไปสู่คำตอบ ผมจึงต้องขยายความไปว่า

ศิลปะ ก็ให้นักเรียนวาดภาพผักต่าง ๆ ในแปลง มีกี่ชนิด อะไรบ้าง แล้วภาพจำในวัยเด็กก็ผุดขึ้น ตอนเรียนประถมเรียนศิลปะภาพพิมพ์ เอาใบไม้มาทาสีแล้วก็ทาบใส่กระดาษ ให้เรียนรู้ลาย

เกษตร ก็เรียนเรื่องดิน ปุ๋ย พันธุ์พืชผักสวนครัว แร่ธาตุในดิน ชนิดของดิน ลักษณะเฉพาะของพืชผักแต่ละชนิด

การงานอาชีพ (ก.พ.อ.) ก็นำผัก ไปประกอบอาหาร นำดอกไม้ไปจัดแจกันทรงสูง ทรงต่ำ

คณิตศาสตร์และคอมพิวเตอร์  ก็เรียนรู้เรื่องตัวเลข สถิติ เปอร์เซ็นต์หรืออัตราการงอก จำนวนวันที่ปลูกจนให้ผลผลิต คิดคำนวณต้นทุนการปลูก

ผมไม่ได้มีโอกาสทำอาชีพครู เป็นเพียงคนเฝ้ามองดูครูและนักเรียน และเคยเป็น “นักเรียน” ที่ได้เรียนและรู้มาเพียงเล็กน้อยตามเส้นทางจากปฐมวัยจวบจนอุดมศึกษาแล้วมาประกอบอาชีพเล็ก ๆ บนโลกใบนี้

การเรียนรู้เป็นส่วนสำคัญในชีวิต เพราะเมื่อใดที่ผมหมดพลังใจ ก็หันหน้าผสานใจเข้าใฝ่ในการเรียนรู้ ไม่ว่าจะทางโลกหรือทางธรรมก็ตามที

ให้ทุก ๆ ที่เป็นแหล่งเรียนรู้ ให้ทุก ๆ เรื่องราวทั้งสุขเศร้าเป็นเบ้าหลอมการเรียนรู้....

การอ่าน การเขียน การคิด การถาม และการหาคำตอบ จะช่วยเติมเต็มการเรียนรู้

14 กุมภาพันธ์ 2563

ปล. ส่วนแนวคิดอื่น ๆ เช่น STEM and SMART FARM ก็น่าสนใจนะครับ

หมายเลขบันทึก: 675570เขียนเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2020 11:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2020 11:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท