เก็บตกวิทยากร (61) เปิดเวทีทักทายพอเป็นพิธีที่โรงนาบ้านไร่


ผมสรุปแบบกว้างๆ ว่ากระบวนการเหล่านี้ คืออะไรบ้าง เป็นต้นว่า การประเมินความคาดหวังต่อการเรียนรู้ การประเมินต้นทุนของเด็กๆ ในเรื่องทักษะความคิด การสื่อสาร (ฟัง อ่าน พูด) ประเมินประสบการณ์ชีวิตของแต่ละคนทั้งด้านการมองชีวิต การใช้ชีวิต ปัญหา หรือจุดแข็งของตนเอง พร้อมๆ กับการทำหน้าที่เชื่อมเส้นทางให้เด็กๆ ได้เริ่มรู้จักกัน หรือเริ่มที่จะเปิดใจเรียนรู้กันและกัน

การจัดกระบวนการเรียนรู้ในเย็นย่ำของวันนี้  เรียกได้ว่า “ปรับหน้างาน” ก็ไม่ผิด เพราะทั้งผมและ “ลุงนกกวี”  ไม่ได้คุยเชิงลึกกันมาก  เรียกว่าไม่ได้จัดแจงว่าต้องทำอะไรยังไง  คุยกันแค่ว่า  หลังเด็กๆ ทานข้าวเย็นเสร็จ  ก็เรียกรวม  เพื่อให้เจ้าของงาน  ซึ่งก็คือลุงนกกวี ได้ชี้แจง “ความเป็นมาของกิจกรรมนี้” 

และผมก็เสนอแนะว่า  จากนั้นก็ทำกระบวนการง่ายๆ  ให้เด็กๆ ทั้ง 5 โรงเรียนได้ทำความรู้จักกันเบื้องต้น  ฝากโจทย์การเรียนรู้เล็กๆ  จากนั้นปล่อยให้พวกเขาได้ใช้ชีวิตตามอัธยาศัย –

ค่าย/เวทีการเรียนรู้ในครั้งนี้มีชื่อเต็มๆ อย่างเป็นทางการว่า “โครงการสร้างสรรค์เด็กและเยาวชนแกนนำจังหวัดสุโขทัยรู้เท่าทันสื่อออนไลน์”  จัดขึ้นระหว่างวันที่ 17-19 มกราคม 2563 ณ โรงนาบ้านไร่ อ.สวรรคโลก จ.สุโขทัย  โดยมีนักเรียนเข้าร่วม 30 คนจาก 5 แห่ง คือ

  • โรงเรียนเทศบาลสวรรคโลกประชาสรรค์
  • โรงเรียนเมืองเชลียง
  • โรงเรียนอดุมดรุณี
  • โรงเรียนทุ่งเสลี่ยมชนูปถัมภ์
  • โรงเรียนสวรรค์อนันต์วิทยา


เปิดเวที : คำถามง่าย 2 คำถาม


ภายหลังลุงนกกวี (สัญญา พานิชยเวช)  บอกเล่าวัตถุประสงค์การจัดการเรียนรู้ พร้อมทั้งผนวกเรื่องราวเชิงชีวประวัติของแกเอง  รวมถึงแก่นสารแห่งการเรียนรู้อื่นๆ เสร็จสิ้นลง  เจ้าตัวก็ “โยนไมค์” มาที่ผม –

ครับ-โยนไมค์  เป็นการโยนไมค์แบบไม่ได้นัดหมายล่วงหน้า  ซึ่งผมก็เข้าทักทายโดยปกติ  ระยะแรกก็พูดผ่านไมค์ฯ  สักพักก็วางไมค์แล้วใช้เสียงสด เพราะประเมินแล้วว่า “เอาอยู่”

ผมบอกเล่าเรื่องราวส่วนตัวในเชิงประวัติตนเองน้อยมาก  หากแต่ถามทักเด็กๆ 2 คำถามนั่นคือ 

  1. ทำไมถึงต้องมางานนี้ 
  2. คาดหวังอะไรจากงานนี้บ้าง 

    ทั้งสองคำถาม  ผมไม่ได้กะเกณฑ์ให้ทุกคนตอบ  หากแต่เน้น "เชิญชวน"  หรือ “เอาที่สะดวกใจ” หรือ “สบายใจที่จะตอบ”  โดยไม่ละเลยที่จะกระตุ้นให้เกิด "ความกล้า"  รวมถึงสังเกตว่า "ใครมีปฏิกิริยา"  พอที่จะ “โยนไมค์ให้ตอบ-สื่อสาร” ได้บ้าง

ครับ-สองคำถามข้างต้น  จริงๆ ก็คือการประเมินการเรียนรู้ก่อนการเรียนรู้จริงนั่นแหละ


รู้จักฉันรู้จักเธอ : ผ่านบัตรคำ


ถัดจาก 2 คำถามเบื้องต้น  ผมให้เด็กๆ  เลือกบัตรคำคนละใบ  พอเลือกครบทุกคนแล้ว ก็ให้แต่ละคนแนะนำตัวเองและบอกเล่าให้เพื่อนๆ ได้รับรู้ว่า

  • ทำไมจึงเลือกบัตรคำนี้  
  • และบัตรคำที่ว่านั้นภาพคืออะไร  รวมถึงความหมายของภาพคืออะไร

ส่วนประเด็นการแนะนำตัวเอง  ผมให้ประเด็นไปกว้างๆ  เช่น  

  • ชื่อเสียงเรียงนาม  / ช่วงชั้นการเรียน  
  • สถานะเชิงผู้นำ / จุดเด่น อัตลักษณ์ตัวเอง  แต่ทั้งปวงนั้น คือเน้นว่า “เอาที่สะดวกใจ”  หรือ “พุดเท่าที่สบายใจที่จะเปิดเปลือยตัวเองให้คนอื่นได้รับรู้”

เช่นเคยครับ – กระบวนการที่ว่านี้  ผมไม่ได้เจาะจงว่าเริ่มจากใคร  แต่เปิดเวทีในแบบ “สุดแล้วแต่ว่าใครอยากบอกเล่าเป็นลำกับที่เท่าไหร่”  แต่มีกติกาง่ายๆ  เช่น ปรบมือทุกครั้งเมื่อมีคนยกมือพูด และปรบมืออีกครั้งเมื่อใครคนนั้นพูดจบ  รวมถึงตั้งใจฟังเรื่องราวที่เพื่อนเล่า –

ทั้งนี้ในบางห้วงที่เด็กๆ บอกเล่าเรื่องราวตัวตนของเขา หรือบอกเล่าเรื่องราวของบัตรคำเสร็จ อะไรที่พอขยายความได้  ผมก็ขยายพอเป็นพิธี  อะไรที่พอจะหยิกหยอกสร้างเสียงหัวเราะได้  ผมก็จะไม่ละเลย – เพราะนั่นคือ “บันเทิงเริงปัญญา” ในแบบฉบับของผม

พร้อมๆ กับการเฝ้าสังเกตและเก็บรายละเอียดว่า  มีกี่คนที่เปิดเปลือยตัวเองเชิงลึก  และมีใครบ้างที่เชื่อมโยงเรื่องราวของบัตรคำเข้าสู่ความเป็นตัวตนของตนเอง –



มีความหมายใดในกระบวนการเหล่านี้


ในบันทึกนี้  ผมขออนุญาตไม่หยั่งลึกลงถึง “ปากคำ” หรือ “คำตอบ” ของเด็กๆ  ทั้งที่เป็น 2 คำถามอันเป็นการประเมินก่อนการเรียนรู้และกระบวนการเปิดเปลือยตัวเองผ่านบัตรคำ 

ผมยืนยันว่านี่คือกระบวนการเรียนรู้ในมิติ “บันเทิงเริงปัญญา”  ตามที่ผมถนัด  เป็นการละลายพฤติกรรมเชิงความคิดภายใต้กรอบอันจำกัดของ “เวลา-สถานที่”

จะมีบ้างที่ช่วงท้ายๆ  ผมสรุปแบบกว้างๆ  ว่ากระบวนการเหล่านี้  คืออะไรบ้าง  เป็นต้นว่า  การประเมินความคาดหวังต่อการเรียนรู้  การประเมินต้นทุนของเด็กๆ ในเรื่องทักษะความคิด  การสื่อสาร  (ฟัง อ่าน พูด)  ประเมินประสบการณ์ชีวิตของแต่ละคนทั้งด้านการมองชีวิต  การใช้ชีวิต  ปัญหา หรือจุดแข็งของตนเอง  พร้อมๆ กับการทำหน้าที่เชื่อมเส้นทางให้เด็กๆ ได้เริ่มรู้จักกัน  หรือเริ่มที่จะเปิดใจเรียนรู้กันและกัน

ประหนึ่งการเตรียมความพร้อมที่จะเรียนรู้จริงในวันพรุ่งนี้ก็ว่าได้


ส่งท้ายก่อนการเข้านอน


ก่อนแยกย้าย  ผมโยนไมค์ไปยังคณะครูของเด็กๆ ผ่านคำถาม "เห็นอะไรจากกระบวนการเรียนรู้เมื่อสักครู่"
นี่ก็ "โยนไมค์"  แบบไม่บอกล่วงหน้า 
เรียกได้ว่า "สร้างการมีส่วนร่วม" อย่างถ้วนหน้า  เพราะก่อนนี้ ผมก็เชิญคณะครูทุกคนมาร่วมเลือกบัตรคำไปแล้ว เพียงแต่ท่านไม่ได้ขยับเข้ามาเท่านั้นเอง

ซึ่งการโยนไมค์ที่ว่านั้น  จริงๆ ก็คือการเปิดโอกาสให้คุณครูได้ประเมินการเรียนรู้ลูกศิษย์ของตนเองนั่นแหละ -

จากนั้นผมจึงมอบภารกิจการเรียนรู้เพิ่ม 2 เรื่อง กล่าวคือให้แต่ละคนจัดทำสมุดบันทึกการเรียนรู้ (สมุดกระจก)  ขึ้นคนละเล่ม  และการมอบโปสเตอร์ให้โรงเรียนละ 2 แผ่น  โดยให้แต่ละโรงเรียนออกแบบเองว่าจะไปติดตั้งไว้ในที่ใด  ณ โรงนาบ้านไร่  

ผมบอกกับเด็กๆ เพียงสั้นๆ แต่เพียงว่า “ลองออกแบบการเรียนรู้ด้วยตนเองดูว่าจะติดตั้งความรู้ หรือสื่อการเรียนรู้ไว้ที่ใดได้บ้าง และต้องใช้อุปกรณ์อะไรช่วยติดตั้ง”


เชื่อไหม – หลังปิดเวที  เด็กๆ ส่วนใหญ่ยังดูสดชื่น และกระตือรือร้นที่จะจัดทำสมุดบันทึกฯ หรือแม้แต่เริ่มจับกลุ่มเรียนรู้กันและกันมากขึ้นกว่าตอนที่มาแรกๆ ....

นั่นคือความจริงที่ผมพบเจอและสัมผัสได้

เขียน : ศุกร์ที่ 17 มกราคม 2563 / สวรรคโลก-สุโขทัย
ภาพ : พนัส ปรีวาสนา / สัญญา  พานิชยเวช

หมายเลขบันทึก: 674509เขียนเมื่อ 17 มกราคม 2020 23:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มกราคม 2020 06:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท