โรงพยาบาลหลวงพ่อเปิ่น


            ตอนที่ได้ไปเห็นรพ.หลวงพ่อเปิ่นครั้งแรก ขอยอมรับจริงๆเลยว่า ตอนนั้นคิดว่าทำไมรพ.เล็กจัง เล็กขนาดนี้จะมีนักกิจกรรมอยู่หรอเนี่ย เล็กกว่ารพ.ที่เคยเห็นในหลายๆครั้งที่อ.พาไปศึกษาดูงาน แต่พอคิดว่านี่เรามาในคาบของวิชากิจกรรมบำบัดในชุมชน ก็พอเข้าใจได้ว่าทำไมถึงต้องมาที่นี่ หลังจากที่เข้ามาแล้วพี่พยาบาล,นักกายภาพบำบัด ,นักกิจกรรมบำบัดและหมอก็ได้มาอธิบายระบบโครงสร้างต่างๆของรพ.หลวงพ่อเปิ่น ว่าเป็นรพ.ชุมชนขนาด 30 เตียง โดยก่อตั้งจากเงินบริจาคจากหลวงพ่อเปิ่น และมีพื้นที่ที่รับผิดชอบ 5 ตำบลและ 7 รพสต. บริบทรอบๆรพ.เป็นชุมชนเกษตรกรรม แต่ที่ทำให้เรารู้สึกสนใจมากที่สุดคือ รพ.แห่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของนครชัยศรีโมเดล(Nakornchaisi model) คือการให้รพ.แต่ละแห่งของอำเภอนครชัยศรีเป็นหน่วยงานย่อยๆของโรงพยาบาล โดยรพ.นครชัยศรีเป็นศูนย์อุบัติเหตุ ,รพ.นครปฐมเป็นศูนย์ดูแลรักษาโรคทั่วไป และรพ.หลวงพ่อเปิ่นเป็นศูนย์เวชกรรมฟื้นฟู โดยมีวิสัยทัศน์ว่า “เชี่ยวชาญผู้ป่วยหลอดเลือดสมอง และผู้ป่วยระยะสุดท้าย” รพ.หลวงพ่อเปิ่นนี้จะดูแลผู้ป่วยกึ่งวิกฤต(subacute) และให้การบำบัดแบบ intensive rehabilitation คือการฟื้นฟูสุขภาพอย่างเข้มข้น ให้ผู้รับบริการลดความพิการให้มากที่สุด หรือผู้รับบริการจะต้องดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างอิสระเพื่อลดภาระต่อญาติในการดูแล โดยใช้ Barthel index ในการประเมินเพื่อรับเข้าและส่งออกผู้รับบริการ ในแผนการรักษาผู้ป่วยกึ่งวิกฤตนี้ก็ใช้การแพทย์แบผสมผสานเข้ามาดูแล เพราะที่รพ.แห่งนี้มีทั้งนักกายอุปกรณ์(PO) ,นักแก้ไขการพูด(speech therapy) ,นักกายภาพบำบัด(PT) ,นักกิจกรรมบำบัด(OT) ,แพทย์แผนไทย และแพทย์แผนจีน ซึ่งการรักษาของแพทย์ทางเลือกจะอยู่ในแผนการรักษาด้วย ทำให้ผู้รับบริการได้รับการรักษาแบบผสมผสาน และเราก็ได้เห็นถึงการทำงานของสหวิชาชีพมากขึ้น ในการรวมกันดูแลรักษาผู้รับบริการ เราในฐานะนักศึกษากิจกรรมบำบัดยิ่งต้องรู้บทบาทหน้าที่ทั้งของตนเองและสหวิชาชีพอื่นๆ เพื่อให้ทำงานร่วมกันได้ อีกทั้งเราควรจะศึกษาความรู้นอกห้องเรียนที่หลากหลาก เพื่อนำมาปรับใช้ในการวางแผนการบำบัดให้กับผู้รับบริการได้ดีที่สุด และรพ.หลวงพ่อเปิ่นยังทำงานร่วมกับศูนย์ดำรงชีวิตอิสระของคนพิการ พุทธมณฑล(IL) ในการให้คำปรึกษาและช่วยเหลือผู้พิการ รวมถึงมีการออกแบบบ้านฝึกการดำรงชีวิตแบบอิสระ(Independent living house) ให้ผู้ป่วยที่มีความพิการได้ทดลองใช้ชีวิตอย่างอิสระ รวมถึงการนำแนวคิดของบ้านหลังนี้ไปปรับสภาพแวดล้อมที่บ้านของตนเอง หลังจากออกจากรพ. ซึ่งบ้านหลังนี้ก็ทำให้เราเห็นว่าสิ่งที่เราเรียนทั้ง Universal design และHAAT model สามารถนำมาปรับใช้ได้ให้เห็นผลเป็นรูปธรรมมากขึ้น และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการปรับสภาพบ้านผู้รับบริการในอนาคตได้

           ในส่วนของงานกิจกรรมบำบัดที่รพ.หลวงพ่อเปิ่น นักกิจกรรมบำบัดต้องดูแลงานต่างๆดังนี้

  • การตรวจประเมินผู้รับบริการ
  • การประเมิน ADL
  • ฝึก hand function
  • กระตุ้น cognitive
  • กระตุ้นกลืน

ซึ่งการทำงานต่างๆเหล่านี้จะแตกต่างจากรพ.ใหญ่หรือรพ.ในเมือง เนื่องจากอยู่ในบริบทชุมชน การเข้าหาและการพูดคุยกับผู้รับบริการจะต่างกัน เช่น เราควรจะบอกประโยชน์ของการบำบัดต่างๆให้ผู้รับบริการรู้ เพื่อให้ผู้รับบริการกล้าทำการบำบัดและทำตามที่เราบอก หรือการใช้ mirror therapy มักไม่ได้ผลกับบริบทชุมชน ทำให้เรารู้และเข้าใจบริบทของนักกิจกรรมบำบัดในชุมชนมากขึ้น และสามารถปรับวิธีการพูดและเข้าหากับคนในชุมชุนได้ดีขึ้น

             นอกจากการบำบัดฟื้นฟูผู้ป่วยกึ่งวิกฤตแล้ว รพ.หลวงพ่อเปิ่นยังมีบริการทางสุขภาพอีกหลายอย่าง เช่น การจัดการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ(Health tour on river boat) ,ตลาดรักสุขภาพ และโรงเรียนผู้สูงอายุบางระกำ ซึ่งโรงเรียนผู้สูงอายุนี้จัดขึ้นทุกปี ปีละ 3 เดือน จะมาพบกัน 1 ครั้งต่อสัปดาห์ และมีหัวข้อหลัก คือ “กันล้มกันลืม” โดยมีนักกิจกรรบำบัดและนักกายภาพบำบัดร่วมกันสอนและนำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกับคนในชุมชน ซึ่งกิจกรรมเปลี่ยนไปในทุกๆสัปดาห์ เช่น การทดสอบและตรวจสุขภาพ 12 โรค ,การออกกำลังกาย ,การปรับพฤติกรรมและสิ่งแวดล้อมต่างๆที่ทำให้เกิดการล้ม ,สิทธิผู้สูงอายุ ,เกมฝึกสมองป้องกันสมองเสื่อม ,ทำงานประดิษฐ์งานฝีมือ ,ทำขนมและอาหารเพื่อสุขภาพ เป็นต้น การจัดโรงเรียนผู้สูงอายุนี้ยิ่งทำให้เราเห็นถึงบทบาทของนักกิจกรรมบำบัดในชุมชนได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ว่าเรามีบทบาทในการช่วยเหลือ ให้ความรู้ในด้าน cognitive ต่างๆกับคนในชุมชนผ่านกิจกรรมได้อย่างไร ทำให้เราสามารถนำไปปรับใช้กับการจัดกิจกรรมในครั้งหน้าได้

            หลังจากเราได้รับข้อมูลต่างๆของรพ.หลวงพ่อเปิ่นและโรงเรียนผู้สูงอายุบางนะกำแล้ว เราก็ต้องไปจัดกิจกรรมให้ผู้สูงอายุในชุมชน รวมถึงการประเมิน ความคิดยืดหยุ่นและการวางแผน ด้วย โดยกิจกรรมที่เราเตรียมจะมี 2 ส่วนคือ การออกกำลังกาย และการเล่นเกมฝึก cognitive ซึ่งที่เราวางแผนไปก็คือ เกมตักเกลือ โดยให้ผู้สูงอายุร่วมกันวานแผนประดิษฐ์ที่ตักเกลือจากอุปกรณ์ที่กำหนดให้ ให้ตักเกลือจากจานลงขวดแก้วให้เต็มเร็วที่สุด ซึ่งหลังจากที่ผู้สูงอายุได้ทำแล้ว ทุกคนก็สามารถวางแผนการประดิษฐ์อุปกรณ์ร่วมกันได้อย่างดี และเมื่อมีการแพ้ชนะ ทุกคนก็เข้าใจในกติการ แถมยังบอกด้วยว่า “แพ้ชนะไม่สำคัญ แค่พวกเราได้สนุกกับเกมทุกคนก็พอ” ทำให้เห็นว่าผู้สูงอายุในชุมชนนี้ มีการให้ความช่วยเหลือกันและมีสุขภาพจิตที่ดี ถึงแม้กิจกรรมจะมีการติดขัดเล็กน้อย แต่ก็ทำให้เห็นถึงข้อบกพร่อง ที่เราควรจะต้องปรับแก้กันต่อไปในอนาคต และหลังจากนั้นก็มีการประเมินความคิดยืดหยุ่นและการวางแผน ผ่านกิจกรรมไพ่และการวาดแผนที่ ทำให้เราเห็นว่า ผู้สูงอายุในชุมชนที่ทำงานหรือกิจวัตประจำวันอย่างเดิมซ้ำๆ ส่งผลต่อการวางแผนการคิดและความคิดหนืดหยุ่นเป็นอย่างมาก เพราะในชุมชนนี้เป็นชุมชนเกษตรกรรม ทำให้การทำงานของผู้สูงอายุมักจะเป็นแบบเดิมซ้ำๆ และไม่ค่อยได้ใช้ความคิดในการทำงาน ทำให้มีปัญหาในเรื่องนี้ที่ต้องให้นักกิจกรรมบำบัดในชุมชนช่วยส่งเสริมต่อไป ในผู้สูงอายุท่านหนึ่งที่ได้ทำการประเมินจะเห็นว่าคุณลุงจะมีการทดแทนการหลงลืม ผ่านการจดทุกๆอย่างลงสมุดบันทึก ซึ่งในตอนแรกเราไม่ได้สังเกตเลย แต่อาจารย์เป็นผู้สังเกตและสอบถาม ทำให้เราได้เห็นว่าการสังเกตสิ่งต่างๆที่ผู้รับบริการทำมีประโยชน์เป็นอย่างมาก และเมื่อเราต้องให้คำแนะนำ กับผู้สูงอายุ เรากลับทำได้ไม่ค่อยดีนัก เนื่องจากคำแนะนำที่เราให้อาจจะยากเกินไป ทำให้ผู้รับบริการไม่นำคำแนะนำไปใช้จริง ซึ่งก็เป็นเรื่องที่เราควรจะปรับปรุง โดยควรปรับคำแนะนำให้เหมาะสมกับผู้รับบริการให้มากขึ้น หลังจากการประเมินแล้วเราก็ได้มีการคุยกับผู้สูงอายุ โดยให้ทุกๆคนเล่าเรื่องราวที่ประทับใจ ทำให้เห็นว่าเค้าสุขหรือความประทับใจเป็นสิ่งที่ง่ายๆใกล้ตัวเรามากๆ เช่น การอยู่กับลูกหลาน ,การได้ออกไปทำงานในทุกๆวัน เป็นต้น ตอนแรกที่เราจะไปให้พลังบวกแก่ผู้สูงอายุ กลับกลายเป็นเราซะเองที่ได้รับพลังบวก และความคิดที่มีความสุขง่ายๆ จากผู้สูงอายุ ต้องขอขอบคุณคุณลุง คุณป้าทุกๆคนที่ให้พลังบวกกับเรามากมายขนาดนี้ ขอบคุณค่ะ

จณิสตา ศิริพงษ์เวคิน 6023004

นักศึกษากิจกรรมบำบัด

หมายเลขบันทึก: 675050เขียนเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2020 00:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2020 16:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท