มะเร็งยามชรา


ผมอยากถามสักนิด
หากเรามีอายุเข้าใกล้เลข ๘๐ เต็มที แล้ววันหนึ่งเกิดพบว่าเป็นมะเร็งระยะลุกลาม เราอยากให้หมอดูแลเราอย่างไร

ตอบยากไหม

สำหรับผม จะว่ายากก็ยาก จะว่าง่ายก็ง่าย มันขึ้นอยู่กับว่า เราในตอนนั้นมีร่างกายแข็งแรงแค่ไหน มีงานอะไรต้องทำอยู่ (อีกเหรอวะ) และที่สำคัญ คนรอบข้างเป็นเช่นไร

เอาเถอะ ยังไม่ต้องพยายามตอบก็ได้ เพราะอย่างไรเสีย ผมก็จะลองยกตัวอย่างให้ฟังเรื่องหนึ่ง
....................

ยายยี่เข่งแกเป็นลูกครึ่งจีน อันที่จริง แกชื่อ “ยี่” แต่ผมจะเรียกยี่เข่งไง ดอกมันสวยดี เมียผมชอบดอกยี่เข่ง

“ทำไมผมรู้สึกคุ้นหน้ายายจัง” ผมถามคนแก่หนังย่นจนตาแทบปิดที่กึ่งนั่งกึ่งนอนอยู่บนเตียงคนนั้น มองดูที่ข้างต้นคอ ผมเห็นสายยางขนาดสายน้ำเกลือเสียบคาอยู่โดยมีผ้าก็อซปิดทับไว้อีกชั้น

“บ้านอยู่ไหนนิยาย” ผมถามแกออกไปด้วยภาษาท้องถิ่น

“อยู่สุราษฎร์ฯ” แกยกมือรับไหว้ผมและทีมที่เดินเข้ามาเยี่ยม

“งั้นถ้าให้หมอเดา ยายก็เป็นจีนไหลหำใช่ไหม” (เอ๊ะ..ผมคงเขียนอะไรผิดแน่ๆ ใช่ไหม) ผมถามแบบโง่ๆ ประหนึ่งคนเล่นหวยชอบทาย เอาวะ ไม่ไหหลำก็กวางตุ้ง ไม่กวางตุ้งก็แต้จิ๋ว ไม่แต้จิ๋วก็ฮกเกี้ยน แต่ถ้าพวกสุราษฎร์ฯนี่ ถ้าเดาว่าไหหลำ ก็น่าจะถูกเกือบครึ่งหนึ่งแล้ว (มันคงเป็นหลักการเล่นพนันที่คลาสสิกมาก)

“ไหหลำ” แกตอบ

เห็นไหม ทำไมผมซื้อล็อตเตอร์รี่ไม่เคยถูกเลยวะ อันที่จริง เค้าโครงหน้าแบบยายยี่เข่งนั้นผมคุ้นๆ ว่าคนแก่ที่สมุยส่วนหนึ่งจะมีเค้าคล้ายๆแบบนี้ และยายๆทวดๆเหล่านั้น ล้วนมีเชื้อสายไหหลำ 

“ยายยี่เข่งถูกส่งตัวมาเพราะมีอาการไตวายครับ ที่โรงพยาบาลต้นทางเค้าส่งไปตรวจหาสาเหตุแล้วพบว่า มันมีก้อนเนื้องอกที่ปากมดลูกไปอุดที่ปลายท่อไตทั้ง ๒ ข้าง แกจึงมาเป็นคนไข้นรีเวชของเราครับ” ออ..เข้าใจแล้ว ไอ้สายที่ข้างต้นคอนั้น มันจึงเป็นสายที่ต่อไว้สำหรับฟอกเลือดล้างไตอยู่นั่นเอง

“ยายเป็นพันพรือมั่ง” ผมยังคงใช้ภาษาใต้สื่อสารออกไป มันหมายความว่า “ยายเป็นยังไงบ้างจ๊ะ”

“อยากกลับบ้าน” แน่ะ เรารึอุตส่าห์ถามถึงอาการเจ็บป่วย แกดันตอบมาเรื่องกลับบ้าน

“แขบไปไหน อยู่ให้หมอรักษาก่อน” หึหึ..แขบ แปลว่า รีบ 

“ตาแกอยู่คนเดียว เป็นห่วงแก”

“อ้าว แล้วไม่มีใครอยู่ดูแลที่บ้านเหรอยาย” ผมสงสัย

“ก็มีลูก แต่ยายคิดถึงแก นี่ก็นอนโรงบาลมาเกือบเดือนแล้ว” ผมไม่ได้ตั้งใจเขียนผิดนะครับ คนแถบบ้านผมเรียกโรงพยาบาล ว่า โรงบาลกันทั้งนั้น

“หูย..” ผมครวญในใจ

“แกไปนอนที่โรงพยาบาลนู้นมาก่อนสักระยะแล้วครับ ฟอกเลือดพยุงอาการไว้และหาสาเหตุ พอพบว่ามีก้อนจึงส่งมาที่เรา ตอนนี้เราฟอกไตทางหลอดเลือดทุก ๓ วันครับ ค่าไตเริ่มดีขึ้น ส่วนก้อนที่ปากมดลูกเพิ่งได้ตัดชิ้นเนื้อไปเมื่อ ๒ วันก่อน พรุ่งนี้ผลน่าจะออกครับ” คุณหมอกล้า หัวหน้าทีมรักษารายงานให้ผมทราบ

“แล้วกล้าคิดว่าเป็นอะไรล่ะ” ผมถาม

“ถ้ามองด้วยตา และการดำเนินของโรค ก็น่าจะเป็นซีเอเซอร์หวิกครับ” คุณหมอกล้าบอกว่ามันน่าจะเป็นมะเร็งปากมดลูก 
“แต่ก็น่าแปลก ที่ยายยี่เข่งไม่เคยมีปัญหาเรื่องตกขาวหรือเลือดออกทางช่องคลอดเลยครับ”
เออ..ก็ดูมีเหตุผลดี 

“แล้วไงล่ะ ถ้าเป็นมะเร็งปากมดลูกตอนนี้ เราจะรักษาแกยังไงเหรอ” ผมถามในทีมหลังจากที่ผละตัวออกมาจากข้างเตียงของยายแล้ว

“ก็ฉายแสงครับ และในรายแบบนี้อาจจะไม่ต้องให้ยาเคมีบำบัดร่วมด้วย เพราะอาจจะมีภาวะแทรกซ้อนจากยาได้มากกว่าการฉายแสงอย่างเดียว” หัวหน้าทีมรักษาตอบคำถามอย่างคล่องแคล่ว

“แล้วถ้าไม่ต้องฉายแสงล่ะ กล้าจะว่ายังไง” ผมถามและคุณหมอลูกศิษย์ไม่ตอบ นั่นคงเพราะอาจจะยังไม่แน่ใจ ว่าผมต้องการอะไร

“เอาใหม่ ถ้าผมจะแนะนำว่าให้หยุดฟอกเลือดตอนนี้ล่ะ กล้าจะว่ายังไง” ผมยังคงถามคำถามที่ไม่น่าถามออกไป และในเมื่อยังไม่มีคำตอบ ผมก็แค่หัวเราะหึหึออกไป แล้วเราก็ไปดูเตียงอื่นกันต่อ

อันที่จริง ผมมีคำตอบเรื่องนี้อยู่บ้างแล้วน่ะสิ

การเรียนการสอนที่ข้างเตียงคนไข้นั้น สำหรับผมแล้ว มันอาจจะไม่ใช่การพ่นความรู้ใส่กัน แต่การได้ฝึกคิดเรื่องบางเรื่อง ปล่อยคำถามแปลกๆให้ได้กลับไปหาคำตอบจากหนังสือ จากงานวิจัย มันก็น่าสนุกพอๆกัน ผมสนุก แต่ลูกศิษย์จะสนุกด้วยหรือไม่นั้นก็ขี้เกียจถาม ของแบบนี้เดาพอได้
.................

“ผลชิ้นเนื้อออกมาแล้วนะครับ มันเป็นลิ้มโฟม่า” นี่คือคำเฉลยของการตัดชิ้นเนื้อไปตรวจ ผมทราบในทันทีที่ได้ไปเยี่ยมยายยี่เข่งในอีก ๒ เช้าถัดมา หน้าตาแกยังคงดูไม่ได้ใยดีกับความเจ็บป่วยตรงหน้า แกยังยิ้มได้ และแกก็ยังคงบอกผมว่า “อยากกลับบ้าน” อยู่นั่นแหละ

ลิ้มโฟม่า มันคือมะเร็งของระบบต่อมน้ำเหลืองครับ
กลายเป็นว่า พวกผมเดาผิด

ปกติ ก้อนมะเร็งที่ปากมดลูกเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ มันก็คือมะเร็งของเนื้อเยื่อปากมดลูกนั่นแหละ เพียงแต่ของยายยี่เข่งมันคือมะเร็งของระบบน้ำเหลือง 

โปรดอย่าได้งง เพราะร่างกายของเรา มีระบบหลอดเลือดไปถึงที่ไหน มันก็จะมีระบบน้ำเหลืองอยู่คู่กันทุกที่ ไม่เว้นกระทั่งที่ปากมดลูก เพียงแต่มะเร็งระบบน้ำเหลืองหรือลิ้มโฟม่านี่ เรามักพบตามต่อมน้ำเหลือง เช่นที่รักแร้ ข้อศอก ต้นคอ ขาหนีบ ต่อมน้ำเหลืองในช่องท้อง หรือกระทั่งที่เต้านม นานๆ เราจะได้เจออย่างที่ยายยี่เข่งเป็นสักครั้ง 

“ครับ แล้วกล้าว่าไง” เวลาผมถามแบบนี้ ลูกศิษย์มักจะรู้สึกกดดัน

“จะรีบปรึกษาทีมหมออายุรกรรมโรคเลือดครับ” 
ใช่ครับ คนไข้แบบนี้ เป็นความชำนาญของหมอกลุ่มนี้ อย่างมะเร็งเม็ดเลือดขาวหรือลิวคีเมียก็เป็นเรื่องเฉพาะของพวกเขา โรคพวกนี้รักษาหลักๆโดยการให้ยาเคมีบำบัด

“นั่นสิ แล้วกล้าจะปรึกษาเขาทำไม” 

“ทำไมเหรอครับอาจารย์ ก็จะได้ให้ยาเคมีบำบัดไงครับ” หมอกล้าตอบ

“ให้ยาแล้วแกจะหายไหม” ผมถาม

“ก็โรคนี้ การรักษาหลักคือการให้ยาเคมีบำบัดไงครับ” เขายังคงตอบ

“แล้วกล้าคิดว่า ยายแกจะทนภาวะแทรกซ้อนของยาได้ไหม” ผมยังคงยิงรัว เพราะเท่าที่ทราบมา ยาเคมีบำบัดที่ใช้ในการรักษาโรคลิ้มโฟม่านี่มันแรงใช้ได้เลยทีเดียว ถ้าคนไข้อายุน้อยๆก็ว่าไปอย่าง

“ดีไม่ดี โดนไปครั้งแรกก็อาจจะทนไม่ไหวตายไปเลยก็ได้” เอิ่ม..ใจเย็นๆนะครับ มันก็ไม่ได้รุนแรงเว่อร์อะไรขนาดนั้น ย้ำนะครับ นี่คือสไตล์การสอนของผมเท่านั้น 

“แต่อาจารย์ครับ เดี๋ยวนี้สูตรยามีหลายชนิดครับ ยาในกลุ่ม targeted มันน่าจะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนน้อยกว่า มันน่าจะใช้ได้นะครับ”

“อื้อ..ใช้ได้” ผมยังคงใช้วิธีพึมพัมในใจ และคิดคล้อยตาม ว่าจะต้องปรึกษาทีมอายุรกรรมโรคเลือดนั่นแหละ เพราะยังไงยังไง พวกผมซึ่งเป็นหมอนรีเวชก็รักษาโรคแบบนี้ไม่เป็น

“ยาย..พรือมั่ง” ผมเดินเข้าไปทักทายคนไข้ตามปกติ

“อยากกลับบ้าน” แกยังคงยืนยันเหมือนวันแรกที่พบกัน ผมใช้วิธียิ้มตอบและนวดน่องให้แกเชิงประจบ

“สวัสดีครับ หมอชื่อธนพันธ์นะครับ” ผมทักทายพี่ผู้หญิงที่อยู่ข้างเตียงของยายยี่เข่ง 
“เป็นอะไรกับยายเหรอ” 

“เป็นลูกสาวค่ะ”

“อ้าว มาดูแลแม่แบบนี้แล้วใครอยู่กับพ่อล่ะ” ผมสงสัย
“ก็มีลูกเขย แฟนของนุ้ยแลอยู่ค่ะ” 

นุ้ย คือการใช้สรรพนามแทนตัวเองของสาวใต้นะครับ

“ขอคุยด้วยนิดหนึ่งได้ไหม” ผมพยักหน้า แล้วเดินนำออกไปก่อน

“เธอคงทราบจากทีมผมแล้วนะครับ ว่ายายเป็นอะไร” ผมประเมิน

“ค่ะ แม่เป็นมะเร็งที่ปากมดลูก” เธอตอบ

“ถูกครับ แต่มะเร็งที่แม่เป็นนั้นมันเป็นมะเร็งของระบบน้ำเหลืองที่อยู่ที่ปากมดลูกพอดี มันไม่ใช่มะเร็งปากมดลูกแบบที่พวกผมดูแลกัน” ผมเริ่มอธิบาย
“โรคนี้ การรักษาหลักคือการให้ยาเคมีบำบัด และหมออยากให้เธอรู้ไว้ว่า ยามันค่อนข้างแรง เราอาจจะสูญเสียแม่เธอได้จากผลข้างเคียงของยา หมอกำลังหมายความว่า แกอาจจะแก่เกินไปกว่าที่จะทนต่อการรักษานะครับ” ผมปล่อยออกไปเหมือนวางลูกระเบิดให้เธอเป็นคนถือแทน แต่เอาเถอะ อย่าเพิ่งว่าผมใจร้าย มาดูกันต่อ ว่าผมจะทำอย่างไร

“ยาย..หมอจะให้กลับบ้านนะ” 
หลังจากที่ได้คุยกับลูกสาวอยู่ระยะหนึ่ง เราทั้งทีมจึงเดินกลับมาที่เตียง ผมทราบมาว่า ทีมอายุรแพทย์มีแผนในการส่งตัวยายยี่เข่งกลับไปรักษาที่โรงพยาบาลประจำจังหวัด เพราะที่นั่นมีหมอเฉพาะทางโรคนี้อยู่

ยายยี่เข่งแกยิ้มเหงือกบาน แม้หนังตาจะตกหรี่สักเพียงใด ผมก็ยังมองเห็นถึงความสดชื่นจากด้านในนั้น

ผมและทีมเดินออกมาจากเตียง รู้สึกเป็นสุขใจจนอยากกลับไปกอดเมียเสียให้ได้ในตอนนั้น

เสียงสนทนาเมื่อครู่ก้องอยู่ในหู

“หมอแนะนำว่า การจะตัดสินใจให้ยาเคมีหรือไม่นั้น ขอให้ถามคุณหมอสามอย่าง คือ โอกาสหายเท่าไหร่ โอกาสเกิดปัญหาร้ายแรงจากการให้ยาเท่าไหร่ และหากไม่รับยาเคมีบำบัด เราจะเหลือเวลาอีกนานเท่าไหร่” นั่นคือสิ่งที่ผมฝากไว้กับผู้เป็นลูกสาว

“ยาย คิดถึงตาไหม” ผมถามยายยี่เข่ง
“คิดถึงสิ ทั้งคิดถึงทั้งเป็นห่วง” แกตอบ
“แล้วนี่ถ้าได้กลับบ้านจะจูบตามั้ย” 
“ไม่จูบหรอก” แกตีมือผมนิดหนึ่งพองาม
“แล้วจะกอดกันมั้ย” ผมยังไม่จบ
“ไม่กอดหรอก คนรุ่นนี้ใครเขากอดกัน” ยังไงแกก็ยังไม่ยอมเพลี่ยงพล้ำ
“อ้าว แล้วจะแขบกลับบ้านไปทำไมนิ” ผมแซว
“ก็จะได้คุยกันให้หายคิดถึง คุยกันมาเกือบตลอดชีวิต ไม่เคยห่างกันนานขนาดนี้เลยสักครั้ง” ยายตอบ

ณ วินาทีนั้น ผมรู้สึกจุกที่คอหอย สายตาพร่ามัวลงนิดหนึ่ง

รู้สึกอยากกลับไปกอดเมียเสียให้ได้ในตอนนั้น

ธนพันธ์ ชูบุญสรุปได้กอดเมียตอนกลางคืนเหมือนเดิม
๑๐ มิย ๖๒



คำสำคัญ (Tags): #มะเร็ง#palliative
หมายเลขบันทึก: 673119เขียนเมื่อ 14 พฤศจิกายน 2019 15:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 พฤศจิกายน 2019 15:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท