เรื่องเล่าเช้าวันส่งลูก



“ทำไมรถติดจังวะ” ผมพึมพัมอย่างเป็นปกติเมื่ออยู่ในรถ 
อย่างเช่นวันนี้ เราออกจากบ้านตามเวลาปกติ แต่รถในซอยแทบไม่เขยื้อน
“สงสัยคนอยากตักบาตรมากกว่าปกติมั้งลูก” อันนี้คือแดกดัน เพราะปากซอยหน้าบ้านคือวัด หลวงพี่หลวงพ่อท่านนิยมยืนบิณฑบาตกันหน้าวัด ยืนมานานจนกระทั่งมีผู้ค้ารายย่อยมากางโต๊ะขายอาหารเพื่อกิจตักบาตรโดยเฉพาะ และกิจการก็รุ่งเรืองขนาดที่มีพุทธศาสนิกแวะเวียนมาตักบาตรไม่ขายสาย บ้างก็จอดรถชิดปากซอย บ้างก็จอดล้ำมาในถนน รถติดทุกเช้าพอให้ระทวยใจ ขณะที่พระท่านกรวดน้ำให้ ผมเชื่อว่า เสียงก่นด่าสาปแช่งจากคนอื่นที่ได้รับผลกระทบจากรถติดก็คงหลุดออกไปบ้างเช่นกัน
ยังครับ เพราะบริเวณหน้าวัดนั้น คือที่กลับรถ ดังนั้น มันจึงเป็นคอขวดอีกอันที่จะทำให้เกิดการติดขัดได้อย่างวินาศสันตะโร

“Murphy’s law ไงพ่อ” เสียงของจ้าเปรยขึ้นมาเมื่อเห็นพ่อเริ่มหงุดหงิด
“ยังไง” พ่อถาม
“ก็เหตุการณ์อะไรที่ไม่ควรจะเกิดได้ มันเกิดได้ไง” เธออธิบาย
“แต่พ่อว่า อันนี้มันไม่ควรมาตักบาตรกันตรงนี้ มันไม่ใช่เรื่องบังเอิญ มันไม่ใช่กฏของเมอร์ฟี่สักหน่อย เดี๋ยวพ่อจะบีบแตรปี๊นยาวๆ แล้วลูกเปิดกระจกชูป้ายด่าเลยนะลูก” ผมเถียงออกไปโดยที่ไม่ได้รู้จักคุณเมอร์ฟี่นี่สักเท่าไหร่นัก และอาการแสดงออกในรถนั้น คนข้างๆเข้าใจดีว่ามันคือมุกตลก

กลายเป็นว่า วันนี้คนมาตักบาตรกันน้อยมาก ไม่มีรถจอดขวางถนนเลย แต่คอขวดยังคงมีตรงที่กลับรถ 
“เห็นไหมลูก เราคิดว่าการตักบาตรหน้าวัดคือสาเหตุของรถติด เราคาดการณ์ผิด คนและพระก็ถูกเราตำหนิไปเรียบร้อย พ่อนี่แย่มากเลยนะ” ผมเปรยบ้าง เรื่องการตัดสินคนอื่นนั้นเป็นความถนัด มันคือนิสัยเสียที่แก้ไขยาก แต่ผมมักจะใช้โอกาสนี้สอนลูกสาวอยู่เสมอ

ผ่านหน้าวัดมาได้ เราก็เจอจุดรถติดที่สามแยกไฟแดงประจำอีกครั้ง 
“เย่..วันนี้เราสามารถผ่านได้ทีเดียวโดยไม่ติดไฟแดงรอบสองเลย” จะบอกให้ ว่าสามแยกตรงนี้คือสามแยกวัดใจของเราสองพ่อลูก เพราะเมื่อไหร่ที่มีจราจรมายืนกดสัญญาณไฟ พี่แกมักจะกดแล้วรถของผมก็มักจะเป็นคันแรกที่ติดไฟแดงอยู่เสมอๆ เจ้าจ้ามักจะพูดว่า “ตำรวจคนนั้นแกคงเกลียดเรานะพ่อ เราเป็นคันแรกทู้กกกกที” แดกดันเก่งแบบนี้ คงไม่ได้มาจากแม่หรอก ผมแอบยิ้มมุมปากแล้วเหลือบตาดูกระจก หล่อแบบทุเรศดีนัก
“Murphy’s law ไงลูก เห็นไหม เราไม่ควรเป็นคันแรกที่ต้องจอดติดไฟแดงติดๆกันเกือบทุกวัน แต่มันก็ติด” เอาเหอะ ยังไงวันนี้ก็ไปผ่านไฟเขียวไปโดยสะดวกเลย 
ใช่สิ..วันนี้ไม่มีตำรวจนี่นา

ผ่านพ้นสามแยกนั้นมาได้ รถก็ยังติด 
มันติดแปลกๆ
“ลูกว่ามีอุบัติเหตุไหม” อาจจะจริง เพราะมันไม่ใช่เวลาที่รถติดตามปกติ แถวบ้านผม หากมีรถชนกัน เขาก็มักจะปล่อยให้รถมันจอดในท่าชนขวางถนนอยู่อย่างนั้น ไม่ยอมขยับ ไม่ยอมเลื่อน รถจะติดก็ติดไป เราจะรอประกัน น่าแปลก เพราะเมื่อเจ้าหน้าที่ประกันมาถึง เค้าก็ถ่ายรูป จากนั้นก็แยกย้าย 
แล้วไงล่ะ ทั้งๆที่มีโทรศัพท์มือถือที่ถ่ายรูปกันได้ทุกคน ทำไมจึงไม่ถ่ายรูปแล้วเลื่อนรถออกมาจากกลางถนนเสีย อันนี้ไม่ใช่ Murphy’s law

“มันติดนานไปหน่อยแล้วไหมลูก แปลกจัง” ผมพึมพัม เพราะนี่ก็ใกล้เวลาลูกจะต้องเข้าแถวหน้าเสาธง
“จ้านึกออกแล้ว มีคนบอกว่ามีกีฬาสีของโรงเรียน....” 
“เหรอ..แหม จะแข่งกีฬากันทีนึง รถติดเสียหายวายป่วงเลยนะลูก” ผมบอกออกไป แล้วพลันนึกถึงหนังสือเรื่อง “ก้าว” ที่เขียนเรื่องคุณตูนเมื่อตอนที่วิ่ง ทราบมาว่าคุณตูนจะเกรงใจผู้ใช้ถนนอย่างมาก หากเขาจะต้องเป็นต้นเหตุของรถติด
“ก็แค่ปีละครั้งไหมพ่อ” ลูกสาวบอก ดูเธอไม่ค่อยจะอาทรร้อนใจกับเวลาที่ผ่านไปอย่างรวดเร็วนี่สักเท่าไหร่
“มุมมองของคนจัด มันก็แค่ปีละครั้งไงลูก แต่สถานที่หนึ่งๆ มันจัดงานแบบนี้ปีละกี่ครั้งล่ะ เดี๋ยวโรงเรียนนู้น เดี๋ยวโรงเรียนนี้ เดี๋ยวมีการสอบนู่นสอบนี่ รวมๆกันแล้ว บางทีจัดกันได้เกือบทุกเดือน เดือนละหลายหน มองแต่มุมตัวเองมันก็ไม่รู้ตัวไงลูก ทำไมไม่ไปจัดที่สนามกีฬากลางของเทศบาลบ้างนะ” ผมรู้สึกเหมือนโต้วาที
“ก็ที่นู้นมันใหญ่กว่า ค่าเช่าก็น่าจะแพงกว่าไหมพ่อ” 
“ไม่นะ สนามมันต้องเท่ากันสิลูก รอบสนามก็วิ่ง ๔๐๐ เมตรเท่ากัน”
“แต่ที่นู่น สเตเดี้ยมมันใหญ่กว่ามาก จ้าว่ายังไงมันก็ใหญ่กว่า ราคาย่อมแพงกว่า”

“ก็เลยมาจัดแต่ที่ม.อ.สินะ คนแถวนี้ก็เจอแต่รถติดต่อไป” ผมพูดลอยๆ

“แหม..แบบนี้จ้าต้องรู้สึกผิดด้วยไหม”
“ยังไงล่ะลูก” ผมสงสัย ว่าลูกไปเกี่ยวอะไรกับเขาด้วย

“ก็สัปดาห์ที่แล้ว โรงเรียนจ้าก็จัดกีฬาสีตรงสนามนี้เหมือนกัน” เออว่ะ ศุกร์ที่แล้วลูกแข่งกีฬา 

“เค้ามีคำเตือนให้พวกพ่อทราบมาก่อนแล้ว ตอนนั้นมีแจ้งเรื่องปิดถนนเพื่อลาดยางด้วย การจราจรน่าจะแย่มากพอดู ใช่ไหมลูก”
“จ้าว่าไม่นะ จ้าไม่เห็นรถจะติดตรงไหนเลย”
“พ่อว่าน่าจะเพราะลูกอยู่ในแถวไง ลูกจึงไม่เห็น ตัวเตี้ยไปมั้ยลูกน่ะ”

“พ่ออออออ” เธอเริ่มโวย

“ลูกครับ พ่อว่าลูกสายแน่นอน” เวลาตอนนั้นล่วงเข้าไปเกือบ ๗.๓๐ น. มันคือเวลาเข้าแถว และเรายังค่อยๆขยับอยู่บนถนนหน้ามหาวิทยาลัย
“ถ้าลูกต้องเข้าโรงเรียนสาย ต้องบอกครูนะลูก ว่าสายเพราะอะไร เราไม่ได้ตั้งใจสาย” ผมติว เธอเงียบ
“ถ้าหากโทรศัพท์ต้องถูกครูยึดไว้ ลูกต้องตามพ่อทันที” 

ผมนึกถึงเหตุการณ์ครั้งหนึ่ง ที่พี่แป้งเรรวนกวนตีนจนเธอต้องเข้าโรงเรียนสาย

“ไงล่ะ เป็นเด็กเลววันนึง สนุกดีไหมลูก” ผมไม่ได้หมายความว่า เลวแล้วสนุกอย่างที่บอก แต่ผมมักจะบอกลูกเสมอๆว่า ความผิดเล็กน้อยก็รับโทษไป อย่าวิตกจนเกินเหตุ ใครๆก็มาสายได้ แต่ไม่ใช่การสายเพราะตั้งใจสาย คนบางคนมีภาระ อย่างเวลาพ่อติดเคสที่โรงพยาบาลก็ออกมาส่งลูกสาย เด็กบางคนต้องช่วยทำงานที่บ้านจึงมาสาย เขาสายเพราะเหตุจำเป็น ดังนั้น คำว่าเลวในการสนทนาในรถ จึงไม่ได้หมายถึงการเหยียดใครต่อใคร

“ก็แค่ถูกยึดโทรศัพท์” เธอบอก
“อ้าว แล้วลูกได้กินข้าวไหมล่ะ” ที่โรงเรียนเค้าใช้ QR code ในการซื้ออาหารกิน
“ก็ไม่ได้กิน” เธอตอบเฉยๆ แต่ในตอนนั้นพ่อไม่เฉย 

“ครูอยู่ที่ไหน” ผมถามเสียงแข็งและเย็นยะเยือก กิริยาเช่นนี้ลูกจะทราบดี ว่าไม่ควร “เป็นเล่น”
ลูกสาวชี้ไปยังห้องพักหลังห้องของลุงยามหน้าโรงเรียน 
“มาสาย ถูกลงโทษให้อดอาหารเที่ยง พ่อไม่โอเค” เสียงผมดังขึ้น แล้วก็เดินเข้าไปในห้องพักครู

ไม่มีครู ไม่มีใครอยู่

“พ่อ กลับเถอะ ก็แค่ไม่ได้กินข้าวเที่ยงเอง” แป้งบอก แต่ตอนนั้นหัวใจผมร้อนรุ่ม

“ครูอยู่ที่ไหนครับ” ผมยังคงเสียงแข็งถามพี่ยามที่เจอกันบ่อยๆ
“สงสัยประชุมอยู่ครับ” แกตอบ และคงรู้สึกได้ถึงความไม่ปกติ

“แหม่..ก็แค่อดข้าวเที่ยงวันเดียวเอง และที่สำคัญแป้งก็มาสายจริงๆ”
“มาสายแล้วครูถามไหม ว่าสายเพราะอะไร แล้วมันโทษหนักขนาดให้อดข้าวเลยเหรอ”
“อันที่จริงแป้งจะใช้บัตรซื้อข้าวกินก็ได้ เพียงแต่แป้งไม่ทำแบบนั้นไง แป้งขี้เกียจไปเติมเงิน”

“กลับบ้านเถอะ แป้งหิวข้าว” นี่คงเป็นคำขาด

จำได้ว่า ในวันนั้นใจผมร้อนรุ่มทะลุทรวงอก แต่เมื่อได้เย็นลงกลับรู้สึกว่าโชคดีที่ไม่มีครูอยู่ในห้องนั้น อารมณ์และความโกรธมันไม่เคยสร้างคุณงามความดีให้กับใครสักคน ลูกเสียอีก ที่เข้าใจโดยดีและสงบกว่าพ่อของมัน

ผมรู้สึกสดชื่นขึ้นมาเมื่อนึกถึงความเฮงซวยของตัวเองในวันนั้น

“จ้าบอกพ่อนะลูก ถ้าลูกเข้าสายแล้วถูกยึดโทรศัพท์” เพียงแต่คราวนี้ ผมไม่ได้มีอารมณ์แบบคราวก่อน และรู้ดีว่า หากครูจะยึดโทรศัพท์ไปสัก ๓ วันก็คงไม่สะเทือน เนื่องจากเธอมีเครือข่ายทางสังคมเยอะมากพอดู

“จ้าเพียงแต่ไม่อยากเข้าสาย แล้วคนอื่นมามองว่า คนเป็นกรรมการนักเรียนมาเข้าแถวสายน่ะพ่อ” ออ นั่นคือความรับผิดชอบส่วนตัวของลูกต่อกลุ่ม
“ออ..ดีครับลูก” ผมชื่นชมออกมา

ผมเลี้ยวรถเข้ามหาวิทยาลัยได้ อีกเพียงไม่ไกลก็จะถึงโรงเรียนแล้ว ๗.๓๙ น.
รถข้างหน้าขับช้ามาก เขาจะต้องรอให้ถนนว่างจริงๆจึงจะเลี้ยวขวาลงถนนสหศาสตร์ มันนานมากในความรู้สึก 
“ทำไมมันช้าจังว้าาาาาา” ผมครวญ

“กฏของเมอร์ฟี่ไงพ่อ” เธอหัวเราะอารมณ์ดี
“ยังไง”
“ก็พ่อไม่เห็นเหรอ เวลาที่เรารีบแทบตาย ก็มักจะเจอรถหวานเย็นอยู่ข้างหน้า มันเป็นแบบนี้ทุกครั้ง เวลาไม่รีบก็ไม่เห็นต้องมาเจออะไรแบบนี้เลย” เธอเฉลย และผมก็หัวเราะเสียงลั่นรถ

“ลูกว่าเราจะทันไหม”
“มันก็ขึ้นอยู่กับว่า รถบัสของโรงเรียนมาถึงแล้วยัง ถ้ายังก็ค่อยยังชั่ว ถ้าจะสายก็แค่ฆาตกรรมหมู่เท่านั้นเอง” 

๗.๔๓ น. เราเข้ามาในเขตรั้วศูนย์ประชุมซึ่งเป็นทางผ่านก่อนเข้าโรงเรียน
รถบัสยังมาไม่ถึง ความตึงเครียดเริ่มลดลง

“ถ้ามีเสียงเพลงเตรียมเข้าแถว จ้าก็แค่วิ่งเท่านั้นเอง ไม่มีอะไรหรอก”

นึกถึงสมัยตัวเองเป็นเด็กนักเรียนมัธยม “โรงเรียนสุราษฎร์ธานี”
ในเวลาประมาณ ๗.๓๐​ น.ของทุกวัน จะมีเพลงปลุกใจดังขึ้นมา ๓ เพลง นั่นคือสัญญาณที่บอกนักเรียนทุกคนว่ากำลังจะถึงเวลาลงไปสนามหน้าโรงเรียนเพื่อเข้าแถวเคารพธงชาติกันแล้ว ทุกกิจธุระต้องหยุดและออกจากห้องเรียน ไอ้พวกที่กำลังลอกการบ้านจะหัวเสียมากเมื่อได้ยินเสียงเพลง บางคนรีบวางปากกา ในขณะที่บางคนจะออกตัววิ่งก็ต่อเมื่อใกล้จบเพลงสุดท้าย นั่นแสดงว่า สมุดการบ้านของมันว่างมาก หรือไม่ก็เจ้าของเล่มที่ให้ลอกมันมาสายหน่อยๆ

เราหอมแก้มกันก่อนลงจากรถทุกครั้ง และคราวนี้ก็เป็นเช่นนั้น ผมมองลูกเดินเข้ารั้วโรงเรียนแบบสบายๆ

ผมรู้สึกมีความสุขใจ บทสนทนาที่เล่ามานั้น มันเป็นเพียงส่วนหนึ่งของชีวิตในรถทุกๆเช้า ถ้อยคำและความเกรี้ยวกราด มันคือการเสแสร้งและแกล้งทำ ผมกำลังเซ็ตลูกบอลเพื่อรอการตบ และการตบของลูกในหลายๆครั้งมันคือการแสดงทัศนคติของลูกออกมาเพื่อให้ผมได้รับทราบ ถ้ามันดี ผมก็แอบชื่นใจ ถ้ามันผิดเพี้ยนไปบ้าง ผมก็อาจจะปรับแต่งให้นิดหน่อยหรือบางเรื่องก็อาจจะปล่อยวาง

พ่อเป็นโค้ช ไม่ใช่เจ้าของชีวิต ลูกต้องเดินต่อไปได้ด้วยทัศนคติที่ดีติดตัวต่อไป ไม่ใช่เดินเพราะถูกสั่งให้เดินตามทางที่กำหนด

ธนพันธ์ ชูบุญเป็นไลฟ์โค้ช
๑๑ กค ๖๒



คำสำคัญ (Tags): #ส่งลูก
หมายเลขบันทึก: 673126เขียนเมื่อ 14 พฤศจิกายน 2019 15:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 พฤศจิกายน 2019 15:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท