๑,๐๔๔ หนังสือเป็นออมสิน...


ผมคิดว่า..คู่มือครูจะสวยหรูขนาดไหนก็ไร้ค่า ถ้าครูผู้สอนทุกวิชาไม่เรียนรู้คุณค่าของการอ่าน..ไม่อ่านหนังสือให้เป็นต้นแบบของนักเรียน และไม่พากเพียรที่จะนำวิธีการในคู่มือไปประยุกต์ใช้..

        “หนังสือเป็นการสะสมความรู้และทุกสิ่งทุกอย่างที่มนุษย์ได้สร้างมา ทำมา คิดมา แต่โบราณกาลจนทุกวันนี้ หนังสือจึงเป็นสิ่งสำคัญ เป็นคล้ายๆธนาคารความรู้และเป็นออมสิน เป็นสิ่งที่จะทำให้ มนุษย์ก้าวหน้าได้โดยแท้...”

    พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙

    พ่อแม่..ผู้ปกครองและครูอาจารย์ จึงต้องสร้างกิจกรรมกระตุ้นให้เด็กรักหนังสือ รักการอ่าน..หนังสือและการอ่าน..จึงต้องเริ่มต้นด้วยความรักอย่างแน่นอน

        ถ้าไม่รักหนังสือและไม่รักที่จะอ่าน..ก็จะอ่านไม่เข้าใจ จับใจความไม่ได้ กลายเป็นอ่านไม่รู้เรื่อง..ก็จะเสียเวลาเปล่าและทำให้หนังสือไม่สามารถเทียบเคียงกับ “ออมสิน”ได้

        ดังนั้น..หากว่าเรารักพ่อ ดังที่ได้ตั้งปณิธานไว้ว่าจะทำตามคำพ่อสอน เราก็ต้องมาช่วยกัน โดยนึกย้อนไปไม่ต้องไกล ว่าเราทำให้ลูกหลานและศิษย์ของเราตระหนักหรือเห็นความสำคัญแล้วหรือยังว่า...”หนังสือเป็นออมสิน”ได้จริงๆ

        ผม..ในฐานะที่เป็นครู ให้นักเรียนอ่านหนังสือให้ฟังทุกวัน และไม่มีวันไหนเลยที่จะไม่ให้นักเรียนเขียนหนังสือ เพราะทั้งหมดนี้คือเครื่องมือแสวงหาความรู้เพื่อสะสมไว้

        แต่ปัจจุบัน..กำลังจะมีปัญหา..และกำลังจะกลายเป็นปัญหารื้อรังของการศึกษาไทย และส่อเค้าไปในระดับสากล ที่นานาชาติก็กำลังประสบอยู่

        เรื่องระดับโลกคงไม่ต้องพูดถึง มาว่ากันด้วยเรื่องใกล้ตัวจะง่ายกว่า ว่าทำอย่างไรเด็กไทยจะมีความสุขในการใช้การอ่านเป็นพื้นฐานในการพัฒนาทักษะชีวิต..

        หลายคนอาจปฏิเสธเรื่องนี้ เพราะเห็นว่าเด็กอ่านได้ไปจนถึงอ่านคล่อง..แต่ในระดับโรงเรียน เขตพื้นที่การศึกษาและ สพฐ.ทราบดีและมีข้อมูลมาหลายปีแล้ว..

        บ่งบอกว่านักเรียนไทยอ่านจับใจความไม่ได้..อ่านแล้ววิเคราะห์ไม่เป็น อ่านแล้วบอกไม่ได้ว่าได้อะไรจากการอ่าน และอ่านแล้วนำไปใช้ไม่ได้ ตลอดจนอ่านแล้วไม่รู้เรื่อง

        เดิมทีมีวิชาที่โบราณมากแต่ก็ยังถูกกล่าวขานให้นำกลับมาใช้ใหม่..คือ อ่านเอาเรื่อง วันนี้เป็นได้แค่เพียงส่วนหนึ่งของสมรรถนะ “การอ่าน” เพราะหลักสูตรหลากหลายจนเบียดบังการอ่านของนักเรียนลดน้อยลง..

        หากใครอยู่ในฐานะที่เป็นครู ก็ไม่ต้องไปเสียเวลาโทษใคร ใช้วิธีบูรณาการ บริหารจัดการเวลาก็จะช่วยนำพาผู้เรียนออกจากอุโมงค์ที่มืดทึบ สู่เส้นทางอยู่รอดที่สว่างไสว

        ผมคิดและพูดอยู่เสมอว่า การอ่าน..เป็นทักษะ..ต้องฝึกสม่ำเสมอและต่อเนื่อง ไม่ใช่แค่สอนเพื่อให้เด็กได้คะแนนเท่านั้น แต่ต้องสอนเขาอ่าน คิด และวิเคราะห์ให้เป็น

        เพราะนี่คือเครื่องมือพื้นฐานในการนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน..เป็นสมรรถนะที่สำคัญของการอ่าน..ปัจจุบันค่าเฉลี่ยของการอ่านรู้เรื่องไม่ได้สูงเกินร้อยละ ๕๐  สะสมจนกระทั่งผลการทดสอบPISAของนักเรียนมัธยมมีแนวโน้มลดต่ำลงทุกปี

        เดือดร้อนไปถึงสถาบันภาษาไทย ของสพฐ.และศธ. ต้องคิดค้นคู่มือการเรียนการสอนการอ่านคิดวิเคราะห์สู่การพัฒนาการอ่านตามแนวทางPISA

        ผมคิดว่า..คู่มือครูจะสวยหรูขนาดไหนก็ไร้ค่า ถ้าครูผู้สอนทุกวิชาไม่เรียนรู้คุณค่าของการอ่าน..ไม่อ่านหนังสือให้เป็นต้นแบบของนักเรียน และไม่พากเพียรที่จะนำวิธีการในคู่มือไปประยุกต์ใช้..

        ครูเริ่มต้นใหม่ได้ ก็แค่คิดถึงคำว่า..”หนังสือเป็นออมสิน” และหนังสือจะเป็นหนังสืออย่างแท้จริงได้..นักเรียนจะต้องอ่านรู้เรื่อง อ่านแล้วคิดวิเคราะห์ได้ ซึ่งจะทำให้ง่ายก็ด้วยฝีมือของครูเท่านั้น

        ผมลองแล้ว..และเชื่อว่าจะไปได้สวย ใช้คอมพิวเตอร์เข้ามาช่วย ให้นักเรียนเรียนรู้ ข้อความร้อยแก้วร้อยกรองผ่านจอทีวี..อ่านแล้วตอบคำถาม เพื่อฝึกค้นหาความคิดรวบยอดและข้อคิด นักเรียนตอบคำถามถูกผิดไม่สำคัญเท่ากับการจับประเด็นจากการอ่านได้

        เพราะผมมีความเชื่อว่า การสอนอ่านหนังสือที่ถูกวิธีให้แก่นักเรียน..หนังสือจะเป็นออมสิน..ที่วิเศษที่สุดเป็นบ่อเกิดแห่งปัญญา มีค่ามากกว่าทรัพย์ใดๆ

ชยันต์  เพชรศรีจันทร์

๖  ธันวาคม  ๒๕๖๒

หมายเลขบันทึก: 673600เขียนเมื่อ 6 ธันวาคม 2019 22:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 ธันวาคม 2019 22:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท