เรียนรู้ “กิจกรรมบำบัด” ขจัดทุกข์ใจ กับ ผศ.ดร.ก.บ.ศุภลักษณ์ เข็มทอง


กราบขอบพระคุณทีมงานชีวจิตคอลัมน์ Expert’s Tip ฉบับที่ 509 (16 ธันวาคม 2562) โดยเรื่อง ศุภรา และภาพ พีรพันธุ์ วิจิตรไกรวิน

จากข่าวคราวที่มีให้ติดตามกันอยู่เสนอในหน้าสื่อทั้งออนไลน์และออฟไลน์ ทำให้ทราบว่า คงถึงเวลาต้องยอมรับกันอย่างจริงจังว่า “ปัญหาสุขภาพจิต” เป็นปัญหาสำคัญที่คนทั่วโลกกำลังต้องเผชิญ ไม่ใช่แค่ในบ้านเราเพียงเท่านั้น

วันนี้นิตยสารชีวจิตรู้สึกเป็นเกียรติที่มีโอกาสได้พูดคุยกับ ผศ.ดร.ก.บ.ศุภลักษณ์ เข็มทอง หรือ อาจารย์ป๊อบ นักกิจกรรมบำบัด และอาจารย์ประจำสาขาวิชากิจกรรมบำบัด คณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งอาจารย์บอกว่า “กิจกรรมบำบัด” คือทางเลือกดูแลกายใจที่คนไทยยังคงรู้จักไม่มากนัก

จึงอยากชวนคุณมารู้จักสาขาวิชานี้ไปพร้อมกับการเรียนรู้เทคนิคการออกกำลังคิดจิตกายใจไปพร้อมกันเลยค่ะ

สาขาวิชาฟื้นฟูชีวิต

        อาจารย์ป๊อบยกข้อสงสัยที่ใครหลายๆ คนมักตั้งคำถามเพื่อให้ข้อมูลกับเราเป็นสิ่งแรก

“หลายคนยังไม่เข้าใจว่า นักกายภาพบำบัด กับนักกิจกรรมบำบัด แตกต่างกันอย่างไร จริงๆ แล้วทั้งสองวิชาชีพนี้มีจุดกำเนิดคล้ายคลึงกัน แต่มีหลักการทำงานที่แตกต่างกันครับ

“ขออธิบายย้อนไปถึงจุดเริ่มต้นของ 2 วิชาชีพนี้ก่อนว่า เกิดขึ้นในช่วงเดียวกัน คือในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 โดยล้วนต่อยอดความรู้มาจากงานของพยาบาลผู้ดูแลทหารซึ่งบาดเจ็บหลังสงครามครับ เพราะหลังสงครามทหารหลายนายมีความพิการแขนขาซึ่งแพทย์ดูแลบาดแผลจนหายแล้ว พยาบาลก็ทำหน้าที่ช่วยออกกำลังแขนขาเพื่อไม่ให้เกิดอาการข้อลีบ ข้อติด นี่คือจุดเริ่มต้นของสาขาวิชากายภาพบำบัด

“ทีนี้บางรายไม่ได้จบแค่ความพิการทางกาย แต่กลับมีอาการทางใจจากการสูญเสียเพื่อนร่วมสงคราม หรือคนใกล้ชิด รวมถึงขาดความมั่นใจจากความพิการที่เกิดขึ้นด้วย ทำให้ไม่อยากมีส่วนร่วมกับการทำกายภาพบำบัดนัก จึงมีพยาบาลอีกกลุ่มที่ไปเรียนรู้ด้านการฝึกอาชีพ และมาสอนให้ทหารผ่านศึกเหล่านี้ทำ เพื่อไม่ให้ใจอยู่ว่าง และพัฒนาองค์ความรู้มาสู่สาขากิจกรรมบำบัดในที่สุดครับ”

อาจารย์ป๊อบอธิบายเพิ่มเติมว่า นักกิจกรรมบำบัดคือ “ผู้เชี่ยวชาญด้านทักษะชีวิต” ที่สนับสนุนให้ผู้ป่วยได้รู้จัก เข้าใจ และเรียนรู้ที่จะดูแลร่างกาย จิตใจ สังคม และจิตวิญญาณของตนเอง โดยมีนักกิจกรรมบำบัดคอยช่วยกระตุ้นและสร้างประสบการณ์การเรียนรู้และแผนชีวิตแบบใหม่ เพื่อให้ก้าวข้ามผ่านอุปสรรคสำคัญคือ ปัญหาสุขภาพจิตสังคม ของพวกเขาไปได้

แต่ปัจจุบันวิชาชีพนี้กลับยังคงไม่เป็นที่รู้จักมากนัก ...อีกทั้งน่าสนใจไม่น้อย ที่ยังคงคนจำนวนไม่น้อยก็ยังคงเติบโตมาโดยมีปัญหาสุขภาพจิตสังคมติดตามเป็นเงา หลายรายไม่สามารถใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้ และต้องเข้ารับการบำบัดฟื้นฟูสุขภาวะ และได้รับการส่งต่อมาพบกับนักกิจกรรมบำบัดในที่สุด

เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น

โลกหมุนเร็ว ใจคนหมุนไม่ทัน

            เมื่อถามว่า ในฐานะนักกิจกรรมบำบัดที่จับตาความเปลี่ยนไปของสังคมทุกวันนี้ อาจารย์ป๊อบมีความห่วงกังวลในเรื่องใด หรือมองว่า สิ่งใดคือสาเหตุของปัญหาสุขภาพที่เกิดขึ้นกับคนในสังคม คำตอบที่ได้รับน่าสนใจมากค่ะ

            “ผมเป็นห่วงคนไทย โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่อยู่ในโลกที่ขับเคลื่อนตามเทรนด์ของเทคโนโลยีอย่างรวดเร็วเช่นนี้ ส่วนใหญ่พวกเขาจะขาดทักษะการดำเนินชีวิตหลายส่วนโดยที่ไม่รู้ตัว

“ทักษะแรกที่สำคัญมากคือ “ทักษะการดูแลตัวเอง” รู้จักการจัดการอารมณ์ ความคิด ไม่ให้ไปในทิศทางลบ ทักษะต่อมาคือ “ทักษะในการดูแลพ่อแม่” เพราะคนยุคใหม่ส่วนใหญ่ชินกับการนึกถึงตนเองเป็นหลัก เมื่อพ่อแม่หรือคนสำคัญในครอบครัวเจ็บป่วยมักดูแลไม่เป็น ไม่ว่าจะเป็นการดูแลทางกายและใจ นั่นก็เป็นเพราะเราขาด “ทักษะการเอาใจเขามาใส่ใจเรา” ร่วมด้วย ยิ่งยุคนี้คนในความสำคัญกับเรื่องการเงิน อีกทักษะที่มักขาดกันก็คือ “ทักษะการใช้และออมเงิน” ทั้งที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ท่านก็สอนเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงเอาไว้ คนส่วนใหญ่รักและเคารพท่าน แต่กลับทำสิ่งที่ท่านสอนไม่ได้นัก

“ทั้งหมดที่กล่าวมา มีผลมาจากการขาดทักษะสำคัญของสุดท้าย นั่นคือ “ขาดทักษะในการแก้ไขปัญหาด้วยตัวเอง” เพราะมักเคยชินกับการรอความช่วยเหลือจากคนอื่นครับ”

เมื่อถามว่า การขาดทักษะทั้ง 5  ด้านนั้นมีสาเหตุมาจากอะไร อาจารย์ป๊อบบอกว่า น่าจะเกิดจาก 2 ปัจจัย คือ ความอารมณ์ร้อน และทิฐิมานะ ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นแค่กับคนไทย แต่คนทั่วโลกก็ประสบปัญหานี้

“คนส่วนใหญ่เมื่อทำผิดแล้วมักไม่ยอมรับว่า ตัวเองผิด แต่เลือกที่จะโทษว่า เป็นความผิดของคนอื่น ทั้งหมดเป็นเพราะยุคนี้เป็นโลกแห่งการสื่อสาร ทำให้มีสิ่งเร้าที่คอยกระตุ้นให้เราหมกมุ่นอยู่กับตัวเองมากไป ครุ่นคิดมากเกินพอดี ซึ่งพฤติกรรมนี้ไม่ได้ส่งผลแค่กับตัวเอง แต่ส่งผลกับคนรอบข้างด้วย”

อาจารย์ป๊อบเล่าว่า หลายครั้งเขาทำงานกับกลุ่มผู้ที่มีปัญหาทางร่างกาย จิตสังคม และการเรียนรู้ จนถึงวันที่คนกลุ่มนี้พร้อมออกไปใช้ชีวิตในสังคมได้ แต่บ่อยครั้งพบว่า คนในสังคมกลับมีภาวะไม่เปิดใจ และเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างแรงกดและแรงผลักให้กลุ่มคนป่วยกลับมามีปัญหาซ้ำเดิมอีกครั้ง

“ปัจจุบันทำให้นักกิจกรรมบำบัดส่วนใหญ่พยายามทำงานทั้งกับผู้ป่วย และทำงานกับสังคมผ่านการให้ความรู้กับสื่อด้วยครับ”

มาทำความรู้จักกับงานของนักกิจกรรมบำบัดกันค่ะ

“กิจกรรมบำบัด” วิชาชีพแห่งสุขภาวะ

            เมื่อขอให้อาจารย์ป๊อบอธิบายรูปแบบการทำงานของนักกิจกรรมบำบัด อาจารย์ป๊อบอธิบายว่า เป็นสาขาวิชาที่รวมเอา 5 วิชาชีพไว้ด้วยกัน

            “หนึ่งคือ จิตแพทย์ ผู้ทำการวิเคราะห์โรคและอาการ สองคือ พยาบาลผู้ช่วยเหลือดูแลด้านสุขภาพ สามคือ เราเป็นครูฝึกอาชีพ ฝึกการใช้ชีวิต สอนคนให้ดูแลตัวเองให้ได้ และวิชาชีพที่สี่ คือ สถาปนิก เนื่องจากเราปรับสิ่งแวดล้อม ประดิษฐ์อุปกรณ์ต่างๆ เพื่อส่งเสริมศักยภาพของผู้ป่วย และวิชาชีพสุดท้ายคือ นักสังคมสงเคราะห์ เพราะเรามุ่งหวังว่าต้องพาเขากลับบ้านให้ได้ครับ”

            นอกจากนี้ สาขาวิชากิจกรรมบำบัดยังดึงเอาองค์ความรู้ที่สำคัญ 3 ส่วนมาใช้

            “องค์ความรู้ที่เราใช้มีโค๊ด 3 ตัวคือ พี ที่หมายถึง คน (Person) ซึ่งเราไม่ได้มองแยกส่วนเป็นอวัยวะต่างๆ ในเชิงกายภาพ แต่เรามองบุคคลในบริบทของภายใน และภายนอก เขาคิดอะไร รู้สึกอย่างไร สื่อสารออกมาอย่างไร ต่อมาคือ อี มาจาก สิ่งแวดล้อมรอบตัวบุคคล (Environment) ทั้งในส่วนที่เป็นสิ่งแวดล้อมจริงๆ และสิ่งแวดล้อมที่เป็นผู้คนว่า มีผลกระทบอะไรกับเขาบ้าง สุดท้ายคือ โอ หมายถึง กิจกรรมการดำเนินชีวิต (Occupation) โดย 3 ส่วนสำคัญที่ต้องมีคือ 1) จิตใจจดจ่อไม่ฟุ้งซ่าน 2) มีเป้าหมายในชีวิต และที่สำคัญ 3) มีความหมายในชีวิตครับ

“กระบวนการทำงานที่สำคัญของนักกิจกรรมบำบัดคือ ต้องให้เขาคิดวิเคราะห์ทางออกต่างๆ จากความคิดหรือประสบการณ์ภายใน โดยเราจะไม่บอกหรือคิดแทนเขา ทำได้เพียงกระตุ้นและรอคอยจนเขาสามารถค้นพบและดึงประสบการณ์เหล่านั้นออกมาด้วยตัวเอง จะได้เข้าใจกระบวนการแก้ไขปัญหาครับ”

โดยนักกิจกรรมบำบัดดูแลคนทุกเพศและทุกวัย 4 กลุ่ม คือ กลุ่มที่มีความบกพร่องทางร่างกาย กลุ่มที่มีความบกพร่องทางจิตใจ (หรือปัจจุบันเรียกว่า จิตสังคม) กลุ่มที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ นอกจากนี้ นักกิจกรรมบำบัดยังให้ความสนใจไปที่การพัฒนาความสุขความสามารถเด็กและทุกช่วงวัย

            “เราให้ความสำคัญกับเด็ก ก็เนื่องจากเด็กจะเติบโตไปเป็นวัยรุ่น วัยทำงาน และวัยสูงอายุ ดังนั้นการดูแลเสริมความแข็งแรงด้วยกิจกรรมบำบัดให้ตั้งแต่วัยเด็กจึงเป็นเหมือนการแก้ปัญหาตั้งแต่ต้นสายปลายทาง

“ตัวอย่างเช่น วัย 3 ขวบเป็นวัยที่สำคัญในการฝึกให้เขาคิดดี พูดดี ทำดี และปลูกฝังคุณธรรมผ่านการทำให้ดูเป็นตัวอย่างของพ่อแม่ ขณะที่วัย 5 ขวบเป็นวัยของการฝึกความคิดเป็นระบบ ซึ่งหากไม่ได้รับการฝึกเขาจะเป็นคนคิดเข้าข้างตัวเอง และเริ่มเกิดการโกหกเป็นครั้งแรก นอกจากนี้หากไม่ได้รับการปลูกฝังคุณธรรมที่เหมาะสมตั้งแต่ต้น เมื่อเข้าสู่วัย 7 ขวบเขาจะเริ่มเห็นแก่ตัว ไม่คิดช่วยเหลือผู้อื่น จนวัย 9 ขวบ หากเริ่มเห็นแก่ตัวแล้วจะขาดภาวะผู้นำ ทำงานเป็นทีมไม่ได้ ดังนั้นหากเริ่มทำกิจกรรมบำบัดตั้งแต่วัยเด็ก ปัญหาต่างๆ ตามพัฒนาการก็จะได้รับการดูแลและแก้ไขให้เหมาะสมตามช่วยวัยครับ” 

โดยกระบวนการที่สำคัญที่สุดในการไปถึงเป้าหมายในการแก้ปัญหาต่างๆ คือ “วิธีการสื่อสาร”

การสื่อสาร : วิธีการและเป้าหมาย

             อาจารย์ป๊อบอธิบายว่า ทักษะที่สำคัญของนักกิจกรรมบำบัดคือ “การสื่อสาร”

            “องค์ความรู้ต่างๆ ที่นักกิจกรรมบำบัดจะนำมาทำงานกับผู้ป่วย จะถูกปรับเป็นวิธีการปฏิบัติ 5 อย่างที่เกี่ยวข้องกับการสื่อสารทั้งหมดครับ

            “หนึ่งคือ การสื่อสารโดยใช้ตัวเอง เพื่อทำให้ผู้สื่อสารและผู้ที่สื่อสารด้วยอย่างมีสติ เป็นความคิดที่กำลังตระหนักรู้ถึงตัวเราและผู้รับบริการ กับความคิดที่กำลังควบคุมข้อมูลใดๆ ที่มีการสื่อสารกัน สองคือ การสร้างสัมพันธภาพอย่างจริงใจและรวดเร็ว อาจเป็นการสร้างสัมพันธภาพแบบเดี่ยว แบบคู่ หรือแบบกลุ่มที่เรียกว่า กลุ่มพลวัตร (Group Dynamics) ก็ได้

“สามคือ การปรับสิ่งแวดล้อมรอบตัวผู้รับบริการจากของใกล้ๆ ตัว ไปจนถึงเปลี่ยนสภาพแวดล้อมรอบตัวเขา สี่คือ การสร้างกระบวนการเรียนรู้ โดยทุกครั้งเราต้องคอยประเมินว่า หลังทำกิจกรรมเขาได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ หรือไม่ ความคิดลบลักษณะเดิมหายไปหรือยัง และสุดท้าย การให้เขากลับไปใช้ชีวิตจริงๆ โดยกระตุ้นให้เขาคิดวางแผนและสังเคราะห์ออกมางานเป็นขั้นตอนการทำกิจกรรมครับ” 

อาจารย์ป๊อบบอกว่า หัวใจสำคัญของการทำงานด้วยกิจกรรมคือ การทุ่มเทเวลา และอาศัยการทำงานเป็นทีม แต่ทุกวันนี้นักกิจกรรมบำบัดไม่ได้มีในทุกโรงพยาบาล ดังนั้นจึงจำเป็นที่ทุกคนต้องเรียนรู้ที่จะเข้าใจตัวเองและรู้จักตนเองได้ดีที่สุด

“คุณธรรม” คือหัวใจสำคัญ     

            เพื่อให้เข้าใจความสำคัญในงานของนักกิจกรรมบำบัดมากขึ้น อาจารย์ป๊อบยกคำกล่าวของ อดอล์ฟ ไมเออร์ (Adolf Meyer) ผู้นำปรัชญาแห่งกิจกรรมบำบัด พร้อมทั้งอธิบายจุดยืนในงานดังนี้ค่ะ

“หัวใจของงานกิจกรรมบำบัดคือ การดูแลผู้คนด้วยจิตใจที่มีคุณธรรม (Moral Treatment) หมายถึง ดูแลด้วยความใส่ใจ เอาใจเขามาใส่ใจเรา ส่วนนี้สำคัญที่สุด ขณะที่การเรียนในห้อง หรือการมีใบประกอบโรคศิลปะ เป็นกระบวนการสร้างมาตรฐานเพื่อเสริมการทำงานเพื่อดึงศักยภาพของบุคคลออกมา และส่งเสริมให้เขาได้มีความสุข มีความสามารถ ดูแลตัวเองได้ เข้าสังคมได้ครับ”

และเพื่อสะท้อนหัวใจแห่งการทำงานตามปรัชญานี้ อาจารย์ป๊อบเล่าความประทับใจในงานลงชุมชนครั้งที่เพิ่งผ่านมาให้ฟังว่า

“เมื่อลงชุมชนนักกิจกรรมบำบัดต้องมองไปถึงกิจกรรมจริงๆ ในการใช้ชีวิตให้ออกครับ อย่างครั้งที่ผ่านมา เราพานักศึกษาไปลงชุมชนร่วมกับนักกายภาพบำบัด และได้พบผู้ป่วยติดเตียงรายหนึ่ง สำหรับงานของนักกายภาพบำบัดเขาก็ต้องช่วยให้ผู้ป่วยได้นั่งเพื่อปรับอิริยาบถ หรือขยับแขนขาเพื่อบริหารกล้ามเนื้อ แต่นักกิจกรรมบำบัดต้องมองให้ออกว่า ความต้องการที่แท้จริงของเขาคืออะไร

“ในที่สุดก็พบว่า เขาต้องการสระผม เพราะไม่ได้สระผมมา 5 ปีแล้ว เนื่องจากคุณแม่ที่เป็นผู้ดูแลไม่แข็งแรงพอจะยกลูกมาสระผมให้ เราจึงดีไซน์กิจกรรมการสระผมและตัดผมโดยช่วยให้แม่ผู้ป่วยสามารถสระผมและตัดผมให้ลูกได้ ผู้ป่วยมีความสุขมากเพราะหัวโล่งสบาย อีกทั้งได้สร้างความสัมพันธ์กับแม่ด้วย

            “...ที่สำคัญ กิจกรรมนี้นักศึกษาเป็นคนคิดนะครับ นั่นแสดงว่า เขาเข้าใจงานของเขาแล้ว”

            หวังว่าในอนาคต เราจะมีบุคลากรในวิชาชีพนี้เพื่อมาเสริมทัพผู้เชี่ยวชาญในการดูแลสุขภาพของคนไทยเพิ่มขึ้นค่ะ

หมายเลขบันทึก: 674195เขียนเมื่อ 5 มกราคม 2020 16:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 มกราคม 2020 16:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท