รากเหง้าเงา 'ตะวัน'


(รูปภาพปรับปรุงจาก สุจิตต์ วงษ์เทศ)

ในธรรมชาตินั้น ดวง ‘ตะวัน’ คือผู้ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวด เป็นผู้ให้แสงสว่างและความอบอุ่นท่ามกลางห้วงจักรวาลอันมืดมิดและเหน็บหนาว ทั้งช่วงกลางวัน และกลางคืน (ผ่านแสงสะท้อนจากดวงเดือน) โอบอุ้มทุกชีวิตที่อาศัยอยู่บนผืนโลกเบื้องล่าง ดังถ้อยคำของพวกไทดำที่ว่า     

“เฮาอยู่ดี ซำนกเอี้ยง

เฮาอยู่เลี้ยง ซำตะเว็น

เฮาอยู่เย็น ซำน้ำบ่อ”

ซึ่งศาสตราจารย์ ชลธิรา สัตยาวัฒนา ได้อธิบายถึงความหมายของคำขับขานข้างต้นไว้ในหนังสือเรื่อง ‘ด้ำ แถน กำเนิดรัฐไท’ ดังขออนุญาตคัดยกมาตอนหนึ่ง ความว่า

“กล่าวในเชิงนิเวศวิทยา เป็นคำประสมที่ให้ความหมายเกี่ยวกับธรรมชาติ บ่งบอกวิถีชีวิตที่แนบแน่นกับธรรมชาติ เป็นชีวิต (นก) ที่พึ่งพาฟ้า (ตะวัน) รู้คุณค่าของฟ้า และพึ่งพิงน้ำ อาศัยน้ำหล่อเลี้ยงชีวิต วิถีชีวิตที่แนบแน่นกับธรรมชาติเช่นนี้ได้ทำให้ชาวไทยทรงดำอยู่ดีอยู่เย็นเป็นสุขเสมอมา จึงควรที่จะสืบทอดวิถีชีวิตนี้ไว้ชั่วลูกหลานเหลน”

เป็นผู้ที่ได้รับการยกย่องชนิดเทิดทูนจากบรรดาฝูงคนหลวก เช่นชาวไทเมืองลุ่ม หนึ่งในลูกหลานปู่แถนแมนผีฟ้าแห่งเมืองบน ทั้งในฐานะของ ‘ตะวัน’ หรือ ‘ตาวัน’ ดวงตาแห่งวัน และ ‘วัน’ กลางวัน

ที่น่าสนใจคือ คำเรียก ‘ตะวัน/วัน’ (sun/day) เป็นคำเก่าแก่ดั้งเดิมของผู้คนที่พูดภาษาไท-กะได ออกเสียงคล้ายๆ กัน ครอบคลุมกว้างขวางในทุกสาแหรกสาขา บางพวกใช้ทั้งสองคำ แบบแยกความหมายว่า ‘ตะวัน’ และ ‘วัน’ บางพวกใช้คำเดียวเรียกเหมารวม โดยนักภาษาศาสตร์ได้สืบสร้างคำโบราณในกิ่งก้านต่างๆ ไว้ดังนี้

พวกหลี/ไหล *hŋwən /ฮเงวิน/ (Norquest), *awan A /อะวัน/ (Ostapirat)

พวกข้า/ขร้า *(h)wən A /(ฮ)เวิน/

พวกลักเกีย *wan A2 /วัน/

พวกกัม-สุย *hŋwan1 /หงวัน/

และพวกไท-ไต *ŋwan A /งวัน/    

(อ้างจาก Austronesian Basic Vocabulary database ค.ศ. 2008)

ยิ่งไปกว่านั้น ยังพัวพันอย่างใกล้ชิดกับหนึ่งในคำ ‘ตะวัน/วัน’ ของทางหมู่เกาะออสโตรนีเซียน อย่างชาวพื้นเมืองฟอร์โมซานบนเกาะไต้หวัน ต่างเรียกคล้ายๆ กัน ในทำนองเช่น  waRi /วารี/ (เสียง R คล้าย เสียง ร) แปลว่าตะวันออก (Kavalan) หรือวัน (Puyuma), wagi /วากี/ ตะวัน (Atayal) หรือวัน (Siraya), wali /วาลี/ ตะวันออก (Amis), vali /วาลี/ ตะวัน (Bunun), m-vore /ม-โวเร/ ผึ่งแดดให้แห้ง (Tsou), pa-ári /ปา-อารี/ ผึ่งแดด (Kanakanabu) หรือคำโบราณของพวกรูกัย (Rukai) ว่า *vaʔi /วาอี/ แปลว่าวัน เป็นต้น

ไม่แตกต่างจากพวกมาลาโย-โพลีนีเซียนทั้งหลาย ผู้เป็นออสโตรนีเซียนเพียงก้านเดียวที่อาศัยกระจัดกระจายอยู่ตามหมู่เกาะต่างๆ นอกไต้หวัน เช่น ari /อารี/ แปลว่าวัน (Iban), hrəy /ฮเรย/ แปลว่าวัน และ yaŋ hrəy /ยัง ฮเรย/ แปลว่าตะวัน (Jarai), ari /อารี/ วัน และ mata ni ari /มาตา นิ อารี/ ตะวัน (Toba Batak), wai /วัย/ ตะวัน หรือ วัน (Old Javanese), ahi /อาฮี/ วัน และ mata n-ahi /มาตา น-อาฮี/ ตะวัน (Balinese), wari /วารี/ ผึ่งแดด (Rembong), vari /วารี/ ผึ่งแดด (Ngadha), fai /ฟัย/ วัน (Rotinese), bai /บัย/ วัน (Tetun)   

รวมถึงพวกมาเลย์-อินโดนีเซียก็ใช้ว่า hari /ฮารี/ วัน และ mata hai /มาตา ฮารี/ ตะวัน โดยคำว่า mata (Proto-Austronesian *maCa /มาตซา/) เป็นคำยาวสองพยางค์ที่ตรงกับคำไทโดดหดสั้นว่าดวง ‘ตา’ (Proto-Tai *p.ta: A /ป.ตา/)

นักออสโตรนีเซียนศึกษาได้สืบสร้างคำเก่าดั้งเดิม (Proto-Austronesian) ชนิดคำสองพยางค์ไว้ว่า *waRi /วารี/ แตกต่างจากคำเรียก ‘วัน’ ในอีกหนึ่งแบบว่า *qalejaw /คาเลเยา/ หรือ *qajaw /คาเยา/ ซึ่งเป็นไปได้มากถึงมากที่สุดว่าคำดั้งเดิมของพวกไท-กะได (Proto-Tai-Kadai) มีรูปคำร่วมกับ *waRi ของออสโตรนีเซียน ก่อนที่จะเปลี่ยนแปลงเป็นคำพยางค์เดียวในชั้นหลัง โดยอาจละทิ้งเสียงท้าย –i ถ่ายเสียง R- กลายเป็นตัวสะกดแม่กนแทน

คำถามตามติดคือ *waRi ที่เชื่อว่าเป็นคำเก่าแก่ดั้งเดิม และเป็นต้นทางของดวงตาแห่ง ‘วัน’ มีรากเหง้าเป็นมาอย่างไรกัน?

ด้วยการตีความจากมุมมองแนวคิดเรื่อง ‘รากคำพยางค์เดียว’ (monosyllabic roots) ผมคิดว่า *waRi อาจมีต้นกำเนิดจากการประกอบสร้างของรากคำพยางค์เดียวจำนวนสองราก คือ *wa และ *Ri (*ri/*li) ซึ่งจะขอแสดงถ้อยคำลำดับความดังต่อไปนี้

รากคำ *wa /วา/:

เป็นรากคำร่วมของไท-กะไดและออสโตรนีเซียน มีความหมายในชั้นนามธรรมแรกเริ่มว่า ‘แผ่กว้างออกไป’ เขียนเป็นภาษาอังกฤษว่า ‘to spread over’ ตรงกับรากคำ (ชนิดคาดคะเน) *awa /อาวา/ พื้นที่เปิดกว้าง (wide open space, Cohen ค.ศ. 1999) และใกล้ชิดกับรากคำพยางค์เดียว *waŋ /วัง/ ที่มีความหมายเดิมว่าพื้นที่โล่งเปิดกว้าง (wide-open space, Blust ค.ศ. 2010 และ open, clear, Zorc ค.ศ. 1990) จนถึง *ba /บา/ พกพาถือไป (to carry, Cohen ค.ศ. 1999) 

ซึ่งพบคำมากมายที่มีรากคำ *wa ฝังตัวอยู่ นอกไปจาก *waRi ดังตัวอย่างข้างล่าง

ออสโตรนีเซียน:

คำดั้งเดิมของออสโตรนีเซียน เช่น *Cawa /ตซาวา/ แปลว่าหัวเราะ, *lawa₁ /ลาวา/ กว้างขวาง, *qasawa /คาซาวา/ ผัว-เมีย, *waCaN /วาตซัน/ แอ่งน้ำลึก, *wanaN /วานัน/ ทางขวามือ, waqay /วาคัย/ ตีนแป, ขายืน, *waray /วารัย/ เปิดแยกออกจากกัน, *walay /วาลัย/ ด้าย, ป่านสำหรับถักทอผืนผ้า, *waSaw /วาเซา/ ใบไม้

คำโบราณของพวกมาลาโย-โพลีนีเซียน เช่น *rawaq /ราวาค/ บึง, หนองน้ำ (PWMP), *sawaliq /ซาวาลิค/ แผ่นผนังซี่ไม้ไผ่ (PWMP), *qawa₂ /คาวา/ ปากที่ใช้อ้า (POC), *sawaq /ซาวาค/ ช่องทาง (PMP), *sawa /ซาวา/ งูหลามใหญ่ (PMP), *saweqaq /ซาเวคะ/ กินมากไป, ล้นเกิน (PWMP)

และในคำของพวกมาเลย์-อินโดนีเซีย, มาราเนา, มาโนโบ, โวลีโอ และซังกิร ใช้ว่า bawa /บาวา/, bava /บาวา/ แปลเหมือนๆ กันว่าหนีบพก, ถือ, พาไปด้วย, พกขึ้นหลังไหล่, แบก, ภาระ พวกมาเลย์-อินโดนีเซียเติม h เป็น bawah แปลว่าข้างล่าง, ข้างใต้ และพวกซังกิร เรียกซ้อนว่า bawa-bawa หมายถึงการอุ้มท้อง ซึ่งเป็นคำที่คลับคล้ายกับหลายพวกที่ใช้แบบคำซ้ำ เช่น baba, wawa, haha, fafa จนนำไปสืบสร้างเป็นคำดั้งเดิมออสโตรนีเซียนว่า *baba /บาบา/ (to carry on the back) แทนที่จะเป็น *bawa

ไท-ไต:

เป็นที่เชื่อกันว่าในย่านอุษาคเนย์จนถึงจีนตอนใต้นั้น สังคมชั้นบุพกาลปกครองด้วยระบบสายแม่เป็นใหญ่ ‘มาตาธิปไตย’ ในห้วงเวลาอันยาวนานมาเก่าก่อน แล้วจึงเปลี่ยนเป็นระบบสายพ่อเป็นใหญ่ ‘ปิตาธิปไตย’ ในชั้นหลัง ดังคัดถ้อยคำของศาสตราจารย์ ชลธิรา สัตยาวัฒนา จากหนังสือเรื่อง ‘ด้ำ แถนกำเนิดรัฐไท’ ความว่า

“ก่อนห้วงเวลาดังกล่าว มีห้วงเวลายาวๆ อีกห้วงหนึ่ง ที่ผู้หญิงเคยเป็นใหญ่มาก่อน  แต่ความที่ "ผู้รู้ หนังสือ" สมัยก่อนส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดเป็นผู้ชาย เรื่องราวเกี่ยวกับผู้หญิง ปรีชาญาณของผู้หญิง ศักยภาพการนำพาสังคมและสมาชิกชุมชนของผู้หญิงที่เป็นผู้นำหรือชนชั้นนำ จึงถูกละเลย มองข้าม หรือทำเป็น ไม่รู้ไม่เห็นเสีย สถานภาพของความเป็น "แม่" กับบทบาทของความเป็น "นาย" ของผู้หญิง ในระบอบสังคม ชุมชนบรรพกาลช่วงต้นๆ ได้ดำเนินคู่ขนานกันไปในห้วงเวลาที่ยาวนานมากห้วงหนึ่ง ก่อนที่จะเปลี่ยนผ่านจาก "สังคมมาตาธิปไตย" ที่มีแม่เป็นใหญ่ ไปสู่ "สังคมปิตาธิปไตย" ที่พ่อเป็นใหญ่”

คำว่า ‘ปู่’ ของไท-ไต ได้สื่อสะท้อนถึงการเปลี่ยนผ่านระบบอย่างชัดเจน โดยเป็นคำที่มีรากพัวพันกับภาษามาลาโย-โพลีนีเซียนตะวันตก ซึ่งอาศัยอยู่ตามหมู่เกาะมาเลย์-อินโดนีเซีย-ฟิลิปปินส์ เรียกคล้ายๆ กันว่า apo, apó, ápo, āpó, afú, ʔapú, ʔápu, apú, afo, ampu, ampu, sabu, abu และ avu ออกเสียง /อาโป/ หรือ /อาปุ/ หรือ /อัมปุ/ มีความหมายหลากหลาย หากอยู่ในกลุ่มปู่ย่าตายาย, บรรพชน, หัวหน้า, ผู้ทรงปัญญา, ผู้เฒ่า, เจ้านาย, เจ้าของ และหลานเหลน หรือภาษาเทา (Thao) หนึ่งในพวกฟอร์โมซาบนเกาะไต้หวัน เรียก apu /อาปุ/ แปลว่าปู่ย่าตายาย พวกอิตาวิสที่อาศัยอยู่ตอนบนของเกาะลูซอนประเทศฟิลิปปินส์ เรียก afú /อาฟุ/ กินความหมายไปถึงพระเจ้า (God) พวกปังงาซินันที่อาศัยอยู่บนเกาะลูซอนเช่นกัน เรียก ápo /อาโป/ ใช้ในหมวดของความเคารพนับถือ

หรือคำโบราณมาลาโย-โพลีนีเซียนว่า *empu /เอิมปุ/ แปลอย่างครอบคลุมว่ายกขึ้น, ชูขึ้น, บรรพชน, ปู่ย่าตายาย, ด้านหัว, หัวหน้า, ผู้มากความสามารถ และหลานเหลน จนถึงคำสืบสร้างออสโตรนีเซียนดั้งเดิมว่า *apu /อาปุ/ แปลว่าปู่ย่าตายาย รวมหลานเหลน ซึ่งล้วนถือกำเนิดจากรากคำดั้งเดิมร่วมกันว่า *pu /ปุ/ ผุดโผล่ขึ้น (to arise)

สังเกตว่าความหมายของคำร่วมเหง้าข้างต้นเป็นความหมายชั้นบน ที่แตกตัวออกมาจากความหมายในชั้นนามธรรมแห่งการผุดโผล่ขึ้น และความหมายว่า ‘ปู่ย่าตายาย’ และ ‘บรรพชน’ ก็เป็นคำกลางความหมายกว้าง ไม่แบ่งแยกเพศ ไม่จำกัดเฉพาะเพศชายหรือสายพ่อเป็นใหญ่เท่านั้น ซึ่งแทบไม่แตกต่างกับความหมายในคำของพวกหลี/ไหล ไท-กะไดสาแหรกหนึ่งบนเกาะไหหลำว่า *phu:Ɂ /ผูะ/ (และขึ้นไปเป็นคำชนิดเก่าแก่กว่าว่า *pu:Ɂ /ปูะ/) แม้แต่คำเรียกปู่-ตาของพวกข้า/ขร้าโบราณว่า *m-pau B /ม-เป่า/ ก็ยังไม่อาจนับได้ว่าสายพ่อเป็นใหญ่ มีเพียงคำเรียก ‘ปู่’ (คำโบราณสืบสร้าง *pɯw B /ปึ่ว/) ของพวกไท-ไต ที่แสดงความหมายอย่างแคบ พัฒนาขึ้นมาทีหลัง จนกลายเป็นคำเรียกแห่งสังคม ‘ปิตาธิปไตย’ ชนิดเต็มรูปแบบในที่สุด  

กว่านั้น ระบบสังคมแบบสายแม่เป็นใหญ่ยังแฝงฝังอยู่ในสำนวนไทโบราณว่า ‘หญิงเป็นนาย ชายเป็นบ่าว’ ที่ชี้ชัดว่าฝ่ายหญิงมีฐานะสูงส่งเป็นเจ้าเป็นนาย ในขณะที่ฝ่ายชายมีฐานะต่ำต้อยเป็นข้ารับใช้ สอดคล้องสืบสานวิถีบรรพกาลแห่งการอยู่กินออกเหย้าออกเรือน ที่ฝ่ายลูกสาวจะเป็นผู้ได้รับทรัพย์สินมรดกไร่นาทั้งหมด ส่วนฝ่ายลูกบ่าวต้องออกจากเรือนตัวเปล่า ไปอยู่ไปทำงานรับใช้ในครอบครัวฝ่ายหญิงจนกว่าจะเป็นที่ยอมรับ ถึงในปัจจุบัน ยังคงพบวัฒนธรรมเก่าแก่แบบนี้ได้ในหลายท้องที่ของย่านอุษาคเนย์ นอกจากนั้นคำว่า ‘นาย’ ยังมีการสืบสาวว่าอาจเป็นคำเดียวกับคำว่า ‘ยาย’ ผู้เป็นแม่ของแม่ สำทับนัยยะของสายแม่เป็นใหญ่ในอีกทางหนึ่ง

และปรากฏคำสองคำ คือ ‘บ่าว’ และ ‘สาว’ (ลำดับของคำสะท้อนระบบสังคม)

คำว่า ‘บ่าว’ ของพวกไทยสยามมีความหมายถึงสามสถานะว่า ชายหนุ่ม, เจ้าบ่าว และข้าทาส เป็นคำเก่าของพวกไท-ไต บนความหมายว่าหนุ่มโสด พบกระจายตัวในหลายกลุ่ม เช่น ซาปา, บ่าวเอียน, เกาบัง, ลุงโจว, ชางซี, ไย้ และแสก เรียกเหมือนกันว่า ba:w B1 /บ่าว/ สืบสร้างเป็นคำไท-ไตโบราณว่า *ɓa:w B /บ่าว/ (พิทยาวัฒน์ พิทยาภรณ์ ค.ศ. 2009 หมายเลข 286, unmarried man)

คำว่า ‘สาว’ มีความหมายว่า หญิงสาว และเจ้าสาว มีความเป็นมาแตกต่างจากคำว่า ‘สาว’ ที่แปลว่าสาวมือสาวไม้ เป็นคำเก่าของพวกไท-ไตเช่นกัน ใช้ในความหมายว่าหญิงสาวโสด พบกระจายตัวกว้างขวาง เช่น ซาปาและแสก เรียก sa:w A1 /สาว/, บ่าวเอียน เรียก tha:w A1 /ถาว/, เกาบัง, ลุงโจว และชางซี เรียก ɬa:w A1 /หลาว/ และ ไย้ เรียก θa:w A1 /ดซาว/ สืบสร้างเป็นคำไท-ไตโบราณว่า *sa:w A/สาว/ (พิทยาวัฒน์ พิทยาภรณ์ ค.ศ. 2009 หมายเลข 287, unmarried woman)    

คำว่า ‘บ่าว’ และ ‘สาว’ ในความเห็นของผม ควรเป็นสองคำโดดชนิดเด่นชัด ผู้กัดกร่อนตัวหดสั้นจากคำยาวเดิมแบบมากพยางค์ ร่วมกับคำของทางออสโตรนีเซียนว่า *bawa(h) และ *qasawa ตามลำดับ

โดยคำว่า ‘บ่าว’ สะท้อนรูป *bawa(h) และความหมายของการพกพาติดตัว อยู่ต่ำกว่า ภาระ ข้าทาสของนายหญิงอย่างแนบสนิท อันเกิดจากสองรากคำคือ *ba + *wa ที่รวมเอาการพกพากับการแผ่ตัวออกไปเข้าไว้ด้วยกัน บนความหมายว่า ‘burden’ ผู้เป็นภาระ มากกว่าคำซ้ำเช่น *baba ‘to carry on the back’ แบกบนหลังไหล่ รวมถึงคำว่า *babaq ‘lower surface, bottom; short, low; below, beneath, under’ พื้นต่ำใต้, ข้างล่าง เป็นสองสามคำที่ซ้อนทาบแต่ไม่ทับหมด จนเสมือนเป็นคำๆ เดียวกัน

ส่วนคำว่า ‘สาว’ สะท้อนรูป *qasawa และความหมายของเจ้าสาวหรือเมีย ผู้เป็นเจ้าของไร่นาและนายใหญ่เหนือบ่าวชายอย่างชิดเชื้อ สอดรับกับโครงสร้างของสังคมดึกดำบรรพ์แห่งสายแม่เป็นใหญ่ อันเกิดจากรากคำอย่างน้อยสองรากคือ *sa + *wa ที่เป็นการรวมกันของตัวข้าได้หนึ่งกับการแผ่กว้างออกไป บนความหมายว่า ‘benefit’ ผู้รับผลประโยชน์ ทั้งขับขานในทิศทางเดียวกับคำว่า *sawaliq แผ่นผนังซี่ไม้ไผ่, *sawaq ช่องทาง, *sawa งูหลามใหญ่, *saweqaq กินมากไป, ล้นเกิน มากกว่าความหมายของ *qasawa ในลักษณะของ ‘spouse’ คู่ผัวตัวเมีย ที่น่าจะขยายความหมายขึ้นมาภายหลัง

รากคำ *Ri (*ri/*li) /รี/:            

เป็นอีกหนึ่งรากคำร่วมของไท-กะไดและออสโตรนีเซียน มีความหมายในชั้นนามธรรมว่า ‘บางสิ่งผลิแตกเปิดเผยตัวออกมาจากการปกปิดปกคลุมไว้’ เขียนเป็นภาษาอังกฤษว่า ‘to sprout, to expose’ อาจตรงกับรากคำ *li /ลี/ บิดเกลียว, เบี่ยงเลี้ยว, ลม, หมุนเวียน (to twist, turn, wind, whirling) ของ E.M. Kempler Cohen (ค.ศ. 1999) เป็นรากคำพยางค์เดียวที่ถูกประกอบสร้างแฝงฝังตัวในคำจำนวนมาก ทั้งในพวกออสโตรนีเซียนและไท-กะได

ออสโตรนีเซียน:

คำดั้งเดิมของพวกออสโตรนีเซียน เช่น *aRi /อารี/ มา, ตรงเข้ามา, *bali₃ /บาลี/ ลม, *baRija /บารียา/ ไม้ขัดด้ายพุ่ง, *diRi /ดีรี/ ยืนขึ้น, *duRi /ดูรี/ หนาม, เดือย, ก้าง, *Culi /ตซูลี/ หรี่เงียบ, *kali₁ /กาลี/ ร่องคู, *kali- /กาลี/ เป็นอุปสรรคเติมหน้าคำแสดงนัยยะเชิงจิตวิญญาณ, *kaRi₁ /การี/ คำพูด, กล่าว, ภาษา, *kuRi /กูรี/ คราด, *lidam /ลีดัม/ ลิ้น, *likaw /ลีเกา/ โค้งโก่งตัว, *likud /ลีกุด/ หลัง, *lima /ลีมา/ ห้า, *linuR /ลีนูร/ แผ่นดินไหว, *lipas /ลีปัส/ ผ่านไป, *lipen /ลีเปน/ ฟัน, *qalima /คาลีมา/ มือ, *lipet /ลีเปด/ ทบพับ, *lipuC /ลีปุด/ เลือนหายเข้าไปในบางสิ่งล้อมรอบ, *liqeR /ลีเคอร/ คอ, *RibaS /รีบัส/ ทำให้หายไป, *Ribawa /รีบาวา/ บวมโป่ง, *RiNaS /รีนัส/ ขนยาวๆ, *Rinu /รีนู/ กระด้งสานฝัดข้าวเปลือก, *suli₂ /ซูลี/ กลับด้าน, หมุนกลับ, *Riqek /รีเคก/ นวดข้าวด้วยการย่ำ, *wili /วีลี/ กลับ, *wiRi /วีรี/ ด้านซ้าย, ทิศทาง

คำโบราณของพวกมาลาโย-โพลีนีเซียน เช่น *lali /ลาลี/ กระดูกข้อเท้า, *lian /ลีอัน/ เปลี่ยนรูปร่าง, *liaŋ /ลีอัง/ ถ้ำ, *libuR /ลีบุร/ มืดมัว, ครึ้ม, ขุ่นมัว, *licaw /ลีเจา/ วับวาบ, *likes /ลีเกส/ พันรอบ, *liket /ลีเกด/ เหนียวหนึบ, *liku₁ /ลีกู/ ก้นบึ้งของแม่น้ำ, *likut /ลีกุด/ บิดเกลียว, *lileq /ลีเลค/ น้ำวน, *liliŋ₁ /ลีลิง/ เบี่ยงเอียง, *limas /ลีมัส/ สละเรือ, *limun /ลีมุน/ ปกปิด, *linaŋ /ลีนัง/ หรือ *linaw /ลีเนา/ นิ่ง, สงบ (ของผืนน้ำ), *lipuq /ลีปุค/ หมู่บ้าน, *litek /ลีเตก/ โคลนเหนียว, *liteq /ลีเตค/ ท่อน้ำเลี้ยงของต้นไม้, *liu₁ /ลีอุ/ ล้นเกิน, ล้อมรอบ, *quli /คูลี/ รวมเข้าด้วยกัน, *riba /รีบา/ ส่วนเกิน, *ribut /รีบุด/ พายุ, *riŋis₁ /รีงิส/ แถวของฟันเมื่อยิ้มหรือหัวเราะ, *liut₂ /ลีอุด/ บิดแบบกิ่งก้าน, *rikas /รีกัส/ รวดเร็ว, *riqas /รีคัส/ แยก, *Risi /รีซี/ ฉีก, แยก, *sili /ซีลี/ วูบวาบ, *suli₁ /ซูลี/ หน่ออ่อน, *teli /เตอลี/ ช่องแคบของผู้หญิง,

คำโบราณของพวกมาลาโย-โพลีนีเซียนสาแหรกตะวันตก (แถบหมู่เกาะมาเลย์-อินโดนีเซีย) เช่น *bali₁ /บาลี/ เกิดแบบทันทีทันใด, *balian /บาลีอัน/ หมอผี, *liad /ลีอัด/ โก่งไปข้างหลัง, โหนก, *libas₂ /ลีบัส/ ผ่านเลยไป, *libej /ลีเบย/ พันโดยรอบ, *libet /ลีเบด/ หมุนรอบ, *libut /ลีบุด/ ล้อมรอบ, *licin /ลีจิน/ เรียบลื่น, *lidem /ลีเดิม/ ความดำมืดเนื่องจากไร้แสง, *lidik /ลีดิก/ ตัดพงหญ้าให้เตียน, *ligid /ลีกิด/ กลิ้งไปรอบๆ, *liku₂ /ลีกุ/ หมุนโค้งวน, *likup₁ /ลีกุบ/ ปกคลุมล้อมรอบ, *liŋa₁ /ลีงา/ ไม่ใส่ใจ, เงียบฟัง, *liŋas /ลีงัส/ ไม่มีสมาธิ, *liŋay₁ /ลีนัย/ ช่วงเวลาคืบคลานของเงามืด, บ่ายๆ, *liŋed /ลีเงด/ ซ่อน, ปกปิด, *liŋeR /ลีเงอร/ เอียงหัวไปข้างๆ, *lipak /ลีปัก/ ตบตี, *lipis /ลีปิส/ ของบางๆ, *lipit /ลีปิด/ ปิดรวม, *lipud /ลีปุด/ ปกคลุม, *liqu /ลีคุ/ ลืม, *liug /ลีอุก/ บิดโค้ง, *liwaŋ /ลีวัง/ พื้นที่เปิด, *liwet /ลีเวด/ ผ่านไปรอบๆ, *liut₁ /ลีอุด/ วนไปรอบๆ, *rinis /รีนิส/ วาบๆ, ปรอยๆ, *ripak /รีปัก/ แตกแยก, *ripur /รีปุร/ สิ้นสูญ, *seli₁ /เซอลี/ ทางเลือก, หน่ออ่อน

คำโบราณของพวกฟิลิปปินส์ เช่น *libák /ลีบัก/ โจมตีจากระยะไกล หรือแอบซุ่มโจมตี, *likup₂ /ลีกุบ/ พลั่วที่ตัก, *lílip /ลีลิบ/ ขอบรอบริม, *limes /ลีเมส/ ท่วมจม, *lináb /ลีนับ/ ประกาย, *lipuk /ลีปุก/ แตก, *liput₂ /ลีปุด/ หักหลัง, *liqed /ลีเคด/ รอยตีน, *litas /ลีตัส/ ทึ้งฉีก, *lítid /ลีติด/ เส้นเอ็น, *lituk₁ /ลีตุก/ โค้งงอ, ดีดนิ้ว, *líwan /ลีวัน/ ข้างนอก, *puli /ปุลี/ ทดแทน, สายเลือด, *Riduq /รีดุค/ สั่นอย่างแผ่นดินไหว

และคำโบราณของพวกโอเชียนิก เช่น *bari /บารี/ กัดกระชาก, *ili /อีลี/ ไม้กระดานขวางตัวเรือ, *kili /กีลี/ พลิกกลับ, *pari₁ /ปารี/ ขูด, ตัดกิ่งก้านออก, *piri /ปีรี/ จาวมะพร้าว, *puri /ปุรี/ กลิ้งไป, *sali /ซาลี/ ฉีกดึงใบออกจากกิ่งก้าน, *saRi /ซารี/ ฉีกกัดปอกเปลือกมะพร้าวด้วยฟัน

ข้อสังเกตระหว่างบรรทัดคือว่า หนึ่ง พยางค์หน้ามักทำหน้าที่รองเป็นส่วนขยาย ในขณะที่พยางค์หลังมักทำหน้าที่หลักเป็นแก่นแกนของคำนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นรากคำหรือไม่ก็ตาม สอง ความหมายของคำสามารถแปรเปลี่ยนกลับไปกลับมา เช่น การปริโผล่ขึ้นของบางสิ่งจากสภาพที่แวดล้อมอยู่ หรือในทางกลับกันก็ค่อยๆ ผลุบลับหายเข้าไปในสภาพแวดล้อม เป็นต้น

ไท-กะได:

คำว่า กระ ‘ดูก’ (bone) เป็นหนึ่งในคำเปรียบเทียบชั้นพื้นฐานของนักสืบประวัติทางภาษา ใช้คล้ายๆ กันอย่างกว้างขวางในพวกไท-กะได เช่น คำสืบสร้างโบราณของพวกหลี/ไหลว่า *Cuɾɯ:k /-ลืก/ (Norquest); *urɨ:k /อุรืก/ (Ostapirat), พวกกัม-สุยว่า *tla:k 7 /ตลาก/, พวกข้า/ขร้าว่า *dək D /เดิก/ และพวกไท-ไตว่า *C̥.duk D /-ดุก/

เทียบได้กับคำดั้งเดิมของออสโตรนีเซียนว่า *duRi ในความหมายว่าหนาม (thorn) ใช้กันอย่างกว้างขวางเช่นกัน พบทั้งในพวกฟอร์โมซานบนเกาะไต้หวัน และพวกมาลาโย-โพลีนีเซียนทั้งหลายที่อาศัยอยู่นอกเกาะไต้หวัน ในรูปใกล้เคียง ซึ่งบางกลุ่มแปรเสียงพยางค์ท้ายแตกต่างไป เช่นออกเป็น dugi, duhi, duɣi หรือบางกลุ่มควบรวมสองพยางค์ให้เหลือเพียงพยางค์เดียว รวมทั้งละทิ้งเสียงขึ้นต้น d- เช่นออกว่า ri, rui, lui, ruəy เป็นต้น บนความหมายร่วมราก เช่น หนาม (thorn) ขยายไปยัง กระดูกสัตว์ ก้างปลา (bone) จนถึงเดือย (spike)

ซึ่งสังเกตความแปรผันที่เป็นไปได้ของคำหลี/ไหล, กัมสุย และออสโตรนีเซียน ซึ่งยังคงเสียง *ɾ-/*r-/*l-/*R- ไว้ได้ พวกหนึ่ง และคำข้า/ขร้า, ไท-ไต และออสโตรนีเซียน ซึ่งละทิ้งเสียง *ɾ-/*r-/*l-/*R- หากคงเสียง *d- ไว้ได้ อีกพวกหนึ่ง    

คำไท-กะไดว่า ‘รี’ (long) เป็นอีกคำที่ใช้กันแทบทุกสาแหรก เช่น พวกลักเกียว่า *rai A /รัย/, พวกกัม-สุยว่า *ʔra:i 3 /อร้าย/, พวกข้า/ขร้าว่า *ri C /ริ้/ และพวกไท-ไตว่า *rɯj A /รึย/ ซึ่งมีพื้นฐานอยู่บนร่องเดียวกับรากคำ *Ri ผู้แทงเชื้อยาวรีแหลมโผล่ขึ้นมา

คำไท-ไตว่า ‘ปลี’ (banana blossom) เรียกกันค่อนข้างแพร่หลาย เช่น ซาปาว่า pi A1 /ปิ/, บ่าวเอียนกับลุงโจวว่า pi: A1 /ปี/ และแสกเรียกเหมือนไทยสยามว่า pli: A1 /ปลี/ และคำสืบสร้างโบราณว่า *pli: A /ปลี/ (พิทยาวัฒน์ พิทยาภรณ์ ค.ศ. 2009 หมายเลข 158) เทียบโดยตรงกับการผลิแตกหน่ออ่อนของรากคำ *Ri หรือเลียบเคียงได้กับบางคำของพวกมาลาโย-โพลีนีเซียน เช่น *suli₁ หรือ *seli₁ หน่ออ่อน และ piri จาวมะพร้าว

คำไท-ไตว่า ‘สาร’ (husked rice) ในความหมายหนึ่งตามพจนานุกรมไทยฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ว่า ‘น. ข้าวที่สีหรือตำเอาเปลือกออกแล้ว เรียกว่า ข้าวสาร’ ใช้กันอยู่มากกลุ่ม เช่น ซาปาว่า sa:n A1/สาน/, บ่าวเอียนว่า tha:n A1 /ถาน/, เกาบังและลุงโจวว่า ɬa:n A1 /หลาน/, ไย้ว่า θa:n A1 /ดซาน/ และแสกเรียก sa:l A1 /สาล/ สืบสร้างเป็นคำโบราณว่า *sa:l A /สาล/ (พิทยาวัฒน์ พิทยาภรณ์ ค.ศ. 2009 หมายเลข 174) เทียบเคียงได้โดยตรงกับคำมาลาโย-โพลีนีเซียน ที่หมายถึงการฉีกดึงเปลือกให้หลุดร่อนเหลือแต่เมล็ดเนื้อใน เช่น คำว่า *sali ฉีกดึงใบออกจากกิ่งก้าน, *saRi ฉีกกัดปอกเปลือกมะพร้าวด้วยฟัน หรือแม้แต่คำว่า *suli₁ และ *seli₁ หน่ออ่อนที่แทงโผล่พ้นออกมาจากตุ่มตากิ่งไม้ เป็นต้น     

และคำลาว-ไทยสยามว่า ‘สี’ ในความหมายว่าการขัดสี เช่น สีข้าวขัดเปลือกให้หลุดร่อนจากเมล็ดอ่อนขาวที่อยู่ภายใน ก็เป็นคำในทำนองเดียวกับคำว่า ‘สาร’ ข้างต้น

นอกจากนั้นยังมีคำของพวกไทยสยามอีกประมาณหนึ่ง ที่เข้าเค้ากับรากคำ *Ri เช่น

‘กรี’ มีคำจำกัดความส่วนหนึ่งตามพจนานุกรมไทยฯ ว่า ‘น. โครงแข็งแหลมที่หัวกุ้ง’

‘คลี่’ มีคำจำกัดความว่า ‘ก. คลายสิ่งที่ม้วนหรือพับอยู่ เช่น คลี่ผ้า คลี่มวยผม, ทำให้แผ่ออก เช่น คลี่พัด คลี่ไพ่, ขยายออก เช่น ดอกไม้คลี่กลีบ.’

‘ปริ’ มีคำจำกัดความว่า ‘ก. แย้ม, ผลิ, แตกแต่น้อย.’

‘ปรี่’ มีคำจำกัดความว่า ‘(๑) ก. เดินหรือวิ่งตรงเข้าไปอย่างรวดเร็ว เช่น ปรี่เข้าไปต่อย. (๒) ว. เกือบล้น ในลักษณะเช่นนํ้าเต็มจนเกือบล้นมิล้นแหล่ เช่น น้ำเต็มปรี่ น้ำล้นปรี่.’

‘ผลิ’ มีคำจำกัดความว่า ‘ก. เริ่มงอกปริออกมา, เริ่มแตกดอกออกใบ, เช่น ดอกไม้ผลิ ใบไม้ผลิ.’

‘ริ’ มีคำจำกัดความว่า ‘ก. เริ่มคิดหรือทำแปลกจากปรกติ (มักใช้ในทางไม่ดี) เช่น ริสูบบุหรี่ ริเที่ยวกลางคืน, ริอ่าน ก็ว่า.’

‘รี่’ มีคำจำกัดความว่า ‘(๑) ก. เดินหรือวิ่งตรงเข้ามาโดยไม่รีรอ เช่น เด็กเห็นขนมก็รี่เข้ามาซื้อ, ตรงเข้ามา เช่น รถรี่เข้ามาชน. (๒) ว. อาการที่เดินหรือวิ่งตรงเข้ามาโดยไม่รีรอ เช่น เดินรี่เข้ามาหา.’

‘หรี่’ มีคำจำกัดความว่า ‘(๑) ก. ลดให้น้อยลงหรือเบาลง เช่น หรี่ไฟ หรี่วิทยุ. (๒) ว. แคบ ในคำว่า ตาหรี่.’

ดังนั้น จึงอาจเพียงพอที่จะสรุปในชั้นนี้ได้ว่า รากคำพยางค์เดียว *wa ‘ผู้แผ่กว้างออกไป’ และ *Ri (*ri/*li) ผู้ผลิแทงแตกเปิดเผยตัวจากสิ่งปกคลุม’ เป็นรากคำร่วมชนิดต้นด้ำโคตรวงศ์ของทั้งไท-กะไดและออสโตรนีเซียน เป็นรากเหง้าที่มาของคำเรียกดวง ‘ตะวัน’ ผู้ยิ่งใหญ่คับขอบฟ้าว่า *waRi ‘sun/day’ ในฐานะของ “ผู้แหกหน่อโผล่พ้นออกมาจากความมืดมิดที่ห่อหุ้มรายล้อมรอบ และสาดแสงอันอบอุ่นแผ่ไพศาลไปทั่วทั้งผืนโลกแห่งเมืองลุ่ม”

และจึงขอเสนอรากเหง้าเงา ‘ตะวัน’ ในแบบข้อสังเกต เพื่อการถกเถียงไว้ ณ ที่นี้

สุพัฒน์ เจริญสรรพพืช

จันทบุรี 1 กันยายน พ.ศ. 2562 (ตะวันเกษตรกลางสิงห์)

อ้างอิง:

ชลธิรา สัตยาวัฒนา. พ.ศ. ๒๕๖๑. ด้ำ แถน กำเนิดรัฐไท สาวรกรากต้นตอ คนไท ชุมชนไท-ลาว และความเป็นไท/ไต/ไทย/สยาม. ทองแถม นาถจำนง บรรณาธิการ. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ชนนิยม 

สำนักงานราชบัณฑิตยสภา. พ.ศ. 2554. พจนานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน. กรุงเทพฯ: ราชบัณฑิตยสภา. (www.royin.go.th)

Badan Pengembangan dan Pembinaan Bahasa. 2012. Kamus Besar Bahasa Indonesia (KBBI) Online: Badan Pengembangan dan Pembinaan Bahasa, Kemdikbud (Pusat Bahasa). (www.kbbi.web.id)

Blust, Robert A. 2013. Austronsian languages (Revised edition). Canberra: Asia-Pacific Linguistics. (www.pacling.anu.edu.au)

Blust, Robert and Trussel, Stephen. 2010: revision 2018. Austronesian Comparative Dictionary.  (www.trussel2.com)  

Cohen, E. M. Kempler. 1999. Fundaments of Austronesian roots and etymology. Canberra: Pacific Linguistics, Research School of Pacific and Asian Studies, Australian National University. (www.en.wiktionary.org)

Pittayaporn, Pittayawat. 2009. The Phonology of Proto-Tai. In Partial Fulfillment of the Requirements for the Degree of Doctor of Philosophy, Faculty of the Graduate School of Cornell University. (www.ecommons.cornell.edu)

Zorc, R. David. 1990. The Austronesian monosyllabic root, radical or phonestheme. Linguistic Change and Reconstruction Methodology: De Gruyter. (www.zorc.net)

หมายเลขบันทึก: 674379เขียนเมื่อ 13 มกราคม 2020 06:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2020 14:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท