เรียนรู้การทำงานของทีม IL (Independent Living) การดํารงชีวิตอิสระของผู้พิการ


การออกชุมชนเพื่อสังเกต เรียนรู้การทำงานของทีม IL (Independent Living) วันที่ 13 มกราคม 2563

การไปออกชุมชนเพื่อสังเกต เรียนรู้การทำงานของทีม IL (Independent Living) ถือเป็นการเปิดประสบการณ์ใหม่ในการที่จะได้เรียนรู้การใช้ชีวิตอิสระของผู้พิการ ซึ่งมีความใกล้ตัวและสอดคล้องกับกิจกรรมบำบัดอย่างมาก คือการที่ทำให้ผู้พิการสามารถทำกิจกรรมการดำเนินชีวิตโดยได้รับความช่วยเหลือจากคนรอบข้างน้อยที่สุด ซึ่งสิ่งที่ได้เรียนรู้ในครั้งนี้คือได้รู้ว่าทีมIL คืออะไร เกิดขึ้นได้อย่างไร และมีบทบาทหน้าที่อะไรบ้าง โดยIL เป็นหน่วยงานเอกชนเต็มตัว ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไร แต่จะได้เงินสนับสนุนจากการเขียนโครงการแล้วนำไปยื่นเรื่องให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งคำว่าIL หรือ Independent Living นี้ก็คือการที่ผู้พิการสามารถเลือกวิถีชีวิตของตนเองในสิ่งที่เค้าไม่สามารถทำเองได้ คือสามารถคิดเองได้และตัดสินใจเองได้ โดยทีม IL จะให้บริการแก่ผู้พิการทุกประเภท ซึ่งในช่วงแรก จะเน้นให้บริการผู้ที่มีความพิการรุนแรง ซึ่งพิการรุนแรงในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงสภาพร่างกาย แต่หมายถึงความสามารถในการจัดการกับชีวิตของตนเอง กล่าวคือ ถ้าผู้พิการคนไหนยังพอที่จะมีความสามารถ แต่ขาดโอกาส รวมถึงขาดความรู้ ทำให้ไม่ได้ใช้ชีวิตอิสระด้วยตนเองเท่าที่ควร ทางทีมIL ก็จะเข้าไปช่วยเหลือด้านต่างๆ ทั้งการให้ความรู้ สอนทักษะที่จำเป็น สนับสนุนกายอุปกรณ์ รวมถึงส่งเสริมด้านสิทธิผู้พิการที่ควรจะได้รับ เพราะILเชื่อว่า มนุษย์ทุกคนสามารถพัฒนาได้ ทำให้เกิดการสนับสนุนช่วยเหลือเหล่านี้ขึ้นมา ส่วนในช่วงบ่าย ยังได้มีการลงไปยังพื้นที่ที่มีผู้ที่ได้รับการฝึกจากทีมIL ซึ่งได้เข้าไปพูดคุยและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ต่างๆ ทำให้นักศึกษาได้เรียนรู้ที่จะตั้งคำถามและพูดคุยกับผู้พิการอย่างเข้้าใจความรู้สึกและไม่ตัดสินอีกด้วย

  สำหรับความรู้สึกที่ได้ไปเรียนรู้ร่วมกับทีมILในครั้งนี้คือ รู้สึกดีที่ว่าไม่ได้มีเพียงแค่บุคลากรทางการแพทย์เท่านั้นที่ให้ความสำคัญกับชีวิตของผู้พิการหลังออกจากโรงพยาบาล แต่ยังมีคนอีกกลุ่มนึงก็คือทีมIL ที่ยังเห็นความสำคัญในส่วนนี้ ซึ่งถือว่าเป็นผู้ที่เข้าใจผู้พิการอย่างแท้จริง เนื่องจากได้ผ่านประสบการณ์เหล่านี้มาก่อน และด้วยเหตุผลนี้ ยิ่งทำให้การฝึกเป็นไปด้วยความราบรื่นมากขึ้น เพราะก่อนที่จะมีการก่อตั้งทีมIL อุปสรรคนึงที่สำคัญก้คือการที่ผู้พิการบางส่วน ไม่ให้ความร่วมมือในการฝึกเท่าที่ควร เนื่องจากเห็นว่าผู้ฝึกซึ่งไม่ได้เป็นผู้พิการนั้น ไม่ได้มีความเข้าใจความรู้สึกที่แท้จริงของเค้า แต่พอได้รับการฝึกจากทีมIL ผู้พิการกลับมีกำลังใจในการฝึกมากขึ้น เพราะได้มีการเห็นความสำเร็จของทีมIL เป็นตัวอย่าง 

  ส่วนสิ่งที่จะนำมาพัฒนาในวิชาชีพกิจกรรมบำบัดก็จะเป็นเทคนิควิธีการในการเข้าหาผู้รับบริการในครั้งแรก เนื่องจากการที่เราได้พบหรือได้ไปยังบ้านของผู้รับบริการในครั้งแรก มักจะยังไม่ได้รับความไว้วางใจจากผู้รับบริการเท่าที่ควร ดังนั้น การเข้าหาที่ถูกต้องก็ถือเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งทางทีมIL ก็ได้สาธิตการเข้าหาผู้รับบริการในครั้งแรกให้นักศึกษาได้ดู ซึ่งนับได้ว่าเป็นวิธีการที่ดีและเหมาะกับการนำมาปรับใช้ในการให้บริการทางกิจกรรมบำบัดอย่างมาก โดยสิ่งแรกที่ทำเมื่อพบกับผู้รับบริการก็คือการสร้างสัมพันธภาพ ใส่ใจผู้รับบริการ มีการมองหน้า สบตา บอกวัตถุประสงค์ในการมาให้ชัดเจน เพื่อเป็นการสร้างความน่าเชื่อถือและเพิ่มความไว้วางใจ จากนั้นก็ร่วมกันค้นหาสิ่งที่ผู้รับบริการมีความสนใจ แต่ถ้าหากผู้รับบริการคิดว่าตนเองไม่สามารถทำอะไรได้แล้ว และไม่มีสิ่งที่สนใจ ก็ให้เริ่มพูดคุยจากสิ่งที่อยู่รอบตัวของผู้รับบริการก่อนพร้อมกับสร้างกำลังใจว่าผู้รับบริการทำได้ ที่สำคัญคือต้องเข้าไปคุยพูดคุยกับผู้รับบริการบ่อยๆ เพื่อความคุ้นเคย และนอกจากจะให้ความสำคัญกับผู้รับบริการแล้ว ครอบครัวของผู้รับบริการรวมถึงผู้ดูแลก็เป็นสิ่งที่เราต้องให้ความสนใจ โดยจะเห็นจากการสาธิตการเข้าหาผู้รับบริการของทีมIL ว่าจะมีการแบ่งคนไปพูดคุยกับคนในครอบครัว เพื่อที่จะได้รับฟังทั้งผู้รับบริการและครอบครัวได้อย่างเต็มที่ ทั้งหมดนี้ นักศึกษาคิดว่าจะเป็นสิ่งที่นำมาปรับใช้ในการให้บริการทางกิจกรรมบำบัด เพื่อให้ส่งผลที่ดีขึ้นต่อการทำกิจกรรมบำบัดกับผู้รับบริการต่อไป

หมายเลขบันทึก: 675052เขียนเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2020 01:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2020 01:59 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท