บทที่1 ศูนย์เครือข่ายฝึกอบรมปัญญาปฏิบัตินครปฐม


Chapter 1 : ศูนย์เครือข่ายฝึกอบรมปัญญาปฏิบัตินครปฐม


หลังจากได้เรียนรู้ทฤษฎีไป คราวนี้ก็ถึงคราวที่นักศึกษาต้องมาเรียนรู้นอกเหนือจากตำรา วันนี้ goal ของฉันคือการออกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับการทำงานของรพสต.ในส่วนของการลงชุมชนเยี่ยมบ้านคนไข้

เราเริ่มต้นกันที่ รพสต.คลองใหม่ โดยจะมีบุคลากรในรพสต.มาอธิบายเกี่ยวกับการทำงานของที่นี่ รพสต.คลองใหม่มีวิสัยทัศน์ในการให้บริการเป็นแบบองค์รวม กลุ่มคนที่เข้ารับการรักษาจะมีทั้งเด็ก วัยรุ่น วัยทำงาน วัยสูงอายุ ผู้พิการ และผู้ป่วยเรื้อรัง รับผิดชอบดูแลพื้นที่ 6หมู่บ้าน มีเครือข่ายสุขภาพในหลายช่องทาง เช่น มีประสานงานลงมาจากทางอบต.คลองใหม่และสาธารณสุข อ.สามพราน ทางรพสต.เองก็ต้องประสานงานลงมาภายใน รพสต. ประสานงานกับ อสม. และ อาสาผู้ดูแลสูงอายุต่อไป รวมทั้งทางรพสต.จะมีภาคีเครือข่ายด้านสุขภาพจากหน่วยงานอื่นๆอีกด้วย ได้แก่ มหาวิทยาลัยมหิดล และ วัดบางช่างเหนือ ฉันเองก็ได้เรียนรู้ว่า รพสต. เองไม่ได้มีแค่ฝ่ายที่ให้บริการผู้ป่วยเพียงอย่างเดียว แต่ต้องมีการประสานงานการจัดการกับอีกหลายๆภาคส่วน การมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในครั้งนี้ทำให้ฉันได้มองบริบทของสถานพยาบาลในชุมชนได้กว้างขึ้นกว่าเดิมเยอะมาก และนอกจากการให้การรักษาทางการแพทย์นั้น รพสต.ยังมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมด้านสุขภาพ มีประชุม มีการออกกำลังกายในผู้สูงอายุ โดยทุกงานจะจัดขึ้นที่วัดเพื่อให้ชาวบ้านรวมตัวกันได้สะดวก อีกทั้งทางรพสต.และวัดยังได้มีการร่วมมือกัน ส่งต่อของที่ชาวบ้านมาบริจาคให้วัดไปเยี่ยมบ้านของชาวบ้านที่มีฐานะไม่ดีอยู่เสมอ นับเป็นอีกช่องทางในการช่วยเหลือผู้รับบริการ และสร้างประโยชน์ที่มากขึ้นให้กับสิ่งของเหล่านั้นด้วยค่ะ นี่เป็นอีกสิ่งที่ฉันรู้สึกประทับใจมาก เพราะมันทำให้เห็นว่าทางรพสต.ให้บริการแบบเป็นองค์รวมจริงๆ ไม่ได้มองแค่เพียงความเจ็บป่วย แต่ยังมองลึกไปถึงบริบทของผู้รับบริการ สภาพความเป็นอยู่ มองเห็นถึงความยากลำบากในการเดินทางมารับการรักษาของคนไข้ จึงมีการจัดสรรให้มีอาสามสมัคร(อสม.) ลงพื้นที่ไปเยี่ยมบ้านเพื่อนำของบริจาคไปให้ รวมทั้งติดตามการรักษาเสมอ ถือเป็นแนวทางปฏิบัติที่ควรนำไปเป็นแบบอย่างเลยค่ะ และบ่ายวันนี้ เราจะไปลงเยี่ยมบ้านผู้ป่วยติดเตียงที่ไม่ค่อยจะมีโอกาสมา รพสต.ด้วยตัวเองกัน!

ก่อนจะไปเยี่ยมบ้านผู้ป่วยได้ เราก็ต้องเรียนรู้เกี่ยวกับเคสที่เราได้รับก่อน เพื่อวางแผนการประเมิน และให้การบำบัดที่เหมาะสมกับผู้ป่วยมากที่สุด ก็จะมีเจ้าหน้าที่มาอธิบายเคสให้ฟัง หลังจากนั้นจะเป็นการวางแผนร่วมกันภายในกลุ่มและถามคำถามเกี่ยวกับเคสเพิ่มเติม เคสที่กลุ่มของฉันได้ เป็นเคสคุณตาติดเตียง stroke อ่อนแรงครึ่งซีก อาศัยอยู่กับคุณยาย และลูกชาย กลุ่มของพวกเราจึงวางแผนจะประเมินความสามารถในการประกอบกิจวัตรประจำวันพื้นฐาน และประเมินองค์ประกอบด้านร่างกาย เช่น ความตึงตัวของกล้ามเนื้อ ข้อติด รวมทั้งแผลกดทับ หลังจากนั้นจะเป็นการให้การบำบัดเพื่อส่งเสริมและแก้ไขปัญหาของผู้ป่วยค่ะ

การเดินทางครั้งนี้อุ่นใจมากๆ เพราะมีอาจารย์เดินทางไปเยี่ยมบ้านผู้ป่วยด้วยกัน เมื่อถึงบ้านผู้ป่วย ก็มีคุณยายออกมาต้อนรับขับสู้ค่ะ มอบของฝากของเยี่ยมเสร็จ เข้าไปในบ้านก็จะเจอคุณตานอนอยู่บนเตียง นักศึกษาก็เข้าไปทักทายสวัสดี คุณตาเองก็ดูยิ้มแย้ม นักศึกษาก็ใจชื้นขึ้นค่ะ หลังจากแนะนำตัว บอกจุดประสงค์ในการมาเยี่ยมบ้าน พวกเราก็จะแบ่งคนกันเป็น2ทีมคือ ทีมเก็บข้อมูลจากการสัมภาษณ์คุณยายเกี่ยวกับการทำกิจวัตรประจำวันของคุณตา ระดับการให้ความช่วยเหลือ นอกจากนั้นเรายังสนใจคุณยายในบทบาทของ care giver ประเมินความยากลำบากในการดูแลผู้ป่วย ทั้งปัจจัยที่ช่วยส่งเสริมและปัจจัยที่ขัดขวาง ส่วนอีกทีมจะเป็นทีมตรวจประเมินตัวคุณตา จะได้ดูพยาธิสภาพ และองค์ประกอบต่างๆทางร่างกายของคุณตา ทั้งกำลังกล้ามเนื้อ ความสามารถในการเคลื่อนไหวข้อต่อและอื่นๆ จากการประเมินพบว่าคุณตายังสามารถพลิกตะแคงตัวด้วยตัวเองได้ และมีคุณยายคอยช่วยเหลือในการทำกิจกรรมการดำเนินชีวิต ส่วนตัวฉันคิดว่ามีอีกหลายอย่างที่ต้องการจะให้การบำบัดรักษา แต่เนื่องด้วยเวลาจำกัดในวันนั้นเราจึงได้แค่การแนะนำวิธีการต่างๆให้คุณตาคุณยาย เช่น เรื่องการจัดยา เรื่องสุขอนามัยของการขับถ่าย การออกชุมชนครั้งนี้จึงเป็นอีกประสบการณ์ที่สอนฉันว่าเราควรจัดการเวลาให้ดีกว่านี้เพื่อให้ผู้รับบริการได้ประโยชน์สูงสุด ก่อนกลับเราแวะมาทานข้าวและเยี่ยมชมที่ศูนย์ต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียง บ้านหัวอ่าว เนื่องจากชาวบ้านในชุมชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพการเกษตร จึงเกิดการรวมกลุ่มกันเพื่อส่งเสริมการทำเกษตรแบบปลอดสารพิษจนเกิดเป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ มีการเผยแพร่ความรู้เรื่องเกษตรปลอดสารพิษแก่คนในชุมชน และถือเป็นอีก 1 ช่องทางการสร้างอาชีพและการดูแลสุขภาพที่ยั่งยืน ทำให้ฉันได้ลองเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของบริบทชุมชนแบบนี้ ทำให้รู้สึกว่าจริงๆแล้ววิถีชีวิตของชุมชนเป็นสิ่งที่มีรายละเอียดเยอะมากๆ การได้ออกมาเยี่ยมชมที่นี่ก็ถือเป็นอีกหนึ่งประสบการณ์ที่ช่วยให้เข้าใจบริบทชุมชนมากขึ้น ฉันตั้งใจไว้ว่าจะนำประสบการณ์วันนี้ไปประยุกต์ใช้ในการมองผู้รับบริการให้กว้างขึ้น และลงรายละเอียดมากขึ้นเพื่อให้การบำบัดรักษมีประสิทธิภาพมากที่สุด

มุมพูดคุยกับเจ้าของสมุด

สวัสดีค่ะ นี่เป็นสมุดบันทึก reflection การไปดูงานแต่ละครั้งในวิชา OT in Community ของฉัน นางสาวกชกร วงษ์รวยดี นักศึกษากิจกรรมบำบัดชั้นปีที่ 3 มหาวิทยาลัยมหิดล ขอบคุณทุกคนที่เข้ามาอ่านนะคะ หวังว่าทุกคนจะได้อะไรเล็กๆน้อยๆกลับไปจากสมุดเล่มนี้ค่ะ : )

ยินดีต้อนรับเข้าสู่สมุดบันทึกเล่มนี้นะคะ

กชกร วงษ์รวยดี 

6023001 PTOT





หมายเลขบันทึก: 675397เขียนเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2020 15:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2020 15:10 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท