"ชวนเด็ก ๆ เขียนไดอารี ยิ่งบันทึกเรื่องดี ๆ ยิ่งเห็นแก่ตัวน้อยลง" ... (ลีน่าร์ กาซอ)


ผมเจอทวิตหนึ่งในทวิตเตอร์ ผมกดให้หัวใจและกด reply
ผมพยายามค้นหาประโยชน์ของ "การเขียน" เป็นเวลาหลายปี
หลังจากที่ได้มีโอกาสเขียนบันทึกที่นี่และสอนลูกศิษย์เขียนด้วย

บทความนี้เป็นหนึ่งในหลายบทความที่พูดถึงพลังของการเขียน
โดยเฉพาะ "การเขียน" คือ การเปลี่ยนแปลงตัวเอง

ดังนี้

.................................................

..

คุณเคยเขียนหรือกำลังเขียนไดอารีกันไหม

ไดอารีอาจมีไว้เพื่อระบายสิ่งที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน แต่รู้ไหมว่า ตั้งแต่ตัวอักษรแรกที่คุณจรดปากกาหรือเริ่มกดแป้นพิมพ์ร่ายยาวถึงสิ่งที่พบเจอกำลังบ่มเพาะมุมมองทำให้คุณมองคนรอบข้างเป็นได้ทั้ง ‘เพื่อนร่วมโลก’ หรือ ‘คนแปลกหน้า’

พูดง่าย ๆ ว่า ยิ่งเขียนบันทึกขอบคุณสิ่งที่ต่าง ๆ ยิ่งทำให้คุณรู้สึกเอื้อเฟื้อมากขึ้น เพราะจากผลงานวิจัยล่าสุดพบว่า การเขียนบันทึกถึงสิ่งที่รู้สึกขอบคุณในแต่ละวันทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภายในสมองอย่างเห็นได้ชัด และมีแนวโน้มจะมีความสุข หากเงินหรือค่าตอบแทนจะถูกมอบให้การกุศล เช่น ธนาคารอาหารอย่าง Food for Lane County มากกว่าจะไหลเข้ากระเป๋าตัวเอง

..

ความไม่เห็นแก่ตัวในสมอง

ในการวิจัยครั้งนี้ นักวิจัยได้พบหลักฐานจากการสแกน MRI สมองของหญิงสาว ๑๖ คนที่เขียนบันทึกออนไลน์โดยเน้นความรู้สึกขอบคุณ เช่นเดียวกับหญิงสาวอีก ๑๗ คนที่เขียนบันทึกเรื่องทั่วไป ไม่เน้นความรู้สึกเหมือนกลุ่มแรก โดยได้สแกนตั้งแต่เริ่มวิจัยและสแกนอีกครั้งหลังเขียนบันทึกไปแล้วสามสัปดาห์

การสแกนนั้นเพื่อจับความเปลี่ยนแปลงของกระบวนการเผาผลาญที่ใช้ออกซิเจนในเซลล์ภายในคอร์เท็กซ์กลีบหน้าผากส่วนหน้า – พื้นที่ส่วนลึกในสมองของเรา คอยควบคุมความยับยั้งชั่งใจและการตัดสินใจต่าง ๆ

อัลริค ไมเยอร์ (Ulrich Mayr) ผู้ร่วมเขียนงานวิจัยในครั้งนี้กล่าวว่า เมื่อคนกลุ่มนี้อายุมากขึ้น ความเห็นแก่ตัว (pure altruism) ก็จะลดน้อยลง ส่วน คริสตินา คาร์นส (Christina Karns) หัวหน้าทีมนักวิจัยจากคณะจิตวิทยา มหาวิทยาลัยโอเรกอน กล่าวว่า การเขียนบันทึกได้ช่วยปรับลดความเห็นแก่ตัวในระบบประสาทให้น้อยลง

“ตอนที่เรากำลังกล่าวขอบคุณสิ่งดี ๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิต สมองส่วนนี้ทำให้เกิดการหมุนเวียนในระบบประสาทที่ทำให้เรารู้สึกอิ่มใจมากขึ้น” คาร์นสกล่าว เธอยังเป็นหัวหน้าโครงการด้านอารมณ์และระบบประสาทในคณะของเธอด้วย

“การหมุนเวียนในระบบประสาทนี้ ทำให้คุณสามารถ ‘ให้’ ด้วยหัวใจที่ยินดี และรู้สึกตื้นตันในสิ่งที่คนอื่น ๆ ทำให้คุณ”

วารสารพรมแดนด้านประสาทวิทยาของมนุษย์ (Frontiers in Human Neuroscience) ทีมนักวิจัยได้ตั้งเป้าหมายการวิจัยนี้ไว้ว่า การเขียนบันทึกถึงความรู้สึกขอบคุณจะสร้างความเปลี่ยนแปลงในระยะยาวต่อการให้คุณค่ากับความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ภายในจิตใจของคน

“แม้จะยังไม่รู้ว่าผลสุดท้ายจะเป็นไปตามนั้นหรือไม่ แต่ประเด็นนี้ก็คุ้มพอที่จะทำวิจัยเพิ่มเติม”
คาร์นสบอก

สำหรับเงินทุนจากการวิจัยนี้ มาจากโครงการเพื่อการขยายวิทยาศาสตร์และแนวทางปฏิบัติสู่ความรู้สึกขอบคุณ (Expanding the Science and Practice of Gratitude Project) ของศูนย์วิทยาศาสตร์เกรทเตอร์ กู๊ด (Greater Good Science Center) ร่วมกับมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียและกองทุนเทมเพิลตันที่สนับสนุนเงินผ่านทางสถาบันมานุษยวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยโอกลาโฮมา

..

ความเอื้อเฟื้อ คือ การให้รางวัลตัวเอง

เพื่อเป็นการลดตัวแปรลง ในการทดสอบช่วงแรก ทีมนักวิจัยกำหนดผู้เข้าร่วมเป็นผู้หญิงอายุระหว่าง ๑๘-๒๗ ปีเท่านั้น โดยเริ่มต้นประเมินผู้หญิงทั้งหมดผ่านการสแกนสมอง และการตอบคำถามเพื่อจัดกลุ่มตามคุณสมบัติของความไม่เห็นแก่ตัวในระหว่างที่พวกเธอดูเงินที่จะมอบให้ธนาคารอาหารหรือมอบไว้ให้กับพวกเธอเอง

จากจุดนี้ สมองผู้เข้าร่วมที่มีคุณสมบัติของความไม่เห็นแก่ตัวมากกว่า จะมีปฏิกิริยาตอบสนองในแง่ดีเมื่อธนาคารอาหารได้รับเงินมากกว่าที่พวกเธอจะได้รับ จึงเกิดคำถามขึ้นว่า การฝึกฝนความรู้สึกเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่สามารถเปลี่ยนผลการตอบสนองในสมองของพวกเธอได้ไหม

ทีมนักวิจัยได้สุ่มแยกผู้หญิงออกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรกให้เขียนบันทึกทุกวันโดยเน้นที่ความรู้สึกขอบคุณสิ่งที่ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน ส่วนอีกกลุ่มให้เขียนเรื่องทั่วไป ไม่เน้นความรู้สึกขอบคุณ

สามสัปดาห์ต่อมา ผู้เข้าร่วมวิจัยได้กลับมาที่ศูนย์ลูอิสเพื่อการตรวจทางรังสีวินิจฉัยด้านระบบประสาท (Lewis Center for Neuroimaging) เพื่อทำแบบสอบถามและรับการสแกนสมองอีกครั้ง ภายใต้สถานการณ์เดิม คือการมองดูเงินถูกมอบให้ธนาคารอาหาร และเงินที่มอบให้เธอเอง

“ไม่ว่าคุณสมบัติการไม่เห็นแก่ตัวจะสูงหรือไม่ในตอนแรก แต่การเขียนบันทึกทำให้กลุ่มที่เขียนเน้นความรู้สึกขอบคุณต่างก็มีคุณสมบัตินี้เพิ่มขึ้น การมอบเงินให้การกุศลทำให้เกิดปฏิกิริยาในสมองของพวกเธอมากกว่าการเห็นเงินไหลเข้ากระเป๋าตัวเอง”
คาร์นสบอก “ราวกับ พวกเธอใจกว้างและเห็นอกเห็นใจคนอื่นมากกว่าตัวเอง”

การศึกษานี้แสดงให้เห็นว่า สมองมีส่วนทำให้ความรู้สึกเรื่องการให้รางวัลกับตัวเองยืดหยุ่นได้ ทำให้ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ก็เป็นการให้รางวัลตัวเองได้เช่นกัน

“การค้นพบของเราบ่งบอกว่า ความรู้สึกขอบคุณยินดี ทำให้เกิดสิ่งดี ๆ อีกมากมาย”
คาร์นสว่าอย่างนั้น

เพราะการเขียนมีพลังเสมอ วันนี้ลองชวนเด็ก ๆ เขียนไดอารีถึงเรื่องดี ๆ ของเขาดูสิ

..

.............................................................................................

..

การเขียน "ขอบคุณ" ทำให้มนูษย์ลดความเห็นแก่ตัวลง
รู้จัก "การให้" มากขึ้น มีความใจกว้าง และเห็นอกเห็นใจคนอื่นมากขึ้น

เห็นคุณค่าของ "การเขียน" บ้างขึ้นไหมครับ ;)...

บุญรักษา นักเขียนบันทึกทุกคน ;)...

..

.............................................................................................

แหล่งอ้างอิง

https://thepotential.org/2018/...

https://www.weforum.org/agenda...

หมายเลขบันทึก: 673762เขียนเมื่อ 15 ธันวาคม 2019 23:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 ธันวาคม 2019 22:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

คิดแล้วเขียน ประหนึ่งตัวเราส่องกระจก แล้วเห็นตัวเราการเขียนคือการขัดแต่งความคิด เจียระไนชีวิต ของเราเอง ครับ

เช่นนั้นเลยครับ คุณแผ่นดิน ;)…

สวัสดีปีใหม่ ‘๒๕๖๓ ครับอาจารย์

สวัสดีปีใหม่ครับ ท่านอาจารย์ธนิตย์ ;)…

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท