บันทึกจากการประชุม Creativity and Critical Thinking ที่ลอนดอน ๑๒. สรุป



บันทึกชุด บันทึกจากการประชุม Creativity and Critical Thinking ที่ลอนดอน นี้    เป็นการสะท้อนคิดของผม จากการไปร่วมประชุม Creativity and Critical Thinking Skills in School : Moving the Agenda Forward. An international conference organised by the OECD Centre for Educational Research and Innovation (CERI)   24-25 September 2019 - London, UK.   Nesta HQ - 58 Victoria Embankment, EC4Y 0DS (๑) โดยไปกับทีม กสศ.   มี ดร. ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการ กสศ. เป็นหัวหน้าทีม  

ชื่อของการประชุมสื่อความหมายชัดเจนว่าต้องการทำความเข้าใจเรื่อง CCT (Creativity & Critical Thinking) ในโรงเรียน    และต้องการปรึกษากัน ว่าเดินเรื่องต่อในอนาคตอย่างไรดี   

เมื่อพูดถึง CCT ในโรงเรียน    ผมคิดถึงการที่โรงเรียนทำหน้าที่พัฒนา CCT ของคนหลายกลุ่ม ได้แก่ นักเรียน  ครู  ครูใหญ่  ผู้ปกครอง  กรรมการโรงเรียน  และผู้นำชุมชน    ซึ่งหมายถึงการพัฒนา soft skills ของคนเหล่านี้    ในที่ประชุม มีคนย้ำเรื่อง socio-emotional skills มาก   

OECD – CERI project ชื่อ  Fostering and Assessing Creativity and Critical Thinking Skills in Education  ดำเนินการมาตั้งแต่ปี ๒๕๕๘    โดยเขาทำเป็นโครงการวิจัยและพัฒนา ใน ๑๑ ประเทศ  ๑๔ หน่วยปฏิบัติการ     โชคดีที่ประเทศไทยได้เข้าร่วมด้วยในส่วนของการพัฒนาในโรงรียน    และโครงการของประเทศไทยสนับสนุนโดย สสค. ซึ่งต่อมาเปลี่ยนเป็น กสศ.   และผมได้เรียนรู้จากการทำหน้าที่ประธานคณะกรรมการ steering   และจากการอ่านจากแหล่งต่างๆ   ดังได้เล่าไว้ที่ (๒)  (๓)  (๔)  (๕)  (๖)  (๗)  (๘)          

ประสบการณ์จากการประชุมที่ลอนดอนครั้งนี้ ทำให้ผมตระหนักว่า OECD มุ่งทำหน้าที่สร้างนวัตกรรมด้านการศึกษา หรือการพัฒนาคน    โดยหยิบเอาเรื่อง CCT เป็นหัวใจเดินเรื่อง     โดยใช้ชุดความคิดว่า ยังไม่รู้แน่ชัดว่าจะพัฒนา และวัดผลการพัฒนา CCT อย่างไร    จึงชวน ๑๑ ประเทศ ร่วมดำเนินการ    เขาสรุปผลที่ได้จากการดำเนินการ ๔ ปี ในหนังสือ Fostering Students’ Creativity and Critical Thinking : What It Means in School (๙)    ที่สั่งซื้อได้         

ผู้เข้าร่วมประชุมพร้อมใจกันสรุปว่าโครงการ Fostering and Assessing Creativity and Critical Thinking Skills in Education จบ phase แรก    แต่ความร่วมมือกันขับเคลื่อนการเปลี่ยนรูป (transformation) ของระบบการศึกษายังจะต้องดำเนินการต่อไป    

ข้อเรียนรู้ที่สำคัญและวงการการศึกษาไทยนำมาใช้ได้คือเครื่องมือ OECD Rubrics สำหรับใช้การจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนา CCT   ส่วน domain general ดูได้ที่ (๑๐)    และส่วน class-friendly rubric (math) ดูที่ (๑๑)    ซึ่งมีภาพรวมอีกหลายด้านของ rubric ที่ (๑๒)    

ข้อคิดที่ผุดขึ้นมาจากการได้ใช้เวลารวมสามสัปดาห์ร่วมประชุม อ่านเอกสาร ค้น และเขียน บล็อก เพื่อสะท้อนความคิด     คือ creativity และ critical thinking เป็นทั้ง end และ means ของการศึกษาหรือการเรียนรู้    ที่สำคัญคือ มันเป็น means สำหรับการเรียนรู้หรือฝึกสมรรถนะอื่นๆ ใน 21stCentury Skills ทั้งหมด    โดยเฉพาะอย่างยิ่ง higher order skills ทั้งหลาย     

วิธีจัดการเรียนรู้ที่น่าสนใจที่ผมได้ไปเรียนรู้คร่าวๆ ในครั้งนี้คือ design-led learning   เป็นวิธีการที่วงการศึกษาไทยน่าจะได้ศึกษาและดำเนินการพัฒนาวิธีการขึ้นใช้    นอกจากนั้นยังมี phenomenon-based learning, transversal learning, socio-emotional learning, co-creator learning      

การที่ กสศ. ได้เข้าร่วมขบวนการ Fostering and Assessing Creativity and Critical Thinking Skills in Education กับ โออีซีดี   ทำให้ได้เรียนรู้และสามารถนำความรู้และทักษะที่ได้มาต่อยอดดำเนินการในโครงการใหญ่ ๒ โครงการของ กสศ. คือโครงการพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพครูและโรงเรียน ที่จะดำเนินการในโรงเรียนขนาดกลาง ๘๐๐ โรงเรียน ในเวลา ๕ ปี   กับโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น  ผลิตครูให้แก่โรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล ๑,๕๐๐ โรงเรียน ผลิตครูปีละ ๓๐๐ คน เป็นเวลา ๕ ปี   แต่รวมเวลาโครงการ ๑๕ ปี เพราะต้องจัดกระบวนการตามไปโค้ชครูใหม่อีก ๕ ปีด้วย   

นอกจากนั้น สพฐ. ยังเอาแนวทางไปดำเนินการในโรงเรียนของ สพฐ. เขตพื้นที่ละ ๑ โรงเรียน รวม ๒๒๕ โรงเรียนอีกด้วย    

ผมไปเรียนรู้จากที่ประชุมว่า  กิจกรรมที่ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2018  และจะดำเนินการไปจนถึงปี 2022 คือ การพัฒนา CCT ในอุดมศึกษา และในการผลิตครู    ซึ่งประเทศไทยน่าจะหาทางเข้าร่วมเป็นอย่างยิ่ง    โดย กสศ. น่าจะนำเอาโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่นเข้าร่วม   

ผมเขียนบันทึกชุดนี้จากการใคร่ครวญสะท้อนคิด (reflection) ของตนเอง    จึงใส่ข้อสังเกตหรือความคิดเห็นของตนเองลงไปมาก    ท่านผู้อ่านพึงอ่านอย่างมีวิจารณญาณ (ใช้ critical thinking)  

ผมขอขอบคุณ ดร. ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการ กสศ. และผู้อำนวยการ วสศ. ที่ชวนผมไปร่วมประชุม    ทำให้ผมได้ความรู้มาก    ผมตระหนักว่าค่าใช้จ่ายในการเดินทางของผมครั้งนี้มาจากภาษีของพลเมืองไทย    จึงตั้งใจเขียนบันทึกชุด บันทึกจากการประชุม Creativity and Critical Thinking ที่ลอนดอน รวม ๑๒ ตอนนี้ ออกเผยแพร่    เป็นการตอบแทนคุณพลเมืองไทยและแผ่นดินไทย  

วิจารณ์ พานิช

๑๕ ตุลาคม ๒๕๖๒


หมายเลขบันทึก: 673096เขียนเมื่อ 13 พฤศจิกายน 2019 19:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 พฤศจิกายน 2019 19:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท